ปลากระเบนราหูน้ำจืด

ปลากระเบนราหูน้ำจืด
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Chondrichthyes
อันดับ: Myliobatiformes
วงศ์: Dasyatidae
สกุล: Himantura
สปีชีส์: H.  polylepis
ชื่อทวินาม
Himantura polylepis
(Bleeker, 1852)
แผนที่แสดงการกระจายพันธุ์
ชื่อพ้อง[1]

ปลากระเบนราหูน้ำจืด (อังกฤษ: Giant freshwater whipray; ชื่อวิทยาศาสตร์: Himantura polylepis) เป็นปลากระเบนน้ำจืดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก จัดอยู่ในวงศ์ปลากระเบนธง (Dasyatidae)

จัดเป็นปลากระเบนที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากปลากระเบนแมนตา (Manta spp.) ที่พบได้ในทะเล โดยมีน้ำหนักได้ถึง 600 กิโลกรัม ความกว้างได้ถึง 2.5–3 เมตร หรือมากกว่านั้น รวมถึงมีความยาวตั้งแต่ปลายส่วนหัวจรดปลายหางที่บันทึกไว้ได้ใหญ่ที่สุด คือ 5 เมตร ถือเป็นหนึ่งในปลาน้ำจืดที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับต้น ๆ ของโลก[2][3]

มีส่วนหางเรียวยาวเหมือนแส้ มีลักษณะส่วนปลายหัวแหลม ขอบด้านหน้ามนกลมคล้ายใบโพ ลักษณะตัวเกือบเป็นรูปกลม ส่วนหางยาวไม่มีริ้วหนัง มีเงี่ยงแหลมที่โคนหาง 2 ชิ้น ซึ่งในปลาขนาดใหญ่อาจยาวได้ถึง 8–10 นิ้ว เมื่อหักไปแล้วสามารถงอกขึ้นได้ ในเงี่ยงมีสารเคมีที่มีลักษณะคล้ายเมือกลื่น มีสภาพเป็นสารโปรตีนมีฤทธิ์ในการทำลายเนื้อเยื่อ สำหรับปลาขนาดใหญ่ พิษนี้จะมีความรุนแรงเทียบเท่ากับพิษของงูกะปะ ซึ่งทำให้เสียชีวิตได้เมื่อถูกแทงเข้า[4]กลางหลังมีเกล็ดเป็นตุ่มหยาบ ๆ ด้านบนของปีกและตัวเป็นสีเทาหรือน้ำตาลนวล หางสีคล้ำ ด้านล่างของตัวมีสีขาวนวล ที่ขอบปีกด้านล่างเป็นด่างสีดำ อาศัยในแม่น้ำสายใหญ่ ๆ จนถึงบริเวณใกล้ปากแม่น้ำ และยังพบในแม่น้ำสายใหญ่ต่าง ๆ เช่น แม่น้ำเจ้าพระยา, แม่น้ำแม่กลอง, แม่น้ำบางปะกง, แม่น้ำโขง, บอร์เนียว, นิวกินี รวมถึงเคยพบในบึงบอระเพ็ดด้วย แต่ปัจจุบันได้สูญพันธุ์หมดไปจากที่นี่แล้ว โดยสถานที่ ๆ มักพบตัวขนาดใหญ่ คือ แม่น้ำแม่กลอง บริเวณ 20 กิโลเมตรก่อนไหลลงสู่อ่าวไทย ในเขตอำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม[4]

โดยปลาตัวเมียจะมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้ และอาจมีน้ำหนักที่มากกว่าได้ถึง 80 เท่า เป็นปลาที่ออกลูกเป็นตัว โดยลูกปลาที่ออกมาใหม่นั้นจะมีความยาวโดยเฉลี่ยประมาณ 50 เซนติเมตร และมีปลอกหุ้มเงี่ยงหางเอาไว้ เพื่อมิให้ทำอันตรายต่อแม่ปลา ออกลูกครั้งละ 2–3 ตัว สันนิษฐานว่าที่ต้องมีขนาดตัวใหญ่เช่นนี้ เพื่อมิให้ตกเป็นอาหารของนักล่าชนิดต่าง ๆ ในแม่น้ำ[5]

ได้ชื่อว่า "ราหู" เนื่องจากขนาดลำตัวที่ใหญ่เหมือนราหูอมจันทร์ตามคติของคนโบราณ อีกทั้งยังมีความเชื่ออีกด้วยว่า หากใครพบเห็นหรือจับปลากระเบนราหูน้ำจืดได้ จะพบกับความโชคร้าย[4]

ตัวอย่างสตัฟฟ์ในสวนสัตว์พาต้า ชั้น 6 ห้างสรรพสินค้าพาต้า ปิ่นเกล้า

เดิมปลากระเบนราหูน้ำจืด มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Himantura fluviatilis (ปัจจุบันใช้เป็นชื่อพ้องของ ปลากระเบนธง) โดยข้อมูลที่มีอยู่ระบุว่าพบในแม่น้ำสายใหญ่และทะเลสาบในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้[6] ต่อมา เมื่อการระบุชนิดพันธุ์ปลาถูกศึกษาให้ลงรายละเอียดยิ่งขึ้น ปลากระเบนราหูน้ำจืดจึงถูกอนุกรมวิธานในปี ค.ศ. 1990 โดย ศ.ดร.สุภาพ มงคลประสิทธิ์ ขณะดำรงตำแหน่งคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ ดร.ไทสัน โรเบิร์ตส์ แห่งสถาบันกองทุนสัตว์ป่าโลก โดยให้ใช้ชื่อว่า Himantura chaophraya ตามชื่อสถานที่ (แม่น้ำเจ้าพระยา) ได้ตัวอย่างต้นแบบแรกที่เป็นปลาตัวเมีย ขนาด 78 เซนติเมตร ที่ได้รับจาก กิตติพงษ์ จารุธาณินทร์ นักสำรวจปลาน้ำจืดที่มีผลงานมากมายชาวไทย ซึ่งจับได้จากแม่น้ำเจ้าพระยาที่เขตอำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา[7] (แต่ต่อมาชื่อวิทยาศาสตร์ได้เปลี่ยนเป็น Himantura polylepis ตามที่เคยมีผู้ตั้งไว้ในอดีต[8][1] แต่ในข้อมูลบางแหล่ง ระบุว่าชื่อ Himantura polylepis อาจจะไม่แน่นอนว่าเป็นชนิดเดียวกันกับ Himantura chaophraya ก็ได้ จึงยังคงใช้ชื่อเดิมอยู่[6])

ปลากระเบนราหูน้ำจืดมักถูกพบจับขึ้นมาชำแหละเนื้อขายเสมอในจังหวัดริมแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่จังหวัดชัยนาทจนถึงจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และปากแม่น้ำแม่กลอง ตามที่ปรากฏเป็นข่าวบ่อย ๆ ตามหน้าสื่อมวลชนต่าง ๆ

ปัจจุบัน ปลากระเบนราหูน้ำจืดจัดเป็นปลาน้ำจืดไทยอีกชนิดหนึ่งที่ใกล้จะสูญพันธุ์ อันเนื่องจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป[9]รวมถึงมีข้อมูลทางวิชาการน้อยมาก แต่ได้มีการศึกษาวิจัย โดยคณะนักวิทยาศาสตร์จากคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเก็บตัวอย่างเลือด, ดีเอ็นเอ และเมือกพิษ เพื่อนำไปศึกษาเพื่อเพิ่มองค์ความรู้เกี่ยวกับปลาชนิดนี้ต่อไป[4]

เชิงอรรถ แก้

  1. รวมถึงการประเมินอีกชนิดหนึ่งที่แยกออกเป็น H. dalyensis ซึ่งพบในตอนเหนือของออสเตรเลีย

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 1.2 Shark Specialist Group (2000). Himantura chaophraya. In: IUCN 2000. IUCN Red List of Threatened Species. Downloaded on March 24, 2009.
  2. Monkolprasit, S.; Roberts, T.R. (1990). "Himantura chaophraya, a new giant freshwater stingray from Thailand" (PDF). Japanese Journal of Ichthyology. 37 (3): 203–208.
  3. Lovgren, S. (2008). "Giant River Stingrays Found Near Thai City". National Geographic News. National Geographic Society. สืบค้นเมื่อ December 20, 2013.
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 "บางอ้อ ตอน ล่าสัตว์ประหลาดลุ่มแม่น้ำแม่กลอง". เอ็มไทย. 26 May 2009. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 12 August 2014.
  5. "River Monsters" Death Ray (TV Episode 2010) ที่อินเทอร์เน็ตมูวีเดตาเบส  
  6. 6.0 6.1 หน้า 102-120, กระเบนน้ำจืดแห่งชาติ. "Wild Ambition" โดย กิตติพงษ์ จารุธาณินทร์, ชวลิต วิทยานนท์. นิตยสาร Aquarium Biz ปีที่ 4 ฉบับที่ 51: กันยายน 2014
  7. เปิดตำนานเจ้าพ่อปลาแม่น้ำ, Interview in Magazine Aquarium Biz Issue. 2 Vol.1: August 2010
  8. Last, P.R.; Manjaji-Matsumoto, B.M. (2008). "Himantura dalyensis sp. nov., a new estuarine whipray (Myliobatoidei: Dasyatidae) from northern Australia". In Last, P.R.; White, W.T.; Pogonoski, J.J. Descriptions of new Australian Chondrichthyans. CSIRO Marine and Atmospheric Research. pp. 283–291. ISBN 0-1921424-1-0.
  9. สมโภชน์ อัคคะทวีวัฒน์. สาระน่ารู้ ปลาน้ำจืดไทย เล่ม ๑. กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, 2547. 264 หน้า. หน้า 3. ISBN 974-00-8701-9

แหล่งข้อมูลอื่น แก้