ประภัสสร เสวิกุล
บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด |
ประภัสสร เสวิกุล ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พุทธศักราช 2554 (22 เมษายน พ.ศ. 2491 — 18 กันยายน พ.ศ. 2558) เป็นนักเขียนที่ได้รับความนิยมจากนักอ่านและเป็นที่ยอมรับในวงวรรณกรรมร่วมสมัยของไทยในช่วงเวลากว่า 40 ปี ท่านได้สร้างสรรค์ผลงานอันมีคุณค่าทั้งนวนิยาย เรื่องสั้น บทกวี สารคดี จำนวนมาก ผลงานจำนวนไม่น้อยได้รับรางวัลในระดับชาติหลายเรื่อง ได้มีผู้นำไปสร้างสรรค์เป็นศิลปะแขนงอื่น คือ ละครโทรทัศน์ และภาพยนตร์ อีกจำนวนหนึ่งได้รับการแปลเป็นภาษาต่างประเทศ
ประภัสสร เสวิกุล | |
---|---|
เกิด | 22 เมษายน พ.ศ. 2491 จังหวัดพระนคร ประเทศสยาม |
เสียชีวิต | 18 กันยายน พ.ศ. 2558 (67 ปี) กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย |
นามปากกา | ประภัสสร เสวิกุล พราย ภูวดล ละอองฝน บลูม จัสมิน่า |
อาชีพ | ข้าราชการบำนาญ นักเขียน นักจัดรายการวิทยุ |
สัญชาติ | ไทย |
ผลงานที่สำคัญ | ลอดลายมังกร อำนาจ ชี้ค เวลาในขวดแก้ว พระจันทร์ทะเลทราย |
คู่สมรส | นางชุติมา (วรฉัตร) เสวิกุล |
ลายมือชื่อ | |
เว็บไซต์ | |
http://www.psevikul.com/ |
วรรณกรรมของนายประภัสสร เสวิกุล มิใช่เพียงให้ความบันเทิงใจแก่ผู้อ่าน แต่ให้ภาพสมจริงของสังคมและชีวิตมนุษย์ ผลงานที่สร้างขึ้นอย่างประณีต ผสมผสานข้อมูลกับจินตนาการอย่างเหมาะสม นำเสนอด้วยฝีมือการประพันธ์ และภาษาที่เลือกสรรแล้ว พร้อมทั้งให้ข้อคิดคติธรรมแก่ผู้อ่าน ได้แสดงให้เป็นที่ประจักษ์ว่าท่านเป็นนักเขียนที่มีอุดมคติและมีสำนึกความรับผิดชอบต่อนักอ่านและสังคม งานประพันธ์ทุกเรื่องของท่านจะฉายภาพให้ผู้อ่านได้เห็นคุณค่าของความเป็นมนุษย์ คุณธรรมและค่านิยมประการต่าง ๆ ได้แก่ ความเป็นผู้นำ มิตรภาพ การพึ่งตนเอง ความขยันหมั่นเพียร ความกล้า สู้ชีวิต ความอดออม ความเมตตา ความกตัญญู ความซื่อสัตย์ ความสามัคคี การเคารพเชื่อฟังผู้อาวุโส การหมั่นแสวงหาความรู้ ตลอดจนการเห็นคุณค่าของศิลปะและวัฒนธรรมของชาติ เพราะท่านเชื่อมั่นว่าด้านดีของมนุษย์และคุณลักษณะที่ดีของคนไทย จะเป็นพลังสำคัญที่จะธำรงรักษาสังคมและมนุษยชาติไว้[ต้องการอ้างอิง]
นอกจากการสร้างสรรค์ผลงานวรรณกรรมไว้เป็นสิ่งจรรโลงใจแก่ผู้อ่านแล้ว นายประภัสสร เสวิกุล ยังมีบทบาทสำคัญในการเชิดชูเกียรติและศักดิ์ศรีของนักเขียนรุ่นอาวุโส ส่งเสริมให้เกิดความสัมพันธ์ทางวรรณกรรมระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่วงการนักเขียนและวงวรรณกรรมร่วมสมัยของไทย รวมทั้งถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ด้านการประพันธ์เพื่อสร้างนักเขียนรุ่นเยาว์ให้ก้าวไปสู่การเป็นนักเขียนอาชีพ
ประวัติ
แก้นายประภัสสร เสวิกุล เกิดเมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2491 ที่กรุงเทพมหานคร เป็นบุตรของ ร้อยโท รังษี และนางศจี เสวิกุล (สกุลเดิม สีมันตร) สมรสกับนางชุติมา เสวิกุล (สกุลเดิม วรฉัตร) มีบุตร 2 คน คือ นายชาครีย์นรทิพย์ และนายวรุตม์ชัย เสวิกุล วันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2558 ในช่วงเวลา 02.00 น. นายประภัสสร เสวิกุล ถึงแก่อนิจกรรมในวัย 67 ปี จากอาการหัวใจล้มเหลว ที่บ้านพัก
การศึกษา
แก้- พ.ศ. 2506 จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 (ม. 6) จากโรงเรียนสาธิตวิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา
- พ.ศ. 2511 จบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม. 8) ที่โรงเรียนพาณิชยการราชวิถี
- พ.ศ. 2536 จบปริญญารัฐศาสตรบัณฑิต สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และการเมืองการปกครองเปรียบเทียบ จากสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
การทำงาน
แก้- พ.ศ. 2512 เข้ารับราชการ ที่กรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ
- พ.ศ. 2518 - 2522 ผู้ช่วยเลขานุการ สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ เวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
- พ.ศ. 2522 - 2524 ผู้ช่วยเลขานุการ สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงบอนน์ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี
- พ.ศ. 2524 - 2529 นายเวร กรมสารนิเทศ
- พ.ศ. 2529 - 2533 เลขานุการตรี - เลขานุการโท สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงอังการา สาธารณรัฐตุรกี
- พ.ศ. 2533 - 2536 เลขานุการโท - เลขานุการเอก กรมเอเชียตะวันออก
- พ.ศ. 2536 - 2540 เลขานุการเอก สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเวลลิงตัน นิวซีแลนด์
- พ.ศ. 2540 - 2548 ที่ปรึกษากรมสารนิเทศ
- พ.ศ. 2548 - 2551 อัครราชทูตที่ปรึกษา สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงซานเตียโก สาธารณรัฐชิลี
- พ.ศ. 2551 เกษียณอายุราชการ
นามปากกา
แก้- ประภัสสร เสวิกุล
- พราย ภูวดล
- ละอองฝน
- บลูม
- จัสมิน่า
- ฯลฯ
การสร้างสรรค์ผลงานวรรณกรรม
แก้นายประภัสสร เสวิกุล เริ่มเขียนบทกวีมาตั้งแต่ พ.ศ. 2505 โดยได้รับแรงบันดาลใจจากบิดามารดาที่สอนให้ท่องจำโคลงโลกนิติ และลิลิตตะเลงพ่าย ตั้งแต่อายุ 3 - 4 ขวบ ทำให้จิตใจรักงานกวีนิพนธ์ และศิลปะการใช้ภาษาของกวีในอดีต จึงเริ่มหัดเขียนโคลงสี่สุภาพและกลอนแปด ผลงานกลอนแปดชิ้นแรกชื่อ "แม่จ๋า" ได้ลงพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2508 ในนิตยสารสามทหาร ซึ่งมีนายฉัชทิชย์ กระแสสินธุ์ เป็นบรรณาธิการ หลังจากนั้นก็เขียนส่งไปตามคอลัมน์กลอนในนิตยสารต่าง ๆ เช่น แม่บ้านการเรือน ศรีสัปดาห์ คุณหญิง ฯลฯ ต่อมานำเพลงสากลมาแปลเนื้อเพลงแล้วแต่งเป็นบทกลอน ลงพิมพ์ในหนังสือเพลง เช่น I.S. Song Hits, Current Songs และ Star Pics เป็นต้น บทกลอนเหล่านี้ได้เผยแพร่ออกอากาศในรายการเพลงทางสถานีวิทยุต่าง ๆ
หลังจากนายประภัสสร เสวิกุล ได้อ่านวรรณคดียิ่งใหญ่ระดับโลก วรรณคดีไทย และผลงานชั้นเยี่ยมของนักเขียนร่วมสมัยไทยเป็นจำนวนมาก เช่น หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช, มนัส จรรยงค์, มาลัย ชูพินิจ, ประมูล อุณหธูป, พนมเทียน และ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ ในสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ต่อมาเรื่องสั้นเรื่องแรก คือ "หอมกลิ่นดอกงิ้ว" ได้ลงพิมพ์ในหนังสือเฟื่องนคร ฉบับกันยายน นลิน เมื่อ พ.ศ. 2514 ในการเขียนเรื่องสั้นช่วงแรก ๆ ท่านได้รับอิทธิพลด้านสำนวนภาษาของ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ แต่ในเวลาต่อมาก็เริ่มเปลี่ยนแปลง ทำให้สามารถสร้างผลงานที่มีความเป็นตัวของตัวเอง และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวขึ้นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลงานเขียนที่สร้างสรรค์ขึ้นในช่วงรับราชการอยู่ที่สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเวียงจันทน์ เรื่องสั้น "อีกวันหนึ่งของตรัน" ซึ่งมีความโดดเด่นทั้งรูปแบบและเนื้อหาได้รับรางวัลดีเด่น รางวัลอนุสรณ์ ว. ณ ประมวญมารค และต่อมาได้รับรางวัลเรื่องสั้นดีเด่นจากสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ใน พ.ศ. 2521 อีกด้วย
หลังจากเขียนเรื่องสั้นมาเป็นเวลา 11 ปี นายประภัสสร เสวิกุล ได้รับคำแนะนำจากคุณนิลวรรณ ปิ่นทอง บรรณาธิการนิตยสารสตรีสาร ให้ลองเขียนนวนิยายดูบ้าง นวนิยายเรื่องแรก คือเรื่อง "อำนาจ" ลงพิมพ์ในสตรีสาร เมื่อ พ.ศ. 2525 เมื่อพิมพ์รวมเล่มแล้ว นวนิยายเรื่องนี้ได้รับรางวัลชมเชยจากการประกวดหนังสือดีเด่น ของคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ ใน พ.ศ. 2526 หลังจากนั้น ท่านก็มีผลงานนวนิยายลงพิมพ์ในนิตยสารต่าง ๆ ติดต่อกันอย่างสม่ำเสมอมาจนถึงปัจจุบัน นวนิยายหลายเล่มพิมพ์ซ้ำหลายครั้ง เช่น เวลาในขวดแก้ว, ชี้ค, ขอหมอนใบนั้นที่เธอฝันยามหนุน, ลอดลายมังกร, อำนาจ และนวนิยายหลายเรื่องได้นำไปสร้างเป็นละครโทรทัศน์และภาพยนตร์ เช่น ช่อปาริชาต, เวลาในขวดแก้ว, ขอหมอนใบนั้นที่เธอฝันยามหนุน, ขอให้รักเรานิรันดร, อำนาจ, ซิงตึ๊ง, บ้านก้านมะยม, สำเภาทอง, ลอดลายมังกร ฯลฯ
นายประภัสสร เสวิกุล มีความสามารถในการสร้างสรรค์ผลงานหลากหลายประเภท มีผลงานเรื่องสั้นกว่า 150 เรื่อง นวนิยายมากกว่า 60 เรื่อง กวีนิพนธ์กว่า 200 บท วรรณกรรมเยาวชน สารคดี บทละครเวที "ข้าวต้มชามแรก" (แสดงหน้าพระที่นั่ง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวาระ 100 ปี มูลนิธิป่อเตีกตึ๊ง) และบทละครโทรทัศน์อีกจำนวนหนึ่ง
รางวัลและเกียรติคุณที่ได้รับ
แก้รางวัลวรรณกรรม
แก้- เรื่องสั้นเรื่อง อีกวันหนึ่งของตรัน
- พ.ศ. 2520 ได้รับรางวัลเรื่องสั้นดีเด่น รางวัลอนุสรณ์ ว. ณ ประมวญมารค
- พ.ศ. 2521 ได้รับรางวัลเรื่องสั้นดีเด่น สมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
- นวนิยายเรื่อง อำนาจ
- พ.ศ. 2526 ได้รับรางวัลชมเชยประเภทนวนิยาย จากการประกวดหนังสือดีเด่น ของคณะคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ
- พ.ศ. 2541 ได้รับการคัดเลือกเป็นหนังสือดีสำหรับเด็กและเยาวชน โดยสมาพันธ์องค์กรเพื่อพัฒนาหนังสือและการอ่าน พ.ศ. 2541 - 2542
- วรรณกรรมสำหรับเยาวชนเรื่อง เด็กชายมะลิวัลย์
- พ.ศ. 2530 ได้รับรางวัลดีเด่นประเภทบันเทิงคดีสำหรับเด็กและวัยรุ่น จากการประกวดหนังสือดีเด่น ของคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ
- พ.ศ. 2541 ได้รับการคัดเลือกเป็นหนังสือดีเด่นสำหรับเด็กและเยาวชน โดยสมาพันธ์องค์กรเพื่อพัฒนาหนังสือและการอ่าน พ.ศ. 2541 - 2542
- นวนิยายเรื่อง ชี้ค
- พ.ศ. 2531 ได้รับรางวัลดีเด่นประเภทนวนิยาย จากการประกวดหนังสือดีเด่น ของคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ
- พ.ศ. 2532 ได้รับรางวัลชมเชย รางวัลวรรณกรรมบัวหลวง
- พ.ศ. 2534 ได้รับรางวัลชมเชย จากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ
- พ.ศ. 2541 ได้รับการคัดเลือกเป็นหนังสือดีสำหรับเด็กและเยาวชน โดยสมาพันธ์องค์กรเพื่อพัฒนาหนังสือและการอ่าน พ.ศ. 2541 - 2542
- นวนิยายเรื่อง ลอดลายมังกร
- พ.ศ. 2533 ได้รับรางวัลชมเชยประเภทนวนิยาย จากการประกวดหนังสือดีเด่น ของคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ
- พ.ศ. 2541 ได้รับการคัดเลือกเป็นหนังสือดีสำหรับเด็กและเยาวชน โดยสมาพันธ์องค์กรเพื่อพัฒนาหนังสือและการอ่าน พ.ศ. 2541 - 2542
- หนังสือรวมเรื่องสั้นชื่อ ครีบหัก
- พ.ศ. 2533 ได้รับรางวัลชมเชยประเภทเรื่องสั้น จากการประกวดหนังสือดีเด่น ของคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ
- นวนิยายเรื่อง ขอหมอนใบนั้น... ที่เธอฝันยามหนุน
- พ.ศ. 2534 ได้รับรางวัลชมเชยประเภทนวนิยาย จากการประกวดหนังสือดีเด่น ของคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ
- พ.ศ. 2541 ได้รับการคัดเลือกเป็นหนังสือดีสำหรับเด็กและเยาวชน โดยสมาพันธ์องค์กรเพื่อพัฒนาหนังสือและการอ่าน พ.ศ. 2541 - 2542
- นวนิยายเรื่อง หิมาลายัน
- พ.ศ. 2538 ได้รับรางวัลชมเชยประเภทนวนิยาย จากการประกวดหนังสือดีเด่น ของคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ
- พ.ศ. 2541 ได้รับการคัดเลือกเป็นหนังสือดีสำหรับเด็กและเยาวชน โดยสมาพันธ์องค์กรเพื่อพัฒนาหนังสือและการอ่าน พ.ศ. 2541 - 2542
- นวนิยายเรื่อง สำเภาทอง
- พ.ศ. 2541 ได้รับรางวัลชมเชยประเภทนวนิยาย จากการประกวดหนังสือดีเด่น ของคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ
- พ.ศ. 2541 ได้รับการคัดเลือกเป็นหนังสือดีสำหรับเด็กและเยาวชน โดยสมาพันธ์องค์กรเพื่อพัฒนาหนังสือและการอ่าน พ.ศ. 2541 - 2542
- นวนิยายเรื่อง เวลาในขวดแก้ว
- พ.ศ. 2541 ได้รับการคัดเลือกเป็นหนังสือดีสำหรับเด็กและเยาวชน โดยสมาพันธ์องค์กรเพื่อพัฒนาหนังสือและการอ่าน พ.ศ. 2541 - 2542
- นวนิยายเรื่อง พระจันทร์ทะเลทราย
- พ.ศ. 2547 ได้รับรางวัลชมเชยประเภทนวนิยาย จากการประกวดหนังสือดีเด่น ของคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ
- เรื่องสั้นเรื่อง หัวกะโหลกสองใบ
- พ.ศ. 2549 ได้รับรางวัลชมเชย จากสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
- นวนิยายเรื่อง ผีเสื้อกับหิ่งห้อย
- พ.ศ. 2549 ได้รับรางวัลชมเชยประเภทนวนิยาย จากการประกวดหนังสือดีเด่นแห่งชาติ ของสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
- หนังสือรวมเรื่องสั้นเรื่อง จดหมายจากชายชราตาบอด
- พ.ศ. 2549 ได้รับรางวัลชมเชยประเภทนวนิยาย จากการประกวดหนังสือดีเด่นแห่งชาติ ของสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
ผลงานการประพันธ์
แก้รวมเรื่องสั้น
แก้- กลีบนั้นและกลีบนี้บนแดงดอกงิ้ว
- หยาดฝน
- คืนนั้นที่ฉันเหงา
- ทุ่งดอกหญ้า
- บันทึกหลังฟอกสบู่
- คืนนี้ไม่มีแสงดาว
- อีกวันหนึ่งของตรัน
- คนบนยอดตึก
- ซิ้มใบ้
- เรือกระดาษ
- ครีบหัก
- แม่น้ำสายนั้นชื่อฝันสลาย
- จดหมายจากชายชราตาบอด
นวนิยาย
แก้- อำนาจ ((สร้างเป็นละครโทรทัศน์ 2540 ช่อง7)
- เมเปิ้ลแดง
- ลับสุดยอด
- เวลาในขวดแก้ว (สร้างเป็นภาพยนตร์ 2534 และ ละครโทรทัศน์ 3 ครั้ง 2535และ2543 ช่อง3 2558 ช่องTrue4you)
- หน้าต่างบานเกล็ด (เวลาในขวดแก้ว 2)[1][2]
- เด็กชายมะลิวัลย์
- เพื่อน
- ช่อปาริชาต
- ชี้ค
- ลอดลายมังกร (สร้างเป็นละครโทรทัศน์ 2 ครั้ง 2535 ช่อง7 2549 ช่อง5)
- สวนผีเสื้อ
- ขอหมอนใบนั้น ที่เธอฝันยามหนุน (สร้างเป็นละครโทรทัศน์ 2538 ช่อง7 และ ภาพยนตร์ 2539 ในชื่อ ล่องจุ๊น ขอหมอนใบนั้น ที่เธอฝันยามหนุน)
- ขึ้นอยู่กับดินฟ้าอากาศ
- หิมาลายัน
- ซิงตึ้ง ((สร้างเป็นละครโทรทัศน์ 2544 ช่อง3)
- ดวงใจในสายรุ้ง
- ดอกไม้ใต้หมอน
- ครีษมายัน
- ขวัญข้าว
- พิมานแพร
- รายาแห่งทะเล
- ทางสายพระจันทร์เสี้ยว
- ขอให้รักเรานั้นนิรันดร
- ม่านมรสุม
- ความรัก ความหลัง และหนังเรื่องหนึ่ง
- บ้านก้านมะยม
- สำเภาทอง (สร้างเป็นละครโทรทัศน์ 2548 ช่อง3)
- แกมกลิ่นสุคนธา
- กุหลาบจีน
- พระจันทร์ทะเลทราย
- มงกุฎดาริกา
- ลานมยุเรศ
- ลอยคอ
- เหลื่อมไหม ลายเหมย
- คุ้งน้ำค้าง
- ถนนสายใบไม้ร่วง
- ประตูสองบาน บานหนึ่งดึง บานหนึ่งผลัก
- ผีเสื้อกับหึ่งห้อย
- ไฟ
- วันแห่งความรัก
- เห่ชะเลรุ้ง
- จะฝันถึงเธอทุกคืนที่มีแสงดาว
- ธารแสงดาว
- เนื้อยอกหนาม
- ไชนามูน
- รักในม่านฝน
- มีเมฆบ้างในบางวัน
- กริชมะละกา
- ชั่วนิจนิรันดร
- ปานดวงใจ
- ปุยเมฆในกระจกเงา
- เก็บความรักฉันไว้ในใจเธอ
- อลหม่านล้านเจ็ด
- อาควิโน
- ตราบสิ้นฟ้า สิ้นดิน จึงสิ้นเธอ
สารคดี
แก้- ขึ้นรถไฟไปสวิส
คุณค่าของงานวรรณกรรม
แก้- นวนิยายของนายประภัสสร เสวิกุล สะท้อนภาพสังคมร่วมสมัยที่เปลี่ยนแปลงและมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต ค่านิยม ความเชื่อและขนบวัฒนธรรมที่เคยยึดถือกันมาแต่เดิม เรื่อง ลอดลายมังกร เป็นเรื่องเด่นที่สร้างชื่อเสียงให้ท่านเป็นอย่างมาก เป็นตัวอย่างของความขยันหมั่นเพียร ความมานะบากบั่น ความซื่อสัตย์สุจริต ความอดทนต่อความยากลำบาก และการปรับตัวเนื่องจากความเปลี่ยนแปลงของสังคม ส่วนที่เป็นจุดเด่นคือผู้อ่านได้ซึมซับเรื่องวัฒนธรรม ประเพณี คตินิยมของคนจีนทั้งในเรื่องครอบครัวและในการทำธุรกิจการงาน ได้รับรู้ปรัชญาในการดำเนินธุรกิจและปรัชญาในการดำเนินชีวิต
- ข้อคิดที่โดดเด่นมากอีกประการหนึ่งในงานประพันธ์ของนายประภัสสร เสวิกุล คือ ความผูกพันและมิตรภาพระหว่างเพื่อน ท่านแทรกแนวคิดนี้ไว้ในนวนิยายแทบทุกเรื่อง เรื่อง เวลาในขวดแก้ว เป็นผลงานที่โดดเด่นเรื่องหนึ่งของท่าน พิมพ์ซ้ำกว่า 36 ครั้ง และฉลองครบรอบ 25 ปี ไปเมื่อไม่นานมานี้
- นายประภัสสร เสวิกุล ยังนำเสนอข้อคิดและค่านิยมในเรื่องการพึ่งตนเอง ความขยันหมั่นเพียร ความกล้าสู้ชีวิต ความอดออม ความเมตตา ความกตัญญู ความซื่อสัตย์ ความสามัคคี การเคารพเชื่อฟังผู้อาวุโส การหมั่นแสวงหาความรู้ การเห็นคุณค่าของศิลปะและวัฒนธรรมของชาติ กล่าวได้ว่ามีการสอดแทรกคติธรรมและคุณธรรมในงานประพันธ์ทุกเรื่อง
- นายประภัสสร เสวิกุล เลือกสรรกลวิธีในการนำเสนองานประพันธ์ให้ชวนติดตาม เล่าเรื่องแบบสมจริง เล่าเรื่องแบบเหนือจริง สร้างเรื่องแนววิทยาศาสตร์ในโลกอนาคต บางเรื่องย้อนอดีต เล่าเหตุการณ์ย้อนไปย้อนมา ตัดฉากที่เกิดขึ้นในสถานที่หลายแห่งเหมือนภาพยนตร์ โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่เกิดในเวลาเดียวกันหรือไล่เลี่ยกัน นอกจากนี้ยังใช้บทสนทนาสั้น ๆ เพือเดินเรื่องมากกว่าบทบรรยาย และมักจบเรื่องในแนวโศกนาฏกรรม ซึ่งสร้างความซาบซึ้งประทับใจได้ยาวนาน
- นายประภัสสร เสวิกุล ใช้ภาษาได้ละเมียดละไม เป็นภาษาสื่อภาพที่มีแสง สี เสียง กลิ่น รส และอารมณ์ชัดเจน นิยมอ้างอิงบทเพลง และบทกวี ทั้งของไทยและต่างประเทศเพื่อเน้นย้ำสารทางอารมณ์และความคิดได้สอดคล้องกับบริบทของเนื้อหา สำนวนโวหารของท่านในการบรรยาย พรรณนาและบทสนทนาบางตอนเป็น "วรรคทอง" ที่คมคาย ลึกซึ้ง ชวนคิด กระทบความรู้สึกจนน่าจดจำ[ต้องการอ้างอิง]
- นายประภัสสร เสวิกุล เป็นนักเขียนที่ถึงพร้อมทั้งข้อมูล จินตนาการ ฝีมือการเขียน ความสุจริตใจ ความเข้าใจโลกและชีวิต และที่สำคัญคือมีจิตสำนึกที่ดีต่อสังคมและเพื่อนมนุษย์ ผลงานของท่านทั้งในด้านงานวรรณกรรมและสังคม จึงมีคุณค่าต่อนักอ่านและวงวรรณกรรมไทย
กิจกรรมด้านวรรณกรรม
แก้นอกจากผลงานด้านการประพันธ์ นายประภัสสร เสวิกุล ยังอุทิศตนเพื่อกิจกรรมด้านวรรณกรรมมาโดยตลอด โดยดำรงตำแหน่งเลขาธิการสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย และได้รับเลือกเป็นนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย 2 สมัยติดต่อกัน ได้สร้างผลงานอันเป็นประโยชน์มหาศาลแก่แวดวงนักเขียนไทย เช่น เป็นผู้ริเริ่มรางวัลนราธิป เพื่อเป็นการเชิดชูนักเขียนที่เป็นอัจฉริยบุคคลและบรรณาธิการอาวุโสซึ่งเป็นผลงานที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางอาทิ กุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือ "ศรีบูรพา" ต่อองค์การยูเนสโกให้ได้รับการเชิดชูเกียรติคุณระดับโลกด้านวรรณกรรม และเฉลิมฉลองในวาระ 100 ปี แห่งชาตกาล ริเริ่มทำโครงการ 100 ปี 4 ยอดนักเขียนไทย คือ ศรีบูรพา, หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์, ดอกไม้สด และไม้ เมืองเดิม ริเริ่มโครงการวรรณกรรมสัมพันธ์กับกัมพูชา เวียดนาม และลาว ร่วมวางรากฐานรางวัล "อมตะอวอร์ด" สาขาวรรณกรรม ริเริ่มโครงการ "กล้าวรรณกรรม" ดำเนินการหาทุนสร้างที่ทำการถาวรสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ริเริ่มและดำเนินการจัดงาน 100 ปี เรื่องสั้นไทย และการจัดงานรำลึก 20 ปี แห่งมรณกรรมของมนัส จรรยงค์
นายประภัสสร เสวิกุล เคยเป็นกรรมการตัดสินการประกวดรางวัลระดับชาติ เช่น รางวัลซีไรต์ พานแว่นฟ้า เซเว่นบุ๊คส์อวอร์ด แว่นแก้ว ฯลฯ
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
แก้- พ.ศ. 2546 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 2 ทวีติยาภรณ์ช้างเผือก (ท.ช.)[3]
- พ.ศ. 2541 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ 2 ทวีติยาภรณ์มงกุฎไทย (ท.ม.)[4]
- พ.ศ. 2555 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ชั้นที่ 4 จตุตถดิเรกคุณาภรณ์ (จ.ภ.)[5]
- พ.ศ. 2537 – เหรียญจักรพรรดิมาลา (ร.จ.พ.)[6]
อ้างอิง
แก้- ส่งเสริมวัฒนธรรม, กรม. ศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช 2554. กรุงเทพฯ : อมรินทร์ พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), 2555. หน้า 350 หน้า. ภาพประกอบ.
- ดุจทิวา (นามแฝง). นิตยสาร "กุลสตรี" (ฉบับที่ 896) ปักษ์แรก พฤษภาคม 2551. กรุงเทพฯ : บวรสารเทรดดิ้ง จำกัด, 2551. หน้า 120 - 122.
- ↑ แนะนำหนังสือของคุณประภัสสร เสวิกุลให้หน่อยครับ
- ↑ ผลงานเขียนนวนิยาย
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย, เล่ม ๑๒๑ ตอนที่ ๔ ข หน้า ๑๙๐, ๑๐ มีนาคม ๒๕๔๗
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย, เล่ม ๑๑๖ ตอนที่ ๓ ข หน้า ๑๑๔, ๒๙ มกราคม ๒๕๔๒
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ประจำปี ๒๕๕๕ เก็บถาวร 2014-05-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๓๐ ตอนที่ ๔ ข หน้า ๑๒๔, ๒๘ มกราคม ๒๕๕๖
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญจักรมาลาและเหรียญจักรพรรดิมาลา, เล่ม ๑๑๒ ตอนที่ ๕ ข หน้า ๓๔๕, ๒๘ เมษายน ๒๕๓๘