มาลัย ชูพินิจ
มาลัย ชูพินิจ (25 เมษายน พ.ศ. 2449 - 20 สิงหาคม พ.ศ. 2506) ที่บ้านริมแม่น้ำปิง ตำบลคลองสวนหมาก (ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นนครชุม) อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร เป็นบุตรของ นายสอน และนางระเบียบ ชูพินิจ บิดาและมารดาประกอบอาชีพทางด้านการค้าไม้สักและไม้กระยาเลย เป็นนักเขียนและนักหนังสือพิมพ์คนสำคัญของไทย นิยมเรียกกันทั่วไปว่า ครูมาลัย ใช้นามปากกา "แม่อนงค์" "น้อย อินทนนท์" "นายฉันทนา" เป็นต้น
มาลัย ชูพินิจ | |
---|---|
เกิด | 25 เมษายน พ.ศ. 2449 จังหวัดกำแพงเพชร ประเทศสยาม |
เสียชีวิต | 20 สิงหาคม พ.ศ. 2506 (57 ปี) โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จังหวัดพระนคร ประเทศไทย |
นามปากกา | เรียมเอง, แม่อนงค์, น้อย อินทนนท์, นายฉันทนา ฯลฯ |
อาชีพ | นักเขียน, นักหนังสือพิมพ์ |
คู่สมรส | สงวน จันทรสิงห์ |
บุตร | 5 คน |
ลายมือชื่อ |
ประวัติ
แก้ในวัยเด็ก มาลัย ชูพินิจ เข้ารับการศึกษาชั้นต้นที่จังหวัดกำแพงเพชร จนจบชั้นประโยคประถมศึกษา เมื่ออายุประมาณ 10 ปี จึงเข้าไปศึกษาต่อในกรุงเทพฯ ที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ โรงเรียนวัดบพิตรพิมุข โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ระดับสูงจนจบประโยคมัธยมศึกษา (ม.8) เมื่อ ปี พ.ศ. 2467 และใช้ชีวิตส่วนใหญ่ อยู่ในกรุงเทพฯ
มาลัย ชูพินิจ เริ่มประกอบอาชีพครั้งแรกโดยรับราชการครู ที่โรงเรียนวัดสระเกศ เมื่อ ปี พ.ศ. 2467 สองปีต่อมาก็ลาออกจาก อาชีพครูเนื่องจากพอใจกับงานหนังสือพิมพ์มากกว่า เริ่มต้นด้วยการล่องใต้ไปจังหวัดสงขลาทำหนังสือพิมพ์ไทยใต้ ในตำแหน่งบรรณาธิการช่วงระยะหนึ่งปี แล้วกลับกรุงเทพฯ เข้าทำงานหนังสือพิมพ์รายปักษ์ "สุภาพบุรุษ" ของกุหลาบ สายประดิษฐ์เป็นเวลา 2 ปี ไปอยู่หนังสือพิมพ์ไทยใหม่ อีก 1 ปี ออกจากไทยใหม่ ได้รวบรวมเพื่อนๆ ออกหนังสือพิมพ์ผู้นำ จนกระทั่งปี พ.ศ. 2475 กุหลาบ สายประดิษฐ์ ออกหนังสือพิมพ์ประชาชาติ และประชาชาติรายสัปดาห์ ตามลำดับก็ได้ร่วมงานด้วยเช่นกัน
ช่วงปี พ.ศ. 2479 มาลัย ชูพินิจ หยุดงานหนังสือพิมพ์ระยะหนึ่ง แล้วหันไปทำสวนมะพร้าวที่ภาคใต้ และไร่ถั่วเหลืองที่"อ่าวพนังตัก" จังหวัดชุมพร เป็นเวลา 1 ปีก็เลิก เดินทางกลับกรุงเทพฯ รวบรวมเพื่อนฝูงอีกครั้งเพื่อออกประชามิตรรายวัน จน พ.ศ. 2490 ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาหนังสือพิมพ์พิมพ์ไทยและเขียนหนังสือให้กับสำนักพิมพ์ด้วย
มาลัย ชูพินิจ มีผลงานเขียนหลายประเภท เช่น เรื่องสั้น เรื่องยาว บทนำ บทความ สารคดี วิจารณ์และกีฬา โดยเฉพาะกีฬามวย เริ่มเขียนเรื่องสั้นครั้งแรกราวปี พ.ศ. 2468 ผลงานที่สร้างชื่อเสียงเรื่องแรก คือ เรื่องธาตุรัก พิมพ์ลงใน สุภาพบุรุษรายปักษ์ ระหว่างที่ทำงานในหนังสือพิมพ์ต่าง ๆ มีผู้กล่าวคาดประมาณกันว่าผลงานของมาลัย ชูพินิจ มีประมาณ 3,000 เรื่อง โดยมีผลงานเขียนเรื่องสั้นประมาณ 250 เรื่อง นวนิยายและข้อเขียนอื่น ๆ พิมพ์เป็นเล่ม ประมาณ 50 เรื่อง
ผลงานทุกประเภทของมาลัย ชูพินิจ ได้รับการยอมรับนับถือจากทุกวงการ เกียรติยศก่อนเสียชีวิต คือการได้รับพระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อ พ.ศ. 2505
มาลัย ชูพินิจ สมรสกับ สงวน จันทรสิงห์ มีบุตรธิดา 5 คน คือ นายสุคต ชูพินิจ นายกิตติ ชูพินิจ นางขนิษฐา ณ บางช้าง นางโสมนัส นครจารุพงศ์ และนางสาวสมาพร ชูพินิจ ครอบครัวครู
มาลัย ชูพินิจ ถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคมะเร็งที่ปอดเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2506 เวลา 17.45 น. ณ ตึกปัญจาชินี โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
ปัจจุบัน ยังคงมีครอบครัว ชูพินิจ อยู่ และยังคงชื่นชมในผลงานของท่าน มาลัย ชูพินิจ เป็นนักเขียนคนแรกในตระกูล ชูพินิจ[1]
ผลงาน
แก้ผลงานที่มีชื่อเสียงของมาลัย ชูพินิจ มีดังนี้
- ชั่วฟ้าดินสลาย
- ทุ่งมหาราช
- แผ่นดินของเรา
- เมืองนิมิตร
- ล่องไพร
- ลูกไพร
- เสือฝ้ายสิบทิศ (ชีวิตจริงของเสือฝ้ายแห่งสุพรรณบุรี)
- ฯลฯ
นามปากกา
แก้มาลัย ชูพินิจมีนามปากกามากมาย ทั้งนี้ก็เพราะได้เขียนในนิตยสารและหนังสือพิมพ์จำนวนมาก จึงต้องหานามปากกาเพื่อให้มีความหลากหลาย ดังนี้
|
|
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
แก้- พ.ศ. 2484 – เหรียญช่วยราชการเขตภายใน การรบสงครามอินโดจีน (ช.ร.)[2]
อ้างอิง
แก้- ↑ ชีวประวัติ มาลัย ชูพินิจ
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญช่วยราชการเขตภายใน, เล่ม ๕๘ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๓๙๔๙, ๔ พฤศจิกายน ๒๔๘๔
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์. (2551, เม.ย.-มิ.ย.). ทุ่งมหาราช: ชุมชนกับชาติ อำนาจกับความรัก. อ่าน. 1(1).
- ณัฏฐพงษ์ สกุลเลี่ยว. (2556, ก.ค.-ธ.ค.). ทุ่งมหาราช: ความหวังและความเคลื่อนไหวของสามัญชนสมัยปฏิรูป. มนุษยศาสตร์สาร. 14(2): 32-65.[ลิงก์เสีย]