บ้านพิษณุโลก
บ้านพิษณุโลก หรือชื่อเดิมคือ บ้านบรรทมสินธุ์ เป็นบ้านพักประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและเรือนรับรองแขกสำคัญของรัฐบาลไทย เป็นบ้านแบบสถาปัตยกรรมกอทิกเวเนเทียน ออกแบบและสร้างโดยมาริโอ ตามานโญ สถาปนิกชาวอิตาลี มีเนื้อที่ 25 ไร่ 3 งาน ตั้งอยู่บริเวณถนนพิษณุโลก เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ใกล้กับทำเนียบรัฐบาล
บ้านพิษณุโลก | |
---|---|
ภายในบ้านพิษณุโลก | |
ข้อมูลทั่วไป | |
สถาปัตยกรรม | กอทิกเวเนเทียน |
ที่อยู่ | 428 ถนนพิษณุโลก เขตดุสิต |
เมือง | กรุงเทพมหานคร |
ประเทศ | ประเทศไทย |
พิกัด | 13°45′31″N 100°31′05″E / 13.75849°N 100.51814°E |
แล้วเสร็จ | พ.ศ. 2465 (102 ปี) |
เจ้าของ | รัฐบาลไทย |
พื้นที่ชั้นล่าง | 40,000 m2 (9.9 เอเคอร์) |
การออกแบบและการก่อสร้าง | |
สถาปนิก | มาริโอ ตามานโญ |
ประวัติ
แก้บ้านบรรทมสินธุ์
แก้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ปลูกสร้างบ้านบรรทมสินธุ์ด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ใน พ.ศ. 2465 บนที่ดินประมาณ 50 ไร่ในอำเภอดุสิต จังหวัดพระนคร โดยมีมาริโอ ตามานโญ สถาปนิกชาวอิตาลีประจำกระทรวงโยธาธิการเป็นผู้ควบคุมการก่อสร้างและออกแบบบ้าน เมื่อสร้างเสร็จพระองค์พระราชทานบ้านบรรทมสินธุ์ให้กับพระยาอนิรุทธเทวา อธิบดีกรมมหาดเล็ก และผู้บัญชาการกรมมหรสพซึ่งเป็นมหาดเล็กส่วนพระองค์[1] และถ้าหันหน้าเข้าตัวบ้าน ด้านขวามือจะเป็นสโมสร อัศวราช หรือ กองม้าต้น (ตระกูลที่มี “ศวิน”)
ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ตระกูลอนิรุทธเทวาได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจตกต่ำ พระยาอนิรุทธเทวาจึงได้ทูลเกล้าฯ ถวายบ้านบรรทมสินธุ์เพื่อให้เป็นราชสมบัติเนื่องจากเกินกำลังที่จะบำรุงรักษาได้แต่ได้รับการปฏิเสธ พระยาอนิรุทธเทวาและครอบครัวได้ย้ายออกไปอยู่จังหวัดนนทบุรีและไม่ได้มีการใช้งานบ้านบรรทมสินธุ์แต่อย่างใด
เรือนรับรองแขกและที่ตั้งหน่วยงานรัฐบาล
แก้ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง คณะรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงครามได้ใช้บ้านบ้านบรรทมสินธุ์เป็นที่รับรองนายพลฮิเดกิ โทโจ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นในการร่วมรบกับญี่ปุ่น และได้ติดต่อพระยาอนิรุทธเทวาเพื่อขอซื้อหรือเช่าบ้านบรรทมสินธุ์เพื่อไม่ให้ญี่ปุ่นซื้อไปเป็นสถานทูต เนื่องจากบ้านนี้ตั้งอยู่ใกล้กับกองพันทหารราบที่ 3 ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ พระยาอนิรุทธเทวาได้ตกลงแบ่งขายที่ดินและตึกจำนวน 25 ไร่ ในราคา 5 แสนบาทเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2485 รัฐบาลได้ใช้บ้านบรรทมสินธุ์เป็นที่ทำการของ "กรมประสานงานไทย-ญี่ปุ่น" สำหรับการประสานงานระหว่างสองประเทศและเปลี่ยนชื่อเป็น "บ้านไทย-พันธมิตร"
เมื่อญี่ปุ่นแพ้สงคราม บ้านไทย-พันธมิตรได้เปลี่ยนชื่อเป็น "บ้านสันติภาพ" เพื่อลบภาพลักษณ์ในการเข้าร่วมสงคราม และต่อมาใน พ.ศ. 2496 จอมพล ป. พิบูลสงครามได้เปลี่ยนชื่อเป็น "บ้านพิษณุโลก" เนื่องจากบ้านหลังนี้ตั้งอยู่บนถนนพิษณุโลก
บ้านพักประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
แก้รัฐบาลยุคต่อมาได้ปรับปรุงบ้านพิษณุโลก เพื่อใช้เป็นบ้านพักประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มาตั้งแต่สมัย พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ในปี พ.ศ. 2522 และมาแล้วเสร็จในรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ในปี พ.ศ. 2524 พลเอกเปรม ได้ย้ายเข้าไปพัก แต่ก็อยู่เพียง 2 วัน จึงย้ายออกไปพักที่บ้านพักเดิมคือ บ้านสี่เสาเทเวศร์ ในยุค พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ได้มีการใช้บ้านหลังนี้เป็นที่ทำการของคณะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีโดยเรียกกันติดปากสื่อมวลชนว่า "ที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลก" แต่ไม่ได้มีการใช้เป็นที่พัก[2]
นายกรัฐมนตรียุคต่อมามีเพียง นายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรีคนสุดท้ายที่เข้าพักบ้านพิษณุโลกหลังนี้และอยู่ได้นานทั้งสองสมัยการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยได้ใช้โซฟาในห้องทำงานซึ่งอยู่ด้านหน้าห้องนอนเป็นที่นอน ทั้งนี้ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้จัดงบประมาณในการบำรุงรักษาบ้านพิษณุโลกมาโดยตลอด โดยในปี พ.ศ. 2565 ใช้งบประมาณในการปรับปรุง 6.45 ล้านบาท[3] และในปี พ.ศ. 2566 เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ใช้เป็นสถานที่ประชุมร่วมกับ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด[4]
ในร่วมสมัย
แก้ภาพยนตร์
แก้บ้านพิษณุโลกใช้เป็นฉากของ "บ้านทรายทอง" ในภาพยนตร์ชื่อเดียวกัน กำกับการแสดงโดย รุจน์ รณภพ ดาราแสดงนำคือ พอเจตน์ แก่นเพชร เป็น ชายกลาง และ จารุณี สุขสวัสดิ์ เป็น พจมาน สว่างวงศ์ ถือเป็นภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในยุคสมัยนั้น ทำให้บ้านพิษณุโลกเป็นที่รู้จักต่อสาธารณะมากกว่าเดิม แม้ในปัจจุบันภาพลักษณ์ความเป็น "บ้านทรายทอง" ก็ยังคงอยู่คู่กับสถานที่แห่งนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพล้อหรือการ์ตูนการเมืองตามหนังสือพิมพ์ มักเปรียบเปรยว่าบ้านพิษณุโลกเป็นประหนึ่งบ้านทรายทองในนวนิยาย ภาพล้อที่มีชื่อเสียงที่สุดน่าจะเป็นเมื่อครั้งที่นายชวน หลีกภัย ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2535 ได้มีการเขียนภาพล้อให้นายชวนเป็นพจมาน ไว้ผมเปียคู่ และสองมือถือชะลอม เดินเข้าบ้านพิษณุโลกหรือบ้านทรายทอง เลียนแบบฉากเปิดตัวพจมานในภาพยนตร์บ้านทรายทอง เนื่องจากเป็นนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียวที่พำนักในบ้านพิษณุโลกนานที่สุด[5]
บ้านผีสิง
แก้บ้านพิษณุโลกมีกิตติศัพท์ร่ำลือกันว่าผีดุจนเป็นเหตุให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ พักได้เพียง 2 วันเท่านั้นก็ย้ายออกไป แต่เมื่อสื่อมวลชนไปสัมภาษณ์ พล.อ.เฟื่องเฉลย อนิรุทธเทวา ซึ่งเป็นทายาทของพระยาอนิรุทธเทวาซึ่งเคยพักอาศัยอยู่ในบ้านหลังนี้เมื่อสมัยเด็กก็ได้รับการยืนยันว่าไม่เคยได้ยินเกี่ยวกับเรื่องผีดุแต่อย่างใดทั้ง ๆ ที่ตนอาศัยอยู่มาตั้งแต่เด็กจนหนุ่ม จนกระทั่งรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซื้อบ้านหลังนี้ไป แต่กิตติศัพท์เรื่องผีดุนี้ก็ได้รับการตอกย้ำ จนไม่มีนายกรัฐมนตรีคนใดย้ายเข้าไปพักอย่างเป็นทางการ แม้แต่ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ยังได้ใช้บ้านหลังนี้เป็นเพียงที่รับแขกเท่านั้น มีแต่นายกชวน หลีกภัยที่พักอาศัยในบ้านพักหลังนี้เป็นเวลานาน เนื่องจากบ้านพักในซอยหมอเหล็งของนายชวนนั้นค่อนข้างเล็กและคับแคบ ทำให้ขณะดำรงตำแหน่งจึงได้ย้ายเข้ามาพำนักในบ้านพิษณุโลกอย่างเป็นทางการทั้งสองสมัย นายชวน หลีกภัยได้ใช้โซฟาในห้องทำงานซึ่งอยู่ด้านหน้าห้องนอนเป็นที่นอน ไม่ได้ใช้เตียงนอนภายในห้องนอนของบ้านแต่อย่างใด เนื่องจากเป็นให้เกียรติเจ้าของบ้าน และหลังจาก นายชวน หลีกภัย แล้วก็ไม่มีนายกรัฐมนตรีคนใดใช้บ้านหลังนี้เป็นที่พำนักจนถึงปัจจุบัน มีเพียงแต่ใช้เป็นที่ประชุมและรับแขกเท่านั้น[6][7]
ระเบียงภาพ
แก้-
ห้องอาหาร
-
ห้องรับแขก
-
ห้องรับรอง
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้ดูเพิ่ม
แก้อ้างอิง
แก้- ↑ ใจอ่อนน้อม, อินทิรา (2020-01-29). "บ้านบรรทมสินธุ์ ร.6 พระราชทานให้พระยาอนิรุทธเทวา สู่บ้านพิษณุโลก มีเรื่องลี้ลับหรือ?". ศิลปวัฒนธรรม. สืบค้นเมื่อ 2020-03-20.
- ↑ "แถลงการณ์คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 1" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2012-03-21.
- ↑ "'บ้านพิษณุโลก' บ้านพักนายกฯ ที่ไม่มีนายกฯ อยู่ เคยใช้งบปรับปรุงสูงสุด 38 ล้านบาท". bangkokbiznews. 2023-08-25.
- ↑ ""เศรษฐา" เปิดบ้านพิษณุโลก ถกปัญหายาเสพติด". pptvhd36.com. 2023-09-10.
- ↑ หนังสือ ๑๐๘ ซองคำถาม / สำนักพิมพ์สารคดี
- ↑ "10 เบื้องหลังคน เบื้องหลังข่าว บ้านพิษณุโลก 041053 Part1". เนชั่นแชนแนล. 4 October 2010. สืบค้นเมื่อ 12 January 2015.
- ↑ "10 เบื้องหลังคน เบื้องหลังข่าว บ้านพิษณุโลก 041053 Part 2". เนชั่นแชนแนล. 4 October 2010. สืบค้นเมื่อ 12 January 2015.