นีนตเวยูออง (พม่า: နှင်းသွေးယုအောင်, อ่าน "นีน-ตเวยูออง"; เกิด 24 สิงหาคม พ.ศ. 2539) ชื่อเล่น นีน[1] เป็นนางแบบและนางงามชาวพม่า ได้รับตำแหน่งมิสยูนิเวิร์สเมียนมา 2018 และเป็นตัวแทนของประเทศพม่าสำหรับการประกวดนางงามจักรวาล 2018

นีนตเวยูออง
နှင်းသွေးယုအောင်
เกิด24 สิงหาคม พ.ศ. 2539 (27 ปี)
เมะทีลา ภาคมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า[1]
ส่วนสูง1.65 เมตร (5 ฟุต 5 นิ้ว)
เป็นที่รู้จักจากมิสยูนิเวิร์สเมียนมา 2018
ผู้ดำรงตำแหน่งการประกวดความงาม
สีผมดำ
สีตาน้ำตาลเข้ม
รางวัลมิสยูนิเวิร์สพะโค 2017
(ชนะ)
มิสยูนิเวิร์สเมียนมา 2018
(ชนะ)
นางงามจักรวาล 2018
(ไม่ผ่านเข้ารอบ)

นอกจากนี้นีนตเวยูอองร่วมแสดงในละครโทรทัศน์ไทยเรื่อง จากเจ้าพระยาสู่อิรวดี (2565) ออกอากาศทางช่องไทยพีบีเอส

ประวัติ แก้

นีนตเวยูอองเกิดที่เมืองเมะทีลา ภาคมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า[1] เธอมีบิดาเป็นชาวไทใหญ่ ส่วนมารดาเป็นชาวพม่า[2][3][4] ต่อมาครอบครัวย้ายไปเมืองแรชา เมืองเล็ก ๆ ทางตอนใต้รัฐฉาน ครั้นเธอเข้าสู่ระดับมัธยมศึกษาจึงย้ายไปเรียนที่โรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายที่ 1 ท่าขี้เหล็ก และอาศัยอยู่ที่เมืองท่าขี้เหล็ก ใกล้พรมแดนอำเภอแม่สายของประเทศไทย ซึ่งที่นั่นทำให้เธอสามารถใช้ภาษาไทยได้อย่างคล่องแคล่ว[1][3][5] และทำให้เธอเห็นโลกกว้างมากกว่าที่เคยเห็น[1] เธอสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาวิทยาศาสตร์การพยาบาล มหาวิทยาลัยเชียงตุง[2]

การทำงาน แก้

การประกวดนางงาม แก้

นีนตเวยูอองเข้าร่วมการประกวดมิสยูนิเวิร์สเมียนมา 2018 และได้รับรางวัลชนะเลิศ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2560[6][7] จากนั้นเธอได้เป็นตัวแทนผู้เข้าประกวดจากประเทศพม่าสำหรับการประกวดนางงามจักรวาล 2018 แต่ไม่ผ่านเข้ารอบ[1]

นักแสดง แก้

เธอเคยทำธุรกิจเปิดร้านแว่นตาของตัวเอง รวมทั้งรับงานเป็นนางแบบไปพร้อม ๆ กับการเรียน[3] หลังได้รับตำแหน่งมิสยูนิเวิร์สเมียนมาแล้ว นีนตเวยูอองเดินทางเข้าสู่ย่างกุ้งเพื่อเข้าทำงานในวงการบันเทิง แต่หลังการทำรัฐประหารของมี่นอองไลง์ ทำให้ความเจริญของประเทศชะงักงันลงไป จากนั้นเธอจึงเข้าไปพำนักเพื่อทำงานในกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย ไปพร้อม ๆ กับการเรียกร้องประชาธิปไตยแก่พม่า[1] เธอรับงานแสดงละครโทรทัศน์เรื่อง จากเจ้าพระยาสู่อิรวดี (2565) โดยรับบทซินซินและมาลา เธอกล่าวว่าถือเป็นผลงานการแสดงครั้งแรกของเธอ[2] และในบทพูดมีบางส่วนที่ต้องใช้ภาษาไทยในการสื่อสาร[8]

ชีวิตส่วนตัว แก้

นอกจากภาษาพม่าและไทใหญ่ที่ต้องใช้มาตั้งแต่เด็ก[4] นีนตเวยูอองสามารถใช้ภาษาไทยและอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่ว[2][3] โดยเธอศึกษาอย่างจริงจังด้วยเหตุผลด้านธุรกิจ จึงมีโอกาสได้ใช้ภาษาไทยบ่อยครั้ง[4] เธอกล่าวว่าชื่นชอบอาหารไทยมากเป็นพิเศษ[3] รวมทั้งติดตามสื่อบันเทิงของไทยอยู่บ่อย ๆ ชื่นชอบนักแสดงชาวไทยอย่าง มาริโอ้ เมาเร่อ วรัทยา นิลคูหา และพัชราภา ไชยเชื้อ[4]

บทบาททางการเมือง แก้

หลังการรัฐประหารในประเทศพม่า พ.ศ. 2564 นีนตเวยูอองเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลทหารพม่าผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย เธอเข้าไปทำงานที่ประเทศไทยตั้งแต่เดือนธันวาคมเพื่อถ่ายทำละครโทรทัศน์เรื่อง จากเจ้าพระยาสู่อิรวดี (2565) โดยเธอให้สัมภาษณ์กับสื่อไทยเกี่ยวกับสถานการณ์บ้านเมืองของพม่า[9] โดยกล่าวกับ นิตยสารเวย์ ของไทยไว้ว่า "เราอยากให้ทุกคนรู้ว่า เราจะต้องใช้วิธีต่อต้านอย่างสันติ เพื่อให้คณะรัฐประหารหรืออำนาจของกองทัพจบลงที่รุ่นเรา"[1] เธอร่วมชูสามนิ้วเพื่อทวงความยุติธรรมผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย เช่นเดียวกับผู้มีชื่อเสียงอีกหลายคนที่เข้าร่วมกิจกรรมนี้[10][11] นอกจากนี้เธอได้ขายมงกุฎที่ได้จากการประกวดของเธอ โดยนำเงินที่ได้จากการขายบริจาคให้แก่กองทุนคณะกรรมการผู้แทนสมัชชาแห่งสหภาพ[12][13]

วันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2564 นีนตเวยูอองพร้อมกับผู้มีชื่อเสียงอีกหลายคน ถูกสภาบริหารแห่งรัฐออกหมายจับด้วยมาตรา 505 (a) ในข้อหาต่อต้านการรัฐประหาร ด้วยการเข้าร่วมขบวนการอารยะขัดขืน และสร้างความเสียหายต่อการปกครองของรัฐด้วยการสนับสนุนคณะกรรมการผู้แทนสมัชชาแห่งสหภาพ รวมทั้งยุยงปลุกปั่นประชาชน ส่งผลให้ชาติขาดเสถียรภาพและสันติภาพ[14][15][16][17]

ผลงานละครโทรทัศน์ แก้

ปี เรื่อง บทบาท
2565 จากเจ้าพระยาสู่อิรวดี ซินซิน / มาลา

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 1.6 1.7 อิทธิพล โคตะมี (8 มีนาคม 2564). "นีนตเวยูออง: ทวงคืนความฝันของ 'Gen Z เมียนมา' ที่กำลังลุกโชน". Way Magazine. สืบค้นเมื่อ 12 ธันวาคม 2565. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 "เปิดวาร์ป! นีน ตเว ยูออง สาวสวยผู้รับบท พระสนมมาลา". อีจัน. 11 กุมภาพันธ์ 2565. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-12-04. สืบค้นเมื่อ 12 ธันวาคม 2565. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 "ฮือฮา! มิสยูนิเวิร์สพม่า 'นีนตเวยูออง' พูดภาษาไทยชัดเป๊ะ อ้อนขอกำลังใจเจ้าภาพ". มติชนออนไลน์. 29 พฤศจิกายน 2561. สืบค้นเมื่อ 12 ธันวาคม 2565. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 "อีกหนึ่งสาวงามขวัญใจคนไทย มิสพม่า "นีนตเวยูออง" เชื้อสายชาวไทใหญ่". แพรว. 15 ธันวาคม 2561. สืบค้นเมื่อ 12 ธันวาคม 2565. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  5. "สวย เซ็กซี่ พูดไทยชัด! 'นีนตเวยูออง' มิสยูนิเวิร์สเมียนมาร์นัยน์ตาคม". Mars Online. 29 พฤศจิกายน 2561. สืบค้นเมื่อ 12 ธันวาคม 2565. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  6. "Hnin Thway Yu Aung Crowned as Miss Universe Myanmar 2018".
  7. "Hnin Thway Yu Aung - Miss Universe Myanmar 2018". Indian and World Pageants.
  8. "ประวัติ "นีน ตเว ยูออง" จากนางงามพม่าสู่นักแสดงมากความสามารถในประเทศไทย". สนุกดอตคอม. 7 กุมภาพันธ์ 2565. สืบค้นเมื่อ 12 ธันวาคม 2565. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  9. "ထိုင်းမီဒီယာတခုကို လက်ရှိ မြန်မာနိုင်ငံအကြောင်း ပြောပြခဲ့တဲ့ နှင်းသွေးယုအောင်". The Irrawaddy (ภาษาพม่า). 26 February 2021.
  10. "တရားမျှတမှု We Want Justice ကန်ပိန်းတွင် အနုပညာရှင်များပါဝင် ဆန္ဒထုတ်ဖော် (ဓာတ်ပုံ)". DVB (ภาษาพม่า). 4 February 2021.
  11. "ရုပ်ရှင်၊ ဂီတ၊ စာပေ၊ သဘင်အနုပညာရှင်များက We Want Justice လက်သုံးချောင်းထောင်ပြီး လှုပ်ရှားမှုတွင်ပါဝင်". Eleven Media Group (ภาษาพม่า). 6 February 2021.
  12. "သရဖူ ရောင်းစရာ မလိုဘဲ CRPH ကို တန်းလှူခွင့်ရလိုက်တဲ့ နှင်းသွေးယုအောင်". The Irrawaddy (ภาษาพม่า). 30 March 2021.
  13. "CRPH ရန်ပုံငွေအတွက် မယ်စကြဝဠာအလှမယ် နှင်းသွေးယုအောင်က သရဖူကို ကျပ် ၄၅ သိန်းဖြင့် ရောင်းချ". DVB (ภาษาพม่า). 31 March 2021.
  14. "Warrants issued for artists, entertainers that called for CDM participation". Eleven. 3 April 2021.
  15. "စစ်ကောင်စီကိုဆန့်ကျင်တဲ့ အနုပညာရှင်တွေကို ဆက်တိုက်အမှုဖွင့်နေ". Radio Free Asia (ภาษาพม่า). 3 April 2021.
  16. "CDM လႈပ္ရွားသူ အႏုပညာရွင္ေတြကုိ အာဏာပုိင္ေတြ အေရးယူဖုိ႔ေၾကညာ". VOA (ภาษาพม่า). 4 August 2021.
  17. "မင်းမော်ကွန်း၊ အိန္ဒြာကျော်ဇင်၊ Rဇာနည်နှင့် ပိုင်ဖြိုးသု အပါအဝင် အယောက် ၂၀ ကို အမှုဖွင့်". DVB (ภาษาพม่า). 3 April 2021.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้