นักองค์เภา (พระราชธิดาในพระนารายน์ราชารามาธิบดี)

พระภรรยาในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท

นักองค์เภา (ราว พ.ศ. 2311—2372) เป็นพระราชธิดาในพระนารายน์ราชารามาธิบดี หรือนักองค์ตน ประสูติแต่สมเด็จพระภัควดี พระศรีสุชาดา ต่อมาได้ถวายตัวเข้ารับราชการเป็นบาทบริจาริกาในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท

นักองค์เภา
บาทบริจาริกาวังหน้า
ประสูติพ.ศ. 2311
สิ้นพระชนม์พ.ศ. 2372 (61 ปี)
บันทายแก้ว อาณาจักรกัมพูชาธิบดี
คู่อภิเษกสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท
พระราชบุตรพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิง
พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปุก
ราชวงศ์ตรอซ็อกผแอม (ประสูติ)
จักรี (เสกสมรส)
พระบิดาพระนารายน์ราชารามาธิบดี
พระมารดาสมเด็จพระภัควดี พระศรีสุชาดา
ศาสนาพุทธ

พระประวัติ แก้

พระชนม์ชีพช่วงต้น แก้

นักองค์เภา ประสูติเมื่อ พ.ศ. 2311 เป็นพระราชธิดาในพระนารายน์ราชารามาธิบดี (นักองค์ตน) ประสูติแต่พระอัครมเหสี พระนามว่า สมเด็จพระภัควดี พระศรีสุชาดา มหากระษัตรี บรมบพิตร (พระนามเดิม นักนางอี)[1] โดยพระชนนีเป็นพระราชบุตรีของสมเด็จพระแก้วฟ้า (องค์ด้วง) ประสูติแต่พระแม่นางชื่อนักนางทา ธิดาพระยากระลาโหม (เมี้ยน)[2] นักองค์เภามีพระเชษฐภคินีสองพระองค์คือ นักองค์เม็ญ (หรือเมน) ประสูติแต่สมเด็จพระภัควดี พระเอกกระษัตรี (พระนามเดิม นักนางบุบผาวดี) กับนักองค์อี ประสูติแต่นักนางแม้น[3] และพระอนุชาคือ นักองค์เอง ประสูติแต่นักนางไชย[4]

นักองค์เภาสืบเชื้อสายไทยจากปัยยิกาฝ่ายพระชนนีชื่อนักนางรอด บาทบริจาริกาในสมเด็จพระศรีธรรมราชาธิราช (นักองค์อิ่ม) บิดาของนักองค์ด้วง เมื่อครั้งประทับอยู่ในกรุงศรีอยุธยา[2]

ลี้ภัยสู่กรุงสยาม แก้

ใน พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ระบุว่า พ.ศ. 2325 พระยายมราช (แบน) และพระยากลาโหม (ปก) พาเจ้านายเขมรและเขมรเข้ารีตประมาณ 500 คน เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เจ้านายเขมรที่เสด็จลี้ภัยในคราวนั้น ได้แก่ นักองค์อี นักองค์เภา และนักองค์เอง แต่นักองค์เม็ญป่วย ถึงแก่พิราลัยเสีย สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทกราบทูลขอนักองค์อีและนักองค์เภาไปเป็นพระสนมเอกในวังหน้าสองพระองค์ ส่วนนักองค์เอง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงชุบเลี้ยงเป็นพระราชโอรสบุญธรรม[5] สอดคล้องกับ ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา ระบุว่า สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท พระราชอนุชาในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงรับนักองค์เม็ญ นักองค์อี และนักองค์เภาไปเลี้ยงเป็นพระอรรคชายาเมื่อ พ.ศ. 2325[6] แต่ในเอกสารไทยว่านักองค์เม็ญสิ้นพระชนม์ไปเสียก่อนในกรุงเทพมหานคร คงเหลือเพียงนักองค์อีและนักองค์เภาที่รับไปเลี้ยงเป็นพระสนมเอกในกรุงสยาม[7] ส่วนนักนางแม้นที่เข้ามาในกรุงเทพมหานครด้วยกันนั้นก็ได้บวชเป็นชีที่วัดหลวงชี (ต่อมาคือ วัดบวรสถานสุทธาวาส)[8]

นักองค์เภามีพระประสูติการพระธิดาสองพระองค์คือ

  1. พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิง (พ.ศ. 2334 – ไม่ทราบปีสิ้นพระชนม์)
  2. พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปุก (พ.ศ. 2335 – ไม่ทราบปีสิ้นพระชนม์)

นิวัตกรุงกัมพูชา แก้

ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา ระบุว่า สมเด็จพระภัควดี พระศรีสุชาดา และนักองค์เภา เดินทางออกจากสยามเข้ากัมพูชาทางเมืองพระตะบอง แล้วเดินทางออกจากพระตะบองพร้อมกับเจ้าพระยาอภัยธิเบศร์ (แบน) เสด็จไปประทับที่พระตำหนักตำบลโพธิกำโบ (แปลว่า "โพธิปูน") ตั้งแต่ พ.ศ. 2349[9] และ พ.ศ. 2350 สมเด็จพระอุไทยราชาธิราชรามาธิบดี ตรัสใช้พระองค์แก้ว (ด้วง) และออกญาจักรี (แกบ) นำเครื่องราชบรรณาการไปถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชที่กรุงเทพมหานคร เพื่อขอรับสมเด็จพระปิตุจฉาคือนักองค์อีและนักองค์เภาที่ประทับอยู่กรุงสยามกลับคืนกรุงกัมพูชา เอกสารไทยระบุว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชไม่โปรดพระราชทาน เพราะ "มีพระองค์เจ้าอยู่ จะให้ออกไปมิได้มารดากับบุตรจะพลัดกัน"[10] กล่าวคือมิทรงอนุญาตให้ทั้งนักองค์อีและนักองค์เภากับกรุงกัมพูชา[11][12] ขณะที่เอกสารเขมรระบุว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าพระราชทานให้ นักองค์เม็ญ นักองค์เภา และสมเด็จพระภัควดีพระเอกกระษัตรีกลับคืนเมืองเขมร เว้นแต่นักองค์อีที่คงให้อยู่กรุงเทพมหานครทั้งมารดาและพระราชบุตร[13]

เรื่องราวของนักองค์เภาปรากฏอีกครั้งในเอกสารกัมพูชา ที่ระบุว่าเมื่อ พ.ศ. 2356 สมเด็จพระอุไทยราชาธิราชรามาธิบดีตรัสให้ขุนนางนำศุภอักษรและเครื่องบรรณาการทูลเกล้าถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรดเกล้าฯ รับรองเป็นอย่างดี แล้วทรงพระกรุณาให้ขุนนางนำเหรียญเงิน 1,000 เหรียญ ข้าวเปลือก 100 เกวียน และผ้าแพรผ้าลายประทานแก่สมเด็จพระอุไทยราชาธิราชรามาธิบดี กับสมเด็จพระปิตุจฉา (เภา) และสมเด็จพระมารดา (โอด)[14] วันแรม 5 ค่ำ เดือน 3 ปีจอ ฉศก 1176 ตรงกับ พ.ศ. 2357 สมเด็จพระท้าว (นักองค์เม็ญ) สมเด็จพระปิตุจฉา (พระองค์เภา) และสมเด็จพระมารดา (โอด) ได้เสด็จไปทรงเยี่ยมเล วัน เสวียต หรือองต๋ากุน ที่เมืองไซ่ง่อน เป็นเวลา 25 วัน แล้วจึงเสด็จกลับบันทายแก้ว[15] และวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 12 ปีกุน สัปตศก ตรงกับ พ.ศ. 2358 สมเด็จพระท้าว (เม็ญ) สมเด็จพระมารดา (โอด) และสมเด็จพระปิตุจฉา (เภา) จะเสด็จไปเมืองเว้ แต่เมื่อถึงน่านน้ำเมืองไซ่ง่อน สมเด็จพระมารดาและสมเด็จพระปิตุจฉาทรงพระประชวร จึงเสด็จกลับกรุงเขมร[16] สอดคล้องกับเอกสารของจอห์น ครอว์เฟิร์ด ที่เข้ามาเป็นทูตในสยามนั้นระบุว่า เมื่อเขาลงไปเมืองไซ่ง่อน ได้พบเจ้าหญิงเขมรที่เคยเข้ารับราชการเป็นพระชายาในกรุงเทพมหานครลงไปเมืองไซ่ง่อนพระองค์หนึ่ง เข้าใจว่าเจ้านายฝ่ายในพระองค์นั้นอาจเป็นนักองค์เภา[13]

วันขึ้น 13 ค่ำ เดือน 4 ปีชวด อัฐศก ตรงกับ พ.ศ. 2359 สมเด็จพระอัยยิกา (เม็ญ) สมเด็จพระปิตุจฉา (เภา) และสมเด็จพระมารดา (โอด) ทรงเข้าร่วมพิธีแห่อัฐิ ทำบุญ และบรรจุอัฐิท่านยายมก พระอัยยิกาฝ่ายพระชนนีของสมเด็จพระอุไทยราชาธิราชรามาธิบดีที่เมืองกระแจะ แล้วเสด็จกลับเมืองบันทายแก้วในเดือน 5[17]

นักองค์เภามีพระอาการประชวรและสิ้นพระชนม์ลงเมื่อ พ.ศ. 2372 สมเด็จพระอุไทยราชาธิราชรามาธิบดีทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดงานพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระมารดา (โอด) และสมเด็จพระปิตุจฉา (เภา) พร้อมกัน แล้วแห่พระอัฐิไปบรรจุบนเขาพระราชทรัพย์ในปีเดียวกัน[18]

พงศาวลี แก้

อ้างอิง แก้

เชิงอรรถ
  1. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา, หน้า 135
  2. 2.0 2.1 ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา, หน้า 120
  3. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา, หน้า 134
  4. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา, หน้า 141
  5. ทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา. "พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 (8. พงศาวดารเขมร ตั้งแต่ครั้งกรุงธนบุรีจนนักองเองเข้ามาอยู่กรุงเทพฯ)". วชิรญาณ. สืบค้นเมื่อ 17 เมษายน 2564. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  6. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา, หน้า 160
  7. ไกรฤกษ์ นานา (5 ตุลาคม 2563). "วารสาร "นักล่าอาณานิคม" ตีแผ่สัญญารัชกาลที่ 5 ทำไมสยามสละ "นครวัด" ?". ศิลปวัฒนธรรม. สืบค้นเมื่อ 16 เมษายน 2564. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  8. "พระราชวังบวรสถานมงคล". สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยศิลปากร. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 6 พฤษภาคม 2558. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  9. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา, หน้า 180
  10. ทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา. "พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 (129. สมเด็จพระอุทัยทูลขอนักองอี นักองเภา)". วชิรญาณ. สืบค้นเมื่อ 17 เมษายน 2564. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  11. ทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา. "พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 2 (13. เหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับเมืองญวนเมืองเขมร)". วชิรญาณ. สืบค้นเมื่อ 19 เมษายน 2564. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  12. พระราชวิจารณ์ ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องจดหมายความทรงจำของพระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี (เจ้าครอกวัดโพธิ์) ตั้งแต่ จ.ศ. 1129 ถึง 1182 เป็นเวลา 53 ปี, หน้า 156
  13. 13.0 13.1 ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา, หน้า 181-183
  14. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา, หน้า 204
  15. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา, หน้า 208
  16. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา, หน้า 211-212
  17. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา, หน้า 217
  18. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา, หน้า 222
  19. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา, หน้า 111
บรรณานุกรม
  • จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระพระราชวิจารณ์ ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องจดหมายความทรงจำของพระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี (เจ้าครอกวัดโพธิ์) ตั้งแต่ จ.ศ. 1129 ถึง 1182 เป็นเวลา 53 ปี. กรุงเทพฯ : ศรีปัญญา, 2552. 576 หน้า. ISBN 978-611-7146-02-2
  • เรืองเดชอนันต์ (ทองดี ธนรัชต์), พันตรี หลวง. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา. กรุงเทพฯ : ไทยควอลิตี้บุ๊คส์ (2006), 2563. 336 หน้า. ISBN 978-616-514-668-5