นักนางโอด[1] หรือ โอง[2] (พ.ศ. 2302–2365) เป็นบาทบริจาริกาในสมเด็จพระนารายณ์รามาธิบดีศรีสุริโยพรรณ หรือนักองค์เอง และเป็นพระราชชนนีในสมเด็จพระอุไทยราชาธิราชรามาธิบดี หรือนักองค์จันทร์

นักนาง

โอด
เกิดราว พ.ศ. 2302
เสียชีวิตพ.ศ. 2365 (63 ปี)
บันทายแก้ว อาณาจักรกัมพูชาธิบดี
คู่สมรสสมเด็จพระนารายณ์รามาธิบดีศรีสุริโยพรรณ
บุตรสมเด็จพระอุไทยราชาธิราชรามาธิบดี
บิดามารดามก (มารดา)

ประวัติ

แก้

ชีวิตช่วงต้น

แก้

นักนางโอด มีมารดาชื่อท่านยายมก[3] และท่านยายมกน่าจะมีพื้นเพเดิมเป็นชาวเมืองกระแจะ เพราะมีการทำบุญและบรรจุกระดูกนางที่นั่น[4] เบื้องต้นนักนางโอดเข้ารับราชการเป็นบาทบริจาริกาตำแหน่งพระสนมชั้นพระแม่นางในสมเด็จพระนารายณ์รามาธิบดีศรีสุริโยพรรณ เมื่อครั้งยังประทับอยู่ในวังเจ้าเขมร ตั้งแต่ยังอยู่ที่ตำบลคอกกระบือ ก่อนย้ายไปทางทิศใต้ของวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร นักนางโอดประสูติกาลพระโอรสพระองค์แรกชื่อ นักองค์จันทร์ (ต่อมาเป็นสมเด็จพระอุไทยราชาธิราชรามาธิบดี) เมื่อ พ.ศ. 2334[5] ต่อมาสมเด็จพระนารายณ์รามาธิบดีศรีสุริโยพรรณทรงสร้างพระราชวังขึ้นใหม่ในกรุงอุดงฦๅไชย แล้วตรัสให้ออกญาวัง (สัวะซ์) และออกญาวิบุลราช (เอก) เข้าไปยังกรุงเทพมหานคร กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ขอรับสมเด็จพระเอกกระษัตรี สมเด็จพระท้าว ท้าวมหากระษัตรี (พระมารดาเลี้ยง) นักนางโอด นักนางแก นักนางรศ รวมทั้งขุนนางและข้าของพระองค์กลับเมืองเขมร ซึ่งกษัตริย์สยามก็พระราชทานให้ครอบครัวออกจากกรุงเทพฯ ในปลาย พ.ศ. 2338[6] แต่ปลาย พ.ศ. 2339 สมเด็จพระนารายณ์รามาธิบดีศรีสุริโยพรรณก็สวรรคต[7]

พระราชชนนี

แก้

หลังสมเด็จพระนารายณ์รามาธิบดีศรีสุริโยพรรณสวรรคต นักนางโอดสร้างพระวิหารของวัดพระธรรมเกรติ์ หรือวัดพระพุทธโจลนิพเปียน เมื่อปีฉลู 1167 ตรงกับ พ.ศ. 2348 ดังปรากฏใน ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา ความว่า "...นักนางโอด พระมารดานักองค์จันทร์ ซึ่งเป็นพระราชบุตรองค์ใหญ่ สร้างพระวิหารหลัง ๑ ที่วัดธรรมเกร์ (วัดธรรมมรฎก) อยู่ข้างตวันออกพระวิหารพระพุทธรูปองค์ใหญ่ของเจ้าฟ้าทะละหะสร้างนั้น ๚"[8][9] นักองค์จันทร์ซึ่งเป็นพระราชโอรสที่ประสูติแต่นักนางโอดเสวยราชสมบัติเป็นสมเด็จพระอุไทยราชาธิราชรามาธิบดีสืบมา ช่วงเวลานั้นทางราชสำนักญวนพยายามมีไมตรีต่อกษัตริย์เขมรพระองค์ใหม่ เบื้องต้นมีการเสนอให้กษัตริย์เขมรพร้อมครอบครัวเสด็จไปประทับที่เมืองบัญแงใน พ.ศ. 2355 เมื่อเสด็จถึงเมืองบัญแง ทางการญวนนำทอง เงิน ผ้าแพร และเงินอีแปะ 5,000 พวง มาถวายสมเด็จพระอุไทยราชาธิราชรามาธิบดี สมเด็จพระอัยยิกา (นักองค์เม็ญ) และสมเด็จพระมารดา (โอด) รวมถึงขุนนาง ไพร่พลที่ตามเสด็จด้วยทุกคน[10] จักรพรรดิซา ล็อง หรือองเชียงสือ พระเจ้าเวียดนามตรัสให้ขุนนางญวนนำเงินอีแปะ 1,000 พวง มาพระราชทานขุนนางที่ตามเสด็จสมเด็จพระอุไทยราชาธิราชรามาธิบดี และถวายเงินนักองค์เม็ญ พระอัยยิกา 20 แน่น และถวายเงินนักนางโอด พระราชมารดา 20 แน่น (แน่น มีน้ำหนักราว 25 บาท)[11] ต่อมาสมเด็จพระอุไทยราชาธิราชรามาธิบดีพร้อมด้วยพระราชวงศ์และขุนนาง เดินทางกลับกรุงบันทายเพชรใน พ.ศ. 2356 โดยมีเล วัน เสวียต หรือองต๋ากุน จัดกระบวนแห่ให้[12] แม้จะมีสัมพันธไมตรีแนบแน่นกับญวน แต่สมเด็จพระอุไทยราชาธิราชรามาธิบดียังส่งขุนนางพร้อมเครื่องราชบรรณาการถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยตรัสให้ขุนนางนำเหรียญ 1,000 เหรียญ ข้าวเปลือก 100 เกวียน และผ้าแพรผ้าลายประทานสมเด็จพระอุไทยราชา สมเด็จพระปิตุจฉา (เภา) และสมเด็จพระมารดา (โอด) ด้วย[13]

ปัจฉิมวัย

แก้

นักนางโอดมีบทบาทในการเจริญสัมพันธไมตรีกับญวน ดังในวันแรม 5 ค่ำ เดือน 3 ปีจอ ฉศก 1176 ตรงกับ พ.ศ. 2357 สมเด็จพระท้าว (นักองค์เม็ญ) สมเด็จพระปิตุจฉา (พระองค์เภา) และสมเด็จพระมารดา (โอด) ได้เสด็จไปทรงเยี่ยมเล วัน เสวียต หรือองต๋ากุน ที่เมืองไซ่ง่อน เป็นเวลา 25 วัน แล้วจึงเสด็จกลับบันทายแก้ว[14] และใน วันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 12 ปีกุน สัปตศก ตรงกับ พ.ศ. 2358 สมเด็จพระท้าว สมเด็จพระมารดา (โอด) และสมเด็จพระปิตุจฉาจะเสด็จไปเมืองเว้ แต่เมื่อถึงน่านน้ำเมืองไซ่ง่อน สมเด็จพระมารดาและสมเด็จพระปิตุจฉาทรงพระประชวร จึงเสด็จกลับกรุงเขมร[15]

นักนางโอดถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคชราใน พ.ศ. 2365 สิริอายุ 63 ปี[16] สมเด็จพระอุไทยราชาธิราชรามาธิบดีปลูกพระเมรุถวายพระเพลิงศพพระมารดา และสมเด็จพระปิตุจฉา (พระองค์เภา) แล้วแห่พระอัฐิไปบรรจุบนเขาพระราชทรัพย์ใน พ.ศ. 2372[16]

อ้างอิง

แก้
เชิงอรรถ
  1. ทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา. "พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 (83. สมเด็จพระนารายณ์รามาธิบดีพระเจ้ากรุงกัมพูชาพิราลัย)". วชิรญาณ. สืบค้นเมื่อ 17 เมษายน 2564. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  2. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3, หน้า 113
  3. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา, หน้า 206
  4. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา, หน้า 217
  5. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา, หน้า 166
  6. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา, หน้า 171
  7. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา, หน้า 172
  8. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา, หน้า 177
  9. เขมรสมัยหลังพระนคร, หน้า 53-55
  10. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา, หน้า 200
  11. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา, หน้า 201
  12. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา, หน้า 202
  13. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา, หน้า 204
  14. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา, หน้า 208
  15. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา, หน้า 211-212
  16. 16.0 16.1 ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา, หน้า 222
บรรณานุกรม