ธนาคารไทยพาณิชย์
ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (อังกฤษ: The Siam Commercial Bank Public Company Limited ชื่อย่อ: SCB)[3] (จีนตัวย่อ: 泰国汇商银行) เป็นธนาคารพาณิชย์แห่งแรกของไทยซึ่งก่อตั้งโดยพระบรมราชานุญาตในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อปี พ.ศ. 2449 เดิมชื่อ แบงก์สยามกัมมาจล ทุนจำกัด ธนาคารไทยพาณิชย์ถือเป็นธนาคารที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศไทย ปัจจุบันธนาคารมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ย่านรัชโยธิน เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร มีจำนวนสาขาทั้งสิ้น 643 สาขา[4] และมีเครื่องเอทีเอ็มกว่า 10,000 เครื่อง เป็นธนาคารที่มีจำนวนเครื่องเอทีเอ็มมากที่สุดในประเทศ ธนาคารไทยพาณิชย์จัดเป็นธนาคารขนาดใหญ่ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศ นอกจากนี้ธนาคารไทยพาณิชย์ยังถูกจัดให้เป็นธนาคารอันดับ 1 ของประเทศไทย จากการจัดอันดับธนาคารแห่งปี (Bank of the year) ประจำปี พ.ศ. 2566 และ พ.ศ. 2567
อาคารสำนักงานใหญ่ของธนาคารไทยพาณิชย์ | |
ประเภท | บริษัทมหาชนจำกัด |
---|---|
การซื้อขาย | SET:SCB |
ISIN | TH0015010R16 |
อุตสาหกรรม | ธุรกิจการเงิน ธนาคาร |
ก่อนหน้า | บุคคลัภย์ แบงก์สยามกัมมาจล |
ก่อตั้ง | 4 ตุลาคม พ.ศ. 2447 (119 ปี ในชื่อบุคคลัภย์) 30 มกราคม พ.ศ. 2449 (118 ปี ในชื่อแบงก์สยามกัมมาจล) 27 มกราคม พ.ศ. 2482 (85 ปี ในชื่อธนาคารไทยพาณิชย์) 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2536 (31 ปี ในชื่อธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)) |
ผู้ก่อตั้ง | พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว |
สำนักงานใหญ่ | 9 ถนนรัชดาภิเษก แขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร |
บุคลากรหลัก | พันตำรวจเอก ธรรมนิธิ วนิชย์ถนอม, ประธานกรรมการ กฤษณ์ จันทโนทก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร อรพงศ์ เทียนเงิน, ผู้จัดการใหญ่ |
ผลิตภัณฑ์ | การธนาคารลูกค้ารายย่อย การธนาคารพาณิชย์ การประกันภัย วาณิชธนกิจ เงินกู้จำนอง การธนาคารลูกค้าบุคคลรายใหญ่ การบริหารความมั่งคั่ง บัตรเครดิต |
รายได้ | 174,900.49 ล้านบาท (2562)[1] |
สินทรัพย์ | 2,963,746.32 ล้านบาท (2562)[1] |
ส่วนของผู้ถือหุ้น | 400,357.83 ล้านบาท (2562)[1] |
พนักงาน | 20,000 (พ.ศ. 2552) |
บริษัทแม่ | เอสซีบี เอกซ์ |
บริษัทในเครือ | CardX InnovestX SCB Asset Management SCB Protect SCB Julius Baer SCB Plus |
อันดับความน่าเชื่อถือ | Fitch: AA+(tha)[2] |
เว็บไซต์ | www |
ประวัติ
แก้กิจการของธนาคารเริ่มต้นขึ้นในนาม บุคคลัภย์ (Book Club) ในวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2447 ก่อตั้งโดยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย เนื่องจากขณะนั้นทรงเชื่อว่า สยามประเทศมีความจำเป็นต้องมีระบบการเงินธนาคารเพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจการเงินของประเทศ หลังจากบุคคลัภย์ขยายตัวทางธุรกิจขึ้นเป็นลำดับ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานอำนาจพิเศษให้จัดตั้ง บริษัท แบงก์สยามกัมมาจล ทุนจำกัด เพื่อประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์อย่างเป็นทางการตั้งแต่แต่วันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2449[5]
ธนาคารไทยพาณิชย์เป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศประจำปี 2560[6] ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ สนส. 17/2560
ลำดับเหตุการณ์สำคัญ
แก้- พ.ศ. 2449 - ธนาคารเปิดทำการในที่ทำการเดิมของบุคคลัภย์ ตำบลบ้านหม้อ อำเภอพระนคร จังหวัดพระนคร
- พ.ศ. 2453 - ธนาคารย้ายสำนักงานไปยังอาคารตลาดน้อย ตำบลตลาดน้อย อำเภอสัมพันธวงศ์ จังหวัดพระนคร
- พ.ศ. 2455 - ธนาคารเปิดสาขาแห่งแรกย่านท่าน้ำราชวงศ์ ตำบลสำเพ็ง อำเภอสัมพันธวงศ์ เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม
- พ.ศ. 2463 - ธนาคารเปิดสาขาแห่งแรกในส่วนภูมิภาค คือ สาขาทุ่งสง อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช (ปัจจุบันเป็นอาคารคลังพัสดุ ในย่านสถานีรถไฟชุมทางทุ่งสง) เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม
- พ.ศ. 2470 - ธนาคารเปิดสาขาในส่วนภูมิภาคแห่งที่สอง คือ สาขาเชียงใหม่ ข้างโรงแรมรถไฟเชียงใหม่ ซึ่งอยู่หน้าสถานีรถไฟเชียงใหม่ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 1 มกราคม
- พ.ศ. 2473 - ธนาคารเปิดสาขาในส่วนภูมิภาคแห่งที่สาม คือ สาขาลำปาง จังหวัดลำปาง นับเป็นสาขาภูมิภาคที่เก่าแก่ที่สุดที่ยังคงให้บริการในที่ทำการเดิมมาจนถึงปัจจุบัน
- พ.ศ. 2476 - ธนาคารย้ายที่ทำการสาขาเชียงใหม่เข้าสู่ตัวเมืองเชียงใหม่
- พ.ศ. 2482 - ธนาคารเปลี่ยนชื่อภาษาไทยจาก "แบงก์สยามกัมมาจล" เป็น "ธนาคารไทยพาณิชย์" และเปลี่ยนชื่อภาษาอังกฤษจาก "The Siam Commercial Bank, Limited" เป็น "The Thai Commercial Bank, Limited" ตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม เป็นต้นไป
- พ.ศ. 2485 - ธนาคารแต่งตั้งนายเล้ง ศรีสมวงศ์ เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ชาวไทยคนแรก เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์
- พ.ศ. 2486 - ธนาคารเปิดสาขาในส่วนภูมิภาคแห่งที่สี่ คือสาขานครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา เพื่อให้บริการพ่อค้าและประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
- พ.ศ. 2489 - ธนาคารเปลี่ยนชื่อภาษาอังกฤษกลับมาเป็น "The Siam Commercial Bank, Limited"
- พ.ศ. 2505 - ธนาคารเริ่มใช้เครื่องลงบัญชีเดินสะพัด โพสต์-โทรนิก ซึ่งเป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่นับว่าทันสมัยที่สุดในยุคนั้น เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม
- พ.ศ. 2514 - ธนาคารได้เปิดอาคารสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ที่ถนนเพชรบุรี (ปัจจุบันปรับฐานะเป็นสาขาชิดลม และได้ยกอาคารดังกล่าวไปให้เป็นอาคารสำนักงานใหญ่ของบริษัท ไทยพาณิชย์ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) จากนั้นจึงได้ย้ายไปอยู่ที่อาคารหลังใหม่ติดกับหลังเดิม ซึ่งเปิดใช้งานในปี พ.ศ. 2525)
- พ.ศ. 2516 - ธนาคารเริ่มรับพนักงานสตรีเข้าปฏิบัติงานเป็นครั้งแรก
- พ.ศ. 2525 - ธนาคารเริ่มให้บริการฝากและถอนต่างสาขากับบัญชีเงินฝากครบทุกประเภท เป็นแห่งแรกในประเทศไทย
- พ.ศ. 2526 - ธนาคารเริ่มให้บริการเงินด่วนด้วยเครื่องเอทีเอ็มเป็นครั้งแรก และแห่งแรกในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม
- พ.ศ. 2531 - ธนาคารมีปริมาณสินทรัพย์รวม 103,298.1 ล้านบาท เมื่อถึงสิ้นปีดังกล่าว
- พ.ศ. 2532–2535 - ธนาคารได้รับรางวัล "ธนาคารแห่งปี" (Bank of the Year) จากนิตยสารการเงินธนาคาร เป็นเวลา 4 ปีซ้อน ในฐานะที่เป็นธนาคารพาณิชย์ไทย ที่มีผลงานโดดเด่นอย่างรอบด้าน รวมทั้งการขยายตัวของธนาคารฯ และการเตรียมพร้อมรองรับความเจริญในอนาคต
- พ.ศ. 2536 - ธนาคารเข้าจดทะเบียนเป็นบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ เป็นต้นมา โดยใช้ชื่อภาษาไทยว่า "ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)" และชื่อภาษาอังกฤษว่า "Siam Commercial Bank Public Company Limited"
- พ.ศ. 2539 - ธนาคารย้ายที่ทำการสำนักงานใหญ่จากถนนเพชรบุรีไปยังอาคาร SCB Park Plaza บนถนนรัชดาภิเษก ย่านรัชโยธิน เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 29 มกราคม เป็นต้นมา
- พ.ศ. 2541–2542 - สืบเนื่องจากวิกฤตทางการเงินในเอเชียเมื่อปี พ.ศ. 2540 ส่งผลต่อเนื่องถึงเศรษฐกิจไทยโดยรวมที่ซบเซาลงอย่างหนักและการดำเนินมาตรการที่เข้มงวดตามกรอบนโยบายของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ธนาคารจึงต้องรับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นับเป็นยุควิกฤตของธนาคารเนื่องจากมีปริมาณสินเชื่อด้อยคุณภาพเพิ่มขึ้นตามลำดับ ทางธนาคารจึงมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้น ด้วยความพยายามรักษาระดับของเงินกองทุนให้เพียงพอ การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ การปรับปรุงโครงสร้างของธนาคารตลอดจนตัดทอนค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ร่วมกับการแก้ไขปัญหาในระยะยาวด้วยการเพิ่มทุน ซึ่งล้วนแต่สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ทั้งการเสนอขายหุ้นแก่ผู้ถือหุ้นเดิม ผู้ลงทุนในต่างประเทศ และการออกหุ้นกู้ซึ่งถือเป็นการขายหุ้นเพิ่มทุนครั้งใหญ่ที่สุดของประเทศไทย โดยวารสารการเงินหลายฉบับกล่าวว่าเป็นข้อตกลงที่ควรพิจารณาแห่งปีของเอเชีย ซึ่งมาตรการทั้งหมดนั้น ได้รับความร่วมมือร่วมใจจากพนักงานของธนาคารเป็นอย่างดียิ่ง
- พ.ศ. 2549 - ธนาคารมีปริมาณสินทรัพย์เป็นอันดับที่สาม มูลค่าเกินหนึ่งล้านล้านบาท โดยมีมูลค่าตลาดรวม เพิ่มสูงขึ้นเป็นอันดับหนึ่ง ตลอดจนมีจำนวนสาขา และเครื่องเอทีเอ็มทั่วประเทศ มากที่สุดในประเทศไทย
- พ.ศ. 2553 - ธนาคารปรับปรุงอัตลักษณ์และตราสัญลักษณ์ของธนาคาร ให้มีความเรียบง่ายและทันสมัยมากขึ้น และขยายจำนวนสาขาจนครบ 1,000 สาขา โดยสาขาที่ 1,000 ตั้งอยู่ที่ศูนย์การค้าพาราไดซ์พาร์ค โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดที่ทำการสาขาเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม[7]
- พ.ศ. 2555 - บริษัท เงินทุน สินอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) ได้โอนบรรดากิจการทั้งหมดไปเป็นส่วนหนึ่งของธนาคาร ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม[8]
- พ.ศ. 2558 - ธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่รัชโยธิน เขตจตุจักร เกิดอัคคีภัย มีผู้เสียชีวิต 1 ราย ได้แก่ นายเดชา ด้วงชนะ เจ้าหน้าที่ดับเพลิงเขตหลักสี่[9]
- พ.ศ. 2559 - ธนาคารเปิดตัวผลิตภัณฑ์บัญชีเงินฝากแบบไม่มีสมุดคู่ฝาก (SCB E PASSBOOK) เป็นธนาคารแรกในประเทศไทย[10] โดยบัญชีแบบไม่มีสมุดนี้จะใช้เพียงบัตรประจำตัวประชาชนในการติดต่อธนาคาร และมีการส่งรายการเดินบัญชีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Statement) ให้ทางอีเมลแอดเดรสที่ลูกค้าได้ให้ไว้กับธนาคาร ทุกวันที่ 1 ของเดือน บัญชีแบบไม่มีสมุดคู่ฝากจะให้อัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าบัญชีแบบมีสมุดคู่ฝาก[11] แต่จะไม่สามารถใช้เป็นบัญชีรับเงินจากการขายกองทุนได้ เนื่องจากการรับเงินจากการขายกองทุนต้องใช้บัญชีออมทรัพย์แบบมีเล่มสมุดเท่านั้น[12]
- พ.ศ. 2560 - ธนาคารเปิดตัวแอปพลิเคชัน SCB Easy เวอร์ชันปรับปรุงใหม่ โดยมีการเปลี่ยนแปลงอินเตอร์เฟซให้สวยงามทันสมัย และเพิ่มการทำธุรกรรมกดเงินไม่ใช้บัตรผ่านโทรศัพท์มือถือเป็นธนาคารแรกในประเทศไทย[13]
- พ.ศ. 2561 - ธนาคารประกาศยกเลิกค่าธรรมเนียมการฝาก ถอน โอน เติม จ่าย ที่ดำเนินการทำธุรกรรมผ่านแอปพลิเคชัน SCB Easy ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม เป็นต้นมา โดยเป็นธนาคารแรกในประเทศไทยที่ประกาศยกเลิกค่าธรรมเนียมดังกล่าว[14]
- พ.ศ. 2564 - ธนาคารไทยพาณิชย์ ประกาศโอนกิจการธนาคาร และกิจการในเครือทั้งหมดให้ บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งแปรสภาพมาจาก บริษัท ไทยพาณิชย์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน)
- พ.ศ. 2565 - ธนาคารเริ่มดำเนินการแลกหุ้นเข้าสู่ บมจ.เอสซีบี เอกซ์ ซึ่งเป็นบริษัทโฮลดิ้งของกลุ่มธุรกิจไทยพาณิชย์ ตั้งแต่เดือนมีนาคม-เมษายน หลังจากนั้น เอสซีบี เอกซ์ จะเป็นผู้ถือหุ้นของธนาคารทั้งหมด เพื่อนำไปสู่การถอนหุ้นธนาคารออกจากตลาดหลักทรัพย์ และให้ซื้อขายหุ้นของบริษัทโฮลดิ้งแทน โดยใช้ชื่อย่อหลักทรัพย์เดิมของธนาคาร คือ SCB โดยการดำเนินการนี้เสร็จสิ้นในเดือนพฤษภาคมปีเดียวกัน[15] ทั้งนี้ หลังการแลกหุ้นดังกล่าว สัดส่วนการถือครองหุ้นของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงถือผ่านสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ เพิ่มขึ้น 0.20% เป็น 23.58% จากเดิม 23.38%
- พ.ศ. 2560–2566 - ธนาคารทยอยลดจำนวนสาขาลง จากเดิมที่เคยเป็นธนาคารที่มีจำนวนสาขามากที่สุดในประเทศ ลดเหลือเพียงราว ๆ 700 สาขาในปัจจุบัน[4] บางสาขาเปลี่ยนไปให้บริการในรูปแบบ SCB Express[16] คือการทำรายการผ่านเครื่อง VTM (Virtual Machine) ทั้งนี้สาขาในรูปแบบ SCB Express อาจมีพนักงานประจำหรือไม่ก็ได้ขึ้นอยู่กับกรณี
บริษัทในเครือ
แก้- CardX ดูแลกลุ่มผลิตภัณฑ์ด้านบัตรเครดิต บัตรกดเงินสด และสินเชื่อส่วนบุคคล
- InnovestX ดูแลเรื่องการลงทุนในหลักทรัพย์ เช่น หุ้น กองทุน สินทรัพย์ดิจิทัล เปลี่ยนชื่อมาจากหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ SCBS
- SCB Asset Management (SCBAM) ดูแลเรื่องการลงทุนในกองทุนรวมของไทยพาณิชย์ ชื่อเต็มคือ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนไทยพาณิชย์
- SCB Protect ดูแลเรื่องการจัดการประกันภัยและประกันชีวิต
- SCB Julius Baer
- SCB Tech X ดูแลเรื่อง บริการ Cloud solution
- SCB 10X
- TokenX ดูแลเรื่องการพัฒนาแพลตฟอร์มสินทรัพย์ดิจิทัล (Blockchain and NFT Platform Solution)
- AutoX (เงินไชโย) ดูแลเรื่องสินเชื่อเงินกู้โดยใช้รถยนต์ส่วนบุคคล
กรรมการและผู้บริหารระดับสูง
แก้ข้อมูล ณ วันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2567
- พลอากาศเอก สถิตย์พงษ์ สุขวิมล - ประธานที่ปรึกษาคณะกรรมการและกรรมการ
- พันตำรวจเอก ธรรมนิธิ วนิชย์ถนอม - ประธานกรรมการ บมจ. เอสซีบี เอกซ์
- นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ - นายกกรรมการ ธนาคารไทยพาณิชย์
- นายอาทิตย์ นันทวิทยา - ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เอสซีบี เอกซ์
- นายกฤษณ์ จันทโนทก - ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารไทยพาณิชย์
ผู้ถือหุ้นรายใหญ่
แก้ข้อมูล ณ วันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2567[17]
ลำดับที่ | รายชื่อผู้ถือหุ้น | จำนวนหุ้นสามัญ | สัดส่วนการถือหุ้น |
1 | พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว | 793,832,359 | 23.58% |
2 | กองทุนรวม วายุภักษ์หนึ่ง | 549,600,000 | 16.32% |
3 | บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด | 215,604,931 | 6.40% |
4 | SOUTH EAST ASIA UK (TYPE C) NOMINEES LIMITED | 148,934,061 | 4.42% |
5 | STATE STREET EUROPE LIMITED | 132,341,967 | 3.93% |
6 | กองทุนรวม วายุภักษ์หนึ่ง โดย บลจ.เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) | 117,849,100 | 3.50% |
7 | กองทุนรวม วายุภักษ์หนึ่ง โดย บลจ.กรุงไทย จำกัด (มหาชน) | 117,849,100 | 3.50% |
8 | สำนักงานประกันสังคม | 81,114,300 | 2.41% |
9 | THE BANK OF NEW YORK MELLON | 47,394,327 | 1.41% |
10 | BNY MELLON NOMINEES LIMITED | 44,112,765 | 1.31% |
รางวัล
แก้ปี | รางวัล | สาขา | ผล |
---|---|---|---|
2566 | Thailand Zocial Awards 2023[18] | Best Brand Performance on Social Media กลุ่มธุรกิจธนาคาร | ชนะ |
อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 1.2 งบการเงิน/ผลประกอบการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
- ↑ อันดับเครดิต เก็บถาวร 2021-01-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
- ↑ สรุปข้อสนเทศบริษัทจดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
- ↑ 4.0 4.1 "ธนาคารแห่งประเทศไทย | Bank of Thailand". app.bot.or.th.
- ↑ ประวัติธนาคารไทยพาณิชย์ เก็บถาวร 2015-08-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, จากเว็บไซต์ของธนาคารฯ
- ↑ ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ สนส. 17/2560
- ↑ "สมเด็จพระเทพฯ"โปรดร้านหนังสือ
- ↑ การโอนและรับโอนกิจการทั้งหมดของบริษัทเงินทุน สินอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) ให้แก่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เก็บถาวร 2015-09-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, จากเว็บไซต์ของธนาคารฯ
- ↑ ไฟไหม้!'ไทยพาณิชย์'สังเวย1
- ↑ "Facebook". www.facebook.com.
- ↑ รู้ยัง!! บัญชีเงินฝากแบบ E-passbook ได้ดอกเบี้ยสูงงงงงง | รู้ยัง!! บัญชีเงินฝากแบบ E-passbook ได้ดอกเบี้ยสูงงงงงง ... สะดวก ง่าย ไม่มีค่าธรรมเนียม เปลี่ยนแล้วชีวิตดี๊ดีย์ ทำยังไง มาดูกัน... | By SCB ThailandFacebook, สืบค้นเมื่อ 2024-06-05
- ↑ "สมัคร SCBAM Fund Click ด้วยบัญชี SCB e-passbook ไม่ได้". Pantip.
- ↑ ""ไทยพาณิชย์" เตรียมให้บริการ "กดเงินไม่ใช้บัตร" ผ่านแอปฯ พรุ่งนี้". mgronline.com. 2017-08-19.
- ↑ "เป็นทางการแล้ว SCB Easy ยกเลิกค่าธรรมเนียมโอนเงินข้ามแบงค์-ข้ามเขต เติมเงิน จ่ายบิล | Blognone". www.blognone.com (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ aof (2022-03-01). "ไทยพาณิชย์ ประกาศแลกหุ้น SCBX-SCB เริ่ม 2 มีนาคม-18 เมษายน 2565". ประชาชาติธุรกิจ.
- ↑ sakhononline (2017-12-10). "มารู้จัก SCB Express สาขารูปแบบใหม่ ปรับตัวรับภาวะลดจำนวนสาขา". รายงานพิเศษ (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2024-06-05. สืบค้นเมื่อ 2024-06-05.
- ↑ "SCB - ข้อมูลผู้ถือหุ้น - ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย". www.set.or.th.
- ↑ "ประกาศผล Thailand Social Awards ครั้งที่ 11 แบรนด์และผู้ทรงอิทธิพลบนโลกโซเชียลยกทัพร่วมงานคับคั่ง". ไทยรัฐ. 2023-02-24. สืบค้นเมื่อ 2023-02-25.
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
- พิพิธภัณฑ์ธนาคารไทย เก็บถาวร 2020-11-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- มูลนิธิสยามกัมมาจล
- โครงการ กล้าใหม่...ใฝ่รู้ เก็บถาวร 2016-10-31 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ธนาคารไทยพาณิชย์ ที่เฟซบุ๊ก