ธงชาติลัตเวีย
ธงชาติลัตเวีย เป็นธงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ากว้าง 1 ส่วน ยาว 2 ส่วน พื้นเป็นแถบสีแดงเข้มอย่างสีเลือดหมู ที่กลางธงมีแถบแนวนอนสีขาว กว้างเป็น 1 ใน 5 ส่วนของความกว้างธง เดิมธงนี้เป็นธงชาติลัตเวียสมัยได้รับเอกราชครั้งแรกในปี พ.ศ. 2461 (แต่ได้รับรองอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2465) ต่อมาลัตเวียถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียตในปี พ.ศ. 2483 ธงนี้จึงได้เลิกใช้นานหลายสิบปี จนกระทั่งเมื่อประเทศได้รับเอกราชอีกครั้งในปี พ.ศ. 2534 จึงได้มีการนำธงนี้กลับมาใช้เป็นธงชาติอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2533 แต่แท้จริงแล้วประวัติของธงนี้มีความเป็นมาที่ยาวนานตั้งแต่สมัยคริสต์ศตวรรษที่ 13 หรือในช่วงยุคกลางของยุโรป ส่วนที่มาสีในธงชาตินั้นมาจากตำนานที่กล่าวถึงผืนผ้าซึ่งเปื้อนเลือดของผู้นำนักรบชาวลัตเวีย
การใช้ | ธงพลเรือน ธงเรือพลเรือน ธงราชการ และ ธงเรือรัฐบาล |
---|---|
สัดส่วนธง | 1:2 |
ประกาศใช้ | 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2533 |
ลักษณะ | ธงสามแถบแนวนอนสีแดง-ขาว-แดง แถบสีขาวแล็กกว่าแถบสีแดงเป็นกึ่งหนึ่ง |
การใช้ | ธงนาวี |
สัดส่วนธง | 2:3 |
ประกาศใช้ | พ.ศ. 2534 |
ลักษณะ | ธงพื้นสีขาว มีรูปกากบาทตามสีธงชาติ กิ่งของกากบาทกว้างเป็น 1 ใน 5 ของความกว้างธง |
ประวัติ
แก้ธงสีแดง-ขาว-แดง ซึ่งเป็นธงชาติลัตเวียนี้ มีการอ้างถึงครั้งแรกในหนังสือ Livländische Reimchronik (กลอนพงศาวดารแห่งลิโวเนีย) ซึ่งแต่งโดย Ditleb von Alnpeke เนื้อหากล่าวถึงเหตุการณ์ในลิโวเนีย (ปัจจุบันคือประเทศลัตเวียและเอสโตเนีย) ในช่วงปี พ.ศ. 1723 – 1833 ในหลักฐานดังกล่าวได้เล่าไว้ว่า ในช่วงปี พ.ศ. 1823 กองทัพชนเผ่าลัตเวียโบราณจากเมืองเซซิส (Cēsis - ตั้งอยู่ทางภาคเหนือของลัตเวียในปัจจุบัน) ได้ยกทัพไปทำสงครามโดยใช้ธงสีแดง-ขาว-แดง เป็นสัญลักษณ์
ตำนานดังกล่าวได้อ้างว่า หัวหน้าชนเผ่าลัตเวียคนหนึ่งได้รับบาดเจ็บจากการรบและเสียชีวิตในภายหลัง ร่างของเขาได้ห่อไว้ด้วยผ้าสีขาว ซึ่งผ้านั้นมีคราบเลือดติดอยู่ทั่วทั้งผืน เว้นแต่ส่วนที่วางร่างของหัวหน้านักรบเท่านั้นที่คงเป็นสีขาว ในการรบครั้งต่อมาชนเผ่าลัตเวียจึงใช้ผ้าดังกล่าวเป็นธงประจำกองทัพและรบจนได้ชัยชนะพร้อมทั้งสามารถขับไล่ศัตรูไปได้ ชนเผ่าลัตเวียได้จึงใช้ธงสีแดง-ขาว-แดงเป็นสัญลักษณ์ของตนนับตั้งแต่นั้นมา[1]
จากตำนานที่กล่าวมาข้างต้น จึงได้กลายเป็นที่มาของแบบธงชาติลัตเวียในปัจจุบัน ซึ่งออกแบบโดยศิลปินชื่อแอนซิซ ซีรูริส (Ansis Cīrulis) ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2460 ต่อมาจึงได้รับการรับรองให้ใช้เป็นธงชาติอย่างเป็นทางการพร้อมกับตราแผ่นดินของลัตเวีย ตามบทบัญญัติพิเศษของรัฐสถาแห่งสาธารณรัฐลัตเวียลงวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2464
สีและสัดส่วนธง
แก้สีแดงในธงชาติลัตเวียนั้น เป็นสีอย่างที่เรียกในภาษาอังกฤษว่า "สีมารูน" (maroon) ซึ่งเป็นสีแดงเข้มที่เกิดจากการผสมสีม่วงกับสีน้ำตาล (ถ้าจะเทียบเป็นภาษาไทยให้ใกล้เคียงก็คือสีน้ำตาลแดงหรือสีเลือดหมู) สีในในบางครั้งก็มีการเรียกว่าสีแดงลัตเวีย (Latvian red) ตรามที่ปรากฏในธงชาตินั้น
สัดส่วนของธงชาติตามความกว้างเป็น 2:1:2 กล่าวคือ แถบสีแดงที่ตอนบนและตอนล่างนั้นกว้าง 2 ส่วนของความกว้างธง ส่วนแถบสีขาวกว้างเพียง 1 ส่วนของความกว้างธง สัดส่วนธงโดยรวมเป็น 1:2 (กว้าง 1 ส่วน ยาว 2 ส่วน) ถ้าเทียบกับสัดส่วนแถบแนวนอนข้างจะเป็น 5:10 (กว้าง 5 ส่วน ยาว 10 ส่วน)
สีขาว | สีแดง | สีน้ำตาลแดง (สีเลือดหมู) | |
---|---|---|---|
Pantone | White | 201 C[2] | 19-1629 TPX or 19-1629 TC |
RGB | Red = 255 Green = 255 Blue = 255 Hex = #FFFFFF |
Red = 157 Green = 34 Blue = 53 Hex = #9D2235 |
Red = 119 Green = 53 Blue = 61 Hex = #77353D |
CMYK | Cyan = 0% Magenta = 0% Yellow = 0% Black = 0% |
Cyan = 0% Magenta = 78% Yellow = 66% Black = 38% |
Cyan = 37% Magenta = 83% Yellow = 63% Black = 36% |
การแสดงธงชาติ
แก้ในกฎหมายว่าด้วยธงชาติของลัตเวียได้ระบุถึงการแสดงธงชาติว่าสามารถใช้ได้ในวาระต่างๆ ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ และการกระทำใดๆ ที่เป็นการทำลาย การดูหมิ่นเหยียดหยามต่อธงชาติ หรือการแสดงธงชาติอย่างผิดพลาด ย่อมได้รับโทษตามกฎหมาย
ธงชาตินั้นจะต้องตั้งอยู่สูงขึ้นไปอย่างน้อย 2.50 เมตรจากพื้นและต้องตรึงไว้กับเสาธง โดยเสานั้นจะต้องเป็นเสาตรงทาสีขาว อาจทำจากไม้หรือวัสดุอื่น และมีความยาวมากกว่าด้านยาวของธงชาติ ส่วนยอดธงนั้นจะต้องมีความกว้างมากกว่าความกว้างของเสาธงพองาม ในกรณีที่จะไม่มีการชักธงไว้ตลอดเวลา ให้มีการเชิญธงชาติสู่ยอดเสาในเวลาดวงอาทิตย์ขึ้น และเชิญธงลงจากเสาในเวาลาพระอาทิตย์ตก หากธงนั้นใช้ประดับในเทศกาลหรือพิธีการศพ ให้ชักธงขึ้นสู่ยอดเสาก่อน และเชิญธงลงเมื่อสิ้นสุดวาระดังกล่าว
หากมีการแสดงธงชาติเพื่อเป็นการไว้ทุกข์ จะต้องลดธงครึ่งเสา ถ้าธงนั้นตรึงไว้กับคันธงถาวร ให้ประดับแพรแถบสีดำขนาดกว้าง 1 ใน 20 ส่วนของธงนั้นที่คันธงส่วนเหนือจากที่ประดับธงชาติไว้ โดยแพรแถบนั้นจะต้องมีความยาวใกล้เคียงกับความกว้างของธง
การแสดงธงชาติร่วมกับธงอื่นๆ
แก้การแสดงธงชาติร่วมกับธงอื่นๆ นั้น จะต้องมีขนาดธงที่ใกล้เคียงกันและอยู่ในความสูงระดับเดียวกัน หากธงเหล่านั้นใช้ ชัก หรือแสดงภายนอกอาคาร ธงชาติลัตเวียจะต้องอยู่ทางซ้ายเสมอ ในแถวของธงต่างๆ ที่แสดงร่วมกันนั้น อาจให้มีธงชาติลัตเวียตั้งอยู่ที่หัวแถวและท้ายแถวธงเหล่านั้นด้วยก็ได้ ในกรณีที่เป็นการแสดงธงนานาชาติหรือธงองค์กรระหว่างประเทศร่วมกับธงชาติลัตเวีย ให้เรียงแถวธงดังกล่าวตามลำดับอักษรในภาษาลัตเวียหรือตามธรรมเนียมสากลอื่นๆ เป็นกรณีไป หากแสดงธงชาติลัตเวียคู่กับธงอื่นในอาคารให้ธงชาตินั้นอยู่ทางขวา (หรือกลางขวาในกรณีที่มีธงอื่นด้วยหลายธง โดยธงอื่นๆ นั้นต้องเรียงลำดับอักษรในภาษาลัตเวีย)
วันธงชาติ
แก้- 16 กุมภาพันธ์ — วันเอกราชของลิทัวเนีย
- 24 กุมภาพันธ์ — วันเอกราชของเอสโตเนีย
- 25 มีนาคม (ไว้ทุกข์) — วันรำลึกถึงผู้เสียชีวิตจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โดยรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์
- 1 พฤษภาคม — วันรัฐธรรมนูญ และ วันแรงงาน
- 4 พฤษภาคม — วันประกาศอิสรภาพใหม่ (พ.ศ. 2533)
- 14 มิถุนายน (ไว้ทุกข์) — วันรำลึกถึงผู้เสียชีวิตจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โดยรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์
- 17 มิถุนายน (ไว้ทุกข์) — วันรำลึกถึงการเริ่มต้นของการถูกสหภาพโซเวียตยึดครอง
- 4 กรกฎาคม (ไว้ทุกข์) — วันรำลึกถึงผู้เสียชีวิตจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว
- 11 พฤศจิกายน — วัน Lāčplēsis Day
- 18 พฤศจิกายน — วันเอกราช (พ.ศ. 2461)
- วันอาทิตย์แรกของเดือนธันวาคม (ไว้ทุกข์) — วันรำลึกถึงผู้เสียชีวิตจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โดยรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์
ดูเพิ่ม
แก้อ้างอิง
แก้- ↑ Volker Preuß. "National Flagge des Lettland" (ภาษาเยอรมัน). สืบค้นเมื่อ 2003-04-27.
- ↑ "Latvijas valsts karoga likuma piemērošanas noteikumi".
- "Statute of 1994 regarding the National Flag of Latvia" (ภาษาลัตเวีย). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2 March 2009.
- "Statute of 2009 regarding the National Flag of Latvia" (ภาษาลัตเวีย). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 27 November 2010.
- The Rhyme Chronicle of Livonia (Ditleb’s von Alnpeke Livländische Reimchronik) (ในภาษาลัตเวีย เยอรมัน และรัสเซีย)
- Law regarding Official standards (ในภาษาลัตเวีย)
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- ธงชาติลัตเวีย ที่ Flags of the World (อังกฤษ)
- The Latvian Flag fact sheet at the Latvian Institute Web site เก็บถาวร 2015-11-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ธงในกองทัพเรือลัตเวีย เก็บถาวร 2007-03-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- latvian-flag.com - เว็บไซต์เกี่ยวกับธงชาติลัตเวีย เก็บถาวร 2011-02-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน