ตำบลบึงกาสาม
บึงกาสาม เป็นตำบลหนึ่งของอำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี ตั้งอยู่บริเวณเขตแดนระหว่างจังหวัดปทุมธานีกับจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและจังหวัดสระบุรี สภาพพื้นที่เป็นที่ราบลุ่ม มีคลองขุดชลประทานสำคัญไหลผ่าน ได้แก่ คลองเก้า คลองสิบ คลองสิบเอ็ด คลองระพีพัฒน์แยกตก และคลองหกวาสายล่าง (สกัดห้า) รวมทั้งคลองแอนหรือคลองกลางต่าง ๆ ที่คั่นระหว่างคลองชลประทานสายหลัก
ตำบลบึงกาสาม | |
---|---|
การถอดเสียงอักษรโรมัน | |
• อักษรโรมัน | Tambon Bueng Ka Sam |
ประเทศ | ไทย |
จังหวัด | ปทุมธานี |
อำเภอ | หนองเสือ |
พื้นที่[1] | |
• ทั้งหมด | 53.4 ตร.กม. (20.6 ตร.ไมล์) |
ประชากร (2563)[2] | |
• ทั้งหมด | 7,219 คน |
• ความหนาแน่น | 135.19 คน/ตร.กม. (350.1 คน/ตร.ไมล์) |
รหัสไปรษณีย์ | 12170 |
รหัสภูมิศาสตร์ | 130403 |
ท้องที่ตำบลบึงกาสามมีลักษณะเป็นชุมชนชนบทมากกว่าชุมชนเมือง[3] ในอดีตเป็นหนึ่งในพื้นที่ปลูกส้มเขียวหวานซึ่งถือเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของอำเภอหนองเสือ แต่เมื่อประมาณ พ.ศ. 2539–2543 สวนส้มเริ่มเสียหายจากการระบาดของโรคและแมลงรวมทั้งปัจจัยอื่น ๆ ชาวบ้านจึงเริ่มหันมาปลูกพืชล้มลุกอย่างข้าวโพดหวาน พริก ถั่วฝักยาว และกระเจี๊ยบเป็นต้น นอกจากนี้ยังมีบางกลุ่มที่คิดปรับปรุงพื้นที่ที่เคยเป็นสวนส้มให้กลับมาเป็นที่นาอีกครั้ง[4]
ตําบลบึงกาสามทั้งตำบลอยู่ในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลบึงกาสามซึ่งได้รับการยกฐานะจากเดิมที่เป็นสภาตำบลบึงกาสามเมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2538[5]
ที่มาของชื่อ
แก้ตามคำบอกเล่าของผู้สูงอายุในพื้นที่ บริเวณตำบลบึงกาสามในอดีตมีสภาพเป็นป่ารกและเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด ยังมีครอบครัวหนึ่งซึ่งอพยพมาจากถิ่นอื่น เมื่อถึงฤดูแล้งจะพากันมาจับปลาในหนองและบึงแถวนี้เป็นประจํา ครอบครัวนี้สังเกตเห็นกาสามตัวที่บึงแห่งหนึ่ง พวกมันคอยเฝ้าวนเวียนดูครอบครัวนี้จับปลาและคอยเก็บกินปลาตัวเล็กตัวน้อยที่ไม่ต้องการ เมื่อกาสองตัวได้ปลาหรือเหยื่อมาก็จะป้อนให้กาตัวเล็กกิน จึงสันนิษฐานว่ากาสามตัวนี้คงเป็นพ่อแม่ลูกกัน[3][6] ช่วงนั้นตรงกับสมัยที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้แบ่งเขตการปกครองท้องที่ออกเป็นตําบลและหมู่บ้าน และให้ราษฎรที่อยู่ตามพื้นที่ต่าง ๆ ตั้งชื่อท้องที่ตามที่เห็นพ้องต้องกัน จึงมีการเสนอให้ทางราชการตั้งชื่อตำบลอันเป็นที่ตั้งของบึงแห่งนั้นว่า ตำบลบึงกาสาม เพื่อเป็นการระลึกถึงแหล่งน้ำที่ได้อาศัยทำมาหากินและความผูกพันระหว่างกาทั้งสาม[6]
ที่ตั้งและอาณาเขต
แก้ตำบลบึงกาสามตั้งอยู่ทางทิศเหนือของอำเภอหนองเสือ มีอาณาเขตติดต่อกับตำบลข้างเคียงดังต่อไปนี้[7]
- ทิศเหนือ ติดต่อกับตำบลข้าวงาม (อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา) และตำบลหนองโรง (อำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี)
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับตำบลนพรัตน์ (อำเภอหนองเสือ)
- ทิศใต้ ติดต่อกับตำบลบึงบา (อำเภอหนองเสือ)
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับตำบลบึงชำอ้อ (อำเภอหนองเสือ)
การแบ่งเขตการปกครอง
แก้ตำบลบึงกาสามแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 9 หมู่บ้าน ได้แก่[1][7]
- หมู่ที่ 1 บ้านบึงสัมพันธ์
- หมู่ที่ 2 บ้านบึงสมบูรณ์
- หมู่ที่ 3 บ้านคชสาร
- หมู่ที่ 4 บ้านเจริญบุญ
- หมู่ที่ 5 บ้านแสนสุขสกัดห้า
- หมู่ที่ 6 บ้านระพีพัฒน์
- หมู่ที่ 7 บ้านบึงกาสาม
- หมู่ที่ 8 บ้านเจริญสุขพัฒนา
- หมู่ที่ 9 บ้านหนองบัวทองหรือบ้านปฏิรูป
การคมนาคม
แก้เส้นทางสายสำคัญที่ใช้สัญจรภายในพื้นที่ตำบลบึงกาสามและเชื่อมต่อกับตำบลอื่น ๆ ได้แก่
- ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3261 สายคลอง 10 – ปากคลอง 13
- ทางหลวงชนบท ปท.3023 สายแยกทางหลวงหมายเลข 305 (กม.ที่ 26+350) – เลียบคลอง 11 ฝั่งตะวันตก
- ทางหลวงชนบท ปท.3027 สายแยกทางหลวงหมายเลข 305 (กม.ที่ 23+750) – เลียบคลอง 10 ฝั่งตะวันตก
- ทางหลวงชนบท ปท.5021 สายแยกถนนเทศบาลท่าโขลง–บ้านคลองสิบสาม
- ทางหลวงท้องถิ่น ปท.ถ 1-0004 สายบ้านคลองสิบ–บ้านคลองสิบสาม
- ทางหลวงท้องถิ่น ปท.ถ 1-0021 สายคลองชลประทานที่ 9 ฝั่งตะวันออก
อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 องค์การบริหารส่วนตำบลบึงกาสาม. "สภาพและข้อมูลพื้นฐาน." [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: https://www.buengkasam.go.th/image_files/ไฟล์เมนู/ข้อมูลพื้นฐาน/ข้อมูลพื้นฐาน.pdf[ลิงก์เสีย] [ม.ป.ป.]. สืบค้น 9 กันยายน 2563.
- ↑ "รายงานสถิติจำนวนประชากรและบ้าน ประจำปี พ.ศ. 2563 อำเภอหนองเสือ". ระบบสถิติทางการทะเบียน กรมการปกครอง. สืบค้นเมื่อ 15 มกราคม 2564.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ 3.0 3.1 เครือข่ายแผนแม่บทชุมชนพึ่งตนเอง 4 ภาค. สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน). แผนชีวิตชุมชน เพื่อการพึ่งตนเองและการพัฒนายั่งยืน. กรุงเทพฯ : เครือข่ายแผนแม่บทชุมชนพึ่งตนเอง 4 ภาค, 2550, หน้า 256.
- ↑ เครือข่ายแผนแม่บทชุมชนพึ่งตนเอง 4 ภาค. สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน). แผนชีวิตชุมชน เพื่อการพึ่งตนเองและการพัฒนายั่งยืน. กรุงเทพฯ : เครือข่ายแผนแม่บทชุมชนพึ่งตนเอง 4 ภาค, 2550, หน้า 257.
- ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง จัดตั้งองค์การบริหารส่วนตำบล" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 112 (พิเศษ 6 ง): 1–63. 3 มีนาคม 2538. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2012-01-25. สืบค้นเมื่อ 2020-09-09.
- ↑ 6.0 6.1 องค์การบริหารส่วนตำบลบึงกาสาม. "ประวัติความเป็นมา." [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: https://www.buengkasam.go.th/image_files/ไฟล์เมนู/ข้อมูลพื้นฐาน/ประวัติความเป็นมา.pdf[ลิงก์เสีย] [ม.ป.ป.]. สืบค้น 9 กันยายน 2563.
- ↑ 7.0 7.1 "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การกำหนดเขตตำบลในท้องที่อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 115 (พิเศษ 93 ง): 67–83. 12 ตุลาคม 2541.