จิตรกรรมไทยประเพณี

จิตรกรรมไทยประเพณี คือจิตรกรรมไทยที่มีความประณีตที่สืบต่อกันมาตั้งแต่อดีต จนได้ลักษณะประจำชาติ นิยมเขียนบนฝาผนังภายในอาคารหรืองานศิลปะประยุกต์ที่เนื่องในพุทธศาสนาและบุคคลชั้นสูง คือ อุโบสถ วิหาร พระที่นั่ง บนแผ่นผ้า (ภาพพระบฏ) บนกระดาษ (สมุดไทย) โดยเขียนด้วยสีฝุ่นตามวิธีการของช่างเขียนไทยแต่โบราณ นิยมเขียนเรื่องเกี่ยวกับอดีตพระพุทธเจ้า พุทธประวัติ ทศชาติชาดก ไตรภูมิ วรรณคดี และชีวิตไทย ส่วนใหญ่นิยมเขียนประดับผนังอุโบสถ วิหาร

จิตรกรรมฝาผนังพระที่นั่งพุทไธสวรรย์
จิตรกรรมฝาผนังวัดช่องนนทรี ใช้แบ่งภาพนี้เรียกว่า สินเทา
จิตรกรรมบนบานประตูวัดไพชยนต์พลเสพย์ราชวรวิหาร สมุทรปราการ
จิตรกรรมรอบพระระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เรื่อง รามเกียรติ์
จิตรกรรมฝาผนังวัดบรมนิวาสราชวรวิหาร ฝีมือขรัวอินโข่ง

ความหมาย แก้

จิตรกรรมไทยประเพณี เป็นศิลปะแบบอุดมคติ ที่แสดงออกทางความคิด ให้สัมพันธ์กับเนื้อเรื่องและความสำคัญของภาพ มีลักษณะเด่น งามสง่า ด้วยลีลาอันชดช้อย แสดงความรู้สึกปิติยินดี หรือเศร้าโศกเสียใจด้วยอากัปกิริยาท่าทาง หากเป็นรูปยักษ์รูปมาร จะแสดงออกด้วยใบหน้าและท่าทางที่บึกบึนแข็งขัน ส่วนพญาวานรและเหล่าวานรแสดงความลิงโลดคล่องแคล่วว่องไวด้วยลีลาท่วงท่าและหน้าตา พวกชาวบ้านธรรมดาสามัญจะเน้นความรู้สึกตลกขบขัน สนุกสนานร่าเริงหรือเศร้าเสียใจออกทางใบหน้า ส่วนช้างม้าและเหล่าสัตว์ทั้งหลายก็มีรูปแบบแสดงชีวิตเป็นธรรมชาติ[1]

อนึ่ง งานจิตรกรรมที่ไม่ระบายสี มักอนุโลมจัดไว้ในกลุ่มงานจิตรกรรม ได้แก่ ภาพลายเส้นปิดทอง ที่เรียกว่า ลายรดน้ำ ภาพลายเส้นจารลงบนแผ่นหิน หรืองานประดับมุก งานเหล่านี้มีลักษณะสำคัญอย่างเดียวกัน คือ ลายเส้นที่งดงามตามแบบฉบับ[2]

ประวัติ แก้

จิตรกรรมฝาผนังซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ปรากฏหลักฐานภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ที่เขาเขียน จังหวัดพังงา ที่ถ้ำผีหัวโต จังหวัดกระบี่[3] และอีกหลายแห่งในบริเวณภาคใต้ ได้แก่ จิตรกรรมสมัยศรีวิชัย ที่ถ้ำศิลป์ จังหวัดยะลา ซึ่งภาพส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับพุทธประวัติและพระพุทธรูป[4]

จากหลักฐานเท่าที่ปรากฏ ทราบเพียงว่าการวาดภาพระบายสีของไทยมีอายุตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา[5]

จิตรกรรมสุโขทัยมีอยู่น้อยมาก ที่พบ คือ ภาพลายเส้นที่จารลงบนแผนหินชนวนจํานวนหนึ่งจากวัดศรีชุม รวมถึงจิตรกรรมในช่วงสมัยอยุธยาตอนตนก็มีน้อย มีจิตรกรรมในยุคแรกหลงเหลือให้ศึกษาได้ ซึ่งมักจะเป็นจิตรกรรมที่เขียนไว้ที่ผนังคูหาหรือผนังของ กรุปรางค์ต่าง ๆ เช่น จิตรกรรมฝาผนังคูหาพระปรางค์ประจําทิศ ตะวันตกเฉียงเหนือของพระปรางค์ประธานวัดมหาธาตุ พระปรางค์ประธานวัดราชบูรณะ จิตรกรรมฝาผนังที่ผนังคูหาพระปรางค์ประธาน วัดพระราม อยุธยา คงเขียนขึ้นในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 20 มาถึงช่วงยุคกลางของอยุธยา มีตัวอย่างเหลืออยู่น้อยมาก หลักฐานมี คิอ ภาพจิตรกรรมฝาผนังคูหาเจดีย์บางแห่งที่สีจางไปเกือบหมด ภาพเขียนบนสมุดไทยที่วาดขึ้นในยุคกลาง ยังไม่นิยมปิดทองประดับภาพ แต่ใช้สีสดใสกว่ามาก เรื่องราวที่เขียนนํามาจากวรรณคดีไตรภูมิ

จิตรกรรมสมัยอยุธยา มีองค์ประกอบ เทคนิค และ วัฒนธรรม ตามแบบจิตรกรรมไทยประเพณีภาคกลางที่ได้รับอิทธิพลจากอินเดีย จีน เขมร และอิทธิพล ของศิลปะไทยยุคก่อนกรุงศรีอยุธยา ในระยะแรกใช้สีในวรรณะเอกรงค์ ต่อมามีสีต่าง ๆ เพิ่มเข้ามา นิยมเขียนเรื่องอดีตพุทธ พุทธประวัติ ทศชาติชาดก เทพชุมนุมและภาพลวดลายต่าง ๆ ปิดทองที่ภาพสำคัญและทำลายดอกไม้ร่วงที่พื้นหลังภาพ สถานที่ตั้งจิตรกรรมส่วนใหญ่พบที่อุโบสถ ปรางค์ วิหาร ศาลาการเปรียญ หอไตร กุฏิ ตู้พระธรรม สมุดข่อย และพระบฏ[6]

จิตรกรรมไทยในสมัยรัตนโกสินทร์ได้ดำเนินตามแบบอย่างจิตรกรรมสมัยอยุธยาตอนปลาย ได้รับความบัลดาลใจจากสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในสมัยนั้น เช่น เหตุการณ์บ้านเมือง ชีวิตความเป็นอยู่ สังคม ประเพณี การแต่งกาย ลักษณะบ้านเรือน วัดวาอาราม ปราสาท พระราชวัง ธรรมชาติ และหมู่สัตว์ต่าง ๆ เป็นแบบในการสร้างสรรค์ภาพเขียน มีจุดเด่น คือ สีพื้นเป็นสีเข้ม ภาพคนและสถาปัตยกรรมเด่นออกมาเป็นกลุ่ม ๆ ใช้สีจัดและนิยมใช้สีตรงข้ามตัดกันอย่างรุนแรง แต่น้ำหนักของสีที่ตัดกันนั้นประสานกันอย่างกลมกลืน จัดและนิยมใช้สีตรงข้ามตัดกันอย่างรุนแรง แต่น้ำหนักของสีที่ตัดกันนั้นประสานกันอย่างกลมกลืนนี้ยังคงรักษาคติทางศิลปะ โดยยังคงรูปแบบจิตรกรรมสมัยอยุธยาไว้ เช่น การจัดองค์ประกอบของภาพ นิยมเขียนภาพไตรภูมิไว้ด้านหลังพระประธาน เขียนภาพมารผจญไว้ด้านหน้าพระประธาน ด้านข้างเขียนภาพเล่าเรื่องพุทธประวัติและทศชาติชาดกอาจเขียนเรื่องใดเรื่องหนึ่งหรือเขียนทั้ง 2 เรื่องไว้ในอาคารเดียวกันก็ได ความต่างคือจะให้ความสำคัญในเรื่องงานฝีมือมาก เคร่งครัดกับกฎเกณฑ์ของรูปแบบศิลปะมาก เริ่มเป็นศิลปะแบบกำหนดนิยม (Conventional Art) ที่เห็นได้ชัด คือ การนิยมใช้พื้นหลังเป็นสีคล้ำหนักทึบและนิยมปิดทองคำเปลวมากขึ้น[7]

นับจากปลายรัชกาลที่ 3 อิทธิพลจากการเขียนภาพแบบตะวันตกก็เริ่มหลั่งไหลเข้ามา ทำให้จิตรกรรมภายในพุทธสถานต่าง ๆ ถูกปรับเปลี่ยนไปด้วย จากเดิมลักษณะจิตรกรรมซึ่งเป็นภาพแบนราบกลับมามีความลึกไกล เป็นภาพ 3 มิติ และมีลักษณะเหมือนจริงมากขึ้นกว่าแบบเดิม ซึ่งเขียนขึ้นตามแบบอุดมคติ ช่างเขียนที่สำคัญในรัชกาลที่ 4 คือ ขรัวอินโข่ง

ปัจจุบันจิตรกรส่วนใหญ่จะเลิกการเขียนภาพไทยแบบประเพณีไปแล้ว นิยมเขียนภาพแนวสากลร่วมแนวทางกับจิตรกรรมของนานาประเทศ งานในปัจจุบันไม่จำเป็นต้องเขียนเรื่องอันเนื่องในศาสนาตามแบบอย่างประเพณีอีกต่อไป จิตรกรที่เขียนงานประเภทนี้มีรายได้จากการขายภาพหรือรับจ้างเขียนภาพในลักษณะภาพแขวนประดับผนังโรงแรม ผนังสำนักงานทันสมัย หรือตามห้องแสดงภาพที่มีอยู่ทั่วไป[8]

องค์ประกอบ แก้

จิตรกรรมไทยในแต่ละยุคสมัยค์ได้ใช้เส้นเป็นหลักในการกำหนดขอบเขตของภาพทำให้รูปมีลักษณะแบน ภาพจิตรกรรมไทยได้ใช้องค์ประกอบที่เป็นส่วนรอง เช่น ต้นไม้ ภูเขา ลำธาร โขดหิน ฯลฯ เป็นสิ่งแบ่งเหตุการณ์หรือแบ่งพื้นที่ของภาพไปในตัว ในบางครั้งมีการแบ่งพื้นที่ว่างของภาพแต่ละตอน โดยใช้เส้นที่มีรูปแบบต่าง ๆ เช่น เส้นหยักฟันปลา เส้นโค้งไปมา ฯลฯ แล้วแต่ความเหมาะสม ส่วนที่ใช้แบ่งภาพนี้เรียกว่า สินเทา การใช้สี เป็นการระบายสีแบน ไม่แสดงแสงเงา เน้นรายละเอียดของภาพ โดยใช้สีที่เข้มกว่าหรืออ่อนกว่าในส่วนที่เป็นพื้นเพื่อตัดเส้น มีการจัดองค์ประกอบที่มีความสมดุลกัน ทั้งทางด้านซ้ายและด้านขวาของภาพ

จิตรกรรมไทยประเพณีในส่วนต่าง ๆ ของสถาปัตยกรรม มักมีรูปแบบแบบแผน เช่น ผนังหุ้มกลองด้านหน้าพระประธานเหนือขอบประตูมักเขียนภาพพุทธประวัติตอนมารผจญ ผนังหุ้มกลองด้านหลังพระประธาน นิยมเขียนภาพไตรภูมิแต่บางแห่งเขียนภาพพุทธประวัติตอนพระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ผนังด้านข้างเหนือขอบหน้าต่างทั้งสองข้างหรือบนคอสอง นิยมเขียนภาพเทพชุมนุม ผนังห้องระหว่างช่องหน้าต่าง หรือ ห้องพื้นผนัง นิยมเขียนภาพเป็นเรื่องที่จบในห้องเดียวกัน เช่น ทศชาติชาดก บานประตูหน้าต่าง นิยมเขียนภาพทวารบาล[1]

วัสดุอุปกรณ์ แก้

ช่างในสมัยโบราณประดิษฐ์มาจากวัสดุธรรมชาติเกือบทั้งหมด เช่น พู่กันที่ใช้เป็นเครื่องเขียนระบายสีต่าง ๆ ก็ใช้ขนหูวัวมารวมกัน แล้วตัดปลายให้เสมอกันใส่ลงในกรวยที่มีขนาดต่าง ๆ กัน แปรงระบายสีก็ทำจากเปลือกไม้ รากไม้ ดินสอพองหรือผงถ่าน[5] สีที่ใช้ในจิตรกรรมไทยโบราณ ใช้สีฝุ่น เป็นสีจากธรรมชาติ ได้จากธาตุดิน แร่ หิน โลหะ พืช และบางส่วนของสัตว์ เดิมสีเป็นเอกรงค์ คือสีเดียว ต่อมาเป็นเบญจรงค์หมายถึง 5 สี มีเหลือง คราม แดงชาติ ขาว และดำ ศัพท์ช่างเรียกว่า กระยารงค์ สียึดกับผนังหรือวัตถุอื่น ๆ ด้วยน้ำกาวหรือยางไม้ต่าง ๆ นั้นช่างเรียกว่า น้ำยา ส่วนทองคำเปลว เป็นทองแผ่นใช้ปิดในส่วนที่เป็นเครื่องทรง เครื่องประดับหรือลวดลายที่มีความสำคัญและเป็นจุดเด่นในภาพ โดยใช้ยางมะเดื่อเป็นตัวประสาน

จิตรกรรมไทยประเพณีในปัจจุบัน มีสีให้เลือกใช้มากมายหลายชนิด เป็นสีที่ได้จากการสังเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ เช่น สีน้ำมัน สีอะคริลิก สีน้ำ เป็นต้น[9]

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 ยอดชาย พรหมอินทร์. "ตำรา จิตรกรรมไทยประเพณี" (PDF). คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2021-06-04. สืบค้นเมื่อ 2021-06-04.
  2. "ลักษณะของ จิตรกรรมไทยแบบประเพณี". สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ.
  3. สุวิท ชัยมงคล. (2531 กรกฎาคม-สิงหาคม). ภาพเขียนสีแหล่งใหม่ที่เขาเขียนอ่าวพังงา, ศิลปากร. 31(3), 4–5.
  4. วรรณิภา ณ สงขลา. (2528). การอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนัง. กรุงเทพ ฯ : อมรินทร์การพิมพ์.
  5. 5.0 5.1 สมชาติ มณีโชติ. ( 2529). จิตรกรรมไทย. กรุงเทพ ฯ : โอเดียนสโตร์
  6. สันติ เล็กสุขุม และกมล ฉายาวัฒนะ. จิตรกรรมฝาผนังสมัยอยุธยา. กรุงเทพฯ : สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  7. ปรีชา เถาทอง. ( 2548). จิตรกรรมไทยวิจักษ์. กรุงเทพ ฯ : อมรินทร์การพิมพ์.
  8. "ช่างเขียน". สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ.
  9. "การสร้างจิตรกรรมฝาผนังของช่างไทยในสมัย โบราณ". สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ.