จารึกกฎหมายลักษณะโจร

จารึกกฎหมายลักษณะโจร เป็นชื่อเรียกศิลาจารึกหลักที่ 38 ซึ่งกรมทางหลวงขุดค้นพบเมื่อปี พ.ศ. 2473 โดยเหตุที่ได้ชื่อจารึกว่า "กฎหมายลักษณะโจร" เนื่องจากเนื้อหาในจารึกกล่าวถึงการกระทำผิดทางอาญา[1] ทั้งนี้ ดร.วินัย พงศ์ศรีเพียร มีความเห็นว่าจารึกนี้ควรใช้ชื่อว่า "กฎหมายลักษณะลักพา" มากกว่า เนื่องจากเนื้อหาล้วนเกี่ยวกับการลักพาผู้คน และสิ่งของ[2] จารึกนี้เป็นหลักฐานลายลักษณ์อักษรเกี่ยวกับบทบัญญัติของกฎหมายที่เก่าที่สุด และยังคงรูปแบบเดิมเอาไว้[1] และยังเป็นศิลาจารึกเพียงหลักเดียวที่บันทึกตัวบทกฎหมายเอาไว้ ต่างจากศิลาจารึกอื่นที่มักจะเกี่ยวกับข้องกับเรื่องศาสนา เช่น การสร้างวัด หรือ การกัลปนา[3]

จารึกกฎหมายลักษณะโจร
วัดมหาธาตุสุโขทัย
วัดมหาธาตุสุโขทัย
วัสดุหินชนวน
ขนาดแผ่นรูปใบเสมา
ความสูง108 เซนติเมตร
ความกว้าง65 เซนติเมตร
ความลึก14 เซนติเมตร
ตัวหนังสืออักษรไทยสุโขทัย
ค้นพบพุทธศักราช 2473
ทางเลี้ยวเข้าวัดพระมหาธาตุและวัดสระศรี หลักกิโลเมตรที่ 50-51 อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย
ค้นพบโดยกรมทางหลวงแผ่นดินขุดพบ
ที่อยู่ปัจจุบันอาคารคลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
เลขประจำตัว- หลักที่ 38 ศิลาจารึกกฎหมายลักษณะโจร
(หนังสือ ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 3)
- 99/33/2560
(พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก)
https://db.sac.or.th/inscriptions/inscribe/detail/118

การค้นพบและลักษณะ

แก้

กรมทางหลวงขุดค้นพบศิลาจารึกนี้ขณะสร้างถนนจรดวิถีถ่อง (ส่วนหนึ่งของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12) ระหว่างกิโลเมตรที่ 50 - 51 ทางเลี้ยวเข้าวัดมหาธาตุและวัดสระศรี อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ในเขตตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย เมื่อ พ.ศ. 2473

ศิลาจารึกนี้มีจำนวน 2 ด้าน ด้านที่ 1 มี 45 บรรทัด ด้านที่ 2 มี 54 บรรทัด มีข้อความบางส่วนชำรุดเสียหาย สลักบนหินชนวน รูปใบเสมา ขนาด กว้าง 65 เซนติเมตร สูง 108 เซนติเมตร และหนา 14 เซนติเมตร จารึกด้วยอักษรไทยสุโขทัย

ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่ อาคารคลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี

เนื้อหา

แก้

อารัมภบท

แก้

กล่าวถึงการขึ้นครองราชย์ของกษัตริย์พระองค์ใหม่ นาม "สมเด็จบพิตรมหาราชบุตรรามราชาธิราช ศรีบรมจักรพรรดิราช"[4] ทรงปรารถนาที่จะขัดเกลากฎหมายหรือการทำให้บริสุทธิ์ อย่างเดียวกับพ่อขุนรามราช[3] ให้ใช้บังคับกับไพร่ฟ้าทั่วทั้งอาณาจักร อันมีเมืองสุโขทัยเป็นประธานของเมืองทั้งหลาย อันประกอบด้วย เชลียง (กำแพงเพชร) ทุ่งยั้ง (อุตรดิตถ์) ปากยม (พิจิตร) สองแคว (พิษณุโลก) เป็นต้น[3][5]

เนื้อหาของกฎหมาย

แก้

เนื้อหาส่วนของกฎหมายปรากฏอยู่ 8 มาตรา สรุปได้ดังนี้[1]

มาตรา 1 กรณีถ้าข้ารับใช้หรือบริวารของผู้อื่นหนีมาอยู่ด้วยกับตน และตนไม่จัดส่งคืนให้เจ้านายของข้ารับใช้คนนั้น จะต้องถูกปรับเต็มอัตราตามที่กำหนดไว้ในพระราชศาสตร์และพระธรรมศาสตร์ โดยจะถูกปรับเสมือนไปขโมยลักพาหรือช่วยให้ข้าทาสบริวารของผู้อื่นหนีไปแต่ยังไปได้ไม่พ้นเขตเมือง

มาตรา 2 กรณีถ้าข้ารับใช้หรือบริวารของผู้อื่นหนีมาอยู่ด้วยกับตน และตนไม่จัดส่งคืนให้เจ้านายของข้ารับใช้คนนั้นภายใน 3 วัน (กรณีภายในเขตเมือง) และ 5 วัน (กรณีภายนอกเขตเมือง) จะต้องถูกปรับตามที่กำหนดไว้ในพระราชศาสตร์และพระธรรมศาสตร์ และหากเกิน 8 วัน (นับตั้งแต่วันที่ 9 เป็นต้นไป) จะถูกปรับเสมือนกรณีลักทรัพย์ผู้อื่น

มาตรา 3 กรณีถ้าเห็นคนมาทำลับ ๆ ล่อ ๆ น่าสงสัยและพิจารณาดูแล้วว่าเป็นโจรจริง ให้ช่วยจับโจรไว้ผู้ที่ช่วยจับโจรไว้ได้จะได้รับบำเหน็จรางวัล แต่หากผู้ใดพบเห็นโจรแล้วเพิกเฉย ไม่ช่วยจับกุมไว้ ทั้ง ๆ ที่สามารถทำได้ กลับรอให้เจ้าทรัพย์ถึงก่อนแล้วจึงค่อยเข้าไปช่วยจับตัวโจรส่งให้เพราะหวังรางวัล คนผู้นั้นจะไม่ได้รับบำเหน็จรางวัลใด ๆ เพราะถือว่าเป็นพวกเดียวกับโจร และมีความผิดฐานวางเฉย และถ้าต่อไปพิจารณาพบว่าเป็นพวกเดียวกับขโมยจริงจะต้องถูกลงโทษด้วย

มาตรา 4 กรณีถ้ามีผู้จับโจรได้พร้อมทรัพย์สินที่ถูกขโมยไป แต่ไม่นำส่งคืนแก่เจ้าของ กลับเก็บทรัพย์สินนั้นไว้กับตัวเกือบทั้งวัน กำหนดให้ลงโทษขั้นสูงสุดตามพระราชศาสตร์

มาตรา 5 กรณีถ้ามีผู้นำสิ่งของที่ถูกขโมยไปส่งคืนแก่เจ้าของ ผู้นั้นจะได้รับรางวัล ส่วนผู้ใดที่วางเฉย ไม่ช่วยจับกุมหรือจับได้แล้วแต่ปล่อยตัวโจรไป ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด ผู้นั้นจะมีความผิดเสมือนเป็นขโมยเสียเอง

มาตรา 6 กรณีมีผู้ไปขโมยของในบ้านผู้อื่น หรือไปล่า ฆ่าฟันผู้อื่น มีผู้ชวนตนไปลักของผู้อื่นก็ดี ไปลักของด้วยกันก็ดี และรู้ว่าผู้ใดลักทรัพย์สินท่านนานประมาณภายในสิบปี ไม่มีผู้รู้เห็นขโมยผู้นี้หากผู้นั้นจับขโมยได้ แต่ไม่บอกเจ้าหน้าที่และเจ้าของ ท่านให้ปรับมันเหมือนดังมันเป็นขโมย และปรับสถานเดียวกับคนมาพาลูกเมียท่านไป ส่วนเทพี จรัสจรุงเกียรติและเสาวรส มนต์วิเศษ กล่าวว่า กรณีมีผู้ไปลักทรัพย์ ชักชวนให้ไปลักทรัพย์ หรือไปด้วยกันกับผู้ชักชวน ผู้ที่รู้เห็นเหตุการณ์ดังกล่าวแม้ว่าเหตุการณ์นั้นจะผ่านไปนานพ้น 10 ปีแล้วก็ตาม แล้วไม่แจ้งความ แต่กลับนำความนั้นไปข่มขู่เจ้าทรัพย์เพื่อขอรับสินจ้างรางวัล กฎหมายกำหนดให้ปรับเสมือนเป็นขโมยและได้ข่มขู่เจ้าทรัพย์ อนึ่งผู้ที่นำผู้คนหรือทรัพย์สินที่ถูกขโมยไปมาส่งคืนเจ้าของ จะได้รับรางวัลตามที่กำหนดไว้ในพระราชศาสตร์และพระธรรมศาสตร์ และได้รับการยกย่องเชิดชูด้วย

มาตรา 7 กรณีถ้ามีการขโมยแย่งชิงของซึ่งหน้า ต้องเข้าไปช่วยจับกุม หากไม่ช่วยจับกุมจะต้องถูกปรับและต้องชดใช้ค่าเสียหายเท่ากับสิ่งที่ถูกขโมยไปแก่ผู้เสียหายด้วย

มาตรา 8 กรณีถ้าจะมีการฆ่าวัวควาย ให้นำวัวควายนั้นมาแสดงให้ผู้อื่นรู้เห็นเป็นพยานก่อน จึงจะสามารถฆ่าวัวควายนั้นได้ หากไม่นำวัวควายมาแสดงให้ผู้อื่นรู้เห็นก่อนจะมีความผิด ทั้งนี้เพื่อป้องกันผู้ขโมยวัวควายของผู้อื่นมา

อย่างไรก็ตาม ศ.ประเสริฐ ณ นคร เห็นว่าเนื้อหาของกฎหมายอาจมีต่อไปอีก แต่เนื่องจากจารึกชำรุดเสียหายไม่สามารถจับใจความได้[6]

ข้อสันนิฐานปีที่จารึก

แก้

ความในจารึก ระบุว่า " ...๕ ฉลูนักษัตรไพสาขปรุณมีพฤหัสบดีหนไทยมื้อลวงเม้า...."[4] ข้อความส่วนข้อศักราชชำรุดหายไป คงเหลือเพียงเลข 5 ตัวสุดท้ายเพียงตัวเดียว ศาสตราจารย์ฉ่ำ ทองคำวรรณ สันนิฐานว่าปีที่ระบุในจารึก เป็นปีมหาศักราช (ม.ศ.) อาจจะเป็นปี ม.ศ.1235 (พ.ศ.1856) ม.ศ.1295 (พ.ศ.1916) หรือ ม.ศ.1355 (พ.ศ.1976)[6]

อย่างไรก็ตามศาสตราจารย์ประเสริฐ ณ นคร เห็นว่าสมัยสุโขทัยไม่เคยใช้คำว่า "มื้อ" หลังคำว่า "หนไทย" เพราะฉะนั้นคำว่า "หนไทยมื้อลวงเม้า" จึงควรจะหมายถึง "วันเมิงเม้า"[6] ศ.ประเสริฐ อธิบายต่อไปว่า แต่เดิมการเรียกปีนักษัตรนั้นรอบละ 12 ปีโดยใช้คำว่า "ไก๊ ไจ้ เป๊า ยี่ เม้า สี ไส้ ซง้า เม็ด ส้น เล้า เสด " และเรียกปีที่จุลศักราชลงท้ายเป็น 0,1,2,... รวมรอบละ 10 ปีว่า "กัด กด ลวง เต่า กา กาบ ดับ ระวาย เมิง เบิก" โดยนำมาใช้ควบกัน เรียกวันต่าง ๆ เช่น "ไก๊กัด ไจ้กด เป๊าลวง" ไล่ไปเรื่อย ๆ รอบหนึ่งจึงใช้เวลา 60 วัน[6]

ดังนั้นปีที่มี "วันเมิงเม้า" ที่ตรงกับวันพฤหัสบดี วันเพ็ญ เดือนหก ปีฉลูจึงควรจะเป็นปี พ.ศ.1940[6] ในขณะที่ดร.วินัย พงศ์ศรีเพียร ระบุว่าคือวันพฤหัสบดีที่ 12 เมษายน พ.ศ.1940[2]

ข้อสันนิฐานกษัตริย์ที่ทรงตรากฎหมายนี้

แก้

ข้อสันนิฐานของกษัตริย์ที่ทรงตรากฎหมายนี้ว่าอาจเป็น พญาราม ซึ่งเป็นกษัตริย์อโยธยา[3] ในขณะที่ดร.วินัย พงศ์ศรีเพียร สันนิฐานว่า คือ สมเด็จพระมหาธรรมาราชาธิราช (รามราชาธิราช) [2] ซึ่งเป็นพระราชโอรสองค์โตของสมเด็จพระมหาธรรมราชาที่ 2 แห่งสุโขทัย ตามที่ปรากฏในจารึกวัดบูรพาราม[3]

ความสำคัญ

แก้
  • การแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างสุโขทัยและอโยธยา(อยุธยา) ซึ่งหากพิจารณาจากเนื้อหาของบทบัญญัติ จะพบว่ามีลักษณะใก้ลเคียงกับกฎหมายลักพาของอยุธยา อาจเกิดจากการติดต่อสัมพันธ์กันระหว่างเมืองทั้งสอง ทำให้ได้รับอิทธิของอยุธยาขึ้นไป[6] หรือเนื้อหาของกฎหมายที่ปรากฏนี้อาจถูกผนวกเข้าไปส่วนนึงของกฎหมายอยุธยา เมื่อสุโขทัยกลายเป็นส่วนนึงของอยุธยาแล้ว[3] อย่างไรก็ตาม ลักษณะของการบัญญัติกฎหมายของสุโขทัยและอยุธยามีความแตกต่างกัน กล่าวคือ ในอยุธยามักจากบัญญัติกฎหมายในเอกสาร เช่น ใบลาน ไม่นิยมที่จะจารึกลงแผ่นศิลาเหมือนอย่างสุโขทัย[5]
  • ความรุ่งเรืองของหลักกฎหมายในสุโขทัย ซึ่งอยู่บนหลักเหตุผลและมาตรการควบคุมสังคม กล่าวคือ ความผิดเนื่องจากการนิ่งเฉยต่อการกระทำผิด ความรับผิดร่วมกันต่อชุมชน และการปรับโดยยศศักดิ์[3] ทั้งยังปรากฏอิทธิพลของพระราชศาสตร์และพระธรรมศาสตร์[5]

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 1.2 ศิลาจารึกกฎหมายลักษณะโจร. พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ รามคำแหง สุโขทัย
  2. 2.0 2.1 2.2 ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร - SAC (2020-05-28), สุโขทัยคดี ในมิติประวัติศาสตร์ จารึกศึกษา และนิรุกติประวัติ EP.06, สืบค้นเมื่อ 2024-05-23
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 3.5 3.6 วินัย พงศ์ศรีเพียร, บรรณาธิการ. 100 เอกสารสำคัญ : สรรพสาระประวัติศาสตร์ไทย ลำดับที่ 1. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย. 2552. ISBN 9786167070032
  4. 4.0 4.1 ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย | จารึกกฎหมายลักษณะโจร (sac.or.th)
  5. 5.0 5.1 5.2 กำธร กำประเสริฐ และสุเมธ จานประดับ. เอกสารประกอบการสอนวิชาประวัติศาสตร์กฎหมายไทยและระบบกฎหมายหลัก (LW103). มหาวิทยาลัยรามคำแหง. 2543. ISBN 974-593-270-1
  6. 6.0 6.1 6.2 6.3 6.4 6.5 ประเสริฐ ณ นคร. กฎหมายลักษณะโจร พ.ศ.1940. ใน: สารนิพนธ์ ประเสริฐ ณ นคร. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์; 2541. หน้า 536 - 543.