จักรพรรดิอ็อทโทที่ 3 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์

จักรพรรดิอ็อทโทที่ 3 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์[1] (อังกฤษ: Otto III, Holy Roman Emperor [2]) (ค.ศ. 980 - 23 มกราคม ค.ศ. 1002) ทรงเป็นจักรพรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์แห่งราชวงศ์อ็อทโทผู้ทรงครองราชบัลลังก์ระหว่างวันที่ 21 พฤษภาคม ค.ศ. 996 จนเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 23 มกราคม ค.ศ. 1002 อ็อทโทที่ 3 เป็นพระราชโอรสในจักรพรรดิอ็อทโทที่ 2 และธีโอฟานู

จักรพรรดิอ็อทโทที่ 3 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์

จักรพรรดิอ็อทโทที่ 3
ครองราชย์โรมันอันศักดิ์สิทธิ์:
21 พฤษภาคม ค.ศ. 996 - 23 มกราคม ค.ศ. 1002
เยอรมนี:
25 ธันวาคม ค.ศ. 983 - 23 มกราคม ค.ศ. 1002
รัชกาลก่อนหน้าจักรพรรดิอ็อทโทที่ 2
รัชกาลถัดไปจักรพรรดิไฮน์ริชที่ 2
ประสูติค.ศ. 980
เคสเซิล ในประเทศเยอรมนี
สวรรคต23 มกราคม ค.ศ. 1002 (21-22 พรรษา)
ซิวิตา คาสเตลลา ในประเทศอิตาลี
จักรพรรดิอ็อทโทที่ 3
ราชวงศ์อ็อทโท
พระราชบิดาจักรพรรดิอ็อทโทที่ 2
พระราชมารดาธีโอฟานู


กษัตริย์วัยเยาว์แห่งเยอรมนี

แก้


 
จุลจิตกรรมของไฮน์ริชผู้ชอบวิวาทในชุดเสื้อคลุมยาวแบบชาวแฟรงก์ ปี ค.ศ. 985

อ็อทโทเป็นพระโอรสของจักรพรรดิอ็อทโทที่ 2 กับธีโอฟาโน เจ้าหญิงไบเซนไทน์ ทรงเสด็จพระราชสมภพในปี ค.ศ. 980 เมื่อทรงมีพระชนมายุได้ 3 พรรษา พระบิดาของพระองค์ได้สิ้นพระชนม์ พระองค์ได้รับเลือกเป็นกษัตริย์แห่งเยอรมนีที่เวโรนาในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 983 และได้รับการสวมมงกุฎที่อาเคินในวันคริสต์มาส ทว่ากษัตริย์น้อยกลับถูกควบคุมตัวโดยไฮน์ริชที่ 2 ผู้ชอบวิวาท อดีตดยุคแห่งบาวาเรียที่ถูกปลดออกจากตำแหน่งซึ่งได้อ้างตนเป็นผู้พิทักษ์ของกษัตริย์และขึ้นสำเร็จราชการแผ่นดิน ต่อมาในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 984 สภานิติบัญญัติแห่งจักรวรรดิได้บีบจนทำให้ไฮน์ริชยอมคืนตัวเด็กน้อยให้แก่ธีโอฟาโนผู้พระมารดาเพื่อแลกกับการได้ดัชชีบาวาเรียกลับคืนมา ธีโอฟาโนได้แสดงตนเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินและปกครองเยอรมนีด้วยพระปรีชาสามารถจนกระทั่งสิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 991 หลังจากนั้นจักรพรรดินีม่ายอาเดอแลด พระอัยกีของพระเจ้าออทโทได้ถือสิทธิ์เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินจนกระทั่งกษัตริย์บรรลุนิติภาวะในปี ค.ศ. 994 ด้วยวัย 14 พรรษา


ในช่วงวัยเยาว์ของจักรพรรดิอ็อทโทที่ 3 จักรพรรดินีธีโอฟาโนและจักรพรรดินีม่ายอาเดอแลดประสบความสำเร็จรักษาความสงบสุขในเยอรมนีและสามารถยับยั้งไม่ให้กษัตริย์ฝรั่งเศสได้ผนวกลอแรนดังที่ใจต้องการ แต่ทั้งคู่กลับล้มเหลวในการรับมือกับชาวเดน, ชาวสลาฟที่อาศัยอยู่อีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำเอลเบอ และชาวแมกยาร์ ชาวสลาฟรุกรานเยอรมนีตอนเหนืออย่างต่อเนื่อง, กษัตริย์เดนสามารถควบคุมคริสจักรของตนที่เดิมเคยอยู่ในกำมือของเยอรมนี, พระเจ้าเมียซโกที่ 1 แห่งโปแลนด์ได้รับการสวมมงกุฎจากสมเด็จพระสันตะปาปาในปี ค.ศ. 990 และชาวแมกยาร์ยังคงตั้งตนเป็นศัตรู

จักรพรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์

แก้
 
ภาพจักรพรรดิอ็อทโทที่ 3 ได้รับการเจิมน้ำมันจากสมเด็จพระสันตะปาปาเกรกอรีที่ 5 โดยดีบอล์ด เลาเบอร์ ปี ค.ศ. 1450

หลังได้อำนาจมาอยู่ในมือ ในปี ค.ศ. 996 จักรพรรดิอ็อทโทได้เดินทางข้ามเทือกเขาแอลป์เข้าสู่อิตาลีเพื่อไปปราบกลุ่มกบฏในโรมซึ่งนำโดยเครสเซนทิอุสที่ 3 ขุนนางโรมตามคำร้องขอสมเด็จพระสันตะปาปาจอห์นที่ 15 พระองค์ได้ประกาศตนเป็นกษัตริย์ของชาวลอมบาร์ดที่ปาเวีย แต่ทรงไปถึงโรมหลังสมเด็จพระสันตะปาปาสิ้นพระชนม์แล้ว ในการเลือกตั้งสมเด็จพระสันตะปาปาคนใหม่ พระองค์ได้แทรกแซงจนทำให้บรูโนแห่งคารินเทีย ลูกพี่ลูกน้องวัย 23 ปีของพระองค์ได้รับเลือกเป็นสมเด็จพระสันตะปาปาชาวเยอรมันคนแรกในชื่อสมเด็จพระสันตะปาปาเกรกอรีที่ 5 ซึ่งต่อมาได้ทำการสวมมงกุฎจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ให้แก่พระเจ้าอ็อทโท หลังจักรพรรดิอ็อทโทเดินทางออกจากโรม สมเด็จพระสันตะปาปาเกรกอรีก็ถูกขับไล่ออกจากโรมโดยเครสเซนทิอุสที่ต่อมาได้แต่งตั้งสมเด็จพระสันปาปาจอห์นที่ 16 เป็นสมเด็จพระสันตะปาปาคนใหม่ จักรพรรดิยกทัพกลับไปที่อิตาลีในช่วงปลายปี ค.ศ. 997 ทรงยึดโรมในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 998, ทำการประหารชีวิตเครสเซนทิอุส, ปลดจอห์นออกจากตำแหน่ง และคืนตำแหน่งให้เกรกอรี


จักรพรรดิอ็อทโทมีแนวคิดที่จะสร้างจักรวรรดิโรมันขึ้นมาใหม่ในรูปรัฐคริสเตียนสากลที่มีพระองค์เป็นประมุขสูงสุดทั้งในทางโลกและทางศาสนา พระองค์ได้ตั้งโรมเป็นที่พำนักและเป็นศูนย์กลางการบริหารราชการซึ่งสร้างความไม่พอใจให้แก่ชาวเยอรมัน พิธีการอันมากขั้นตอนของราชสำนักไบเซนไทน์และธรรมเนียมแบบโรมันโบราณถูกนำกลับมาใช้ใหม่โดยมีการปรับเปลี่ยนเพื่อความเหมาะสม กษัตริย์จะปรากฏตัวในวโรกาสต่างๆ ในชุดเสื้อคลุมไร้แขนที่มีเย็บติดด้วยระฆัง 365 ใบตามจำนวนวันของปี ทรงสวมผ้าคลุมที่ปักลายนกอินทรีสีทองกับรองเท้าที่ปักลายนกอินทรี, มังกร และสิงโตของจักรวรรดิ ทรงอ้างตนเป็น "ข้ารับใช้แห่งพระเยซู", "ข้ารับใช้แห่งพระอัครสาวก" และ "จักรพรรดิของโลกมนุษย์" พระองค์พยายามบริหารจักรวรรดิทั้งในเยอรมนีและในอิตาลีจากโรมโดยมีข้าราชสำนักเป็นชาวอิตาลี เมื่อสมเด็จพระสันตะปาปาเกรกอรีสิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 999 จักรพรรดิได้แทรกแซงให้จีลแบร์แห่งโอรียัก อดีตอาจารย์ที่เห็นดีเห็นงามกับแนวคิดเรื่องจักรพรรดิของพระองค์ได้รับการแต่งตั้งเป็นสมเด็จพระสันตะปาปาซิลเวสเตอร์ที่ 2

 
หลุมฝังศพของจักรพรรดิอ็อทโทที่ 3 ในอาสนวิหารอาเคิน

จักรพรรดิอ็อทโทเป็นชาวซัคเซินและเป็นลูกหลานของจักรพรรดิชาร์เลอมาญในทางฝั่งบิดา ในปี ค.ศ. 1000 พระองค์ออกจาริกแสวงบุญไปยังหลุมฝังศพของจักรพรรดิชาร์เลอมาญในอาเคินที่ได้เปิดให้พระองค์ได้ยลสิ่งที่อยู่ภายใน จักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่กำลังอยู่บนบัลลังก์, ทรงมงกุฎและคทา และยังคงสภาพได้อย่างน่าเหลือเชื่อ อ็อทโทหนุ่มได้ตัดเอาเล็บมือของอดีตจักรพรรดิคนก่อนที่โผล่พ้นถุงมือออกมาด้วยความเคารพเลื่อมใส และได้ดึงฟันซี่หนึ่งของพระองค์มาเก็บไว้เป็นเครื่องรางนำโชค


เดือนมกราคม ค.ศ. 1001 ได้มีการก่อกบฏต่อจักรพรรดิอ็อทโทที่เมืองตีโวลีในอิตาลี พระองค์ได้ทำการปิดล้อมโจมตี, บีบจนเมืองยอมจำนน และอภัยให้แก่ชาวเมือง การกระทำดังกล่าวสร้างความโกรธเคืองให้แก่ชาวโรมที่ต้องการให้เมืองคู่อริถูกทำลาย เดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1001 ชาวโรมได้ก่อกบฏต่อพระเจ้าอ็อทโทและปิดล้อมพระราชวังของพระองค์ หลังปราบปรามกลุ่มกบฏให้สงบลงได้ชั่วคราวจักรพรรดิอ็อทโทได้ถอยทัพเข้าสู่อารามเซนต์อะพอลโลนาริสใกล้กับราเวนนาทำการสำนึกบาป เมื่อไม่สามารถกลับมาควบคุมนครต่างๆ ของจักรวรรดิได้ พระองค์ได้ขอให้ทหารของพระองค์สนับสนุนไฮน์ริชแห่งบาวาเรีย ลูกพี่ลูกน้องซึ่งเป็นบุตรชายของไฮน์ริชผู้ชอบวิวาทได้สืบทอดตำแหน่งเป็นกษัตริย์แห่งเยอรมนีคนต่อไป


จักรพรรดิอ็อทโทสิ้นพระชนม์ในวันที่ 23 มกราคม ค.ศ. 1002 ก่อนหน้าที่กองทหารบาวาเรียจะมาถึงฐานบัญชาการของพระองค์ไม่นาน ร่างของพระองค์ถูกฝังที่อาเคิน

พระอิสริยยศ

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. ราชบัณฑิตยสถาน, สารานุกรมประเทศในทวีปยุโรป ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน, 2550, หน้า 530
  2. Otto III, Holy Roman Emperor[1]

ดูเพิ่ม

แก้