จดหมายรักจากเมียเช่า

"จดหมายรักจากเมียเช่า" เป็นเพลงที่ประพันธ์โดยนักเขียนชาวไทย อาจินต์ ปัญจพรรค์ ในช่วง พ.ศ. 2510 เพื่อใช้ประกอบละครโทรทัศน์ของคณะสุเทพโชว์ บันทึกเสียงร้องโดยนักแสดงนำของเรื่อง มานี มณีวรรณ วางจำหน่ายในรูปแบบแผ่นเสียงซิงเกิลโดยค่ายสุเทพเรเคิดส์ "จดหมายรักจากเมียเช่า" เป็นเพลงลูกทุ่งที่เขียนด้วยภาษาไทยปนภาษาอังกฤษ เกี่ยวกับความลำบากและความโศกเศร้าของหญิงไทยที่ประกอบอาชีพเมียเช่าให้กับทหารอเมริกัน หลังจากสหรัฐถอนทหารออกจากประเทศไทยช่วงปลายสงครามเวียดนาม เพลงประสบความสำเร็จจากการออกอากาศทางวิทยุอย่างแพร่หลาย และมีเพลงแก้ที่บันทึกเสียงร้องโดยนักร้องเพลงลูกทุ่ง ชาตรี ศรีชล ออกตามมา

"จดหมายรักจากเมียเช่า"
ปกแผ่นเสียง "จดหมายรักจากเมียเช่า" ประกอบด้วยภาพครึ่งตัวของผู้หญิงผมดำสวมเสื้อสีฟ้าและสร้อยคอสีทอง นั่งเขียนจดหมายบนโต๊ะสีดำในห้องที่บุผนังสีขาวลวดลายสีทอง ข้อความ "จดหมายรักจากเมียเช่า มานี มณีวรรณ" อยู่มุมบนซ้ายของปก และ "วรินทร์ วีระเทพ เพื่อนตาย" อยู่มุมล่างขวาของปก
ปกแผ่นเสียงขนาด 7 นิ้ว
ซิงเกิลโดยมานี มณีวรรณ
ด้านบี"เพื่อนตาย"
วางจำหน่ายป. พ.ศ. 2510
สตูดิโอกมลสุโกศล (จังหวัดพระนคร)
แนวเพลงลูกทุ่ง
ความยาว3:31
ค่ายเพลงสุเทพ
ผู้ประพันธ์เพลงอาจินต์ ปัญจพรรค์

ภูมิหลังและการเขียนเพลง แก้

ระหว่างสงครามเวียดนามประเทศไทยอนุญาตให้กองทัพอากาศสหรัฐใช้ท่าอากาศยานภายในประเทศตั้งเป็นฐานทัพ รวมถึงฐานทัพอากาศอุดรที่ค่ายรามสูร จังหวัดอุดรธานี ซึ่งเป็นฐานทัพสำคัญที่สุด และมีทหารอเมริกันหรือจีไอเข้ามาประจำการเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้เศรษฐกิจของจังหวัดพัฒนาจากการดำเนินธุรกิจใหม่ เพื่อตอบสนองการพักผ่อนและนันทนาการของทหารที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐสนับสนุนรายจ่าย โดยสถานบันเทิงเป็นธุรกิจที่ได้รับผลประโยชน์มากที่สุด[1][2] คนในพื้นที่และย้ายถิ่นเข้ามาประกอบอาชีพภาคบริการเพิ่มขึ้น รวมถึงการค้าประเวณี ผู้ค้าประเวณีบางคนพัฒนาการบริการให้กับทหารอเมริกันโดยทำหน้าที่เปรียบเสมือนภรรยา และเกิดเป็นอาชีพใหม่ที่นิยมเรียกว่าเมียเช่า[3] รูปแบบการดำเนินชีวิตของเมียเช่าปรากฏในเพลงลูกทุ่งตลอดช่วงสงครามเวียดนาม เพลงส่วนใหญ่มีเนื้อหาเชิงเสียดสี กล่าวถึงการสูญเสียทรัพยากรมนุษย์ในชนบท การมองผู้หญิงเป็นวัตถุทางเพศ หรือความน่ากลัวจากการพลัดพรากกับทหารอเมริกันที่ถูกถอนจากประเทศไทยช่วงปลายสงคราม[4][5]

"จดหมายรักจากเมียเช่า" เขียนถึงผลกระทบจากสงครามเวียดนามต่อเมียเช่าออกมาเป็นเรื่องสั้น ผ่านมุมมองของเมียเช่าที่ต้องการเขียนจดหมายถึงทหารอเมริกันชื่อจอห์น อาจินต์ ปัญจพรรค์ เขียนเนื้อร้องและทำนองเพลงในช่วง พ.ศ. 2510 ระหว่างเที่ยวกับเพื่อนที่ไนต์คลับโดเรมีของสุเทพ วงศ์กำแหง โดยเขาอยู่ด้วยขณะเขียนเพลง[6] อาจินต์เลือกเขียนเพลงเกี่ยวกับเมียเช่า และนำชื่อจังหวัดอุดรธานีมาสร้างคำคล้องจองในเนื้อร้อง "ไอเขียนเลตเตอร์ถึงเธอเดียร์จอน / เขียนในแฟลตที่ยูเคยนอน / จังหวัดอุดรประเทศไทยแลนด์"[7][a] เนื้อร้องเขียนด้วยภาษาไทยปนภาษาอังกฤษ ซึ่งเลียนแบบการสื่อสารระหว่างเมียเช่ากับทหารอเมริกัน ผ่านคนรู้จักของอาจินต์ที่สอนภาษาอังกฤษให้กับพวกเธอ[7] เนื้อร้องบรรยายถึงความลำบากของเมียเช่า เนื่องจากขาดแคลนเงินดอลลาร์ดำรงชีพและเจ็บป่วยจากไข้ไทฟอยด์ สุดท้ายเธอตัดสินใจทำอัตวินิบาตกรรมด้วยการบริโภคดีดีที ซึ่งเป็นความตั้งใจของอาจินต์ที่เขียนบทสรุปเป็นโศกนาฏกรรม[7] ทำนองเพลงมีจังหวะช้าที่เขียนใหม่ตลอดทั้งเพลง ยกเว้นท่อนฮุกที่ใช้ทำนองเพลง "แซดมูฟวีส์ (เมกมีคราย)" (พ.ศ. 2504) ของนักร้องชาวอเมริกัน ซู ทอมป์สัน และกล่าวถึงชื่อเพลงเพื่อเปรียบเทียบกับความโศกเศร้า[5][6][7] สุเทพขอนำเพลงที่เขียนเสร็จไปให้นักแสดง มานี มณีวรรณ บันทึกเสียงร้องเพื่อใช้ประกอบละครโทรทัศน์ของคณะสุเทพโชว์ที่เธอแสดงนำ ออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 7[6][7]

การตอบรับ แก้

"จดหมายรักจากเมียเช่า" ออกอากาศทางวิทยุในประเทศไทยอย่างแพร่หลาย[9][10] หนังสืออัตชีวประวัติของอาจินต์ ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2539 ระบุว่า มานีแสดงสดตามไนต์คลับ "เจ็ดถึงแปดแห่งทุกคืน" และเปรียบเทียบความสำเร็จกับเพลงที่อาจินต์เขียนเนื้อร้องให้กับวงดนตรีสุนทราภรณ์ "สวัสดีบางกอก" (พ.ศ. 2504) บันทึกเสียงร้องโดยอ้อย อัจฉรา[6] นักประพันธ์เพลงลูกทุ่ง เบญจมินทร์ ได้เขียนเพลง "จดหมายจากผัวฝรั่ง" เป็นเพลงแก้ออกตามมา บันทึกเสียงร้องโดยชาตรี ศรีชล[11] เนื้อร้องปรับเปลี่ยนเป็นมุมมองของทหารอเมริกันที่เขียนจดหมายตอบกลับเมียเช่า แต่คงรูปแบบการเขียนเดิมและนำทำนองเพลง "มายเลิฟอิสกอนฟรอมมี" (พ.ศ. 2510) ของนักร้องชาวอเมริกัน เอ็ด เอมส์ มาใช้ในท่อนฮุก[5]

รายชื่อเพลง แก้

  • แผ่นเสียงขนาด 7 นิ้ว[8]
  1. "จดหมายรักจากเมียเช่า" (มานี มณีวรรณ) – 3:31
  2. "เพื่อนตาย" (วรินทร์ วีระเทพ) – 3:23

กิตติประกาศและบุคลากร แก้

กิตติประกาศปรับมาจากไลเนอร์โน้ตส์ของ "จดหมายรักจากเมียเช่า/เพื่อนตาย"[8]

สถานที่
บุคลากร

หมายเหตุ แก้

  1. เนื้อร้องจากไลเนอร์โน้ตส์ของ "จดหมายรักจากเมียเช่า/เพื่อนตาย" ซึ่งสะกดคำว่า "จอน" แทนคำว่า "จอห์น" ที่สะกดตามหลักเกณฑ์การทับศัพท์ของราชบัณฑิตยสถานและสำนักงานราชบัณฑิตยสภา[8]

อ้างอิง แก้

  1. พงษ์ศักดิ์ ปัตถา (2550). ผลกระทบของฐานทัพสหรัฐอเมริกาต่อสภาพเศรษฐกิจและสังคมของเมืองอุดรธานี พ.ศ. 2505-2520 (PDF) (วิทยานิพนธ์ ปริญญามหาบัณฑิต). มหาวิทยาลัยศิลปากร. สืบค้นเมื่อ 12 ธันวาคม 2023.
  2. รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ (พฤษภาคม 2516). "การถอนทัพอเมริกันกับเศรษฐกิจไทย" (PDF). วารสารสังคมศาสตร์ปริทรรศน์. 11 (5): 18–26. สืบค้นเมื่อ 13 ธันวาคม 2023.
  3. ประวัติศาสตร์ นอกตำรา (12 กุมภาพันธ์ 2565). "สงครามเวียดนาม สู่ตำนานเมียเช่า เมียฝรั่ง และลูกครึ่งในสังคมไทย | ประวัติศาสตร์นอกตำรา EP.129". สืบค้นเมื่อ 12 ธันวาคม 2023.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  4. อิทธิเดช พระเพ็ชร (25 มิถุนายน 2566). "จาก 'แหม่มปลาร้า' ถึง 'จดหมายจากเมียเช่า': ฟังเพลงลูกทุ่งไทยในยุค 'อเมริกันครองเมือง'". วันโอวัน. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 26 มิถุนายน 2566. สืบค้นเมื่อ 13 ธันวาคม 2023.
  5. 5.0 5.1 5.2 อานันท์ นาคคง (20 สิงหาคม 2566). "เพลงดนตรีวิถีอาเซียน EP. 229: ปฏิบัติการลูกทุ่งไทยสมัยสงครามเย็น ตอนที่ 7 เมียเช่า". ไทยพีบีเอส พอดแคสต์ (Podcast). ไทยพีบีเอส. สืบค้นเมื่อ 13 ธันวาคม 2023.
  6. 6.0 6.1 6.2 6.3 อาจินต์ ปัญจพรรค์; แน่งน้อย ปัญจพรรค์ (2539). อาจินต์ ปัญจพรรค์. กรุงเทพฯ: สารคดี. pp. 201–202. ISBN 974-8211-50-9.
  7. 7.0 7.1 7.2 7.3 7.4 "เพลงจดหมายรักจากเมียเช่า". ข้างหลังเพลง. 29 สิงหาคม 2558. ไทยพีบีเอส. สืบค้นเมื่อ 11 ธันวาคม 2023.
  8. 8.0 8.1 8.2 จดหมายรักจากเมียเช่า/เพื่อนตาย (ไลเนอร์โน้ตส์ของแผ่นเสียงขนาด 7 นิ้ว). มานี มณีวรรณ/วรินทร์ วีระเทพ. สุเทพเรเคิดส์. SS 017.{{cite AV media notes}}: CS1 maint: others (ลิงก์)
  9. ณรงค์ จันทร์เรือง (2553). มนตร์น้ำหมึก. กรุงเทพฯ: มติชน. p. 44. ISBN 9789740207184. ลองนึกภาพในปี [พ.ศ.] 2512 – 2513 ทหารมะริกันเต็มเมืองไทย เมียเช่าคึ่ก ๆ ไม่ว่าอู่ตะเภา, กรุงเทพฯ, ตาคลีไปยันโคราช, อุดร แล้วจะซาบซึ้งว่าทำไมเพลง "จดหมาย[รัก]จากเมียเช่า" ถึงได้ดังกระหึ่มจากวิทยุเกือบทุกเครื่องไปทั้งบ้านทั้งเมือง
  10. ยูร กมลเสรีรัตน์ (26 สิงหาคม 2566). "อาจินต์ ปัญจพรรค์ นักประพันธ์ชั้นครู บรรณาธิการผู้สร้างนักเขียน (23)". สยามรัฐ. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 27 สิงหาคม 2566. สืบค้นเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2024. เพลงที่ดังระเบิดทั่วบ้านทั่วเมือง สถานีวิทยุเปิดบ่อยมาก จนคุ้นหู ยุคนั้นยังไม่มีเพลงแบบนี้ จึงถือว่าเป็นความคิดแปลกใหม่ เพลงที่กล่าวถึงก็คือเพลง "จดหมายรักจากเมียเช่า" ส่งให้นักร้องคนนี้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักไปด้วย นั่นก็คือ มานี มณีวรรณ
  11. จดหมายจากผัวฝรั่ง/ยายฉิมเก็บเห็ด (ไลเนอร์โน้ตส์ของแผ่นเสียงขนาด 7 นิ้ว). ชาตรี ศรีชล/นิตยา บุญเพิ่ม. แอ๊คโคเดี้ยน. ACD 409.{{cite AV media notes}}: CS1 maint: others (ลิงก์)