เบญจมินทร์(23 พฤษภาคม พ.ศ. 2464 - 10 มีนาคม พ.ศ. 2537)เป็นนักร้อง นักแต่งเพลงรุ่นเก่าชื่อดังที่ได้รับฉายาว่า "ราชาเพลงรำวง" ในยุคที่วงการลูกทุ่งเพิ่งจะบุกเบิก นอกจากนั้นก็เคยสร้างและกำกับภาพยนตร์ เขียนบทละครและภาพยนตร์หลายเรื่อง รวมทั้งร่วมในการแสดงภาพยนตร์ด้วย ในวงการเพลง เบญจมินทร์ เป็นที่รู้จักอย่างมากจากเพลงรำวง อย่าง "รำเต้ย", "อายจันทร์", "เมขลาล่อแก้ว" ,"รำวงแจกหมวก", "แมมโบ้จัมโบ้", "อึกทึก", "มะโนราห์ 1-2", "สาลิกาน้อย", "รำวงฮาวาย" และอีกมากมาย ส่วนเพลงลูกทุ่ง เขาโด่งดังจากเพลงแนวเกาหลีหลายเพลง

เบญจมินทร์
ชื่อเกิดตุ้มทอง โชคชนะ[1]
รู้จักในชื่อราชาเพลงรำวง[2]
เกิด23 พฤษภาคม พ.ศ. 2464
ที่เกิดประเทศไทย ยโสธร ประเทศไทย
เสียชีวิต10 มีนาคม พ.ศ. 2537 (72 ปี)
แนวเพลงรำวง
ช่วงปีพ.ศ. 2490-2507

ต้นฉบับแนวเสียงของ สุรพล สมบัติเจริญเจ้าของฉายา ราชาเพลงลูกทุ่ง และเป็นคนเปิดศักราชของลูกทุ่งอีสานและชาวอีสานในวงการเพลงลูกทุ่งของเมืองไทย ช่วงที่กำลังรุ่งโรจน์ ระหว่าง พ.ศ. 2490-2495 เพลงของเขาได้รับความนิยมและมักสอดแทรกด้วยอารมณ์ขัน อย่างเช่น เพลง "ไปเสียได้ก็ดี" ซึ่งบันทึกเสียงเมื่อปี 2495

ประวัติ

แก้

ชื่อจริงว่า ตุ้มทอง โชคชนะ (ในช่วงหลังเปลี่ยนมาเป็น คนชม) เกิดเมื่อ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2464 ที่บ้านย่อ ตำบลย่อ อำเภอลุมพุก จังหวัดอุบลราชธานี (ปัจจุบันคืออำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร) เป็นบุตรสิบเอกบุญชู โชคชนะ นับถือศาสนาพุทธ และนางคูณ โชคชนะ ผู้เป็นแม่นั้นเป็นชาวลาวเวียงจันทน์ นับถือศาสนาคริสต์ และทำหน้าที่ต้นเสียงการขับร้องในโบสถ์ ทำให้เบญจมินทร์ได้รับมรดกด้านการร้องเพลงมาจากผู้เป็นแม่ และเขาเองก็ชื่นชอบการร้องเพลงอย่างมากด้วย

จบชั้นมัธยมบริบูรณ์จากโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราชที่บ้านเกิด ซึ่งเขานำมาดัดแปลงเป็นชื่อเมื่อทำงานในวงการบันเทิง สมัยเป็นนักเรียน ชื่นชอบวิชาภาษาไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอนอย่างมาก จึงเริ่มศึกษาเรื่องการแต่งเพลงจากผลงานของครูเพลงอย่าง พราหมณ์, นารถ ถาวรบุต, พุฒ นันทพล, จำรัส รวยนิรันทร์ และมานิต เสนะวีนิน ด้วยการนำเนื้อเพลงมาอ่านท่อง จนเกิดความรู้เรื่องการสัมผัสคำ อักขระ พยัญชนะ วรรคตอน โดยไม่มีครูที่ไหนมาสอน

หลังจบการศึกษา เบญจมินทร์สมัครเป็นตำรวจ และได้รับยศเป็นพลตำรวจอยู่ได้แค่ปีเดียวลาออกและเข้ากรุงเทพฯ ในปี พ.ศ. 2480 ก่อนจะสมัครเป็นครูเทศบาล ได้สอนชั้นประถมปีที่ 3 ที่โรงเรียนแถบปทุมวัน 2 ปี ต่อมาอพยพไป นครนายก แต่ย้ายกลับเมืองหลวงอีกครั้ง และทำงานหลากหลาย ทั้งครู นักหนังสือพิมพ์ พนักงานที่ดิน พนักงานเทศบาล

เข้าวงการ

แก้

ทำงานกับหนังสือพิมพ์ไทยใหม่ รุ่นเดียวกับ อิศรา อมันตกุล ต่อมาย้ายมาอยู่ หนังสือพิมพ์เอกราช เมื่อมีการสังสรรค์หลังเลิกงาน เขามีโอกาสแสดงความสามารถด้านการร้องเพลงและแต่งเพลง (ในวงเหล้า) ทำให้ อิงอร หรือ ศักดิ์เกษม หุตาคมเห็นแวว จึงชวนมาร้องเพลงสลับฉากในละคร ดรรชนีไฉไล เป็นเรื่องแรก (บางตำราบอกว่าเขาร้องเพลงแรกในชีวิต ชือเพลง ชายฝั่งโขง ประพันธ์โดย จำรัส รวยนิรันดร์) เริ่มเป็นที่รู้จักและชื่นชอบจากเพลง ชายฝั่งโขง ขณะที่ร้องอยู่กับวงดนตรีดุริยโยธิน แต่มาโด่งดังสุดขีดหลังจากหันมาร้องเพลงรำวงอย่างจริงจัง เขาจึงจับแนวเพลงประเภทนี้มาตลอด จนถึงยุคที่เพลงรำวงเสื่อมความนิยม และถูกเพลงลูกทุ่งเข้ามาแทนที่ นักร้องคนอื่นๆหันไปร้องเพลงลูกทุ่งกันหมด เบญจมินทร์ ก็ยังคงร้องเพลงรำวงอยู่เช่นเดิม

แต่งเพลง

แก้

ก่อนเข้ากรุงเทพฯ เบญจมินทร์หลงใหลเพลงรำวง - รำโทนอย่างมาก ทั้งยังเคยเข้าร่วมร้องเพลงในวงรำวง - รำโทนแถวบ้านด้วย ทำให้เขาเชี่ยวชาญเรื่องบทเพลงทำนองนี้อย่างมาก เมื่อได้รับการติดต่อจากบริษัทแผ่นเสียง จึงนำความเชี่ยวชาญนี้มาใช้อย่างจริงจัง

เขาเคยกล่าวว่าการแต่งเพลงได้รับอิทธิพลมาจากครูศิลปินที่ชื่นชอบ "พรานบูรพ์" (จวงจันทร์ จันทร์คณา)

เพลงแรกที่แต่งเอง "กล่อมขวัญใจ" ไม่ได้บันทึกเสียง แต่กลับนำไปร้องกล่อมเด็กข้างบ้าน

หันมาแต่งเพลงอย่างจริงจังราวปี พ.ศ. 2488 ซึ่งขณะนั้น รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามกำลังสนับสนุนเพลงรำวง - รำโทนอย่างมาก โดยชุดแรกมี 10 เพลง หนึ่งในจำนวนนั้นก็คือ "เมฆขลาล่อแก้ว" ในช่วงแรกแต่งให้กับห้างแผ่นเสียง บริษัท กมลสุโกศล ในราคาเพลงละ 500 บาท เพลงยังใกล้เคียงกับของเดิม คือเป็นเพลงสั้นๆ ประมาณ 2 ท่อน เป็นการหยิบเอามรดกดั้งเดิมของรำโทนอีสานมาปรับปรุงตกแต่งให้น่าสนใจยิ่งขึ้น

ปี พ.ศ. 2491 เมื่อเริ่มมีการบันทึกแผ่นเสียงเพลงรำวง - รำโทน เบญจมินทร์เร่งผลิตผลงานให้ห้างแผ่นเสียงคาเธ่ย์ราว 50 เพลงๆละ 500 บาท ในช่วงนี้ เขาได้สร้างแบบฉบับของตัวเองขึ้นมาอย่างโดดเด่น จากเพลงรำวงแบบเดิม ที่มีอยู่ 2 ท่อน ก็เพิ่มเป็น 3 - 4 ท่อน รวมทั้งใส่พล็อตเรื่องและเพิ่มเครื่องดนตรีลงไป แทนที่จะมีแต่กลองโทนเป็นหลัก และก็ได้รับความนิยมอย่างสูง จน สาหัส บุญหลง (พฤหัส บุญหลง) เพื่อนร่วมคณะละคร ตั้งฉายาให้เขาว่า ราชาเพลงรำวง ระยะนี้เขามีผลงานทั้งประเภทแต่งเองร้องเอง ซึ่งได้รับการต้อนรับอย่างดี เพลงดังที่สุดในยุคนั้นชื่อ "รำเต้ย" ที่ขึ้นต้นว่า "สวยก็จริงนะสาว ขาวก็จริงนะน้อง..." นอกจากนี้ ยังมีเพลงที่แต่งให้คนอื่นร้อง และร้องเพลงของครูเพลงท่านอื่นด้วย

แม้กระทั่งบริษัทอัศวินแผ่นเสียงและการละคร ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล ก็ยังรับสั่งให้ช่วยแต่งเพลง ยังความปลาบปลื้มแก่เบญจมินทร์อย่างยิ่ง

เป็นทหาร-บุกแดนอารีดัง

แก้

ตอนที่ร้องเพลงสลับฉาก โชคชะตาทำให้ได้เจอกับจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อไปร่วมงานวันเกิดของ พณฯท่าน และด้วยความเมาประกอบกับน้ำเสียงในการร้องเพลง ทำให้จอมพลเสฤษดิ์เกิดถูกชะตา รับเข้าเป็นทหาร ต่อมาสมัครไปสมรภูมิเกาหลีตามคำชวนของนายทหารกองดุริยางค์ทหารในปี พ.ศ. 2499 อยู่ที่เกาหลีนาน 6 เดือน เมื่อกลับมา ได้แต่งเพลงเกี่ยวกับเกาหลีมากมายหลายเพลง ทั้ง "อารีดัง", "เสียงครวญจากเกาหลี" "รักแท้จากหนุ่มไทย" และ "เกาหลีแห่งความหลัง" ซึ่งได้รับความนิยมสูงสุด หลังจากรับราชการทหาร 5 ปี ก็ลาออกจากกองทัพ

ปั้น ทูล ทองใจ

แก้

นอกจากเพลงรำวงสนุกสนานแล้ว ยังประพันธ์เพลงช้า หรือเพลงหวานได้ในระดับดีเยี่ยม ในช่วงปี พ.ศ. 2499 - 2500 เป็นผู้สร้าง ทูล ทองใจ จนมีชื่อโด่งดังทั่วฟ้าเมืองไทยจากเพลงช้าของเขาหลายเพลง เช่น "โปรดเถิดดวงใจ", "กลิ่นปรางนางหอม", "ในฝัน" และ "เหนือฝัน"

และด้วยความทรนง อันเป็นนิสัยสำคัญของเขา เมื่อความนิยมในผลงานเพลงของเขาสู้กับนักร้องรุ่นใหม่อย่าง สุรพล สมบัติเจริญไม่ได้ รวมทั้งเกิดกรณีการแต่งเพลงตอบโต้กัน โดยเบญจมินทร์ เขียนเพลง "อย่าเถียงกันเลย" ต่อว่าสุรพลกรณีที่ร้องเพลงตำหนิผ่องศรี วรนุช ที่ลาออกจากวงไป และสุรพล ก็แต่งเพลงตอบโต้เขาชื่อ "สิบนิ้วขอขมา" ซึ่งเสียงตอบรับของแฟนเพลงก็หันไปทางสุรพลมากกว่า ดังนั้น เบญจมินทร์ ก็จึงยกเลิกกิจการวงดนตรี "เบญจมินทร์และสหาย" ที่เพิ่งตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2507 ให้แก่ลูกศิษย์รักคนที่สอง กุศล กมลสิงห์ เจ้าของฉายา ขุนพลเพลงรำวง และหันหลังให้กับวงการเพลงทันทีโดยไม่แยแส ในปี พ.ศ. 2508 ก่อนจะหันไปจับงานบันเทิงสาขาใหม่

ทำหนัง-ละครและงานเขียน

แก้

สร้างภาพยนตร์เรื่อง "เสือเฒ่า", "ไม่มีสวรรค์สำหรับคุณ" และ "แสนงอน" เคยเป็นพระเอกใน "เพื่อนตาย" และพระรองใน "สุภาพบุรุษเสือไทย" ตลอดจนเป็นตัวประกอบใน "ทองพูน โคกโพ ราษฎรเต็มขั้น" เขียนบทภาพยนตร์เรื่อง "ไอ้โต้ง", "แผลหัวใจ" เขียนบทละครโทรทัศน์เรื่อง "ขุนแผนผจญภัย" นอกจากนี้ก็ยังเคยเขียนบทความลงใน หนังสือพิมพ์บ้านเมือง รวมทั้งเรื่องสั้นอีกหลายเรื่อง

ชีวิตครอบครัว

แก้

สมรสกับนางทองขาว มีบุตรธิดารวม 5 คน ได้แก่ เบญจมินทร์, มณเฑียร, ขวัญทิพย์, มณฑล และอาริยา ไม่เคยมีบ้านเป็นของตนเองแม้แต่หลังเดียว จนกระทั่งในช่วงบั้นปลายชีวิต เขาได้ขอเจียดที่ดินเจ้าของที่ดินย่านคลองประปา เจ้าของร้านข้าวแกงที่เขาติดอกติดใจ ปลูกบ้านหลังเล็กๆ บนพื้นที่ขนาด 3 คูณ 4 เมตร เพื่อใช้อาศัยอยู่ตามลำพัง แยกจากครอบครัว แม้ว่าตัวเองจะป่วยเป็นอัมพฤกษ์

การเสียชีวิต

แก้

เมื่อ 10 มีนาคม พ.ศ. 2537 บนรถแท็กซี่ระหว่างการนำตัวส่งโรงพยาบาลรามาธิบดีแพทย์ระบุว่าเขาเสียชีวิตจากหัวใจล้มเหลว

อ้างอิง

แก้
  1. บูรพา อารัมภีร. เพลงรำวง. ในศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 31 ฉบับที่ 5 มีนาคม 2553 กรุงเทพ:สำนักพิมพ์มติชน,2553. หน้า 76-77
  2. 10 ตำนานเพลงรำวงอีสาน (ในทัศนะของข้าพเจ้า)