ความเสมอภาคทางสังคม
ความเสมอภาค (Equality) เป็นมโนทัศน์พื้นฐานที่สุดเรื่องหนึ่งไม่ว่าจะกล่าวในมิติทางการเมืองหรือในทางเศรษฐกิจ คนทั่วไปมักสับสนคำว่า “เสมอภาค” กับ “เหมือนกัน” (sameness) กล่าวคือ คิดว่าการรับรองความเสมอภาคของมนุษย์เท่ากับการทำให้มนุษย์ทุกคนเท่ากัน จนมักโต้แย้งว่าความเสมอภาคไม่มีทางเป็นไปได้ จึงควรทำความเข้าใจเบื้องต้นว่าหลักการของความเสมอภาค ไม่ได้และไม่เคยเรียกร้องให้มนุษย์ทุกคนต้องเหมือนกันหมด เพราะมนุษย์ย่อมแตกต่างกันเป็นธรรมชาติทั้งโดยชาติพันธุ์ รูปร่าง ผิวพรรณ เพศสภาพ บุคลิก ความเชื่อ ศาสนา วัฒนธรรม และอื่นๆ
แต่ความแตกต่างนั้นไม่ได้เป็นเหตุผลทำให้มนุษย์ต้องไม่เสมอภาคกัน เพราะความเสมอภาค (Equality) ตรงข้ามกับความไม่เสมอภาค (Inequality) ไม่ได้ตรงข้ามกับคำว่าความแตกต่าง (Difference) อย่างที่หลายคนทึกทัก นั่นหมายความว่า มนุษย์เราแตกต่างกันโดยธรรมชาติ แต่ก็สามารถและควรเท่าเทียมกันได้ (different but Equal) ดังนั้นเมื่อกล่าวว่า คนเสมอภาคกัน จึงไม่ได้หมายความว่าคนเหมือนกันทุกด้านไม่ว่าจะเป็นชาติตระกูล หน้าตา ความสามารถ สติปัญญา แต่การที่บอกว่าเสมอภาคกันมีความหมายว่า มนุษย์เท่าเทียมกันทั้งในความเป็นมนุษย์ และตามกฎหมายของรัฐ (Kurian, 2011: 515)[1] ดังที่มีวลีสำคัญที่สะท้อนความเสมอภาคคือ “Equality Before the Law” ซึ่งหมายความว่าบุคคลทุกผู้ทุกนามย่อมมีสิทธิได้รับความคุ้มครองตามกระบวนของกฎหมายอย่างเป็นธรรม หรือความเสมอภาคกันในทางการเมืองคือ พลเมืองที่มีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนดย่อมสามารถใช้สิทธิเลือกตั้งได้อย่างเท่าเทียมกัน
ในบางกรณี ที่ความเสมอภาคยึดโยงเข้ากับหลักความเป็นธรรม (Justice) จะนำไปสู่การปฏิบัติต่อผู้คนที่แตกต่างกันด้วยมาตรการเฉพาะเพื่อช่วยให้ความแตกต่างกันโดยธรรมชาติได้รับการแก้ไขให้เกิดความเสมอภาคมากขึ้น เช่น มาตรการช่วยเหลือคนด้อยโอกาส คนทุพพลภาพ เพื่อความเสมอ
อรรถาธิบาย
แก้แนวคิดเกี่ยวกับความเสมอภาคนั้นสามารถย้อนกลับไปได้ไกลถึงสมัยกรีกจากงานเขียนของเพลโต้ (Plato) และอริสโตเติล (Aristotle) ที่ได้โจมตีแนวคิดประชาธิปไตยแบบเอเธนส์ที่มีพื้นฐานอยู่บนความเท่าเทียมกันนั้นว่าไม่ใช่รูปแบบการปกครองที่ดีที่สุดเพราะคนแตกต่างกัน คนบางคนโง่ คนบางคนฉลาด คนแต่ละคนมีความสามารถแตกต่างกัน คนบางคนไม่เหมาะกับการบริหารกิจการสาธารณะ หรือไม่เหมาะที่จะเป็นทหาร เมื่อพิจารณางานเขียนในยุคสมัยใหม่ นักคิดคนแรกที่เสนอว่ามนุษย์เท่าเทียมกันก็คือ นักคิดชาวอังกฤษ โธมัส ฮอบส์ (Thomas Hobbes) โดยฮอบส์ ได้เขียนงานที่โด่งดัง ชื่อว่า “เลอไว่อาเธิน” (Leviathan) ตอนหนึ่งมีการกล่าวถึงธรรมชาติของมนุษย์ว่า “มนุษย์มีความเท่าเทียมกัน แม้ว่าเมื่อจะพิจารณาแล้วว่า มีความแตกต่างทางด้านร่างกาย หรือสติปัญญาก็ตามสิ่งเหล่านี้ก็ไม่ได้เป็นสิ่งสำคัญอะไรที่จะทำให้มนุษย์ไม่เท่าเทียมกัน ซึ่งสิ่งที่เสมอภาคกันของฮอบส์คือการที่ทุกคนเท่าเทียมกันในเรื่องการอ้างผลประโยชน์ และความสามารถที่จะทำร้ายผู้อื่นได้เท่าๆ กัน” (Hobbes, 1985: 183)[2]
นอกจากฮอบส์ แล้วยังมีนักคิดอย่างจอห์น ล็อก (John Locke) และ ฌอง ฌากส์ รุสโซ (Jean-Jacques Rousseau) ซึ่งล้วนเป็นนักคิดสมัยใหม่ที่ล้วนแต่นำเสนอว่ามนุษย์แต่ละคนต่างเท่าเทียมกัน โดยความเสมอภาคของล็อกนั้นอยู่ที่สิทธิที่ติดตัวมาตั้งแต่กำเนิดอันไม่สามารถพรากไปได้ (natural rights) และการที่มนุษย์ทุกคนมีสิทธิที่ติดตัวมาตั้งแต่กำเนิดจึงส่งผลให้คนทุกๆคนนั้นเท่าเทียมกัน ในขณะที่ความเสมอภาคของรุสโซ นั้นมีจุดเน้นอยู่ที่มนุษย์ทุกคนมีเสรีภาพและการที่ทุกๆคนมีเสรีภาพ ทำให้คนทุกๆคนเท่าเทียมกัน อนึ่งด้วยวิธีคิดของนักคิดทั้งสามคนที่ถือว่าเป็นรากฐานของความเป็นสมัยใหม่ได้ก่อให้เกิดทฤษฎีการเมืองที่ต่อเนื่องจากแนวคิดความเสมอภาคนั่นก็คือ ทฤษฎีสัญญาประชาคม ที่เสนอว่าการเกิดขึ้นของรัฐมีที่มาจากการที่มนุษย์แต่ละคนจะมาตกลงทำสัญญากันก่อตั้งรัฐ สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เนื่องมาจากมนุษย์ทุกคนเท่าเทียมกัน ดังนั้นจึงไม่มีใครสามารถบีบบังคับให้มนุษย์คนอื่นๆเข้าร่วมสังคมหรือรัฐได้ถ้าตัวเขาไม่ยินยอม ในที่สุดแนวคิดเกี่ยวกับความเสมอภาคก็ได้นำไปสู่สองเหตุการณ์ที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์โลกสมัยใหม่นั่นก็คือ การปฏิวัติอเมริกัน ปี ค.ศ. 1776 และการปฏิวัติใหญ่ในฝรั่งเศส ปี ค.ศ. 1789 ซึ่งทั้งสองเหตุการณ์นี้เป็นการปฏิวัติโดยมีความคิดพื้นฐานเพื่อยืนยันถึงเรื่องที่มนุษย์นั้นเกิดมาเท่าเทียมกัน
ในปัจจุบัน มโนทัศน์เรื่องความเสมอภาคมีบทบาทสำคัญในวงวิชาการเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการกระจายรายได้หรือผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ การเข้าถึงทรัพยากรและบริการสาธารณะ การกระจายการจ้างงานหรือโอกาสการทำงาน ประเด็นที่เกี่ยวกับการมีตัวแทนในทางการเมืองของบุคคล กลุ่มทางสังคม หรือการมีตัวแทนแห่งรัฐ รวมถึง การเรียกร้องของกลุ่ม “สตรีนิยม” (Feminism) ที่ต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมของสตรี ให้ยุติการถูกเลือกปฏิบัติบนพื้นฐานของเพศ ป้องกันความรุนแรงทั้งเชิงกายภาพ โครงสร้าง และวัฒนธรรมต่อผู้หญิง อย่างไรก็ตาม แนวคิดดังกล่าวก็เป็นที่ถกเถียงกันเป็นอย่างมากด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ดี พึงตระหนักว่า หลักความเสมอภาคนั้นต้องคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะเหนือประโยชน์ส่วนบุคคล เช่น หากเกิดความวุ่นวายไม่สงบขึ้น รัฐอาจจำเป็นต้องใช้มาตรการบางอย่างระงับเหตุ และการใช้มาตรการดังกล่าวอาจสะท้อนให้เห็นถึงการเลือกปฏิบัติและขัดต่อหลักแห่งความเสมอภาคได้ ในทางกลับกัน การจะอ้างประโยชน์สาธารณะที่ถือว่ากระทบต่อหลักแห่งความเสมอภาคที่ก่อให้เกิดการแบ่งแยก เช่น เชื้อชาติ ศาสนา เพศ เป็นต้น ก็ไม่อาจทำได้ การเลือกปฏิบัติในเรื่องความเสมอภาคที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากลต้องเป็นไปเพื่อมุ่งลดความเหลื่อมล้ำที่ดำรงอยู่ หรือการให้คุณในทางบวก เพื่อชดเชยให้คนที่มีสถานะด้อยกว่าบุคคล เท่าเทียมกันมากขึ้น หลักการนี้เกิดจากแนวคิดของประธานาธิบดีเคนเนดี้ (John F. Kennedy) และประธานาธิบดีจอห์นสัน (Lyndon B. Johnson) ของสหรัฐอเมริกา โดยมีการตรากฎหมายสิทธิพลเมือง (Civil Rights Act) ขึ้นเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม ค.ศ. 1964 และในปี ค.ศ. 1978 ศาลสูงสุด (Supreme Court) ของสหรัฐอเมริกาได้ตัดสินในคดี Regents of University of California V. Bakke ว่าการที่มหาวิทยาลัยสำรองที่นั่ง 16% ของคณะแพทยศาสตร์ให้แก่นักศึกษาผิวสีเป็นการกระทำที่ไม่ขัดต่อหลักความเสมอภาค เนื่องจากถือเป็นการเลือกปฏิบัติที่มุ่งลดความเหลื่อมล้ำที่ดำรงอยู่ นโยบายดังกล่าวของประธานาธิบดีเคนเนดี้ และประธานาธิบดีจอห์นสัน มีชื่อว่า “Affirmative Action” และยังใช้มาจนถึงปัจจุบัน แม้จะมีข้อถกเถียงและผู้ไม่เห็นด้วยจำนวนมาก