ทฤษฎีการเมือง (อังกฤษ: Political Theory) เป็นสาขาวิชาหนึ่งของการเรียนการสอนวิชารัฐศาสตร์ ทฤษฏีการเมืองเป็นสาขาวิชาที่เกิดมาพร้อมๆกับวิชารัฐศาสตร์ คือราว ทศวรรษที่ 1960 ซึ่งเป็นช่วงที่วิธีวิทยา แบบวิทยาศาสตร์เข้ามีอิทธิพลอย่างสูงในวิชารัฐศาสตร์ อย่างไรก็ตามแม้ทฤษฎีการเมืองจะเป็นวิชาของการศึกษาการเมืองในยุควิทยาศาสตร์ ทว่าก็มีทฤษฎีการเมืองจำนวนไม่น้อยที่ได้รับอิทธิพลมาจากนักปรัชญาการเมือง

ความหมาย แก้

ทฤษฎีการเมืองเกี่ยวพันอยู่กับการมองและการเข้าใจในสิ่งต่างๆ ซึ่งการมอง และการเข้าใจนั้นๆเป็นเพียงแง่มุมที่แปรผันไปตามผู้มอง ทฤษฎีการเมืองจึงไม่ใช่ความจริงทางการเมือง แต่เป็นเพียงเศษเสี้ยวของความจริงทางการเมืองที่ถูกรับรู้ในกาละ-เทศที่ต่างกันเท่านั้น นอกจากนี้จากการที่ปรัชญาการเมืองเป็นเรื่องของการคิดและจินตนาการความเป็นไปได้ที่ดีที่สุดในทางการเมือง มากกว่าที่จะเป็นเรื่องของความรู้ที่ได้มาในเชิงประจักษ์หรือสภาวการณ์ของการเมืองที่เกิดขึ้นจริงซึ่งเป็นสิ่งที่ทฤษฎีการเมืองพยายามอธิบาย หรือนิยามของทฤษฎีการเมืองก็คือ "มุมมองในทางการเมือง" นั่นเอง [1]

ประวัติศาสตร์ แก้

ยุคพฤติกรรมศาสตร์ แก้

หลังจากที่การศึกษาการเมืองได้เข้าสู่กระบวนการของความเป็นศาสตร์ (science) ในช่วงทศวรรษ ที่ 1900 - 1950 วิชารัฐศาสตร์ได้กลายเป็นกระบวนวิชาในมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐอเมริกาที่เริ่มมีการเปิดการเรียนการสอนเป็นคณะ และสาขาวิชาอย่างจริงจังราว ค.ศ. 1857 ซึ่งเป็นเวลาไม่กี่ปีหลังสงครามกลางเมืองอเมริกัน (ค.ศ. 1861 - 1865) ใน ค.ศ. 1903 ได้มีการจัดตั้งสมาคมรัฐศาสตร์อเมริกา (American Political Science Association) ขึ้น จึงกล่าวได้ว่าวงวิชาการในสหรัฐอเมริกาทำให้การเรียนการสอนวิชาการเมืองในยุควิทยาศาสตร์ยุคแรกนี้เติบโตอย่างสูงผ่านการยกระดับจากการศึกษาการเมืองแบบกระบวนวิชา (discipline) ให้กลายเป็นการศึกษาการเมืองแบบสถาบัน (institutionalized discipline) [2]

ช่วงทศวรรษที่ 1920 ชาร์ลส์ เมอร์เรียม (Charles Edward Merriam) ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยชิคาโก ได้เริ่มเอาวิธีวิทยาแบบวิทยาศาสตร์เข้ามาศึกษาปรากฏการณ์ในทางรัฐศาสตร์ โดยได้รับอิทธิพลจากวงการจิตวิทยาอเมริกัน เมอร์เรียมเรียกวิธีการนี้ว่าการศึกษา “พฤติกรรมทางการเมือง (political behavior)” ต่อมาช่วงทศวรรษ 1950 – 1960 กระแสวิชาการรัฐศาสตร์ได้เริ่มมีการผนวกเอาแนวคิดของสาขาวิชาต่างๆเข้ามาโดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมวิทยา (sociology), เศรษฐศาสตร์ (economics), ประวัติศาสตร์ (history), มานุษยวิทยา (anthropology), จิตวิทยา (psychology) และ สถิติ (statistics) เข้ามาประยุกต์ในวิชารัฐศาสตร์ โดยมุ่งเน้นการศึกษาผ่านระเบียบวิธีทางวิทยาศาสตร์ (scientific method) เป็นหลัก กล่าวคือ มีการ สร้างสมมติฐาน, เก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ, มีการพิสูจน์ และตรวจสอบสมมติฐาน ซึ่งการศึกษาจำนวนมากนั้นมีเป้าประสงค์ที่จะแก้ปัญหาในทางสังคม และปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้นในอเมริกา ที่เป็นผลกระทบจากสงครามโลกครั้งที่ 2 (ค.ศ. 1939 - 1945) เนื่องด้วย ในช่วงสงครามโลกทั้งสองครั้ง ก่อให้เกิดระบอบการปกครองแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จ(Totalitarian Regimes) ในการเมืองระดับโลก ส่งผลต่อวงวิชาการรัฐศาสตร์อเมริกันเป็นอันมาก เนื่องด้วยบรรดาวิชาต่างๆที่สอนในคณะรัฐศาสตร์ อาทิ รัฐธรรมนูญ, ปรัชญาการเมือง, กฎหมายปกครอง, และวิชาที่เน้นหนักเฉพาะความรู้ทางการเมืองในระบบสหรัฐไม่สามารถให้คำตอบได้ หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง นักรัฐศาสตร์อเมริกัน จึงได้เริ่มปรับเปลี่ยนวิธีการศึกษาวิชารัฐศาสตร์ด้วยวิธวิทยาแบบวิทยาศาสตร์ ซึ่งโดยมากก็ได้รับอิทธิพลทางความคิดจากเมอร์เรียม แม้กระบวนการดังกล่าวก็ถูกกล่าวถึงว่าเป็นการนำเอาระเบียบวิธีวิจัยแบบวิทยาศาสตร์เข้ามาใช้ในทางสังคมศาสตร์แบบไม่ตั้งคำถามว่าเหมาะสมหรือไม่? อย่างไร? ทว่า อย่างไรก็ตามกระแสความคิดดังกล่าวก็ถูกยอมรับโดยนักรัฐศาสตร์ทั้งในอเมริกาและนอกอเมริกา จนมีการเรียกขานกันเป็นสกุลทางการศึกษาวิชารัฐศาสตร์ว่าสำนักพฤติกรรมศาสตร์ (behaviroralism) เนื่องด้วยเป็นการศึกษาปรากฏการณ์ทางสังคมในเรื่องการเมืองผ่านการสำรวจ (observation) และวัดค่า (measure) พฤติกรรมต่างๆของมนุษย์ อาทิ ทัศนคติ (attitude), ความพึงพอใจ (motivation) และปัจจัย (factor) เป็นต้น [3]

ภาพสะท้อนของการศึกษาการเมืองในยุควิทยาศาสตร์เห็นได้จากที่เดวิด อีสตัน (David Easton) ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์ชาวแคนาดา นิยามลักษณะพิเศษของพฤติกรรมศาสตร์ไว้ว่า[4]

  • มีความทั่วไป, ต้องสามารถอธิบายอย่างเป็นการทั่วไปได้ (regularities)
  • สามารถพิสูจน์ซ้ำได้ (commitment to verifications)
  • เป็นกระบวนการศึกษาอย่างมีเทคนิค (techniques)
  • สามารถอธิบายสิ่งที่ศึกษาด้วยตัวเลขได้อย่างทรงพลัง (quantification)
  • ปราศจากค่านิยม (value – free)
  • มีการดำเนินการวิจัยอย่างเป็นระบบ (systemization)
  • มีลักษณะเป็นศาสตร์บริสุทธิ์ (pure science) มากกว่าศาสตร์ประยุกต์ (applied science)
  • บูรณาการ ผสมผสานสังคม และค่านิยมเข้าไว้ด้วยกัน (integrating social and value)

การนิยามของอีสตันก่อให้เกิดอิทธิพลต่อกระบวนวิธีการทำงานของนักรัฐศาสตร์ตระกูลพฤติกรรมเป็นอย่างมาก การวิจัยทางสังคม และการเมืองที่พยายามเน้นสถานะของความเป็นศาสตร์ที่ตรวจสอบได้, พิสูจน์ได้, ปราศจากค่านิยม, มีความเป็นระบบ, มีความเป็นทั่วไปดังที่อีสตันเสนอมีอิทธิพลอย่างสูงต่อการสร้างนโยบายพัฒนาประเทศของสหรัฐอเมริกา และประเทศที่รับเอาแนวคิดพฤติกรรมศาสตร์ไปปรับใช้เป็นอย่างมาก จนมีการกล่าวว่า “พฤติกรรมศาสตร์นั้นจะถูกเข้าใจว่าเป็นเพียงจารีตของการวิจัย แต่พฤติกรรมศาสตร์คือการเคลื่อนไหวทางสังคมที่มุ่งสร้างนิยามทางพฤติกรรมศาสตร์ที่จะเปิดโลกด้วยสิ่งที่นักพฤติกรรมศาสตร์ต้องการ ” ซึ่งสิ่งสำคัญคือกระบวนการทั้งหมดต้องกระทำอย่างปลอดคติ (value - free)[5]

นักรัฐศาสตร์ที่นิยมศึกษาตามแนวคิดของอีสตันจะเรียกตนเองว่านักทฤษฎีการเมือง (political theorist) ที่โดยพื้นฐานมองว่าทฤษฎี คือเครื่องมือในการทำความเข้าในสภาพการเมืองโดยรวม ซึ่งผลิตผลของการศึกษาทำความเข้าใจดังกล่าวจะได้มาซึ่งองค์ความรู้ที่สามารถนำมาประยุกต์สร้างตัวแบบ (model) เพื่ออธิบายความจริง (fact) ที่เกิดขึ้น นิยามของสตีฟ แทนซีย์ (Stephen D. Tansey) นักรัฐศาสตร์ชาวอเมริกัน ว่าตัวแบบทางการเมือง (political model) คือ การทำให้ความเป็นจริงทางสังคมและทางการเมืองง่ายลง (a simplification of reality) ทำให้ผู้ศึกษา/เป็นเครื่องมือของผู้ศึกษา ในการหาความสัมพันธ์ต่างๆในข้อมูลที่ถูกเก็บมาศึกษา[6] ในอีกภาษาหนึ่งตัวแบบทางการเมืองคือ “ภาพตัวแทนความจริงทางการเมืองที่ผู้ศึกษา “สร้างขึ้น หรือนำไปใช้” เพื่อหาความสัมพันธ์ของสิ่งที่ศึกษา” [5]

ยุคหลังพฤติกรรมศาสตร์ แก้

ในช่วงที่สำนักพฤติกรรมศาสตร์ครอบงำวงวิชาการและองค์ความรู้ด้านรัฐศาสตร์อเมริกันอยู่นั้น นักรัฐศาสตร์เชื่อมั่นในวิธีหาความรู้ที่พันผูกอยู่กับวิธีวิทยาแบบวิทยาศาสตร์, การทำสถิติ และการสร้างตัวแบบทางการเมือง และเชื่อว่าองค์ความรู้ที่ได้ดังกล่าวนั้นสามารถอธิบายปรากฏการณ์ทางสังคม และทางการเมืองได้อย่างแท้จริง เพราะเป็นการศึกษาที่นักรัฐศาสตร์เชื่อว่าเป็นกลางและปลอดอคติ ทว่ากลับกลายเป็นวงการรัฐศาสตร์อเมริกันในเวลานั้นลุ่มหลงอยู่กับการใช้ตัวเลข และสถิติขั้นสูงแต่กลับไม่ได้สร้างความเข้าใจสภาพสังคมการเมืองที่เป็นจริง ทำให้ใน ค.ศ. 1969 เดวิด อีสตันได้กล่าวในฐานะขององค์ปาฐกของการประชุมว่า วงการรัฐศาสตร์อเมริกันกำลังมาถึงจุดเปลี่ยน ซึ่งจุดเปลี่ยนดังกล่าวอีสตันเรียกว่า “การปฏิวัติหลังพฤติกรรมศาสตร์ (the revolution of post-behavioralism)” และ ปี 1971 อีสตันได้นำเสนอสาระสำคัญของวิชารัฐศาสตร์ช่วงหลังทศวรรษ 1970 หรือยุคหลังพฤติกรรมศาสตร์ โดยอีสตันเรียกว่า สาระสำคัญของรัฐศาสตร์หลังพฤติกรรมศาสตร์ หรือ “บัญญัติแห่งประเด็นสัมพันธ์ (Credo of Relevance)” ที่มีทั้งหมด 7[7] ข้อ ได้แก่

  • เนื้อหาสาระ (substance) ของรัฐศาสตร์จะต้องอยู่เหนือกว่าหรือสำคัญกว่า เทคนิคในการวิจัย
  • รัฐศาสตร์ต้องให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงในสังคมไม่ใช่การรักษาสถานภาพเดิมของผู้มีอำนาจในสังคมไว้
  • นักรัฐศาสตร์ต้องทำให้สังคมได้รับทราบคำตอบและทางเลือกที่ดีกว่าในการแก้ปัญหาสังคม ไม่ใช่การแสดงให้เห็นด้วย ตัวเลขที่ไม่มีความหมายใดๆ
  • นักรัฐศาสตร์ต้องมีค่านิยมในการแสวงหาสังคมการเมืองที่ดี ที่เหมาะควร
  • นักรัฐศาสตร์ต้อง ปกป้อง ค่านิยมด้าน ความมีอารยธรรมของมนุษย์ มนุษย์ต่างจากสัตว์อื่นๆ ตรงที่ สามารถแยกแยะว่า อะไรดี, อะไรชั่ว, อะไรถูก, อะไรผิด
  • นักรัฐศาสตร์ที่เข้าใจปัญหาสังคม จะหนีปัญหาสังคมไปไม่ได้
  • นักรัฐศาสตร์จึงต้องเน้นเรื่องของการมีส่วนร่วมในทางเมือง หรือ การเมืองที่ปฏิบัติจริง (political praxis) ให้มากขึ้น

การศึกษาทฤษฎีทางการเมืองในยุคหลังพฤติกรรมศาสตร์ จึงเริ่มหันไปเน้นไปที่การศึกษา “มโนทัศน์ (concept)” ที่เกี่ยวข้องกับการเมืองของนักปรัชญาคนต่างๆ และในขณะเดียวกันการที่มนุษย์รับรู้สรรพสิ่งต่างๆในโลกผ่านการคิด, การเขียน และการพูดในเชิงสัญลักษณ์ที่เรียกกันว่าภาษา พูดในอีกทางหนึ่งการศึกษาทฤษฎีการเมืองจึงเป็นเรื่องของการศึกษาตัวภาษา และสิ่งที่เกี่ยวข้องกับภาษาที่นักปรัชญาการเมืองใช้ในการอธิบายสรรพสิ่ง การนำภาษามาใช้ในทางการเมือง จะเกี่ยวพันอยู่กับปัจจัยทางการเมือง 3 สิ่งนั่นคือ อุดมการณ์, มโนทัศน์ และค่านิยม ซึ่ง ค่านิยมทางการเมืองเป็นสิ่งที่นักปรัชญาการเมืองประเมินคุณค่าของปัจจัยทางการเมือง ค่านิยมเป็นฐานทางศีลธรรม หรือความคิด ทางการเมืองของนักปรัชญาที่แสดงให้รู้ได้ว่านักปรัชญาการเมืองเห็นว่าสิ่งใดควร (should), สิ่งใดสมควร (ought) และสิ่งใดจำเป็น (might) ที่จะต้องเกิด ส่วนอุดมการณ์นั้นคือรูปแบบของความคิดทางการเมือง โดยอุดมการณ์คือผลของการเชื่อมโยงเอาทฤษฎีกับการกระทำเข้าไว้ด้วยกัน และที่สำคัญคืออุดมการณ์หนึ่งๆ มักจะทำให้เกิดความขัดแย้งกับอุดมการณ์อื่นๆ และมักถูกใช้เป็นอาวุธในทางการเมืองเสมอ[8]

ปัจจุบันวิชาทฤษฎีการเมืองได้รับอิทธิพลอย่างสูงจากลัทธิหลังสมัยใหม่

มโนทํศน์ทางการเมือง แก้

มโนทัศน์ในทางการเมือง (political concepts) นั้นคือความคิดทางการเมืองที่มีความเป็นนามธรรมสูง อาทิ ความยุติธรรม (justice), สิทธิอำนาจ (authority), สิทธิ์ (right), ความเท่าเทียม (equality) และ เสรีภาพ (freedom) เป็นต้น ซึ่งโดยทั่วไปแล้วการถกเถียงในมโนทัศน์ทางการเมืองนั้นมักเกิดจากรากฐานในทางประวัติศาสตร์ ซึ่งรวมไปถึงปรัชญา, ศาสนา, อุดมการณ์, ทฤษฎี ฯลฯ ของผู้ที่ใคร่ครวญถึงมโนทัศน์ในทางการเมืองนั้นด้วย มโนทัศน์เป็นสิ่งที่สำคัญอันดับต้นๆในการศึกษาการเมือง อาจกล่าวได้ด้วยว่ารากฐานของการศึกษาการเมืองนั้นก็คือการศึกษาอำนาจต่างๆที่พยายามเข้ามาสร้างนิยามให้กับมโนทัศน์ต่างๆ ลักษณะพิเศษของมโนทัศน์ทางการเมืองมี 2 แบบคือ[9] เป็นปทัศฐาน (normative) คือเป็นมโนทัศน์ที่นักรัฐศาสตร์ใช้สร้างความเข้าในเรื่องต่างๆ ให้แตกต่างจากเรื่องอื่น เช่นสร้างความเข้าใจว่า “รัฐประหาร” แตกต่างจาก “การปฏิวัติ” อย่างไร เป็นต้น และเป็นการพรรณนา (descriptive) คือเป็นมโนทัศน์ที่นักรัฐศาสตร์ใช้อธิบายความคิดในเรื่องนั้นๆ เช่น ในทัศนะของนักรัฐศาสตร์ที่ศึกษาเรื่องการรัฐประหารนั้น การศึกษาดังกล่าวทำให้นักรัฐศาสตร์คนนั้นเข้าใจการรัฐประหารอย่างไร

มโนทัศน์ทางการเมืองจึงไม่มีความเป็นกลางทว่าได้ถูกแฝงได้ด้วยค่านิยมและอุดมการณ์ไว้แล้ว ดังนั้นนอกจากมโนทัศน์ทางการเมืองจะใช้อธิบายโลกที่นักรัฐศาสตร์เห็น แต่มโนทัศน์ทางการเมืองยังทำให้นักรัฐศาสตร์ไม่สามารถคิดออกจากกรอบของค่านิยม และอุดมการณ์ที่มีผลต่อมโนทัศน์ทางการเมืองด้วยในเวลาเดียวกัน เมื่อเป็นเช่นนี้นักรัฐศาสตร์จึงต้องระลึกเสมอว่ามโนทัศน์ในทางการเมืองนั้นมีลักษณะสัมพัทธ์ (relatively) การที่นักรัฐศาสตร์จะศึกษาปรากฏการณ์ทางสังคม และการเมืองใดๆ ด้วยมโนทัศน์ใดๆ นักรัฐศาสตร์ก็ต้องระลึกถึงข้อจำกัด และความเป็นการเมืองของมโนทัศน์ทางการเมืองต่างๆไว้ด้วย[10] มโนทัศน์ทางการเมืองจึงมีลักษณะที่สำคัญที่สุดคือเป็น "มโนทัศน์ที่ต้องถกเถียง" (contested concept) ไม่มีความตายตัว มีลักษณะสัมพัทธ (relative) ซึ่งการนำข้อเสนอในการถกเถียงนั้นก็ขึ้นอยู่กับพื้นฐานทางทฤษฎีของนักีฐศาสตร์แต่ละตระกูล ว่ามีมุมมองความเชื่อ, อุดมการณ์ และค่านิยมอย่างไร[5]

ความเข้าใจที่สับสนระหว่างปรัชญาการเมือง และทฤษฎีการเมือง แก้

ดู ความเข้าใจที่สับสนระหว่างปรัชญาการเมือง และทฤษฎีการเมือง

อ้างอิง แก้

  1. พิสิษฐิกุล แก้วงาม. ทฤษฎีการเมืองกับการศึกษารัฐศาสตร์. มหาสารคาม : หลักสูตรสาขาวิชารัฐศาสตร์ วิทยาลัยกฎหมายและการปกครอง มหาวิทยาลัยราชภัฎมหาสารคาม, 2552.
  2. http://www.apsanet.org/
  3. Andrew Heywood. Political Theory. (3rd edition). New York : Palgrave Macmillan, 2004, p. 14-15.
  4. David Easton, “Introduction: The Current Meaning of ‘Behavioralism’ in Political Science,” in James S. Charlesworth (ed.). The Limits of Behavioralism in Political Science. Philadelphia : The American Academy of Political and Social Science, 1962, pp. 7 – 8.
  5. 5.0 5.1 5.2 พิสิษฐิกุล แก้วงาม. ทฤษฎีการเมืองกับการศึกษารัฐศาสตร์. มหาสารคาม : หลักสูตรสาขาวิชารัฐศาสตร์ วิทยาลัยกฎหมายและการปกครอง มหาวิทยาลัยราชภัฎมหาสารคาม, 2552.
  6. Stephen D. Tansey. Politics : the basic. (3rd Edition) London : Routledge, 2004, p.17.
  7. David Easton. The Political System : An Inquiry into the State of Political Science (2nd edition) (New York: Alfred A. Knopf, 1971), pp. 325 – 327 อ้างใน เชิญ ชวิณณ์ ศรีสุวรรณ, “แนวพินิจทางรัฐศาสตร์ : ภาวะวิทยา ญาณวิทยา และ วิธีวิทยา,” (๒๕๕๑), น. 23. Cited by http://www.buriram.ru.ac.th/00phpweb/down_load/fill/0907111104235YRYX.doc[ลิงก์เสีย]
  8. Andrew Heywood. Political Ideologies. (2nd edition) (New York : Macmillan, 1998), pp. 4 – 6.
  9. Stephen D. Tansey. Politics : the basic.(3rd Edition) (London : Routledge, 2004), p.47.
  10. Michael Freedman, “What Makes a Political Concept Political?” (paper prepared for delivery at the 2005 Annual Meeting of the American Political Science Association, September 1-4, 2005) : p. 24

ดูเพิ่ม แก้