เรื่องอื้อฉาวการลงทุนแมดอฟฟ์

เรื่องอื้อฉาวการลงทุนแมดอฟฟ์ (อังกฤษ: Madoff investment Scandal) เกิดเป็นคดีกลฉ้อฉลหุ้นและหลักทรัพย์ใหญ่ที่ค้นพบเมื่อปลายปี 2551 ในเดือนธันวาคมปีนั้น เบอร์นาร์ด แมดอฟฟ์ อดีตประธานแนสแด็กและผู้ก่อตั้งบริษัทวอลล์สตรีต บริษัท หลักทรัพย์ลงทุนเบอร์นาร์ด แอล. แมดอฟฟ์ จำกัด (Bernard L. Madoff Investment Securities LLC) โดยยอมรับว่าฝ่ายจัดการความมั่งคั่งของธุรกิจเขาเป็นการฉ้อฉลแบบพอนซีซับซ้อน

เบอร์นาร์ด แอล. แมดอฟฟ์
Bernard L. Madoff
รูปถ่ายของแมดอฟฟ์เมื่อถูกจับ
เกิด29 เมษายน ค.ศ. 1938(1938-04-29)
นครนิวยอร์ก รัฐนิวยอร์ก สหรัฐ
เสียชีวิต14 เมษายน ค.ศ. 2021(2021-04-14) (82 ปี)
บัตเนอร์ รัฐนอร์ทแคโรไลนา สหรัฐ
สัญชาติชาวอเมริกัน
อาชีพนายหน้าหลักทรัพย์, ที่ปรึกษาการเงินที่บริษัท Bernard L. Madoff Investment Securities (เกษียณ), อดีตประธานแนสแด็ก
มีชื่อเสียงจากการฉ้อฉลแบบพอนซี
สถานะทางคดีเสียชีวิตแล้ว (อดีตเป็นนักโทษ #61727-054 ที่เรือนจำ Federal Correctional Complex เมืองบัตเนอร์ รัฐนอร์ทแคโรไลนา (ความมั่นคงปานกลาง))
คู่สมรสรูธ แอลเพอร์น แมดอฟฟ์
บุตร3
พิพากษาลงโทษฐาน12 มีนาคม 2552 (ให้การรับสารภาพ)
ข้อหากลฉ้อฉลหลักทรัพย์ กลฉ้อฉลทรัสต์ที่ปรึกษาการลงทุน การฉ้อโกงโดยทางไปรษณีย์ การฉ้อฉลโดยทางสาย การฟอกเงิน ข้อความเท็จ การเบิกความเท็จ การยื่นเอกสารปลอมให้กับคณะกรรมการหลักทรัพย์และการแลกเปลี่ยน (SEC) ลักทรัพย์จากโครงการผลประโยชน์ของลูกจ้าง
บทลงโทษจำคุก 150 ปีในเรือนจำกลาง
ชดใช้คืน 170,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

แมดอฟฟ์ก่อตั้งบริษัท หลักทรัพย์ลงทุนเบอร์นาร์ด แอล. แมดอฟฟ์ จำกัดในปี 2503 และเป็นประธานบริษัทดังกล่าวจนถูกจับ[1][2] บริษัทนี้จ้างปีเตอร์ น้องชายของแมดอฟฟ์เป็นผู้อำนวยการจัดการอาวุโสและหัวหน้าฝ่ายกำกับการปฏิบัติงาน (chief compliance officer) จ้างธิดาของปีเตอร์ ชานา แมดอฟฟ์ เป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายกำกับการปฏิบัติงานและผู้รับมอบอำนาจ และบุตรของแมดอฟฟ์ แอนดริวและมาร์ก นับแต่นั้นปีเตอร์ถูกพิพากษาลงโทษจำคุก 10 ปี และมาร์กแขวนคอฆ่าตัวตายสองปีพอดีหลังจากบิดาถูกจับ

เจ้าหน้าที่ที่ดำเนินคดีประเมินขนาดการฉ้อฉลที่ 64,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยใช้ตัวเลขที่อยู่ในบัญชีของลูกค้า 4,800 ราย ส่วนอดีตประธานองค์กรตรวจสอบและควบคุมของรัฐบาลกลางผู้หนึ่งประเมินว่า การฉ้อฉลจริง ๆ อยู่ที่ระหว่าง 10,000-17,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไม่รวมเอารายได้ที่ไม่มีจริง ๆ ที่บันทึกใส่บัญชีของลูกค้า[3] ซึ่งทำให้ธุรกิจของแมดอฟฟ์เป็นการฉ้อฉลแบบพอนซี่ที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์[4] และเป็นการฉ้อฉลต่อนักลงทุนที่ใหญ่ที่สุดทำโดยบุคคลคนเดียวอีกด้วย

เจ้าหน้าที่รัฐบาลกลางจับกุมแมดอฟฟ์เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2551 โดยได้รับแจ้งจากบุตรของเขาเอง ในวันที่ 12 มีนาคม 2552 แมดอฟฟ์ให้การรับสารภาพว่ากระทำความผิดอาญากลาง 11 กระทง และยอมรับว่าได้ดำเนินการกลฉ้อฉลแบบพอนซีเอกชนใหญ่สุดในประวัติศาสตร์[4][5] วันที่ 29 มิถุนายน 2552 เขาถูกพิพากษาลงโทษจำคุก 150 ปี โดยให้ชดใช้คืนเงิน 170,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามข้อกล่าวหากลางเดิม แมดอฟฟ์กล่าวว่าธุรกิจของเขามี "หนี้สินประมาณ 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ" อัยการประมาณขนาดของกลฉ้อฉลไว้ 64,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐโดยอาศัยปริมาณในบัญชีของลูกค้า 4,800 คนของแมดอฟฟ์เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2551 หากไม่นับต้นทุนค่าเสียโอกาสและภาษีที่จ่ายให้กำไรอำพรางนี้ ผู้ลงทุนโดยตรงครึ่งหนึ่งของแมดอฟฟ์ไม่เสียเงิน[6]

พนักงานสอบสวนหาตัวผู้อื่นที่มีส่วนรู้เห็นในกลฉ้อฉลนี้[7] คณะกรรมการหลักทรัพย์และการแลกเปลี่ยนสหรัฐ (SEC) ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่ตรวจสอบแมดอฟฟ์ให้ละเอียดกว่า เพราะมีคำถามเกี่ยวกับธุรกิจของแมดอฟฟ์มาตั้งแต่ปี 2542 แล้ว ธุรกิจของแมดอฟฟ์ซึ่งอยู่ในกระบวนการชำระบัญชี เป็นผู้ดูแลสภาพคล่องรายใหญ่สุดรายหนึ่งในวอลล์สตรีตและในปี 2551 มีขนาดใหญ่สุดเป็นอันดับ 6[8]

การอายัดทรัพย์สินส่วนบุคคลและธุรกิจของแมดอฟฟ์ก่อให้เกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ทั่วทั้งชุมชนธุรกิจและองค์การการกุศล บีบให้หลายองค์การปิดชั่วคราว[9][10][11]

พื้นเพ แก้

แมดอฟฟ์จัดตั้งบริษัทในปี 2503 เป็นบริษัทขายหุ้นราคาถูก (penny stock) มีเงินทุนจัดตั้ง 5,000 ดอลลาร์สหรัฐ ที่ได้มาจากการทำงานเป็นเจ้าหน้าที่คอยช่วยชีวิตคนตกน้ำ และคนติดตั้งระบบหัวกระจายน้ำ[12][13] บริษัทของเขาเริ่มเติบโตด้วยความช่วยเหลือจากพ่อตาของเขา นักบัญชีซาอูล อัลเพิร์น ซึ่งแนะนำเพื่อนและญาติให้ทำธุรกิจกับแมดอฟฟ์[14] แต่เดิมบริษัทดูแลสภาพคล่องโดยการให้บริการแจ้งราคาซื้อและขายระหว่างผู้ซื้อและขายหุ้นผ่าน OTC Pink Sheets ต่อมา เพื่อแข่งขันกับบริษัทที่เป็นสมาชิกของตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์กในชั้นของตลาดหุ้น บริษัทเขาจึงเริ่มใช้เทคโนโลยีสารสนเทศคอมพิวเตอร์ที่ก้าวหน้าในการแจ้งราคา[15] หลังทดลองแล้ว เทคโนโลยีที่บริษัทช่วยพัฒนาได้กลายเป็นแนสแด็ก[16] ณ จุดหนึ่ง Madoff Securities เป็น "ผู้ดูแลสภาพคล่อง" ซื้อและขายใหญ่สุดที่แนสแด็ก

เขาได้มีส่วนในสมาคมผู้ค้าหลักทรัพย์แห่งชาติ (National Association of Securities Dealers) ซึ่งเป็นองค์การอุตสาหกรรมหลักทรัพย์กำกับตนเอง โดยเป็นประธานคณะกรรมการ และร่วมเป็นคณะกรรมการผู้ว่าการ[17] ในปี 2535 หนังสือพิมพ์ เดอะวอลล์สตรีตเจอร์นัล บรรยายเขาว่า

เป็นเจ้าพ่อคนหนึ่งของ "ตลาดที่สาม" นอกตลาดหลักทรัพย์ และหายนะของตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก เขาสร้างบริษัทหลักทรัพย์กำไรสูง Bernard L. Madoff Investment Securities ซึ่งสูบการค้าหุ้นปริมาณมากจากตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก การค้าปริมาณเฉลี่ย 740 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อวันดำเนินการแบบอิเล็กทรอนิกส์โดยบริษัทแมดอฟฟ์นอกตลาดหลักทรัพย์เทียบเท่ากับ 9% ของ[ปริมาณการค้าเฉลีย่ต่อวันของ]ตลาดนิวยอร์ก ธุรกิจของนายแมดอฟฟ์สามารถดำเนินการค้าอย่างรวดเร็วและถูกเสียจนมีการจ่ายเงินให้ธุรกิจค่าบำเหน็จนายหน้าอื่นหนึ่งเพนนีต่อหุ้นให้กระทำตามคำสั่งของลูกค้า โดยได้กำไรจากผลต่างระหว่างราคาประมูลและราคาเสนอขายซึ่งหุ้นส่วนใหญ่ค้า[18]

ญาติของเขาหลายคนทำงานให้แก่เขา น้องชายคือปีเตอร์ มีตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการอาวุโสและกรรมการผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติตามกฎหมาย (Chief Compliance Officer)[15] และหลานสาวของเขาซึ่งเป็นลูกสาวของปีเตอร์คือ ชานา แมดอฟฟ์ เป็นทนายฝ่ายปฏิบัติตามกฎหมาย และลูกชายทั้งสองของแมดอฟฟ์เอง คือ มาร์กและแอนดรู ทำงานฝ่ายซื้อขายหลักทรัพย์[15] โดยทำงานร่วมกับชาลส์ ไวเนอร์ ผู้เป็นหลานชายของแมดอฟฟ์[19] นายแอนดรูลงทุนทรัพย์สินของตัวเองในกองทุนของบิดา ส่วนนายมาร์กยุติการลงทุนตั้งแต่ปี 2544[20]

ผู้สืบสวนคดีเชื่อว่าการฉ้อฉลในแผนกบริหารการลงทุนและแผนกให้คำแนะนำอาจจะเริ่มตั้งแต่ในคริสต์ทศวรรษ 1970[21] แต่ว่า แมดอฟฟ์เองอ้างว่า การฉ้อฉลเริ่มในคริสต์ทศวรรษ 1990[22]

 
ตึกลิปสติกที่ทำการของบริษัทแมดอฟฟ์

ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1980 แผนกซื้อขายของบริษัททำการค้าขายเป็นจำนวนถึง 5% ของตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก[15] และแมดอฟฟ์เป็นผู้ใช้เทคนิคจ่ายนายหน้าให้ดำเนินการซื้อขายตามคำสั่งลูกค้าผ่านบริษัทของเขาเป็นรายใหญ่รายแรก[23][24] ซึ่งให้ชื่อเสียงแก่แมดอฟฟ์ว่าเป็นผู้ซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์กที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา คือ ซื้อขายในอัตราถึง 15% ของตลาดหลักทรัพย์โดยจำนวนหุ้น[25] แม้ว่านักวิชาการจะตั้งข้อสงสัยทางจริยธรรมของการให้ค่านายหน้าเช่นนี้[26][27] แต่ว่าแมดอฟฟ์อ้างว่า การให้ผลตอบแทนเช่นนี้ไม่ได้เปลี่ยนราคาซื้อขายของลูกค้า[28] เขามองการจ่ายผลตอบแทนว่าเป็นเรื่องปกติทางธุรกิจ คือ "ถ้าแฟนหญิงของคุณไปซื้อถุงน่องที่ซูเปอร์มาร์เก็ต ชั้นที่แสดงถุงน่องเป็นชั้นที่เช่าโดยบริษัทผลิตถุงน่อง (คือบริษัทถุงน่องต้องจ่ายค่าตอบแทนให้กับซูเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งเป็น "นายหน้า" ขายถุงน่อง) การจ่ายเงินให้นายหน้าเป็นประเด็นที่มักจะดึงดูดความสนใจ แต่เป็นเรื่องที่ให้ความสำคัญสูงเกินไป"[28]

ในปี 2543 บริษัท Madoff Securities เป็นผู้ค้าขายหลักทรัพย์ในระดับท็อปของสหรัฐ โดยมีทรัพย์สินประมาณ 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 12,055 ล้านบาท)[15] ซึ่งมีสำนักงานที่ใช้บริเวณสามชั้นของตึกลิปสติก โดยแผนกกองทุนบริหารความเสี่ยง ที่เรียกว่า "the hedge fund" มีพนักงานประมาณ 24 คน[29]

นอกจากนั้นแล้ว แมดอฟฟ์ยังมีสาขาอยู่ในนครลอนดอน แต่เป็นบริษัทต่างหากจากบริษัท Madoff Securities ซึ่งมีพนักงาน 28 คน ที่บริหารการลงทุนของครอบครัวของเขาเองโดยมีมูลค่าที่ประมาณ 80 ล้านปอนด์สเตอร์ลิง[30] มีกล้องติดตั้งในสำนักงานลอนดอนที่ทำให้แมดอฟฟ์สามารถตรวจดูเหตุการณ์ได้จากนครนิวยอร์ก[31]

วิธีการปฏิบัติ แก้

ในปี 2535 แมดอฟฟ์ได้อธิบาย "กลยุทธ์" ของเขาต่อหนังสือพิมพ์ The Wall Street Journal เขากล่าวว่าผลกำไรของเขาไม่ได้แปลกอะไร เพราะว่า ดัชนีหุ้น Standard & Poors 500 ให้ผลกำไรเฉลี่ยต่อปีที่ 16.3% ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2525 จนถึง เดือนพฤศจิกายน 2535 และว่า "ผมจะแปลกใจมากถ้ามีใครคิดว่าการทำรายได้เท่ากับ S&P เป็นเวลา 10 ปีเป็นอะไรที่เด่น" แต่จริง ๆ ผู้บริหารหลักทรัพย์โดยมากทำรายได้น้อยกว่าดัชนี S&P 500 ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1980 หนังสือพิมพ์สรุปความว่า แมดอฟฟ์ได้ใช้สัญญาซื้อขายในอนาคต (futures และ options) เพื่อช่วยบรรเทาความเสี่ยงต่อการขึ้นลงของตลาด ส่วนตัวเขาเองกล่าวว่า ค่าใช้จ่ายในการซื้อขายสัญญา ซึ่งควรจะทำให้เขาได้รายได้น้อยกว่าดัชนี มาจากผลตอบแทนที่ได้จากการเลือกซื้อขายหุ้นในเวลาที่ดี[18]

กลยุทธ์ "กุ" แก้

วิธีการขายของแมดอฟฟ์ก็คือการอ้างกลยุทธ์ลงทุนที่อาศัยการซื้อหุ้นบลูชิป และซื้อสัญญาการค้าขายอนาคต ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่เรียกว่า split-strike conversion หรือว่า collar ดังที่เข้าให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร ฟอบส์ ในปี 2552[32] นอกจากนั้นแล้ว ในปี 2546 เขายังได้ให้สัมภาษณ์กับ เดอะวอลล์สตรีทเจอร์นัล ว่า ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1970 เขาได้กำไรจากการซื้อและขายในต่างตลาดเวลาเดียวซึ่งหุ้นของบริษัทยักษ์ใหญ่ (large-cap) โดยหวังผลกำไรได้ในระหว่าง 18%-20%[32] และเริ่มตั้งแต่ปี 2535 เขาเริ่มใช้สัญญาเพื่อซื้อขายในอนาคตตามดัชนีหุ้น และได้ซื้อสัญญาเพื่อจะขายหุ้นในราคาที่แน่นอน (put option) ในช่วงเหตุการณ์ตลาดหลักทรัพย์วอลล์สตรีทตกในปี 2540[32] แต่ว่า นักวิเคราะห์จำนวนหนึ่งที่ตรวจสอบวิธีการของแมดอฟฟ์ไม่สามารถจะเลียนแบบได้ผลตามที่แมดอฟฟ์ได้โดยใช้ข้อมูลย้อนหลังของราคาหุ้นและราคาสัญญาซื้อขายในอนาคตของดัชนีหุ้น[33][34] ดังนั้น จึงปรากฏบทความในหนังสือพิมพ์ Barron's ต่อมาว่า ผลกำไรของแมดอฟฟ์อาจจะทำโดยอาศัยการซื้อขายหุ้นของกองทุนก่อนการดำเนินการซื้อขายหุ้นตามคำสั่งของลูกค้ารายอื่น ๆ (front running)[35]

ศาสตราจารย์วารสารศาสตร์ของมหาวิทยาลัยบอสตันและผู้เขียนหนังสือ กลยุทธ์ของพอนซี่ - เรื่องจริงของตำนานการเงิน (Ponzi's Scheme: The True Story of a Financial Legend) ได้กล่าวไว้ว่า กฎหมายที่บังคับให้องค์กรการกุศลใช้จ่ายเงินทุนอย่างน้อย 5% ทุกปี ทำให้กลยุทธ์พอนซี่ของแมดอฟฟ์ไม่ปรากฏเป็นระยะเวลายาวนานเพราะว่าเขาบริหารเงินโดยมากให้กับองค์กรการกุศล โดยให้ข้อสังเกตว่า "สำหรับเงินการลงทุนจากมูลนิธิทุก ๆ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยการปฏิบัติแล้ว แมดอฟฟ์จำต้องจ่ายเงินออกเพียงแค่ 50 ล้านดอลลาร์ต่อปี" ถ้าเขาไม่ได้ลงทุนอะไรเลย แม้เพียงแค่เงินต้นทุนอย่างเดียว เขาก็จะสามารถอยู่ได้นานถึง 20 ปี โดยตั้งเป้าหมายที่องค์กรการกุศล แมดอฟฟ์สามารถหลีกเลี่ยงความเสี่ยงในการถอนเงินอย่างกะทันหัน (ของลูกค้า) ที่ไม่ทันรู้ล่วงหน้าได้[36]

เมื่อสารภาพความผิด แมดอฟฟ์ยอมรับว่าเขาไม่ได้ค้าขายหุ้นเริ่มตั้งแต่ต้นคริสต์ทศวรรษ 1990 แล้ว และผลกำไรที่เขาแสดงแก่ลูกค้าเป็นเรื่องกุขึ้นทั้งหมด[37] แต่ว่า ผู้สืบสวนหลักท่านหนึ่งที่ทำงานให้เจ้าหน้าที่ที่พยายามเรียกคืนทรัพย์มาคืนผู้เสียการลงทุน เชื่อว่าแผนกการบริหารทรัพย์ของแมดอฟฟ์เป็นการฉ้อฉลเริ่มมาตั้งแต่ต้น[38]

ธุรกิจของแมดอฟฟ์ต่างจากธุรกิจแบบพอนซี่โดยทั่วไป คือ ธุรกิจแบบพอนซี่โดยมากเป็นเรื่องกุขึ้นล้วน ๆ แต่แผนกนายหน้าค้าขายหุ้นของแมดอฟฟ์เป็นธุรกิจที่ดำเนินการจริง ๆ

วิธีการขาย แก้

แทนที่จะให้ผลกำไรสูงสำหรับผู้เข้าลงทุนทุกคน แมดอฟฟ์ให้ผลกำไรพอสมควรแต่สม่ำเสมอต่อลูกค้าที่เลือกสรร โดยอ้างว่า วิธีการลงทุน "ซับซ้อนเกินกว่าที่คนนอกจะเข้าใจได้" เขาเก็บความลับเกี่ยวกับทั้งวิธีการลงทุน และงบการเงินของบริษัท[39] หนังสือพิมพ์ New York Post รายงานว่า แมดอฟฟ์ได้ใช้เครือข่ายคนยิวร่ำรวยที่เขารู้จักได้พบในสโมสรทั้งในเขต Long Island และในเมือง Palm Beach[40] หนังสือพิมพ์ เดอะนิวยอร์กไทมส์ รายงานว่า แมดอฟฟ์คุยจีบผู้บริหารชาวยิวและองค์กรชาวยิวเป็นจำนวนมาก และตามสำนักข่าว Associated Press (AP) "พวกเขาเชื่อใจ (แมดอฟฟ์) เพราะเขาเป็นคนยิว"[37] คนที่โปรโมตการลงทุนของแมดอฟฟ์ที่เด่นที่สุดเป็นคนยิวอีกคนหนึ่ง คือ นาย J. Ezra Merkin ผู้บริหารทุนหลักทรัพย์ที่ชื่อว่า Ascot Partners ที่ได้ลงทุนทรัพย์เป็นจำนวน 1,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 64,401 บาทต้นปี 2559) กับแมดอฟฟ์[41]

แมดอฟฟ์เป็นคนเก่งมากในการวางตลาด[42] โดยที่กองทุนของเขาถือว่าจำกัดเฉพาะแก่ลูกค้าบางพวก ทำให้รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่น่าต้องการจริง ๆ[41][42] เขาโดยทั่วไปมักจะปฏิเสธที่จะพบกับผู้ลงทุนโดยตรง ซึ่งยิ่งเพิ่มความน่าสนใจที่จะลงทุนกับเขา[31] นักลงทุนบางท่านไม่กล้าที่จะถอนเงินออกจากกองทุน เพราะกลัวว่าจะกลับเข้าไปเหมือนเก่าไม่ได้ในภายหลัง[8] อัตราผลกำไรของแมดอฟฟ์สม่ำเสมออย่างไม่น่าเชื่อ[43] ที่ประมาณ 10% ซึ่งเป็นปัจจัยกุญแจสำคัญที่ทำให้การฉ้อฉลดำรงต่อไปได้[44] เพราะธุรกิจพอนซี่โดยมากให้ผลกำไร 20% หรือมากกว่านั้น จึงล้มเร็ว

กองทุนหนึ่งของแมดอฟฟ์ ซึ่งอธิบาย "กลยุทธ์" ว่าเพ่งความสนใจไปที่ ดัชนีหุ้น 100 หุ้น (Standard & Poor) และแสดงว่าให้ผลกำไร 10.5% ต่อปีใน 17 ปีที่ผ่านมา แม้จนกระทั่งว่าในช่วงท้ายเดือนพฤศจิกายน 2551 ที่ตลาดหุ้นกำลังทรุดลงอย่างต่อเนื่อง กองทุนนี้กลับรายงานผลกำไร 5.6% ในขณะที่ดัชนีหุ้น 500 (Standard & Poor) ตกลงถึง 38%[9] ผู้ลงทุนที่ไม่ต้องการออกตัวท่านหนึ่งให้ข้อสังเกตว่า "ผลกำไรที่ได้มหัศจรรย์จริง ๆ และเราได้ไว้ใจนายคนนี้มาเป็นทศวรรษ ๆ และถ้าคุณต้องการเอาเงินออก คุณก็จะได้เงินของคุณภายในไม่กี่วัน นี่เป็นเหตุที่พวกเรา (ตอนนี้) รู้สึกมึนมาก"[45][โปรดขยายความ][46] ส่วนธนาคารสวิตเซอร์แลนด์ คือ Union Bancaire Privée อธิบายว่า เพราะว่าแผนกนายหน้าซื้อขายของแมดอฟฟ์ซื้อขายหุ้นเป็นจำนวนมาก ธนาคารเชื่อว่าเขาได้เปรียบเพราะการซื้อขายของเขาสามารถเก็งเวลาได้ดี ซึ่งแสดงว่า ธนาคารเชื่อว่า แมดอฟฟ์ซื้อขายหุ้นทุนตนเองก่อนดำเนินการซื้อขายหุ้นตามคำสั่งของลูกค้า (ซึ่งเป็นเรื่องที่พิจารณาว่าไม่ถูกจริยธรรม และสถาบันการเงินหลายบริษัทในสหรัฐอเมริกาถูกจับได้ในปี 2546)[47]

การเข้าถึงนักการเมืองในวอชิงตัน ดี.ซี. แก้

ตระกูลของแมดอฟฟ์สามารถเข้าถึงนักการเมืองและเจ้าหน้าที่ควบคุมของรัฐบาลกลางในวอชิงตัน ดี.ซี. ได้อย่างพิเศษผ่านกลุ่มองค์กรธุรกิจชั้นนำ และมีความสัมพันธ์ที่ยาวนานกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสมาคมอุตสาหกรรมหลักทรัพย์และตลาดการเงิน (Securities Industry and Financial Markets Association ตัวย่อ SIFMA) ซึ่งเป็นองค์กรอุตสาหกรรมหลักทรัพย์หลัก คือ นายเบอร์นาร์ด แมดอฟฟ์ ได้เป็นกรรมการของสมาคมอุตสาหกรรมหลักทรัพย์ (Securities Industry Association) ซึ่งต่อมารวมเข้ากับสมาคมตลาดพันธบัตร (Bond Market Association) ในปี 2549 กลายเป็น SIFMA ต่อจากนั้นปีเตอร์น้องชายก็ได้เป็นกรรมการของ SIFMA อีกสองวาระ[48][49] ต่อมาเมื่อการฉ้อฉลถูกเปิดเผย ปีเตอร์จึงได้ลาออกเมื่อเดือนธันวาคม 2551 ภายใต้การวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องความสัมพันธ์ของแมดอฟฟ์กับนักการเมือง และว่า ความสัมพันธ์เช่นนั้นอาจจะอำนวยให้เกิดการฉ้อฉลนี้ขึ้น[50] ในระหว่างปี 2543-2551 พี่น้องแมดอฟฟ์ได้บริจาคเงินกว่า 56,000 ดอลลาร์สหรัฐให้กับ SIFMA (ประมาณ 1,933,000 บาท)[50] และอีกเป็นหมื่น ๆ ดอลลาร์เพื่อสนับสนุนงานประชุมอุตสาหกรรมของ SIFMA[51]

นอกจากนั้นแล้ว หลานสาวของนายแมดอฟฟ์คือชานา[52] ยังมีบทบาทในคณะกรรรมการบริหารของ SIFMA ในแผนกปฏิบัติตามกฎหมาย (Compliance & Legal Division) แต่หลังจากลุงของเธอถูกจับ ก็ได้ลาออก[53] เธอได้แต่งงานกับผู้ช่วยผู้อำนวยการแผนกการตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎหมายของคณะกรรมาธิการหลักทรัพย์และการแลกเปลี่ยน (SEC) อีริค สวอนสัน[54] ซึ่งเธอได้พบในปี 2546 เมื่อเขากำลังตรวจสอบบริษัทลุงของเธอ การตรวจสอบได้สิ้นสุดลงในปี 2548 และในปีต่อมา นายสวอนสันก็ได้ลาออกจาก SEC แล้วหมั้นกับชานา ต่อมาปี 2550 ทั้งสองก็ได้แต่งงานกัน[55][56][57] ส่วนโฆษกของนายสวอนสันกล่าวว่า "เขาไม่ได้มีส่วนร่วมในการตรวจสอบบริษัท Bernard Madoff Securities หรือบริษัทในเครือในขณะที่มีความสัมพันธ์" กับชานา[58]

การสืบสวนในครั้งก่อน ๆ แก้

SEC และองค์กรของรัฐอื่น ๆ ได้สืบสวนบริษัท Madoff Securities LLC อย่างน้อย 8 ครั้งในช่วงระยะเวลา 16 ปี[59]

บริษัท Avellino and Bienes แก้

ในปี 2535 SEC ตรวจสอบบริษัทที่ส่งทุนต่อให้บริษัทของแมดอฟฟ์ คือ Avellino and Bienes ที่ผู้บริหารหลักเคยทำงานเป็นนักบัญชีกับบริษัทพ่อตาของแมดอฟฟ์ และต่อมาจึงได้กลายเป็นหุ้นส่วนร่วมของบริษัทพ่อตา และเริ่มตั้งแต่ปี 2505 บริษัทจึงเริ่มแถลงการณ์กับลูกค้าว่าบริษัทได้ลงทุนทรัพย์ทั้งหมดของลูกค้ากับคนลึกลับที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงแม้จะเป็นผู้มักให้เกิดความขัดแย้งในวอลล์สตรีท แต่จนกระทั่งถึงเหตุการณ์นี้ ยังไม่ได้เป็นที่รู้จักในฐานะผู้บริหารหลักทรัพย์มือหนึ่ง ซึ่งก็คือแมดอฟฟ์[18] และเมื่อพ่อตาของแมดอฟฟ์เกษียณในปี 2517 บริษัทก็ยังลงทุนทรัพย์ทั้งหมดต่อไปกับแมดอฟฟ์แต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น[32][60]

ต่อมาบริษัทจึงถูกโจทว่า ขายหลักทรัพย์ที่ไม่ได้ลงทะเบียน ส่วนรายงานของ SEC ได้กล่าวถึงผลกำไรที่ได้ "อย่างสม่ำเสมอที่แปลกประหลาด" ที่ให้กับผู้ลงทุนในอัตรา 13.5%-20% ต่อปี แต่ว่า SEC ไม่ได้ตรวจสอบอะไรเพิ่มขึ้นมากกว่านั้น และไม่ได้เปิดเผยว่าผู้บริหารเงินทุนคือแมดอฟฟ์[18][32] บริษัทได้จ้างทนายที่เคยเป็นทนายของแมดอฟฟ์ และเคยเป็นหัวหน้าสำนักงานนิวยอร์กของ SEC ผู้ต่อรองตกลงให้บริษัทคืนเงินทั้งหมดให้กับนักลงทุน ปิดบริษัท เปิดให้ตรวจบัญชี และจ่ายค่าปรับ 350,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 8,894,000 บาท) แต่ว่า แมดอฟฟ์อ้างว่า เขาไม่รู้ว่าบริษัทกำลังดำเนินงานอย่างผิดกฎหมาย และผลกำไรที่ได้ในกองทุนของเขาก็เป็นไปตามผลกำไรที่ได้ตามดัชนี S&P 500[32] การสืบสวนของ SEC เกิดขึ้นในตอนกลางสมัยที่สอง (จากสามสมัย) ที่แมดอฟฟ์เป็นประธานบริหารตลาดหลักทรัพย์ NASDAQ[60]

ในการสืบสวน เงินลงทุนได้ขยายเพิ่มมากขึ้นโดยอาศัยการบอกต่อของลูกค้า โดยมีผู้ลงทุนถึง 3,200 คนเป็นบัญชี 9 บัญชีกับแมดอฟฟ์ และเจ้าหน้าที่ควบคุมก็กลัวว่าทั้งหมดนี้อาจจะเป็นเรื่องหลอกลวง โดยมีหัวหน้าเขตนิวยอรก์ของ SEC ได้กล่าวไว้ว่า "เราเริ่มดำเนินงานในเรื่องนี้คิดว่านี่อาจจะเป็นเรื่องฉิบหายใหญ่ เพราะว่าบริษัทรับเงินกว่า 500 ล้านเหรียญสหรัฐจากนักลงทุน ซึ่งอยู่นอกเหนือระบบที่เราสามารถตรวจสอบและควบคุมได้ นี่เป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก"[18]

บริษัทได้ฝากเงิน 454 ล้านเหรียญของนักลงทุนกับแมดอฟฟ์ และแม้แต่เจ้าของบริษัทคนหนึ่งก็ยังคงฝากเงินของตนไว้กับแมดอฟฟ์จนถึงปี 2550 ในการสัมภาษณ์ปี 2552 เจ้าของคนนี้กล่าวว่า "สงสัยเบอร์นี่ แมดอฟฟ์ สงสัยเบอร์นี่ ? ไม่มีทาง คุณสงสัยพระเจ้า คุณอาจจะสงสัยพระเจ้า แต่คุณจะไม่สงสัยเบอร์นี่ เขามีรังสีเช่นนั้น"[60]

บริษัท BLMIS ในปี 2542, 2543, 2547, 2548, และ 2549 แก้

SEC สืบสวนแมดอฟฟ์ในปี 2542 และ 2543 ว่า บริษัทซ่อนคำสั่งของลูกค้าจากผู้ค้าขายหุ้นคนอื่น ๆ ซึ่งแมดอฟฟ์ก็ได้แก้ไข[59] ในปี 2544 เจ้าหน้าที่ SEC คนหนึ่งคุยกับนายแฮร์รี่ มาโกโปโลสที่สำนักงานในเมืองบอสตันเพื่อเช็คการโจทว่าแมดอฟฟ์กำลังทำการฉ้อฉล[59] SEC ได้อ้างว่า สำนักงานได้สืบสวนข้อสงสัยอื่นอีกสองเรื่องเกี่ยวกับแมดอฟฟ์ในหลายปีที่ผ่านมา แต่ก็ไม่ได้พบการละเมิดกฎหมายหรืออะไรสำคัญที่น่าเป็นห่วง[61]

ในปี 2547 หลังจากที่มีบทความหนังสือพิมพ์โจทบริษัทว่าดำเนินการซื้อขายหุ้นเพื่อประโยชน์ของตนก่อนดำเนินการตามคำสั่งลูกค้า (front running) สำนักงาน SEC ในวอชิงตัน ดี.ซี. ก็ได้ยกเลิกงานสอบสวนที่เริ่มก่อนหน้านี้[59] SEC ยังแจ้งว่าผู้ตรวจสอบได้ตรวจดูแผนกนายหน้าขายหุ้นของบริษัทในปี 2548 อีกด้วย[59] โดยเช็คการละเมิดกฎหมายในสามกรณีคือ (1) กลยุทธ์การปฏิบัติการต่อบัญชีลูกค้า (2) ข้อบังคับว่า นายหน้าต้องหาราคาที่ดีที่สุดสำหรับลูกค้า (3) ปฏิบัติการเป็นผู้ให้คำแนะนำทางการเงินโดยไม่ได้ลงทะเบียน คือ แม้ว่า บริษัทจะลงทะเบียนว่าเป็นนายหน้าซื้อขายหุ้น แต่ก็ทำธุรกิจเป็นผู้บริหารหลักทรัพย์ด้วย[62] "เจ้าหน้าที่ไม่พบหลักฐานการฉ้อฉลใด ๆ" และในเดือนกันยายน 2548 แมดอฟฟ์ก็ตกลงที่จะลงทะเบียนธุรกิจ แต่ SEC ได้เก็บสิ่งที่ได้พบไว้ไม่ได้เปิดให้เป็นสาธารณะ[59]

ในปี 2552 เมื่อนายแฮร์รี่ มาโกโปโลส ให้การต่อหน้าคณะกรรมการย่อยว่าด้วยการบริการทางการเงินเกี่ยวกับตลาดหลักทรัพย์ของรัฐสภาสหรัฐอเมริกา เขาได้กล่าวว่า หัวหน้าสำนักงานประจำนิวยอร์กได้ทำงานผิดพลาดในปี 2548[13][63][59][62][64] โดยต่อมาในปี 2550 เจ้าหน้าที่ SEC ได้สำเร็จการสืบสวนที่เริ่มเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2549 เกี่ยวกับข้อหาว่าเป็นธุรกิจพอนซี่ ซึ่งเจ้าหน้าที่ไม่ได้พบการฉ้อฉล และไม่ได้ส่งเรื่องต่อให้คณะกรรมการ SEC เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย[65][66]

การตรวจสอบของ FINRA แก้

ในปี 2550 องค์การควบคุมอุตสาหกรรมการเงิน (Financial Industry Regulatory Authority ตัวย่อ FINRA) ซึ่งเป็นกลุ่มจับตามองบริษัทนายหน้าขายหุ้น ได้รายงานแบบไม่มีรายละเอียดว่า ธุรกิจบางส่วนของแมดอฟฟ์ไม่มีลูกค้า หลังจากที่ได้จับกุมแมดอฟฟ์ เจ้าหน้าที่ของ SEC รายงานว่า "ในตอนนี้ เรายังไม่แน่ใจถึงมูลฐานข้อสรุปของ FINRA"[59] โดยเป็นผลของการฉ้อฉล ประธานของ SEC ต่อมาได้แจ้งว่า จะมีการสืบสวนที่ตรวจสอบ "การติดต่อและความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหน้าที่กับตระกูลและบริษัทของแมดอฟฟ์ และผลที่เกิดขึ้น ถ้ามี ต่อการตัดสินใจของเจ้าหน้าที่"[67] อดีตเจ้าหน้าที่ดูแลเรื่องการปฏิบัติตามกฎหมายของ SEC คนหนึ่ง คือ นายอีริค สวอนสัน ได้แต่งงานกับหลานสาวของแมดอฟฟ์ ซึ่งก็เป็นทนายฝ่ายปฏิบัติตามกฎหมายด้วย[67]

สัญญาณเตือน แก้

นักวิเคราะห์นอกสถาบันได้แสดงความวิตกกังวลเกี่ยวกับบริษัทของแมดอฟฟ์เป็นเวลาหลายปีแล้ว[9] ครั้งแรกที่สำคัญเกิดขึ้นในปี 2543 เมื่อนายแฮร์รี่ มาโกโปโลส ผู้เป็นนักวิเคราะห์การเงินและผู้จัดการดูแลบัญชีหลักทรัพย์ที่บริษัทบริหารหลักทรัพย์อีกแห่งหนึ่ง คือ Rampart Investment Management ได้แจ้ง SEC ถึงความสงสัยของตน คือ เมื่อปีก่อนหน้านั้น บริษัทได้พบว่า บริษัทการเงินซึ่งเป็นลูกค้าของตนบริษัทหนึ่ง ได้ลงทุนเป็นวงเงินสำคัญกับแมดอฟฟ์ เจ้านายของนายมาโกโปโลสจึงสั่งให้เขาออกแบบบริการที่สามารถได้ผลกำไรเหมือนกับของแมดอฟฟ์[68] แต่ว่า นายมาโกโปโลสสรุปได้เกือบทันทีว่า ตัวเลขของแมดอฟฟ์เป็นไปไม่ได้ และหลังจากที่พยายามและไม่สามารถเลียนแบบผลกำไรของแมดอฟฟ์โดยใช้ข้อมูลตลาดหลักทรัพย์ในอดีต นายมาโกโปโลสจึงสรุปว่า นี่เป็นการฉ้อฉล

เขาได้แจ้ง SEC โดยมีมูลฐานที่งานวิเคราะห์ผลกำไรของแมดอฟฟ์ของตนว่า เป็นไปไม่ได้ที่แมดอฟฟ์จะให้ผลกำไรที่ว่าตามกลยุทธ์ที่แมดอฟฟ์อ้างว่าตนใช้ ตามความคิดของนายมาโกโปโลส จะสามารถอธิบายผลกำไรที่ได้โดยสองวิธีเท่านั้น ซึ่งก็คือ แมดอฟฟ์ซื้อขายหุ้นในทุนของตนก่อนดำเนินการซื้อขายหุ้นตามคำสั่งลูกค้าในฐานเป็นนายหน้า (front running) หรือว่า ธุรกิจบริหารหลักทรัพย์เป็นการฉ้อฉลแบบพอนซี่ขนาดยักษ์ แต่ว่า สิ่งที่แจ้งต่อ SEC รวมทั้งการแจ้งต่อมาอีก 3 ครั้ง ไม่ได้ทำให้เกิดปฏิกิริยาใด ๆ จาก SEC[69][70] ในช่วงที่นายมาโกโปโลสแจ้ง SEC เป็นครั้งแรก แมดอฟฟ์บริหารหลักทรัพย์เพียงประมาณ 3-6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 120,552 - 241,105 ล้านบาท) ซึ่งแม้แต่ในตอนนั้นก็เป็นกองทุนบริหารความเสี่ยงที่ใหญ่ที่สุดในโลกอยู่แล้ว

งานวิเคราะห์ที่มีรายละเอียดมากที่สุดของนายมาโกโปโลสเป็นการแจ้งต่อ SEC เป็นครั้งที่ 3 ซึ่งเขียนเป็นบันทึกมี 17 หน้าโดยมีหัวเรื่องว่า "กองทุนบริหารความเสี่ยงที่ใหญ่ที่สุดในโลกเป็นการฉ้อฉล (The World's Largest Hedge Fund is a Fraud)"[71] เขายังได้คุยกับหนังสือพิมพ์ The Wall Street Journal เกี่ยวกับธุรกิจพอนซี่ในปี 2549 แต่บรรณาธิกากลับตัดสินใจไม่ติดตามเรื่อง[72]

บันทึกแสดงสิ่งที่ผิดสังเกต 30 รายการตลอด 174 เดือน (ประมาณ 14 ปี) ของการซื้อขายหลักทรัพย์ของแมดอฟฟ์ และสิ่งที่ผิดสังเกตมากที่สุดก็คือ แมดอฟฟ์แสดงรายการขาดทุนเพียงแค่ 7 เดือนใน 14 ปีเหล่านี้ และการขาดทุนแทบไม่มีความสำคัญทางสถิติ ซ่งเป็นการได้ผลกำไรที่เพิ่มขึ้นแบบเกือบเป็นเส้นตรง นายมาโกโปโลสชี้ว่า ตลาดไม่มีความแน่นอนจนกระทั่งว่า การได้ผลเช่นนี้เป็นไปไม่ได้ เมื่อนายมาโกโปโลสให้ความต่อหน้ารัฐสภา เขากล่าวว่านี้เหมือนกับนักกีฬาเบสบอลที่มีสถิติการตี .966 ในปีนั้น "แต่ไม่มีใครสงสัยว่าโกง"[73]

ส่วนหนึ่งของบันทึกสรุปว่า "เบอร์นี่ แมดอฟฟ์ เป็นผู้บริหารกองทุนบริหารความเสี่ยงที่ไม่ลงทะเบียนที่ใหญ่ที่สุดในโลก เขาจัดตั้งธุรกิจโดยเป็นกองทุนของกองทุน และให้บริษัทอื่น ๆ ติดป้ายว่าเป็นกองทุนของตนเอง แต่ตัวเบอร์นี่เป็นคนบริหารอย่างลับ ๆ โดยใช้กลยุทธ์ split-strike conversion และได้รายได้เพียงแต่ค่านายหน้าซื้อขายในอัตราที่เก็บเป็นความลับ ถ้านี่ไม่ใช่การหลีกเลี่ยงการควบคุมทางกฎหมาย ผมก็ไม่รู้ว่าอะไรจะเป็น" นายมาโกโปโลสได้ประกาศว่า การบริหารจัดการทรัพย์ที่ไม่ซับซ้อนของแมดอฟฟ์ ถ้าไม่เป็นธุรกิจพอนซี่ก็เป็นการซื้อขายหุ้นในทุนของตนก่อนดำเนินการซื้อขายให้ลูกค้าอื่น ๆ (front running)[73] แล้วสรุปว่า น่าจะเป็นการฉ้อฉลแบบพอนซี่[59]

ในปี 2544 นักข่าวการเงินผู้หนึ่งเขียนบทความให้หนังสือพิมพ์ Barron's มีหัวเรื่องว่า "ไม่ถาม ไม่ต้องบอก"[35] ซึ่งตั้งข้อสงสัยในความลึกลับของแมดอฟฟ์ และว่าเขาสามารถได้ผลกำไรที่สม่ำเสมอเช่นนี้ได้อย่างไร เธอรายงานว่า "ผู้ลงทุนกับแมดอฟฟ์ได้แต่พูดเพ้อกับผลงานของเขา แม้ว่า จะไม่เข้าใจว่าเขาทำได้อย่างไร โดยมีผู้ลงทุนทีพึงพอใจอย่างยิ่งบอกหนังสือพิมพ์ว่า 'แม้แต่คนที่รู้ดีที่สุดก็ไม่สามารถบอกได้ว่าเขาทำอะไร'"[35] ทั้งบทความของ Barron's และจดหมายข่าว MarHedge แสดงนัยว่า แมดอฟฟ์ต้องซื้อขายหุ้นของทุนตนเองก่อนดำเนินการซื้อขายหุ้นตามคำสั่งของลูกค้าทั่วไปเพื่อที่จะได้ผลกำไรเช่นนี้[59]

กองทุนที่ลงทุนกับเขาไม่ได้รับอนุญาตให้บอกว่าเขาเป็นคนบริหารทรัพย์ให้กองทุนในใบโฆษณา เมื่อมีนักลงทุนใหญ่สนใจจะลงทุนกับเขา แต่ต้องตรวจสอบบันทึกเพื่อสร้างความมั่นใจ เขาก็จะปฏิเสธแล้วกล่าวว่าเขาต้องการเก็บกลยุทธ์โดยเฉพาะของเขาให้เป็นความลับ[74] และโดยการขายหุ้นที่มีอยู่แล้วเก็บเป็นเงินสดในช่วงท้ายของระยะการรายงาน แมดอฟฟ์จึงไม่ต้องส่งรายการหลักทรัพย์ที่มีให้กับ SEC ซึ่งเป็นวิธีการที่แปลก แมดอฟฟ์ปฏิเสธคำขอให้บุคคลภายนอกตรวจสอบโดยอ้างเหตุแห่งความลับ และว่านี่เป็นหน้าที่โดยตรงของน้องชายของเขาคือ ปีเตอร์ ซึ่งเป็นกรรมการฝ่ายปฏิบัติตามกฎหมาย[75]

นายมาโกโปโลสภายหลังให้การต่อรัฐสภาสหรัฐอเมริกาว่า เพื่อที่จะให้ผลกำไร 12% แก่ลูกค้า แมดอฟฟ์ต้องได้ผลกำไร 16% เพื่อที่จะให้ค่าธรรมเนียม 4% ต่อผู้บริหารทุนที่ส่งทุนต่อให้แมดอฟฟ์ โดยผู้บริหารทุนจะเป็นผู้หาเหยื่อรายใหม่ ๆ และจะ "ทำเป็นมองไม่เห็นอะไร ไม่ซักไซ้อะไรมากเกินไป"[64] นอกจากนั้นแล้ว ยังมีความสงสัยเกี่ยวกับบริษัทตรวจบัญชีของแมดอฟฟ์ ซึ่งเป็นบริษัทมีพนักงาน 2 คน และมีผู้ตรวจบัญชีเพียงแค่คนเดียวคือนายเดวิด ฟรีลิง ซึ่งก็เป็นเพื่อนใกล้ชิดของครอบครัวแมดอฟฟ์ นอกจากนั้นแล้ว นายฟรีลิงยังเป็นผู้ลงทุนในกองทุนของแมดอฟฟ์ ซึ่งเป็นความขัดแย้งทางผลประโยชน์แบบโต้ง ๆ[70]: 366–367  ในปี 2550 บริษัทให้คำปรึกษา Aksia LLC แนะนำลูกค้าไม่ให้ลงทุนกับแมดอฟฟ์ โดยกล่าวว่า เป็นไปไม่ได้ที่บริษัทเล็ก ๆ จะสามารถให้บริการต่อบริษัทขนาดยักษ์เช่นของแมดอฟฟ์ได้[76][77]

โดยปกติแล้ว กองทุนบริหารความเสี่ยงจะเก็บหุ้นไว้ที่บริษัทหลักทรัพย์ ซึ่งอาจจะเป็นธนาคารใหญ่หรือบริษัทนายหน้า ที่ทำหน้าที่เป็นผู้ซื้อขายหลักให้กับกองทุน ทำให้บุคคลภายนอกสามารถตรวจสอบหลักทรัพย์ที่กองทุนเป็นเจ้าของอยู่จริง ๆ ได้ แต่ว่า บริษัทของแมดอฟฟ์มีธุรกิจทั้งเป็นผู้บริหารกองทุนและเป็นนายหน้าซึ่งดำเนินการการซื้อขายได้เอง[34] และเป็นเรื่องแปลกอย่างน่าขันว่า แมดอฟฟ์ซึ่งเป็นคนบุกเบิกการค้าขายหุ้นแบบอิเล็กทรอนิกส์ กลับปฏิเสธที่จะให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงบัญชีของตนออนไลน์ได้[9] คือเขาส่งรายงานการบัญชีให้ต่อลูกค้าทางไปรษณีย์[78] ซึ่งไม่เหมือนกับกองทุนบริหารความเสี่ยงโดยมากที่ส่งอีเมลล์ให้ลูกค้าดาวน์โหลดรายงานบัญชี เพื่อความสะดวกของลูกค้า[79]

ในปี 2546 ผู้ดำเนินการกองทุนบริหารความเสี่ยงของอีกบริษัทหนึ่งตั้งข้อสงสัยและเตือนเพื่อนร่วมงานไม่ให้ลงทุนกับแมดอฟฟ์ โดยสรุปว่า นักธุรกิจชั้นนำจะทำงานเพื่อส่วนแบ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ของเงินที่ได้ไปทำไม[80]

อีกประการหนึ่ง ในปี 2546 บริษัท Renaissance Technologies "ซึ่งอาจเป็นบริษัทกองทุนบริหารความเสี่ยงที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลก" ได้ลดการลงทุนกับแมดอฟฟ์ลง 50% แล้วในที่สุดก็ถอนทุนโดยสิ้นเชิง เพราะสงสัยเกี่ยวกับความสม่ำเสมอของผลที่ได้ เกี่ยวกับค่าบริหารทุนที่ต่ำมากเทียบกับทุนบริหารความเสี่ยงอื่น ๆ และความเป็นไปไม่ได้ของกลยุทธ์ที่แมดอฟฟ์อ้าง เพราะว่า จำนวนการค้าขายสัญญาอนาคต (option) ที่ปรากฏในตลาด ไม่สัมพันธ์กับจำนวนเงินที่แมดอฟฟ์บริหาร คือ จำนวนการค้าขายสัญญาแสดงว่า แมดอฟฟ์บริหารทุนประมาณ 750 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่มีการคำนวณว่าเขาบริหารทุนกว่า 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนี่จะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อแมดอฟฟ์เป็นคนซื้อขายสัญญาที่สำเร็จราคาขายในช่วงราคาที่มีการเคลื่อนไหวมากที่สุดทั้งหมดในตลาด[70]: 363–371 

มีผู้จัดตั้งบริษัทวิจัยกองทุนบริหารความเสี่ยงคนหนึ่งให้ข้อสังเกตว่า แมดอฟฟ์ "มีเดือนที่ขาดทุนเพียงแค่ 5 เดือนตั้งแต่ปี 2539"[81] และว่า "คุณไม่สามารถที่จะดำเนินการเป็นเวลา 10 หรือ 15 ปีโดยมีเดือนขาดทุนเพียงแค่ 3-4 เดือน มันเป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้"[82]

ในปี 2544 หัวหน้าบรรณาธิการของจดหมายข่าว MARHedge เขียนบทความที่เขาสัมภาษณ์ผู้ค้าขายหลักทรัพย์ที่ไม่เชื่อว่า แมดอฟฟ์ค้าขายได้กำไรเป็นเวลา 72 เดือนต่อ ๆ กัน ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก[8]

แต่ลูกค้าระดับสถาบันเช่น Fairfield Greenwich Group (ซึ่งเป็นสถาบันที่ขาดทุนมากที่สุดจากการฉ้อฉล) และธนาคารเอกชน Union Bancaire Privée (ประเทศสวิตเซอร์แลนด์) อ้างว่า ตนสามารถได้รายละเอียดพิเศษเพื่อประเมินและวิเคราะห์รายได้รายจ่ายของกองทุนของแมดอฟฟ์แต่ก็ไม่ได้พบอะไรผิดปกติ[43] แม้แต่ธนาคารกลางของประเทศไอร์แลนด์ก็ล้มเหลวที่จะพบความผิดปกติของกองทุน เมื่อเขาได้เงินจากกองทุนของประเทศและต้องให้ข้อมูลเป็นจำนวนมากซึ่งควรเพียงพอที่จะให้เจ้าหน้าที่ค้นพบการฉ้อฉลเป็นเวลายาวนานก่อนหน้าที่แมดอฟฟ์จะถูกจับกุมในปลายปี 2551[83][84][85]

อาทิตย์สุดท้าย ๆ และการล่ม แก้

ธุรกิจเริ่มประสบความล้มเหลวเริ่มในเดือนธันวาคม 2551 เมื่อตลาดหลักทรัพย์ตกลงอย่างต่อเนื่อง แต่ว่า นายมาโกโปโลสเขียนในภายหลังว่า แมดอฟฟ์ความจริงใกล้ล้มละลายตั้งแต่ต้น ๆ เดือนมิถุนายน 2548 แล้ว ซึ่งเป็นช่วงที่กลุ่มของเขาพบว่า แมดอฟฟ์กำลังหาทางยืมเงินจากธนาคาร และธนาคารใหญ่ ๆ อย่างน้อย 2 ธนาคารก็ไม่ยอมให้ยืมเงินเพื่อลงทุนกับแมดอฟฟ์อีกต่อไป ในเดือนมิถุนายน 2551 หกเดือนก่อนหน้าที่ธุรกิจจะล่มสลาย กลุ่มนายมาโกโปโลสพบหลักฐานว่า แมดอฟฟ์ยอมรับเงินลงทุนที่กู้มา ในความคิดของนายมาโปโลส แมดอฟฟ์กำลังหมดเงินและจำเป็นที่จะสัญญาผลกำไรเพิ่มขึ้นเพื่อจะดำเนินการฉ้อฉลต่อไป[68]

เมื่อตลาดตกลงเรื่อย ๆ ผู้ลงทุนได้พยามยามถอนเงิน 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐจากบริษัท และเพื่อที่จะจ่ายลูกค้าเหล่านั้น แมดอฟฟ์ก็จะต้องหาเงินเพิ่มจากนักลงทุนอื่น ๆ และแม้ว่าจะยังมีนักลงทุนเป็นจำนวนมากที่เชื่อว่าแมดอฟฟ์ยังดำเนินการได้ดีอยู่ แต่ก็ไม่เพียงพอสำหรับการถอนเงินจำนวนมาก

ในอาทิตย์ก่อน ๆ ที่จะถูกจับ แมดอฟฟ์พยายามที่จะหาวิธีดำเนินการต่อไป ในเดือนพฤศจิกายน 2551 Madoff Securities International (MSIL) ในนครลอนดอนได้โอนเงินไปให้บริษัท Bernard Madoff Investment Securities ประมาณ 164 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 5,411 ล้านบาท) แต่ว่า MSIL เป็นบริษัทที่ไม่มีลูกค้า และก็ไม่มีหลักฐานว่าทำการค้าขายเพื่อบุคคลที่สามด้วย[86] ในวันที่ 1 ธันวาคม แมดอฟฟ์ได้รับเงิน 250 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 8,934 ล้านบาท) จากนายคาร์ล แชปิโร นักลงทุนและนักการกุศลชาวบอสตันอายุ 102 ปี ซึ่งเป็นเพื่อนที่เก่าแก่ที่สุดและเป็นผู้ช่วยเหลือสนับสนุนแมดอฟฟ์ทางการเงินมากที่สุด ในวันที่ 5 ธันวาคม เขาได้รับเงินอีก 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 356 ล้านบาท) จากนักลงทุนอีกคนหนึ่งที่ในที่สุดก็ไม่ได้มีโอกาสนำไปใช้ แต่แม้ว่า นักลงทุนจะขอเงินคืนในภายหลัง แต่ว่าศาลตัดสินว่าเขาไม่ควรจะได้รับสิทธิพิเศษในการได้เงินคืนมากกว่านักลงทุนอื่น ๆ ในขณะเดียวกัน ผู้พิพากษาคนเดียวกันกลับปฏิเสธที่จะยกฟ้องคดีที่บริษัท Hadleigh Holdings อ้างว่า พึ่งให้เงิน 1 ล้านดอลลาร์กับบริษัทแมดอฟฟ์ 3 วันก่อนที่เขาจะถูกจับกุม[87]

แมดอฟฟ์ได้ขอเงินจากบุคคลอื่น ๆ อีกในช่วงอาทิตย์สุดท้าย ๆ ก่อนจะถูกจับ รวมทั้งผู้จัดตั้งบริษัท The Home Depot ที่ได้รับหนังสือเชิญชวนลงทุน เป็นหนังสือยาว 19 หน้าทำโดยบริษัทกองทุน Fairfield Greenwich Group ซึ่งกล่าวว่า เขากำลังหาเงินเพื่อสร้างกองทุนใหม่ระหว่าง 500-1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐสำหรับลูกค้าพิเศษ ที่จะต้องทำอย่างรวดเร็ว และต้องการคำตอบภายในอาทิตย์ต่อมา แต่นักลงทุนผู้จัดตั้ง The Home Depot ปฏิเสธ[88] ในเดือนพฤศจิกายน บริษัท Fairfield Greenwich Group ได้จัดตั้งกองทุนใหม่ แต่ว่านี่ก็น้อยเกินไปและสายเกินไปเสียแล้ว[68]

ในวันที่ 10 ธันวาคม 2551 แมดอฟฟ์เสนอต่อลูกชายมาร์กและแอนดรูว่า ให้จ่ายเงินโบนัส 170 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 6,024 ล้านบาท) แก่พนักงาน 2 เดือนล่วงหน้าก่อนกำหนด จากเงินสดจำนวน 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 7,087 ล้านบาท) ที่บริษัทยังเหลืออยู่[8] แต่ตามสำนวนดำเนินคดี มาร์กและแอนดรู ซึ่งยังไม่รู้ถึงการล้มละลายของบริษัทที่กำลังใกล้เข้ามา ได้คุยเรื่องนี้กับบิดาของตน คือได้ถามว่าเขาจะจ่ายเงินโบนัสให้ลูกจ้างได้อย่างไรถ้าไม่สามารถจ่ายผู้ลงทุน แมดอฟฟ์จึงยอมรับว่า เขาดำเนินถึงที่สุดแล้ว และแผนบริหารหลักทรัพย์ของบริษัทความจริงก็คือธุรกิจพอนซี่ ดังที่เขากล่าวว่า "เป็นเรื่องกุขนาดใหญ่โดยส่วนเดียว" มาร์กและแอนดรูจึงได้รายงานการพูดคุยนี้ต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐ[9]

การสืบสวนหาผู้ร่วมทำความผิด แก้

ผู้สืบสวนได้พยายามสืบหาบุคคลอื่นที่มีส่วนร่วมในธุรกิจนี้ แม้ว่าแมดอฟฟ์จะกล่าวว่า เขามีความผิดในการดำเนินการธุรกิจนี้แต่เพียงผู้เดียว[7] ส่วนทนายผู้หนึ่งที่เป็นตัวแทนผู้ลงทุนหลายรายกล่าวว่า "ต้องมีใครสร้างภาพว่ามีผลกำไร" และเสนอว่า ต้องมีทีมที่คอยขายและซื้อหุ้น ทำบัญชีปลอม และยื่นรายงานให้แก่องค์กรที่ดูแลควบคุม[7]

ส่วนประธานของสมาคมผู้ตรวจสอบการฉ้อฉลที่รับรอง (Association of Certified Fraud Examiners) กล่าวว่า "เพื่อที่จะทำธุรกิจนี้ได้แต่เพียงผู้เดียว เขาจะต้องทำงานทั้งวันทั้งคืน ไม่มีพักร้อนไม่มีเวลาพัก เขาจะต้องเลี้ยงดูธุรกิจพอนซี่นี่วันต่อวัน และอะไรจะเกิดขึ้นถ้าเขาไม่อยู่ ใครจะดูแลเมื่อมีคนโทรเข้ามาในระหว่างที่เขาพักร้อนแล้วกล่าวว่า 'ฉันต้องการเบิกเงินของฉัน'"[89]

ส่วนทนายตลาดหลักทรัพย์อีกผู้หนึ่งกล่าวว่า การทำรายงานแจ้งบัญชีที่แสดงการค้าขายจะต้องมีส่วนร่วมจากบุคคลอื่น ๆ จะต้องมีสำนักงานและบุคคลทำงานสนับสนุน บุคคลที่รู้ว่าราคาหุ้นในตลาดที่กำลังค้าขายคืออะไร จะต้องมีนักบัญชีที่ทำบัญชีของบริษัทให้เข้ากับรายงานแจ้งยอดที่ส่งไปให้ลูกค้า อย่างน้อย ๆ ก็โดยผิวเผิน[89]

  1. บริษัท Cohmad Securities - ที่แมดอฟฟ์เป็นเจ้าของ 10-20% และมีที่อยู่ที่เดียวกับบริษัทของแมดอฟฟ์ในนครนิวยอร์ก SEC โจทประธานกรรมการของบริษัทคือ Maurice J. Cohn ลูกสาวของเขาคือ Marcia Beth Cohn และนายหน้าคือ Robert M. Jaffe ว่าทำผิดฐานฉ้อฉล 4 กระทงใน "การไม่ใส่ใจในความจริงอย่างตั้งใจหรืออย่างหละหลวม ที่แสดงว่าแมดอฟฟ์กำลังทำการฉ้อฉล"[90] ส่วนทรัสตีผู้ทำหน้าที่ตามเงินคืนคือนายพิการ์ด ได้ฟ้องคดีต่อบริษัทด้วย แต่ว่านาย Jaffe ได้ร้องให้ศาลยกฟ้องทั้งในสองกรณี[91]
  2. นาย Stanley Chais ผู้เป็นคนส่งเงินลูกค้าให้แมดอฟฟ์บริหาร - ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2552 นายพิการด์ฟ้องเพื่อเรียกเงินคืนจากนาย Chais ผู้มีอายุ 82 ปี โดยอ้างว่าเขา "รู้หรือควรจะรู้" ว่ากำลังมีส่วนในธุรกิจพอนซี่เมื่อการลงทุนของครอบครัวของเขาได้รับผลกำไรโดยเฉลี่ย 40% ต่อปี และว่า เขาเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์หลักคนหนึ่งเป็นเวลาอย่างน้อย 30 ปี ทำให้ครอบครัวของเขาสามารถถอนเงินเกินกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 32,993 ล้านบาท) ตั้งแต่ปี 2538 โดยที่ SEC ก็ฟ้องคดีในทำนองเช่นกัน[90][92] ในวันที่ 22 กันยายน 2552 อัยการสูงสุดของรัฐแคลิฟอร์เนียฟ้องเรียกค่าเสียหาย 25 ล้านดอลลาร์สหรัฐบวกค่าชดใช้เหยื่อ โดยอ้างว่า นาย Chais เป็นคนกลางในธุรกิจพอนซี่[93] ต่อมาวันที่ 26 กันยายน 2553 เขาจึงได้เสียชีวิตที่อายุขัย 84 ปีเนื่องจากโรคเลือด[94]
  3. บริษัท Madoff Securities International Ltd. ในนครลอนดอน
  4. นายคาร์ล แชปิโร ผู้เป็นนักธุรกิจเกี่ยวกับเสื้อผ้าผู้หญิง เป็นเศรษฐีและนักการกุศล เป็นเพื่อนที่เก่าแก่ที่สุดและผู้ช่วยเหลือแมดอฟฟ์มากที่สุด และได้ช่วยแมดอฟฟ์เริ่มบริษัทลงทุนในปี 2503 แต่ว่า นายแชปิโรไม่เคยทำธุรกิจการเงินเอง ในปี 2514 เขาขายธุรกิจเสื้อผ้าได้เงิน 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แล้วลงทุนกับแมดอฟฟ์โดยมาก ซึ่งงอกเงยเป็นเงินหลายร้อยล้านดอลลาร์ และอาจจะเกิน 1,000 ล้าน นายแชปิโรเองเสียเงินไปประมาณ 400 ล้านเหรียญ โดยที่ 250 ล้านเหรียญลงทุนกับแมดอฟฟ์ 10 วันก่อนที่เขาจะถูกจับ มูลนิธิการกุศลของเขาสูญเงินมากกว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[95] ต่อมาในเดือนธันวาคม 2553 นายแชปิโร บุคคลและองค์กรอื่น ๆ ที่สัมพันธ์กัน ได้ตกลงให้รัฐบาลกลางริบทรัพย์รวมกันเป็นจำนวน 625 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 18,712 ล้านบาท) ซึ่งเป็นวงเงินที่มากกว่าทรัพย์สินสุทธิที่นายแชปิโรและภรรยามี และมากกว่ารายได้ปลอมที่ถอนจากกองทุนของแมดอฟฟ์ เพื่อเปลื้องตนจากการฟ้องคดีแพ่งของรัฐบาล แม้ว่าจะไม่ได้เปลื้องความผิดทางอาชญากรรมถ้ามี[96]
  5. นาย David G. Friehling อายุ 49 ปี ผู้เป็นนักบัญชีผู้เดียวที่บริษัท Friehling & Horowitz ได้ให้การปฏิเสธความผิดเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2552 ในคดีการฉ้อฉลหลักทรัพย์ ในฐานช่วยเหลือและสนับสนุนการฉ้อฉลและยื่นเอกสารตรวจสอบบัญชีปลอมให้แก่ SEC[97] ต่อมาวันที่ 3 พฤศจิกายน 2552 เขาจึงให้การสารภาพผิด[98] บทบาทของเขาช่วยทำกรณีนี้ให้เป็นการฉ้อฉลทางบัญชีที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา ใหญ่ยิ่งกว่าการฉ้อฉล 11,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 507,526 ล้านบาท) ของบริษัท WorldCom ที่พบในปี 2545
  6. ปีเตอร์ แมดอฟฟ์ น้องชายของแมดอฟฟ์ อายุ 63 ปี เป็นกรรมการฝ่ายปฏิบัติตามกฎหมาย ทำงานร่วมกับพี่ชายเบอร์นี่กว่า 40 ปี และดำเนินการในกิจประจำวันใน 20 ปีที่ผ่านมา เป็นผู้ช่วยสร้างระบบการค้าขายทางคอมพิวเตอร์ที่ใช้ในตลาดหลักทรัพย์ NASDAQ ต่อมาวันที่ 20 ธันวาคม 2555 เขาได้ถูกตัดสินจำคุก 10 ปีในฐานะมีส่วนร่วมในการฉ้อฉล[99]
  7. รูธ แมดอฟฟ์ ภรรยาของแมดอฟฟ์ ตกลงที่จะเก็บเหลือทรัพย์สินส่วนตัวเพียง 2.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากทรัพย์สินทั้งหมด 80 ล้านดอลลาร์ โดยเป็นข้อตกลงในการตัดสินคดีของแมดอฟฟ์ แต่ว่า ทรัพย์ที่ว่าไม่ได้รับการป้องกันจากการฟ้องคดีของผู้ลงทุนต่าง ๆ และจากทรัสตีที่พยายามหาทรัพย์มาคืนผู้ลงทุนอื่น ๆ[100] ดังนั้นต่อมาในวันที่ 29 กรกฎาคม 2552 ทรัสตีคือนายปิการ์ด ก็ฟ้องคดีเธอเรียกทรัพย์เป็นจำนวน 45 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งโจทฟ้องคดีกล่าวว่า "ช่วยให้เธอมีชีวิตที่หรูหรา" ตามสำนวนฟ้องศาล เธอได้รับเงินกว่า 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐจากธุรกิจใน 6 ปีที่ผ่านมาเพื่อชำระค่าใช่จ่ายผ่านบัตรเครดิตของเธอ และอีก 2 ล้านเหรียญให้กับธุรกิจที่ช่วยดูแลบำรุงสัตว์เลี้ยง และว่า "รูธ แมดอฟฟ์ไม่ใช่ลูกจ้างของบริษัท BLMIS (บริษัทของแมดอฟฟ์) แต่ว่า เงินเป็นล้าน ๆ เหรียญที่เป็นของ BLMIS และลูกค้ากลับย้ายไปอยู่ในบัญชีส่วนตัวของเธอโดยไม่มีเหตุผลทางธุรกิจที่สมควรหรือเป็นประโยชน์ต่อบริษัทใด ๆ แต่เป็นเพราะความสัมพันธ์ส่วนตัวของเธอกับเบอร์นาร์ด แมดอฟฟ์"[101] ก่อนที่ธุรกิจจะล้ม คือวันที่ 25 พฤศจิกายน 2551 เธอเบิกเงิน 5.5 ล้านดอลลาร์ และวันที่ 10 ธันวาคม 2551 เบิกอีก 10 ล้านดอลลาร์จากบัญชีของเธอที่บริษัท Cohmad ซึ่งเป็นบริษัทที่ส่งเงินให้แมดอฟฟ์ ที่มีสำนักงานเดียวกับสำนักงานใหญ่ของแมดอฟฟ์ และที่แมดอฟฟ์เป็นหุ้นส่วน[102][103] นอกจากนั้นแล้ว ในเดือนพฤศจิกายน เธอยังได้รับเงินอีก 2 ล้านดอลลาร์จากบริษัทสามีของเธอในลอนดอน คือ Madoff Securities International Ltd[104][105] แต่ว่า เธอไม่ได้ถูกฟ้องในฐานะทำผิดกฎหมายใด ๆ และผู้ดำเนินคดีก็ไม่เคยสอบความกับเธอ[106] มีคนเห็นเธอใช้รถไฟใต้ดินในนครนิวยอร์ก และเธอก็ไม่ได้ไปฟังศาลตัดสินคดีสามีของเธอ[107][108]
  8. ลูกชายของแมดอฟฟ์ คือ มาร์ก (อายุ 45 ปี) และแอนดรู (อายุ 42 ปี) ได้ทำงานในแผนกค้าขายหุ้นของสำนักงานในนิวยอร์ก แต่ก็ได้หาเงินจากนักลงทุนเพื่อลงทุนในกองทุนของบิดาของตนด้วย[109] ทรัพย์สินของพวกเขาถูกอายัดในวันที่ 31 มีนาคม 2552[110] ทั้งสองได้ห่างเหินไปจากบิดาของตนตั้งแต่วันที่ 10 ธันวาคม 2551 และไม่ได้คุยกับมารดาของตนตั้งแต่นั้น[108] ซึ่งบางคนเชื่อว่า เป็นเพียงแค่การแสดงละครเพื่อปกป้องทรัพย์สินของตนจากการถูกฟ้อง[111] ในวันที่ 2 ตุลาคม 2552 ทรัสตีปิการ์ดได้ฟ้องเอาทรัพย์รวมมูลค่า 198,743,299 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 6,657 ล้านบาท) จากลูกชายรวมทั้งพี่ชายและหลานสาวของแมดอฟฟ์[112][113] ต่อมาวันที่ 15 มีนาคม 2553 ลูกชายทั้งสองได้ร้องศาลให้ยกฟ้อง[114] แต่ว่า ในวันที่ 11 ธันวาคม 2553 ซึ่งเป็นวันครบปีที่ 2 ของการจับกุมแมดอฟฟ์ มีคนพบนายมาร์กผูกคอตายในห้องพักของเขา[115] ส่วนนายแอนดรูต่อมาเสียชีวิตในวันที่ 3 กันยายน 2557 ด้วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง[116]
  9. Frank DiPascali อายุ 52 ปี ที่เรียกตัวเองว่า "ผู้อำนวยการค้าขายสัญญาซื้อขายในอนาคต" และ "ประธานกรรมการฝ่ายการเงิน" ของบริษัท Madoff Securities ยอมรับผิดในวัน 11 สิงหาคม 2009 ในข้อหา 10 กระทงคือ[117] การรวมหัวคบคิด การฉ้อฉลหลักทรัพย์ การฉ้อฉลโดยการให้คำปรึกษาการลงทุน การฉ้อฉลทางไปรษณีย์ การฉ้อฉลทางการสื่อสาร การเบิกความเท็จ การหลีกเลี่ยงภาษีรายได้ การซักฟอกเงินระหว่างประเทศ การปลอมแปลงเอกสารและบันทึกในฐานเป็นนายหน้า และฐานเป็นผู้ให้คำปรึกษาการลงทุน เขาได้ตกลงที่จะให้รายละเอียดในคดีและให้รายละเอียดเกี่ยวกับผู้ทำผิดอื่น ๆ โดยจะถูกตัดสินในเดือนพฤษภาคม 2553[118] ผู้ดำเนินคดีต้องการริบทรัพย์จำนวน 170,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับที่ทำกับแมดอฟฟ์ ซึ่งเท่ากับเงินที่ได้จากนักลงทุนและจ่ายให้นักลงทุนอื่น[119] และในวันเดียวกัน SEC ก็ฟ้องคดีแพ่งต่อนาย DiPascali ด้วย[120] เขาถูกขังสองอาทิตย์ก่อนที่จะปล่อยตัวเพื่อฟังคำตัดสิน แต่ในวันที่ 7 พฤษภาคม เขาได้เสียชีวิตเพราะมะเร็งปอดในขณะที่ยังรอฟังคำตัดสิน[121]
  10. Enrica Cotellessa-Pitz ผู้ควบคุมบัญชีของบริษัท Bernard L. Madoff Investment Securities LLC แม้ว่าจะไม่ใช่ผู้สอบบัญชีที่ได้รับอนุญาต แต่เช็คของบริษัทที่สั่งจ่ายให้กับบริษัท Cohmad Securities มีลายเซ็นของเธอ โดยจ่ายเป็นค่าคอมมิชชั่น เธอเป็นผู้อำนวยการติดต่อระหว่าง SEC และ BLMIS เกี่ยวกับการบัญชีของบริษัท[122]
  11. บริษัท Fairfield Greenwich Group มีกองทุน "Fairfield Sentry" ซึ่งส่งเงินลูกค้าให้แมดอฟฟ์บริหาร วันที่ 1 เมษายน 2542 รัฐแมสซาชูเซตส์ฟ้องคดีแพ่งโจทบริษัทว่า ทำการฉ้อฉล ไม่ดูแลผลประโยชน์ให้ลูกค้าเพราะไม่ได้ตรวจสอบการลงทุนให้ดี โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อปรับ และคืนเงินให้กับผู้ลงทุนชาวแมสซาชูเซตส์ สำหรับทรัพย์สินที่สูญเสียไป และการขอคืนค่าธรรมเนียมและค่าบริการที่จ่ายให้แก่บริษัทโดยนักลงทุนที่เสียทรัพย์สิน คำฟ้องอ้างว่าในปี 2548 แมดอฟฟ์ได้สอนให้พนักงานของบริษัทตอบคำถามทนายของ SEC ที่กำลังตรวจสอบคำร้องของนายแฮร์รี่ มาโกโปโลส เกี่ยวกับการดำเนินงานของแมดอฟฟ์[123][124] รัฐบาลไม่มีแผนที่จะตกลงกันนอกศาลทั้ง ๆ ที่บริษัทก็ได้เสนอว่าจะคืนเงินให้กับนักลงทุนชาวแมสซาชูเซตส์ทั้งหมด และมีแผนที่จะบังคับให้บริษัทอธิบายอีเมลและหลักฐานอื่น ๆ ที่แสดงว่า เจ้าหน้าที่บริษัทรู้ถึงปัญหาเกี่ยวกับแมดอฟฟ์แต่ไม่แจ้งแก่ลูกค้า[125][126] ในวันที่ 18 พฤษภาคม 2542 ทรัสตีคือนายปิการ์ดได้ฟ้องบริษัทเพื่อเรียกเงินคืน 3,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 110,447 ล้านบาท) ในช่วงเวลาตั้งแต่ปี 2545-ธันวาคม 2551[127] แต่ว่า เงินอาจจะอยู่ในมือของลูกค้าบริษัทแล้ว ซึ่งนายปิการ์ดจะไม่สามารถเรียกคืนได้เพราะไม่ใช่ลูกค้าโดยตรงของแมดอฟฟ์[128]
  12. นาย J. Ezra Merkin ผู้เป็นผู้ให้คำปรึกษาการลงทุนและนักการกุศลชื่อดัง ได้ถูกฟ้องในศาลเกี่ยวกับบทบาทเป็นผู้บริหารกองทุนที่ส่งเงินต่อให้แมดอฟฟ์[129] วันที่ 6 เมษายน 2552 อัยการสูงสุดของรัฐนิวยอร์กได้ฟ้องคดีแพ่งในฐานฉ้อฉล[130] โดยกล่าวหานาย Merkin ว่า "ทรยศผู้ลงทุนเป็นร้อย ๆ" โดยย้ายเงินของลูกค้า 2,400 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 84,894 ล้านบาท) ไปเข้ากองทุนของแมดอฟฟ์โดยไม่ได้แจ้งลูกค้า สำนวนฟ้องแสดงว่า เขาได้โกหกเกี่ยวกับการลงทุนกับแมดอฟฟ์ ไม่เปิดเผยความขัดแย้งทางผลประโยชน์ และได้รับค่าธรรมเนียมเป็นจำนวน 470 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 16,625 ล้านบาท) จากกองทุนที่เขาบริหาร 3 กองทุน แม้ว่าเขาได้สัญญาว่าจะบริหารกองทุนเองอย่างแข็งขัน แต่ความจริงเป็นการลวงผู้ลงทุนในเรื่องการลงทุนกับแมดอฟฟ์ ลวงทั้งในรายงานประจำไตรมาศ ในการเสนอข้อมูลต่อนักลงทุน และในการสนทนากับนักลงทุน คือ "นาย Merkin แสดงตัวเองว่าเป็นกูรูการลงทุน แต่ความจริงแล้ว เป็นเพียงแต่ผู้เชี่ยวชาญในการวางตลาด"[131][132][133][134]
  13. นายเจฟฟรีย์ พิเคาเออร์ และภรรยาคือนางบาร์บารา มีบัญชีกับแมดอฟฟ์อยู่กว่า 2 โหล เขาเคยทำงานเป็นทนาย นักบัญชี และนักลงทุนที่ซื้อขายบริษัทดูแลสุขภาพและบริษัทเทคโนโลยี มูลนิธิการกุศลของนาย Picower เคยกล่าวว่า มูลนิธิมีบัญชีกองทุนกับแมดอฟฟ์ที่มีค่าเกือบ 1,000 ล้านเหรียญในครั้งหนึ่ง[95] ต่อมาในวันที่ 25 ตุลาคม 2552 นาย Picower เมื่อมีอายุ 67 ปี ได้เสียชีวิตจากกล้ามเนื้อหัวใจตายเหตุขาดเลือดแล้วจมน้ำตายในสระน้ำในบ้าน[135] แล้วในวันที่ 17 ธันวาคม 2553 ผู้จัดการมรดกของเขาได้ตกลงให้ยึดทรัพย์เป็นจำนวน 7,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 217,145 ล้านบาท) เพื่อนำไปจ่ายคืนผู้ลงทุนอื่น ๆ[136]
  14. บริษัท Tremont Group Holdings เริ่มกองทุนที่ส่งเงินให้กับแมดอฟฟ์โดยส่วนเดียวในปี 2540[137] ในเดือนธันวาคม 2553 ทรัสตีคือนายปิการ์ดฟ้องบริษัทเรียกร้องเงินเป็นจำนวน 3,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 89,939 ล้านบาท) ที่ผู้ลงทุนสูญเสียเพราะแมดอฟฟ์[138] สำนวนคดีอ้างว่า บริษัทไม่ได้ตรวจสอบแมดอฟฟ์อย่างเป็นกลาง ที่สมเหตุผล ที่มีความหมาย[138][139] ต่อมาในเดือนกรกฎาคม 2554 บริษัทจึงได้ยอมตกลงนอกศาลโดยจ่ายเงินเป็นจำนวน 1,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 29,564 ล้านบาท)[139][140]
  15. บริษัท Maxam Capital ที่ลงทุนผ่านบริษัท Tremont โดยที่ผู้จัดตั้งบริษัทคือ Sandra L. Manzke ถูกอายัดทรัพย์ชั่วคราว[141]
  16. นาย Daniel Bonventre ซึ่งเป็นอดีตผู้อำนวยการฝ่ายดำเนินงานของ BMIS[142][143][144]
  17. Joann Crupi (เมืองเวสต์ฟิลด์ รัฐนิวเจอร์ซีย์) และ Annette Bongiorno (เมือง Boca Raton รัฐฟลอริดา) ถูกจับเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2553 เป็นพนักงานฝ่ายสนับสนุนที่ "เจ้าหน้าที่ได้กล่าวว่า Bongiorno เป็นหัวหน้าพนักงานและมีหน้าที่ตอบคำถามของลูกค้าของแมดอฟฟ์เกี่ยวกับบัญชีของตน เจ้าหน้าที่อ้างว่า เธอเป็นหัวหน้าในการทำเอกสารปลอม"
  18. Jerome O’Hara และ George Perez ซึ่งเป็นลูกจ้างเก่าแก่ของ BLMIS ถูกกล่าวหาโดยมีความผิด 33 กระทง[145]

ข้อกล่าวหาและการตัดสิน แก้

คดีอาญามีทะเบียนว่า "U.S.A. v. Madoff" 1:08-mJ-02735 U.S. District Court for the Southern District of New York (Brooklyn) ส่วนคดีของ SEC เรียกว่า "Securities and Exchange Commission v. Madoff" 1:08-cv-10791 U.S. District Court for the Southern District of New York (Brooklyn)[146] ส่วนคดีต่อบริษัท Fairfield Greenwich Group และอื่น ๆ คือ 09-118 U.S. District Court for the Southern District of New York (Manhattan)[147]

ในขณะที่กำลังรอคำตัดสิน แมดอฟฟ์ได้พบกับผู้ตรวจราชการของ SEC นาย H. David Kotz ผู้กำลังสืบสวนว่า เจ้าหน้าที่ดูแลควบคุมได้ล้มเหลวที่จะตรวจจับการฉ้อฉลแม้ว่าจะมีสัญญาณเตือนมากมายได้อย่างไร[148] แต่เพราะว่ามีความสงสัยว่านาย Kotz อาจจะทำหน้าที่เกี่ยวกับการสืบสวนอย่างไม่สมควร จึงมีการให้ผู้ตรวจราชการของกรมไปรษณีย์สหรัฐนายเดวิด วิลเลียมส์ ตรวจสอบทบทวนการทำหน้าที่ที่ไม่เหมาะสมของนาย Kotz ด้วย[149] รายงานของนายวิลเลียมส์ได้ตั้งข้อสงสัยต่อความเป็นกลางของนาย Kotz ในการสืบสวนคดีของแมดอฟฟ์ เพราะว่าเขาเป็นเพื่อนสนิทกับนายมาร์โกโปโลสผู้ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับแมดอฟฟ์มานานแล้ว[150][151] แม้ว่าผู้ตรวจสอบจะไม่สามารถกำหนดว่านาย Kotz เริ่มเป็นเพื่อนกับนายมาร์โกโปโลสตั้งแต่เมื่อไร แต่รายงานสรุปว่า จะมีการละเมิดกฎจริยธรรมถ้าความเป็นเพื่อนนั้นเริ่มก่อนหรือเริ่มในระหว่างที่นาย Kotz สืบสวนคดีแมดอฟฟ์[89][152]

อดีตประธานของ SEC ผู้หนึ่งประเมินว่า การฉ้อฉลจริง ๆ อยู่ที่ระหว่าง 10,000-17,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 359,846 - 611,739 ล้านบาทต้นปี 2559) โดยไม่รวมเอารายได้ที่ไม่มีจริง ๆ[3]

คำร้องทุกข์คดีอาญา แก้

คำร้องทุกข์ทางกฎหมายอาญาเบื้องต้น (U.S. v. Madoff, 08-MAG-02735[12][153]) ประเมินว่านักลงทุนสูญทรัพย์ประมาณ 50,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 1,787,975 ล้านบาทต้นปี 2559) เพราะการฉ้อฉล[154] แม้ว่า The Wall Street Journal จะรายงานว่า "ตัวเลขรวมเอากำไรปลอมที่บริษัทของแมดอฟฟ์รายงานไปยังลูกค้าเป็นเวลาทศวรรษ ๆ (แต่ว่า) ยังไม่ชัดเจนว่า นักลงทุนฝากเงินไว้กับบริษัทเท่าไรจริง ๆ"[155] ในเบื้องต้นเขาถูกโจทข้อหาการฉ้อฉลหลักทรัพย์เพียงกรณีเดียว ที่มีโทษจำคุกถึง 20 ปี และปรับ 5 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 179 ล้านบาท)

เอกสารของศาลแสดงว่า บริษัทมีลูกค้า 4,800 รายโดยวันที่ 30 พฤศจิกายน 2551 และรายงานบัญชีที่บอกกับลูกค้าในเดือนนั้นแสดงว่ามียอดรวม 65,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 2,317,215 ล้านบาท) แต่บริษัทจริง ๆ มีเงินเพียงแค่ส่วนน้อยของยอดนั้น[156] เจ้าหน้าที่สำนักงานสอบสวนกลางสหรัฐจับกุมแมดอฟฟ์ในวันที่ 11 ธันวาคม 2551 ในฐานะการฉ้อฉลหลักทรัพย์[153] คือ ตามคำร้องทุกข์ ในวันก่อน[157] เขาได้บอกลูกชายทั้งสองของเขาว่า บริษัทเป็น "ธุรกิจพอนซี่ขนาดยักษ์"[158][159] ซึ่งลูกชายต่อมาจึงได้โทรคุยกับเพื่อนทนาย ผู้โทรเรียกแจ้งเจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าหน้าที่ที่เดินทางมาที่อพาร์ทเมนท์ของแมดอฟฟ์กล่าวกับเขาโดยสุภาพว่า "พวกเรามานี่เพื่อถามว่า มีคำอธิบายที่สุจริต (สำหรับเรื่องนี้) บ้างไหม" ซึ่งนักการเงินอายุ 70 ปีก็ตอบว่า "มันไม่มีคำอธิบายสุจริตอื่น"[13][154] คือเขาได้ "จ่ายนักลงทุนด้วยเงินที่ไม่มีจริง ๆ"[160]

ศาลให้ประกันตัวแมดอฟฟ์ในวันเดียวกันโดยใช้หลักทรัพย์ประกันมูลค่า 10 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 318 ล้านบาท)[158] แมดอฟฟ์และภรรยาต้องสละหนังสือเดินทาง ถูกจำกัดการเดินทาง และต้องกลับบ้านก่อน 7 โมงเย็น โดยเป็นข้อตกลงของการให้ประกัน[161] แมดอฟฟ์ได้รับคำขู่ฆ่า ซึ่งสำนักงานสอบสวนกลางได้รับเรื่องไว้ และ SEC จึงขอให้ศาลจำกัดแมดอฟฟ์ให้อยู่ที่อพาร์ทเมนท์ เพราะกลัวว่า "ไม่ถูกทำร้ายก็หนี"[161][162] เขามีกล้องจับดูอยู่ที่ประตูบ้าน โดยมีอุปกรณ์ส่งสัญญาณไปให้ FBI และภรรยาของเขาต้องจ่ายเงินเพิ่มเพื่อรักษาความปลอดภัย[162]

ในวันที่ 5 มกราคม 2552 ผู้ดำเนินคดีร้องให้ศาลยกเลิกการให้ประกันตัว หลังจากที่แมดอฟฟ์และภรรยาละเมิดคำสั่งอายัดทรัพย์ของศาลโดยส่งของมีค่าอาจมีมูลค่าถึง 1 ล้านดอลลาร์ให้กับญาติ รวมทั้งลูกชายและน้องชาย นอกจากนั้นแล้ว ยังพบเช็คที่ลงลายเซ็นเรียบร้อยแล้วมีมูลค่าถึง 173 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 5,363 ล้านบาท) ที่โต๊ะสำนักงานของแมดอฟฟ์หลังจากถูกจับ[163][164] ลูกชายของเขาเป็นคนแจ้งการส่งของมีค่าต่อเจ้าหน้าที่ ก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่เชื่อว่าแมดอฟฟ์ต้องการให้ความร่วมมือ[164] อาทิตย์ต่อมา ศาลปฏิเสธคำขอของรัฐให้ยกเลิกการประกันตัว แต่บังคับให้แมดอฟฟ์ทำรายการสินทรัพย์ส่วนตัว และอนุญาตให้ค้นสิ่งของทางไปรษณีย์[165]

วันที่ 10 มีนาคม 2552 อัยการสูงสุดเขตใต้ของนิวยอร์กส่งคำร้องทุกข์โดยฟ้องแมดอฟฟ์ด้วยข้อหา 11 กระทงต่อศาล[166][167] คือ การฉ้อฉลในการค้าหลักทรัพย์ การฉ้อฉลโดยอาศัยความไว้ใจในฐานะเป็นผู้ให้คำปรึกษาทางการเงิน การฉ้อฉลผ่านไปรษณีย์ การฉ้อฉลผ่านการสื่อสาร การฟอกเงิน การให้ความเท็จ การเบิกความเท็จ การยื่นเอกสารปลอมให้กับคณะกรรมาธิการหลักทรัพย์และการแลกเปลี่ยน (SEC) การลักทรัพย์จากกองทุนเงินเกษียณของลูกจ้าง[153][168] คำร้องทุกข์แจ้งว่า แมดอฟฟ์ได้ฉ้อฉลลูกค้าเป็นจำนวนเกือบ 65,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นการฉ้อฉลแบบพอนซี่ที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ และเป็นการฉ้อฉลต่อนักลงทุนที่ใหญ่ที่สุดทำโดยบุคคลคนเดียวอีกด้วย

การให้การ แก้

ในวันที่ 12 มีนาคม 2552 แมดอฟฟ์ให้การสารภาพความผิดทุกกระทง[22] รวมทั้งการฟอกเงิน 3 กระทง โดยผู้ดำเนินคดีหาว่า เขาได้ใช้สำนักงานในลอนดอนที่เป็นอีกบริษัทหนึ่ง เพื่อฟอกเงินกว่า 250 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 8,934 ล้านบาท) โดยโอนเงินลูกค้าจากแผนกบริหารทรัพย์สินในนิวยอร์กไปยังลอนดอน แล้วก็โอนกลับมา เพื่อให้ดูเหมือนว่าเขากำลังลงทุนในยุโรปเพื่อลูกค้า[169] เขาไม่ได้ตกลงกับเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ดำเนินคดีเพื่อผ่อนผันการลงโทษ เขาเพียงแต่สารภาพความผิดโดยสละสิทธิ์การดำเนินคดีโดยลูกขุน ข้อหาเหล่านั้นมีโทษจำคุกสูงสุด 150 ปี รวมการบังคับให้คืนทรัพย์ และค่าปรับเป็นจำนวน 2 เท่าของกำไรที่ได้หรือการสูญเสียที่เกิดขึ้นจากความผิด เจ้าหน้าที่ของรัฐประมาณว่า แมดอฟฟ์ต้องคืนทรัพย์ 7,200 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 217,145 ล้านบาท)[153][168] ก่อนหน้านั้นเดือนหนึ่ง แมดอฟฟ์ยอมความนอกศาลกับคดีแพ่งของ SEC เขาถูกห้ามไม่ให้ทำการในอุตสาหกรรมหลักทรัพย์ตลอดชีวิต และตกลงจ่ายค่าปรับในจำนวนที่ไม่ได้เปิดเผย[170]

 
นักข่าวกำลังรอที่หน้าอาคารที่อยู่ของแมดอฟฟ์เมื่อถูกจำกัดให้อยู่ที่นั่น

ในการให้การก่อนตัดสิน แมดอฟฟ์ยอมรับว่าได้ดำเนินธุรกิจแบบพอนซี่และแสดงความเสียใจต่อการทำผิดของเขา

เขาให้การว่า การฉ้อฉลเริ่มตั้งแต่ต้นคริสต์ทศวรรษ 1990 คือเขาต้องการจะสนองความต้องการของลูกค้าที่จะได้ผลกำไรตามที่สัญญา แม้ในช่วงเศรษฐกิจจะตก เขายอมรับว่า ตั้งแต่นั้นมา เขาก็ไม่ได้ใช้เงินของลูกค้าลงทุนอะไรจริง ๆ อีกเลย เขาเพียงแต่ฝากเงินที่ได้มาในบัญชีธุรกิจที่ธนาคาร เขายอมรับว่า เขาได้สร้างรายการบัญชีปลอม ๆ ที่อำพรางโดยการโอนเงินระหว่างประเทศและการทำบัญชีปลอมส่งให้แก่ SEC เมื่อลูกค้าต้องการถอนเงิน เขาก็จ่ายออกจากบัญชีธุรกิจของเขา แล้วอ้างว่า ผลกำไรที่ได้มาจากกลยุทธ์การลงทุนแบบ split-strike conversion ที่ไม่เหมือนใคร เขากล่าวว่า เขามีเจตนาที่จะเลิกใช้กลเม็ดเช่นนี้ แต่ว่า มันกลายเป็นเรื่องที่ยากและในที่สุดก็เป็นไปไม่ได้ที่จะออกจากหลุมที่ตนขุดไว้ ในที่สุด เขาก็ปลงใจว่าในที่สุดเขาจะต้องถูกจับฐานะทำการฉ้อฉล[22]

เหยื่อเพียงแค่ 2 คนจาก 25 คนที่ขอออกเสียงในศาล คัดค้านการให้การสารภาพผิดของแมดอฟฟ์[153][171] และศาลก็ได้ยอมรับการสารภาพผิดของเขา แล้วฝากขังเขาไว้ที่คุก Manhattan Metropolitan Correctional Center จนกระทั่งวันตัดสิน โดยศาลกล่าวว่า แมดอฟฟ์ตอนนี้มีโอกาสหนีสูง เพราะเหตุความสูงอายุ ความร่ำรวย และโอกาสถูกจำคุกตลอดชีวิต[172]

ส่วนทนายของเขาอุทธรณ์ขอให้ส่งเขาไปกักที่บริเวณบ้านเพื่อรอการตัดสิน และให้มีเงื่อนไขการให้ประกันแบบเดิม โดยอ้างว่าเขาจะยอมให้ความร่วมมือกับการสืบคดีของรัฐบาลที่ดีกว่า[173] แต่อัยการคัดค้าน[174][175] แล้วในวันที่ 20 มีนาคม 2552 ศาลอุทธรณ์ก็ปฏิเสธคำร้องของแมดอฟฟ์[176]

ในวันที่ 26 มิถุนายน 2552 ศาลสั่งยึดทรัพย์ 170 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 6,024 ล้านบาท) ส่วนภรรยาจะสละทรัพย์ประมาณ 80 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 2,835 ล้านบาท) โดยเหลือเงินสดเพียงแค่ 2.5 ล้านเหรียญ (ประมาณ 89 ล้านบาท)[107] แต่ข้อตกลงนี้ไม่ได้ป้องกัน SEC และทรัสตีปิการด์จากการฟ้องคดีเรียกทรัพย์จากนางแมดอฟฟ์[108] และแม้ว่า แมดอฟฟ์จะได้ร้องขอให้ป้องกันทรัพย์สินจำนวน 70 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 2,480 ล้านบาท) เพื่อภรรยา โดยอ้างว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับการฉ้อฉล

การตัดสินและชีวิตในเรือนจำ แก้

ผู้ดำเนินคดีแนะนำให้ตัดสินจำคุกตามโทษสูงสุดที่ 150 ปี และแจ้งแก่ศาลว่า ทรัสตีผู้ติดตามทรัพย์สินคือนายเออร์วิง ปิการ์ด ได้แจ้งว่า "แมดอฟฟ์ไม่ได้ให้ความร่วมมือหรือความช่วยเหลือใด ๆ ที่มีความหมาย"[177][178] ส่วนสำนักงานเรือนจำสหรัฐแนะนำให้ลงโทษ 50 ปี ในขณะที่ทนายของแมดอฟฟ์แนะนำ 12 ปี โดยอ้างว่าแมดอฟฟ์ได้สารภาพความผิด[108] ในวันที่ 29 มิถุนายน ศาลตัดสินให้จำคุก 150 ปี ดังที่แนะนำโดยผู้ดำเนินคดี โดยกล่าวว่า ศาลไม่ได้รับจดหมายขอให้บรรเทาโทษจากเพื่อนหรือญาติโดยให้การถึงการกระทำความดีของแมดอฟฟ์ และว่า "การปราศจากหลักฐานสนับสนุนดังที่ว่าเป็นเรื่องฟ้อง (ว่าแมดอฟฟ์ไม่ได้ทำความดีอะไร)"[179]

นักวิเคราะห์ข่าวให้ข้อสังเกตว่า นี่เป็นเรื่องที่ต่างจากคดีคนทำงานสำนักงานอื่น ๆ ที่มักจะมีชื่อเสียงในเรื่องการกุศลหรือในการให้ความร่วมมือเพื่อช่วยเหลือเหยื่อในคดี และแม้ว่า เหยื่อของแมดอฟฟ์จะรวมองค์กรและมูลนิธิการกุศลเป็นจำนวนหนึ่ง แต่คนคนเดียวที่ขอความเมตตาจากศาลก็คือทนายของจำเลย[180] ศาลได้เรียกการฉ้อฉลนี้ว่า "ไม่มีอะไรเทียบ" และ "เขย่าขวัญ" และกล่าวว่า การลงโทษจะช่วยป้องกันไม่ให้คนอื่นทำการฉ้อฉลเช่นเดียวกัน "ในที่นี้เราต้องแสดงให้เห็นว่า การทำผิดของแมดอฟฟ์ร้ายกาจมาก" เหยื่อหลายรายที่เสียทรัพย์สินที่เก็บมาทั้งชีวิต ได้ปรบมือแสดงความพอใจต่อการลงโทษ[181]

ศาลเห็นด้วยกับผู้ดำเนินคดีว่า การฉ้อฉลความจริงเริ่มมาตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1980 เขายังให้ข้อสังเกตว่า อาชญากรรมของแมดอฟฟ์ "ตกกราฟเลย" เพราะว่า ข้อแนะนำการตัดสินโทษของรัฐบาลกลางเกี่ยวกับการฉ้อฉลกำหนดความเสียหายถึงเพียงแค่ 400 ล้านดอลลาร์ และโทษของแมดอฟฟ์เป็น 162 เท่ายิ่งกว่านั้น[182] ศาลกล่าวว่า "ข้าพเจ้ารู้สึกว่า แมดอฟฟ์ยังไม่ได้ทำสิ่งที่ตนทำได้หรือได้บอกสิ่งที่ตนรู้ทั้งหมด" โดยให้ข้อสังเกตว่า แมดอฟฟ์ไม่ยอมแสดงผู้ร่วมทำผิด ทำให้ผู้ดำเนินคดีลำบากในการดำเนินคดีผู้อื่น ศาลไม่พิจารณาคำขอความเมตตาจากทนายจำเลยโดยกล่าวว่า แมดอฟฟ์ได้ให้สมาชิกครอบครัวกู้เงิน และได้โอนเงิน 15 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 540 ล้านบาท) จากบริษัทไปยังบัญชีของภรรยาก่อนที่จะสารภาพผิด[183]

ทรัสตีผู้มีหน้าที่หาเงินมาคืนผู้สูญทรัพย์นายเออร์วิง ปิการ์ด ยังกล่าวด้วยว่า แมดอฟฟ์ไม่ได้ช่วยเหลืออะไรอย่างสำคัญ ทำให้ยากในการสืบหาทรัพย์สิน อดีตอัยการผู้หนึ่งเสนอว่า แมดอฟฟ์ความจริงสามารถได้การตัดสินจำคุกแบบปล่อยตัวโดยมีการคุมความประพฤติ ถ้าได้ร่วมมืออย่างเต็มที่กับผู้สืบสวนคดี แต่ความเก็บเงียบของแมดอฟฟ์แสดงว่ายังมีผู้ร่วมทำผิดอื่น ซึ่งทำให้ศาลตัดสินโดยโทษสูงสุด[184][185] ศาลยังสั่งให้แมดอฟฟ์คืนทรัพย์ 17,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 608,031 ล้านบาทต้นปี 2559) อีกด้วย[186][187][188]

แมดอฟฟ์ได้ขอโทษเหยื่อเมื่อถูกตัดสินว่า "ผมได้ทิ้งมรดกแห่งความอับอายไว้อย่างหนึ่ง ดังที่เหยื่อของผมได้แสดง ต่อครอบครัวและหลาน ๆ ของผม นี่เป็นอะไรที่ผมต้องอยู่กับมันตลอดชีวิตที่เหลือ ผมเสียใจ ... ผมรู้ว่านี่ไม่ได้ช่วยคุณ"[189]

แมดอฟฟ์ถูกจำขังที่คุก Butner Federal Correctional Complex (คุกเข้มงวดชั้นกลาง) ที่อยู่นอกเมืองราลี รัฐนอร์ทแคโรไลนา โดยมีเลขประจำตัว #61727-054[190] ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2552 เขาได้ให้สัมภาษณ์จากคุกเป็นครั้งแรกต่อทนายคู่หนึ่ง เพราะว่าพวกเขาขู่ที่จะฟ้องภรรยาของเขาคือนางรูธ โดยเป็นตัวแทนนักลงทุนหลายราย แต่ในการสัมภาษณ์เป็นเวลา 4 1/2 ชม. เขาทำตัวหยิ่งทะนงตน และเมื่อถามถึงจึงจะขอโทษลูกค้าของเขา[191]

การหาทรัพย์มาคืน แก้

ทรัพย์สินของแมดอฟฟ์รวมทั้งหมดประมาณ 826 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 29,742 ล้านบาท) ที่ถูกอายัด ซึ่งแมดอฟฟ์ได้ให้รายการทรัพย์ทั้งของตนและของบริษัทแก่ SEC เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2551 ซึ่งต่อมาเปิดเผยในเอกสารที่ยื่นแก่ศาลในวันที่ 13 มีนาคม 2552 แมดอฟฟ์ไม่มีบัญชีเงินเกษียณหรือเงินที่ได้เป็นประจำปี เขามีหลักทรัพย์รวมกันน้อยกว่า 2 แสนดอลลาร์ เป็นหุ้นของบริษัทการเงินและธนาคารต่าง ๆ เขาไม่ได้แสดงว่ามีบัญชีธนาคารในต่างประเทศ[192][193]

ในวันที่ 2 มีนาคม 2552 ศาลได้เปลี่ยนคำสั่งอายัดทรัพย์ของแมดอฟฟ์ รวมทั้งบริษัทหลักทรัพย์ ที่ดิน งานศิลป์ และตั๋วงานบันเทิง และอนุมัติคำขอจากผู้ดำเนินคดีให้ดำรงการอายัดอพาร์ทเมนท์ในแมนแฮตตัน บ้านพักร้อนในเมือง Montauk รัฐนิวยอร์ก และเมือง Palm Beach รัฐฟลอริดา แมดอฟฟ์ยังตกลงให้ยึดหุ้นส่วนของเขาในบริษัทที่ลงทุนร่วมกับบริษัทนายหน้าใหญ่อื่น ๆ คือ Primex Holdings LLC[149] ส่วนตั๋ววันเปิดฤดูของทีมเบสบอล New York Mets ของเขาขายได้ในราคา 7,500 เหรียญผ่านอีเบย์[194] ต่อมาวันที่ 17 มีนาคม 2552 ผู้ดำเนินคดีจึงยื่นเอกสารแสดงทรัพย์สินอื่น ๆ รวมทั้งของมีค่ามูลค่า 2.6 ล้านเหรียญ เงินกู้ 30 ล้านเหรียญที่ลูกชายทั้งสองยืม และบริษัทและทุนอื่น ๆ ที่สามีภรรยามีส่วนเป็นเจ้าของ[195][196]

ในวันที่ 13 เมษายน 2552 ศาลรัฐคอนเนตทิคัตยกเลิกการอายัดทรัพย์ที่ทำตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม 2552 แล้วสั่งให้ผู้จัดตั้งบริษัท Fairfield Greenwich Group 2 คนจำนองบ้านเพื่อประกันหนี้จำนวน 10 ล้านดอลลาร์ และ 2 ล้านดอลล่าร์[197] เจ้าของบริษัทคนหนึ่งตกลงโดยมีข้อแม้ว่า ยังไม่ได้ยอมรับความผิดหรือความรับผิดชอบใด ๆ ส่วนเจ้าของคนที่ 3 ยังมีทรัพย์ถูกอายัดอยู่ ทั้งสามคนอยู่ในระหว่างการดำเนินคดีที่ผู้ฟ้องร้องคือกองทุนเกษียณเทศบาลเมืองแฟร์ฟิลด์ รัฐคอนเนตทิคัต ซึ่งสูญทรัพย์รวมกัน 42 ล้านดอลลาร์ คดีชื่อว่า "โปรแกรมเกษียณสำหรับลูกจ้างเมืองแฟร์ฟิลด์กับแมดอฟฟ์ (Retirement Program for Employees of the Town of Fairfield v. Madoff)" FBT-CV-09-5023735-S ฟ้องที่ศาลสูงของรัฐคอนเนตทิคัต (เมืองบริดจ์พอร์ต)[198][199][200] บริษัท Maxam Capital และบริษัทที่ส่งเงินให้กองทุนแมดอฟฟ์อื่น ๆ ซึ่งอาจจะช่วยให้เมืองแฟร์ฟิลด์ทวงทรัพย์คืนได้ถึง 75 ล้านดอลลาร์ ก็เป็นจำเลยในคดีด้วย[201][202]

ส่วนศาสตราจารย์แห่งคณะนิติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยโคลัมเบียท่านหนึ่งกล่าวว่า เงินของแมดอฟฟ์ส่วนมากอาจจะอยู่ในบัญชีต่างประเทศ SEC เชื่อว่า การเก็บทรัพย์สินเหล่านี้เป็นความลับอาจจะช่วยป้องกันไม่ให้ทรัพย์สินถูกยึดโดยเจ้าหน้าที่และเจ้าหนี้ของประเทศอื่น ๆ[203][204] ส่วน หนังสือพิมพ์ Montreal Gazette รายงานในวันที่ 12 มกราคม 2553 ว่า อาจจะมีทรัพย์สินของแมดอฟฟ์ที่ยังไม่พบในประเทศแคนาดา[205]

ในเดือนธันวาคม 2553 นางบาร์บารา พิเคาเออร์ และบุคคลที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ได้ตกลงกับทรัสตีนายเออร์วิง ปิการ์ด ที่จะคืนทรัพย์ 7,200 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 217,145 ล้านบาท) จากมรดกของสามีของเธอที่พึ่งเสียชีวิตคือนายเจฟฟรีย์ พิเคาเออร์ ให้กับนักลงทุนคนอื่น ๆ[136]

โดยเป็นกระบวนการชดใช้ให้กับเหยื่อ ในวันที่ 14 และ 17 ธันวาคม 2555 รัฐบาลได้ยื่นขอศาลให้ตัดสินว่า การคืนทรัพย์ทั้งหมดเป็นไปไม่ได้ และดังนั้น จึงจะทำให้รัฐบาลสามารถแจกจ่ายทรัพย์สินที่ยึดมาได้แล้วกว่า 2,350 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 70,874 ล้านบาท) ให้แก่ประชาชนตามกำหนดกฎเกณฑ์ของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐ[206] ผ่านกองทุนเหยื่อแมดอฟฟ์ (Madoff Victim Fund)[207]

ลูกค้าที่เสียทรัพย์ แก้

ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2552 ศาลคดีล้มละลายในแมนแฮตตันเปิดเผยรายการลูกค้ายาว 162 หน้าที่มีรายการบัญชีกว่า 13,500 บัญชี[208] แต่ไม่ได้แสดงจำนวนที่ลงทุน[209] แต่ว่า บุคคลที่ลงทุนผ่าน Fairfield Greenwich Group, Ascot Partners, หรือ Chais Investments ไม่ได้รวมอยู่ในรายชื่อ[210] ลูกค้ามีทั้งธนาคาร กองทุนบริหารความเสี่ยง มหาวิทยาลัย และเศรษฐี ซึ่งรวมเงินเป็น 41,000 ล้านดอลลาร์ ตามการนับของสำนักข่าวแห่งหนึ่ง แต่อาจจะนับผู้ลงทุนบางพวกหลายครั้งผ่านกองทุนที่ส่งทุนให้แมดอฟฟ์อีกที[211] แม้ว่าแมดอฟฟ์จะส่งรายงานให้แก่ SEC ในปี 2551 ว่า แผนกแนะนำทางการเงินของเขามีลูกค้าเพียงแค่ 11-25 รายและมีทรัพย์สินเพียงแค่ 17,100 ล้านดอลลาร์[212]

ลูกค้าที่มีชื่อเสียงรวมทั้งผู้กำกับหนังยอดดังสตีเวน สปีลเบิร์ก ประธานบริหารบริษัทดรีมเวิร์กสแอนิเมชัน เจฟฟรีย์ แคตเซนเบิร์ก ดารานักแสดงเควิน เบคอน และนักแสดงจอห์น มัลโควิช[213] และพิธีรายการโทรทัศน์แลร์รี คิง[214]

ผู้ลงทุนที่ใหญ่ที่สุด แก้

ตามหนังสือพิมพ์ The Wall Street Journal[215] ผู้ลงทุนที่เสียทรัพย์มากที่สุด รวมทั้งกองทุนที่ส่งเงินต่อให้แมดอฟฟ์ คือ

  • Fairfield Greenwich Group (บริษัทบริหารหลักทรัพย์อเมริกัน) 7,500 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 268,346 ล้านบาทต้นปี 2559)
  • Tremont Capital Management (บริษัทบริหารหลักทรัพย์)[216] 3,300 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 118,082 ล้านบาท)
  • ธนาคารสเปน Banco Santander 2,870 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 102,696 ล้านบาท)
  • ธนาคารออสเตรีย Bank Medici 2,100 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 75,123 ล้านบาท)
  • Ascot Partners (บริษัทบริหารหลักทรัพย์อเมริกัน) 1,800 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 64,401 ล้านบาท)
  • Access International Advisors (บริษัทบริหารหลักทรัพย์ฝรั่งเศส) 1,400 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 50,083 ล้านบาท)
  • ธนาคารเนเธอร์แลนด์ Fortis-ABN AMRO 1,350 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 48,294 ล้านบาท)
  • ฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงกิ้งคอร์ปอเรชั่น 1,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 35,773 ล้านบาท)

ทรัพย์ที่มีโอกาสสูญของกลุ่มนักลงทุนเหล่านี้อาจถึง 21,320 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 762,670 ล้านบาท)

ส่วนกองทุนที่ส่งเงินต่อคือ Thema International Fund โดยวันที่ 30 พฤศจิกายน 2551 มีทรัพย์สินสุทธิกับแมดอฟฟ์ที่ 1,100 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 39,350 ล้านบาท)[217][218] ส่วนนักลงทุนอีก 11 รายที่มีโอกาสสูญทรัพย์ระหว่าง 100 ล้าน - 1,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 3,577 - 35,773 ล้านบาท) คือ

มีนักลงทุนอีก 23 คนที่มีโอกาสสูญทรัพย์ระหว่าง 500,000 - 100 ล้านดอลล่าร์ (ประมาณ 18 - 3,577 ล้านบาท) โดยมีโอกาสสูญทรัพย์รวมกัน 540 ล้านดอลลาร์ (19,201 ล้านบาท) ที่สุดแล้ว หนังสือพิมพ์ The Wall Street Journal รวมโอกาสสูญทรัพย์รวมกันทั้งสิ้นทุกลุ่ม 26,900 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 956,483 ล้านบาท)

ต่อมานักลงทุนบางท่านเปลี่ยนการประเมินทรัพย์ที่สูญโดยนับเอาแต่ทุนเบื้องต้น เพราะว่ากำไรที่บริษัทรายงานน่าจะเป็นเรื่องฉ้อฉล ยกตัวอย่างเช่น มหาวิทยาลัย Yeshiva University ในนครนิวยอร์ก กล่าวว่า โอกาสสูญทรัพย์ของมหาวิทยาลัยมีเพียงแค่ 14.5 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 516 ล้านบาท) ไม่ใช่ 110 ล้านดอลลาร์ (3,911 ล้านบาท) ตามที่รายงานในเบื้องต้น เพราะว่าจำนวนที่มากกว่ารวมเอากำไรที่แมดอฟฟ์ได้รายงานต่อมหาวิทยาลัย

การปรับของกรมสรรพากร แก้

มีการประเมินว่า กรมสรรพากรในสหรัฐอาจปรับมูลนิธิที่ลงทุนกับแมดอฟฟ์เป็นจำนวนเงินถึง 1,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 35,557 ล้านบาท) แม้ว่ามูลนิธิการกุศลปกติจะไม่ต้องจ่ายภาษีเงินได้ต่อรัฐบาลกลาง แต่ก็ยังอาจต้องถูกปรับภาษีสรรพสามิต เพราะเหตุไม่ได้ตรวจดูการลงทุนกับแมดอฟฟ์ให้ดี ๆ ไม่สนใจสัญญาณเตือน และไม่กระจายเงินลงทุนให้ดี เบี้ยปรับเริ่มที่ 10% ของจำนวนที่ลงทุน และจะเป็น 25% ถ้าไม่พยายามทวงเอาทรัพย์คืน ประธานแผนกต่าง ๆ ผู้อำนวยการ และทรัสตีของมูลนิธิอาจถูกเบี้ยปรับถึง 15% และผู้จัดการแต่ละคนอาจถูกปรับ 20,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 711,000 บาท) สำหรับการลงทุนแต่ละอย่าง[219]

ผลกระทบ แก้

คดีอาญาต่อธนาคาร Aurelia Finance แก้

มีการดำเนินคดีอาญาต่อกรรมการบริษัท 5 คนของธนาคารบริหารหลักทรัพย์ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ คือ Aurelia Finance ที่สูญทรัพย์ของลูกค้าประมาณ 800 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 28,446 ล้านบาท) ทรัพย์สินของกรรมการบริษัทได้ถูกอายัดแล้ว[220][221]

กลุ่มธนาคาร Santander แก้

ลูกค้าในอเมริกาใต้ที่ลงทุนกับแมดอฟฟ์ผ่านธนาคารสเปน Grupo Santander ได้ฟ้องคดีในนามกลุ่มบุคคลต่อธนาคาร Santander ในเมืองไมแอมี รัฐฟลอริดา และธนาคารตกลงที่จะจ่ายให้ลูกค้าเป็นหุ้นบุริมสิทธิของธนาคารมีมูลค่า 2,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 71,114 ล้านบาท) เท่ากับทุนเริ่มต้นของลูกค้า ซึ่งเป็นหุ้นที่แบ่งเงินปันผล 2%[222] โดยมีลูกค้าประมาณ 70% ที่ยอมรับข้อตกลงนี้[223]

ธนาคาร Union Bancaire Privee แก้

ในวันที่ 8 พฤษภาคม 2552 ธนาคาร UBP ถูกฟ้องในเขตแมนแฮตตัน[224] แต่ว่าแม้ต้วธนาคารเองก็เป็นเหยื่อของแมดอฟฟ์เหมือนกัน และธนาคารก็ได้เสนอในเดือนมีนาคม 2552 ที่จะชดเชยเงินผู้ลงทุนครึ่งหนึ่งจากที่ลงทุนกับแมดอฟฟ์ดั้งเดิม[225] ต่อมาวันที่ 6 ธันวาคม 2553 UBP ประกาศว่าได้ตกลงกับทรัสตี โดยจ่ายเงินอาจจะถึง 500 ล้านดอลลาร์ (17,887 ล้านบาท) เพื่อสางคดีเกี่ยวข้องกับทรัสตี โดยเป็นธนาคารแรกที่ตกลงกับทรัสตี[226] ด้วยการตกลงเช่นนี้ ทรัสตีตกลงที่จะไม่ฟ้องคดีเรียกทรัพย์คืนแบบ clawback ต่อธนาคาร เครือข่ายธนาคาร หรือลูกค้าของธนาคาร[227]

Notz Stucki แก้

ส่วนกองทุนบริหารหลักทรัพย์ในเมืองเจนีวา Notz Stucki's Plaza Fund จะจ่ายเงินจนถึง 103.2 ล้านดอลลาร์ (3,692 ล้านบาท) ให้กับลูกค้าที่ไม่ได้ขอลงทุนกับแมดอฟฟ์โดยเฉพาะ และจะจ่ายเป็นตั๋วแลกเงินออกให้โดยนิติบุคคลต่างหากที่แลกเป็นเงินได้หมดภายใน 5 ปี[228]

ธนาคาร Bank Medici แก้

Bank Medici เป็นธนาคารออสเตรียตั้งโดยเจ้าของผู้พบกับแมดอฟฟ์เมื่อปี 2528 เมื่อยังอยู่ในนครนิวยอร์ก[229] ผลกำไร 90% ของธนาคารมาจากบริษัทของแมดอฟฟ์[230] ในเดือนธันวาคม 2558 ธนาคารรายงานว่า กองทุนสองกองทุนของธนาคารอาจจะสูญทรัพย์เพราะแมดอฟฟ์ ต่อมาวันที่ 2 มกราคม 2552 เจ้าหน้าที่ควบคุมธนาคารของประเทศ (FMA) ได้เข้าควบคุมธนาคาร[231] รัฐได้ประมูลขายใบอนุญาตธนาคาร และธนาคารก็กำลังถูกฟ้องโดยลูกค้าทั้งในสหรัฐอเมริกาและในออสเตรีย[232] ผู้สืบสวนคดีได้เริ่มการสืบสวนทางอาญาทั้งต่อธนาคารและเจ้าของ ซึ่งได้ลงทุนทรัพย์กว่า 2,100 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 75,123 ล้านบาท) กับแมดอฟฟ์[233] ต่อมาวันที่ 28 พฤษภาคม 2552 ธนาคารก็ถูกริบใบอนุญาต[234]

Innocence Project แก้

Innocence Project เป็นองค์กรการกุศลที่ได้เงินโดยมากจากมูลนิธิ JEHT Foundation ซึ่งได้ทุนจากผลกำไรที่ได้จากแมดอฟฟ์ ต่อมาผู้บริหารเงินทุนจึงต้องปิดองค์กรทั้งสอง ซึ่งปกติช่วยเหลือบุคคลที่อยู่ในสถานะชีวิตที่ไม่ดี โดยเฉพาะอดีตนักโทษ[235][236]

ธนาคาร Westport National แก้

ในเดือนเมษายน 2553 อัยการสูงสุดของรัฐคอนเนตทิคัตฟ้องคดีธนาคาร Westport National และเจ้าหน้าที่อีกคนหนึ่งในฐานะ "เท่ากับช่วยและสนับสนุน" การฉ้อฉลของแมดอฟฟ์ โดยต้องการฟ้องเอาเงินคืน 16.2 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 485 ล้านบาท) ซึ่งรวมค่าธรรมเนียมที่ธนาคารเก็บจากลูกค้าที่ลงทุนกับแมดอฟฟ์ โดยมีประมาณ 241 รายที่ได้ลงทุนทรัพย์ประมาณ 10 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 300 ล้านบาท) แต่ธนาคารไม่ยอมรับผิดโดยประการทั้งปวง[237]

มูลนิธิ Picower แก้

มูลนิธิ Picower ที่จัดตั้งขึ้นในปี 2545 เป็นองค์กรการกุศลแนวหน้าในสหรัฐอเมริกาที่สนับสนุนองค์กรต่าง ๆ รวมทั้งสถาบันพิเคาเออร์เพื่อการเรียนรู้และความจำ (Picower Institute for Learning and Memory) ที่สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์, Human Rights First, ห้องสมุดสาธารณะในมหาครนิยอร์ก (New York Public Library) และกองทุนสุขภาพเด็ก (Children's Health Fund) โดยเป็นองค์กรกุศลที่จัดว่าใหญ่เป็นอันดับ 71 ในสหรัฐ และมีรายงานว่าได้ลงทุนทรัพย์ 1,000 ล้านดอลลาร์กับแมดอฟฟ์ โดยผู้จัดตั้งมูลนิธิคือนายเจฟฟรีย์ พิเคาเออร์ ได้เป็นเพื่อนกับแมดอฟฟ์เป็นเวลากว่า 30 ปี ต่อมามูลนิธิ รวมทั้งองค์กรการกุศลที่ลงทุนกับแมดอฟฟ์อื่น ๆ ได้ประกาศในเดือนธันวาคม 2551 ว่า จะยุติการดำเนินงาน[238]

ปีเตอร์ แมดอฟฟ์ แก้

ในวันที่ 29 มิถุนายน 2555 ปีเตอร์ให้การสารภาพความผิดในศาลรัฐบาลกลางในข้อหาต่าง ๆ และตกลงยอมรับโทษจำคุก 10 ปี ในช่วงการดำเนินคดี อัยการได้แสดงว่า ปีเตอร์ได้เซ็นรายงานการปฏิบัติตามกฎหมายหลาย ๆ อาทิตย์พร้อม ๆ กัน โดยใช้ปากกาและสีปากกาต่าง ๆ กันเพื่อจะให้ดูเหมือนว่าได้เซ็นเอกสารเหล่านั้นในเวลาต่าง ๆ กัน[239] นอกจากนั้นแล้ว ปีเตอร์ยังยอมรับการซ่อนทรัพย์เป็นล้าน ๆ ดอลลาร์จากกรมสรรพากรสหรัฐ (IRS) เพื่อเลี่ยงภาษี และได้นำเงิน 200,000 ดอลลาร์ไปบริจาคเพื่อการกุศลแม้หลังจากที่การฉ้อฉลได้ถูกเปิดโปงแล้ว[240][241]

ศาลมีคำสั่งให้ริบทรัพย์สินทั้งหมดรวมทั้งเงินสด บ้าน รถยนต์ และนาฬิกาโรเล็กซ์ และข้อตกลงระงับคดีกับครอบครัวบังคับให้ภรรยาคือนางมาเรียน ลูกสาวคือนางชานา แมดอฟฟ์ สวอนสัน และญาติอื่น ๆ ต้องสละทรัพย์สินต่าง ๆ[242] ในวันที่ 20 ธันวาคม 2555 เขาถูกตัดสินให้จำคุก 10 ปีฐานมีส่วนร่วมกับธุรกิจพอนซี่[243]

การฆ่าตัวตาย แก้

René-Thierry Magon de la Villehuchet แก้

ในวันที่ 23 ธันวาคม 2551 มีการพบศพของผู้จัดตั้งบริษัท Access International Advisors LLC คนหนึ่งคือนาย René-Thierry Magon de la Villehuchet ในสำนักงานของบริษัทในมหานครนิวยอร์ก โดยตัดเส้นเลือดที่ข้อมือซ้าย[244] นายเดอลาวิลเลฮูเชต์ได้ทานยานอนหลับเข้าไปด้วย จึงปรากฏว่าเป็นการฆ่าตัวตาย[245][246] ผู้เสียชีวิตมาจากตระกูลเก่าแก่ฝรั่งเศส และแม้ว่าจะไม่พบจดหมายลาตายที่สำนักงาน แต่ว่าพี่ชายของเขาในฝรั่งเศสก็ได้รับจดหมายไม่นานนักหลังจากพบศพที่เขาได้เขียนถึงความเสียใจและความรู้สึกผิด[244]

สำนักงานสอบสวนกลางสหรัฐและคณะกรรมาธิการหลักทรัพย์และการแลกเปลี่ยน (SEC) ไม่เชื่อว่า นายเดอลาวิลเลฮูเชต์มีส่วนเกี่ยวข้องกับการฉ้อฉล[246] นายแฮร์รี่ มาโกโปโลสกล่าวว่า เขาได้พบกับนายเดอลาวิลเลฮูเชต์เมื่อหลายปีก่อนและได้เตือนเขาด้วยว่า แมดอฟฟ์อาจกำลังทำผิดกฎหมาย[247] ในปี 2545 บริษัทได้ลงทุนทรัพย์สินที่จัดการ 540 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 23,256 ล้านบาท) (45%) กับแมดอฟฟ์ แต่โดยปี 2551 บริษัทได้ลงทุน 2,250 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 74,862 ล้านบาท) (75%) กับแมดอฟฟ์

นอกจากนั้นแล้ว นายเดอลาวิลเลฮูเชต์ยังได้ลงทุนทรัพย์สินส่วนตัวทั้งหมดและ 20% ของพี่ชาย กับแมดอฟฟ์[248] พี่ชายแสดงว่า นายเดอลาวิลเลฮูเชต์ไม่ได้รู้จักแมดอฟฟ์โดยตรงแต่รู้จักผ่านเพื่อนผู้ร่วมจัดตั้งบริษัทซึ่งเป็นนายธนาคารชาวฝรั่งเศส[244]

วิลเลียม ฟ็อกซ์ตัน แก้

ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2552 นายทหารชาวอังกฤษผู้ได้รับเหรียญเกียรติยศนายวิลเลียม ฟ็อกซ์ตัน OBE[249] วัย 65 ปี ได้ยิงตัวตายในสวนสาธารณะในเมืองเซาแทมป์ตัน ประเทศอังกฤษ หลังจากที่สูญทรัพย์สมบัติทั้งหมด เขาได้ลงทุนทรัพย์ของเขากับกองทุนต่าง ๆ[250][251] ของธนาคาร Bank Medici ในประเทศออสเตรียที่ส่งทุนต่อให้แมดอฟฟ์[252]

นายมาร์ก แมดอฟฟ์ แก้

ในวันที่ 10 ธันว่าคม 2553 มีการพบศพลูกชายคนโตของแมดอฟฟ์คือมาร์ก สองปีเต็มหลังจากที่พ่อของเขาถูกจับ โดยแขวนคอตายในห้องพักนครนิวยอร์กและปรากฏเป็นการฆ่าตัวตาย แม้ว่าเจ้าหน้าที่จะไม่พบจดหมายลาตาย[253] มาร์กได้พยายามหางานซื้อขายหุ้นในบริษัทของวอลล์สตรีทอย่างไม่สำเร็จผลหลังจากการฉ้อฉลได้ถูกเปิดโปง มีรายงานว่าเขาเครียดเกี่ยวกับการถูกดำเนินคดีเพราะว่าเจ้าหน้าที่รัฐบาลกลางกำลังสืบสวนเรื่องการฉ้อฉลภาษี นอกจากนั้นแล้ว ทรัสตีคือนายปิการ์ดยังฟ้องคดีต่อสมาชิกครอบครัวของแมดอฟฟ์หลายคนรวมทั้งนายมาร์ก[254]

ในสำนวนดำเนินคดี นายปิการ์ดกล่าวว่า นายมาร์กและญาติอื่น ๆ ของแมดอฟฟ์ได้ผลกำไรที่ไม่ควรเป็นสิบ ๆ ล้านดอลลาร์ ผ่านธุรกรรมการลงทุน "ที่เป็นนิยายหรือแก้เปลี่ยนวันที่ในภายหลัง" และแสดงสัญญาการกู้ยืมเพื่อซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่ได้ใช้คืน นายปิการ์ดยังกล่าวด้วยยว่า นายมาร์กอยู่ในฐานะที่ควรจะรู้ถึงการฉ้อฉลของบริษัทบิดา เพราะว่าเป็นผู้อำนวยการแผนกการซื้อขายหุ้น และทำหน้าที่เป็นหัวหน้าบริษัทถ้าบิดาไม่อยู่ และมีใบอนุญาตในการซื้อขายหลักทรัพย์หลายใบกับองค์การควบคุมอุตสาหกรรมการเงิน (Financial Industry Regulatory Authority ตัวย่อ FINRA) แต่ว่า นายมาร์กความจริงทำงานกับแผนกของบริษัทที่ไม่เกี่ยวข้องกับการฉ้อฉล และไม่มีการฟ้องคดีว่ามีความผิดใด ๆ[255]

คณะกรรมาธิการหลักทรัพย์และการแลกเปลี่ยน (SEC) แก้

หลังจากการเปิดโปงการฉ้อฉลของแมดอฟฟ์ ผู้ตรวจราชการของคณะกรรมาธิการหลักทรัพย์และการแลกเปลี่ยนได้ทำการตรวจสอบภายในถึงความล้มเหลวขององค์กรในการตรวจพบการฉ้อฉลแม้ว่าจะมีทั้งสัญญาณเตือนและการให้ข้อมูลจากบุคคลอื่น ๆ แล้วเขียนเป็นรายงาน 477 หน้า[256] ว่าองค์กรพลาดสัญญาณเตือนเหล่านั้นได้อย่างไร ได้ชี้ถึงโอกาสที่เกิดขึ้นอย่างซ้ำ ๆ ที่จะตรวจพบการฉ้อฉล และว่าความพยายามขององค์กรไร้ประสิทธิภาพอย่างไร[257] และโดยตอบสนองต่อคำแนะนำที่ปรากฏในรายงาน เจ้าหน้าที่ขององค์กร 8 คนได้ถูกลงโทษ แต่ไม่มีใครถูกไล่ออก[258]

ธนาคาร JPMorgan Chase แก้

ในวันที่ 7 มกราคม 2557 นิตยสารฟอบส์และสำนักงานข่าวอื่น ๆ รายงานว่า ธนาคาร JPMorgan Chase ซึ่งเป็นธนาคารใหญ่สุดของสหรัฐอเมริกาและใหญ่เป็นอันดับ 6 ของโลก และเป็นที่ฝากเงินของแมดอฟฟ์ รายงานว่าธนาคารตกลงที่จะจ่ายทรัพย์เพื่อระงับคดีเป็นจำนวน 1,700 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 56,253 ล้านบาท) เป็นการระงับการดำเนินคดีทางอาญาทุกอย่างที่สามารถฟ้องธนาคารได้เพราะเหตุของการฉ้อฉล ธนาคารได้ตกลงกับอัยการของรัฐบาลกลางเพื่อระงับการฟ้องคดีอาญาสองข้อหาในการไม่ได้แจ้งเรื่องน่าสงสัย คือธนาคารยอมรับว่าไม่ได้ส่งรายงานการกระทำที่น่าสงสัยแม้หลังมีสัญญาณเตือนเกี่ยวกับแมดอฟฟ์ โดยอัยการอ้างว่า ธนาคารไม่มีวิธีการดำเนินงานเพื่อป้องกันการฟอกเงินที่ดีพอ[259][260][261]

การชำระเงิน แก้

ในเดือนพฤศจิกายนปีพ.ศ. 2558 Picard ประกาศว่า 1.42 พันล้านดอลลาร์ได้รับอนุญาตจากผู้พิพากษาสหรัฐอเมริกาให้มอบให้กับผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของการลงทุนนี้[262]ตามที่ Picard ได้กล่าวว่าการกระจายรายได้แต่ละบุคคลจะอยู่ในช่วงตั้งแต่ 1,287 ถึง 200.4 ล้านดอลลาร์[263] Bloomberg Business News รายงานในปีพ.ศ. 2562 ว่านักลงทุนประมาณ 2.5 พันล้านดอลลาร์ไม่ได้พยายามเรียกร้องเงินสูญหาย นักวิเคราะห์สงสัยว่าฝ่ายต่าง ๆ เหล่านี้ยังคงนิ่งเงียบเพราะการลงทุนของพวกเขามาจากกิจกรรมที่ผิดกฎหมายเช่นการค้ายาเสพติดหรือการหลีกเลี่ยงภาษีหรือเพราะพวกเขามีหนี้สินทางแพ่งในสหรัฐอเมริกาและไม่ต้องการที่จะพึ่งพาอำนาจศาลของสหรัฐอเมริกา[264]

เชิงอรรถและอ้างอิง แก้

  1. "The Madoff Case: A Timeline". เดอะวอลล์สตรีทเจอร์นัล. March 6, 2009. สืบค้นเมื่อ 2009-03-06.
  2. David Glovin (February 11, 2009). "Madoff Prosecutors Get 30 More Days for Indictment". Bloomberg L.P. สืบค้นเมื่อ 2009-02-11.
  3. 3.0 3.1 Hays, Tom; Larry Neumeister; Shlomo Shamir (March 6, 2009). "Extent of Madoff fraud now estimated at far below $50b". Haaretz. Associated Press. สืบค้นเมื่อ 2009-03-07.
  4. 4.0 4.1 Bray, Chad (March 12, 2009). "Madoff Pleads Guilty to Massive Fraud". The Wall Street Journal. Dow Jones, Inc. สืบค้นเมื่อ 2009-03-12.
  5. "Biggest Fraud in History $50 billion Madoff Ponzi Scheme". December 13, 2008.
  6. "Prosecutors say half of Bernie Madoff's investors lost nothing in Ponzi scheme". Daily News (New York). September 23, 2009.
  7. 7.0 7.1 7.2 Caruso, David (December 18, 2008). "Madoff Investigators Look for Partners". AOL. Associated Press. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ September 22, 2018. สืบค้นเมื่อ 2008-12-23.
  8. 8.0 8.1 8.2 8.3 Lieberman, David; Pallavi Gogoi; Theresa Howard; Kevin McCoy; Matt Krantz (December 15, 2008). "Investors remain amazed over Madoff's sudden downfall". USA Today. สืบค้นเมื่อ 2008-12-24.
  9. 9.0 9.1 9.2 9.3 9.4 Appelbaum, Binyamin; David S. Hilzenrath; Amit R. Paley (December 13, 2008). "'All Just One Big Lie'". The Washington Post. Washington Post Company. p. D01. สืบค้นเมื่อ 2008-12-12.
  10. "Madoff Wall Street fraud threatens Jewish philanthropy". สืบค้นเมื่อ 2008-12-13.
  11. Henriques (December 13, 2008). "For Investors, Trust Lost, and Money Too". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 2008-12-13.
  12. 12.0 12.1 Glovin, Dan; Bradley Keoun (December 11, 2008). "Madoff Charged in $50 Billion Fraud at Investment Advisory Firm". Bloomberg News. สืบค้นเมื่อ 2008-12-11.
  13. 13.0 13.1 13.2 "The Madoff files: Bernie's billions". London: The Independent. 2009-01-29. สืบค้นเมื่อ 2009-04-26.
  14. Bloomberg (February 1, 2009). "Madoff's tactics date to 1960s, when father-in-law was recruiter | Business Features | Jerusalem Post". Jpost.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ June 15, 2011. สืบค้นเมื่อ 2009-04-26.
  15. 15.0 15.1 15.2 15.3 15.4 de la Merced, Michael J. (December 24, 2008). "Effort Under Way to Sell Madoff Unit". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 2008-12-24.
  16. Weiner, Eric J. (2005). What Goes Up: The Uncensored History of Modern Wall Street as Told by the Bankers, Brokers, CEOs, and Scoundrels who Made it Happen. Little, Brown and Company. pp. 188–192. ISBN 0-316-92966-2. สืบค้นเมื่อ 2009-03-13.
  17. "The Owner's Name is on the Door". Madoff.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ December 15, 2008. สืบค้นเมื่อ 2008-12-11.
  18. 18.0 18.1 18.2 18.3 18.4 Smith, Randall (December 16, 1992). "Wall Street Mystery Features a Big Board Rival". The Wall Street Journal. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ May 13, 2016. สืบค้นเมื่อ 2016-06-13.
  19. Feuer, Alan; Haughney, Christine (December 12, 2008). "Standing Accused: A Pillar of Finance and Charity". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 2011-10-27.
  20. "Probe Eyes Role of Aide to Madoff, Accountant". The Wall Street Journal. December 23, 2008.
  21. Kolker, Carlyn; Tiffany Kary; Saijel Kishan (December 23, 2008). "Madoff Victims May Have to Return Profits, Principal". Bloomberg News. สืบค้นเมื่อ 2008-12-24.
  22. 22.0 22.1 22.2 "Plea Allocution of Bernard Madoff (U.S. v. Bernard Madoff)" (PDF). The Wall Street Journal. March 12, 2009. สืบค้นเมื่อ 2009-03-12.
  23. Wilhelm, William J.; Joseph D. Downing (2001). Information Markets: What Businesses Can Learn from Financial Innovation. Harvard Business Press. p. 153. ISBN 1-57851-278-6. สืบค้นเมื่อ 2009-03-13.
  24. Princeton University Undergraduate Task Force (January 2005). "THE REGULATION OF PUBLICLY TRADED SECURITIES" (PDF). U.S. Securities and Exchange Commission. p. 58. สืบค้นเมื่อ 2008-12-17.
  25. Harris, Larry (2003). Trading and Exchanges: Market Microstructure for Practitioners. Oxford University Press. p. 290. ISBN 0-19-514470-8. สืบค้นเมื่อ 2009-03-13.
  26. Ferrell, Allen (2001). "A Proposal for Solving the "Payment for Order Flow" Problem" (PDF). 74 S.Cal.L.Rev. 1027. Harvard University. สืบค้นเมื่อ 2008-12-12.
  27. Battalio, Robert H.; Tim Loughran (2007-01-15). "Does Payment for Order Flow to Your Broker Help or Hurt You?" (PDF). Notre Dame University. สืบค้นเมื่อ 2008-12-12.
  28. 28.0 28.1 McMillan, Alex (May 29, 2000). "Q&A: Madoff Talks Trading". CNN. สืบค้นเมื่อ 2008-12-11.
  29. Henriques, Diana B.; Alex Berenson (December 14, 2008). "The 17th Floor, Where Wealth Went to Vanish". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 2008-12-23.
  30. Dovkants, Keith; Alex Berenson (December 16, 2008). "Revealed: Magic Madoff's family 'piggy bank' in the heart of Mayfair". Evening Standard. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ December 20, 2008. สืบค้นเมื่อ 2008-12-25.
  31. 31.0 31.1 Creswell, Julie (2009-01-24). "The Talented Mr. Madoff". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 2009-01-25.
  32. 32.0 32.1 32.2 32.3 32.4 32.5 Moyer, Liz (December 23, 2008). "Could SEC Have Stopped Madoff Scam In 1992?". Forbes. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ February 1, 2009. สืบค้นเมื่อ 2008-12-24. Typically, a position will consist of the ownership of 30-35 S&P 100 stocks, most correlated to that index, the sale of out-of-the-money 'calls' on the index and the purchase of out-of-the-money 'puts' on the index. The sale of the 'calls' is designed to increase the rate of return, while allowing upward movement of the stock portfolio to the strike price of the 'calls'. The 'puts', funded in large part by the sales of the 'calls', limit the portfolio's downside.
  33. "Aksia's Vos Saw 'Red Flags' at Madoff (Transcript)". Interview with Jim Voss (Bloomberg). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ October 23, 2012.
  34. 34.0 34.1 Berenson, Alex; Henriques, Diana B. (December 13, 2008). "Look at Wall St. Wizard Finds Magic Had Skeptics". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 2008-12-15.
  35. 35.0 35.1 35.2 Arvedlund, Erin E. (May 7, 2001). "Don't Ask, Don't Tell - Bernie Madoff is so secretive, he even asks investors to keep mum" (PDF). Barron's. สืบค้นเมื่อ 2009-08-12.
  36. Zuckoff, Mitchell (December 29, 2008). "Were charities part of Madoff's secret formula? - Dec. 29, 2008". Money.cnn.com. สืบค้นเมื่อ 2009-04-26.
  37. 37.0 37.1 "Tough task ahead to find Madoff money, co-schemers". Associated Press. March 13, 2009. สืบค้นเมื่อ 2009-03-13.
  38. Safer, Morley (September 27, 2009). "The Madoff Scam: Meet The Liquidator". 60 Minutes. CBS News. pp. 1–4. สืบค้นเมื่อ 2009-09-28.[ลิงก์เสีย]
  39. Janet Tavakoli (March 9, 2009). "Madoff Deserves Lots of Company".
  40. "Investor Furor Over '50B Scam'". New York Post. December 14, 2008. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ December 17, 2008. สืบค้นเมื่อ 2008-12-17.
  41. 41.0 41.1 Henriques, Diana B. (December 20, 2008). "Madoff Scheme Kept Rippling Outward, Across Borders". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 2008-12-22.
  42. 42.0 42.1 Chernoff (December 26, 2008). "What drove Bernie Madoff". CNN. สืบค้นเมื่อ 2008-12-26.
  43. 43.0 43.1 Schwartz, Nelson D. (December 24, 2008). "Madoff Dealings Tarnish a Private Swiss Bank". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 2008-12-23.
  44. "Marketing Advisory: Madoff Knew His Target Market". Marketing Doctor Blog. December 18, 2008. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ March 16, 2009. สืบค้นเมื่อ 2016-06-13.
  45. ALEX BERENSON; DIANA B. HENRIQUES (December 12, 2008). "Look at Wall St. Wizard Finds Magic Had Skeptics". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 2009-03-09.
  46. "Prominent Trader Accused of Defrauding Clients". The New York Times. December 12, 2008.
  47. Sender, Henry (December 21, 2008). "Madoff had 'perceived edge' in the markets". Financial Times. สืบค้นเมื่อ 2008-12-25.
  48. Barlyn, Suzanne (December 23, 2008). "Madoff Case Raises Compliance Questions". The Wall Street Journal. สืบค้นเมื่อ 2008-03-01.
  49. Williamson, Elizabeth; Kara Scannell (December 18, 2008). "Family Filled Posts at Industry Groups". The Wall Street Journal. สืบค้นเมื่อ 2009-03-01.
  50. 50.0 50.1 Lerer, Lisa (December 18, 2008). "Peter Madoff resigns". Politico. สืบค้นเมื่อ 2009-03-01.
  51. Williamson, Elizabeth (December 22, 2008). "Shana Madoff's Ties to Uncle Probed". The Wall Street Journal. สืบค้นเมื่อ 2009-03-01.
  52. Javers, Eamon; Lisa Lerer (December 16, 2008). "Madoff bought influence in Washington". Politico. สืบค้นเมื่อ 2009-03-01.
  53. Madoff, Shana. "San Francisco Topical Breakfast". Compliance and Legal Division of the Securities Industry and Financial Markets Association. สืบค้นเมื่อ 2009-03-01.
  54. "Staffer at SEC Had Warned Of Madoff; Lawyer Raised Alarm, Then Was Pointed Elsewhere". The Washington Post. July 2, 2009.
  55. Investigation of Failure of the SEC to Uncover Bernard Madoff's Ponzi Scheme ... สืบค้นเมื่อ 2013-03-01.
  56. Labaton, Stephen (December 16, 2008). "Unlikely Player Pulled Into Madoff Swirl". The New York Times.
  57. off%20swanson%20compliance&f=false Investigation of Failure of the SEC to Uncover Bernard Madoff's Ponzi Scheme ... สืบค้นเมื่อ 2013-03-01. {{cite book}}: ตรวจสอบค่า |url= (help)
  58. "SEC Official Married into Madoff Family - ABC News". Abcnews.go.com. December 16, 2008. สืบค้นเมื่อ 2009-04-26.
  59. 59.00 59.01 59.02 59.03 59.04 59.05 59.06 59.07 59.08 59.09 Scannell, Kara (2009-01-05). "Madoff Chasers Dug for Years, to No Avail". The Wall Street Journal. สืบค้นเมื่อ 2009-01-05.
  60. 60.0 60.1 60.2 Johnson, Harriet (March 9, 2009). "Sun Sentinel exclusive: Former Madoff associate Michael Bienes breaks his silence - South Florida Sun-Sentinel.com". Sun-sentinel.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ April 26, 2009. สืบค้นเมื่อ 2009-04-26.
  61. Healy (December 13, 2008). "Boston donors bilked out of millions". Boston Globe. สืบค้นเมื่อ 2009-03-13.
  62. 62.0 62.1 House of Representatives Financial Services Committee (2009). "Madoff Fraud Investigations and Financial Markets Regulation". C-SPAN. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ May 8, 2013. สืบค้นเมื่อ 2016-06-13.
  63. Markopolos, Harry (2010). No One Would Listen: A True Financial Thriller. Wiley. p. 376. ISBN 0-470-55373-1.
  64. 64.0 64.1 "Written Testimny of Harry Markopolos, CFA, CFE" (PDF). The Wall Street Journal. February 3, 2009.
  65. "Madoff fraud case raises questions about SEC". Associated Press. March 2009. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ December 19, 2008.
  66. Press, Associated (February 3, 2009). "Man who warned about Bernard Madoff to testify - BostonHerald.com". BostonHerald.com. สืบค้นเมื่อ 2009-04-26.
  67. 67.0 67.1 Serchuk, David (December 20, 2008). "Love, Madoff And The SEC". Forbes. สืบค้นเมื่อ 2008-12-24.[ลิงก์เสีย]
  68. 68.0 68.1 68.2 Markopolos, Harry (2010). No One Would Listen: A True Financial Thriller. John Wiley & Sons. ISBN 978-0-470-55373-2.
  69. "The Man Who Figured Out Madoff's Scheme". CBS News. February 27, 2009. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ February 10, 2011. สืบค้นเมื่อ 2016-06-13.
  70. 70.0 70.1 70.2 Stewart, James B (2011). Tangled Webs. USA: Penguin Press.{{cite book}}: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์)
  71. Markopolos, Harry (November 7, 2005). "The World's Largest Hedge Fund is a Fraud" (PDF). Wall Street Journal Online. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ August 18, 2009. สืบค้นเมื่อ 2008-12-22.
  72. E&P Staff (February 4, 2009). "Whistleblower Claims He Tipped 'WSJ' to Madoff Fraud, Paper Failed to Act".
  73. 73.0 73.1 Chew, Robert (February 4, 2009). "A Madoff Whistle-Blower Tells His Story". TIME. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ April 12, 2009. สืบค้นเมื่อ 2009-04-26.
  74. "Lawrence R. Velvel: Investing with Madoff". Counterpunch.org. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ March 30, 2009. สืบค้นเมื่อ 2009-04-26.
  75. "Madoff's Brother Said to Audit Firm's Investments". Bloomberg. February 4, 2009.
  76. Fitzgerald, Jim (December 18, 2008). "Madoff's financial empire audited by tiny firm: one guy". Seattle Times. Associated Press. สืบค้นเมื่อ 2008-12-18.
  77. Voreacos, David (December 16, 2008). "New York Prosecutor Drops Madoff Auditor Probe; Defers to U.S". Bloomberg News. สืบค้นเมื่อ 2008-12-24.
  78. Kouwe, Zachery (December 15, 2008). Andrew Ross Sorkin (บ.ก.). "A Look at Madoff Trading Records". Deal Book. The New York Times. สืบค้นเมื่อ 2008-12-22.
  79. "Wall Street Titan May Have Fooled Investors for Years". CNBC. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ June 11, 2011. สืบค้นเมื่อ 2008-12-13.
  80. Zuckerman (December 13, 2008). "Fees, Even Returns and Auditor All Raised Flags". The Wall Street Journal.
  81. David B. Caruso (December 13, 2008). "A trusted man, $50B, a "giant Ponzi scheme"". The Seattle Times. Associated Press. สืบค้นเมื่อ 2009-03-09.
  82. Hamilton (December 13, 2008). "Madoff's reliable returns aroused doubts". LA Times. สืบค้นเมื่อ 2008-12-13.
  83. "Bernard Madoff". I4U News. สืบค้นเมื่อ 2014-09-26.
  84. "Today in the press". Taiwan Sun. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ September 12, 2013. สืบค้นเมื่อ 2014-09-26.
  85. Leidig, Michael. Pyramid Games: Bernie Madoff and his Willing Disciples. Medusa Publishing. pp. 287–311. ISBN 9780957619142.
  86. McCool, Grant (February 27, 2009). "Receiver says Madoff moved $164 million from UK firm to U.S. | Reuters". Uk.reuters.com. สืบค้นเมื่อ 2009-04-26.
  87. Bray, Chad (February 25, 2009). "Investor's Suit Is Dismissed - WSJ.com". Online.wsj.com. สืบค้นเมื่อ 2009-04-26.
  88. "Madoff Sought, Got Cash in Days Before Arrest". SmartMoney. 2009-01-09. สืบค้นเมื่อ 2009-01-29.
  89. 89.0 89.1 89.2 Glovin, David; Voreacos, David; Scheer, David (February 24, 2009). "Madoff Must Have Had Help, Lawyers Say, Citing Trustee Report - Bloomberg.com". Bloomberg.com. สืบค้นเมื่อ 2011-04-28.{{cite news}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  90. 90.0 90.1 Henriques, Diana B. (June 22, 2009). "Brokerage Firm and 4 Others Sued in Madoff Case". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 2009-06-22.
  91. Jonathan Stempel (August 21, 2009). "Madoff friend wants SEC, trustee charges dismissed". Reuters. สืบค้นเมื่อ 2010-03-16.
  92. Standora, Leo (May 2, 2009). "Los Angeles investment manager Stanley Chais sued for funneling cash to Bernie Madoff fund". New York Daily News.
  93. Pfeifer, Stuart (September 23, 2009). "Financial advisor Stanley Chais sued in Bernie Madoff scheme - Los Angeles Times". Latimes.com. สืบค้นเมื่อ 2010-03-16.
  94. "Stanley Chais dies at 84; money manager invested with Bernard Madoff". LA Times. September 27, 2010.
  95. 95.0 95.1 Efrati, Amir (May 18, 2009). "Madoff Victims Investigated - WSJ.com". Online.wsj.com. สืบค้นเมื่อ 2010-03-16.
  96. "Carl J. Shapiro and Others Agree to $625 Million Civil Forfeiture". FBI (Press release). December 7, 2010.
  97. Bray, Chad (July 18, 2009). "Madoff Ex-Auditor Friehling Enters a Plea of Not Guilty - WSJ.com". Online.wsj.com. สืบค้นเมื่อ 2010-03-16.
  98. Dienst, Jonathan (October 30, 2009). "Madoff Accountant Set to Make a Deal". NBC New York. สืบค้นเมื่อ 2010-03-16.
  99. "Madoff Brother To Serve 10 Years In Prison For Role In Ponzi Scheme". NY1. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-01-30. สืบค้นเมื่อ 2012-12-20.
  100. "Ruth Madoff Asks to Keep Her Fur Coat as U.S. Marshals Seize Penthouse - Local News | News Articles | National News | US News". FOXNews.com. July 2, 2009. สืบค้นเมื่อ 2010-03-16.
  101. Gearty, Robert; Standora, Leo (August 4, 2009). "Bernie Madoff's wife, Ruth, agrees to account for monthly spending". New York: Nydailynews.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ September 7, 2009. สืบค้นเมื่อ 2010-03-16.
  102. Groendahl, Boris (February 12, 2009). "Medici's Kohn says did not get Madoff payments | Markets | Markets News | Reuters". Reuters. สืบค้นเมื่อ 2009-04-26.
  103. "Galvin seeks to shut down firm with Madoff ties - Daily Business Update - The Boston Globe". Boston.com. February 11, 2009. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ February 14, 2009. สืบค้นเมื่อ 2009-04-26.
  104. "Madoff's Wife Got $2 Million from UK Unit - Financials * Europe * News * Story". CNBC.com. March 27, 2009. สืบค้นเมื่อ 2009-04-26.
  105. "Madoff Fraud Charges Could Be Filed in U.K. This Year (Update4)". Bloomberg.com. March 27, 2009. สืบค้นเมื่อ 2009-04-26.
  106. "The Loneliest Woman in New York". The New York Times. June 12, 2009.
  107. 107.0 107.1 "Madoff to Forfeit $170 Billion In Assets Ahead of Sentencing". washingtonpost.com. June 27, 2009. สืบค้นเมื่อ 2010-03-16.
  108. 108.0 108.1 108.2 108.3 Efrati, Amir (June 28, 2009). "Madoff's Wife Cedes Asset Claim - WSJ.com". Online.wsj.com. สืบค้นเมื่อ 2010-03-16.
  109. Mike Greenlar / The Post Standard. "How warning signs eluded Bernard Madoff's man in Syracuse". Syracuse.com. สืบค้นเมื่อ 2009-04-26.
  110. Efrati, Amir (April 1, 2009). "Judge Freezes Assets of Madoff's Family - WSJ.com". Online.wsj.com. สืบค้นเมื่อ 2009-04-26.
  111. Margolick, David (July 2009). "The Madoff Chronicles, Part III: Did the Sons Know". Vanity Fair. สืบค้นเมื่อ 2009-06-25.
  112. Lucchetti, Aaron (October 3, 2009). "Madoff Trustee Sues Swindler's Family - WSJ.com". Online.wsj.com. สืบค้นเมื่อ 2010-03-16.
  113. "Baker & Hostetler LLP" (PDF). Abcnews.go.com. สืบค้นเมื่อ 2012-10-07.
  114. Chad Bray (March 17, 2010). "Madoff Sons: We're Victims". The Wall Street Journal.
  115. Larry Neumeister (December 12, 2010). "Madoff son's suicide followed battle with trustee". Associated Press. สืบค้นเมื่อ 2010-12-13.
  116. "Bernie Madoff's Surviving Son Andrew Dies of Lymphoma". NBC News. September 2557.
  117. "United States v. Frank DiPascali, Jr" (PDF). Abcnews.go.com. สืบค้นเมื่อ 2012-10-07.
  118. "Frank DiPascali Pleads Guilty, Bernard Madoff's Accomplice - ABC News". Abcnews.go.com. August 11, 2009. สืบค้นเมื่อ 2010-03-16.
  119. "SEC CHARGES KEY MADOFF LIEUTENANT FOR OPERATING AND CONCEALING FRAUD THROUGH BOGUS TRADES AND DOCUMENTS" (PDF) (Press release). SEC. August 11, 2009.
  120. Bray, Chad (August 12, 2009). "'All Fake': Key Madoff Executive Admits Guilt - WSJ.com". Online.wsj.com. สืบค้นเมื่อ 2010-03-16.
  121. "Former Madoff Aide Frank DiPascali Dies at Age 58 of Lung Cancer". Wall Stree Journal. May 11, 2015.
  122. "Bernie Madoff: Why Is Bernie's Controller, Enrica Cotellessa-Pitz, Getting A Pass In The Press? | Mrs Panstreppon's Blog". Tpmcafe.talkingpointsmemo.com. May 11, 2009. สืบค้นเมื่อ 2010-03-16.
  123. "Securities: Fairfield Greenwich". Sec.state.ma.us. April 1, 2009. สืบค้นเมื่อ 2009-04-26.
  124. Frank, Robert; Lauricella, Tom (April 2, 2009). "Madoff Feeder Is Charged in Fraud - WSJ.com". Online.wsj.com. สืบค้นเมื่อ 2009-04-26.
  125. Healy, Beth (August 14, 2009). "Galvin won't settle Madoff case - The Boston Globe". Boston.com. สืบค้นเมื่อ 2010-03-16.
  126. Svea Herbst-Bayliss (August 14, 2009). "Mass. regulator will not settle Madoff feeder suit". Reuters. สืบค้นเมื่อ 2010-03-16.
  127. Henriques, Diana B. (May 19, 2009). "Trustee Sues Hedge Funds Over Losses to Madoff". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 2010-05-12.
  128. Jones, Ashby (May 19, 2009). "Picard's Latest: A Huge Lawsuit Against Fairfield Greenwich - Law Blog - WSJ". Blogs.wsj.com. สืบค้นเมื่อ 2010-03-16.
  129. "GMAC's Merkin, Ascot Fund sued over Madoff investments". MarketWatch. December 17, 2008. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ June 8, 2011.
  130. "THE PEOPLE OF THE STATE OF NEW YORK: By ANDREW M. CUOMO, Attorney General of the State of New York -against- J. EZRA MERKIN and GABRIEL CAPITAL CORPORATION" (PDF). The Wall Street Journal. April 6, 2009.
  131. Graybow, Martha (April 6, 2009). "Fund operator Merkin charged with civil fraud". Reuters.
  132. "Exhibit 1, In the Matter of Madoff Charities Investigation" (PDF). The Wall Street Journal.
  133. "Exhibit 21, In the Matter of Madoff Charities Investigation" (PDF). The Wall Street Journal.
  134. "Exhibit 27, Gabriel Capital, L.P." (PDF). The Wall Street Journal.
  135. "Madoff pal Jeffry Picower laid to rest on Long Island | Jose Lambiet's". Page2live.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ November 1, 2009. สืบค้นเมื่อ 2010-03-16.
  136. 136.0 136.1 "Picower estate returns $7.2 billion from Madoff scam | JTA - Jewish & Israel News". JTA. December 17, 2010. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ September 26, 2012. สืบค้นเมื่อ 2012-10-07.
  137. "Tremont Group Funds Invested $3.3 Billion With Madoff (Update1)". Bloomberg.com. December 15, 2008. สืบค้นเมื่อ 2009-04-26.
  138. 138.0 138.1 "Trustee in Madoff case sues insurer". Boston Globe. December 9, 2010.
  139. 139.0 139.1 .com/article/SB10001424053111904888304576474241349358816.html?mod=googlewsj "Madoff Trustee Reaches $1 Billion Settlement With Feeder". The Wall Street Journal. July 29, 2011. {{cite news}}: ตรวจสอบค่า |url= (help)[ลิงก์เสีย]
  140. 22/judge-approves-madoff-trustee-settlement-with-tremont-funds.html "Judge Approves Madoff Trustee Settlement With Tremont Funds". Bloomberg Businessweek. September 22, 2011. {{cite news}}: ตรวจสอบค่า |url= (help)
  141. Randall, David (March 31, 2009). "Judge Freezes Madoff Assets". Forbes.com. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-01-23. สืบค้นเมื่อ 2009-04-26.
  142. "Former Madoff operations exec arrested". latimes.com. February 25, 2010. สืบค้นเมื่อ 2010-02-25.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)[ลิงก์เสีย]
  143. "Madoff's Director of Operations Arrested". Traders Magazine Online News. February 25, 2010. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ July 17, 2011. สืบค้นเมื่อ 2010-02-25.
  144. "Press Release: Manhattan U.S. Attorney Charges Daniel Bonventre, Former Director Of Operations For Bernard L. Madoff Investment Securities, Llc, With Conspiracy, Securities Fraud, And Tax Crimes" (PDF). US DOJ United States Attorney Southern District of New York. February 25, 2010. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ March 2, 2010. สืบค้นเมื่อ 2010-03-04.
  145. "FBI — Manhattan U.S. Attorney Files Additional Charges Against Former Employees of Bernard L. Madoff Investment Securities LLC". Fbi.gov. สืบค้นเมื่อ 2012-10-07.
  146. "Madoff Trustee Picard May Take Five Years to Pay Back Investors - Bloomberg.com". Bloomberg.com<!. 2009-01-21. สืบค้นเมื่อ 2009-04-26.
  147. McCool, Grant (2009-01-22). "Fairfield fund wins order in Madoff-related suit". Reuters.
  148. "Madoff Lawyers Seek Leniency in Sentencing - DealBook Blog - NYTimes.com". Dealbook.blogs.nytimes.com. June 23, 2009. สืบค้นเมื่อ 2010-03-16.
  149. 149.0 149.1 "Ruth Madoff Says Her $62 Million 'Unrelated' to Fraud (Update2) - Bloomberg.com". Bloomberg.com<!. March 2, 2009. สืบค้นเมื่อ 2009-04-26.
  150. Schmidt, Robert; Gallu, Joshua (October 26, 2012). "Former SEC Watchdog Kotz Violated Ethics Rules, Review Finds". Bloomberg. สืบค้นเมื่อ 2013-02-10.{{cite news}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  151. "David Kotz, Ex-SEC Inspector General, May Have Had Conflicts Of Interest". Huffington Post. October 5, 2012. สืบค้นเมื่อ 2013-02-10.
  152. Sarah N. Lynch (November 15, 2012). "David Weber Lawsuit: Ex-SEC Investigator Accused Of Wanting To Carry A Gun At Work, Suing For $20 Million". Huffingtonpost.com. สืบค้นเมื่อ 2013-02-10.
  153. 153.0 153.1 153.2 153.3 153.4 "The United States Department of Justice - United States Attorney's Office". Usdoj.gov. สืบค้นเมื่อ 2009-04-26.
  154. 154.0 154.1 Henriques, Diana; Zachery Kouwe (December 11, 2008). "Prominent Trader Accused of Defrauding Clients". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 2008-12-11.
  155. Efrati, Amir; Aaron Lucchetti; Tom Lauricella (December 23, 2008). "Probe Eyes Audit Files, Role of Aide To Madoff". The Wall Street Journal. Dow Jones. สืบค้นเมื่อ 2008-12-23.
  156. "Madoff faces life in prison on 11 criminal charges". Reuters. March 11, 2009.
  157. This date has been contested in two lawsuits against Madoff's sons. "Madoff Securities Employees Sue Madoff Sons, Allege Fraud". The Wall Street Journal. June 16, 2009. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ June 20, 2009. สืบค้นเมื่อ 2009-07-27.
  158. 158.0 158.1 Neumeister, Larry (December 11, 2008). "Ex-Nasdaq chair arrested on fraud charge". Associated Press. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ December 20, 2008.
  159. Efrati, Amir; Lauricella, Tom; Searcey, Dionne (December 11, 2008). "Top Broker Accused of Fraud; Madoff, Money Manager for the Wealthy, Said to Have Run '$50 Billion Ponzi Scheme'". The Wall Street Journal. สืบค้นเมื่อ 2008-12-11.
  160. Honan, Edith; Dan Wilchins (December 12, 2008). "Former Nasdaq chair arrested over alleged £33 billion fraud". International Herald Tribune. สืบค้นเมื่อ 2008-12-12.
  161. 161.0 161.1 Rush, George; Thomas Zambito; Phyllis Furman; Greg B. Smith (December 18, 2008). "Bernard Madoff Housebound After Failing to Get Enough Co-signers for Bail Bond in $50B Ponzi Scheme". New York Daily News. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ December 18, 2008. สืบค้นเมื่อ 2008-12-26.
  162. 162.0 162.1 Zambito, Thomas; Corky Siemaszko (December 20, 2008). "Feds confine Bernie Madoff to his $7 million penthouse until trial". New York Daily News. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ December 24, 2008. สืบค้นเมื่อ 2008-12-26.
  163. Glovin, David (2009-01-06). "Madoff Sons Reported Jewelry Violations to U.S., Lawyer Says". Bloomberg.com. สืบค้นเมื่อ 2009-01-06.
  164. 164.0 164.1 Berenson, Alex (2009-01-06). "Bid to Revoke Madoff's Bail Cites His Gifts". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 2009-01-06.
  165. Henrique, Diana (2009-01-12). "Judge Rules Madoff Can Remain Free on Bail". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 2009-01-12.
  166. "United States of America v. Bernard L. Madoff" (PDF). US Department of Justice. March 10, 2009.
  167. "Criminal Information (U.S. v. Bernard Madoff". FindLaw. March 10, 2009. สืบค้นเมื่อ 2009-03-10.
  168. 168.0 168.1 "U.S. Department of Justice: United States v. Bernard L. Madoff" (PDF). Usdoj.gov. สืบค้นเมื่อ 2012-10-07.
  169. Lauricella, Tom (March 12, 2009). "Madoff Used U.K. Office in Cash Ploy, Filing Says - WSJ.com". Online.wsj.com. สืบค้นเมื่อ 2009-04-26.
  170. Jones, Ashby (February 9, 2009). "Madoff Makes Peace with the SEC, Amount of Fine TBD". The Wall Street Journal. สืบค้นเมื่อ 2009-03-29.
  171. "Madoff Lawyer Ira Sorkin Invested $18,860 With Madoff (Update2) - Bloomberg.com". Bloomberg.com. March 10, 2009. สืบค้นเมื่อ 2009-04-26.
  172. "DOJ Madoff hearing" (PDF). USDOJ. December 3, 2009.
  173. "Madoff to appeal bail, net worth revealed | U.S". Reuters. March 13, 2009. สืบค้นเมื่อ 2009-04-26.
  174. "United States Court of Appeals for the Second Circuit: United States v. Bernard L. Madoff" (PDF). Usdoj.gov. สืบค้นเมื่อ 2012-10-07.
  175. Zambito, Thomas; Connor, Tracy (March 17, 2009). "Bernard Madoff's sons, Andrew and Mark, latest targets of feds' efforts to seize ill-gotten loot". New York: Nydailynews.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ March 20, 2009. สืบค้นเมื่อ 2009-04-26.
  176. "Bernard Madoff's Bid for Freedom Denied by U.S. Court (Update5)". Bloomberg.com. March 20, 2009. สืบค้นเมื่อ 2009-04-26.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์) [ลิงก์เสีย]
  177. "Prosecutors' sentencing recommendation" (PDF). USDOJ. June 26, 2009.
  178. "Prosecutors propose 150-year sentence for Madoff". The New York Times. June 26, 2009.
  179. Zambito, Thomas; Martinez, Jose; Siemaszko, Corky (June 29, 2009). "Bye, Bye Bernie: Ponzi king Madoff sentenced to 150 years". New York: Nydailynews.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ August 22, 2009. สืบค้นเมื่อ 2010-03-16.
  180. "Madoff Lacks What Skilling, Ebbers, Fastow Had: Ann Woolner". Bloomberg.com. July 1, 2009. สืบค้นเมื่อ 2010-03-16.
  181. Frank, Robert (June 30, 2009). "Bernard Madoff, Convicted Ponzi-Scheme Operator, Sentenced to 150 Years - WSJ.com". Online.wsj.com. สืบค้นเมื่อ 2010-03-16.
  182. Murakami Tse, Tomoeh (June 30, 2009). "Madoff Sentenced to 150 Years Calling Ponzi Scheme 'Evil,' Judge Orders Maximum Term". Washington Post. สืบค้นเมื่อ 2009-09-24.
  183. Washington Post. June 30, 2009 http://www.washingtonpost.com/wp-dyn/content/article/2009/06/30/AR2009063000421_pf.html. {{cite news}}: |title= ไม่มีหรือว่างเปล่า (help)CS1 maint: url-status (ลิงก์)[ลิงก์เสีย]
  184. "Madoff gets maximum 150 years". Philadelphia Media Network. June 30, 2009. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ July 5, 2009.
  185. "Madoff's Failure to Name Accomplices Cripples His Leniency Bid". Bloomberg.com. June 26, 2009. สืบค้นเมื่อ 2010-03-16.
  186. "Bernard Madoff gets 150 years behind bars for fraud scheme". CBC News. June 29, 2009. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ May 2, 2010. สืบค้นเมื่อ 2009-06-29.
  187. Healy, Jack (June 29, 2009). "Madoff Sentenced to 150 Years for Ponzi Scheme". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 2009-06-29.
  188. "Fraudster Madoff gets 150 years". BBC News. June 29, 2009. สืบค้นเมื่อ 2009-06-29.
  189. Zambito, Thomas; Martinez, Jose; Siemaszko, Corky (June 29, 2009). "Bye, Bye Bernie: Ponzi king Madoff sentenced to 150 years". New York: Nydailynews.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ August 22, 2009. สืบค้นเมื่อ 2010-03-16.
  190. Perez, Evan; Bray, Chad (July 13, 2009). "Madoff is Moved to a Prison in Butner N.C". The Wall Street Journal.
  191. The Australian https://archive.today/20120912220509/http://www.theaustralian.news.com.au/business/story/0,28124,25858299-5001942,00.html. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ September 12, 2012. สืบค้นเมื่อ 2016-06-13. {{cite news}}: |title= ไม่มีหรือว่างเปล่า (help)
  192. "United States of America (Appellee) v. Bernard L. Madoff (Defendant-Appellant)" (PDF). New York Post. March 13, 2009. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ March 25, 2009.
  193. "Madoff assets worth more than $820 million". Newsday. March 14, 2009. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ March 16, 2009. สืบค้นเมื่อ 2016-06-13.
  194. Goldsmith, Samuel (April 12, 2009). "Now that's a decent return! Madoff's opening day Mets tickets sell for $7,500 on eBay". New York: Nydailynews.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ April 16, 2009. สืบค้นเมื่อ 2009-04-26.
  195. "Prosecutors Seek to Claim More Madoff Assets - DealBook Blog - NYTimes.com". Dealbook.blogs.nytimes.com. March 17, 2009. สืบค้นเมื่อ 2009-04-26.
  196. "Madoff Prosecutors Seek to Take Businesses, Loans (Update1)". Bloomberg.com. March 17, 2009. สืบค้นเมื่อ 2009-04-26.
  197. "Minuteman News Center". Zwire.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ July 6, 2009. สืบค้นเมื่อ 2010-03-16.
  198. "Madoff-Linked Asset Freeze Lifted in Connecticut Suit (Update1)". Bloomberg.com. April 13, 2009. สืบค้นเมื่อ 2010-03-16.
  199. "Judge freezes assets of Madoff sons, executives". Reuters. March 31, 2009. สืบค้นเมื่อ 2010-03-16.
  200. "Town of Fairfield suit against NEPC and KPMG". Scribd.com. สืบค้นเมื่อ 2010-03-16.
  201. "Town sues Madoff, hedge funds over losses". Newsday.com. March 31, 2009. สืบค้นเมื่อ 2009-04-26. [ลิงก์เสีย]
  202. "Fairfield gets freeze on Madoff assets". Wtnh.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ April 1, 2009. สืบค้นเมื่อ 2009-04-26.
  203. "ABC News: Madoff Set to Disclose List of Holdings". Abcnews.go.com. December 17, 2008. สืบค้นเมื่อ 2009-04-26.
  204. Scheer, David (2009-01-02). "Madoff's assets to be kept secret". Business.smh.com.au. สืบค้นเมื่อ 2009-04-26.
  205. "Madoff trustee finds assets in Canada". Montreal Gazette. 2010-01-12. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ March 26, 2010. สืบค้นเมื่อ 2016-06-13.
  206. "DOJ Press Release".
  207. "Madoff Victim Fund".
  208. Fleury, Michelle (February 19, 2009). "Business | Madoff victims count their losses". BBC News. สืบค้นเมื่อ 2009-04-26.
  209. "WSJ: Madoff Client List" (PDF). The Wall Street Journal.
  210. Chew, Robert (February 5, 2009). "The Bernie Madoff Client List Is Made Public". TIME. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ April 13, 2009. สืบค้นเมื่อ 2009-04-26.
  211. "Madoff's Firm Owed $600 Million in Stock, SIPC Says (Update1) - Bloomberg.com". Bloomberg.com<!. 2009-01-27. สืบค้นเมื่อ 2009-04-26.
  212. "Banks face huge losses from $50B 'scam'". CNN. December 15, 2008.
  213. Bennett, Chuck; Rosario, Frank (December 15, 2008). ""Zuckerman Sounds Off on Madoff", New York Daily News (December 14, 2008)". New York Post.
  214. Strom, Stephanie (February 27, 2009). "Elie Wiesel Levels Scorn at Madoff". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 2010-05-12.
  215. "Madoff's Victims". The Wall Street Journal. December 16, 2008. สืบค้นเมื่อ 2008-12-17.
  216. Healy, Beth (July 29, 2011). "Madoff clients get $1b in deal". The Boston Globe. สืบค้นเมื่อ 2012-09-03.
  217. Jerome De Lavenere Lussan (2012). The Financial Times Guide to Investing in Funds: How to Select Investments, Assess Managers and Protect Your Wealth. FT Press. สืบค้นเมื่อ 2013-02-09.
  218. International Currency Review, Volume 34. 2008. สืบค้นเมื่อ 2013-02-09.
  219. Browning, Lynnley (February 12, 2009). "For Investing With Madoff, Private Foundations Could Face Tax Fines". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 2010-05-12.
  220. "Swiss judge allows charges in Madoff losses case | Reuters". Uk.reuters.com. February 9, 2009. สืบค้นเมื่อ 2009-04-26.
  221. "Aurelia managers sought safety in Madoff: report | Reuters". Uk.reuters.com. April 28, 2009. สืบค้นเมื่อ 2010-03-16.
  222. Granby, Rachael (February 22, 2009). "Clients Lose Again with Santander's Madoff Compensation - Barron's". Barron's. สืบค้นเมื่อ 2009-03-13.
  223. Reuters (February 19, 2009). "70% of Santander Clients Take Madoff Settlement". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 2009-03-13.
  224. "Barron v. Igolnikov et al". Justia.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ March 5, 2016. สืบค้นเมื่อ 2016-06-13.
  225. "UBP Makes Offer to Madoff Victims". The New York Times. March 13, 2009.
  226. McCool, Grant (December 6, 2010). "HSBC fights Madoff claim; new settlement reached". Reuters. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ April 2, 2015. สืบค้นเมื่อ 2016-06-13.
  227. "Madoff Trustee Announces Approximately $500 Million Recovery Agreement With Swiss Bank Union Bancaire Privee". PR Newswire. December 6, 2010.
  228. "UPDATE 2-Notz Stucki to partially reimburse Madoff clients | Markets | US Markets | Reuters". Uk.reuters.com. February 9, 2009. สืบค้นเมื่อ 2009-04-26.
  229. Espinoza, Javier (February 1, 2009). "Austria Takes Control Of Madoff-Tainted Bank". Forbes. สืบค้นเมื่อ 2010-02-24.
  230. "Austria: Madoff-Exposed Bank Medici Reportedly on Brink of Collapse, Class Action May Be in Works". Securities Docket. 2009-01-21. สืบค้นเมื่อ 2009-03-13.
  231. "Austria takes over bank hit by Madoff case". CNN. 2009-01-03. สืบค้นเมื่อ 2009-03-13.
  232. Groendahl, Boris (March 12, 2009). "Austria's Madoff-hit Bank Medici seeks buyers". Reuters. สืบค้นเมื่อ 2009-03-13.
  233. Blodget, Henry (March 1, 2009). "Madoff Feeder Bank Medici Probed Criminally In Vienna". Business Insider. สืบค้นเมื่อ 2009-03-13.
  234. Hansen, Flemming E. (May 28, 2009). "Madoff-Hit Bank Medici Loses License - WSJ.com". Online.wsj.com. สืบค้นเมื่อ 2010-03-16.
  235. Wayne, Leslie; Rashbaum, William K. (March 12, 2009). "Investigation Into Madoff Fraud Turns to a Small Circle of Accountants". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 2010-05-12.
  236. "Was Madoff 'Victim' and Best Friend an Accomplice? - Page 1". The Daily Beast. สืบค้นเมื่อ 2009-04-26.
  237. Bray, Chad (April 20, 2010). "Connecticut Sues Madoff-Tied Adviser, Bank". The Wall Street Journal. p. C7.
  238. Fabrikant, Geraldine (December 20, 2008). "Foundation That Relied On Madoff Fund Closes". New York Times.
  239. "Peter Madoff pleads guilty in NYC, blaming brother". Associated Press via Yahoo! News. June 29, 2012.
  240. docld=b0b309c5e5144b76898f65279390a643 "Peter Madoff pleads guilty in NYC, blaming brother". Associated Press via Google.com/hostednews. June 29, 2012. {{cite news}}: ตรวจสอบค่า |url= (help)[ลิงก์เสีย]
  241. "Madoff's brother pleads guilty to tax fraud; Singer Hill admits failing to file returns". Tax Notes Today - 2012 TNT 127-8. June 29, 2012.
  242. "Peter Madoff Admits Aiding Brother's Ponzi Scheme". Businessweek. {{cite news}}: |access-date= ต้องการ |url= (help)
  243. "Madoff Brother To Serve 10 Years In Prison For Role In Ponzi Scheme". NY1. December 20, 2012.[ลิงก์เสีย]
  244. 244.0 244.1 244.2 "Madoff Investor's Suicide Leaves Questions". The New York Times. 2009-01-02. p. B1 New York edition.
  245. "Police: Madoff Investor Found Dead of Suicide" (text and audio). Associated Press. 1010 WINS. สืบค้นเมื่อ 2008-12-23.
  246. 246.0 246.1 Marino, Joe; Schapiro, Rich (December 25, 2008). "Bernie Madoff should rot with rats, victim's pal says". New York Daily News. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ December 31, 2008. สืบค้นเมื่อ 2008-12-26.
  247. Zuckerman, Gregory; Gauthier-Villars, David (February 3, 2009). "A Lonely Lament From a Whistle-Blower - WSJ.com". Online.wsj.com. สืบค้นเมื่อ 2009-04-26.
  248. "U.K.'s Prince Charles Targeted by Madoff Marketer, Witness Says - Bloomberg.com". Bloomberg.com<!. February 6, 2009. สืบค้นเมื่อ 2009-04-26.
  249. "Bernard Madoff fraud victim committed suicide to avoid bankruptcy shame". telegraph.co.uk. London. June 11, 2009. สืบค้นเมื่อ 2009-06-28.
  250. Thompson, Susan (February 12, 2009). "Bernard Madoff has 'blood on his hands' over William Foxton suicide". London: Business.timesonline.co.uk. สืบค้นเมื่อ 2009-04-26.
  251. Little (February 12, 2009). "Banking crisis killed my father". BBC. สืบค้นเมื่อ 2009-02-13.
  252. Agence France-Presse (December 16, 2008). "Madoff : la banque autrichienne Medici impliquée avec 2,1 milliards de dollars". Romandie News (ภาษาฝรั่งเศส). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ March 18, 2009. สืบค้นเมื่อ 2009-03-13.
  253. "Bernard Madoff's Son mark hanged". The Guardian. December 11, 2010.
  254. Graybow, Martha; Trotta, Daniel. "Mark Madoff found hanged on anniversary of father Bernie's arrest". Vancouver Sun. สืบค้นเมื่อ 2010-12-13.{{cite news}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  255. Lucchetti, Aaron (December 14, 2010). "Madoff Won't Attend Son's Funeral". The Wall Street Journal.
  256. "Investigation of Failure of the SEC to Uncover Bernard Madoff's Ponzi Scheme" (PDF). U.S. Securities and Exchange Commission, Office of Investigations. สืบค้นเมื่อ 2009-08-31.
  257. "Madoff Report Reveals Extent of Bungling". The Wall Street Journal. September 5, 2009.
  258. "Eight SEC employees disciplined over failures in Madoff fraud case; none are fired". Washington Post. November 11, 2011.
  259. Vardi, Nathan (2014-01-07). "J P Morgan Chase pays $1.7 billion and settles Madoff related criminal case". Forbes.
  260. "JP Morgan to pay $1.7bn to victims of the Madoff fraud". BBC. 2014-01-07.
  261. Hiltzik, Michael (2014-01-07). "The Madoff settlement is an enormous win for a guilty JPMorgan". Los Angeles Times. สืบค้นเมื่อ 2014-01-08.
  262. "Madoff investors to get over $1 billion in added recoveries". MarketWatch. สืบค้นเมื่อ 19 November 2015.
  263. "Madoff victims to recoup $1.42 billion in two payouts". Today Online. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ June 4, 2016. สืบค้นเมื่อ 19 November 2015.
  264. Erik Larson, "The Mystery Madoff Victims Who Left $2.5 Billion on the Table", Bloomberg Business News (March 4, 2016).

แหล่งข้อมูลอื่น แก้