คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (อังกฤษ: Faculty of Education, Khon Kaen University) เป็นส่วนราชการไทยระดับคณะวิชา สังกัดมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นคณะวิชาที่จัดตั้งขึ้นเป็นอันดับที่ 4 ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาการศึกษาในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยการผลิตครูระดับปริญญา และระดับอนุปริญญาสาขาวิชาต่าง ๆ ที่จะสอนในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีสถานปฏิบัติการคือ โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น
Faculty of Education, Khon Kaen University | |
ชื่อย่อ | ศศ. / ED |
---|---|
สถาปนา | 13 กันยายน พ.ศ. 2511[1] |
สังกัดการศึกษา | มหาวิทยาลัยขอนแก่น |
คณบดี | รองศาสตราจารย์ ดร.อิศรา ก้านจักร |
ที่อยู่ | |
สี | สีแสด |
มาสคอต | บัวแก้ว |
สถานปฏิบัติ | โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น |
เว็บไซต์ | ednet.kku.ac.th |
ประวัติ
แก้คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2511 ซึ่งในวันนั้น คณะกรรมการพิจารณาจัดตั้งคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ประชุมเป็นครั้งแรก ณ แผนกจิตวิทยา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงถือเอาวันที่ 13 กันยายน เป็นวันสถาปนาคณะศึกษาศาสตร์ ทั้งนี้เพื่อให้มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีส่วนสนับสนุนในแผนพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยมีหลักการและเหตุผลที่สำคัญ คือ การขาดแคลนครูปริญญา การขาดความสมดุลด้านคุณภาพการศึกษาระหว่างส่วนกลางและส่วนภูมิภาค และการขาดการวิจัยการศึกษาและจิตวิทยาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คณะศึกษาศาสตร์จึงจัดตั้งขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ทั่วไปเพื่อจะพัฒนาการศึกษาในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือตามนโยบายของรัฐบาล โดยมีวัตถุประสงค์เฉพาะดังนี้[2] คือ
1. เพื่อผลิตครูปริญญา และอนุปริญญาสาขาวิชาต่างๆ ที่จะสอนในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา โดยร่วมมือกับกรมการฝึกหัดครู กระทรวงศึกษาธิการ ในการผลิตครู โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
2. เพื่อผลิตโสตทัศนูปกรณ์ ตำราและเอกสารการศึกษา อันจะส่งเสริมในการเรียนรู้ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น และการศึกษาได้ผลมากขึ้น
3. เพื่อทดลองวิจัยวิธีการสอน การจัดการเรียนการสอน และหลักสูตรประเภทต่างๆ ที่เหมาะสมในการเตรียมครู โดยเฉพาะอย่างยิ่งครูที่สอนในชนบท
4. เพื่อมีส่วนร่วมในการส่งเสริมพัฒนาชนบท โดยปฏิบัติงานร่วมกับโรงเรียนชุมชน สถานศึกษาต่าง ๆ และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
5. เพื่อเผยแพร่และให้บริการด้านการศึกษา การอบรมแก่ชุมชนและครูประจำการในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
6. เพื่อวิจัยปัญหาต่าง ๆ ด้านการศึกษาและจิตวิทยา อันจะช่วยให้เข้าใจสภาพบุคคล และสภาพแวดล้อมของภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้ดียิ่งขึ้น อันจะช่วยเป็นประโยชน์ในการศึกษาต่อไป
คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้เปิดรับนักศึกษารุ่นแรกในปี พ.ศ. 2512 เข้าเรียนในสาขาการมัธยมศึกษา จำนวน 100 คน โดยใช้อาคารเรียนของคณะวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์ เป็นสำนักงานของคณะและสถานที่เรียนชั่วคราว ในปี พ.ศ. 2513 เริ่มก่อสร้างอาคารเรียนของคณะ และได้จัดตั้งโรงเรียนสาธิตอนุบาลและสาธิตประถมขึ้น โดยใช้ชื่อว่า "โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น" เพื่อทำการทดลองและวิจัยวิธีการสอนแบบต่าง ๆ
คณะศึกษาศาสตร์ ได้เริ่มเปิดทดลองการเรียนและการสอนในระดับสาธิตมัธยมขึ้นในปี พ.ศ. 2519 โดยรับนักเรียนต่อจากโรงเรียนสาธิตประถม แต่สำหรับด้านการบริหารโรงเรียนนั้น ยังเป็นการบริหารแยกกันระหว่างโรงเรียนประถมและมัธยม ทางด้านหลักสูตรที่ใช้เรียนในระดับมัธยมศึกษานั้น ได้ใช้หลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการอย่างเคร่งครัด เพื่อให้รับกับการศึกษาชั้นอุดมศึกษา คณะศึกษาศาสตร์จึงได้พิจารณาถึงปัญหาต่าง ๆ ของการดำเนินงาน ซึ่งแยกกันของโรงเรียนทั้งสองระดับ จึงสมควรให้รวมโรงเรียนทั้งสองเข้าเป็นโรงเรียนเดียวกัน และมีผู้บริหารโรงเรียนเพียงชุดเดียว[3]
เมื่อมหาวิทยาลัยขอนแก่นพัฒนาเจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว อาจารย์ ข้าราชการ และลูกจ้าง มีจำนวนมากขึ้น และสวัสดิการทางด้านการศึกษาแก่บุตรของบุคลากรยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น[4] ก็ไม่สามารถรองรับจำนวนนักเรียนได้ได้ เนื่องจากงบประมาณที่มีจำกัด ทางสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงให้มีการจัดตั้ง "โรงเรียนสาธิตมอดินแดง" ให้เป็นโรงเรียนที่ดำเนินงานโดยสำนักงานอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นสวัสดิการแก่บุตรอาจารย์ ข้าราชการ และลูกจ้าง ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งไม่มีที่เรียน และมีความประสงค์ที่จะพัฒนาการศึกษาไม่ให้ด้อยกว่าที่อื่น ๆ เปิดดำเนินการเป็นครั้งแรกในปีการศึกษา 2524 จนถึงปัจจุบัน โดยมีอาจารย์จากคณะต่าง ๆ ร่วมสอนด้วย[5]
เมื่อปี พ.ศ. 2542 สภามหาวิทยาลัย ได้มอบหมายให้คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ ปรับแก้โครงสร้างเชิงบริหารของโรงเรียนสาธิตทั้ง 2 แห่ง ให้เป็นเอกภาพโดยให้มีผู้อำนวยการคนเดียวกัน รวมทั้งใช้นโยบายการจัดการเป็นอันเดียวกัน เพื่อลดช่องว่างระหว่างความรู้สึกเปรียบเทียบของผู้ปกครองที่ต้องการความทัดเทียม จึงการยกเลิกข้อบังคับมหาวิทยาลัยขอนแก่นว่าด้วยโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น พ.ศ. 2534 โดยใช้ข้อบังคับฯ ว่าด้วยโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น พ.ศ. 2544 และระเบียบว่าด้วยโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น พ.ศ. 2546 แทน
ปัจจุบันโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นหน่วยงานเทียบเท่าภาควิชา สังกัดคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ตั้งอยู่ 2 แห่งภายในมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้แก่
- โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น (ศึกษาศาสตร์) อยู่บริเวณริมบึงสีฐานประตูมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่ 2 ถนนมะลิวัลย์ มีเนื้อที่ 60 ไร่ จัดการศึกษา 3 ระดับ ได้แก่ ระดับอนุบาล ระดับประถมศึกษา และระดับมัธยมศึกษา
- โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มอดินแดง) อยู่ใกล้บริเวณศาลเจ้าพ่อมอดินแดงประตูมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่ 1 ถนนมิตรภาพ จัดการศึกษา 2 ระดับ ได้แก่ ระดับประถมศึกษา และระดับมัธยมศึกษา นอกจากนี้ยังเป็นที่ตั้งของ "ศูนย์วิจัยและพัฒนาการจัดการศึกษาพิเศษแบบเรียมรวมสำหรับเด็กออทิสติก โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น" อีกด้วย
สัญลักษณ์
แก้- สัญลักษณ์ประจำคณะ
สัญลักษณ์ประจำคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น คือ ดอกบัวแก้ว
- สีประจำคณะ
สีแสด เป็นสีประจำวันพฤหัสบดี ซึ่งเป็นวัน ครู
- เพลงประจำคณะ
เพลงมาร์ชศึกษาศาสตร์ หรือที่รู้จักใน เพลงมาร์ชร่มกระเบา เป็นเพลงปลุกใจเนื้อหาแสดงให้เห็นถึงเอกลักษณ์ของคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัขอนแก่น และคุณค่าของความเป็นครูและการบ่มเพาะประสบการณ์ต่าง ๆ ของคนเป็นครูตามปณิธาณของการตั้งคณะเพื่อผลิตครูปริญญาในภาคอีสาน สร้างครูที่มีคุณธรรม เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีแก่สังคม เพลงนี้ได้หายไปจากกิจกรรมร้องเพลงประจำคณะช่วงหนึ่งและมีการนำกลับมาร้องใหม่อีกครั้งเมื่อ ปีการศึกษา 2555
เพลงสีฐาน เป็นเพลงที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นศึกษาศาสตร์เป็นเพลงปลุกใจที่มีความนุ่มนวลและแข็งกร้าวในตัว เป็นการบอกถึงความรักความสามัคคีในหมู่คณะ เพลงนี้ถือเป็นเพลงสำคัญอีกเพลงหนึ่ง
เพลงแสงเทียน เป็นเพลงที่แสดงถึงการให้กำลังใจและพลังของครูที่เปรียบเสมือนดั่งแสงเทียนที่จะคอยไปจุดประกายและนำทางให้แก่เด็กแม้ว่าจะเหนื่อยยากลำบากเพียงใดครูก็ต้องเป็นคนที่จะคอยนำทางสว่างให้แก่ทุกคนเพลงนี้เป็นเพลงเดียวในบรรดาเพลงประจำคณะที่ไม่มีการจดบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรใด ๆ มีเพียงการร้องสืบต่อกันเท่านั้นและเป็นเพลงที่นักศึกษาทุกคนในคณะร้องได้ถึงแม้จะไม่มีเนื้อร้องที่เป็นลายลักษณ์อักษรก็ตาม และยังมีความเชื่อว่าหากใครเริ่มร้องเพลงนี้แล้วจะต้องร้องต่อจนจบเพลง และห้ามจดบันทึกเนื้อเพลงเด็ดขาด
หลักสูตร
แก้หลักสูตรที่เปิดสอนในคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น[6] | |||
---|---|---|---|
กลุ่มวิชา/ภาควิชา/สาขาวิชา | ระดับปริญญาตรี | ระดับปริญญาโท | ระดับปริญญาเอก |
กลุ่มวิชาการศึกษาด้านภาษา ศิลปะและสังคมศึกษา |
หลักสูตรศึกษาศาสตรบัณฑิต (ศษ.บ.)
|
|
|
กลุ่มวิชาการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี |
หลักสูตรศึกษาศาสตรบัณฑิต (ศษ.บ.)
|
หลักสูตรศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต (ศษ.ม.)
|
หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (ปร.ด.)
|
กลุ่มวิชาบริหารและพัฒนาการศึกษา |
หลักสูตรศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต (ศษ.ม.)
|
หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (ปร.ด.)
|
คณบดี
แก้ทำเนียบคณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น | ||
---|---|---|
รายนามคณบดี | วาระการดำรงตำแหน่ง | |
1. รองศาสตราจารย์ ดร.สายสุรี จุติกุล | พ.ศ. 2512 - 2517 | |
2. รองศาสตราจารย์ ดร.สมจิตต์ ยอดเศรณี | พ.ศ. 2517 - 2518 (รักษาการแทนฯ) | |
3. รองศาสตราจารย์ ดร.ปรีชา คัมภีรปกรณ์ | พ.ศ. 2518 - 2521 | |
4. อาจารย์ ดร.ปรีชา วงศ์ชูศิริ | พ.ศ. 2521 - 2523 | |
5. ศาสตราจารย์ ดร.ธีระ รุญเจริญ | พ.ศ. 2523 - 2526 | |
6. รองศาสตราจารย์ ระจิต ตรีพุทธรัตน์ | พ.ศ. 2526 - 2529 | |
7. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เทพ พังงา | พ.ศ. 2529 - 2530 | |
8. รองศาสตราจารย์ ดร.แก้วตา คณะวรรณ | พ.ศ. 2530 - 2534 | |
- รองศาสตราจารย์ ระจิต ตรีพุทธรัตน์ | พ.ศ. 2534 - 2537 | |
พ.ศ. 2537 - 2542 | ||
9. รองศาสตราจารย์ ดร.สัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ | พ.ศ. 2542 - 2546 | |
10. รองศาสตราจารย์ ดร.สุลัดดา ลอยฟ้า | พ.ศ. 2546 - 2550 | |
11. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ไพศาล สุวรรณน้อย | พ.ศ. 2550 - 2554 | |
12. รองศาสตราจารย์ ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ | พ.ศ. 2554 - 2562 | |
13. ศาสตราจารย์ ดร.สุมาลี ชัยเจริญ | พ.ศ. 2562 - 2566 | |
14. รองศาสตราจารย์ ดร.อิศรา ก้านจักร | พ.ศ. 2566 - ปัจจุบัน |
หมายเหตุ คำนำหน้านามของผู้ดำรงตำแหน่งคณบดี และผู้รักษาการแทนคณบดี เป็นคำนำหน้านามตามตำแหน่งทางวิชาการในขณะนั้น
ชีวิตนักศึกษา
แก้ประเพณีและกิจกรรม
แก้กิจกรรมภายในคณะ
แก้ประเพณีรับน้อง บขส. เป็นประเพณีต้อนรับว่าที่น้องใหม่คณะศึกษาศาสตร์ที่จะเดินทางมาสอบสัมภาษณ์เพื่อศึกษาต่อในคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น รอบรับตรง ซึ่งรุ่นพี่โดยนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ภายใต้การแนะนำและการให้คำปรึกษาจากรุ่นพี่ทุกชั้นปีและสโมสรนักศึกษา จะเป็นผู้วางแผนและเตรียมกิจกรรมการต้อนรับน้อง ๆ นักเรียนที่จะเดินทางมาสอบสัมภาษณ์ด้วยบรรยากาศที่อบอุ่นเป็นกันเอง เพื่อสร้างความประทับใจให้แก่น้องๆ และเป็นการผ่อนคลายความเครียดของน้องๆ ที่จะมาสอบสัมภาษณ์ซึ่งกิจกรรมนี้จะจัดขึ้นก่อนวันสอบสัมภาษณ์รอบรับตรง ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น 1 วัน กิจกรรมนี้จะช่วยสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างว่าที่น้องใหม่ด้วยกันเองและระหว่างรุ่นน้องกับรุ่นพี่อีกด้วย
ประเพณีลอดซุ้มบัวแก้ว เป็นกิจกรรมต้อนรับน้อง ๆ นักศึกษาใหม่เข้าสู่คณะศึกษาศาสตร์ จัดขึ้นโดยรุ่นพี่ปี 2 ภายใต้การกำกับดูแลของสโมสรนักศึกษาและฝ่ายพัฒนานักศึกษาคณะศึกษาศาสตร์ซึ่งกิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมแรกที่ทางรุ่นพี่จะจัดขึ้นเพื่อเป็นการต้อนรับน้องใหม่คณะศึกษาศาสตร์อย่างเป็นทางการ โดยระหว่างกิจกรรมจะมีนันทนาการและภารกิจให้น้องใหม่ทำร่วมกันเพื่อสร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้นระหว่างน้องใหม่ด้วยกันและเป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างน้องใหม่และพี่รหัสปี 2 ซึ่งจะเป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดที่สุดและคอยให้คำปรึกษาในเรื่องต่าง ๆ แก่น้องใหม่ตลอดทั้งปีการศึกษา
ประเพณีรายงานตัวน้องใหม่และร้องเพลงประจำคณะ เป็นประเพณีที่สืบทอดกันมายาวนานเป็นเอกลักษณ์อีกอย่างหนึ่งของคณะศึกษาศาสตร์ กิจกรรมนี้จัดขึ้นโดยรุ่นพี่สโมสรนักศึกษาภายใต้การกำกับดูแลของฝ่ายพัฒนานักศึกษาคณะศึกษาศาสตร์และระเบียบมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่เกี่ยวข้อง มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างรุ่นพี่และรุ่นน้องในคณะศึกษาศาสตร์ ทำให้รุ่นพี่ได้รู้จักกับรุ่นน้อง และสร้างให้รุ่นน้องได้ตระหนักถึงคุณค่าความเป็นครู และเอกลักษณ์ของคณะศึกษาศาสตร์ โดยกิจกรรมนี้จะมีรุ่นพี่ศึกษาศาสตร์มาทำซุ้มไม้เรียว เพื่อให้น้องใหม่เดินลอดซุ้มไม้เรียวเพื่อเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้แก่น้องๆ นักศึกษาใหม่ ก่อเริ่มกิจกรรมรายงานตัว นอกจากนี้ยังจัดให้มีการร้องเพลงประจำคณะและเพลงประจำมหาวิทยาลัยเพื่อสร้างความรักความสามัคคีและความภาคภูมิใจในสถาบันให้เกิดขึ้นกับน้อง ๆ นักศึกษาใหม่ชั้นปีที่ 1 ทุกคน และมีกิจกรรมนันทนาการต่าง ๆ จากพี่ ๆ ฝ่านสันทนาการ กิจกรรมนี้จัดให้มีการพบปะพูดคุยกันระหว่างพี่น้องสายรหัส ถือได้ว่าเป็นกิจกรรมอีกกิจกรรมหนึ่งที่ก่อให้เกิดความสัมพนธ์อันดีและความสามัคคีให้เกิดชึ้นในสถาบัน ซึ่งนักศึกษาคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นทุกรุ่นจะมีชื่อเรียกว่า ED ตามด้วยลำดับรุ่น เช่น ED1, ED2 ซึ่งการที่จะได้รับการยอมรับและถูกเรียกว่า ED นั้น น้องใหม่จะต้องผ่านกิจกรรมนี้ด้วย
วิ่งประเพณีและกีฬาบัวแก้ว ถือเป็นกิจกรรมรับน้องสร้างสรรค์อีกกิจกรรมหนึ่งของคณะศึกษาศาสตร์ โดยแต่เดิมคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นตั้งอยู่ที่ บริเวณโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น (ศึกษาศาสตร์) ฝั่งประตูสีฐาน แต่ปัจจุบันคณะศึกษาศาสตร์ย้ายมาจัดการเรียนการสอนอยู่ ณ ที่ตั้งปัจจุบันคือบริเวณตรงข้ามอาคารศูนย์วิชาการ (อาคารพิมล กลกิจ) และตั้งแต่มีการย้ายที่ตั้งมาอยู่ที่แห่งนี้ ก็ได้มีการจัดกิจกรรมนี้ขึ้นเพื่อเป็นการรำลึกถึงสถานที่ที่เคยอยู่และใช้จัดการเรียนการสอนถือว่าเป็นภูมิหลังของคณะศึกษาศาสตร์ และเหนือสิ่งอื่นใดกิจกรรมนี้ก็ได้แฝงเอาสิ่งต่าง ๆ ไว้ มากมายกว่าการรำลึกถึงถินเก่าหรือภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ของคณะ นั่นคือ กิจกรรมนี้ได้สร้างความสามัคคีในหมู่คณะให้เกิดขึ้นขณะเดินทางในการวิ่งประเพณีระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร ทุกคนจะคอยช่วยเหลือซึ่งกันและกันระหว่างทางจะมีจุดพักและจุดทดสอบความพร้อมโดยน้องใหม่แต่ละกลุ่มจะต้องมีเพลงหรือกิจกรรมนันทนาการที่ช่วยกันคิดขึ้นมาและมีการแสดงร่วมกันตามจุดพักและจุดทดสอบต่างๆ กิจกรรมนี้สร้างให้เกิดความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ความเสียสละและความเอื้ออารีต่อกันในระหว่างเดินทาง และหลังจากการเดินทางสิ้นสุดลงเมื่อถึงตึกเรียนเดิม ณ โรงเรียนสาธิตและจะมีการพาน้องใหม่ไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์และให้พักผ่อน ระหว่างนี้ก็จะมีกิจกรรมนันทนาการและการเล่าประสบการณ์ต่างๆ จากรุ่นพี่สู่รุ่นน้อง หลังจากเล่าประสบการณ์เสร็จเรียบร้อยก็จะพักรับประทานอาหารร่วมกันจากนั้นก็จะมีการแข่งขันกีฬาสี ระหว่างน้องใหม่ด้วยกันเองและทีมจากพี่ ๆ คณะกรรมการสโมสร กิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมสร้างความสัมพันธ์และความสามัคคีในหมู่คณะได้เป็นอย่างดี และส่งเสริมให้น้องใหม่ทุกคนมีน้ำใจน้อกีฬาอีกด้วย
กิจกรรมระหว่างมหาวิทยาลัย
แก้กระดานดำสัมพันธ์
กระดานดำสัมพันธ์ เป็นการแข่งขันกีฬาประเพณีศึกษาศาสตร์ จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2548 ณ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นการแข่งขันกีฬาเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ของนิสิตนักศึกษาในสายวิชาชีพครู 5 สถาบัน ได้แก่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยนเรศวร, มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ นอกจากการแข่งกีฬาแล้ว ยังมีการแสดงจากนิสิตนักศึกษาของแต่ละมหาวิทยาลัยและการแสดงในงานเลี้ยงกลางคืนทั้งมีการประกวดกองเชียร์และเชียร์หลีดเดอร์ของแต่ละมหาวิทยาลัย โดยทุกสถาบันจะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนในการเป็นเจ้าภาพในแต่ละปี
โดยในปัจจุบันมีสถาบันที่เข้าร่วม ได้แก่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยนเรศวร, มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และมหาวิทยาลัยพะเยา
บุคคลที่มีชื่อเสียง
แก้ดูเพิ่ม รายนามบุคคลที่มีชื่อเสียงจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น
- ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร (ศิษย์เก่า) : เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
- รองศาสตราจารย์ ดร.สัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ (ศิษย์เก่า, คณบดี และอาจารย์) : ผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ
- ดร.อัมพร พินะสา (ศิษย์เก่า) : เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
หมายเหตุ รายนามดังกล่าว จัดเรียงชื่อและนามสกุลตามตัวอักษร
อ้างอิง
แก้- ↑ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การแบ่งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยขอนแก่น, ราชกิจจานุเบกษา, เล่มที่ 87, ตอนที่ 27, 30 มีนาคม พ.ศ. 2513, หน้า 433
- ↑ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, "คณะศึกษาศาสตร์", ขอนแก่น 18 ปี, 2525, หน้า 101 - 102
- ↑ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, "คณะศึกษาศาสตร์", ขอนแก่น 18 ปี, 2525, หน้า 105
- ↑ กวี ทังสุบุตร, "โรงเรียนสาธิตมอดินแดง", ขอนแก่น 18 ปี, 2525, หน้า 272
- ↑ กวี ทังสุบุตร, "โรงเรียนสาธิตมอดินแดง", ขอนแก่น 18 ปี, 2525, หน้า 269
- ↑ ระบบฐานข้อมูลหลักสูตร มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ดูเพิ่ม
แก้- กวี ทังสุบุตร, "โรงเรียนสาธิตมอดินแดง", ขอนแก่น 18 ปี, 2525, หน้า 269 - 275
- มหาวิทยาลัยขอนแก่น, "คณะศึกษาศาสตร์", ขอนแก่น 18 ปี, 2525, หน้า 97 - 108
- มหาวิทยาลัยขอนแก่น, "คณะศึกษาศาสตร์", 30 ปี มหาวิทยาลัยขอนแก่น, ขอนแก่น : มหาวิทยาลัยขอนแก่น, 2537, หน้า 43 - 44