ขงจื๊อ

เป็นนักคิดและนักปรัชญาสังคมที่มีชื่อเสียงของจีน
(เปลี่ยนทางจาก ขงจื่อ)

ขงจื๊อ (จีน: 孔子; อังกฤษ: Confucius ; ภาษาไทยมีเรียกกันหลายชื่อ เช่น ขงฟู่จื่อ ขงบรมครูจื่อ ข่งชิว) (ตามธรรมเนียม, 8 กันยายน 551 – 479 ปีก่อน ค.ศ.) 8 ปีก่อนพุทธศักราช หรือ วันที่ 27 เดือน 8 (八月廿七日) ตามปฏิทินทางจันทรคติของจีน [1] ชื่อรอง จ้งหนี เป็นนักคิดและนักปรัชญาสังคมที่มีชื่อเสียงของจีน คำสอนของขงจื๊อนั้น ฝังรากอิทธิพลลึกลงไปในสังคมเอเชียตะวันออกมาเป็นเวลาถึง 20 ศตวรรษ หลักปรัชญาของขงจื๊อนั้นเน้นเกี่ยวกับศีลธรรมส่วนตัว และศีลธรรมในการปกครอง ความถูกต้องเหมาะสมของความสัมพันธ์ในสังคม และ ความยุติธรรมและบริสุทธิ์ใจ

ขงจื๊อ
孔子
ภาพเขียนขงจื๊อโดยจิตรกรสมัยราชวงศ์ถัง
เกิด551 ปีก่อนคริสต์ศักราช หรือ 8 ปีก่อนพุทธศักราช
โจว, แคว้นหลิ่ว (ปัจจุบันคือ เมืองฉีฟู่ มณฑลซานตง)
เสียชีวิต479 ปีก่อนคริสต์ศักราช หรือพุทธศักราช 64
แคว้นหลิ่ว
ยุคปรัชญาโบราณ
แนวทางปรัชญาจีน
สำนักผู้ก่อตั้งสำนักขงจื๊อ
ความสนใจหลัก
ปรัชญาศีลธรรม, ปรัชญาสังคม, บทกวี
แนวคิดเด่น
ลัทธิขงจื๊อ
ได้รับอิทธิพลจาก
เป็นอิทธิพลต่อ
ขงจื๊อ
"ขงจื๊อ" ในอักษรจีนโบราณ (บน)
และในอักษรจีน (ล่าง)
ภาษาจีน孔子
ความหมายตามตัวอักษร"อาจารย์ขง"
ชื่อภาษาจีนอื่น ๆ
ภาษาจีน孔丘
ความหมายตามตัวอักษร(ชื่อเกิด)

ชีวประวัติโดยสังเขป

แก้

บรรพชนของขงจื๊อสืบเชื้อสายจากเจ้าผู้ครองแคว้นซ่ง(宋国)ซึ่งเป็นหนึ่งในสายราชนิกุลแห่งราชวงศ์ซาง(商朝)บรรพชนรุ่นต่อมาได้รับราชการเป็นขุนนางชั้นสูงของแคว้นซ่งมาหลายชั่วคน แต่ด้วยเหตุความวุ่นวายทางการเมืองจึงลี้ภัยมาอยู่ที่แคว้นหลู่(鲁国)บิดาของขงจื๊อมีนามว่า ข่งเหอ(孔纥)หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ซูเหลียงเหอ(叔梁纥)เป็นผู้มีการศึกษาและชำนาญยุทธ์รูปร่างสูงใหญ่กำยำ รับราชการในแคว้นหลู่ และเคยเข้าร่วมกับกองทัพปกป้องบ้านเมืองจาการรุกรานของต่างแว่นแคว้นถึง 2 ครั้ง เขามีภรรยา 3 คน ภรรยาคนแรกให้กำเนิดบุตรสาว 9 คน ส่วนภรรยาคนที่สอง ถึงแม้จะให้กำเนิดบุตรชายคนแรก แต่ก็พิการทางขาตั้งแต่ยังเด็ก ซูเหลียงเหอในวัย 66 ปีจึงต้องแต่ง เหยียนเจิงไจ้(颜征在 บางตำราเขียนว่า 颜征)เป็นภรรยาคนที่สาม เพื่อมีทายาทสืบสกุลอย่างสมบูรณ์

ขงจื๊อเดิมชื่อว่า ชิว(丘)ชื่อรอง จ้งหนี(仲尼) เป็นชาวเมืองโจวอี้(陬义)ในแคว้นหลู่ ปัจจุบันคือเมืองชวีฟู่(曲阜)ในมณฑลซานตง[(山东)ท่านเกิดในยุคชุนชิว(春秋)เมื่อ 551 ปีก่อนคริสตกาล (8 ปีก่อนพ.ศ.) ถึงแก่กรรมเมื่อ 479 ปีก่อนคริสตกาล (พ.ศ. 64) สิริอายุ 73 ปี

ใน ‘บันทึกประวัติศาตร์สื่อจี้ บทตระกูลขงจื๊อ’ <<史记,孔子世家>>ได้บันทึกไว้ว่า ขงจื๊อสูงประมาณ 2 เมตร เรียกได้ว่าเป็น ‘ผู้สูงใหญ่’ อย่างแท้จริง ตามคำร่ำลือกำลังแขนของขงจื๊อแข็งแรงยิ่งนัก คุณลักษณะทางกายภาพเหล่านี้ ขงจื๊อได้รับถ่ายทอดจากผู้เป็นบิดาซึ่งไม่ตรงกับภาพลักษณ์ที่คนรุ่นหลังกล่าวกันว่า ขงจื๊อเป็นปัญญาชนที่ร่างกายอ่อนแอ เพราะท่านชำนาญทั้งเกาทัณฑ์และขี่ม้า นอกจากนี้ ความสามารถในการดื่มสุราก็เหนือกว่าใคร

เมื่อขงจื๊ออายุได้ 3 ขวบ บิดาก็เสียชีวิต เหยียนเจิงไจ้ทนการกดขี่ของภรรยาหลวงไม่ไหว จึงพาบุตรชายสองคนไปใช้ชีวิตตามลำพัง นางอบรมเลี้ยงดูบุตรทั้งสองอย่างดี ให้ความสำคัญกับการศึกษาหาความรู้ โดยได้รับความช่วยเหลือจากบิดาของนาง มารดาและผู้เป็นตาจึงเป็นผู้ปลูกฝังความใฝ่รู้ให้กับขงจื๊อตั้งแต่ยังเยาว์วัย สิ่งที่ขงจื๊อเล่าเรียนในขณะนั้นคือ จารีต ประเพณี ธรรมเนียมปฏิบัติ และพิธีกรรมของชนชั้นสูงและผู้มีฐานะในสังคมสมัยราชวงศ์โจว เมื่อขงจื๊ออายุ 15 ปี ก็ตั้งปณิธานใฝ่ศึกษาศิลปวิชาแขนงต่าง ๆ ดังที่มีบันทึกในหนังสือ ‘วาทะวิจารณ์ของขงจื๊อ’ <<论语>> ว่า “ข้าอายุ 15 ก็ตั้งมั่นในการศึกษา” (吾十有五而志于学)

พออายุ 17 ผู้เป็นมารดาจากไป ขงจื๊อเลี้ยงชีพด้วยการเป็นข้าราชการชั้นผู้น้อยในแคว้นหลู่ ทำหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานดูแลคลังเสบียงและเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ ตามลำดับ นอกจากนี้ จวนขุนนางหรือคหบดีคนใดมีงานมงคลหรืออวมงคล ก็จะไปเป็นผู้ทำพิธีกรรมให้ ด้วยอุปนิสัยที่ใฝ่รู้ท่านจึงมุ่งมานะหมั่นศึกษามาโดยตลอด อายุ 20 กว่าก็สนใจเกี่ยวกับการเมืองการปกครอง มักถกปัญหาและให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับบ้านเมืองแก่บรรดานักปกครอง จนได้รับการยกย่องให้เป็น ‘ผู้รอบรู้และสันทัดในนิติธรรมเนียม (礼)’ ดังเช่น ครั้นเมื่อเจ้าผู้ครองแคว้นฉี พระนามว่า ‘ฉีจิ่งกง’ (齐景公) เดินทางมาเยือนแคว้นหลู่ พร้อมกับเสนาบดีผู้กระเดื่องนามในประวัติศาตร์นามว่า ‘เยี่ยนอิง’(晏婴)ทั้งสองได้เชิญขงจื๊อเข้าพบและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์บ้านเมือง

ขงจื๊อถนัดในการศึกษาเรียนรู้ข้อดีของคนอื่น ดังที่ได้กล่าวไว้ว่า “สามคนร่วมเดิน จักต้องมีอาจารย์ของเราเป็นแน่ จงเลือกที่ดีเพื่อเอาอย่าง ส่วนที่ไม่ดีก็จงนำมาแก้ไขปรับปรุงตน”(三人行,必有一师焉。择其善者而从之,其不善者而改之)และยังเห็นว่า “ผู้มีความรู้ต้องพร้อมด้วยวรยุทธ์ ผุ้มีวรยุทธ์ต้องพร้อมด้วยความรู้”(有文事者必有武备,有武事者必有文备)ซึ่งก็ต้องเป็นผุ้รอบรู้นั่นเอง ความขยันหมั่นเพียรศึกษาเล่าเรียนตั้งแต่เยาว์วัย เป็นการสั่งสมความรู้ความสามารถสำหรับการสร้างระบบแนวคิด และปูพื้นฐานที่มั่นคงในการถ่ายทอดความรู้แก่ลูกศินย์ ทำให้ขงจื๊อเป็นผู้รอบรู้ในยุคสมัยนั้นและมีผู้มาฝากตัวเป็นศินย์เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

ครั้นอายุ 35 แคว้นหลู่เกิดศึกการเมืองภายในจากการแย่งชิงอำนาจกันเองของผู้ปกครอง ขงจื๊อจึงเดินทางไปยังแคว้นฉีด้วยความคาดหวังว่า เจ้าผุ้ปกครองแคว้นฉีจะสนใจแนวคิดการปกครองของตน แต่ต้องผิดหวังที่เจ้าผู้ปกครองแคว้นไม่ได้ให้ความสำคัญเท่าที่ควร ทั้งยังมีขุนนางคอยกลั่นแกล้งและกีดกัน ท่านจึงกลับมายังแคว้นหลู่หลังจากที่อยู่แคว้นฉีได้ราวหนึ่งปี และดำเนินชีวิตเป็นครูผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาให้แก่บรรดาสานุศินย์ทั้งหลาย

ขงจื๊อในวัย 51-54 ปีใช้ชีวิตวัยกลางคนคลุกคลีกับการปกครองบ้านเมืองอย่างเต็มตัว ด้วยการดูแลท้องที่เล็ก ๆ แห่งหนึ่งจากนั้นไม่นานก็ได้เป็นผู้คุมการโยธา และผู้ดูแลกฎหมายและการลงทัณฑ์ของแคว้นหลู่ ตามลำดับ ท่านทุ่มเทกับงานและปรารถนาให้มีการปกครองที่ดี บ้านเมืองสงบสุข แต่ต้องผิดหวังกับการเมืองภายในแคว้น จึงได้ลาออกและเดินทางเยือนแว่นแคว้นต่าง ๆ เผยแพร่แนวความคิดทางการปกครอง ด้วยความคาดหวังให้บรรดาผู้ปกครองยึดหลักธรรมในการบริหารบ้านเมือง สังคมเป็นระเบียบแบบแผนและสงบสุข แม้จะรู้ว่าเป้นไปได้ยากในสภาพบ้านเมืองเวลา 14 ปี จนกระทั่งอายุได้ 67 ปี จึงเดินทางกลับแคว้นหลู่ และเสียชีวิตเมื่ออายุ 73 ปี

ตลอดระยะเวลาสิบกว่าปีที่เดินทางเยือนผู้ปกครองของแว่นแคว้นต่าง ๆ เพื่อแนะแนวทางการบริหารบ้านเมือง ขงจื๊อประสบกับอุปสรรคนานัปการ ไม่ว่าจะถูกดูหมิ่นเหยียดหยาม ใส่ร้ายป้ายสี ปองร้าย ควบคุมตัว และแนวความคิดก็ไม่เป็นที่ยอมรับ เนื่องจากสวนทางกับสภาพบ้านเมืองและสังคมในขณะนั้นที่เจ้าครองแคว้นต่างคำนึงถึงผลประโยชน์ความอยู่รอดของแคว้นตน แต่ท่านก็ไม่ลดละความมุ่งมั่นและความกระตือรือร้นที่ต้องการมีส่วนร่วมสร้างสังคมที่ดี ยินดีที่จะอุทิศตนเพื่อประชาชน ท่านกล่าวว่า “ผู้มีปณิธานและมนุษยธรรมจะไม่ทำลายมนุษยธรรมเพียงเพื่อแลกกับการมีชีวิต จะมีแต่อุทิศชีวิตตนเพื่อให้บรรลุมนุษยธรรม”

 
หุ่นขี้ผึ้งขงจื๊อ จัดแสดง ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย จังหวัดนครปฐม

หลักความรู้

แก้
 
ป้ายหลุมศพของขงจื๊อในอารามขงจื๊อ เมืองฉีฟู่ มณฑลซานตง
ศาสตร์สี่แขนง
ที่ขงจื๊อวางรากฐานไว้ ได้แก่ วัฒนธรรม ความประพฤติ ความจงรักภักดี และ ความซื่อสัตย์ โดยวัฒนธรรมเน้นถึงการเคารพบรรพบุรุษและพิธีการโบราณ ยึดถือผู้อาวุโสเป็นหลัก แต่ไม่ยึดติดหรืออายที่จะหาความรู้จากคนที่ต่ำชั้นหรืออายุน้อยกว่า
แปดหลักการพื้นฐานในการเรียนรู้
ได้แก่ สำรวจตรวจสอบ ขยายพรมแดนความรู้ จริงใจ แก้ไขดัดแปลงตน บ่มความรู้ ประพฤติตามกฎบ้านเมือง ประเทศต้องได้รับการดูแล นำความสงบสุขมาสู่โลก
ลำดับการเรียนรู้
ได้แก่ พิธีกรรม ดนตรี ยิงธนู ขี่ม้า ประวัติศาสตร์ และ คณิตศาสตร์
คุณธรรมทั้งสาม
ที่ได้จากการเรียนรู้ ได้แก่ ภูมิปัญญา เมตตากรุณา และความกล้าหาญ
สี่ขั้นตอนหลักการสอน
ได้แก่ ตั้งจิตใจไว้บนมรรควิธี ตั้งตนในคุณธรรม อาศัยหลักเมตตาเกื้อกูล สร้างสรรค์ศิลปะใหม่
สี่ลำดับการสอน
ได้แก่ คุณธรรมและความประพฤติ ภาษาและการพูดจา รัฐบาลและกิจการบ้านเมือง และสุดท้ายคือวรรณคดี

เนื้อหาปรัชญาของขงจื๊อ

แก้
ปรัชญาปัจเจกชน :

ขงจื๊อสอนว่า ความเจริญหรือความเสื่อมของโลก ของสังคมเกิดมาจากปัจเจกชนหรือแต่ละบุคคลเป็นรากฐาน เพราะฉะนั้นรัฐจะต้องพัฒนาคนให้ดีเสียก่อน แล้วสังคม ประเทศ ตลอดถึงโลกก็จะดีขึ้นตามโดยอัตโนมัติ ขงจื๊อเชื่อว่า การที่จะเป็นคนดีได้นั้น ประการแรก จะต้องได้รับการศึกษา การได้รับการศึกษาจากสถาบันการศึกษาหรือจะศึกษาค้นคว้าด้วยตัวเองก็ได้ การศึกษาก็จะทำให้คนฉลาดขึ้น สามารถแยกแยะระหว่างสิ่งดีและสิ่งชั่วร้าย ว่าสิ่งไหนควรทำและไม่ควรทำ อะไรเป็นไปเพื่อความเจริญ อะไรเป็นไปเพื่อความเสื่อม เมื่อรู้แล้วก็จะหาทางหลีกเลี่ยงความเสื่อมแล้วดำเนินไปสู่ความเจริญ ขงจื๊อเชื่อว่าทุกคนมีอัธยาศัยใกล้เคียงกัน แต่ที่มาแตกต่างกัน เป็นคนดี คนชั่ว คนฉลาด คนโง่ ก็เพราะการศึกษาอบรม อย่างเช่น คนที่มีการศึกษาอบรม ก็ย่อมจะรู้จักปรับปรุงตนให้ดีขึ้น สละความไม่ดีทิ้งออกไป เหล่านี้เป็นต้น ก็จะเป็นผลให้เป็นคนดี แต่ถ้าไม่เป็นตามนี้ ก็เป็นคนชั่ว ดังที่ขงจื๊อ กล่าวว่า

“การไม่อบรมตนให้มีคุณธรรมหนึ่ง การไม่เสาะแสวงหาความรู้หนึ่ง ประสบความชอบธรรมแล้วไม่อนุวัตรตามความชอบธรรมนั้นหนึ่ง การไม่สละความผิดด้วยการปรับปรุงตนใหม่หนึ่ง ทั้งหมดนี้เป็นความทุกข์ของฉัน”

คนที่ฉลาดย่อมปรับปรุงตนเองให้สูงขึ้นอยู่เสนอ ทั้งสามารถหาสาระได้จากสิ่งที่ไม่น่ามีสาระ อย่างที่ขงจื้อกล่าวว่า “ในจำนวนคน 3 คนที่เดินมาด้วยกัน จะต้องมีคนที่สามารถเป็นครูของฉันได้ จงเลือกเอาแต่จุดที่ดีของเขามาปฏิบัติ ส่วนจุดที่เสียก็จงละเว้น” หรือขงจื๊อกล่าวไว้ว่า “จงร่อนเอาความดีออกจากสิ่งต่าง ๆ ที่ท่านได้ยิน และปฏิบัติตามความดีเหล่านั้น จงร่อนเอาความดีออกจากสิ่งต่าง ๆ ที่ท่านได้เห็นและจำความดีเอาไว้”

ขงจื๊อมีความเห็นว่า คนดีจะต้องช่วยกันรักษาจารีตประเพณีตลอดถึงมารยาทที่ดีงามไว้ เพราะเรื่องเหล่านี้ได้ผ่านการกลั่นกรองและทดสอบด้วยกาลเวลามาแล้ว จารีตประเพณีตลอดถึงมารยาทที่ดีงามจะทำให้เป็นอารยชน ไม่ป่าเถื่อน และจะช่วยให้คนก้าวหน้าไปสู่ความเจริญยิ่งขึ้นต่อไป และที่สำคัญยิ่ง คนดีจะต้องมีหลักธรรมประจำใจ ยึดมั่นในคุณธรรม เช่น ความขยันหมั่นเพียร ความซื่อสัตย์สุจริต ความยุติธรรม ความกล้าหาญ ความเมตตากรุณา เป็นต้น คนดีจะต้องเทิดทูนคุณธรรมไว้ยิ่งชีวิต ดังที่ขงจื้อกล่าวว่า “บัณฑิตย่อมเห็นแก่คุณธรรมยิ่งกว่าปากท้อง” หรือ “บัณฑิตผู้มีธรรม ย่อมไม่ทำลายธรรมเพราะเห็นแก่ชีวิต แต่ยอมสละชีวิตเพื่อรักษาธรรมไว้”

ขงจื๊อสนับสนุนให้คนเทิดทูนธรรมยิ่งกว่าชีวิต ข้อนี้ตรงกับโซเครตีส นักปรัชญาผู้ยิ่งใหญ่ของกรีก และตัวโซเครตีสเอง ก็ได้ปฏิบัติเป็นตัวอย่างมาแล้ว หรือแม้แต่พระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสเชิดชูคุณธรรมเช่นกัน แสดงว่าคุณธรรมมีคุณค่าเหนือสิ่งใด ๆ ขงจื๊อได้กล่าวถึงคุณธรรมที่เป็นไปเพื่อความสุข ความเจริญไว้เป็นอเนกนัย เช่น

“สิ่งเหล่านี้บัณฑิตคอยต่อต้าน คือ กามตัณหาในเนื้อหนังในวัยหนุ่ม การระรานในวัยฉกรรจ์ และความละโมบในวัยชรา”

“บัณฑิตย่อมคิดถึงแต่อุปนิสัยของตน ส่วนคนพาลคิดแต่ตำแหน่งของตน ฝ่ายแรกคิดหาวิธีแก้ไขความผิด แต่ฝ่ายหลังคิดถึงแต่ความโปรดปราน”

“บัณฑิตแสวงหาสิ่งที่เป็นความถูกต้อง ส่วนคนพาลเสาะแสวงหาแต่ผลประโยชน์”

“คุณสมบัติแก่นสาร 4 อย่างของวีรชน คือ เขาเป็นคนถ่อมตน เคารพนบนอบต่อผู้ใหญ่ มีความกรุณาต่อคนทั่วไป และเป็นคนยุติธรรมเสมอ”


ปรัชญาสังคม :


สังคมมิใช่อื่นไกล ก็คือการรวมตัวของปัจเจกชนนั่นเอง คนเรามิใช่อยู่โดดเดี่ยว จะต้องเกี่ยวข้องกับคนอื่นด้วย เมื่อมีความเกี่ยวข้องกัน สังคมก็เกิดขึ้น และเมื่อมีความเกี่ยวข้องกัน ก็จำเป็นต้องมีหลักในการปฏิบัติต่อกัน เป็นเหตุให้เกิดปรัชญาสังคมขึ้นมา ขงจื๊อได้จัดความเกี่ยวข้องหรือความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล 5 ประเภท พร้อมทั้งหน้าที่ ที่จะต้องปฏิบัติต่อกันดังต่อไปนี้

1. ผู้ปกครองกับผู้อยู่ใต้การปกครอง โดยผู้ปกครองผู้ปกครองแสดงความนับถือให้เกียรติ ส่วนผู้อยู่ใต้ปกครองก็ต้องจงรักภักดี

2. บิดามารดากับบุตรธิดา โดยบิดามารดาให้ความเมตตากรุณา ส่วนบุตรธิดาก็มีความกตัญญูกตเวที

3. สามีกับภรรยา โดยสามี มีคุณธรรม ฝ่ายภรรยาก็ต้องเชื่อฟัง

4. พี่กับน้อง โดยที่วางตัวให้สมกับเป็นพี่ ส่วนน้องก็เคารพเชื่อฟัง

5. เพื่อนกับเพื่อน ต่างก็ต้องทำตัวให้น่าเชื่อถือและไว้วางใจกันได้

ขงจื๊อมีความเห็นว่า ความยุ่งยากที่เกิดขึ้นในสังคม ก็เพราะคนไม่ทำหน้าที่ของตนให้สมบูรณ์ เช่น บิดามารดาไม่เลี้ยงดูบุตรธิดาให้ดี บุตรธิดาก็ไม่มีความกตัญญูกตเวทีต่อบิดามารดา สามีกับภรรยาต่างนอกใจกัน เป็นต้น ผลก็คือความเดือดร้อนต่าง ๆ ก็จะมาตกแก่สังคม ทำให้สังคมเดือดร้อน แต่ตรงกันข้าม หากทุกคนทำตามหน้าที่ของตนให้สมบูรณ์ ปัญหาความวุ่นวายของสังคมก็จะหมดไป เพราะฉะนั้นการทำหน้าที่ของตนให้ดีจึงสำคัญ ดังที่ขงจื๊อว่า “กษัตริย์ต้องทำหน้าที่ของกษัตริย์ให้สมบูรณ์ ขุนนางต้องทำหน้าที่ขุนนางให้สมบูรณ์ บิดามารดาทำหน้าที่บิดามารดาให้สมบูรณ์ บุตรธิดาก็ทำหน้าที่บุตรธิดาให้สมบูรณ์”

การที่แต่ละคนจะทำหน้าที่ของตนให้สมบูรณ์ได้ ก็เพราะมีใจตั้งอยู่บนคุณธรรมพื้นฐาน คือ เอาใจเขามาใส่ใจเรา เรารักสุขเกลียดทุกข์ฉันใด คนอื่นสัตว์อื่นก็ฉันนั้น การเอาใจเขามาใส่ใจเรา ภาษาจีนเรียกว่า “ซู่” (恕) อย่างเช่น ครั้งหนึ่งจื้อกงถามขงจื๊อว่า “จะมีคำสักคำไหมที่จะนำมาเป็นหลักในการดำเนินชีวิต”

ปรัชญาสังคมของขงจื๊อ ก็ทำนองเดียวกับคำสอนในพุทธศาสนาที่เรียกว่า คิหิปฏิบัติ ตอนที่ว่าด้วยทิศ 6 ได้แก่ ทิศตะวันออก คือบิดามารดา ทิศใต้ คือ ครู-อาจารย์ ทิศตะวันตก บุตร ภรรยา ทิศเหนือ มิตรสหาย ทิศเบื้องบน นักบวช และทิศเบื้องต่ำ ข้าทาส บริสาร หรือผู้น้อย ทุกคนที่เกิดมาในโลกนี้ ย่อมจะมีความเกี่ยวข้องกันในฐานะใด ฐานะหนึ่ง หรือหลายฐานะ ใครอยู่ในฐานะไหนก็ต้องทำหน้าที่ของตนให้สมบูรณ์ อย่างเช่น

บิดา มารดา มีหน้าที่ต้องทำต่อบุตรธิดา คือ

1.ห้ามไม่ให้ทำความชั่ว

2.ให้ตั้งอยู่ในความดี

3.ให้การศึกษาศิลปวิทยา

4.หาคู่ครองที่สมควรให้

5.มอบมรดกให้เมื่อถึงเวลา

ส่วนบุตรธิดา ก็ต้องทำหน้าที่ของตนต่อบิดามารดา คือ

1.เลี้ยงดูท่านตอบ

2.ช่วยทำกิจธุระของท่าน

3.ดำรงวงศ์ตระกูลของท่าน

4.ประพฤติตัวให้สมควรรับมรดก

5.เมื่อบิดามารดาสิ้นชีพไปแล้วก็หมั่นทำบุญอุทิศไปให้ท่าน เหล่านี้เป็นต้น


ปรัชญาด้านการเมือง :


สังคมทั้งหลายเมื่อมารวมกัน ก็เป็นเหตุให้เกิดรัฐขึ้นมา เมื่อมีรัฐหรือประเทศก็ต้องมีผู้ปกครองหรือรัฐบาล คอยปกครองดูแลสังคมให้เป็นไปอย่างปกติสุขและเจริญก้าวหน้าต่อไป แต่ก็เป็นความจริงว่า ยังมีผู้ปกครองหรือรัฐบาลที่ไม่ดีอยู่มาก ใช้วิธีกดขี่ทารุณประชาชน ทำให้ประชาชนต้องเดือดร้อนมาก อย่างเช่น คราวหนึ่งขงจื๊อพาคณะเดินทางไปรัฐฉี (齐国) ขณะที่ผ่านป่าใหญ่ใกล้เชิงเขาไท่ซาน (泰山) ก็ได้ยินเสียงร้องไห้สะอึกสะอื้นของหญิงคนหนึ่ง ขงจื๊อจึงพูดขึ้นว่า ”เสียงร้องไห้ ฟังโหยหวนโศกาดูรยิ่งนัก หญิงผู้นั้นคงจะมีทุกข์หนักเป็นแน่แท้” จึงใช้ให้จื่อก้งไปถาม หญิงคงนั้นได้ตอบจื่อก้งว่า “น้าชายของฉันถูกเสือกัดตายไม่นานนี้ ต่อมาสามีของฉันก็ถูกเสือกัดตาย ครั้นมาบัดนี้ลูกชายของฉันต้องมาตายเพราะถูกเสือกัดอีก”

จื่อก้ง “ก็ทำไมไม่ย้ายบ้านหนีไปเล่า” หญิงคนนั้นตอบว่า “ก็ที่นี่ไม่มีรัฐบาลที่กดขี่ทารุณนะซี” จื่อก้งจึงนำความมาบอกขงจื๊อ ขงจื๊อฟังด้วยความสลดใจ ได้กล่าวขึ้นว่า “ศิษย์ทั้งหลาย จงจำไว้เถิด อันรัฐบาลที่กดขี่ทารุณนั้น มันร้ายยิ่งกว่าเสือเสียอีก”

ขงจื๊อได้รับความกระทบกระเทือนใจมากจากเรื่องที่ฟังมา จึงคิดหาทางที่จะให้มีนักปกครองหรือรัฐบาลที่ดีให้จงได้ จึงเป็นสาเหตุให้เกิดปรัชญารัฐหรือปรัชญาการเมืองขึ้นมา โดยส่วนตัว ขงจื๊อนิยมชมชอบรัฐศาสตร์จารีต นิติธรรมเนียมโบราณ สมัยพระเจ้าเงี้ยว พระเจ้าซุ่น พระเจ้าอู๊ และราชวงศ์โจว โดยเฉพาะก็ โจงกง รัฐบุรุษเชื้อสายราชวงศ์โจวเป็นบุคคลแบบอย่างในอุดมคติของขงจื๊อ ขงจื๊อจึงพยายามบำเพ็ญตนให้เหมือนโจวกง ทั้งเทิดทูลพระเกียรติคุณของกษัตริย์ดังกล่าวมานั้น ขงจื๊อได้เสนอปรัชญาการเมืองขึ้นมา มีเป้าหมายเพื่อนำสันติสุขและความเจริญมาให้ประชาชนเป็นที่ตั้ง เหตุที่สำคัญที่จะบันดาลให้บรรลุถึงผลดังกล่าวได้ก็อยู่ที่ตัวผู้นำ หากได้ผู้นำเป็นคนดีมีความรู้ก็สามารถทำให้สัมฤทธิผลได้ เพราะฉะนั้นขงจื๊อจึงให้ความสำคัญในการพัฒนาผู้นำเป็นการใหญ่ แต่ทำอย่างไรจึงจะสามารถสร้างผู้นำที่ดีให้เกิดมีขึ้น

ขงจื๊อเชื่อว่า การที่จะสร้างให้เป็นคนดี ประการแรกจะต้องให้การศึกษาอบรมเสียก่อน วิชาที่ขงจื๊อสอนมีหลายวิชา หรือที่เรียกว่าศาสตร์ทั้ง 6 ซึ่งก็มีประวัติศาสตร์ รัฐศาสตร์ ธรรมชาติวิทยา นิติธรรมเนียม กวีนิพนธ์ ดนตรี เพราะนิติธรรมเนียมประเพณีตลอดถึงมารยาททางสังคมเป็นแนวทางให้คนดำเนินไปสู่ความเป็นอารยชนเป็นคนเมือง มิใช่คนป่า ส่วนวิชากวีนิพนธ์ก็เพื่อให้ใจเห็นความงามและเป็นระเบียบ ทำให้เกิดแรงบันดาลใจนำไปสู่การคิดคำนึงถึงความทรงจำเก่า ๆ ทั้งเป็นการเสริมสร้างการสมาคมและเป็นการระบายความไม่สมหวังของคนได้ด้วย ส่วนวิชาดนตรีก็เพื่อให้ซาบซึ้งถึงความไพเราะ ความกลมกลืนกัน ดนตรีมิเพียงแต่ทำความรู้สึกนึกคิดให้กลมกลืนกันเท่านั้น แต่ยังนำความสับสนวุ่นวายของสังคมไปสู่ความเป็นระเบียบเรียบร้อยอีกด้วย วิชาทั้ง 3 นี้ เป็นไปเพื่อกล่อมเกลาใจคนให้อ่อนโยนละมุนละไม เหมาะที่จะปลูกให้มีคุณธรรมต่อไป ขงจื๊อได้กล่าวว่า “อุปนิสัยของคนอาจปลูกฝังขึ้นได้ด้วยกวีนิพนธ์เสริมสร้างให้มั่งคงด้วยจารีตประเพณี และทำให้สมบูรณ์ได้ด้วยดนตรี”

ความเป็นไปของขงจื๊อหลายอย่างคล้ายกับโซเครตีส อย่างเช่น ขงจื๊อและโซเครตีสชอบเสาะแสวงหาความรู้อย่างไม่หยุดหย่อน ทั้งพยายามสั่งสอนอบรมคนอย่างไม่เบื่อหน่าย โซเครตีสกล่าวว่า “ข้าพเจ้ารู้อย่างเดียวว่าข้าพเจ้าไม่รู้” ("I know that I know nothing" หรือ "I know one thing: that I know nothing") ส่วนขงจื๊อก็กล่าวว่า “ลักษณะผู้รู้คือผู้รู้ตัวว่ารู้อะไรบ้างและไม่รู้อะไรบ้าง“ ดังที่ขงจื๊อกล่าวว่า เมื่อข้าพเจ้าสอนอะไร หากท่านรู้ก็บอกว่ารู้ เมื่อไม่รู้ก็บอกว่าไม่รู้ นั่นแหละคือความรู้ (”知之为知之,不知为不知,是知也”)ข้อนี้ก็ตรงกับคำสอนในศาสนาคริสต์ ที่พระเยซูสอนไม่ให้สบถสาบาน แต่ให้พูดตามความจริง ถ้าใช่ก็ว่าใช่ ถ้าไม่ก็ว่าไม่พูดเท่านี้พอแล้ว คำพูดที่เกินกว่านี้ย่อมมาจากความชั่ว (มัทธิว ๕ : ๓๓-๓๗) โซเครติสเที่ยวสั่งสอนอบรมคนให้เป็นฉลาดและเป็นคนดี ดังที่เขากล่าวว่า “ข้าพเจ้าจะอยู่ในกรุงเอเธนส์ตามเทวบัญชา จะคอยชักนำชาวเอเธนส์ให้ทำความดีตลอดเวลา จะอยู่กับท่านไม่จากไป ดุจตัวไรไม่พรากไปจากม้า… ข้าพเจ้าทำตัวเหมือนบิดาหรือพี่ชายใหญ่ คอยให้โอวาทเพื่อดำเนินชีวิตไปในทางที่ชอบ พยายามให้แต่ละคนเลิกคิดถึงเรื่องว่าคนมีอะไร แต่ให้คิดเสียใหม่ว่าตนคืออะไร ให้ศึกษาทางที่จะเป็นคนฉลาดและเป็นคนดี…” ส่วนขงจื๊อก็เที่ยวสั่งสอนอบรมคนให้เป็นคนฉลาดและคนดีเช่นกัน และการใช้ดนตรีและกวีนิพนธ์มาเป็นหลักสูตรในการศึกษาของขงจื๊อ ก็เหมือนกับวิธีการของเพลโต้ ศิษย์เอกของโซเครตีส เพลโต้ถือว่าดนตรีและกวีนิพนธ์มีอานุภาพช่วยกล่อมเกลาจิตใจให้อ่อนโยนควรที่จะรับคุณธรรมต่อไป ดนตรีทำให้วิญญาณได้ส่วน ทำนองเดียวกับกายบริหารทำให้ร่างกายได้สัดส่วนฉันนั้น ขงจื๊อก็เช่นกัน ถือว่ากวีนิพนธ์และดนตรีเป็นเครื่องมือในการกล่อมเกลาอารมณ์ให้สงบประณีตได้อย่างดี

ขงจื๊อเป็นคนรักดนตรีอย่างยิ่ง จนได้รับเกียรติว่าเป็นปรมาจารย์แห่งดนตรี เมื่อเขาเดินทางไปอาศัยรัฐฉี (齐国) ขงจื๊อได้ศึกษาดนตรีของนครฉี จนลืมรสอาหารถึง 3 เดือน ดังที่ขงจื๊อกล่าวว่า “ข้าพเจ้าไม่เคยสดับเสียงดนตรีที่ไพเราะเสนาะโสตอย่างนี้เลย” ตลอดชีวิตของท่านได้อาศัยกวีนิพนธ์และดนตรีเป็นเพื่อนคู่ทุกข์คู่ยากก็ว่าได้ ขงจื๊อได้วิจารณ์ดนตรีสมัยพระเจ้าซุ่นว่า ทั้งไพเราะทั้งดีงาม ทั้งนี้ก็เพราะมีเนื้อและทำนองนุ่มนวลสงบเย็น ผิดกับดนตรีสมัยพระเจ้าโจวอู่อ๋อง(周武王)ซึ่งก็ไพเราะ แต่ขาดความดีงาม เพราะเนื้อและทำนองรวดเร็ว รุนแรงแบบรบพุ่งปราบปราม วิชาดนตรีและกวีนิพนธ์จึงเป็นหลักสูตรสำคัญยิ่งที่นักศึกษาทุกคนจะต้องเรียนในมหาวิทยาลัยขงจื๊อ

การศึกษาวิชาการต่าง ๆ ผู้ศึกษาจะต้องศึกษาให้เข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง ไม่ใช่ศึกษาว่าตาม ๆ กันโดยไม่คิดนึกตรึกตรองให้เห็นอย่างถ่องแท้ ถ้าศึกษาแบบนี้ก็ไม่มีประโยชน์ ในทำนองเดียวกัน การคิดเอาเองโดยไม่เรียนก็ไม่ดีเช่นกัน ดังที่ขงจื๊อกล่าวว่า “การศึกษาโดยปราศจากความคิดก็ไร้ประโยชน์ ทำนองเดียวกัน ความคิดที่ปราศจากการศึกษาก็เป็นอันตราย”

ขงจื๊อให้ความสำคัญต่อการศึกษามาก คนที่ได้รับการศึกษาแล้วไม่ได้รับประโยชน์นั้นไม่มี เพราะฉะนั้นทุกคนควรศึกษาเล่าเรียนไม่ว่าจะอยู่ในวัยไหน แต่ปฐมวัยดูจะเหมาะกว่า ดังมีเรื่องเล่าว่า ครั้งหนึ่งขงจื๊อถูกถามว่า “การศึกษาดีสำหรับคนทุกคนหรือไม่” ก็ได้รับคำตอบว่า “คนที่ศึกษาได้ 3 ปี แล้วไม่ได้ประโยชน์อะไรเลยจากการศึกษานั้นหายากเหลือเกิน” ขงจื๊อถูกถามอีกว่า “การศึกษาดีทุกเวลาทุกวัยหรือไม่” ก็ได้รับคำตอบว่า “การศึกษาดีทุกเวลาและทุกวัย แต่ถ้าได้รับการศึกษาเมื่อยังหนุ่มย่อมดีกว่า”

ขงจื๊อมีความเชื่อว่า ทุกคนมีอัธยาศัยคล้ายกันโดยธรรมชาติคืออยากเป็นคนดี ไม่อยากเป็นคนชั่ว แต่ที่ต้องถลำตัวเป็นคนชั่วก็เพราะ 2 สาเหตุ คือ 1. ไม่ได้รับการศึกษาอบรม จึงทำให้ไม่รู้ว่าอะไรดีอะไรชั่ว 2. ความจำเป็นบังคับ เช่น ความอดอยากยากจน หากรัฐสามารถแก้เหตุทั้ง 2 อย่างนี้ได้ก็จะไม่มีคนชั่วอีกต่อไป ขงจื๊อได้พิสูจน์ถึงทฤษฎีนี้แล้ว ได้ผลสมความมุ่งหมาย เรื่องมีอยู่ว่า สมัยที่ขงจื๊อกำลังมีชีวิตรุ่งโรจน์ในทางการเมืองในแคว้นหลู่ โดยเป็นรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม ขงจื๊อได้ใช้อำนาจหน้าที่ออกระเบียบแก้ไขนักโทษล้นคุก ดังต่อไปนี้ ประการแรก ขงจื๊อได้ทำการศึกษาประวัตินักโทษแต่ละคนตลอดถึงครอบครัวของเขา ประการถัดมา ขงจื๊อได้เชิญนักกฎหมายและผู้พิพากษามาพบ ขงจื๊อได้กล่าวแก่นักกฎหมายและผู้พิพากษาว่า ตนได้ศึกษาประวัตินักโทษแต่ละคนแล้ว พบว่านักโทษเกือบทั้งหมดเป็นคนเขลา เพราะไม่ได้รับการศึกษาอบรม และเป็นคนยากจนหรือเป็นลูกของคนเขลาและยากจน คนรวยมักจะได้รับการศึกษา จึงมีความสามารถที่จะประกอบอาชีพเลี้ยงชีวิตได้ เมื่อคนรวยทำอาชญากรรมก็อาจหลบเลี่ยงโทษทัณฑ์ โดยให้สินบนแก่ผู้พิพากษา เพราะฉะนั้นงานที่จะต้องทำรีบด่วนก็คือ ขจัดความโง่เขลาโดยให้การศึกษา และขจัดความยากจนโดยช่วยให้เขามีความสามารถประกอบอาชีพที่ซื่อสัตย์สุจริต

นักกฎหมายและผู้พิพากษาถามว่า “เราจะเริ่มต้นที่ไหนดี”

ขงจื๊อตอบว่า “เริ่มที่ตัวเรา พวกท่านเป็นนักกฎหมายและผู้พิพากษา ก็ขออย่าพลิกกลับความยุติธรรม มีการตัดสินสำหรับคนจนอย่างหนึ่ง และอีกอย่างหนึ่งสำหรับคนรวย กฎข้อแรกของพวกท่าน ก็คืออย่าทำอะไรแก่ผู้อื่นอย่างที่ท่านก็ไม่ปรารถนาจะให้ผู้อื่นทำกับท่าน”

ผลการทดลองตามทฤษฏีของขงจื๊อ ปรากฏว่า ต่อมาอีก 2 ปี เรือนจำในแคว้นหลู่ว่างเปล่า ไม่มีนักโทษอยู่เลย

ความเชื่อของขงจื๊อที่ว่าทุกคนไม่อยากเป็นคนชั่ว ก็ตรงกับความเชื่อของโซเครตีส กล่าวคือ โซเครตีสเชื่อว่า ทุกคนอยากเป็นคนดีด้วยกันทั้งนั้น แต่ที่หันไปทำความชั่วก็เพราะไม่รู้ว่าอะไรเป็นความดี อะไรเป็นความชั่ว หากรู้ว่าอะไรเป็นความชั่วแล้ว ก็จะไม่มีใครหันไปทำความชั่วอย่างแน่นอน เพราะการทำความชั่วทั้ง ๆ ที่รู้นั้นไม่ใช่ธรรมชาติของมนุษย์ หรือหากถูกบังคับให้เลือกทำความชั่ว 2 อย่าง ก็จะไม่มีใครที่เลือกทำความชั่วชนิดที่หนักกว่าเลย

โซเครตีสเชื่อว่า คุณธรรมจะคอยควบคุมไม่ให้คนทำความชั่ว สมมุติว่าถ้าจะทำความชั่ว โซเครติสก็ยังมีความเห็นว่า ถ้าบุคคลทำความชั่วทั้ง ๆ ที่รู้ว่าเป็นความชั่วก็ยังดีกว่า คนที่ทำความชั่วโดยยังไม่รู้ว่าชั่ว เพราะฝ่ายแรกยังมีความรู้ว่าอะไรดี ยังมีภาวะแห่งความดีเป็นสาระอยู่ในตัว ผิดกับฝ่ายหลังยังไม่มีภาวะดังกล่าวเลยก็มีหวังทำความชั่วต่อไปเรื่อย ๆ

ขงจื๊อเชื่อว่า หากได้ผู้นำที่ดีเด่นทั้งความรู้และคุณธรรมมาปกครองประเทศแล้วไซร้ ก็จะบันดาลความผาสุกและเจริญรุ่งเรืองให้เกิดขึ้นแก่พลเมืองได้เป็นแน่แท้ ขงจื๊อให้ความสำคัญต่อผู้นำประเทศชาติมาก เป็นกัปตันที่จะพารัฐนาวาไปถึงจุดหมายปลายทาง คือ ความสุข ความเจริญรุ่งเรือง เพราะความรู้ความสามารถและคุณธรรมที่สูงส่งของผู้นำบันดาลให้เกิด ทั้งความดีของผู้นำก็ช่วยดึงดูดจิตใจของพลเมืองให้เอาแบบอย่างด้วย ขงจื๊อได้วางหลักสูตรสำหรับผู้ปกครองไว้ 9 ประการ คือ

1. การอบรมตนให้มีคุณธรรม

2. การยกย่องผู้มีความรู้ความสามารถ

3. การปฏิบัติหน้าที่อย่างดีที่สุด ตามความสามารถเหมาะสมกับฐานะบุคคลในสังคม

4. การยกย่องขุนนางผู้ใหญ่หรือผู้มีอำนาจในแผ่นดิน

5. การแผ่พระคุณไปในหมู่ขุนนางผู้น้อง

6. การแผ่ความรักไปในหมู่ราษฎร ดุจบุตรธิดาในอุทร

7. การสนับสนุนส่งเสริมศิลปวิทยาและอาชีพต่าง ๆ ให้เจริญ

8. การต้อนรับชาวต่างชาติที่เข้ามาค้าขายหรือสวามิภักดิ์

9. การผูกมัดน้ำใจเจ้าครองนครทั้งหลายด้วยไมตรี

สูตรทั้ง 9 ข้อนี้ มีทั้งนโยบายปกครองตน ปกครองประชาชน ปกครองราชการ นโยบายการศึกษา เศรษฐกิจ ตลอดถึงนโยบายต่างประเทศ และสูตรทั้ง 9 ข้อนี้ สามารถย่อยลงในคำพูด 2 คำ คือ เจิ้งหมิง (正名) ซึ่งแปลว่า การปฏิบัติงานให้ถูกต้องกับฐานะและชื่อเสียงของตน

ขงจื๊อมีความเห็นว่า ในการปกครองประเทศ ผู้ปกครองอย่าใช้พระเดชนำหน้า เพราะการใช้พระเดชอาจทำให้ราษฎรเกรงกลัวได้ก็จริง แต่รัฐก็ได้รับความเกลียดชังจากราษฎรเช่นกัน เพราะกลัวกับการเกลียดนั้นอยู่ใกล้กัน การใช้กำลังถึงจะเอาชนะได้ก็เพียงชนะภายนอก ไม่สามารถเอาชนะจิตใจราษฎรได้ เมื่อราษฎรไม่พอใจมากก็จะคิดต่อต้าน หรืออย่างน้อยก็ไม่ให้ความร่วมมือ แต่ตรงกันข้ามหากรัฐบาลใช้พระคุณนำหน้า พลเมืองก็จะนิยมชมชอบและให้การสนับสนุน ดังที่ ขงจื๊อกล่าวไว้ว่า

“ในการปกครอง หากใช้แต่กฎหมายอย่างเดียวปกครองประชาชน สร้างความเป็นระเบียบเรียบร้อยด้วยอาชญาแล้วไซร้ ประชาชนไม่เพียงจักหลบเลี่ยงละเมิดกฎหมายเท่านั้น ยังจะไม่มีความละอายต่อความชั่วด้วยความรู้สึกผิดชอบของตน แต่ตรงกันข้าม หากปกครองโดยใช้คุณธรรมนำประชาชน สร้างความเป็นระเบียบเรียบร้อยด้วยนิติธรรมเนียม จารีตประเพณี ประชาชนก็จักมีความละอายต่อความชั่วด้วยความรู้สึกผิดชอบของตนเอง ทั้งยังจะก้าวหน้าไปสู่ความดีเบื้องสูงอีกด้วย”

ผู้ปกครองหรือรัฐที่ฉลาด จะต้องตระหนักอยู่เสมอว่า ตนตกเป็นเป้าสายตาของประชาชน หากทำดีให้ประชาชนเห็น ประชาชนก็จะยกย่อง แต่ถ้าทำไม่ดีให้ประชาชนเห็น ประชาชนก็จะเหยียบย่ำ เพราะฉะนั้นผู้นำหรือรัฐบาลที่ดีที่ฉลาดจะต้องทำตัวเป็นตัวอย่างในทางดีเพื่อให้ประชาชนเห็น ดังที่จื่อลู่กับขงจื๊อสนทนากันดังต่อไปนี้

จื่อลู่ “นักปกครองที่ดีนั้นเป็นอย่างไร” ขงจื๊อ “นักปกครองที่ดี ย่อมทำตนให้เป็นตัวอย่างของประชาชน ในงานที่ต้องเกณฑ์ประชาชนทำอย่างเหน็ดเหนื่อย ก็จงเป็นผู้เนื่องเสียก่อนเขาเหล่านั้น”

ขงจื๊อกล่าวถึงวิธีสัมฤทธิผลของการปกครองไว้ 5 ประการคือ

1. มีความอ่อนน้อมถ่อมตนต่อประชาชน ประชาชนก็จะให้เกียรติเขา

2. มีความโอบอ้อมอารีต่อประชาชน ประชาชนก็ย่อมจะภักดีต่อเขา

3. มีความซื่อสัตย์ต่อประชาชน ประชาชนก็จะเกิดความมั่นใจในผู้นำนั้น

4. ทำงานอย่างเข้มแข็งจริงจัง ก็ย่อมมีผลงานปรากฏอยู่เสมอ

5. สร้างพระคุณให้ประชาชน ประชาชนก็พร้อมที่จะสนับสนุน

เมื่อผู้นำหรือรัฐบาลดี เป็นที่พอใจของประชาชนแล้ว ประชาชนก็จะรักเทิดทูนผู้นำหรือรัฐบาลนั้น ทั้งจะถือผู้นำหรือรัฐบาลคนนั้นเป็นแบบอย่าง เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้นำหรือรัฐบาลก็ไม่จำเป็นต้องใช้พระเดชปกครองบ้านเมือง ความดีของผู้นำหรือรัฐบาลจะเป็นหลักประกัน เกิดเป็นแรงดึงดูดให้ประชาชนทำตาม ดุจฝูงโคก็ย่อมไปตามจ่าฝูง ฉันนั้น ดังที่หลีคังจื้อถามขงจื๊อว่า “จะฆ่าพวกทุจริตให้หมด เพื่อรักษาคนสุจริตให้อยู่อย่างปกติสุขจะดีหรือไม่”

ขงจื๊อ “ถ้าท่านเป็นผู้ปกครองที่ดี ทำไมจะต้องใช้วิธีฆ่าฟันกันด้วยเล่า ถ้าท่านทำตัวให้ดี ประชาชนก็จะถือเอาเป็นแบบอย่างเอง ผู้ปกครองเหมือนลม ประชาชนดุจหญ้า ธรรมดาหญ้าย่อมลู่ไปตามลม” ขงจื๊อมีความเห็นว่า ผู้ปกครองที่ดีจะต้องฟังเสียงประชาชนถือเสียงประชาชนเป็นเสียงสวรรค์ ประชาชนต้องการอะไร ก็ต้องตอบสนองอย่างนั้น เป็นฝ่ายประชาชนตลอดเวลา ดังที่ขงจื๊อกล่าวว่า “สิ่งใดที่ประชาชนพอใจ เราจงพอใจ สิ่งใดที่ประชาชนเกลียดชัง เราก็จงเกลียดชัง ผู้ใดทำอย่างนี้ ผู้นั้นเชื่อว่าเป็นบิดามารดาของประชาชน” ถ้าใครทำได้ดังกล่าว ก็จะสามารถอยู่ในตำแหน่งได้นาน เพราะไม่ถูกเล่นงานจากประชาชน แต่ถ้าทำตรงกันข้ามก็จะหลุดจากตำแหน่งในเร็ววัน ดังที่ขงจื๊อกล่าวว่า “ผู้ที่ได้ประชาชนไว้ก็เท่ากับได้รัฐไว้ ส่วนผู้ที่ละทิ้งประชาชนก็เท่ากับเสียรัฐไปด้วย” ข้อนี้แสดงว่า เสียงประชาชนมีความสำคัญกว่าสิ่งใดหมด ผู้นำหรือรัฐบาลก็ต้องฟังเสียงประชาชน ใช้เสียงประชาชนเป็นปรอทวัดอุณหภูมิของการปกครอง ตัดอย่างอื่นพอตัดได้ แต่จะตัดเสียงประชาชนนั้นไม่ได้ ดังที่จื่อก้งถามขงจื๊อ ดังต่อไปนี้

จื่อก้ง “จะปกครองรัฐอย่างไรจึงจะดี”

ขงจื๊อ “จงปกครองให้ประชาชนมีอาหารกินสมบูรณ์ มีกองทัพเข้มแข็ง และให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นในรัฐบาล

จื่อก้ง “หากจำเป็นต้องตัดออกสัก 1 ข้อ จะตัดข้อไหนก่อน”

ขงจื๊อ “ตัดกองทัพออก”

จื่อก้ง “หากจำต้องตัดอีก 1 ใน 2 ข้อ จะตัดข้อไหน”

ขงจื๊อ “ตัดอาหารออก เพราะมนุษย์มีความตายเป็นธรรมดา ต้องตายทุกคน แม้จะต้องอดอาหารตาย ก็ยังดีกว่ารัฐบาลที่ประชาชนเขาไม่นิยมนับถือ ประเทศที่มีรัฐบาลอย่างนี้จักตั้งมั่นได้อย่างไร”


ปรัชญาจริยธรรม :


ขงจื๊อมองสังคมของมนุษย์ในแง่ของความสัมพันธ์ตามทฤษฎีแบบ Organism คือสังคมประกอบขึ้นจากหน่วยย่อย คือ ปัจเจกชนแต่ละคน ถ้าแต่ละคนเป็นคนดี สังคมก็จะดีด้วย การกระทำของแต่ละคนย่อมกระทบกระเทือนต่อสังคมเหมือนร่างกายเราประกอบขึ้นด้วยอวัยวะ (Organs) ต่าง ๆ ถ้าอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งได้รับอันตรายย่อมกระทบต่ออวัยวะส่วนสวม (Organism)

อนึ่ง ขงจื๊อมีความเห็นว่า บุคคลแต่ละคนย่อมจะมีความสัมพันธ์ต่อกันไม่โดยฐานใดก็ฐานะหนึ่ง และความสันพันธ์ขึ้นมูลฐานในสังคมที่ควรจะได้รับการปรับปรุง พัฒนามีอยู่หลายประการ คือ

1. ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองกับผู้อยู่ใต้ปกครอง

2. ความสัมพันธ์ระหว่างบิดามารดากับบุตรธิดา

3. ความสัมพันธ์ระหว่างสามีกับภรรยา

4. ความสัมพันธ์ระหว่างผู้น้อยกับผู้ใหญ่

5. ความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนต่อเพื่อน

ในความสัมพันธ์ 5 ประการนี้ ขงจื๊อได้วางหลักจริยธรรมสำหรับปฏิบัติ ในฐานะนั้น ๆ ไว้ดังนี้

ความสัมพันธ์ประเภทที่หนึ่ง เมตตา, สุจริต จงรักภักดี

ความสัมพันธ์ประเภทที่สอง เมตตา, กตัญญูกตเวที

ความสัมพันธ์ประเภทที่สาม รัก, ซื่อสัตย์, รับผิดชอบในหน้าที่แห่งตน

ความสัมพันธ์ประเภทที่สี่ คารวธรรม

ความสัมพันธ์ประเภทที่ห้า ความจริงใจ

ขงจื๊อย้ำว่าในการอยู่ร่วมกัน จะต้องปรับปรุงความสัมพันธ์ขั้นมูลฐานนี้ให้ดีเสียก่อน สังคมส่วนใหญ่จะเป็นอยู่เป็นสุข (Ordered Society) และนอกเนือไปจากนี้ ปัจเจกชนแต่ละคนต้องปฏิบัติตามหลักจริยธรรมดังต่อไปนี้

1. จริยธรรมทางกาย (Morality in Action)

หมายถึง จริยธรรมที่ควรปฏิบัติเพื่อประโยชน์ต่อตัวเองและสังคม จริยธรรมนี้มีชื่อว่า เจิ้งหมิง (正名) คือการปฏิบัติให้สมกับที่ตัวเป็น (Rectification of the name) หมายความว่าแต่ละคนย่อยจะมีความเป็น เช่น เป็นตำรวจ เป็นครู เป็นนายกรัฐมนตรี ฯลฯ ความเป็นแต่ละอย่าง (ชื่อ) ย่อมบ่งยอกถึงหน้าที่และความรับผิดชอบ ฉะนั้น เมื่อเราเป็นอะไร ต้องทำหน้าที่และมีความรับผิดชอบนั้น ๆ อย่างสมบูรณ์ ขงจื๊อกล่าวว่า “ความยุ่งยากในสังคมเกิดขึ้น เพราะคนไม่ทำหน้าที่ของตัวเองให้สมบูรณ์ ส่วนมากเป็นเต่เพียงในนาม”

2. จริยธรรมทางใจ (Morality in Cultivation)

คือหลักปฏิบัติเพื่อพัฒนาจิตใจของตัวเอง ได้แก่

2.1 ความรักใครเมตตา (Human Heartedness) หรือเหริน(任)หมายถึงความรักโดยไม่จำกัดขอบเขต ไม่มีการแบ่งแยก เช่นเดียวกับหลักเมตตาในพระพุทธศาสนา และหลักความรักแห่งพระเจ้า(Divine Love)ในศาสนาคริสต์

2.2 สัมมาปฏิบัติ (Rightousness) หรืออี้ (义)ได้แก่การกระทำในสิ่งที่เห็นว่าถูกหรือควร โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน หรือโดยแรงบังคับภายนอกที่พูดกันสั้น ๆ ว่า ทำความดีเพื่อความดี (Do good for the good’s sake) ขงจื๊อย้ำว่าในการกระทำของเราแม้จะกระทำในสิ่งที่ดี แต่ถ้าทำเพราะหวังสิ่งตอบแทนอย่างอื่น เช่น ชื่อเสียง เงินทอง จะจัดว่าเป็นสัมมาปฏิบัติ (Rightous Action) ไม่ได้ เราจะต้องกระทำความดีนั้นเพื่อความดี เพราะความดีมีค่าในตัวมันเองอยู่แล้ว ความดีมิได้อยู่ที่ผลที่ได้รับ (The Value of doing what we ought to do lies in doing itself and not in the external result)

การปฏิบัติตามหลักธรรมดังกล่าวอาจจะเป็นการยาก ขงจื๊อจึงวางหลักปฏิบัติสั้น ๆ เพื่อการก้าวหน้าไปสู่จริยธรรมดังกล่าวข้างต้นไว้ หลักปฏิบัตินี้คือ

1. ปฏิบัติต่อผู้อื่นเหมือนที่ท่านปรารถนาจะให้คนอื่นปฏิบัติต่อท่าน

2. จงอย่าปฏิบัติต่อผู้อื่นในสิ่งที่ท่านไม่ปรารถนาจะให้ผู้อื่นปฏิบัติต่อท่าน

อนึ่ง ขงจื๊อกล่าวว่า ผู้ที่จะปฏิบัติตามหลักจริยธรรมต่าง ๆ ได้อย่างไม่ท้อถอย จะต้องเป็นผู้ที่รู้จัก มิ่ง (命) คำว่า มิ่ง มีความหมายว่า “โชคชะตา” หรือโองการสวรรค์ ขงจื๊อให้ความหมายว่าการดำเนินชีวิตนั้น มีบางสิ่งบางอย่างที่พ้นวิสัยที่เราจะควบคุมหรือลิขิต มันเป็นอย่างที่มันจะเป็นเช่นเดียวกับที่ชาวพุทธพูดกันว่า “มันเป็นกรรม” ฉะนั้นในการครองชีวิตเราจะต้องเข้าใจในสิ่งนี้ เพื่อมิให้เกิดความท้อแท้ในการประกอบความดี


ปรัชญาด้านการศึกษา :


อุดมคติความเป็นครู

โดยปฏิปทาของขงจื๊อเราสามารถที่จะมองเห็นอุดมคติในความเป็นครูอยู่หลายประการ ซึ่งอาจจะแยกแยะให้เห็นได้ดังนี้

1. การไม่หวงวิชา ความยิ่งใหญ่ของขงจื๊อประการหนึ่งนั้น เห็นได้จากข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์คือนับตั้งแต่สมัยขงจื๊อเป็นต้นมา การศึกษาได้กลายเป็นสิ่งสำคัญสำหรับคนหนุ่มผู้มีสติปัญญาทั้งหลาย เพราะโดยการศึกษานั้นพวกเขาสามารถที่จะยกฐานะของตนเองจากกำเนิดอันต่ำต้อยไปสู่ความเป็นผู้มีศักดิ์สูงได้ แสดงให้เห็นว่าขงจื๊อไม่หวังความเป็นเลิศทางวิชาการไว้เพื่อศักดิ์ศรีและความยิ่งใหญ่ของตัวเองแต่ผู้เดียว ขงจื๊อเองกล่าวว่า

“ข้าพเจ้าไม่เคยปฏิเสธที่จะอบรมสั่งสอนวิชาความรู้ให้แก่ใคร ๆ ผู้ที่มีความกระหายอยากจะเรียนรู้เลย แม้ว่าเขาจะยากจนซึ่งอาจจะหาได้เพียงเนื้อแห้งมัดเดียว เพื่อที่จะนำมาเป็นเครื่องตอบแทนน้ำใจ”

2. ไม่หลงตัวเอง เพิ่มพูนความรู้อยู่เสมอ ดังคำกล่าวที่ขงจื๊ออธิบายดังที่ขงจื๊ออธิบายลักษณะของตนเองในฐานะที่เป็นครูว่า “ไตร่ตรองสิ่งทั้งหลายด้วยดวงจิตที่สงบ เพิ่มพูนความรู้ให้สูงขึ้น แม้จะศึกษารู้มาแล้วมากมาย....”

3. มีฉันทะหรือความเต็มใจในการสอน ข้อความวรรคท้ายของคำกว่างที่ขงจื๊ออธบายลักษณะของตนเองในฐานะที่เป็นครูมีอยู่ว่า “ไม่เคยเบื่อหน่ายในการถ่ายทอดวิชาความรู้ให้แก่ผู้อื่นเลย” ข้อความนี้แสดงให้เห็นความรักความเต็มใจในหน้าที่ ซึ่งเป็นคุณสมบัติประการหนึ่งของคามเป็นครู

4. ประพฤติแต่สิ่งที่ดีงาม ขงจื๊อเป็นนักการศึกษาที่สนใจในจริยธรรมและใช้ชีวิตตารมแนวจริยธรรมหรือความดีงามที่ได้เห็นแจ้งแล้วโดยมีสติปัญญา ในกรณีนี้ขงจื๊อกล่าวว่า

“มีคนมากมายที่กระทำอะไรลงไป โดยไม่รู้ว่าทำไมจึงต้องทำเช่นนั้น แต่ข้าพเจ้าไม่เหมือนผู้คนเหล่านั้น ข้าพเจ้าได้ยินได้ฟังมามากเหลือสรรเอาแต่สิ่งที่ดีงานแล้วปฏิบัติตามข้าพเจ้าก็เห็นมาก็มาก ศึกษาสิ่งเหล่านั้นแล้วจดจำไว้ นี่เองทำให้ข้าพเจ้าเข้าไปใกล้กับความรู้ที่แท้จริง”


วิชาที่สอนและวัตถุประสงค์


กล่าวอย่างรวม ๆ การศึกษาที่ขงจื้อให้กับประชาชนนั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับจริยธรรมและศิลปะในด้านศิลปะนั้น จารีตประเพณี(礼)ดนตรี(乐)กวีนิพนธ์(诗) เป็นวิชาพื้นฐาน ตามทัศนะขงจื้อนั้น จารีตประเพณีในฐานะที่เป็น “สถาบัน” มีส่วนช่วยควบคุมจิตใจและนำความปรารถนาให้เป็นไปในแนวทางที่ถูกที่ควร ดนตรีเป็นเสมือนพลังอารยะ ( A Civilizing Force) ที่ช่วยให้เกิดความรู้สึกอันดีงามและผ่อนคลายความกำหนัดร้อนรน (Passions) กวีนิพนธ์เป็นพลังจริยธรรม (A Moral Force) ที่ช่วยกล่อมเกลาธรรมชาติของคนและบันดาลใจให้เกิดความรู้สึกดีงามในด้านจริยธรรม ขงจื้อกล่าวว่า

“อุปนิสัย (Character) ของคนเรานั้นปลูกฝังขึ้นได้โดยอาศัยกวีนิพนธ์รักษาให้มั่นคงสืบไปได้ด้วยจารีตประเพณีและทำให้สมบูรณ์ได้ด้วยดนตรี”

กล่าวโดยสรุปวิชาที่สอนรวมอยู่ในวรรณกรรมหรือวิทยา ๖ ประการ (The Six Classies) อันเป็นที่รวมแห่งมรดาทางวัฒนธรรมดังได้กล่าวมาแล้วในเรื่องว่าด้วยวรรณกรรมขงจื้อวัตถุประสงค์เฉพาะ (The Specific Purpose) ของการศึกษาวิชาการทั้ง ๖ มีปรากฏอยู่ในบทนิพนธ์ขงจื้อ (Chuang Tzu) ดังนี้

กวีนิพนธ์ เพื่อสอนอุดมคติ ประวัติศาสตร์ เพื่อสอนเหตุการณ์ต่าง ๆ จารีตประเพณี เพื่อสอนจรรยาความประพฤติ ดนตรี เพื่อสอนความสอดคล้องสัมพันธ์ ธรรมชาติวิทยา เพื่อสอนหลักพลังคู่ของสากลจักรวาล ซุนชิว เพื่อสอนหลักการอันสำคัญของเกียรติยศและหน้าที่

วัตถุประสงค์อันสำคัญนอกเหนือจากจุดประสงค์เฉพาะวิชาดังกล่าว ขงจื้อยังถือหลักว่าการศึกษานั้นย้ำความสำคัญในเรื่อง การศึกษาเพื่อพัฒนาบุคลิกภาพของบุคคลมากกว่าการศึกษาเพื่อความรู้และประโยชน์ของความรู้แต่เพียงด้านเดียว ให้การศึกษาเพื่อบุคคลจะได้เลือกสรรเอาสิ่งที่ดีงาม การเลือกเอาแต่สิ่งที่ดีงามนั้นเป็นการปรับปรุงชีวิตของตนเองและของมนุษยชาติโดยส่วนรวม

วิธีการศึกษา

เกี่ยวกับวิธีการศึกษานั้นขงจื้อให้หลักสำคัญพื้นฐานไว้ ๒ ประการ คือ

1. ศึกษาโดยใช้ความคิดหรือเหตุผล นั่นคือในการศึกษาหาความรู้บุคคลจะต้องรู้จักคิดแยกแยะ มิใช่การจำแล้วทำตามและโดยนัยเดียวกันการศึกษานั่นเองจะช่วยให้บุคคลรู้จักคิด ดังคำกล่าวของขงจื้อที่ว่า

“การศึกษาที่ปราศจากความคิด ไร้ประโยชน์ความคิดปราศจากการศึกษา เป็นอันตราย” (Study without thought is in vain ; Thought without study is dangerous)

2. กล้าเผชิญกับความเป็นจริงของตัวเอง หมายความว่าผู้ศึกษาจะต้องยอมรับความเป็นจริงในแง่ที่ว่ารู้หรือไม่รู้ อาจจะกล่าวได้ว่าเข้าใจหรือไม่เข้าใจในสิ่งที่ตัวเองศึกษา อย่ามีลักษณะที่ไม่รู้แล้วแสร้งทำเป็นรู้ หรือรู้แต่เพียงผิวเผินแต่ทำตัวเป็นผู้รู้เจนจบ ความนี้ปรากฏชัดในคำกล่าวของขงจื้อว่า

“ขอให้ข้าพเจ้าได้ชี้ทางแห่งความรู้แก่ท่านขอเพียงบอกว่า รู้ เมื่อท่านรู้จริง ๆ และยอมรับว่าไม่รู้ในสิ่งที่ท่านไม่รู้ นี่คือหนทางไปสู่ความรู้”

ผลงานของขงจื๊อ

แก้

ผลงานของขงจื๊อ

งานทางด้านการเขียนของขงจื๊อปรากฏอยู่ในหนังสือ สังเขปการสอนของขงจื๊อ หรือที่จีนเรียกว่า “หลุน-อฺวี่ (论语) ” เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับบันทึกและเรื่องราวต่าง ๆ เช่น คำพูด คำสอนของขงจื๊อและกิจกรรมต่าง ๆ ที่ลูกศิษย์ของท่านได้ช่วยกันงรวบรวมขึ้นหลังจากการจากไปของขงจื๊อส่วนวรรณกรรมที่ท่านได้รวบรวมขึ้นมีดังนี้

1. ชุนชิว (春秋)

2. ซือจิง (诗经)

เป็นหนังสือเกี่ยวกับบทกวีนิพนธ์ต่าง ๆ หนังสือเล่มนี้สามารถนำไปเปรียบเทียบกับ Song of Solomon ในคัมภีร์ไบเบิ้ล โคลงต่าง ๆ เป็นเพลงพื้นเมืองที่ร้องกันในสมัยแรก ๆ โดยทั่วไปแล้วเป็นบทพรรณนาถึงหนุ่ม ๆ สาว ที่กำลังร้องรำทำเพลงและเล่นหยอกล้อกันด้วยความเสน่หาในฤดูใบไม้ผลิและในฤดูเก็บเกี่ยว

3. ซูจิง(书经)

เป็นหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่ารวมโดยขงจื๊อเอง ดังนั้นจึงมีความสำคัญอย่างลึงซึ้ง เป็นการประมวลคำปราศรัย คำสัตย์ปฏิญาณในพิธีกรรม

4. อิ้จิง (易经)

เป็นหนังสือเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงเป็นตำนานลึกลับ ซึ่งเกี่ยวข้องกับอำนาจศักดิ์สิทธิ์และพลังแห่งจุดหมายปลายทาง เป็นงานชิ้นแรกซึ่งได้รับความนิยมและจัดเข้าเป็นขั้นคลาสิคในสมัยต่อ ๆ มา ลักษณะเด่นตำราเล่มนี้คือ ปากัวหรือรอยสลักแปดตัวซึ่งโหรจีนให้ใช้กันมาตั้งแต่โบราณ และเอ้อหยา ซึ่งเป็นปทานุกรมฉบับแรกที่พยายามอธิบายความมืดมนของตำราว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงและตำราว่าด้วยพิธีกรรม

5. หลี่จี้(礼记)

เป็นหนังสือเกี่ยวกับพิธีการต่าง ๆ เป็นการสั่งเกี่ยวกับการปฏิบัติตามพิธีกรรมต่าง ๆ เช่น วิธีที่ควรจะถือและเหนี่ยวคันศรในระหว่างที่แสดงศิลปะของสุภาพบุรุษในการยิง นอกจากนั้นก็กล่าวถึงการเรียกอันยิ่งใหญ่และทฤษฎีแห่งมัชฌิม

เมื่อพวกมองโกลเข้ายึดจีนได้ในราว ค.ศ. 1278-1368 จักรพรรดิกุบไล่ข่านก็มิได้ขัดขวางลัทธินี้ ทรงยึดหลักของขงจื๊อ ต่อมาในสมัยราชวงศ์เหม็งได้พยายามล้มล้างอิทธิพลของพวกมองโกล และรื้อฟื้นการตั้งยศฐาบรรดาศักดิ์ตลอดจนมีพิธีการบูชาขงจื๊อและเล็งเห็นความสำคัญของการศึกษาตำราขงจื๊อเป็นอย่างมาก

สมัยราชวงศ์เหม็งได้รื้อฟื้นการสอบแบบขงจื๊อคือเปิดให้มีการสอบชั้นสูงถึง 89 ครั้ง มีผู้สอบผ่านการสอบชั้นสูงเพียง 280 คน มีการยกส่วนต่าง ๆ ของตำราขงจื๊อมาเขียนตีความและวิจารณ์ โดยยึดแบบของชูชีตั้งแต่สมัยราชวงศ์ซ้องเป็นหลัก

ลัทธิขงจื๊อนี้มีชื่อเสียงมาก และเผยแพร่เข้าไปในหมู่พวกแมนจูโดยพวกแมนจูใช้หลักของขงจื๊อในการปกครองจีน จะเห็นได้ว่าไม่ว่าพวกมองโกลหรือแมนจูก็ตามที่มีอำนาจยึดครองจีนได้ ต่างก็ตระหนักดีว่า การที่จะปกครองจีนได้จะต้องธำรงไว้ซึ่งอารยธรรมตลอดจนลัทธิขงจื๊อที่ชาวจีนยึดถือปฏิบัติกัน

อิทธิพลของปรัชญาขงจื๊อ

แก้

ปรัชญาขงจื๊อ ได้มีอิทธิพลต่อชาวจีนอย่างใหญ่หลวงรอบด้าน คำสอนของขงจื๊อถือเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิต และเป็นมาตรฐานของสังคม ความรู้สึกนึกคิดของชาวจีนจะแนบแน่นอยู่กับปรัชญาขงจื๊อ งานนิพนธ์ของขงจื๊อ ถือกันว่าเป็นวรรณกรรมชั้นสูง และเป็นหลักสูตรใช้ศึกษากันในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ อีกทั้งเป็นวิชาสำหรับสอบไล่ของทางราชการอีกด้วย ปรัชญาขงจื๊อทำให้ชาวจีนมีวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของตนหลายอย่าง เช่น

1. ชาวจีนให้ความสำคัญในเรื่องครอบครัวมาก ถือว่าครอบครัวเป็นรากฐานของสังคม จึงพยายามสร้างครอบครัวให้เป็นปึกแผ่น เป็นครอบครัวใหญ่ ประกอบด้วยคนหลายรุ่น ทั้งพ่อ แม่ ปู่ ย่า ลูก หลาน เหลน ทั้งในภาษาจีนก็เอื้ออำนวย คือมีคำบอกลำดับญาติไว้อย่างชัดเจน ว่าใครมีความสัมพันธ์กันอย่างไร มาจากสายไหน สืบสายมาจากบิดา หรือมารดา ดุจคำว่าน้าและอา ในภาษาไทยฉันนั้น รวมความแล้ว ชาวจีนให้ความสำคัญต่อญาติมาก

2. ชาวจีนให้เกียรติผู้สูงอายุ ทั้งใช้สรรพนามให้เหมาะสมกับวัย เรียกพี่ ป้า น้า อา เป็นต้น แม้ต่อคนที่ไม่ใช่ญาติ ดุจเดียวกับธรรมเนียมไทย คนจีนมีลูกหลานแล้วมักจะไว้หนวดเพื่อแสดงว่าตัวแก่แล้ว

3. ชาวจีนให้ความสำคัญต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว จะต้องดูแลสถานที่ฝังศพบรรพบุรุษให้ดี ตลอดถึงคอยเซ่นไหว้อยู่เสมอ และให้ดีด้วย

4. ชาวจีนนิยมยกย่องครูบาอาจารย์ไว้สูง แต่ไม่นิยมยกย่องทหาร ชาวจีนให้ความสำคัญต่อผู้ใช้ความรู้มากกว่าผู้ใช้กำลัง ตามคำสอนของขงจื๊อ

5. ชาวจีนไม่ชอบมีเรื่องต้องขึ้นโรงขึ้นศาล แต่จะพยายามตกลงปรองดองกันให้ได้

เหล่านี้เป็นต้น เพราะฉะนั้นปรัชญาขงจื๊อจึงเป็นแม่แห่งวัฒนธรรมจีนตลอดมากว่า 2,000 ปี ส่วนสาเหตุที่ทำให้อิทธิพลของปรัชญาขงจื๊อต้องเสื่อมไปก็มี 2 ครั้งใหญ่ คือ

  • ครั้งที่ 1 เมื่อขงจื๊อสิ้นชีพแล้วได้ 200 ปีเศษ หรือพุทธศตวรรษที่ 3 จิ๋นซีฮ่องเต้ กษัตริย์แห่งนครฉี ทรงปราบรัฐใหญ่ ๆ 6 รัฐหมดแล้ว จึงปราบดาภิเษกเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ปกครองประเทศจีนแต่เพียงพระองค์เดียว พระองค์ปรารถนาจะให้ราชบัลลังก์ของพระองค์ยั่งยืนอยู่ชั่วกาลนาน ทรงเห็นชอบกับคำแนะนำของ หลีซือ นายกรัฐมนตรีว่า บรรดาศาสนาและปรัชญาต่าง ๆ ทำให้คนฉลาดและมีความคิดเห็นแตกต่างกัน ยากที่จะปกครอง ควรที่จะล้มเลิกศาสนาและปรัชญาเหล่านั้น จิ๋นซีฮ่องเต้จึงทรงรับสั่งให้นำคัมภีร์ของศาสนาและปรัชญาทั้งหมดมารวมกันแล้วเผาทำลายทั้งหมด กล่าวกันว่า กองไฟเผาคัมภีร์เหล่านี้ลุกโชติช่วงติดต่อกันไม่ดับเป็นเวลา 3 เดือน พวกนักปราชญ์ของศาสนาและปรัชญาถูกฆ่าถึง 460 คนเศษ ลัทธิขงจื๊อและม่อจื๊อ ได้รับความกระทบกระเทือนมากที่สุด เพราะรัฐบาลเห็นว่าเป็นศัตรูหมายเลข 1 แต่ความหวังของจิ๋นซีฮ่องเต้ที่จะให้ราชวงศ์ของพระองค์ยั่งยืนเป็นหมื่นปีก็พังลง เพราะหลังจากพระองค์สิ้นพระชนม์แล้วก็ได้เกิดกบฏล้มราชบัลลังก์ โดย หลิวปัง ขุนพลคนหนึ่งเป็นหัวหน้า ทำการได้สำเร็จจึงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์ พระนามว่า พระเจ้าฮั่นเกาจู่ ตั้งราชวงศ์ฮั่น สืบสันตติวงศ์ต่อมา ราชวงศ์ฮั่นได้ปกครองบ้านเมืองมาตามลำดับ จนถึงพระเจ้าฮั่นอู่ตี้ ราวต้นพุทธศตวรรษที่ 5 ทรงฟื้นฟูปรัชญาขงจื๊อขึ้นใหม่ และทรงให้การสนับสนุนเป็นการใหญ่ ปรัชญาขงจื๊อจึงได้กลับมามีชีวิตอีกครั้งหนึ่ง
  • ครั้งที่ 2 เมื่อประเทศจีนเปลี่ยนการปกครองเป็นแบบคอมมิวนิสต์ ศาสนาขงจื๊อได้รับความกระทบกระเทือนมากในยุคนี้ บางครั้งทางการได้รณรงค์ให้กำจัดศาสนา โดยเฉพาะศาสนาขงจื๊อทางการถือว่าเป็นศัตรูหมายเลข 1 เพราะขงจื๊อสอนให้อนุรักษ์จารีตประเพณี และเน้นเรื่องความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณ

ศาสนิกชนศาสนาขงจื๊อไม่กล้าแสดงตนอย่างเปิดเผย เกรงมีภัยต่อตนเอง อิทธิพลของศาสนาขงจื๊อจึงลดลงตามลำดับ แต่ถึงอย่างนั้นในส่วนลึกของหัวใจ คนส่วนใหญ่ก็ยังนับถือศาสนาขงจื๊ออยู่ อิทธิพลของศาสนาขงจื๊อถึงจะเสื่อมไปจากแผ่นดินใหญ่ แต่ยังคงมีชีวิตอยู่ในประเทศจีนคณะชาติ เพราะรัฐบาลของประเทศจีนคณะชาติบนเกาะไต้หวัน ได้ให้เกียรติยกย่องขงจื๊อ เช่น พ.ศ. 2495 รัฐบาลได้เปลี่ยนวันครูแห่งชาติ จากวันที่ 17 สิงหาคม มาใช้วันเกิดของขงจื๊อ คือวันที่ 28 กันยายน แทน และเมื่อถึงวันนี้ทางการจะหยุดงาน 1 วัน เพื่อให้เกียรติต่อศาสดาของศาสนาขงจื๊อ นอกจากนี้ยังได้ให้เงินเดือนเป็นค่าครองชีพแก่ผู้สืบสกุลขงจื๊ออีกด้วย

72 ศิษย์เอกขงจื๊อ

แก้

ชั่วชีวิตของขงจื๊อมีลูกศิษย์ทั้งสิ้นกว่าสามพันคน [2] ในจำนวนนี้มีลูกศิษย์เอก 72 คน [3]

  • เหยียน หุย (颜回, Yan Hui)
  • หมิ่น สุ่น (Min Sun)
  • หย่าน เกิง (Ran Geng)
  • หย่าน หยง (Ran Yong)
  • หย่าน ฉิว (Ran Qiu)
  • ตวนมู่ ซื่อ (Duanmu Ci)
  • จ้ง โหยว (仲由,Zhòngyóu)
  • จ่าย อวี๋ (Zai Yu)
  • เอี๋ยน เอี่ยน (Yan Yan)
  • ปู่ ซาง (Pu Shang)
  • จวนซุน ซือ (颛孙师,Zhuānsūn Shī)
  • เจิง ชาน (Zeng Shen)
  • ต้านไถ เมี่ยหมิง (Dantai Mieming)
  • ฟู่ ปู้ฉี (Fu Buji)
  • เอี๋ยน จี๋ (Yan Zu)
  • หยวน เซี่ยน (Yuan Xian)
  • กงเหยี่ย ฉาง (公冶长,Gōngyě Cháng)
  • หนานกง ควา (Nangong Kuo)
  • กงซี อาย (Gongxi Ai)
  • เจิง เตี่ยน (Zeng Dian)
  • เอี๋ยน อู๋หยาว (Yan Wuyao)
  • สูจ้ง หุ้ย (Shuzhung Hui)
  • ซาง ฉวี (Shang Zhu)
  • เกา ไฉ (Gao Chai)
  • ชีเตียว คาย (Qidiao Kai)
  • กงป๋อ เหลียว (Gongbo Liao)
  • ซือหม่า เกิง (Sima Geng)
  • ฝาน ซวี (Fan Xu)
  • โหย่ว ยั่ว (You Ruo)
  • กงซี ฉื้อ (Gongxi Chi)
  • อูหม่า ซือ (Wuma Shi)
  • เหลียง จาน (Liang Zhan)
  • เอี๋ยน ซิ่ง (Yan Xing)
  • หย่าน หยู (Ran Ru)
  • เฉา ซวี่ (Cao Xu)
  • ป๋อ เฉียน (Bo Qian)
  • กงซุน หลง (Gongsun Long)
  • ซี หยงเตี่ยน (Xi Yongdian)
  • หย่าน จี้ (Ran Ji)
  • กงจู่ จวี้จือ (Gongzu Gouzi)
  • ซือ จือชาง (Shi Zhichang)
  • ฉิน จู่ (Qin Zu)
  • ซีเตียว ตัว (Qidiao Chi)
  • เอี๋ยน เกา (Yan Gao)
  • ซีเตียว ถูฝู้ (Qidiao Dufu)
  • หย่าง ซื่อชื่อ (Zeng Sichi)
  • ซาง เจ๋อ (Shang Zhai)
  • สือ จั้ว (Shi Zuo)
  • เยิ่น ปู้ฉี (Ren Buji)
  • โห้ว ชู่ (Hou Chu)
  • ฉิน หย่าน (Qin Ran)
  • ฉิน ซาง (Qin Shang)
  • เซิน ต่าง (Shen Dang)
  • เอี๋ยน จือผู (Yan Zhipo)
  • หยง ฉี (Yan Zhi)
  • เซี่ยน เฉิง (Xian Chang)
  • จั่ว เหยินอิ่ง (Zuo Renying)
  • เจิ้ง กั๋ว (Zhang Guo)
  • ฉิน เฟย (Qin Fei)
  • เอี๋ยน ขว้าย (Yan Kuai)
  • ปู้ สูเฉิง (Bu Shusheng)
  • เยว่ เขอ (Yue Ke)
  • เหลียน เจี๋ย (Lian Jie)
  • ตี๋ เฮย (Di Hei)
  • ปาน ซวิ่น (Kui [al. Bang] Sun)
  • ขง จง (Kong Zhong)
  • กงซี เตี่ยน (Gongxi Dian)
  • จวี้ อ้าย
  • ฉิน เหลา
  • หลิน ฟ่าง (Lin Fang)
  • เฉิง ค่าง (Chan Kang)
  • เซิน เฉิง

ดูเพิ่ม

แก้
  • หลุน-อฺวี่ คัมภีร์พื้นฐานของสำนักปรัชญาขงจื๊อ
  • เม่งจื๊อ ศิษย์ของขงจื๊อ ผู้เชื่อว่าโดยธรรมชาติแล้ว มนุษย์ทุกคนมีพื้นฐานเป็นคนดีมาแต่กำเนิด
  • ซุนจื๊อ ศิษย์ของขงจื๊อ ผู้เชื่อว่าตามธรรมชาติแล้วมนุษย์ชั่วร้าย ซึ่งเกิดจากกิเลสอยากได้อยากมี

อ้างอิง

แก้
  1. Stanford Encyclopedia of Philosophy
  2. China Radio International สถานีวิทยุ ซี.อาร์.ไอ. ภาคภาษาไทย
  3. จางสื่อ และ จินซื่อ เรียบเรีนงจาก "สื่อจี้" และ "หรุ้นอวี่" (ชุมนุมคติพจน์), ศรีวารี แปล, ระเบียงภาพ 72 ศิษย์ขงจื๊อ, สำนักพิมพ์ธรรมชาติ, พ.ศ. 2534, 175 หน้า, ISBN 974-401-076-2

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้