ยั่น อิง (จีน: 晏嬰; พินอิน: Yàn Yīng; เวด-ไจลส์: Yen Ying; ราว 578–500 ปีก่อนคริสตกาล)[1] ชื่อรองว่า จ้ง (仲) เมื่อเสียชีวิตแล้วได้รับชื่อ ผิง (平) บางทีเรียก ผิง จ้ง (平仲) โดยทั่วไปเรียก ยั่นจื่อ (晏子) เป็นขุนนางแห่งรัฐฉี (齐国) ของจีนโบราณในยุควสันตสารท เป็นปรัชญาเมธีและนักการเมืองที่ประสบความสำเร็จ ได้รับการพรรณนาว่า เป็น "ผู้มีความคิดสร้างสรรค์ที่สุดแห่งยุควสันตสารท"[2]

ยั่น อิง
ภาพเขียนยั่น อิง มีอักษรระบุนามเขาว่า "ยั่นผิงจ้ง" (晏平仲)
เกิด578 ปีก่อนคริสตกาล
ดินแดนโบราณ (ปัจจุบัน คือ เกามี่, ชานตง)
เสียชีวิต500 ปีก่อนคริสตกาล
จือปั๋ว, ชานตง
อาชีพขุนนางรัฐฉี

เชื่อกันว่า เอกสาร ยั่นจื่อชุนชิว (晏子春秋) เป็นผลงานของเขาและได้รับการตั้งชื่อตามเขา

ชีวิต

แก้

ภาพรวม

แก้

ยั่น อิิง เป็นบุตรของยั่น โร่ว (晏弱) ขุนนางแห่งรัฐฉี และสืบตำแหน่งบิดาเมื่อ 556 ปีก่อนคริสตกาลหลังการมรณะของบิดา เชื่อกันว่า ยั่น อิง มีรูปร่างเตี้ยอัปลักษณ์ แต่มีวาทศิลป์และไหวพริบเป็นเลิศ จึงได้รับการส่งไปเป็นทูตยังรัฐต่าง ๆ เขารับราชการกว่า 40 ปีในฐานะเสนาบดีและที่ปรึกษาของกง (公) สามคนแห่งรัฐฉี คือ ฉีหลิงกง (齊靈公), ฉีโฮ่วจฺวังกง (齊後莊公), และฉีจิ่งกง (齊景公)

การเสียชีวิตของฉีโฮ่วจฺวังกง

แก้

ในเดือนห้า 548 ปีก่อนคริสตกาล ฉีโฮ่วจฺวังกงถูกกล่าวหาว่า เป็นชู้กับทง เจียน (通姦) อนุภริยาของชุย จู้ (崔杼) เสนาบดีแห่งรัฐฉี และถูกคนของชุย จู้ ลอบสังหารโดยใช้ธนูยิงตกกำแพงตาย ครั้นยั่น อิง ทราบข่าวมรณกรรมของฉีโฮ่วจฺวังกง จึงบุกเข้าไปในจวนของชุย จู้ เมื่อเห็นศพของฉีโฮ่วจฺวังกง ยั่น อิง ก็ถอดหมวกออกตีอกชกตัวร่ำไห้อย่างหนักก่อนลุกจากไป ยังความตกตะลึงแก่ผู้คนโดยรอบ คนของชุย จู้ จะตามไปฆ่ายั่น อิง แต่ชุย จู้ ห้ามไว้ เพราะการฆ่ายั่น อิง รังแต่จะทำให้ผู้คนโกรธแค้น หลังจากนั้น ชุย จู้ บีบให้ขุนนางทั้งปวงถวายสัตย์ปฏิญาณต่อตน และประกาศว่า ผู้ใดไม่ภักดีต่อตน โทษคือประหารสถานเดียว ยั่น อิง ไม่ทำตาม แต่ชุย จู้ มิอาจกระทำอันใดต่อเขาได้ เพราะประชาชนหนุนเขาอยู่ ครั้นแล้ว ชุย จู้ ยกลูกพี่ลูกน้องของฉีโฮ่วจฺวังกงขึ้นเป็นเจ้ารัฐฉินคนใหม่ คือ ฉีจิ่งกง แล้วฉีจิ่งกงก็ตั้งชุย จู้ เป็นอำมาตย์ขวา (右史) และตั้งชิ่ง เฟิง (慶封) เป็นเสนาซ้าย (左徒) ชุย จู้ ยังไม่ละความพยายามเอาชนะใจยั่น อิง โดยมอบครัวเรือนกว่า 60 หลังในเป่ย์เตี้ยน (北电) และปริมณฑล ให้แก่เขา แต่เขาไม่รับ[3]

การเป็นทูตที่รัฐฉู่

แก้

ต่อมา ยั่น อิง ได้รับแต่งตั้งเป็นทูตไปรัฐฉู่ (楚国) กษัตริย์รัฐฉู่ คือ พระเจ้าฉู่หลิง (楚靈王) ทราบว่า เขาตัวเตี้ย และต้องการหมิ่นเกียรติเขา จึงสั่งให้ทำ "ช่องหมาลอด" ไว้ที่กำแพงเมืองสำหรับให้เขาผ่านเข้ามาในรัฐฉู่ เขากล่าวว่า "ถ้าข้าเป็นทูตไปเมืองหมา ให้ข้าผ่านแดนเข้าไปทางประตูหมาก็ได้อยู่ ครั้งนี้ ให้ข้าเป็นทูตมาเมืองฉู่ จะให้เข้าประตูนี้ไม่สมควรเลย" (我若是出使狗國,那我便會走狗門進國,今天我是要出使楚國的,那我便不該走這個門。)[4]

เมื่อเขาเข้าเฝ้า พระเจ้าฉู่หลิงตรัสว่า "เมืองฉีสิ้นไร้คนดีมีฝืมือเสียแล้วกระมัง เหตุใดจึงส่งเจ้าเป็นทูตมายังเมืองเรา" (齊國難道沒有賢明的人了嗎?為何讓你作為使臣來到我國?) ยั่น อิง ทูลว่า "หลินจือแห่งเมืิองฉีมีชุมนุมชนกว่า 300 แห่ง ไพร่บ้านพลเมืองเพียงยกแขนเสื้อขึ้นก็จะบดบังตะวันจนมืดมิดไป แค่สะบัดกายเหงื่อไคลก็จะกระเซ็นสายดั่งห่าฝน ผู้คนต่างสัญจรไปมาบ่าเบียดบ่า จะเดินเหินยามใด เท้าหนึ่งยกขึ้นจากพื้น ก็มีเท้าหนึ่งก็ย่ำลงต่อทันที ไฉนจะไร้ผู้คนเล่า" (齊國的臨淄有三百閭(古代一閭為25戶),城民只要把袖子抬起足以遮蔽太陽,把身上的汗水灑下有如下雨,人們走動時肩得挨在一起,每移開一隻腳便又有另一隻腳踏上,怎麼會沒有人?) พระเจ้าฉู่หลิงจึงว่า "ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง เหตุใดจึงเลือกส่งเจ้ามาเป็นทูตที่เมืองฉู่" (那為什麼是選你做為使臣呢?) ยั่น อิง ทูลว่า "เมืองฉีจะส่งข้าหลวงไปเป็นทูต ก็ย่อมตั้งทูตจากข้าหลวงที่เหมาะสมกับแว่นแคว้นแต่ละแห่ง คนดีมีปรีชาย่อมส่งไปเป็นทูตยังแว่นแคว้นที่มีกษัตริย์ผู้ทรงธรรมและปรีชา คนที่ไม่มีความดีและความสามารถมากพอก็จะส่งไปเป็นทูตยังแว่นแคว้นที่กษัตริย์ไม่มีศีลธรรมมากพอ อิง [คำเรียกตนเองของยั่น อิง] นี้อยู่ในหมู่ข้าราชสำนักเมืองฉี ความรู้ความสามารถนับว่าด้อยกว่าใครเพื่อน ฉะนั้น จึงเหมาะสมจะเป็นทูตมาเมืองฉู่ที่สุดแล้ว" (齊國派遣使臣,都是把一名使臣派到適合他去的國家。賢能的人會被派去出使有賢能君主的國家,不夠賢能的人就被派去出使無品德君王的國家,嬰在齊國臣子之中,能力是最差的,所以被認為最適合出使楚國。) คำกราบทูลของเขาทำให้ท้องพระโรงนิ่งอึ้งไปชั่วขณะ[4]

การศึกกับรัฐจิ้น

แก้

เมื่อเข้าสู่กลางยุควสันตสารท รัฐจิ้น (晋国) ซึ่งมีอำนาจมาก ประสงค์จะโจมตีรัฐฉี จึงส่งฟ่าน เจา (范昭) มาเป็นทูตยังรัฐฉีเพื่อประเมินสถานการณ์ ฉีจิ่งกงให้จัดเลี้ยงต้อนรับฟ่าน เจา เมื่อร่วมงานได้สักพัก ฟ่าน เจา แสร้งเมา และขอถ้วยเหล้าใบใหม่ ฉีจิ่งกงสั่งให้พนักงานรินสุราในถ้วยของตนให้ฟ่าน เจา ดื่มแทนเป็นทางไมตรี ฟ่าน เจา ดื่มแล้วคืนถ้วยกลับไปให้ฉีจิ่งกงใช้ต่อ การใช้ถ้วยสุราต่อจากผู้อื่นถือเป็นการผิดมรรยาทอย่างร้ายแรง ที่ฟ่าน เจา ทำเช่นนั้นเพื่อดูปฏิกิริยาของชาวรัฐฉี ยั่น อิง สังเกตเห็นจึงเรียกพนักงานมาเปลี่ยนถ้วยให้ฉีจิ่งกง ครั้นฟ่าน เจา กลับไปรัฐจิ้นก็รายงานเรื่องดังกล่าวให้ผู้บังคับบัญชาฟังและเสนอความเห็นว่า ยังไม่ถึงเวลาโจมตีรัฐฉี เพราะยังมีคนปราดเปรื่องอยู่มาก ดังนั้น รัฐจิ้นจึงยังไม่เปิดศึกกับรัฐฉี เหตุการณ์นี้เป็นที่มาของสำนวนจีนว่า "เจ๋อชงจฺวินจู่" (折冲樽俎) แปลว่า เผด็จศึกด้วยถ้วยเหล้า[5]

การเสียชีวิต

แก้

เมื่อยั่น อิง เสียชีวิตแล้ว ศพของเขาฝังไว้ที่จือปั๋ว (淄博) ในชานตง (山东) ก่อนตายเขาเขียนจดหมายปิดผนึกแล้วสั่งภริยาว่า ให้เปิดอ่านเมื่อบุตรโตขึ้น จดหมายนั้นว่า "อย่าใช้แพรพรรณหมดเปลือง หมดเปลืองแล้วจะไม่มีอะไรใช้สวมใส่ อย่าใช้ม้าวัวหมดเปลือง หมดเปลืองแล้วจะไม่มีอะไรใช้ชักจูง อย่าใช้ผู้คนจนหมดเปลือง หมดเปลืองแล้วจะไม่มีใครไว้ใช้ในราชการ อย่าให้บ้านเมืองหมดตัว หมดตัวแล้วจะไม่มีอะไรใช้ดำเนินการตามคำสั่งทางการ" (布帛不可以缺少,缺少了就沒有衣服穿的;牛馬不可以缺少,缺少了就沒有拉車的;士不可以缺少,缺少了就沒有官可以任用;國家不可以窮困,窮困了就不可推行政令。)

อ้างอิง

แก้
  1. Yuri Pines, Foundations of Confucian Thought, 2002:330
  2. Yuri Pines, Foundations of Confucian Thought, 2002:160
  3. Chunqiu Zuo Zhuan, Chapter Duke Xiang of Lu, 28th year, 11th month
  4. 4.0 4.1 Translated from Yanzi chunqiu, Chapter 9.
  5. http://baike.baidu.com/view/22150.htm, retrieved on June 30, 2016