จ้งโหยว (จีน: 仲由; Pinyin: Zhòngyóu)หรือ จื่อลู่ (จีน: 子路; Pinyin: Zǐ Lù)ชาวรัฐหลู่(鲁国人)เป็นศิษย์ที่มีอายุอ่อนกว่าขงจื่อ 9 ปี [1] อุปนิสัยห้าวหาญ อารมณ์ร้อน เป็นคนโผงผาง หุนหันพลันแล่น [2] ซึ่งปรากฏใน หลุน-อฺวี่ [2](论语) ดังนี้

  • เล่มที่ 7 บทที่ 10
ภาพวาดครึ่งตัวในสมัยราชวงศ์หมิงของจ้งโหย่ว (จื่อลู่)
จื่อลู่แบกข้าวสารพลางอ่านหนังสือแสวงหาความรู้ใต้แสงจันทร์ ผลงานภาพอูกิโยะของโยชิโทชิ โดยได้รับแรงบันดาลใจจากวรรณกรรมเรื่องยี่จับสี่เห่า

7:10:1 อาจารย์กล่าวกับเหยียนหยวนว่า “เมื่ออยู่ในตำแหน่งก็ทำตามหน้าที่ เมื่อพ้นจากตำแหน่งก็เก็บตัว มีแต่เจ้ากับเราที่ทำได้เช่นนี้”

7:10:2 จื่อลู่กล่าวว่า “หากอาจารย์ต้องนำทัพทั้งสาม อาจารย์จะให้ใครช่วย”

7:10:3 อาจารย์กล่าวว่า “เราจะไม่เอาคนที่จู่โจมเสือร้ายโดยไม่มีอาวุธ หรือคนที่ข้ามแม่น้ำโดยไม่ใช้เรือแพ หรือคนที่พร้อมจะตายโดยไม่เสียดายชีวิต คนที่ช่วยงานเราต้องเป็นคนที่กระทำการต่างๆ ด้วยความระมัดระวัง ปรับแผนการทำงานได้ตามความเหมาะสม และทำตามแผนงานที่วางไว้จนสัมฤทธิผลได้” [3]

  • เล่มที่ 11 บทที่ 12

11:12:1 หมินจื่อเชียนยืนข้างอาจารย์อย่างสุภาพเรียบร้อย จื่อลู่ดูอาจหาญแกล้วกล้า หรานโหย่วและจื่อก้งดูสบายๆ อาจารย์แช่มชื่นเบิกบาน

11:12:2 “คนอย่างโหยว จะไม่ตายด้วยเหตุธรรมชาติ” [4]

  • เล่มที่ 11 บทที่ 21 จื่อลู่ถามว่าควรรีบปฏิบัติสิ่งที่ได้ยินในทันทีหรือไม่ อาจารย์ตอบว่า “เจ้ามีพ่อและพี่ชายอยู่ ทำไมจึงถือหลักว่าต้องรีบปฏิบัติสิ่งที่ได้ยินในทันที” หรานโหย่วถามคำถามเดียวกัน อาจารย์ตอบว่า “ให้ปฏิบัติสิ่งที่ได้ยินในทันที” กงซีหวาถามอาจารย์ว่า “เวลาโหยวถามว่าเขาควรปฏิบัติสิ่งที่ได้ยินในทันทีหรือไม่ อาจารย์ตอบว่า ‘มีพ่อและพี่ชายไว้ปรึกษา’ แต่เมื่อฉิวถามคำถามเดียวกัน อาจารย์กลับตอบว่า ‘ให้ปฏิบัติทันที’ ศิษย์ซื่อ รู้สึกสงสัย จึงขอให้อาจารย์อธิบายด้วย” อาจารย์ตอบว่า “ฉิวเป็นคนเชื่องช้า เราเลยกระตุ้นให้เขาไปข้างหน้า โหยวเป็นคนคึกคักเกินพอดี เราจึงคอยเหนี่ยวรั้งเขาไว้” [5]
  • เล่มที่ 17 บทที่ 23 จื่อลู่กล่าวว่า “วิญญูชนให้ค่าแก่ความกล้าหาญหรือไม่” อาจารย์กล่าวว่า “วิญญูชนให้ค่าสูงสุดแก่ความถูกต้องเที่ยงธรรม วิญญูชนที่กล้าหาญแต่ไร้ความถูกต้องเที่ยงธรรม จะกลายเป็นผู้ก่อความวุ่นวาย เสี่ยวเหรินที่กล้าหาญแต่ไร้ความถูกต้องเที่ยงธรรมจะกลายเป็นโจร” [6]


จื่อลู่มีความสามารถในด้านการเมืองการปกครอง เคยดำรงตำแหน่งนายอำเภอให้กับตระกูลจี้ซื่อ เป็นขุนนางในอำเภอผู่อี้แห่งแคว้นเว่ย และเป็นนายอำเภอในอาณัติของข่งคุย [7] ในคัมภีร์หลุนอี่ว์(論語) ได้ปรากฏบทสนทนาระหว่างขงจื่อกับจื่อลู่เกี่ยวกับการบริหารบ้านเมือง ดังนี้ [8]

  • เล่มที่ 13 บทที่ 1 จื่อลู่ถามเกี่ยวกับการปกครอง อาจารย์ตอบว่า “อยู่ข้างหน้าทำงานหนัก” จื่อลู่ขอให้อาจารย์ขยายความ อาจารย์ตอบว่า “อย่าท้อแท้” [9]
  • เล่มที่ 13 บทที่ 3

13:3:1 จื่อลู่ถามว่า “หากเจ้านครเว่ยขอให้อาจารย์ช่วยปกครอง อาจารย์จะพิจารณาทำสิ่งใดก่อน”

13:3:2 อาจารย์ตอบว่า“ที่จำเป็นคือ ต้องทำนามให้เที่ยง”

13:3:3 จื่อลู่ถามว่า “กระนั้นหรือ อาจารย์หลงไปหรือเปล่า ทำไมต้องทำนามให้เที่ยง”

13:3:4 อาจารย์กล่าวว่า "โหยว! เจ้าช่างหยาบคายเหลือเกิน เมื่อวิญญูชนไม่รู้อะไรก็ควรสงวนท่าที"

13:3:5 “หากนามไม่เที่ยง วาจาก็ไม่ราบรื่น หากวาจาไม่ราบรื่น กิจก็ไม่สำเร็จ”

13:3:6 “หากกิจไม่สำเร็จ หลี่และดนตรีก็ไม่เจริญ หากหลี่และดนตรีไม่เจริญ โทษทัณฑ์ก็ไม่เที่ยงธรรม หากโทษทัณฑ์ไม่เที่ยงธรรม ประชาราษฏร์จะไม่รู้ว่าจะปฏิบัติตนอย่างไร”

13:3:7 “ด้วยเหตุนี้ วิญญูชนเมือเอ่ยนามก็ต้องพูดได้ เมื่อพูดได้ก็ต้องปฏิบัติได้ ท่าทีของวิญญูชนต่อคำพูดไม่อาจเหลวไหลได้”[10]

  • เล่มที่ 13 บทที่ 28 จื่อลู่ถามว่า “มีคุณสมบัติข้อใดบ้างจึงจะเรียกได้ว่าเป็นขุนนางบัณฑิต” อาจารย์กล่าวว่า “ช่วยเหลือตักเตือน รู้จักเกื้อกูล จึงอาจเรียกได้ว่าเป็นขุนนางบัณฑิต กับเพื่อนช่วยเหลือตักเตือน กับพี่น้องเกื้อกูล” [11]
  • เล่มที่13 บทที่ 29 อาจารย์กล่าวว่า “คนดีชี้นำสั่งสอนประชาราษฏร์เป็นเวลา 7 ปี ก็อาจนำประชาราษฏร์สู่สงครามได้” [12]
  • เล่มที่13 บทที่ 30 อาจารย์กล่าวว่า “ไม่ชี้นำสั่งสอน แต่นำประชาราษฏร์เข้าสู่สงคราม เท่ากับโยนประชาราษฏร์ทิ้ง” [13]


จื่อลู่เสียชีวิตเนื่องจากบุกเข้าช่วยเหลือข่งคุย จนร่างกายถูกทหารศัตรูสับจนแหลกเมื่อครั้งรัฐเว่ยเกิดรัฐประหาร ทำให้ขงจื่อเสียใจมาก ข่งจื่อสาบานว่าจะไม่ทานอาหารประเภทเนื้อสับอีกต่อไป [14]

อ้างอิง

แก้
  1. อมร ทองสุก. 2549. คัมภีร์หลุนวี่ The Analects of Confucius. พิมพ์ครั้งที่1. บริษัท ชุณหวัตร จำกัด. หน้า 41
  2. 2.0 2.1 สุวรรณา สถาอานันท์. 2554. คัมภีร์หลุนวี่ : ขงจื่อสนทนา. พิมพ์ครั้งที่2. กรุงเทพฯ : โอเพ่นบุ๊กส์. หน้า 388
  3. "Epochtimes". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-09-20. สืบค้นเมื่อ 2015-03-31.
  4. "Epochtimes". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-09-05. สืบค้นเมื่อ 2015-03-31.
  5. "Epochtimes". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-09-05. สืบค้นเมื่อ 2015-03-31.
  6. "Epochtimes". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-06-13. สืบค้นเมื่อ 2015-03-31.
  7. อมร ทองสุก. 2549. คัมภีร์หลุนวี่ The Analects of Confucius. พิมพ์ครั้งที่1. บริษัท ชุณหวัตร จำกัด. หน้า 41
  8. สุวรรณา สถาอานันท์. 2554. คัมภีร์หลุนวี่ : ขงจื่อสนทนา. พิมพ์ครั้งที่2. กรุงเทพฯ : โอเพ่นบุ๊กส์. หน้า 388
  9. "Epochtimes". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-02-28. สืบค้นเมื่อ 2015-03-31.
  10. "Epochtimes". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-02-28. สืบค้นเมื่อ 2015-03-31.
  11. "Epochtimes". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-02-28. สืบค้นเมื่อ 2015-03-31.
  12. "Epochtimes". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-02-28. สืบค้นเมื่อ 2015-03-31.
  13. "Epochtimes". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-02-28. สืบค้นเมื่อ 2015-03-31.
  14. อมร ทองสุก. 2549. คัมภีร์หลุนวี่ The Analects of Confucius. พิมพ์ครั้งที่1. บริษัท ชุณหวัตร จำกัด