การละเล่นภาคกลางและภาคตะวันออก

การละเล่นพื้นเมืองของภาคกลางและภาคตะวันออก แก้

การเล่นที่เกี่ยวเนื่องกับการทำนา การเล่นในเทศกาลงานบุญ ตรุษ สงกรานต์ และการเล่นในฤดูน้ำหลาก มักเรียกการละเล่นพื้นเมืองนี้ว่าเป็น การเล่นเพลง การเล่นเพลงที่เกี่ยวเนื่องจากการทำนาก็เป็นการเล่นตามขั้นตอนการเก็บเกี่ยว ได้แก่ เพลงเกี่ยวข้าว เพลงนา เพลงเต้นกำรำเคียว เพลงรำเคียว เพลงชักกระดาน เพลงพาดควาย เมื่อหมดฤดูทำนาก้มักจะเล่นเพลงปฏิพากย์ ได้แก่ เพลงฉ่อย เพลงเรือ เพลงปรบไก่ เพลงชาวไร่ หรือระบำชาวไร่ เพลงพวงมาลัย เพลงอีแซว เพลงลำตัด เพลงเหย่อย เพลงเทพทอง เพลงไก่ป่า และยังมีอีกมากแต่ปัจจุบันได้ล้าสมัยและสูญหายไปเป็นส่วนใหญ่


เถิดเทิงหรือการละเล่นเทิ้งบ้องกลองยาว แก้

ประเพณีการเล่นเถิดเทิงหรือการละเล่นเทิ้งบ้องกลองยาว สันนิษฐานว่าเป็นของพม่าเล่นมาก่อน ตั้งแต่ครั้งทำสงครามสมัยกรุงธนบุรี เครื่องประกอบการเล่นคือ กลองยาว กรับ ฉาบ และโหม่ง ผู้เล่นแต่งตัวเลียนแบบเครื่องแต่งกายพม่า หรือจะให้สวยงามตามความพอใจก็ได้ ใส่เสื้อแขนกว้างและยาวถึงข้อมือ นุ่งโสร่งตา มีผ้าโพกศีรษะ ผู้ตีกลองยาวบางพวกตีหกหัวหกก้น แลบลิ้นปลิ้นตา กลอกหน้า ยักคิ้วยักคอไปพลาง ผุ้ตีกลองจะต้องแสดงความสามารถในการตีกลองด้วยท่าทางต่างๆ เช่น ถองหน้ากลองด้วยสอก โขกด้วยคาง กระทุ้งด้วยเข่า โหม่ด้วยหัว และด้วยลีลาท่าทางต่างๆ ที่จะทำให้กลองยาวดังขึ้นได้ เถิดเทิงหรือการละเล่นเทิ้งบ้องกลองยาวเป็นประเพณีการเล่นในภาคกลาง นิยมเล่นในเวลาตรุษสงกรานต์ หรืองานแห่แหน ซึ่งต้องเดินเคลื่อนขบวน พอถึงที่ใดเห็นมีลานกว้างเป็นที่เหมาะก็หยุดตั้งวงเล่น และรำกันเสียพักหนึ่ง เคลื่อนไปเล่นไปสลับกัน

กระบี่กระบอง แก้

เป็นการละเล่นที่นำเอาอาวุธที่ใช้ในการต่อสู้ของนักรบไทยสมัยโบราณมาใช้ มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา จากประวัติศาสตร์ชาติไทยนั้น ชาวบ้านต้องเผชิญกับภัยสงครามอย่างโชกโชนถึงกับเสียเมือง ซึ่งอาวุธที่ใช้ในการต่อสู้ประหัตประหารกัน ได้แก่ ดาบ หอก ทวน แหลน หลาว และเครื่องป้องกัน 2 อย่าง คือ กระบี่ กระบอง ในยามสงบทหารจะฝึกซ้อมเพื่อเตรียมรับข้าศึกในยามสงคราม ปัจจุบัน กระบี่กระบองไม่ได้เป็นอาวุธที่ใช้ในการต่อสู้แล้ว แต่ยังฝึกซ้อมไว้สำหรับแสดงถึงเอกลักษณ์ของชาติ ด้านศิลปะป้องกันตัว นิยมฝึกหัดและเล่นกันในสถานศึกษา ชมรม และค่ายป้องกันตัว เพื่อแสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตตามประวัติศาสตร์ชาติไทย การเล่นจะมีเครื่องดนตรีประกอบจังหวะ ได้แก่กลองแขก ฉิ่งฉาบ เพื่อให้เกิดความเร้าใจและความฮึกเหิมในบทบาทของการต่อสู้