กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง

กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ตั้งขึ้นด้วยวัตถุประสงค์ตามเจตนารมณ์ของ พระราชกำหนดแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2516[1] โดยใช้เป็นกลไกของรัฐในการป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง และใช้ในการรักษาระดับราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงของประเทศ จากกรณีที่ราคาในตลาดโลกสูงขึ้น เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความเดือดร้อนของประชาชนให้น้อยที่สุด

กระทั่งวันอาทิตย์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ พระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. ๒๕๖๒ ซึ่งได้กำหนดให้จัดตั้งสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงขึ้นมาแทน สถาบันบริหารกองทุนพลังงาน (องค์การมหาชน) [2] ที่ได้ถูกยุบเลิกตาม พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการยุบเลิกสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน (องค์การมหาชน) พ.ศ. ๒๕๖๒ [3]

อำนาจหน้าที่และบทบาท แก้

  1. กำหนดหลักเกณฑ์สำหรับการคำนวณราคา และกำหนดราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ทำในราชอาณาจักร ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่นำเข้ามาเพื่อใช้ในราชอาณาจักร
  2. กำหนดค่าการตลาดสำหรับการซื้อขายน้ำมันเชื้อเพลิง
  3. กำหนดค่าขนส่งไปยังคลังก๊าซและค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาก๊าซ ณ คลังก๊าซ ตลอดจนกำหนดราคาขายก๊าซ ณ คลังก๊าซเป็นราคาเดียวกันทุกแห่งทั่วราชอาณาจักร
  4. กำหนดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนหรืออัตราเงินชดเชยสำหรับก๊าซที่ซื้อหรือได้มาจากผู้รับสัมปทานตามกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียม ซึ่งเป็นผู้ผลิตได้จากการแยกก๊าซธรรมชาติในราชอาณาจักร น้ำมันเชื้อเพลิงที่ทำในราชอาณาจักร น้ำมันเชื้อเพลิงที่นำเข้ามาเพื่อใช้ในราชอาณาจักรน้ำมันเชื้อเพลิง ที่ส่งออก น้ำมันเชื้อเพลิงที่จำหน่ายให้แก่เรือเพื่อใช้เดินทางออกนอกราชอาณาจักร และก๊าซหุงต้มที่จำหน่ายให้แก่ประชาชน
  5. กำหนดชนิดของน้ำมันเชื้อเพลิงที่ไม่ต้องส่งเงินเข้ากองทุน หรือไม่ให้ได้รับเงินชดเชย
  6. กำหนดราคาขายส่งหน้าโรงกลั่นและคำนวณราคาขายปลีก
  7. พิจารณากำหนดอัตราภาษีให้อยู่ในระดับไม่ต่ำกว่าอัตราภาษีต่ำสุดและไม่สูงกว่าอัตราภาษีสูงสุด
  8. กำหนดให้โรงกลั่นแจ้งราคาขายส่งหน้าโรงกลั่นต่อคณะกรรมการ
  9. ปฏิบัติหน้าที่ตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย

หน่วยงานที่รับผิดชอบ แก้

  1. การออกประกาศคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน กำหนดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนอัตราเงินชดเชย ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว ค่าเก็บรักษาก๊าซและค่าขนส่งก๊าซไปยังคลังก๊าซส่วนภูมิภาค เป็นหน้าที่ของ สำนักงานนโยบายพลังงานและแผนพลังงาน ในฐานะฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการฯ
  2. การส่งเงินเข้ากองทุนฯ จะอยู่ในความรับผิดชอบของ กรมสรรพสามิต กรมศุลกากร และ สถาบันบริหารกองทุนพลังงาน (องค์การมหาชน) โดยกรมสรรพสามิตรับผิดชอบในกรณีน้ำมันเชื้อเพลิงที่ทำในราชอาณาจักร กรมศุลกากรรับผิดชอบในกรณีน้ำมันเชื้อเพลิงที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร การส่งเงินเข้ากองทุนจะกระทำพร้อมกับการชำระภาษีอากร โดยชำระตามอัตราที่คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน ประกาศกำหนดแล้วหน่วยงานทั้งสองจะส่งเงินเข้าบัญชีเลย โดยสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน (องค์การมหาชน) จะตรวจสอบเอกสารความถูกต้องอีกครั้งหนึ่ง
  3. การขอรับเงินชดเชยจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ผู้มีสิทธิ์รับเงินชดเชยจากกองทุนน้ำมันจะยื่นเรื่องที่กรมสรรพสามิต หรือกรมศุลกากร หน่วยงานเหล่านี้จะทำการตรวจสอบและสั่งจ่ายเงินทดรองจ่ายของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งได้รับมาจากสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน (องค์การมหาชน)
  4. สถาบันบริหารกองทุนพลังงาน (องค์การมหาชน)[4] จะต้องทำรายงานการรับ / จ่ายและเงินคงเหลือ ของกองทุนน้ำมันเสนอต่อกระทรวงพลังงานทุกเดือน

โครงสร้างอัตราการเก็บเงินเข้ากองทุนฯ จากน้ำมันประเภทต่างๆ แก้

น้ำมัน ราคา ณ หัวจ่าย (ปตท.) ณ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2550 (หน่วย: บาท/ลิตร) เงินส่งเข้ากองทุนฯ (หน่วย: บาท/ลิตร)
เบนซิน 95 30.39 4.0000
แก๊สโซฮอล 95 26.89 0.7000
เบนซิน 91 29.59 3.7000
แก๊สโซฮอล 91 26.09 0.2000
ก๊าซ 26.96 0.1000
ดีเซลหมุนเร็ว 27.34 1.5000
ดีเซลหมุนเร็วบี 5 (ไบโอดีเซล) 26.64 1.0000
ก๊าซยานพาหนะ (LPG) 16.81 * - 0.9435 *,**
หมายเหตุ

* หน่วย: บาท/กิโลกรัม
** กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจ่ายเงินอุดหนุน

อ้างอิง แก้

  1. พระราชกำหนดแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2516
  2. พระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. ๒๕๖๒
  3. พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการยุบเลิกสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน (องค์การมหาชน) พ.ศ. ๒๕๖๒
  4. "พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน (องค์การมหาชน) พ.ศ. ๒๕๔๖" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2020-10-30. สืบค้นเมื่อ 2014-11-13.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้