กรรม (ศาสนาพุทธ)
ในพระพุทธศาสนา กรรม (สันสกฤต: कर्म กรฺม, บาลี: กมฺม) แปลว่า "การกระทำที่ประกอบด้วยเจตนา" ได้แก่ กระทำทางกาย เรียก กายกรรม ทางวาจา เรียก วจีกรรม และทางใจ เรียก มโนกรรม
กรรม 2
แก้กรรม 2 (การกระทำ, การกระทำที่ประกอบด้วยเจตนา ทางกายก็ตาม ทางวาจาก็ตาม ทางใจก็ตาม - Kamma: action; deed) [1]
- อกุศลกรรม (กรรมที่เป็นอกุศล, กรรมชั่ว, การกระทำที่ไม่ดี ไม่ฉลาด ไม่เกิดจากปัญญา ทำให้เสื่อมเสียคุณภาพชีวิต หมายถึง การกระทำที่เกิดจากอกุศลมูล คือ โลภะ โทสะ หรือโมหะ - Akusala-kamma: unwholesome action; evil deed; bad deed) เป็นบาป กรรมชั่ว ความชั่วร้าย ความเสียหาย ความไม่ถูกต้อง ซึ่งให้ผลเป็นความทุกข์ เป็นสิ่งที่ควรเว้น การกระทำบาป กระทำความชั่ว เรียกว่าทำอกุศลกรรม เรียกย่อว่า ทำอกุศล หรือเรียกว่า ทำบาปอกุศล อกุศลกรรมเกิดมาจากอกุศลมูลอย่างใดอย่างหนึ่งใน 3 อย่างคือ โลภะ โทสะ โมหะ เพราะเมื่อเกิดอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นแล้วก็เป็นเหตุชักนำใจให้คิดทำอกุศลกรรม เช่นเมื่อโลภะเกิดขึ้นก็เป็นเหตุให้คิดอยากได้ เมื่ออยากได้ก็แสวงหา เมื่อไม่ได้ตามต้องการด้วยวิธีสุจริต ก็เป็นเหตุให้ทำอกุศลกรรมอื่นต่อไป เช่น ลักขโมย ปล้น จี้ ฉ้อโกง เป็นต้น[2]
- กุศลกรรม (กรรมที่เป็นกุศล, กรรมดี, การกระทำที่ดี ฉลาด เกิดจากปัญญา ส่งเสริมคุณภาพของชีวิตจิตใจ หมายถึง การกระทำที่เกิดจากกุศลมูล คืออโลภะ อโทสะ หรืออโมหะ -Kusala-kamma: wholesome action; good deed) เป็นบุญ ความดี ความถูกต้อง ซึ่งให้ผลเป็นความสุขโดยส่วนเดียว การทำบุญ การทำความดี เรียกว่า ทำกุศลกรรม หรือเรียกย่อว่าทำกุศล กุศลกรรมที่ควรทำเป็นประจำได้แก่ ให้ทาน เสียสละ รักษาศีล อบรมจิตใจ เจริญภาวนา เรียกย่อว่าบำเพ็ญทาน ศีล ภาวนา ซึ่งสามารถทำได้โดยบรรเทาความโลภ ความโกรธ ความหลงให้น้อยลง เพราะถ้ายังมีความโลภ ความโกรธ ความหลงเต็มจิตอยู่ ก็ไม่สามารถทำกุศลกรรมอะไรได้[2]
การจำแนกประเภทของกรรม
แก้กรรมดี หรือ กรรมชั่วก็ตาม กระทำทางกาย วาจา หรือทางใจก็ตาม สามารถจำแนกอีก เป็นประเภทต่าง ๆ ได้หลายแบบ ดังนี้
- กรรมจำแนกตามเวลาการให้ผลของกรรม (ปากกาลจตุกะ) 4 อย่าง
- กรรมจำแนกตามหน้าที่ของกรรม (กิจจตุกะ) 4 อย่าง
- กรรมจำแนกตามลำดับการให้ผลของกรรม (ปากทานปริยายจตุกะ) 4 อย่าง
- กรรมจำแนกตามฐานที่ให้เกิดผลของกรรม (ปากฐานจตุกะ) 4 อย่าง
จำแนกตามเวลาการให้ผลของกรรม
แก้การกระทำทางกาย วาจา ใจ ทั้งที่เป็นฝ่ายดีหรือไม่ดีก็ตาม ย่อมตอบสนองแก่ผู้กระทำ ไม่เร็วก็ช้า เวลาใดเวลาหนึ่ง กรรมจำแนกตามเวลาการให้ผลของกรรม (ปากกาลจตุกะ) แสดงกำหนดเวลา แห่งการให้ผลของกรรม มี 4 อย่าง คือ
- ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม หมายถึง กรรมที่ให้ผลในปัจจุบัน คือในภพนี้
- อุปปัชชเวทนียกรรม หมายถึง กรรมที่ให้ผลในภพที่จะไปเกิด คือในภพหน้า
- อปราปริเวทนียกรรม หมายถึง กรรมที่ให้ผลในภพต่อ ๆ ไป
- อโหสิกรรม หมายถึง กรรมเลิกให้ผล ไม่มีผลอีก
จำแนกตามหน้าที่ของกรรม
แก้กรรมจำแนกตามหน้าที่การงานของกรรม (กิจจตุกะ) กรรมมีหน้าที่ ที่จะต้องกระทำสี่อย่าง คือ
- ชนกกรรม หมายถึง กรรมที่เป็นตัวนำไปเกิด กรรมแต่งให้เกิด
- อุปัตถัมภกกรรม หมายถึง กรรมสนับสนุน กรรมที่ช่วยสนับสนุนหรือซ้ำเติม ต่อจากชนกกรรม
- อุปปีฬกรรม หมายถึง กรรมบีบคั้น กรรมที่มาให้ผล บีบคั้นผลแห่งชนกกรรมและอุปัตถัมภกกรรมนั้น ให้แปรเปลี่ยนทุเลาลงไป บั่นทอนวิบากมิให้เป็นไปได้นาน
- อุปฆาตกกรรม หมายถึง กรรมตัดรอน กรรมที่แรงฝ่ายตรงข้ามกับชนกกรรมและอุปัตถัมภกกรรม เข้าตัดรอนการให้ผลของกรรมทั้งสองอย่างนั้น ให้ขาดไปเสียทีเดียว
จำแนกลำดับการให้ผลของกรรม
แก้กรรมจำแนกตามลำดับการให้ผลของกรรม (ปากทานปริยายจตุกะ) จำแนกตามความยักเยื้อง หรือ ลำดับความแรงในการให้ผล 4 อย่าง
- ครุกรรม หรือ ครุกกรรม (หนังสือพุทธธรรมสะกดครุกกรรม หนังสือกรรมทีปนีสะกดครุกรรม) หมายถึง กรรมหนัก ให้ผลก่อน เช่น ฌานสมาบัติ 8 หรือ อนันตริยกรรม จัดเป็นกรรมที่หนักที่สุด ให้ผลเร็วและแรง มีทั้งฝ่ายที่เป็นกุศลคือฝ่ายดีและฝ่ายที่เป็นอกุศลคือฝ่ายไม่ดี ครุกรรมที่เป็นกุศลได้แก่ฌานสมาบัติ ๘ ผู้ได้ฌานสมาบัติชื่อว่าได้ทำกรรมฝ่ายกุศลที่ดีที่สุด เมื่อสิ้นชีวิตแล้วย่อมได้เกิดในพรหมโลกทันที ส่วนครุกรรมที่เป็นอกุศลได้แก่อนันตริยกรรม ๕ มี ฆ่าบิดา ฆ่ามารดา เป็น ผู้ทำอนันตริยกรรมชื่อว่าได้ทำกรรมฝ่ายอกุศลที่ร้ายแรงที่สุด เมื่อสิ้นชีวิตแล้วย่อมเกิดในนรกทันที ครุกรรมย่อมให้ผลก่อนกรรมอื่นเสมอ อุปมาเหมือนวัวแก่มีกำลังน้อย แต่ยืนอยู่ตรงปากประตูคอกพอดี ย่อมจะออกจากคอกได้ก่อนวัวหนุ่มอื่นๆ ทั้งหลาย ฉะนั้น[2]
- พหุลกรรม หรือ อาจิณกรรม หมายถึง กรรมที่ทำมาก หรือ ทำจนเคยชิน ให้ผลรองจากครุกรรม
- อาสันนกรรม หมายถึง กรรมจวนเจียน หรือ กรรมใกล้ตาย คือกรรมที่ทำเมื่อจวนจะตาย จับใจอยู่ใหม่ ๆ ถ้าไม่มีสองข้อก่อน ก็จะให้ผลก่อนอื่น
- กตัตตากรรม หรือ กตัตตาวาปนกรรม (กตตฺตา-สิ่งที่เคยทำไว้, วา ปน-ก็หรือว่า, กมฺม-กรรม) หมายถึง กรรมอื่นที่เคยทำไว้แล้ว นอกจากกรรม 3 อย่างข้างต้น, ฏีกากล่าวว่า กรรมนี้ให้ผลในชาติที่ 3 เป็นต้นไป กรรมนี้จึงจะให้ผล เป็นกรรมทั้งฝ่ายดีและไม่ดีที่ทำไปโดยไม่ได้ตั้งใจ ไม่มีเจตนาจะให้เป็นอย่างนั้น กรรมที่ทำไว้ด้วยเจตนาอันอ่อน หรือมิใช่เจตนาอย่างนั้นโดยตรง ภาษาวินัยว่าเป็นอจิตตกะ ทำไปก็สักแต่ว่าทำ แม้มีโทษก็ไม่รุนแรง ถือว่าเป็นกรรมที่มีโทษเบาที่สุดในบรรดากรรมทั้งหลาย ถ้าไม่มีกรรมที่หนักกว่าเช่นพหุลกรรม หรือต่อเมื่อไม่มีกรรมอันอื่นให้ผลแล้ว กรรมนี้จึงจะให้ผล กรรมข้อนี้ ท่านเปรียบเหมือนคนบ้ายิงลูกศร เพราะคนปกติที่ไม่มีฤทธิ์จะไม่รู้เลยว่า เป็นกรรมอะไรที่จะมาให้ผลนำเกิด เนื่องจากทำไว้ในอดีตชาตินั่นเอง[2]
จำแนกตามฐานที่ให้เกิดผลของกรรม
แก้กรรมจำแนกตามฐานที่ให้เกิดผลของกรรม (ปากฐานจตุกะ) แสดงที่ตั้งแห่งผลของกรรมสี่อย่าง เป็นการแสดงกรรมโดยอภิธรรมนัย (ข้ออื่น ๆ ข้างต้นเป็นการแสดงกรรมโดยสุตตันตนัย)
- อกุศลกรรม
- กามาวจรกุศลกรรม
- รูปาวจรกุศลกรรม
- อรูปาวจรกุศลกรรม
จำแนกตามการกระทำ
แก้- กายกรรม หมายถึง การกระทำทางกาย คือทำกรรมด้วยกาย ไม่ว่าจะทำกรรมชั่วหรือกรรมดี กายกรรมทางชั่ว มี 3 อย่าง คือ ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า กายทุจริต แปลว่า ประพฤติชั่วทางกาย กายกรรมทางดี มี 3 อย่างคือ ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า กายสุจริต แปลว่า ประพฤติชอบทางกาย[2]
- วจีกรรม หมายถึง การกระทำทางวาจา วจีกรรมที่เป็นกุศล มี4 อย่าง.คือ.ไม่พูดเท็จ,ไม่พูดส่อเสียด,ไม่พูดคำหยาบคาย และไม่พูดเพ้อเจ้อ..ส่วนวจีกรรมที่เป็นอกุศลจะตรงกันข้าม.
- มโนกรรม หมายถึง การกระทำทางใจ คือ ทำกรรมด้วยการคิด ไม่ว่าจะทำกรรมชั่วหรือกรรมดี มโนกรรมทางชั่ว มี 3 อย่าง คือ โลภ อยากได้ของเขา พยาบาทปองร้ายเขา เห็นผิดจากคลองธรรม เรียกอีกอย่างว่า มโนทุจริต (แปลว่า ประพฤติชั่วด้วยใจ) มโนกรรมทางดี มี 3 อย่าง คือ ไม่โลภอยากได้ของเขา ไม่พยาบาทปองร้ายเขา เห็นชอบตามคลองธรรม เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า มโนสุจริต (แปลว่า ประพฤติชอบด้วยใจ)[2]
กรรมดำ กรรมขาว
แก้นอกจากเรื่องของกรรมดีกรรมชั่วแล้ว ยังมีการอธิบายกรรมอีกนัยหนึ่ง โดยอธิบายถึงกรรมดำกรรมขาว จำแนกเป็นกรรม 4 ประการ คือ
- กรรมดำมีวิบากดำ ได้แก่ บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมปรุงแต่งกาย วาจา ใจ อันมีความเบียดเบียนบุคคลอื่น ย่อมได้เสวยเวทนาที่มีความเบียดเบียน เป็นทุกข์โดยส่วนเดียว เช่น เป็นผู้ฆ่ามารดา ฆ่าบิดา ฆ่าพระอรหันต์ มีจิตประทุษร้ายต่อพระตถาคต ยังพระโลหิตให้ห้อขึ้น ทำลายสงฆ์ให้แตกกัน ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ ดื่มน้ำเมา
- กรรมขาวมีวิบากขาว ได้แก่ บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมปรุงแต่งกาย วาจา ใจ อันมีไม่ความเบียดเบียนบุคคลอื่น ย่อมได้เสวยเวทนาที่ไม่มีความเบียดเบียน เป็นสุขโดยส่วนเดียว เช่น เป็นผู้งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ จากการลักทรัพย์ จากการประพฤติผิดในกาม จากการพูดเท็จ จากการพูดส่อเสียด จากการพูดคำหยาบ จากการพูดเพ้อเจ้อ ไม่มากไปด้วยความเพ่งเล็งอยากได้ มีจิตไม่พยาบาท มีความเห็นชอบ
- กรรมทั้งดำทั้งขาวมีวิบากทั้งดำทั้งขาว ได้แก่ บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมปรุงแต่งกาย วาจา ใจ อันมีความเบียดเบียนบุคคลอื่นบ้าง ไม่ความเบียดเบียนบุคคลอื่นบ้าง ย่อมได้เสวยเวทนาที่มีความเบียดเบียนบ้าง ไม่ความเบียดเบียนบ้าง มีทั้งสุขและทั้งทุกข์ระคนกัน
- กรรมไม่ดำไม่ขาวมีวิบากไม่ดำไม่ขาว ได้แก่ เจตนาใดเพื่อละกรรมดำอันมีวิบากดำ เจตนาใดเพื่อละกรรมขาวอันมีวิบากขาว และเจตนาใดเพื่อละกรรมทั้งดำทั้งขาวมีวิบากทั้งดำทั้งขาว ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นกรรม เช่น ผู้ปฏิบัติตามมรรคมีองค์แปด โพชฌงค์เจ็ด
กฎแห่งกรรม
แก้กฎแห่งกรรม คือ กฎธรรมชาติ ข้อหนึ่ง ที่ว่าด้วยการกระทำ และผลแห่งการกระทำ ซึ่ง การกระทำและ ผลแห่งการกระทำนั้น ย่อมสมเหตุ สมผลกัน คือ บุคคลทำกรรมเช่นไรย่อมได้รับ"ผลของกรรม"เช่นนั้น เป็นต้น
- กรรมใดใครก่อ ตนเองเท่านั้นที่จะได้รับผลของสิ่งที่กระทำ
- ผลกรรมในปัจจุบันเป็นกรรมคือเจตนาที่ทำมาในอดีต และกรรมคือเจตนาที่ก่อไว้ในปัจจุบันเป็นเหตุที่จะส่งผลสืบเนื่องต่อไปยังอนาคต
- กรรมเกิดจากผัสสะ ดับกรรมดับที่ผัสสะ
"กรรมที่ทำให้ส่งผลมีอยู่ กรรมที่ช่วยสนันสนุนมีอยู่ กรรมที่ผ่อนหนักให้เบามีอยู่ กรรมที่ส่งผลแรงตรงกันข้ามตัดกรรมที่จะส่งผลเดิมมีอยู่"
"กรรมไม่ได้เกิดจากผู้อื่นดลบรรดาล ไม่ได้เกิดจากตนเองดลบรรดาล ไม่ได้เกิดจากทั้งตนเองและผู้อื่นดลบรรดาล ไม่ได้เกิดขึ้นมาลอยๆ"
"ขันธ์5คือกายนี้ กายนี้คือกรรมเก่า กายนี้ไม่ใช่ของเธอเธอจงละมันเสีย อารมไม่ใช่ของเธอเธอจงละมันเสีย ความจำไม่ใช่ของเธอเธอจงละมันเสีย การปรุงแต่งทั้งหลายไม่ใช่ของเธอเธอจงละมันเสีย ใจนี้ไม่ใช่ของเธอเธอจงละมันเสีย ผู้ไม่ยึดเอาว่ากรรมนี้หรือขันธ์5นี้ว่าเป็นของเรา ใครเล่าจะรับผลของกรรมนั้น" (R-non Infor)..
ว่าเดิม)
สัตว์ทั้งหลายเป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย กรรมย่อมจำแนกสัตว์ให้เลวและประณีตได้ [3]
กมฺมุนา วตฺตติโลโก สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
— พุทธสุภาษิต
อ้างอิง
แก้- "พระอภิธัมมัตถสังคหะ".และ"อภิธัมมัตถวิภาวินีฎีกา".
- พระพุทธโฆษาจารย์. "คัมภีร์พระวิสุทธิมรรค".
- พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต). "พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลธรรม".
- พระพรหมโมลี (วิลาศ ญาณวโร). "กรรมทีปนี".
- "อัฏฐสาลินีอรรถกถา".
- อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต กรรมวรรค
- จูฬกัมมวิภังคสูตร
- วาเสฏฐสูตร
- พระอภิธรรมออนไลน์.
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- Trikaya del Lama Kunsal Kassapa เก็บถาวร 2011-10-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- Karma by Thanissaro Bhikkhu
- Dhammapada Verse 128 Suppabuddhasakya Vatthu Story about the Buddha and Suppabuddha, father of the Buddha's former wife Yashodhara
- Misunderstandings of the Law of Kamma by Prayudh Payutto
- Five Conditions or Laws of Dhamma in Buddhism เก็บถาวร 2011-10-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน by Lakshan Bandara
- อ่านกฎแห่งกรรม