ไหล่

ส่วนของร่างกาย
(เปลี่ยนทางจาก Shoulder)

ไหล่ หรือ บ่า (อังกฤษ: shoulder) เป็นส่วนประกอบของร่างกายมนุษย์ที่อยู่บริเวณข้อต่อไหล่[1] ซึ่งประกอบด้วยกระดูกต้นแขนประกอบกับกระดูกสะบัก[2]

ไหล่ หรือ บ่า
(Shoulder)
ภาพวาดแสดงส่วนประกอบของข้อต่อไหล่ของมนุษย์
ภาพวาดแสดงส่วนประกอบของข้อต่อไหล่ของมนุษย์
รายละเอียด
ตัวระบุ
ภาษาละตินarticulatio humeri
MeSHD012782
TA98A01.1.00.020
TA2139
FMA25202
อภิธานศัพท์กายวิภาคศาสตร์
แคปซูลของข้อต่อไหล่ขณะกางแขนออก มุมมองทางด้านหน้า

ไหล่ประกอบด้วยกระดูก 3 ชิ้น ได้แก่ กระดูกไหปลาร้า (clavicle) , กระดูกสะบัก (scapula) และกระดูกต้นแขน (humerus) ร่วมกับกล้ามเนื้อ เอ็น และเอ็นกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้อง ข้อต่อระหว่างกระดูกต่างๆ เหล่านี้ประกอบกันเป็นข้อต่อไหล่ ไหล่เป็นโครงสร้างที่มีความยืดหยุ่นเพื่อให้แขนและมือสามารถการเคลื่อนที่ได้อย่างมาก และยังมีความแข็งแรงมากเพื่อใช้ในการออกแรงยกของ ดัน และดึง จากหน้าที่การทำงานของไหล่ดังกล่าวทำให้ไหล่เป็นบริเวณที่คนมักบาดเจ็บหรือปวดล้าอยู่สม่ำเสมอ

ข้อต่อต่างๆ ของไหล่ แก้

ไหล่ประกอบด้วยข้อต่อ 3 ข้อ ได้แก่ ข้อต่อกลีโนฮิวเมอรัล ข้อต่ออโครมิโอคลาวิคิวลาร์ และข้อต่อสเตอร์โนคลาวิคิวลาร์

ข้อต่อกลีโนฮิวเมอรัล แก้

ข้อต่อกลีโนฮิวเมอรัล (glenohumeral joint) เป็นข้อต่อหลักของไหล่ เป็นข้อต่อประเภทลูกกลมและเบ้า (ball and socket joint) ซึ่งทำให้สามารถหมุนแขนเป็นวงกลมหรือกางและหุบแขน ข้อต่อนี้เกิดจากหัวกระดูกต้นแขนและด้านข้างของกระดูกสะบัก ลูกกลมของข้อต่อนี้ก็คือพื้นผิวส่วนหน้าด้านใกล้กลางของกระดูกต้นแขนที่มีลักษณะกลม และเบ้าก็คือแอ่งกลีนอยด์ (glenoid fossa) ซึ่งอยู่ด้านข้างของกระดูกสะบัก แอ่งดังกล่าวมีความตื้นและยังมีการเชื่อมอย่างหลวมๆ ระหว่างไหล่และส่วนอื่นๆ ของร่างกายทำให้ข้อต่อนี้สามารถเคลื่อนที่ได้มาก และทำให้มีโอกาสเกิดข้อเคลื่อนได้บ่อยที่สุดในร่างกาย

แคปซูลข้อต่อเป็นเนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่หุ้มข้อต่อกลีโนฮิวเมอรัลและยึดเกาะกับกระดูกสะบัก กระดูกต้นแขน และหัวของกล้ามเนื้อไบเซ็บ แคปซูลนี้ดาดด้วยเยื่อบุข้อ (synovial membrane) ที่มีลักษณะบางและเรียบ แคปซูลนี้มีความแข็งแรงเนื่องจากมีเอ็นคอราโคฮิวเมอรัล (coracohumeral ligament) ที่ยึดเกาะจากโคราคอยด์ โพรเซส (coracoid process) ของกระดูกสะบักไปยังปุ่มใหญ่ของกระดูกต้นแขน (greater tubercle of the humerus) นอกจากนี้ยังมีเอ็นอีก 3 อันที่ยึดจากปุ่มเล็กของกระดูกต้นแขนไปยังด้านข้างของกระดูกสะบักซึ่งเรียกชื่อรวมกันว่า เอ็นกลีโนฮิวเมอรัล (glenohumeral ligaments)

นอกจากเอ็นดังกล่าวมา ยังมีเอ็นเรียกว่าเอ็นทรานสเวิร์สฮิวเมอรัล (transverse humeral ligament) ที่ทอดผ่านระหว่างด้านหลังของปุ่มเล็กและใหญ่ของกระดูกต้นแขน เอ็นนี้เป็นหนึ่งในเอ็นที่ช่วยสร้างความแข๋งแรงให้แก่แคปซูลข้อต่อ

ข้อต่ออโครมิโอคลาวิคิวลาร์ แก้

ข้อต่ออโครมิโอคลาวิคิวลาร์ (acromioclavicular (AC) joint) อยู่ระหว่างอโครเมียน โพรเซสของกระดูกสะบัก (ส่วนของกระดูกสะบักที่เป็นจุดสูงสุดของไหล่) และปลายสุดด้านข้างของกระดูกไหปลาร้า

แคปซูลของข้อต่อนี้มีเอ็นคอราโคคลาวิคิวลาร์ (coracoclavicular ligament) ที่อยู่ส่วนข้อต่อระหว่างกระดูกสะบักและกระดูกไหปลาร้าช่วยเสริมความแข็งแรง เอ็นดังกล่าวเกิดจากเอ็นโคนอยด์ (conoid ligament) ซึ่งเกาะจากโคราคอยด์ โพรเซสของกระดูกสะบักทอดตัวมาด้านใกล้กลางเข้าเกาะปลายที่ปุ่มโคนอยด์ของกระดูกไหปลาร้า ด้านข้างของเอ็นโคนอยด์มีเอ็นทราปีซอยด์ (trapezoid ligament) ซึ่งทอดจากโคราคอยด์ โพรเซสของกระดูกสะบักไปยังแนวทราพีซอยด์ของกระดูกไหปลาร้า นอกจากนี้ยังมีเอ็นคอราโคอโครเมียล (coracoacromial ligament) จากโคราคอยด์ โพรเซสไปยังอโครเมียนของกระดูกสะบักช่วยเสริมความแข็งแรงข้อต่อนี้

ข้อต่อสเตอร์โนคลาวิคิวลาร์ แก้

ข้อต่อสเตอร์โนคลาวิคิวลาร์ (sternoclavicular joint) อยู่ปลายด้านใกล้กลางของกระดูกไหปลาร้าต่อกับแมนูเบรียมหรือยอดบนสุดของกระดูกอก

อ้างอิง แก้

  1. Shoulder จากเว็บไซต์ eMedicine Dictionary
  2. Shoulder+joint จากเว็บไซต์ eMedicine Dictionary
  • Anderson, Stephen A.; Calais-Germain, Blandine (1993). Anatomy of movement. Chicago: Eastland Press. ISBN 0-939616-17-3.{{cite book}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  • McKinley, Michael P.; Martini, Frederic; Timmons, Michael J. (2000). Human anatomy. Englewood Cliffs, N.J: Prentice Hall. ISBN 0-13-010011-0.{{cite book}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)

แหล่งข้อมูลอื่น แก้