มาร์ลอน แบรนโด

นักแสดงชาวอเมริกัน (1924-2004)
(เปลี่ยนทางจาก Marlon Brando)

มาร์ลอน แบรนโด จูเนียร์ (อังกฤษ: Marlon Brando, Jr., 3 เมษายน พ.ศ. 2467 - 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2547) เป็นนักแสดงชาวอเมริกัน ได้รับรางวัลออสการ์ สาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยม 2 สมัย จากการรับบทเป็น เทอร์รี มัลลอย ในภาพยนตร์เรื่อง กรรมกรท่าเรือ และรับบทเป็น วีโต คอร์เลโอเน ในภาพยนตร์เรื่อง เดอะ ก็อดฟาเธอร์ โดย มาร์ลอน แบรนโด ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในนักแสดงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของวงการภาพยนตร์อเมริกันและเป็นนักแสดงที่มีอิทธิพลมากที่สุดต่อนักแสดงในยุคศตวรรษที่ 20[1] นอกจากนี้นิตยสารไทม์​ยังได้จัดให้เขาอยู่ใน 100 บุคคลแห่งศตวรรษ[2] นอกเหนือไปจากผลงานการแสดงของเขาที่เป็นที่ยอมรับและได้รับการกล่าวถึงไปทั่วโลกแล้ว มาร์ลอน แบรนโด ยังมีบทบาททางการเคลื่อนไหวเรียกร้องเกี่ยวกับสิทธิพลเมืองและการปฏิบัติต่อกลุ่มชนพื้นเมืองอเมริกันในสหรัฐ​ ในหลายโอกาส

มาร์ลอน แบรนโด
สารนิเทศภูมิหลัง
ชื่อเกิดมาร์ลอน แบรนโด จูเนียร์
เกิด3 เมษายน ค.ศ. 1924
เมืองโอมาฮา​, รัฐเนแบรสกาสหรัฐอเมริกา
เสียชีวิต1 กรกฎาคม ค.ศ. 2004(2004-07-01) (80 ปี)
ศูนย์การแพทย์โรนัลด์ เรแกน มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส
สหรัฐอเมริกา
คู่สมรสแอนนา คาชฟี (1957-1959)
โมวิตา แคสทาเนดา (1960-1962)
ทาริตา เทอริปาอา (1962-1972)
บุตร11 คน
อาชีพนักแสดง
ปีที่แสดง1944–2004
ผลงานเด่นรถรางสายปรารถนา
กรรมกรท่าเรือ
อเมริกันอันตราย
เดอะ ก็อดฟาเธอร์
รักลวงในปารีส
กองทัพอำมหิต
รางวัล
ออสการ์นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม
1954 กรรมกรท่าเรือ
นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม
1972 เดอะ ก็อดฟาเธอร์
เอมมีนักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม ประเภทละครโทรทัศน์
1979 รูตส์: เดอะเน็กซ์เจเนเรชันส์
ลูกโลกทองคำนักแสดงนำชายยอดเยี่ยม ประเภทภาพยนตร์ดรามา
1954 กรรมกรท่าเรือ
รางวัลเกียรติยศสำหรับนักแสดงที่ได้รับความนิยมสูงสุด
1955
นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม ประเภทภาพยนตร์ดรามา
1972 เดอะ ก็อดฟาเธอร์
รางวัลเกียรติยศสำหรับนักแสดงที่ได้รับความนิยมสูงสุด
1973
แบฟตานักแสดงนำชายต่างประเทศยอดเยี่ยม
1952 Viva Zapata!
นักแสดงนำชายต่างประเทศยอดเยี่ยม
1953 จูเลียส ซีซาร์
นักแสดงนำชายต่างประเทศยอดเยี่ยม
1954 กรรมกรท่าเรือ
ฐานข้อมูล
IMDb
มาร์ลอน แบรนโด
ชื่ออื่นบัด
มิสเตอร์ มัมเบิลส์
ศิษย์เก่าโรงเรียนการทหารแชตทัค รัฐมินนิโซตา
เว็บไซต์http://marlonbrando.com/
ลายมือชื่อ

มาร์ลอน แบรนโด ศึกษาทางด้านการแสดงในปลายยุค 1940 จาก สเตลลา แอดเลอร์ นักแสดงละครบรอดเวย์รุ่นพี่ ซึ่งเธอเป็นลูกศิษย์ทางการแสดงของ คอนสแตนติน สตานิสลาฟสกี ครูสอนการแสดงละครเวที​ชื่อดังชาวรัสเซีย โดย แอดเลอร์ ได้สอนแบรนโดในเรื่องของเทคนิคและวิธีการแสดงที่เน้นการเข้าถึงบทบาทและความสมจริงในบุคคลิกของตัวละครให้แก่เขา และทำให้เขากลายเป็นนักแสดงชายคนแรกๆที่นำศิลปะการแสดงแบบ สตานิสลาฟสกี ออกไปสู่การรับชมของผู้ชมจำนวนมาก แบรนโด เป็นที่รู้จักในวงการภาพยนตร์อเมริกันหลัง​จากที่เขาเริ่มหันมาแสดงภาพยนตร์แทนการแสดงในละครบรอดเวย์ โดยเขาเริ่มมีชื่อเสียงและประสบความสำเร็จอย่างมากในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1950​ ซึ่งเขาได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ สาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยม ถึง 4 สมัยติดต่อกัน ​จากการรับบทนักแสดงนำในภาพยนตร์เรื่อง A Streetcar Named Desire -​ รถรางสายปรารถนา (ค.ศ. 1951)​ ซึ่งเขาเคยแสดงเรื่องนี้ไว้จนประสบความสำเร็จมาแล้วเมื่อครั้งเป็นละครบรอดเวย์ที่ต้องเล่นต่อหน้าผู้ชมเมื่อปี ค.ศ. 1947 ต่อมาเขาได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์อีกครั้งจากการแสดงเป็น เอมิเลียโน ซาปาตา ในภาพยนตร์เรื่อง Viva Zapata! ​(ค.ศ. 1952) และจากการแสดงเป็น มาร์ก แอนโทนี​ ในภาพยนตร์ที่ดัดแปลงมาจากบทประพันธ์ดั้งเดิมของ วิลเลียม เชกสเปียร์​ เรื่อง จูเลียส ซีซาร์​ (ค.ศ. 1953) แต่การเข้าชิงรางวัลออสการ์ทั้ง 3 สมัยของเขาต้องพ่ายแพ้ให้กับ ฮัมฟรีย์ โบการ์ต, แกรี คูเปอร์​ และ วิลเลียม โฮลเดน​ ก่อนที่ในช่วงปลายปี 1953 เขาจะแสดงภาพยนตร์แนวอาชญากรรมเรื่อง The Wild One (ค.ศ. 1953) ​ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงและทำให้ภาพลักษณ์ของเขาจากการรับบทเป็น จอห์นี สแตรบเลอร์ หัวหน้าแก็งค์มอร์เตอร์ไซค์ เดอะ แบล็ค ราเบลส์ กลายเป็นตัวละครชายที่เป็นแบบอย่างทางแฟชันการแต่งกายของวัยรุ่นทั่วโลกในยุคคริสต์ทศวรรษที่ 50 เช่น การตัดผมและไว้จอนที่ส่งผลต่อศิลปินหรือนักแสดงยุคนั้นเช่น เจมส์ ดีน และ เอลวิส เพรสลีย์ โดยเอลวิส ได้นำภาพลักษณ์ของมาร์ลอน แบรนโด ในภาพยนตร์เรื่องนี้ไปเป็นบทบาทในการถ่ายทำเพลง Jailhouse Rock [3] ​นอกจากนี้ยังมีแฟชันการสวมแจ็คเก็ตหนังสีดำ การสวมหมวกเอียงไปด้านข้าง และทำให้เกิดความนิยมในจักรยานยนตร์อังกฤษยี่ห้อ ไทรอัมพ์​ รุ่น Thunderbird ​เกิดขึ้นไปทั่วสหรัฐอเมริกา

จนกระทั่งในปี 1954 แบรนโด ก็มาประสบความสำเร็จในการเข้าชิงรางวัลออสการ์เป็นครั้งที่ 4 โดยเขาได้รับรางวัลออสการ์ สาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยมเป็นครั้งแรกจากการรับบท เทอร์รี มัลลอย ในภาพยนตร์เรื่อง On the Waterfront -​ กรรมกรท่าเรือ ซึ่งจากบทบาทดังกล่าวนอกจากจะทำให้เขาได้รับรางวัลที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดอย่างออสการ์แล้ว การยังทำให้เขาสามารถคว้ารางวัลลูกโลกทองคำ​ สาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยมประเภทภาพยนตร์ดราม่า และรางวัลแบฟตา สาขานักแสดงนำชายชาวต่างชาติยอดเยี่ยม อีกด้วย

ในช่วงเวลาดังกล่าวแม้ มาร์ลอน แบรนโด จะเป็นนักแสดงชายที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง แต่ในช่วงยุคคริสต์ทศวรรษ 1960 กลับเป็นช่วงเวลาที่ชื่อเสียงในวงการภาพยนตร์ของเขาเริ่มเสื่อมถอยและไม่ประสบความสำเร็จในวงการภาพยนตร์เท่าที่ควร เริ่มจากการแสดงในภาพยนตร์แนวคาวบอยตะวันตกเรื่อง One-Eyed Jack (ค.ศ. 1961)​ ที่นอกจากเขาจะต้องแสดงนำแล้วยังต้องกำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วยตนเองแทนที่ สแตนลีย์ คูบริก​ ที่ถูกปลดออกไป แม้ทางค่ายจะลงทุนสูงด้วยการถ่ายทำให้เป็นภาพสีแต่หลังจากภาพยนตร์ออกฉายกลับไม่สามารถทำเงินได้และถึงขั้นต้องขาดทุนย่อยยับ ส่งผลให้แบรนโด ไม่รับงานกำกับภาพยนตร์เรื่องใดอีกเลย ก่อนที่ชื่อเสียงด้านลบเรื่องความเอาแต่ใจและบุคลิกที่ปกครองยากของเขาจะเป็นที่เลื่องลือในวงการมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งในปี 1962 เขาได้แสดงในภาพยนตร์เรื่อง Mutiny on the Bounty -​ กัปตันทมิฬ แต่ถูกต่อต้านอย่างหนักจากบรรดาสื่อมวลชนจากพฤติกรรมเอาแต่ใจของเขาขณะถ่ายทำอันเป็นที่รับรู้อย่างกว้างขวาง ตลอดจนการที่เขามักจะไม่ให้ความร่วมมือกับกองถ่ายหากเป็นเรื่องที่ไม่ถูกใจ ส่งผลให้เกิดความล่าช้าในการถ่ายทำและงบประมาณที่บานปลาย โดยถึงแม้ตัวภาพยนตร์จะได้รับคำวิจารณ์ที่หลากหลายและได้รับการเสนอให้เข้าชิงรางวัลออสการ์มากถึง 7 สาขา แต่ด้วยกระแสโจมตีจากสื่อมวลชนที่ล้วนมุ่งไปที่พฤติกรรมความร้ายกาจในกองถ่ายของ มาร์ลอน แบรนโด ซึ่งเป็นนักแสดงนำของเรื่องโดยตรง ทำให้ภาพยนตร์ขาดทุนทางรายได้อย่างมหาศาล [4] และทำให้ผลงานการแสดงภาพยนตร์เรื่องต่อๆมาของเขาในยุคนั้นไม่ได้รับการกล่าวถึงจากสื่อต่างๆ มากเท่าที่ควร

แบรนโด กลับมาสร้างชื่ออย่างยิ่งใหญ่อีกครั้งจากการรับบทเป็น วีโต คอร์เลโอเน ในภาพยนตร์ที่สร้างจากบทประพันธ์ของ มาริโอ พูโซ เรื่อง เดอะ ก็อดฟาเธอร์​ (ค.ศ. 1972) โดย พูโซ เจ้าของประพันธ์ต้องการให้ มาร์ลอน แบรนโด แสดงในบทบาทนี้ แต่ถูกหลายฝ่ายคัดค้านโดยเฉพาะจากทางค่ายภาพยนตร์อย่างพาราเมาต์พิกเจอส์​ เนื่องจากกิตติศัพท์ของเขาในกองถ่ายและอารมณ์ที่คาดเดาได้ยาก ส่วนฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลา​ผู้กำกับภาพยนตร์ก็อยากได้ ลอเรนซ์ โอลิวีเอร์​ มารับบทนี้มากกว่าแต่ก็ถูกตัวแทนของ โอลิวีเอร์ ปฏิเสธ จนทำให้ทีมงานต้องคัดเลือกผู้รับบทจากนักแสดงชายหลายคนทั้ง แอนโทนี ควินน์, จอร์จ ซี. สกอตต์, ​ริชาร์ด คอนเต และ ออร์สัน เวลส์ ​แต่ก็พบว่ายังไม่ใช่นักแสดงที่มีบุคลิกเหมาะสมกับบทบาทดังกล่าว สุดท้ายตัวเลือกจึงเหลือแค่เพียง ​เออร์เนสต์ บอร์กไนน์​ และ มาร์ลอน แบรนโด ซึ่งหลังจากที่ แบรนโด เข้ารับการทดสอบบทและแสดงให้ทุกคนเห็นถึงความสมจริงอย่างยิ่งกับการเป็นตัวละคร วีโต คอร์เลโอเน ก็ทำให้ทุกคนเปลี่ยนใจมอบบทบาทดังกล่าวให้เขาอย่างไร้ข้อกังขาแม้จะถูกคัดค้านอย่างหนักในตอนแรก ก่อนที่ความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ของภาพยนตร์เรื่องนี้จะทำให้สื่อทั่วโลกหันมาชื่นชมฝีมือในการแสดงของเขาอีกครั้ง โดยเขาได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงทั้งรางวัลออสการ์ สาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยม​, รางวัลลูกโลกทองคำ​ และ รางวัลแบฟตา​ โดยถึงแม้ว่าในที่สุดเขาจะได้รับรางวัลออสการ์ สาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยมเป็นสมัยที่ 2 ของตนเองและกลับมามีชื่อเสียงอย่างยิ่งใหญ่ในโลกภาพยนตร์อีกครั้ง แต่เขาก็กลับสร้างความตื่นตะลึงในวงการเมื่อปฏิเสธที่จะขึ้นไปรับรางวัลออสการ์ โดยเขาได้มอบหมายให้ ซาชีน ลิตเติลเฟเธอร์ นักแสดงหญิงที่มีเชื้อสายเผ่าอาเปเช เป็นตัวแทนขึ้นไปบนเวทีออสการ์เพื่อแสดงการประท้วงวงการภาพยนตร์อเมริกันในการปฏิบัติต่อกลุ่มชนพื้นเมืองสหรัฐ ก่อนที่เขาจะมีผลงานอันเป็นที่น่าจดจำในภาพยนตร์ที่กำกับโดย แบร์นาโด แบร์โตลุชชี​เรื่อง รักลวงในปารีส ที่ประสบความสำเร็จอย่างงดงามเมื่อทำรายได้มากกว่าทุนสร้างถึง 90 เท่า และทำให้เขาถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์อีกครั้งแม้ว่าในครั้งก่อนเขาจะปฏิเสธที่จะขึ้นเวทีก็ตาม ​

ที่นอกจากผลงานการแสดงภาพยนตร์แล้ว มาร์ลอน แบรนโด ยังมีผลงานการแสดงละครโทรทัศน์​ทางช่องเอบีซี​เรื่อง รูตส์: เดอะเน็กซ์เจเนเรชันส์ (ในประเทศไทยออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 3​)​ โดยเขาได้รับรางวัลไพรม์ไทม์เอมมี​ สาขานักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม ประเภทละครโทรทัศน์

อ้างอิง

แก้
  1. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-05-23. สืบค้นเมื่อ 2021-05-21.
  2. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-05-23. สืบค้นเมื่อ 2021-05-21.
  3. Burton I. Kaufman & Diane Kaufman (2009), The A to Z of the Eisenhower Era, Scarecrow Press, ISBN 0-8108-7150-5, p.38.
  4. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-10-30. สืบค้นเมื่อ 2021-05-25.

แหล่งข้อมูล

แก้