กลุ่มอาการมาร์แฟน

(เปลี่ยนทางจาก Marfan syndrome)

กลุ่มอาการมาร์แฟน (อังกฤษ: Marfan syndrome) เป็นโรคทางพันธุกรรมที่เกี่ยวข้องกับเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน[1] ผู้ป่วยมักมีรูปร่างผอมสูง มีแขน ขา นิ้วมือและนิ้วเท้ายาว รวมถึงมีอาการกระดูกสันหลังคดและมีข้อต่อที่ยืดได้มากกว่าปกติ[1] อาการแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายของกลุ่มอาการนี้ได้แก่ลิ้นหัวใจไมทรัลหย่อนและท่อเลือดแดงโป่งพอง[6]

กลุ่มอาการมาร์แฟน
ชื่ออื่นMarfan's syndrome
สาขาวิชาเวชพันธุศาสตร์
อาการรูปร่างผอมสูง แขนขายาว ข้อต่อยืดได้มากกว่าปกติ[1]
ภาวะแทรกซ้อนกระดูกสันหลังคด, ลิ้นหัวใจไมทรัลหย่อน, ท่อเลือดแดงโป่งพอง[1]
ระยะดำเนินโรคระยะยาว[1]
สาเหตุทางพันธุกรรม (ออโตโซมลักษณะเด่น)[1]
วิธีวินิจฉัยเกณฑ์ของเกนต์[2]
ยาเบตาบล็อกเกอร์, แคลเซียมแชนแนลบล็อกเกอร์, สารยับยั้งเอซีอี[3][4]
พยากรณ์โรคมักมีการคาดหมายคงชีพปกติ[1]
ความชุก1 ใน 5,000–10,000 คน[3]

กลุ่มอาการมาร์แฟนเป็นความผิดปกติของออโตโซมลักษณะเด่น โดย 75% เกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม ส่วน 25% เกิดจากการกลายพันธุ์ของยีนที่สร้างไฟบริลลิน ไกลโคโปรตีนที่สำคัญในการสร้างเส้นใยอีลาสติกในเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน[1] การวินิจฉัยส่วนมากจะอิงจากเกณฑ์ของเกนต์ (Ghent criteria)[2]

ยังไม่พบวิธีการรักษากลุ่มอาการมาร์แฟนให้หายขาด แต่ผู้ป่วยมีการคาดหมายคงชีพปกติหากได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม[1] การรักษามักใช้ยาเบตาบล็อกเกอร์ แคลเซียมแชนแนลบล็อกเกอร์หรือสารยับยั้งเอซีอีในการป้องกันความผิดปกติของหลอดเลือดหัวใจ รวมถึงการผ่าตัดลิ้นหัวใจ[7][3][4]

ประมาณ 1 ใน 5,000 ถึง 10,000 คนจะป่วยเป็นกลุ่มอาการมาร์แฟน[8] อัตราการพบในเพศชายและหญิงมีเท่ากัน[3] กลุ่มอาการมาร์แฟนตั้งชื่อตามอ็องตวน มาร์ฟอง กุมารแพทย์ชาวฝรั่งเศสที่บรรยายถึงกลุ่มอาการนี้เป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1896[9]


การแสดงของกลุ่มอาการมาร์แฟนเป็นเช่นไร แก้

ดังที่กล่าวมาแล้วว่ากลุ่มอาการมาร์แฟน เกิดจากการกลายพันธุ์ของยีนที่สร้างโปรตีนฟิปริลลิน ซึ่งเป็นส่วน สำคัญของโครงสร้างของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันทั่วร่างกาย อาการแสดงต่างๆสามารถอธิบายเป็นระบบได้ดังนี้

  • ระบบโครงสร้างกระดูกและกล้ามเนื้อ
  • ระบบหัวใจและหลอดเลือด
  • ระบบสายตาและการมองเห็น
  • ระบบประสาท
  • ระบบการหายใจ
  • ระบบผิวหนังและเนื้อเยื่อสร้างความแข็งแรงของหน้าท้อง

ลักษณะการแสดงออกของโรคในแต่ละบุคคลจะไม่เท่ากัน มีตั้งแต่มีอาการน้อยไปจนถึงมาก บางคนอาจมีอาการทางกระดูกมากกว่าหัวใจ หรือ บางคนอาจมีความผิดปกติทางระบบหัวใจเด่นชัดโดยไม่มีสายตาผิดปกติ อย่างไรก็ตามในเมื่อ ความรุนแรงของโรคมีหลายระดับ ดังนั้นในผู้ที่ประสบกับความผิดปกติในระบบใดระบบหนึ่งแล้ว จำเป็นจะต้องเฝ้าระวัง การเกิดโรคในระบบอื่นๆด้วย ซึ่งไม่มีใครสามารถคาดเดาได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไร และรุนแรงเพียงใด

กลุ่มอาการผิดปกติทางระบบโครงสร้างกระดูกและกล้ามเนื้อ แก้

อาการแสดงในระบบนี้ เป็นผลมาจากการที่โครงสร้างกระดูกและเอ็นกระดูกทั่วร่างกายยืดตัวออกง่าย ไม่ แข็งแรงหรือแน่นหนาดังเช่นปกติ ปัญหาที่จะพบคือข้อต่างๆในร่างกายงอเข้า‐ออกได้มากกว่าปกติ อาจจะมีประวัติข้อ ไหล่, ข้อเข่า, หรือข้ออื่นๆหลุดบ่อย กระดูกส่วนอื่นๆ ที่ตรวจพบความผิดปกติ ได้แก่ กระดูกสันหลังคด, กระดูกสันหลัง เคลื่อน หรือ กระดูกกลางอกยุบตัวลงหรือโป่งขึ้นผิดปกติ เป็นต้น ลักษณะเด่นที่สามารถเห็นได้จากภายนอกก็คือ ผู้ที่ ประสบภาวะมาร์แฟนที่มีความผิดปกติทางโครงสร้างเหล่านี้ จะมีความสูงมากกว่าบุคคลอื่นในครอบครัว แขนยาว ลำตัวช่วงล่างยาวกว่าช่วงบนมาก ใบหน้าจะมีลักษณะเรียวยาว อาจมีภาวะฟันสบกันผิดปกติได้เนื่องจากกระดูกกราม ล่างยืดออกทำให้การเรียงตัวของฟันในช่องปากค่อนข้างแน่น ในส่วนของความผิดปกติอื่นๆที่สามารถตรวจพบได้ เช่น ฝ่าเท้าแบนราบ ไม่มีความโค้งไว้ช่วยแบ่งเบาการรองรับน้ำหนัก หรือ เพดานปากยกตัวโค้งสูงกว่าปกติ เนื่องจากสูญเสีย ความสามารถของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันในการรักษารูปทรงต่างๆเหล่านี้ไว้ ปัญหาที่จะพบได้จากโครงสร้างที่ผิดปกติไปได้แก่

1. โครงสร้างกระดูกสันหลังคด จะทำให้ปวดหลังเสียบุคลิก เมื่อคดมากจะส่งผลกระทบต่อการหายใจได้ และถ้า ประสบปัญหากระดูกสันหลังเคลื่อน อาจทำให้เกิดอาการกระดูกกดทับเส้นประสาท ทำให้มีอาการชาและเกิดการ อ่อนแรงของแขนขาได้

2. กระดูกกลางอกยุบหรือโป่งตัวผิดปกติ ถ้าเป็นมากจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของปอดในการหายใจรับออกซิเจน มาเลี้ยงเนื้อเยื่อส่วนต่างๆของร่างกาย ผู้ป่วยจะมีอาการเริ่มต้นของการมีออกซิเจนไปเลี้ยงร่างกายไม่เพียงพอ เกิด ง่วงหาวในเวลากลางวันตลอด หรือกลางคืนนอนกรนเสียงดัง ซึ่งเป็นอาการแสดงว่าร่างกายพยายามที่จะสูดรับ ออกซิเจนให้เพียงพอต่อความต้องการ

3. ฝ่าเท้าที่แบนราบจะส่งผลต่อการเดิน เนื่องจากร่างกายปกติของมนุษย์จะสร้างให้ฝ่าเท้ามีความโค้งระดับหนึ่งเพื่อ แบ่งเบาภาระการรับน้ำหนักตัวของร่างกายให้กระจายไปทั่ว ไม่ลงไปในจุดใดจุดหนึ่งของเท้า ดังนั้นถ้าปราศจาก ความโค้งที่ฝ่าเท้านี้ไป เวลาออกเดินหรือวิ่งมากๆ จะทำให้เจ็บหรือบอบช้ำที่เท้าได้ง่าย

4. ข้อที่บิดงอง่ายผิดปกติ จะมีผลกระทบอย่างมากถ้าเกิดการปะทะอย่างรุนแรง จะทำให้ข้อหลุดออกจากเบ้าได้ง่าย และเมื่ออายุมากขึ้น มีโอกาสเป็นโรคข้อเสื่อมได้เร็วกว่าคนปกติ

5. กระดูกกรามที่เรียวเล็กจะทำให้ฟันในช่องปากเรียงตัวกันแน่นหนา เกิดภาวะฟันซ้อนกัน ทำให้สบฟันผิดปกติและ เคี้ยวอาหารลำบาก

กลุ่มอาการผิดปกติทางระบบหัวใจและหลอดเลือด แก้

ส่วนประกอบต่างๆของระบบหัวใจและหลอดเลือดก็ได้รับผลกระทบจากการที่เยื้อเยื่อเกี่ยวพันยืดตัวออกง่าย เช่นกัน ดังนี้

1. ลิ้นหัวใจที่กั้นระหว่างหัวใจห้องบนซ้ายและล่างซ้าย เรียกว่า “ลิ้นหัวใจไมตรัล” ถ้าเนื้อเยื่อของลิ้นหัวใจนี้ยืดตัวออก ง่าย จะทำให้ลิ้นไมตรัลยืดตัวออกยาวผิดปกติ ส่งผลให้การเปิดปิดของลิ้นหัวใจไม่ปกติ เกิดภาวะลิ้นหัวใจรั่วได้ ถ้า รั่วมากจะทำให้การสูบฉีดเลือดไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้

2. หลอดเลือดแดงใหญ่ หรือทางการแพทย์เรียกว่า “เอออร์ต้า” จะยืดตัวโป่งออกได้ง่าย โดยเฉพาะในตำแหน่งที่เพิ่ง พ้นออกมาจากหัวใจห้องล่างซ้าย เนื่องจากได้รับแรงดันจากการสูบฉีดโลหิตมากที่สุด ถ้าหลอดเลือดแดงใหญ่ นี้โป่งออกมากขึ้นเป็นกระเปาะในตำแหน่งต่างๆ ก็จะทำให้เลือดไม่ไหลไปตามหลอดเลือดปกติ แต่จะเซาะเข้าไปตาม ผนังหลอดเลือดแทน ถ้าเซาะเข้าไปมากขึ้นเรื่อยๆโดยรักษาไม่ทัน จะทำให้หลอดเลือดแดงแตก มีอันตรายถึงแก่ชีวิต

3. ลิ้นหัวใจที่กั้นระหว่างหัวใจห้องล่างซ้ายกับหลอดเลือดแดงใหญ่เอออร์ต้า มีชื่อเรียกว่า “ลิ้นหัวใจเอออร์ติก” เปรียบเสมือนประตูที่จะเปิดให้เลือดสูบฉีดออกจากหัวใจไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆในร่างกาย เมื่อหลอดเลือดแดงใหญ่ ส่วนต้นตรงหน้าลิ้นนี้โป่งออก ทำให้การปิดของลิ้นนี้ไม่ปกติ เกิดลิ้นหัวใจเอออร์ติกรั่วได้ ถ้ารั่วมากมีผลให้ระบบการ ทำงานของหัวใจล้มเหลวได้

4. ความผิดปกติอื่นที่อาจตรวจพบ เช่นหินปูนเกาะที่ฐานลิ้นหัวใจไมตรัล หรือ ความดันหลอดเลือดในปอดสูงขึ้นโดยไม่ มีสาเหตุอื่น เกิดอาการหอบเหนื่อย ปากเขียว เนื่องจากออกซิเจนไปเลี้ยงร่างกายไม่เพียงพอ

ในบุคคลที่ประสบปัญหาทางระบบหัวใจและหลอดเลือด จะค่อนข้างมีผลต่อการดำรงชีวิตประจำวันพอสมควร เนื่องจาก การทำกิจกรรมต่างๆที่ทำให้หัวใจต้องทำงานสูบฉีดโลหิตอย่างหนัก จะทำให้อาการที่เป็นอยู่แย่ลงได้ เช่น ลิ้นหัวใจที่รั่ว อยู่รองรับการสูบฉีดโลหิตไม่ทัน เกิดรั่วมากขึ้นหรือหัวใจล้มเหลว หรือหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองตัวมากขึ้นเมื่อได้รับ แรงกระแทกจากจากการสูบฉีดโลหิต ทำให้มีโอกาสที่เลือดจะเซาะเข้าไปในผนังหลอดเลือดได้ง่ายขึ้น รวมถึงทำให้ลิ้น หัวใจเอออร์ติกรั่วมากขึ้น เป็นต้น ดังนั้นผู้ที่มีลักษณะหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งตัวออกเป็นกระเปาะเช่นนี้ เหมือนมี ระเบิดเวลาอยู่ในร่างกาย จำเป็นต้องรู้จักวิธีปฏิบัติตัว ถนอมรักษาหัวใจและหลอดเลือดให้อยู่กับชีวิตเราได้นานที่สุด การเรียนรู้ที่จะดูแลและมาตรวจร่างกายสม่ำเสมอไม่ใช่เรื่องยาก และสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข

กลุ่มอาการผิดปกติทางสายตาและการมองเห็น แก้

ในอาการผิดปกติกลุ่มนี้ เลนส์ตาจะได้รับผลกระทบมากที่สุดเนื่องจากมีส่วนประกอบของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันอยู่ มาก อาจเกิดเลนส์ตานูนมากกว่าปกติ ผู้ป่วยมักจะมีอาการสายตาสั้นมาตั้งแต่เด็ก และใน 60‐70% ของผู้ประสบภาวะ มาร์แฟนจะมีเลนส์ตาเคลื่อนหรือหลุดได้ ทำให้มองเห็นภาพไม่ชัด นอกจากนี้ อาการอื่นๆที่พบร่วมได้ เช่น จอประสาท ตาด้านในลอกตัว, กล้ามเนื้อควบคุมม่านตาฝ่อ, กระจกตาแบนราบ ซึ่งทั้งหมดนี้ก่อให้เกิดปัญหาเรื่องการมองเห็นทั้งหมด และผู้ประสบภาวะมาร์แฟนที่มีปัญหาทางด้านสายตายังมีโอกาสเกิดเป็นต้อหินมากกว่าคนปกติด้วย ดังนั้นถ้ามีอาการ ปวดตา ตาแดง กระจกตาขุ่นมัว เห็นภาพไม่ชัด ต้องรีบพบแพทย์ให้เร็วที่สุด

กลุ่มอาการผิดปกติทางระบบประสาท แก้

ไขสันหลังเป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่ควบคุมระบบประสาทส่วนกลางร่วมกับสมอง ภายในช่องระหว่างเยื่อหุ้มไขสันหลังจะมีน้ำไขสันหลังอยู่ เยื่อหุ้มไขสันหลังเป็นเนื้อเยื่อเกี่ยวพันชนิดหนึ่ง ในผู้ที่ประสบภาวะมาร์แฟน พบว่าเยื่อหุ้มไขสันหลังส่วนนอกสูญเสียความยืดหยุ่นปกติ ทำให้ยืดตัวโป่งออกง่ายจากความดันของน้ำไขสันหลังภายใน คนปกติจะไม่เกิดภาวะเช่นนี้ในระดับความดันน้ำไขสันหลังปกติ เยื่อหุ้มไขสันหลังโป่งออกเป็นกระเปาะเช่นนี้มักพบบริเวณไขสันหลังส่วนล่างช่วงบั้นเอวและกระเบนเหน็บ อาการที่เกิดขึ้นเริ่มตั้งแต่ไม่มีอาการ เมื่อโป่งพองออกมามากก็จะเสียดสีกับกระดูก

กลุ่มอาการผิดปกติทางระบบหายใจ แก้

โดยปกติแล้วในชายหนุ่มรูปร่างผอมสูงมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดภาวะลมรั่วในเยื่อหุ้มปอดเฉียบพลันหลังจากการออกแรงหรือ เล่นกีฬา แต่ในผู้ที่ประสบภาวะมาร์แฟนมีการสูญเสียความยืดหยุ่นของปอด

สามารถเกิดภาวะเยื่อหุ้มปอดรั่วได้ง่ายกว่าคนปกติถึง 50 เท่า และพบได้ 1 ใน 20 คนของกลุ่มผู้ประสบภาวะมาร์แฟน ดังนั้นเมื่อใดที่ออกแรงแล้วรู้สึกเจ็บแน่นหน้าอก หายใจเข้าลึกๆแล้วเจ็บมากขึ้น หายใจ

หอบเหนื่อย พึงคิดไว้กาอนว่าอาจเกิดภาวะเช่นนี้ได้ ให้รีบมาโรงบาลทันที

จากผลของการสูญเสียความยืดหยุ่นของปอด การตรวจภาพรังสีของปอดอาจพบลักษณฯะถุงลมโป่งออกเป็นกระเปาะ ซึ่งสามารถแตกออกได้ในที่สุด ถ้าตรวจพบแต่เนิ่นๆ การผ่าตัดออกจะช่วยลดโอกาสการเกิดกระเปาะถุงลมแตกและมีลมรั่วในเยื่อหุ้มปอดได้ อย่างไรก็ตามปอดของผู้ประสบภาวะมาร์แฟนไม่ได้มีโอกาสเป็นหอบหืดหรือถุงลมโป่งพองจากการสูบบุหรี่มากกว่าคนปกติ แต่ในทางกลับกัน การสูบบุหรี่ทำให้เกิดภาวะถุงลมโป่งพองและแตกง่ายในกลุ่มมาร์แฟน

กลุ่มอาการผิดปกติทางผิวหนังและเนื้อเยื่อสร้างความแข็งแรงของหน้าท้อง แก้

ลักษณะผิวหนังของผู้ประสบภาวะกลุ่มอาการมาร์แฟนจะเกิดการแตกเป็นลายได้ง่ายกว่าปกติ เหมือนที่พบในหญิงตั้งครรภ์ หรือ คนที่มีรูปร่างอ้วน แต่ในมาร์แฟนสามารถเกิดขึ้นได้ในคนรูปร่างผอมสูง ตำแหน่งที่พบรอยแตกของผิวหนังได้ ได้แก่ หน้าท้อง, ไหล่, สะโพก, หลัง เป็นต้น

นอกจากนี้ความยืดหยุ่นของเนื้อเยื่อสร้างความแข็งแรงของหน้าท้องที่เสียไป ทำให้ลำไส้ดันผนังหน้าท้องออกมาอยู่ในช่องว่างในขาหนีบได้ง่าย หรือที่เรียกกันว่า “ไส้เลื่อน” นั่นเอง ดังนั้นถ้าคลำก้อนได้ที่ขาหนีบ หรือในผู้ชายคลำพบก้อนหยุ่นๆในถุงอัณฑะ ให้รีบมาปรึกษาแพทย์ทันที

กลุ่มอาการผิดปกติในอวัยวะอื่นๆ แก้

ในอวัยวะอื่นๆ นอกเหนือจากที่กล่าวมาแล้ว มีโอกาสเกิดความผิดปกติได้น้อยมาก แต่ก็มีรายงานตรวจพบบ้าง ซึ่งเป็นผลมาจากที่ความยืดหยุ่นของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันผิดปกติไปทั่วร่างกาย เช่น เยื่อบุกระเพาะปัสสาวะโป่งออกเป็น

กระเปาะ ทำให้มีการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ เป็นต้น

จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ พึงนึกไว้เสมอว่าผู้ที่มีปัญหาความผิดปกติของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันอันเนื่องมาจากการกลายพันธุ์ของยีนที่สร้างโปรตีนฟิบริลลิน ทำให้เกิดกลุ่มอาการมาร์แฟน ไม่จำเป็นต้องมีอาการทั้งหมดตามนี้ ไม่มีใครสามารถบอกได้ว่า ใครจะมีอาการอะไรบ้าง มากน้อยแค่ไหน และเมื่อไรจะเกิดอาการอะไรเพิ่มเติม ซึ่งจะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล จึงเป็นหน้าที่ของผู้ที่ประสบปัญหานี้และครอบครัว ที่จะหาข้อมูลเป็นความรู้ติดตัว เฝ้าระวังการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ และเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตร่วมกับความผิดปกติทางพันธุกรรมนี้ให้มีความสุข

การวินิจฉัยกลุ่มอาการมาร์แฟน[10] แก้

เนื่องจากมาร์แฟนเป็น “กลุ่มอาการ” การวินิจฉัยต้องอาศัยการซักประวัติและตรวจร่างกายทางคลินิกโดยละเอียด และมีการตรวจเอ็กซ์เรย์ปอด กระดูกสันหลัง และเชิงกรานร่วม นอกจากนั้นจะมีการตรวจหาความผิดปกติทางตาโดยละเอียด และการตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจดูความผิดปกติของระบบหัวใจและหลอดเลือด การที่มีอาการใดอาการหนึ่งคล้ายผู้ที่เป็นมาร์แฟน ไม่สามารถวินิจฉัยว่าเป็นมาร์แฟนได้ ต้องมีอาการหลายๆอย่างรวมกันตามแนวทางการวินิจฉัยของแพทย์ การเจาะเลือดเพื่อตรวจยีนที่ทำให้เกิดความผิดปกติเป็นเพียงส่วนหนึ่งในการวินิจฉัยเท่านั้น ไม่ได้หมายความว่าถ้าตรวจพบการกลายพันธุ์ของยีนนี้ จะทำให้เกิดกลุ่มอาการมาร์แฟน อย่างไรก็ตามการกลายพันธุ์ของยีนไม่ใช่ตัวชี้บ่งว่าเป็นโรค ต้องประกอบกับอาการและอาการแสดงทางคลินิกด้วยเสมอ ในบางสถานการณ์ที่มีคนในครอบครัวมีอาการมากกว่า 1 คนขึ้นไป อาจต้องเจาะเลือดเปรียบเทียบข้อมูลทางพันธุกรรมของคนในครอบครัวของทั้งคนที่มีและไม่มีอาการ เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยให้ง่ายขึ้น

ในปัจจุบันค้นพบว่า ยีนเอฟบีเอ็นวันที่ทำให้เกิดกลุ่มอาการมาร์แฟน มีขนาดใหญ่ และมีการกลายพันธุ์ได้มากหลายตำแหน่ง ดังนั้นถ้าการตรวจเลือดหาพันธุกรรมไม่พบความผิดปกติ ไม่ได้หมายความว่าไม่เป็นมาร์แฟน เพราะยังมีตำแหน่งที่สามารถเกิดการกลายพันธุ์ได้อีกมาก ข้อมูลทางคลินิกอย่างอื่นจึงมีน้ำหนักมากในการวินิจฉัย

ความรุนแรงของกลุ่มอาการมาร์แฟนมีหลากหลายตั้งแต่มีอาการน้อยจนถึงรุนแรง แม้กระทั่งในครอบครัวเดียวกัน ก็อาจมีอาการที่แสดงออกต่างกัน ยังไม่มีรายงานว่าอะไรเป็นปัจจัยควบคุมที่ทำให้เกิดความผิดปกติหลากหลายเช่นนี้ ดังนั้นการเฝ้าระวังและติดตามดูแลสุขภาพอย่างใกล้ชิดจะสามารถป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากกลุ่มอาการนี้ได้มากและทำให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้เป็นปกติสุข

โรงพยาบาลในประเทศไทยที่ชำนาญในการวินิจฉัยและดูแลรักษากลุ่มอาการมาร์แฟน แก้

สำหรับวัยรุ่นและผู้ใหญ่ แก้

สำหรับเด็กอายุน้อยกว่า 13 ปี แก้

นักกีฬากับมาร์แฟน แก้

เนื่องจากผู้ที่เป็นกลุ่มอาการมาร์แฟนจะมีรูปร่างสูง ทำให้หลายคนได้ฝึกฝนเป็นนักกีฬา โดยเฉพาะบาสเก็ตบอลและวอลเลย์บอล ซึ่งจะเป็นอันตรายอย่างมากหากไม่ได้รับการวินิจฉัยอย่างทันท่วงที เพราะการออกกำลังกายหนักสำหรับผู้ที่เป็นกลุ่มอาการมาร์แฟนจะมีโอกาสทำให้ เลนส์ตาหลุด ข้อหลุด หัวใจเต้นเร็วมากเกิดการโป่งพองของหลอดเลือดแดงใหญ่มากจนเกิดการเซาะของเลือดในผนังหลอดเลือด

นักกีฬาที่มีชื่อเสียงและถูกวินิจฉัยว่าเป็นกลุ่มอาการมาร์แฟน แก้

  • อิสยาห์ ออสติน (Isaiah Austin) นักบาสเก็ตบอลแห่งมหาวิทยาลัยเบย์เลอร์ (Baylor) ถูกวินิจฉัยว่าเป็นมาร์แฟน 4 วันก่อนการดราฟต์ผู้เล่น NBA ทั้งนี้ Isaiah ตาบอดข้างขวาตั้งแต่อายุ 16 ปีเพราะเลนส์ตาหลุด แม้ไม่ได้ถูกคัดเลือกเข้า NBA แต่ทาง NBA ได้ให้เกียรติขึ้นเวทีในวันดราฟต์ผู้เล่นปี ค.ศ. 2014[11]

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 1.6 1.7 1.8 "What Is Marfan Syndrome?". NHLBI, NIH. 1 ตุลาคม 2010. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 พฤษภาคม 2016. สืบค้นเมื่อ 16 พฤษภาคม 2016.
  2. 2.0 2.1 "How Is Marfan Syndrome Diagnosed?". NHLBI, NIH. 1 ตุลาคม 2010. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 11 มิถุนายน 2016. สืบค้นเมื่อ 16 พฤษภาคม 2016.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 "Marfan Syndrome". National Organization for Rare Disorders. 2017. สืบค้นเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2016.
  4. 4.0 4.1 "How Is Marfan Syndrome Treated?". NHLBI, NIH. 1 ตุลาคม 2010. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 11 มิถุนายน 2016. สืบค้นเมื่อ 16 พฤษภาคม 2016.
  5. Staufenbiel, Ingmar; Hauschild, Christian; Kahl-Nieke, Bärbel; Vahle-Hinz, Eva; von Kodolitsch, Yskert; Berner, Maike; Bauss, Oskar; Geurtsen, Werner; Rahman, Alexander (2013-01-01). "Periodontal conditions in patients with Marfan syndrome - a multicenter case control study". BMC Oral Health. 13: 59. doi:10.1186/1472-6831-13-59. ISSN 1472-6831. PMC 3816571. PMID 24165013.
  6. "What Are the Signs and Symptoms of Marfan Syndrome?". NHLBI, NIH. 1 ตุลาคม 2010. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 11 มิถุนายน 2016. สืบค้นเมื่อ 16 พฤษภาคม 2016.
  7. Vaidyanathan, Balu. "Role of beta-blockers in Marfan's syndrome and bicuspid aortic valve: A time for re-appraisal". NCBI - NIH. สืบค้นเมื่อ 14 สิงหาคม 2018.
  8. Keane MG, Pyeritz RE (2008). "Medical management of Marfan syndrome". Circulation. 117 (21): 2802–13. doi:10.1161/CIRCULATIONAHA.107.693523. PMID 18506019. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 31 มกราคม 2010. estimated prevalence of 1 case per 3000 to 5000 individuals
  9. Marfan, Antoine (1896). "Un cas de déformation congénitale des quartre membres, plus prononcée aux extrémitiés, caractérisée par l'allongement des os avec un certain degré d'amincissement [A case of congenital deformation of the four limbs, more pronounced at the extremities, characterized by elongation of the bones with some degree of thinning]". Bulletins et memoires de la Société medicale des hôspitaux de Paris (ภาษาฝรั่งเศส). 13 (3rd series): 220–226. ISSN 0366-1334.
  10. "มาร์แฟนซินโดรม (Marfan Syndrome)". Pobpad. 2018-03-09.
  11. "Isaiah Austin has Marfan syndrome". ESPN.com news services. 23 มิถุนายน 2014.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้


การจำแนกโรค
ทรัพยากรภายนอก