คล็อด แชนนอน

(เปลี่ยนทางจาก Claude Shannon)

คล็อด เอลวูด แชนนอน (อังกฤษ: Claude Elwood Shannon) วิศวกรไฟฟ้าและนักคณิตศาสตร์ชาวอเมริกัน ได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งทฤษฎีสารสนเทศ และเป็นผู้วิจัยและออกแบบวงจรดิจิทัล โดยแสดงให้เห็นว่าวงจรดิจิทัลตามพีชคณิตแบบบูลสามารถคำนวณตรรกศาสตร์และพีชคณิตทุกชนิดได้

คล็อด แชนนอน
เกิด30 กันยายน พ.ศ. 2459
มิชิแกน สหรัฐอเมริกา
เสียชีวิต24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544
แมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา
สัญชาติ อเมริกัน
มีชื่อเสียงจากทฤษฎีสารสนเทศ
รางวัล
IEEE Medal of Honor
รางวัลเกียวโต
อาชีพทางวิทยาศาสตร์
สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า และ นักคณิตศาสตร์
สถาบันที่ทำงานห้องทดลอง เบลล์

สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์

Institute for Advanced Study

ประวัติ

แก้

แชนนอนเกิดวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2459 ในรัฐมิชิแกน สหรัฐอเมริกา บิดาของท่าน ชื่อคล็อด (1862–1934) เช่นเดียวกับลูกชาย ประกอบอาชีพธุรกิจ และเคยเป็น ผู้พิพากษาอยู่ช่วงหนึ่ง มารดาของท่าน ชื่อมาเบล วูลฟ์ แชนนอน (พ.ศ. 2433พ.ศ. 2488) เป็นอาจารย์สอนภาษาและเป็นครูใหญ่ประจำโรงเรียนมัธยมเกลอร์ด ในรัฐมิชิแกนนั้นเอง ตัวแชนนอนเองก็เรียนในโรงเรียนมัธยมเกลอร์ดในปี พ.ศ. 2475 ในระหว่างเรียนนั้นแชนนอนได้ให้ความสนใจเกี่ยวกับเครื่องจักรกล วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ตอนอยู่บ้านมักชอบสร้างโมเดลเครื่องบิน เรือบังคับวิทยุ และระบบโทรเลขจำลอง ตอนที่เป็นเด็ก ท่านเคยทำงานเป็นเด็กส่งเอกสารให้กับบริษัท เวสเทิร์น ยูเนียน ฮีโร่ตอนเด็กของท่านคือโทมัส เอดิสัน ซึ่งในภายหลังแชนนอนเพิ่งรู้ว่าเป็นลูกพี่ลูกน้องห่างๆกัน

หลังจากที่เรียนจบจากโรงเรียนมัธยมเกลอร์ด แชนนอนได้เข้าเรียนต่อใน มหาวิทยาลัยมิชิแกน ซึ่งในที่นั้นท่านได้รู้จักผลงานของ จอร์จ บูล เกี่ยวกับพีชคณิตแบบบูล แชนนอนสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยในปี พ.ศ. 2479 ด้วยสองปริญญาบัตร ทั้งทางด้าน วิศวกรรมไฟฟ้า และคณิตศาสตร์ หลังจากนั้นได้เข้าเรียนต่อใน สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) ซึ่งในที่นั้นเขาได้ศึกษาตัววิเคราะห์อนุพันธ์แบบบูช (Vannevar Bush's differential analyzer) ซึ่งเป็นคอมพิวเตอร์แบบอนาล็อกชนิดหนึ่ง ระหว่างนั้นเองแชนนอนได้สังเกตเห็นแนวคิดของจอร์จ บูล และได้เขียนเป็นวิทยานิพนธ์ปริญญาโท ในปี พ.ศ. 2480 ชื่อ A Symbolic Analysis of Relay and Switching Circuits และออกตีพิมพ์เมื่อปี 1938 ในนิตยสาร Transactions of the American Institute of Electrical Engineers ในวิทยานิพนธ์ฉบับนี้ได้กล่าวถึงการใช้รีเลย์ในการแก้ปัญหาพีชคณิตแบบบูล ซึ่งสามารถคำนวณพีชคณิตและตรรกะทุกชนิดได้ ซึ่งวิทยานิพนธ์ฉบับนี้ทำให้แชนนอนได้รับรางวัล Alfred Noble American Institute of American Engineers Award (ซึ่งไม่ได้เกี่ยวอะไรกับรางวัลโนเบล) ในปี พ.ศ. 2483

ด้วยความสำเร็จนี้ แวนเนวาร์ บุช นักวิทยาการคอมพิวเตอร์ผู้ที่คิดตัววิเคราะห์อนุพันธ์ในขณะที่แชนนอนเรียนอยู่ปริญญาโท จึงได้แนะนำให้แชนนอนเข้าทำงานที่ ห้องทดลองของเขา ซึ่งในที่นั้น แชนนอนได้เสนอวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกในหัวข้อ An Algebra for Theoretical Genetics

ในปี พ.ศ. 2483 แชนนอนได้เข้าทำงานเป็นนักวิจัยใน Institute for Advanced Study ซึ่งในที่นั้นแชนนอนได้พบปะพูดคุยกับนักวิทยาศาสตร์และนักคณิตศาสตร์ที่มีชื่อเสียง อาทิ จอห์น ฟอน นอยมันน์ นักวิทยาการคอมพิวเตอร์ผู้พัฒนาระบบคอมพิวเตอร์แบบปัจจุบัน หรือบางครั้งแม้แต่ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ในที่แห่งนั้นเอง แชนนอนเริ่มเกิดแนวคิดเกี่ยวกับทฤษฎีสารสนเทศขึ้นมา

จนในปี พ.ศ. 2491 แชนนอนได้ตีพิมพ์บทความ A Mathematical Theory of Communication ลงในนิตยสาร Bell System Technical Journal สองครั้งในฉบับเดือนกรกฎาคมและตุลาคม ซึ่งบทความนี้ได้กล่าวถึง ปัญหาและทฤษฎีทางด้านการส่งสารสนเทศ นอกจากนั้นแล้วแชนนอนยังได้สร้างปริมาณที่เรียกว่า เอนโทรปีของสารสนเทศ ซึ่งวัดความซับซ้อนในสารสนเทศนั้น อันเป็นรากฐานของ ทฤษฎีสารสนเทศต่อไป

ผลงานที่สำคัญ

แก้