นกเขียวก้านตอง

(เปลี่ยนทางจาก Chloropseidae)
นกเขียวก้านตอง
นกเขียวก้านตองหน้าผากสีทอง
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: สัตว์มีแกนสันหลัง (Chordate)
ชั้น: นก (Aves)
อันดับ: นกเกาะคอน (Passeriformes)
วงศ์: นกเขียวก้านตอง (Chloropseidae)
สกุล: นกเขียวก้านตอง (Chloropsis)
Jardine & Selby, 1827
สปีชีส์
ดูในเนื้อความ

นกเขียวก้านตอง (อังกฤษ: Leafbird) เป็นชื่อของสกุลและวงศ์ ของนกขนาดเล็กประเภทหนึ่งในตระกูลนกเกาะคอน มีถิ่นที่อยู่ในอินเดียและเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นนก 1 ใน 2 วงศ์ซึ่งเป็นนกเฉพาะถิ่นของเขตนิเวศวิทยาอินโดมาลายัน โดยอีกวงศ์หนึ่งคือนกแว่นตาขาว เดิมสกุลนกเขียวก้านตอง อยู่ในวงศ์นกเขียวคราม ร่วมกับสกุลนกแว่นตาขาว แต่ภายหลังได้แยกวงศ์ออกมาทั้งสองสกุล ตั้งเป็นวงศ์ใหม่คือ วงศ์นกเขียวก้านตอง และวงศ์นกแว่นตาขาว นกเขียวก้านตองมีลักษณะคล้ายนกในวงศ์นกปรอดซึ่งเป็นวงศ์ใกล้เคียงกัน หากแต่มีสีสันสดใสกว่า นอกจากนี้ นกเขียวก้านตองเป็นนกที่มีลักษณะแตกต่างระหว่างเพศ โดยที่ตัวผู้จะมีสีสันสดใสกว่า และ/หรือ มีสีสันมากกว่า นกเขียวก้านตองวางไข่ 2-3 ฟองต่อครั้ง ในรังบนคาคบต้นไม้

ชื่อ

แก้

ที่มาของชื่อนกเขียวก้านตอง มาจากลักษณะทางกายภาพของตัวนกเอง ในภาษาไทยมีความหมายตรงตัวคือหมายถึงนกที่มีสีเขียวแบบก้านของใบตองกล้วย ส่วนในภาษาอังกฤษใช้คำว่า Leaf Bird แปลว่าเป็นนกที่มีสีเขียวดังใบไม้ นอกจากนี้ในชื่อสกุลของชื่อวิทยาศาสตร์ซึ่งเรียกว่า Chrolopsis ก็มาจากรากศัพท์ภาษากรีก คือ Chlor หรือ khloros แปลว่าสีเขียว และ opsi หรือ opsis แปลว่าการปรากฏ ความหมายคือ"นกที่มีสีเขียว"

อาหาร

แก้

นกเขียวก้านตอง เป็นนกที่กินลูกไม้ น้ำหวานดอกไม้ และแมลงเป็นอาหาร โดยมีลิ้นที่เรียวเล็ก เป็นอุปกรณ์ในการกินน้ำหว่านจากดอกไม้ นกเขียวก้านตองมักชอบกระโดดหากิน ตั้งแต่บนกิ่งต่ำๆ ของต้นไม้ ระดับกลางของลำต้น จนกระทั่งถึงยอดไม้ เป็นนกที่ขยันหากินไม่ค่อยอยู่นิ่ง มักจะง่วนอยู่กับการกระโดดไปมาระหว่างกิ่งไม้ เพื่อคอยจิกกินหนอนและแมลงต่างๆ ที่เกาะอยู่ตามกิ่งและใบไม้ เช่น ตั๊กแตนใบไม้ ตั๊กแตนตำข้าว มดแดง และด้วงหนวดยาว แม้แต่แมงมุม หรือหอยทากตัวเล็กๆ และดูเหมือนว่าในขณะหากินนั้น นกเขียวก้านตองไม่ใคร่สนใจอะไร ไม่ค่อยระแวดระวังภัย และบางครั้งก็ค่อนข้างเชื่อง แม้ว่าคนจะเดินไปส่องกล้องดูอยู่ ใต้ต้นไม้ที่นกเขียวก้านตองกำลังกระโดดหากินนั้น นกเขียวก้านตองก็ไม่บินหนีไปไหน

นิสัยประจำพันธุ์

แก้

นกเขียวก้านตองมีนิสัยเป็นมิตรกับนกเล็กขนาดไล่เลี่ยกัน โดยการเข้าไปรวมฝูงกับนกขนาดเล็กไล่เลี่ยกัน เช่น นกแว่นตาขาว นกกินปลี นกภูหงอนท้องขาว นกกระจิ๊ด นกพญาไฟใหญ่ นกปรอดเหลืองหัวจุก นกขมิ้นน้อยปีกสีเรียบ และ นกเขนน้อยปีกแถบขาว แต่ก็มีนิสัยก้าวร้าวต่อนกอื่นบ้างในบางครั้งเช่น หากมีนกกินน้ำหวานด้วยกัน มากินน้ำหวานดอกไม้จากกิ่งเดียวกันหรือในบริเวณใกล้กัน นกเขียวก้านตองจะแสดงอาการก้าวร้าวไล่จิกนกอื่นนั้นๆ จนกว่านกนั้นๆจะยอมถอยห่างออกไป

โดยลักษณะนิสัย นกเขียวก้านตองจะหากินในระดับเรือนไม้ถึงยอดไม้ แต่มักจะไม่ลงมาหากินที่พื้นล่าง และจะไม่อยู่สูงกว่าระดับยอดไม้ แต่บางกรณีเช่นพืชวงศ์โคลงเคลง เช่นจุกนารี และโคลงเคลง ออกดอกออกผล นกเขียวก้านตองจะลงมาหากินน้ำหวานและลูกไม้ของพืชกลุ่มนี้

นกเขียวก้านตอง มักอยู่ด้วยกันเป็นคู่ หรือตัวเดียวโดดเดี่ยว หรือเป็นครอบครัวเล็กๆ หากินแต่เช้าตรู่ ถ้าเป็นคู่มันจะแยกย้ายกันหากิน แต่จะอยู่ใกล้ๆกันหรืออยู่บนกิ่งเดียวกัน

ในเวลาที่นกเขียวก้านตองกระโดดมุดใบไม้เพื่อหากิน มันจะส่งเสียงร้องไปด้วย โดยนกเขียวก้านตองเป็นหนึ่งในนกเลียนเสียงโดยเสียงร้องปกติจะกล้ายกับเสียงผิวปาก แต่มักจะมีการเลียนเสียงของนกแซงแซว นกปรอด นกกระจิบ นกกะลิงเขียด นกอีเสือ และนกอื่นๆอีกหลายชนิด บางทีก็เลียนเสียงเหยี่ยว หรือเสียงกระรอกปนอยู่ด้วย และมักจะร้องเป็นท่วงทำนองยาว อาจนานถึง 40 นาที

เนื่องจากนกเขียวก้านตองมีปีกค่อนข้างสั้น จึงไม่สามารถบินไปไหนมาไหนไกลได้ จึงได้แต่เพียงบินจากต้นไม้ต้นหนึ่ง ไปยังต้นไม้อีกต้นหนึ่งที่อยู่ใกล้กันท่านั้น ในเวลาบินจะบินไม่ค่อยเป็นแนวตรง โดยมักบินเป็นลูกคลื่นขึ้นๆลงๆ แต่บินได้รวดเร็วจึงมักเห็นเป็นเพียงนกตัวสีเขียวบินผ่านไป แต่บอกไม่ได้ว่าเป็นนกเขียวก้านตองชนิดใด

แหล่งอาศัย

แก้

นกเขียวก้านตองเป็นนกประจำถิ่น ที่พบได้บ่อยมาก ทั่วทุกป่า ตั้งแต่อินเดียจนถึงเวียดนาม จีนตอนใต้ คาบสมุทรมลายู เรื่อยจนถึงหมู่เกาะซุนดา หมู่เกาะโมลุกกะ โดยมักอาศัยในภูมิอากาศที่ค่อนข้างชุ่มชื้น โดยเฉพาะในป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง ป่าผสมผลัดใบ ยกเว้นในภาคกลางของประเทศไทย และบนเกาะสิงคโปร์

สปีชีส์

แก้
 
นกเขียวก้านตองปีกสีฟ้าเพศเมีย

นกเขียวก้านตองแบ่งออกเป็น 8 สปีชีส์ ดังนี้

โดย 5 ชนิดแรกสามารถพบได้ในประเทศไทย และชนิดที่ 7 และ 8 เป็นนกเฉพาะถิ่น พบได้ที่เกาะปาลาวัน และเกาะมินดาเนา ของประเทศฟิลิปปินส์เท่านั้น

อ้างอิง

แก้

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้