เซซิล โรดส์

นักธุรกิจและนักการเมืองชาวอังกฤษในแอฟริกาใต้ (ค.ศ. 1853-1902)
(เปลี่ยนทางจาก Cecil Rhodes)

เซซิล จอห์น โรดส์ (อังกฤษ: Cecil John Rhodes; 5 กรกฎาคม ค.ศ. 1853 – 26 มีนาคม ค.ศ. 1902)[2] เป็นนักการเมืองชาวอังกฤษและผู้ทรงอิทธิพลด้านการทำเหมืองแร่ในภูมิภาคแอฟริกาใต้ เขาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอาณานิคมแหลมตั้งแต่ ค.ศ. 1890 ถึง ค.ศ. 1896 โรดส์เป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญของลัทธิจักรวรรดินิยมอังกฤษในทวีปแอฟริกา เขาและบริษัทแอฟริกาใต้ของบริเตนมีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งดินแดนโรดีเชีย (ปัจจุบันคือประเทศแซมเบียและซิมบับเว) ซึ่งภูมิภาคนี้ได้รับการตั้งชื่อตามเขาใน ค.ศ. 1895[3] โรดส์ยังมีวิสัยทัศน์ในการสร้างทางรถไฟจากแหลมถึงไคโรที่เชื่อมอาณานิคมของอังกฤษ และจัดตั้งทุนโรดส์ (Rodes Scholarship) เพื่อสนับสนุนการศึกษาด้วยทรัพย์มรดกของเขา

เซซิล โรดส์
โรดส์ ป.ค.ศ. 1900
นายกรัฐมนตรีอาณานิคมแหลม คนที่ 7
ดำรงตำแหน่ง
17 กรกฎาคม ค.ศ. 1890 – 12 มกราคม ค.ศ. 1896
กษัตริย์สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย
ผู้ว่าการเซอร์ เฮนรี ลอช
เซอร์ วิลเลียม กอร์ดอน คาเมรอน
เซอร์ เฮอร์คิวลีส โรบินสัน
ก่อนหน้าจอห์น กอร์ดอน สปริก
ถัดไปจอห์น กอร์ดอน สปริก
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด
เซซิล จอห์น โรดส์

5 กรกฎาคม ค.ศ. 1853(1853-07-05)
บิชอปส์สตอร์ตฟอร์ด ฮาร์ตฟอร์ดเชอร์ ประเทศอังกฤษ
เสียชีวิต26 มีนาคม ค.ศ. 1902(1902-03-26) (48 ปี)
มิวเซนเบิร์ก อาณานิคมแหลม
ที่ไว้ศพมาลินดีจีมู อุทยานแห่งชาติมาโตโบ ประเทศซิมบับเว
เชื้อชาติบริติช
พรรคการเมืองเสรีนิยม[1]
ความสัมพันธ์แฟรงก์ โรดส์ (พี่ชาย)
ศิษย์เก่าวิทยาลัยโอเรียล
อาชีพ
  • นักธุรกิจ • นักการเมือง
ลายมือชื่อ

โรดส์เกิดที่ฮาร์ตฟอร์ดเชอร์ในครอบครัวของวิการ์ (vicar) ด้วยสุขภาพที่อ่อนแอตั้งแต่วัยเยาว์ ครอบครัวจึงส่งตัวเขาไปยังแอฟริกาใต้เมื่ออายุ 17 ปี โดยเชื่อว่าสภาพอากาศอบอุ่นจะช่วยฟื้นฟูสุขภาพของเขาได้ ต่อมาเมื่ออายุ 18 ปี เขาเข้าสู่วงการค้าเพชรที่เมืองคิมเบอร์ลีย์ และเริ่มสร้างเครือข่ายธุรกิจด้วยการซื้อและควบรวมกิจการเหมืองเพชรอย่างเป็นระบบ โดยได้รับเงินสนับสนุนจากรอธส์ไชลด์แอนด์คอมปานี (Rothschild & Co) ภายในเวลา 20 ปี เขาได้ผูกขาดตลาดค้าเพชรเกือบทั้งหมดในโลก และได้ก่อตั้งบริษัทเดอเบียร์สใน ค.ศ. 1888 ซึ่งยังคงเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมเพชรในศตวรรษที่ 21

โรดส์เข้าสู่รัฐสภาอาณานิคมแหลมเมื่ออายุ 27 ปี[4] และได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีใน ค.ศ. 1890 ในช่วงดำรงตำแหน่ง เขาใช้อำนาจทางการเมืองเพื่อผลักดันกฎหมายที่จำกัดสิทธิของชาวแอฟริกันผิวดำ เช่น พระราชบัญญัติเกลนเกรย์ที่ริบที่ดินจากชาวพื้นเมือง และพระราชบัญญัติสิทธิลงคะแนนเสียงที่เพิ่มเกณฑ์ทรัพย์สินสำหรับการลงคะแนนเสียง เพื่อกีดกันชาวแอฟริกันผิวดำจากการเลือกตั้ง[5][6] โรดส์ลาออกจากตำแหน่งใน ค.ศ. 1896 หลังการตีโฉบฉวยเจมสันที่ล้มเหลวในสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ (หรือทรานส์วาล) ในช่วงหลังสุขภาพของเขาทรุดโทรมลง และถึงแก่แสัญกรรมใน ค.ศ. 1902 อัฐิของเขาถูกฝังในประเทศซิมบับเว และหลุมศพของเขากลายเป็นประเด็นถกเถียงในเวลาต่อมา

แม้โรดส์จะมีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์ แต่สิ่งสืบเนื่องจากผลงานและแนวคิดของเขายังคงเป็นที่ถกเถียงจนถึงปัจจุบัน[7] โดยเฉพาะการยึดครองที่ดินของชาวพื้นเมืองผิวดำและการสนับสนุนลัทธิจักรวรรดินิยม ตัวอย่างเช่น การอ้างเท็จว่าแหล่งโบราณคดีสำคัญในแอฟริกาตอนใต้อย่างเกรตซิมบับเวถูกสร้างขึ้นโดยอารยธรรมยุโรป[8][9][10] การกระทำเหล่านี้ส่งผลให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์และรณรงค์ต่อต้านในยุคปัจจุบัน เช่น ขบวนการโรดส์มัสต์ฟอลล์ (Rhodes Must Fall) ซึ่งมุ่งท้าทายผลกระทบทางประวัติศาสตร์และสังคมจากมรดกของเขาในแอฟริกาใต้และภูมิภาคอื่น ๆ

อย่างไรก็ตาม ในความปรารถนาสุดท้าย โรดส์ได้ก่อตั้งทุนการศึกษาโรดส์ที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ซึ่งถือเป็นทุนการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาที่เก่าแก่ที่สุดในโลก โดยมอบทุนให้แก่ผู้รับจำนวน 102 ทุนในแต่ละปี ทุนนี้มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนบุคคลผู้มีศักยภาพทั่วโลก ซึ่งในจำนวนนี้รวมถึงนายกรัฐมนตรีของมอลตา ออสเตรเลีย และแคนาดา ตลอดจนบิล คลินตัน อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ

บรรพบุรุษ

แก้

โรดส์เกิดเมื่อ ค.ศ. 1853 ในเมืองบิชอปส์สตอร์ตฟอร์ด มณฑลฮาร์ตฟอร์ดเชอร์ ประเทศอังกฤษ เป็นบุตรชายคนที่ห้าของบาทหลวงฟรานซิส วิลเลียม โรดส์ (ค.ศ. 1807–1878) และลุยซา พีค็อก ผู้เป็นภรรยา[11] ฟรานซิสเป็นเคลอจีในคริสตจักรแห่งอังกฤษ ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งคูเรตถาวร (perpetual curate) ประจำที่เบรนท์วูด มณฑลเอสเซกซ์ (ค.ศ. 1834–1843) และต่อมาเป็นวิการ์ (vicar) ในบิชอปส์สตอร์ตฟอร์ด (ค.ศ. 1849–1876) ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีว่าไม่เคยเทศนาเกินสิบนาที[12]

ฟรานซิสเป็นบุตรชายคนโตของวิลเลียม โรดส์ (ค.ศ. 1774–1855) ผู้ประกอบการผลิตอิฐจากแฮคนีย์เซ็นทรัล มณฑลมิดเดิลเซกซ์ ครอบครัวนี้เป็นเจ้าของที่ดินที่สำคัญในแฮคนีย์และดัลสตัน กรุงลอนดอน ซึ่งเซซิลจะได้รับมรดกในเวลาต่อมา[13]

บรรพบุรุษที่สืบสายตรงที่สุดของเซซิล โรดส์ คือ เจมส์ โรดส์ (มีชีวิตอยู่ในช่วง ค.ศ. 1660) จากหมู่บ้านวิทมอร์ มณฑลสแตฟฟอร์ดเชอร์[14] เซซิลมีพี่น้อง คือ แฟรงก์ โรดส์ ซึ่งเป็นนายทหารกองทัพสหราชอาณาจักร

มุมมองทางการเมือง

แก้

 
เซซิล โรดส์ ประมาณ ค.ศ. 1900

โรดส์ต้องการขยายจักรวรรดิบริติช เพราะเขาเชื่อว่าเชื้อชาติแองโกล-แซกซันถูกลิขิตมาให้สูงส่ง[11] ใน ค.ศ. 1877 ขณะที่เขายังเป็นนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด เขาได้เขียนถึงแนวคิดนี้ไว้ในเอกสารที่เขาเรียกว่า "ร่างแนวคิดบางส่วนของข้าพเจ้า" โดยระบุว่า "ข้าพเจ้ายืนยันว่าเราคือเชื้อชาติอันดับหนึ่งของโลก และยิ่งเราได้ครอบครองโลกมากเท่าไร มันก็ยิ่งเป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติ ข้าพเจ้ายืนยันว่าทุกเอเคอร์ที่เพิ่มเข้ามาในอาณาเขตของเรา หมายถึงการเกิดของเชื้อชาติอังกฤษที่เพิ่มขึ้น ซึ่งหากไม่มีพื้นที่เหล่านั้น ผู้คนเหล่านี้อาจไม่ได้ถือกำเนิดขึ้นเลย"[15] โรดส์ยังแสดงความเสียใจที่ไม่มีดินแดนให้พิชิตเหลืออยู่มากนัก และกล่าวว่า "การได้เห็นดวงดาวในยามค่ำคืน โลกอันกว้างใหญ่ที่เราไม่สามารถไปถึงได้ ข้าพเจ้าอยากยึดครองดาวเคราะห์ต่าง ๆ หากข้าพเจ้าทำได้ ข้าพเจ้ามักจะคิดถึงเรื่องนี้ มันทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกโศกเศร้าที่ได้เห็นมันอย่างชัดเจน แต่ก็ยังอยู่ไกลเกินเอื้อม"[16]

นอกจากนี้ โรดส์มองว่าจักรวรรดินิยมเป็นวิธีแก้ปัญหาสังคมภายในประเทศ เขากล่าวว่า "เพื่อช่วยชีวิตประชากร 40 ล้านคนในสหราชอาณาจักรจากสงครามกลางเมืองอันนองเลือด เราผู้เป็นรัฐบุรุษอาณานิคมจึงต้องเข้ายึดดินแดนใหม่เพื่อให้ประชากรส่วนเกินสามารถตั้งรกรากได้ และเพื่อเปิดตลาดใหม่สำหรับสินค้าที่ผลิตในโรงงานและเหมืองแร่ วลี "จักรวรรดิ" อย่างที่ข้าพเจ้ากล่าวตลอด เป็นเรื่องของปากท้อง หากท่านต้องการหลีกเลี่ยงสงครามกลางเมือง ท่านต้องเป็นนักจักรวรรดินิยม"[17]

โรดส์ต้องการพัฒนาเครือจักรภพ โดยทุกประเทศที่อยู่ภายใต้จักรวรรดิบริติชจะมีตัวแทนในรัฐสภาบริเตน[18] เขายังระบุไว้ชัดเจนในพินัยกรรมของเขาว่าทุกเชื้อชาติควรมีสิทธิได้รับทุนการศึกษา[19] มีการกล่าวว่าเขาต้องการสร้างชนชั้นนำชาวอเมริกันที่เป็นราชาปราชญ์ ซึ่งจะทำให้สหรัฐกลับมารวมอยู่ในจักรวรรดิอีกครั้ง นอกจากนี้ เนื่องจากโรดส์เคารพและชื่นชมชาวเยอรมันและจักรพรรดิ เขาจึงอนุญาตให้นักศึกษาเยอรมันมีสิทธิได้รับทุนการศึกษาโรดส์ด้วย เขาเชื่อว่าท้ายที่สุดสหราชอาณาจักร (รวมถึงไอร์แลนด์) สหรัฐ และเยอรมนีจะร่วมกันครอบครองโลกและรักษาสันติภาพชั่วนิรันดร์[20][ต้องการเลขหน้า]

มุมมองของโรดส์เกี่ยวกับเรื่องเชื้อชาติเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกัน บ้างระบุว่าเขาสนับสนุนสิทธิของชาวแอฟริกันพื้นเมืองในการออกเสียง[21] แต่ก็มีผู้วิจารณ์ที่เรียกเขาว่าเป็น "สถาปนิกของการถือผิว"[22] และเป็น "พวกที่เชื่อว่าคนผิวขาวนั้นสูงส่ง" โดยเฉพาะตั้งแต่ ค.ศ. 2015 เป็นต้นมา[23][24][25] มากูบาเนกล่าวว่าโรดส์ไม่พอใจที่ในหลายเขตเลือกตั้งของอาณานิคมแหลม เขากังวลว่าชาวแอฟริกันอาจมีบทบาทสำคัญ หากมีผู้ใช้สิทธิลงคะแนนมากขึ้นตามกฎหมายในขณะนั้น [หมายถึงพระราชบัญญัติสิทธิลงคะแนนเสียงที่ได้รับการรับรอง] เขาเสนอว่า "ชาวพื้นเมืองควรถูกปฏิบัติเหมือนเด็กและถูกปฏิเสธสิทธิเลือกตั้ง เราจำเป็นต้องนำระบบเผด็จการแบบอินเดียมาใช้ในการสร้างความสัมพันธ์ของเรากับชนป่าเถื่อนในแอฟริกาใต้"[26] โรดส์สนับสนุนการปกครองชาวแอฟริกันพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในอาณานิคมแหลมภายใต้ "สถานะของชนป่าเถื่อนและการครอบครองร่วมกัน" ในฐานะ "ชนชาติที่อยู่ภายใต้การปกครอง" โดยเขากล่าวว่า "ข้าพเจ้าไม่ได้เห็นด้วยกับสมาชิกจากวิกตอเรียเวสต์ที่ไม่ต้องการให้คนผิวดำมีสิทธิออกเสียง ... หากคนผิวขาวรักษาสถานะของตนในฐานะชนชาติสูงสุดไว้ได้ วันหนึ่งเราอาจรู้สึกขอบคุณที่เรายังมีชาวพื้นเมืองอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมของพวกเขา"[21]

เขาเคยกล่าวว่า "ข้าพเจ้าชอบที่ดินมากกว่าคนผิวดำ" และเรียกเชื้อชาติ "แองโกล-แซกซัน" ว่าเป็น "ชนชาติที่ดีที่สุด มีมนุษยธรรมที่สุด และทรงเกียรติที่สุดในโลก"[27] เขาเชื่อว่าดินแดนที่ถูก "ตัวอย่างที่เลวร้ายที่สุดของมนุษย์" ครอบครอง ควรถูกแองโกล-แซกซันยึดครอง[28]

 
ภาพเขียนโรดส์ โดย มอร์ติเมอร์ เมนเปส ใน ค.ศ. 1901

อย่างไรก็ตาม มุมมองเหล่านี้ถูกบางฝ่ายโต้แย้ง นักประวัติศาสตร์ เรย์มอนด์ ซี. เมนซิง กล่าวว่าโรดส์มีชื่อเสียงในฐานะตัวอย่างที่เด่นชัดของจิตวิญญาณจักรวรรดิบริติช และมักเชื่อว่าสถาบันของบริเตนดีที่สุด เมนซิงอ้างว่าโรดส์พัฒนาความคิดเกี่ยวกับสหพันธ์จักรวรรดิในแอฟริกาอย่างเงียบ ๆ และความคิดเห็นของเขาในช่วงหลังมีความสมดุลและสมเหตุสมผลมากขึ้น เมนซิงชี้ว่า "โรดส์ไม่ได้เป็นผู้เหยียดเชื้อชาติในเชิงชีววิทยา หากแต่เป็นผู้เหยียดเชื้อชาติในเชิงวัฒนธรรม"[29] ใน ค.ศ. 2016 ศาสตราจารย์ไนเจล บิกการ์ แห่งมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด เขียนบทความในเดอะไทมส์ว่า ถึงแม้โรดส์จะเป็นนักจักรวรรดินิยม แต่ข้อกล่าวหาเรื่องการเหยียดเชื้อชาตินั้นไม่มีมูลความจริง[30] โดยบทความใน ค.ศ. 2021 บิกการ์ยังระบุเพิ่มเติมอีกว่า[31]

หากโรดส์เป็นผู้เหยียดเชื้อชาติ เขาคงไม่สามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับชาวแอฟริกันรายบุคคลได้ และคงไม่เห็นว่าชาวแอฟริกันมีความสามารถในการพัฒนาอารยธรรม นอกจากนี้ เขาคงไม่สนับสนุนสิทธิในการออกเสียงลงคะแนนของพวกเขา และคงไม่ระบุในพินัยกรรมสุดท้ายของเขาในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1899 ว่าทุนการศึกษาที่มีชื่อของเขาไม่ควรคำนึงถึง 'เชื้อชาติ' แต่เขากลับทำสิ่งเหล่านี้ทั้งหมด

ในด้านการเมืองภายในสหราชอาณาจักร โรดส์สนับสนุนพรรคเสรีนิยม[1] ผลกระทบหลักที่เขามีต่อการเมืองอังกฤษ คือ การสนับสนุนอย่างมหาศาลต่อพรรคชาตินิยมไอริชที่นำโดยชาลส์ สจวร์ต พาร์เนลล์ (ค.ศ. 1846–1891)[32]

โรดส์มีความสัมพันธ์ที่ดีในการทำงานร่วมกับชาวอาฟรีกาเนอร์ในอาณานิคมแหลม โดยเขาสนับสนุนการสอนภาษาดัตช์ควบคู่ไปกับภาษาอังกฤษในโรงเรียนรัฐบาล ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอาณานิคมแหลม เขาช่วยยกเลิกข้อจำกัดทางกฎหมายส่วนใหญ่ที่เคยมีต่อชาวอาฟรีกาเนอร์[20] โรดส์ยังเป็นเพื่อนกับยาน ฮอฟเมเยอร์ (Jan Hofmeyr) ผู้นำสหภาพอาฟรีกาเนอร์ (Afrikaner Bond) และเป็นเพราะการสนับสนุนจากชาวอาฟรีกาเนอร์ที่ทำให้เขาได้เป็นนายกรัฐมนตรี[33] นอกจากนี้ โรดส์ยังสนับสนุนการปกครองตนเองที่มากขึ้นสำหรับอาณานิคมแหลม ซึ่งสอดคล้องกับความชอบของเขาที่ต้องการให้จักรวรรดิอยู่ภายใต้การควบคุมของผู้ตั้งถิ่นฐานและนักการเมืองในท้องถิ่นมากกว่าการควบคุมจากลอนดอน

นักวิชาการและนักเขียนชาวซิมบับเว ปีเตอร์ ก็อดวิน (Peter Godwin) ซึ่งมีท่าทีวิจารณ์โรดส์ ระบุว่าควรมองโรดส์ผ่านมุมมองทางวัฒนธรรมและสังคมในยุคของเขา โดยก็อดวินชี้ว่า "โรดส์ไม่ใช่ฮิตเลอร์แห่งคริสต์ศตวรรษที่ 19 เขาไม่ใช่ตัวประหลาดแต่เป็นคนในยุคสมัยของเขาเอง...โรดส์และผู้บุกเบิกผิวขาวในแอฟริกาใต้ประพฤติในลักษณะที่น่ารังเกียจตามมาตรฐานในปัจจุบัน แต่ไม่ได้แย่ไปกว่าผู้ตั้งถิ่นฐานผิวขาวในอเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ และออสเตรเลีย และในบางแง่มุมอาจจะดีกว่าด้วยซ้ำ เพราะการสังหารหมู่ชนพื้นเมืองในแอฟริกานั้นไม่สมบูรณ์เท่ากับในทวีปอื่น ๆ อดีตอาณานิคมแอฟริกาทั้งหมดในปัจจุบันปกครองโดยชนพื้นเมือง ซึ่งแตกต่างจากในอเมริกาและออสเตรเลียที่ชนพื้นเมืองส่วนใหญ่แทบถูกกำจัดหมดสิ้น"

ก็อดวินยังกล่าวเสริมว่า "โรดส์และกลุ่มพรรคพวกของเขาปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมและยึดถือคุณธรรม (หรือขาดมัน) ของยุคสมัยได้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งตามปรกติแล้ว ประวัติศาสตร์ก็มักดำเนินไปตามแรงดึงดูดของอำนาจที่เหนือกว่า"

สิ่งสืบเนื่อง

แก้
 
เหรียญเงิน 1 คราวน์เซาเทิร์นโรดีเชีย ซึ่งมีรูปสลักครึ่งตัวของเซซิล จอห์น โรดส์ นายกรัฐมนตรีอาณานิคมแหลม ผู้ทรงอิทธิพลในยุคอาณานิคม และผู้ที่ชื่อของเขาเป็นแรงบันดาลใจในการตั้งชื่อดินแดนเซาเทิร์นโรดีเชีย อยู่ในวงกลมตรงกลาง ด้านล่างมีโล่สามใบแทนดินแดนที่โรดส์มีบทบาทในการพัฒนา ได้แก่ (จากซ้ายไปขวา) นอร์เทิร์นโรดีเชีย, เซาเทิร์นโรดีเชีย, และนยาซาแลนด์ โดยมีหรีดสองข้างประดับด้วยแถบธงล้อมรอบโล่เหล่านี้

โรดส์ตกเป็นเป้าของเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยนักประวัติศาสตร์บางคนมองว่าเขาเป็นนักจักรวรรดินิยมที่ไร้ความปรานีและเป็นพวกที่เชื่อว่าคนผิวขาวนั้นสูงส่ง (white supremacist)[34] ในประเทศซิมบับเว หลุมศพของเขาที่ตั้งอยู่ในเนินเขามาโตโบยังคงเป็นประเด็นถกเถียงอย่างต่อเนื่อง ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2010 เคน มาเธมา (Cain Mathema) ผู้ว่าราชการเมืองบูลาวาโย ได้ประณามหลุมศพของโรดส์ว่าเป็น "การดูหมิ่นบรรพบุรุษชาวแอฟริกัน" และเชื่อว่าการมีอยู่ของหลุมศพนี้นำมาซึ่งโชคร้ายและสภาพอากาศที่ย่ำแย่ในภูมิภาคดังกล่าว[35]

ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2012 กลุ่มผู้ภักดีต่อรอเบิร์ต มูกาบี และนักเคลื่อนไหวของแนวร่วมรักชาติของสหภาพแห่งชาติแอฟริกันซิมบับเว (ZANU-PF) เดินทางไปยังที่ไว้ศพของโรดส์เพื่อขออนุญาตจากผู้นำท้องถิ่นในการขุดย้ายอัฐิของเขาเพื่อนำกลับไปยังอังกฤษ หลายฝ่ายมองว่านี่เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ทางการเมืองในช่วงก่อนการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม ผู้นำท้องถิ่นมาซูกู และกอดฟรีย์ มาฮาชี นักโบราณคดีผู้เชี่ยวชาญของประเทศ ได้คัดค้านแนวคิดการย้ายหลุมศพอย่างหนักแน่น โดยชี้ให้เห็นถึงความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของหลุมศพที่มีต่อประเทศซิมบับเว ในขณะเดียวกัน ประธานาธิบดีมูกาบีก็แสดงการคัดค้านแนวคิดดังกล่าวเช่นกัน[36] ใน ค.ศ. 2004 โรดส์ได้รับการจัดอันดับเป็นอันดับที่ 56 ในรายการโทรทัศน์เกรตเซาท์แอฟริกันส์ (Great South Africans) ของช่องเอสเอบีซี 3[37] นอกจากนี้ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งหนึ่งที่เมืองกเวรู ในภูมิภาคมิดแลนด์ของประเทศซิมบับเว ยังได้รับการตั้งชื่อตามเขา อย่างไรก็ตาม ในช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 2000 ระหว่างช่วงที่การปฏิรูปที่ดินและความตึงเครียดทางเชื้อชาติกำลังรุนแรง นักการเมืองของแนวร่วมรักชาติได้เรียกร้องให้มีการเปลี่ยนชื่อโรงเรียนทั่วประเทศที่เกี่ยวข้องกับยุคอาณานิคม แต่ความพยายามดังกล่าวส่วนใหญ่ไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่าเรื่องนี้ไม่จำเป็น ทั้งยังมองว่าชื่อสถานที่ที่พวกเขาอาศัยอยู่สะท้อนถึงอัตลักษณ์และมรดกทางวัฒนธรรมอันหลากหลายของประเทศ ขณะเดียวกันก็เรียกร้องให้รัฐบาลยอมรับประวัติศาสตร์ของประเทศและเปิดโอกาสให้ตั้งชื่อใหม่สำหรับสถานที่ใหม่ ๆ ในเมืองที่กำลังขยายตัว

ในพินัยกรรมฉบับที่สองของเขา ซึ่งเขียนขึ้นในช่วงก่อนที่เขาจะมั่งคั่งใน ค.ศ. 1877 เขาได้แสดงความปรารถนาที่จะสร้างสมาคมลับซึ่งมีเป้าหมายเพื่อให้โลกทั้งใบอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ นักชีวประวัติของเขาอธิบายแนวคิดนี้ว่าเป็น "จินตนาการที่กว้างไกล"[38] โรดส์วาดฝันถึงสมาคมลับนี้เพื่อขยายอิทธิพลของอังกฤษไปทั่วโลก รวมถึงจีน ญี่ปุ่น แอฟริกา อเมริกาใต้ และแม้กระทั่งสหรัฐอเมริกา ดังที่ระบุไว้ว่า

เพื่อการก่อตั้ง ส่งเสริม และพัฒนาสมาคมลับ อันมีเป้าหมายแท้จริงในการขยายการปกครองของอังกฤษไปทั่วโลก เพื่อความสมบูรณ์แบบของระบบการย้ายถิ่นฐานจากสหราชอาณาจักร และของการตั้งถิ่นฐานโดยชาวอังกฤษในทุกหนแห่งที่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยความพากเพียร การทำงาน และความมุ่งมั่น เพื่อการปรับปรุงระบบการย้ายถิ่นฐานจากสหราชอาณาจักร และการตั้งถิ่นฐานโดยชาวอังกฤษในทุกดินแดนที่สามารถดำรงชีวิตด้วยความพากเพียร การทำงาน และความมุ่งมั่น โดยเฉพาะการตั้งถิ่นฐานของชาวอังกฤษในทวีปแอฟริกาทั้งหมด แผ่นดินศักดิ์สิทธิ์ หุบเขาแม่น้ำยูเฟรทีส เกาะไซปรัสและครีต ทวีปอเมริกาใต้ หมู่เกาะแปซิฟิกที่ยังไม่ได้อยู่ในการครอบครองของอังกฤษ หมู่เกาะมาเลย์ ชายฝั่งของจีนและญี่ปุ่น รวมถึงการฟื้นฟูสหรัฐอเมริกาให้กลับมาเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิอังกฤษอย่างสมบูรณ์ เพื่อการริเริ่มระบบตัวแทนอาณานิคมในรัฐสภาแห่งจักรวรรดิ ซึ่งอาจนำไปสู่การเชื่อมโยงอาณานิคมที่แตกแยกให้เป็นหนึ่งเดียว และท้ายที่สุด เพื่อสร้างมหาอำนาจที่ยิ่งใหญ่จนสามารถทำให้สงครามหมดสิ้น และส่งเสริมผลประโยชน์ที่ดีที่สุดของมนุษยชาติ[39]

— เซซิล โรดส์

พินัยกรรมฉบับสุดท้ายของโรดส์ที่เขียนขึ้นในช่วงที่เขามั่งคั่งแล้วมีเป้าหมายที่เป็นจริงมากขึ้น โดยมุ่งเน้นไปที่การมอบทุนการศึกษา เขายังมอบที่ดินผืนใหญ่บนเชิงภูเขาโต๊ะให้แก่ประเทศแอฟริกาใต้ ส่วนหนึ่งของที่ดินนี้กลายเป็นวิทยาเขตส่วนบนของมหาวิทยาลัยเคปทาวน์ อีกส่วนหนึ่งกลายเป็นสวนพฤกษศาสตร์แห่งชาติเคิร์สเตนบอช และพื้นที่บางส่วนได้รับการอนุรักษ์ไว้จากการพัฒนา ซึ่งปัจจุบันเป็นเขตอนุรักษ์ที่สำคัญ[40] นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยโรดส์ในประเทศแอฟริกาใต้ก็ได้รับการตั้งชื่อตามเขาเช่นกัน

ทุนการศึกษาโรดส์

แก้
 
โรดส์เฮาส์ ณ เมืองออกซฟอร์ด ใน ค.ศ. 2004

ในพินัยกรรมฉบับสุดท้าย โรดส์ได้จัดตั้งทุนการศึกษาโรดส์ ซึ่งในช่วงครึ่งศตวรรษก่อนหน้านี้ ทางรัฐบาล มหาวิทยาลัย และบุคคลในอาณานิคมต่าง ๆ ได้เริ่มจัดตั้งทุนการศึกษาสำหรับการเดินทางในลักษณะนี้ ดังนั้นทุนของโรดส์จึงเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางที่มีอยู่แล้ว[41] ทุนนี้เปิดโอกาสให้นักศึกษาชายจากดินแดนภายใต้การปกครองของอังกฤษหรือที่เคยอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ รวมถึงเยอรมนี ได้เข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ซึ่งเป็นสถาบันที่โรดส์เคยศึกษา เป้าหมายของโรดส์คือการส่งเสริมภาวะผู้นำที่มีจิตสาธารณะและมีคุณธรรม รวมถึงการ "ทำให้สงครามเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้" โดยส่งเสริมมิตรภาพระหว่างมหาอำนาจ[42][43]

อนุสรณ์

แก้
 
อนุสรณ์สถานโรดส์ยอดเขาเดวิล (เคปทาวน์)
 
รูปปั้นโรดส์ในคิมเบอร์ลีย์

อนุสรณ์สถานโรดส์ ตั้งอยู่บนจุดที่โรดส์โปรดปรานบนยอดเดวิล เมืองเคปทาวน์ โดยหันหน้ามองไปทางทิศเหนือและตะวันออกสู่เส้นทางแหลมถึงไคโร ตั้งแต่ ค.ศ. 1910 ถึง ค.ศ. 1984 บ้านของโรดส์ในเคปทาวน์ที่ชื่อว่า Groote Schuur เคยเป็นที่พักอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีแอฟริกาใต้ และต่อมาใช้เป็นที่พำนักของประธานาธิบดี

บ้านเกิดของโรดส์ถูกจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ใน ค.ศ. 1938 ในชื่อ "พิพิธภัณฑ์อนุสรณ์โรดส์" ซึ่งปัจจุบันรู้จักกันในชื่อ พิพิธภัณฑ์บิชอปส์สตอร์ตฟอร์ด (Bishops Stortford Museum) ส่วนกระท่อมในมิวเซนเบิร์ก (Muizenberg) ที่เขาถึงแก่กรรมนั้นเป็นแหล่งมรดกประจำจังหวัดเวสเทิร์นเคป ปัจจุบันกระท่อมดังกล่าวเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ภายใต้การดูแลของสมาคมอนุรักษ์ประวัติศาสตร์มิวเซนเบิร์ก และเปิดให้ประชาชนเข้าชมได้ ภายในจัดแสดงสิ่งของที่เกี่ยวข้องกับโรดส์มากมาย รวมถึงโต๊ะประชุมเดิมของบริษัทเดอเบียร์ส ซึ่งใช้ในการซื้อขายเพชรมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์[ต้องการอ้างอิง]

วิทยาลัยอุดมศึกษาโรดส์ หรือปัจจุบัน คือ มหาวิทยาลัยโรดส์ ที่ตั้งอยู่ในเมืองเกรแฮมส์ทาวน์ ก่อตั้งขึ้นตามชื่อของเขาโดยผู้จัดการทรัพย์สิน และก่อตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติรัฐสภาเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม ค.ศ. 1904

พลเมืองคิมเบอร์ลีย์ จังหวัดนอร์เทิร์นเคป เลือกสร้างอนุสรณ์สถานเพื่อเชิดชูเกียรติของโรดส์ในเมืองของพวกเขา อนุสรณ์นี้เปิดตัวใน ค.ศ. 1907 โดยเป็นรูปปั้นทองสัมฤทธิ์น้ำหนัก 72 ตัน แสดงภาพโรดส์ขี่ม้า หันหน้าไปทางทิศเหนือ ถือแผนที่ในมือ และแต่งกายเหมือนเมื่อครั้งเขาพบกับชาวอึงเดเบเลหลังการกบฏ[44]

เซซิล จอห์น โรดส์ ผู้ก่อตั้งประเทศโรดีเชีย (ปัจจุบันคือประเทศซิมบับเว) ได้เยือนเมืองนยังกา (Nyanga) บริเวณที่สูงทางตะวันออกของประเทศครั้งแรกใน ค.ศ. 1897 เขาประทับใจกับความงดงามของพื้นที่ และซื้อที่ดินรวม 40,000 เฮกตาร์ จากนั้นได้นำเข้าปศุสัตว์จากโมซัมบิกและพัฒนาแปลงปลูกแอปเปิลและผลไม้อย่างกว้างขวาง เมื่อเขาถึงแก่อสัญกรรมใน ค.ศ. 1902 โรดส์ได้มอบที่ดินส่วนใหญ่ให้แก่ประเทศชาติ ที่ดินเหล่านี้ปัจจุบันกลายเป็นอุทยานแห่งชาตินยังกา (Nyanga National Park) บ้านไร่ดั้งเดิมของโรดส์ได้รับการอนุรักษ์ไว้อย่างดีเยี่ยมและปัจจุบันกลายเป็นโรงแรมโรดส์นยังกา (Rhodes Nyanga Hotel)

การต่อต้าน

แก้
 
รูปปั้นครึ่งตัวที่จมูกเสียหายในอนุสรณ์สถานโรดส์ เมืองเคปทาวน์

การสร้างอนุสรณ์แด่โรดส์ถูกต่อต้านตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1950 โดยมีนักศึกษาชาวแอฟริกันบางกลุ่มเรียกร้องให้ถอดรูปปั้นของโรดส์ออกจากมหาวิทยาลัยเคปทาวน์[45] ใน ค.ศ. 2015 ขบวนการที่เรียกว่า "โรดส์มัสต์ฟอลล์" (หรือ #RhodesMustFall ในโซเชียลมีเดีย) เริ่มต้นขึ้นจากการประท้วงของนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยเคปทาวน์ ซึ่งประสบความสำเร็จในการผลักดันให้ทางมหาวิทยาลัยถอดรูปปั้นโรดส์ออกจากบริเวณมหาวิทยาลัย[46] การประท้วงนี้ยังมีเป้าหมายที่กว้างขึ้นในการเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างด้านเชื้อชาติในสถาบันต่าง ๆ ของแอฟริกาใต้หลังยุคการถือผิว[47]

หลังจากการประท้วงและการทำลายรูปปั้นในมหาวิทยาลัยเคปทาวน์ การเคลื่อนไหวที่ต่อต้านอนุสรณ์สถานของโรดส์ก็ได้ขยายไปยังประเทศอื่น ๆ รวมถึงการรณรงค์เปลี่ยนชื่อมหาวิทยาลัยโรดส์[48] และเรียกร้องให้ถอดรูปปั้นโรดส์ออกจากวิทยาลัยโอเรียล มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด[49] การเคลื่อนไหวดังกล่าวได้รับการกล่าวถึงในสารคดีของแชนแนลโฟร์ในชื่อ "The Battle for Britain’s Heroes"[50] ซึ่งจัดทำขึ้นหลังจากอาฟัว เฮิร์ช (Afua Hirsch) เขียนบทความเกี่ยวกับหัวข้อนี้ นอกจากนี้ อามิต ชัวธูรี (Amit Chaudhuri) ยังได้เขียนบทความในหนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียน โดยระบุว่าการวิจารณ์โรดส์เป็นสิ่งที่ "ไม่น่าแปลกใจและล่าช้ามานาน"[51] ขณะที่เคฮินเด แอนดรูว์ (Kehinde Andrews) นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาของคนผิวดำ ได้สนับสนุนการเคลื่อนไหว #RhodesMustFall อย่างแข็งขัน[52] อย่างไรก็ตาม ใน ค.ศ. 2016 วิทยาลัยโอเรียลเลือกที่จะเก็บรูปปั้นของโรดส์ไว้[53] โดยอ้างว่าการถอดรูปปั้นอาจทำให้สูญเสียเงินบริจาคกว่า 100 ล้านปอนด์[54] แต่ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2020 วิทยาลัยได้ลงมติสนับสนุนการจัดตั้งคณะกรรมการสอบสวนอิสระ ท่ามกลางการสนับสนุนอย่างกว้างขวางสําหรับการถอดรูปปั้น[55] รูปปั้นของโรดส์ถูกสร้างขึ้นในเมืองบูลาวาโยใน ค.ศ. 1904 ในใจกลางเมือง โดยหลังจาก ค.ศ. 1981 หลังจากประเทศได้รับเอกราช รูปปั้นถูกย้ายไปยังสวนร้อยปีที่พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติซิมบับเว

สารานุกรมบริแทนนิกากล่าวถึงสิ่งสืบเนื่องของโรดส์ไว้ว่า "เขาเคยกล่าวว่านโยบายของเขาคือ 'สิทธิที่เท่าเทียมกันสำหรับคนผิวขาวทุกคนทางตอนใต้ของแม่น้ำแซมบีซี' และต่อมาแก้ไขเป็น 'คนที่มีอารยะ' ภายใต้แรงกดดันจากกลุ่มเสรีนิยม แต่สำหรับโรดส์ ความเป็นไปได้ที่ชาวแอฟริกันพื้นเมืองจะถูกมองว่า 'มีอารยะ' นั้นช่างห่างไกลจนคำสองคำนี้แทบจะมีความหมายเดียวกันในมุมมองของเขา"[56]

มรดกของโรดส์ส่วนหนึ่ง หลังจากที่เขาเสียชีวิต เขาได้ทิ้งเงินจำนวนมากเพื่อสนับสนุนนักศึกษาที่มีความสามารถ ("เชื้อชาติ" ไม่ใช่เกณฑ์ในการคัดเลือก) ให้ศึกษาในมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด โดยปัจจุบันมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดมีนักศึกษาจากแอฟริกาใต้และซิมบับเวที่ได้รับทุนจากมรดกนี้บางส่วนออกมาเรียกร้องให้ถอดรูปปั้นของโรดส์ในออกซฟอร์ด เมื่อถูกถามถึงความย้อนแย้งในเรื่องการรับทุนจากมูลนิธิของโรดส์และการได้รับประโยชน์จากโอกาสนั้น ขณะเดียวกันก็ตั้งคำถามต่อมรดกของเขา นักเคลื่อนไหวชาวแอฟริกาใต้คนหนึ่งชื่อ Ntokozo Qwabe ตอบว่า "ทุนการศึกษานี้ไม่ได้ซื้อความเงียบของเรา...ไม่มีความย้อนแย้งในการเป็นผู้รับทุนโรดส์และการวิจารณ์มรดกของเซซิล โรดส์ต่อสาธารณะ...ไม่มีข้อกำหนดใดที่บังคับให้เราต้องค้นหาด้าน 'ดี' ในตัวโรดส์ หรือทำให้วาระอาณานิคมและจักรวรรดิของเขาดูขาวสะอาด"[57]

ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2020 ท่ามกลางบริบทที่กว้างขึ้นของการประท้วงแบล็กไลฟส์แมตเทอร์ ทางคณะผู้บริหารของวิทยาลัยโอเรียลจึงลงมติให้ถอดรูปปั้นของโรดส์ที่ตั้งอยู่บนด้านหน้าของวิทยาลัยซึ่งหันหน้าไปทางไฮสตรีทในออกซฟอร์ด[58] อย่างไรก็ตาม การถอดรูปปั้นจะยังไม่เกิดขึ้นจนกว่าจะถึงช่วงต้นฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. 2021 เมื่อคณะกรรมการที่จัดตั้งขึ้นโดยวิทยาลัยส่งรายงานเกี่ยวกับอนาคตของรูปปั้นดังกล่าว[59] ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2021 คณะกรรมการรายงานว่า แม้ว่าสมาชิกส่วนใหญ่จะสนับสนุนการถอดรูปปั้น แต่ต้นทุนในการดำเนินการที่สูงเกินไปทำให้วิทยาลัยตัดสินใจที่จะไม่ดำเนินการต่อ[60]

เชิงอรรถ

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 Pinney 1995, p. 72.
  2. The Times & 27 March 1902.
  3. Sanger, Clyde William; Ingham, Kenneth (2024-11-29). "British, South Africa, Company". Encyclopedia Britannica. สืบค้นเมื่อ 2024-12-01.
  4. Rotberg 1988, p. 128.
  5. Dowden, Richard (17 April 1994). "Apartheid: made in Britain: Richard Dowden explains how Churchill, Rhodes and Smuts caused black South Africans to lose their rights". The Independent. London. สืบค้นเมื่อ 15 January 2016.
  6. History of South Africa Timeline (1485–1975) เก็บถาวร 13 กันยายน 2011 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  7. Maylam, Paul (14 January 2016). "What Cecil John Rhodes said in his will about who should get scholarships". The Conversation (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2022-03-13.
  8. "'Colonialism had never really ended': my life in the shadow of Cecil Rhodes". the Guardian (ภาษาอังกฤษ). 2021-01-14. สืบค้นเมื่อ 2022-03-13.
  9. "Cecil Rhodes was a racist, but you can't readily expunge him from history | Will Hutton". the Guardian (ภาษาอังกฤษ). 2015-12-20. สืบค้นเมื่อ 2022-03-13.
  10. Koutonin, Mawuna (2016-08-18). "Lost cities #9: racism and ruins – the plundering of Great Zimbabwe". the Guardian (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2022-03-13.
  11. 11.0 11.1 อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ sahistory.org.za
  12. Davies, Andrew John (14 August 1995). "site unseen : Netteswell House, Bishop's Stortford". The Independent (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 26 February 2021.
  13. "The Rhodes Settled Estates". The National Archives.
  14. "Papers of the Rhodes Family (Hildersham Hall collection)". bodley.ox.ac.uk. สืบค้นเมื่อ 4 August 2019.
  15. Rhodes 1902, p. 58.
  16. Bell 2022, p. 131.
  17. Parry 1983.
  18. Rotberg 1988, p. 150.
  19. Biggar 2016.
  20. 20.0 20.1 Flint 2009.
  21. 21.0 21.1 Magubane 1996, p. 109.
  22. Castle 2016.
  23. Mnyanda, Siya (25 March 2015). "'Cecil Rhodes' colonial legacy must fall – not his statue'". The Guardian. London. สืบค้นเมื่อ 15 January 2016.
  24. Karen Attiah (25 November 2015). "Woodrow Wilson and Cecil Rhodes must fall". The Washington Post. Washington, D.C. สืบค้นเมื่อ 15 January 2016.
  25. Plaut, Martin (16 April 2015). "From Cecil Rhodes to Mahatma Gandhi: why is South Africa tearing its statues down?". New Statesman. London. สืบค้นเมื่อ 15 January 2016.
  26. Magubane 1996, p. 108.
  27. Phillip, Riley (2007). Language, Culture and Identity: An Ethnolinguistic Perspective. Bloomsbury Academic. p. 29.
  28. Robert I., Rotberg; Shore, Miles F. (1990). The Founder Cecil Rhodes and the Pursuit of Power. Oxford University Press. p. 100.
  29. Mensing 1986, pp. 99–106.
  30. Moyse, Ashley (2016). "The Controversial Legacy of Cecil Rhodes". McDonald Centre.
  31. Biggar, Nigel (12 August 2021). "Cecil Rhodes and the Abuse of History". History Reclaimed (ภาษาอังกฤษแบบบริติช).
  32. McCracken 2003, pp. 22–24.
  33. Rotberg 1988, pp. 131–33.
  34. Maylam 2005, p. 6.
  35. Kenrick, David (2019). Decolonisation, Identity and Nation in Rhodesia, 1964–1979: a race against time. Springer. ISBN 978-3-030-32697-5.
  36. Laing 2012.
  37. Blair 2004.
  38. Rotberg 1988, p. 102.
  39. Michael Howard, The Lessons of History (1992) p. 66.
  40. Rotberg 1988, pp. 663–69.
  41. Pietsch 2011, pp. 723–39.
  42. Rhodes 1902, pp. 23–45.
  43. Philip Ziegler, Legacy: Cecil Rhodes, the Rhodes Trust and Rhodes Scholarships (Yale UP, 2008) online review
  44. Maylam 2005, p. 56.
  45. Masondo, Sipho (22 March 2015). "Rhodes: As divisive in death as in life". News24. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 February 2016. สืบค้นเมื่อ 20 January 2016.
  46. "Op-Ed: Rhodes statue removed from uct". The Rand Daily Mail. Johannesburg: Times Media Group. 9 April 2015. สืบค้นเมื่อ 10 April 2015.
  47. Grootes, Stephen (6 April 2015). "Op-Ed: Say it aloud – Rhodes must fall". Daily Maverick. สืบค้นเมื่อ 7 April 2015.
  48. Ispas, Mara. "Rhodes Uni Council approves plans for name change". SA Breaking News. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 10 July 2018. สืบค้นเมื่อ 1 June 2015.
  49. Hind, Hassan (12 July 2015). "Oxford Students Want 'Racist' Statue Removed". Sky News. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 16 January 2017. สืบค้นเมื่อ 13 July 2015.
  50. O'Grady, Sean (29 March 2019). "TV Review: The Battle for Britain's Heroes (Channel 4)". The Independent (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2 April 2019.
  51. Chaudhuri, Amit (16 March 2016). "The real meaning of Rhodes Must Fall". The Guardian (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). ISSN 0261-3077. สืบค้นเมื่อ 2 April 2019.
  52. "The Real Cecil Rhodes". New Politic. 19 November 2021. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 20 February 2022. สืบค้นเมื่อ 20 February 2022.
  53. Scott, Peter (2 February 2016). "Oxford students' fight to topple Cecil Rhodes statue was the easy option". The Guardian.
  54. Rawlinson, Kevin (28 January 2016). "Cecil Rhodes statue to remain at Oxford after 'overwhelming support'". The Guardian.
  55. Mohdin, Aamna; Adams, Richard; Quinn, and Ben (17 June 2020). "Oxford college backs removal of Cecil Rhodes statue". The Guardian (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). ISSN 0261-3077. สืบค้นเมื่อ 17 June 2020.
  56. Encyclopaedia Britannica Effects Of The Jameson Raid On Rhodes’s Career
  57. "Cecil Rhodes statue row: Chris Patten tells students to embrace freedom of thought". The Guardian (ภาษาอังกฤษ). 13 January 2016. สืบค้นเมื่อ 17 June 2020.
  58. Shakib, Delara; Linda Givetash (18 June 2020). "Rhodes will fall: Oxford University to remove statue amid anti-racism calls". NBC News. สืบค้นเมื่อ 7 July 2020.
  59. Race, Michael (5 January 2021). "Decision over future of Oxford's Cecil Rhodes statue delayed". BBC News. สืบค้นเมื่อ 27 April 2021.
  60. Race, Michael (20 May 2021). "Removal of Oxford's Cecil Rhodes statue on hold over costs". BBC News. สืบค้นเมื่อ 20 May 2021.

แหล่งข้อมูล

แก้

บทความ

แก้

สารานุกรม

แก้

บทความวารสาร

แก้

บทความหนังสือพิมพ์

แก้

เว็บไซต์

แก้

แหล่งข้อมูลปฐมภูมิ

แก้

ประวัติศาสตร์นิพนธ์และความทรงจำ

แก้

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้