ชาวไทพวน

(เปลี่ยนทางจาก ไทยพวน)

ไทพวน หรือ ลาวพวน เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ไท ใช้ภาษาพวน ซึ่งเป็นตระกูลภาษาขร้า-ไท อาศัยอยู่ในหลายจังหวัดของประเทศไทย เดิมอาศัยอยู่ในประเทศลาว

ชาวไทพวน
ພວນ, พวน
ประชากรทั้งหมด
306,000 (คน)
ภูมิภาคที่มีประชากรอย่างมีนัยสำคัญ
 ไทย200,000
 ลาว100,000
 กัมพูชา5,000
ภาษา
พวน, ไทย, ลาว, อีสาน
ศาสนา
พุทธ

ประวัติ

แก้

พวน (Phuen, Puen) เป็นคำที่เรียกกลุ่มชนที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในแคว้นเชียงขวางหรือบริเวณที่ราบสูง ในประเทศสาธารณรัฐธิปไตยประชาชนลาว มีอาณาเขตติดต่อกับญวน ได้ชื่อว่าพวน เพราะเชียงขวางมีแม่น้ำสายสำคัญไหลผ่านพื้นที่ ชื่อแม่น้ำพวน ชาวพวนนิยมตั้งถิ่นฐานสร้างที่ทำกิน บริเวณลุ่มแม่น้ำ ด้วยมีอาชีพเกษตรกรรม ทำไร่ไถนา

ชาวพวนได้อพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทยหลายครั้งด้วยกัน คือ สมัยกรุงธนบุรีตอนปลาย สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในครั้งที่ไทยยกทัพไปปราบฮ่อ เมื่ออพยพมาอยู่ในประเทศไทย จึงเลือกสถานที่สร้างบ้านเรือนอยู่ตามแม่น้ำลำคลอง สังเกตได้จากชาวไทยพวนอำเภอปากพลี จะสร้างบ้านอยู่ตามลำคลองตลอดแนว ตั้งแต่ตำบลหนองแสง ตำบลเกาะหวาย ตำบลเกาะโพธิ์ จนถึงตำบลท่าเรือ เป็นต้น ที่อำเภอเมืองนครนายก จะมีชาวไทพวนอาศัยอยู่ที่ตำบลสาริกาและตำบลเขาพระชาวไทพวนในจังหวัดนครนายก เชื่อกันว่า อพยพเข้ามาในสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ประมาณ ปี พ.ศ. 2322 เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงโปรดเกล้าให้ สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ยกทัพไปตีเมืองเวียงจันทน์และหัวเมืองต่าง ๆ ซึ่งมีชื่อเรียกรวมกันว่า หัวพันทั้งห้าทั้งหก ประกอบด้วย เมืองคำม่วน เมืองคำเกิด เมืองเวียงไชย เมืองไพศาลลี เมืองซำเหนือ และเมืองเชียงขวาง ได้กวาดต้อนเอาลาวเวียง (ลาวเวียงจันทน์) ลาวพวนและไทดำ (ปัจจุบันนิยมเรียกว่าไทยทรงดำ หรือ ลาวโซ่ง) มาไว้ที่เมืองร้าง (เพราะถูกพม่ากวาดต้อนราษฎรไปตั้งแต่สมัยกรุงศรัอยุธยาเสียแก่พม่า เมื่อ พ.ศ. 2310) เช่นเมืองสระบุรี ลพบุรี นครนายก และฉะเชิงเทรา ระยะที่สอง ในราวปี พ.ศ. 2335 สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เมืองแถงและเมืองพวนแข็งข้อต่อเมืองเวียงจันทน์ เจ้าเมืองเวียงจันทน์จึงได้ยกทัพไปปราบ และกวาดต้อนครอบครัวไทดำและลาวพวนส่งมากรุงเทพฯ ลาวทรงดำถูกส่งไปอยู่ที่เพชรบุรี ลาวพวนถูกส่งมาที่เมืองลพบุรี สระบุรี นครนายก ฉะเชิงเทรา ราชบุรีและจันทบุรี ด้วย

ระยะที่สาม ในราวปี พ.ศ. 2370 เจ้าอนุวงศ์เมืองเวียงจันทน์ ก่อกบฏต่อกรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าให้พระยาราชสุภาวดี(เจ้าพระยาบดินทรเดชา) เป็นแม่ทัพ ขึ้นไปปราบกบฏ และได้กวาดต้อนครอบครัวลาวพวนมาไว้ที่อำเภอกบินทร์บุรี อำเภอประจันตคาม จังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดสระแก้ว จังหวัดลพบุรี และจังหวัดพิจิตร เป็นต้น ชาวไทยพวน มีอุปนิสัยยิ้มแย้มแจ่มใส โอบอ้อมอารี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และรักสงบ ยึดมั่นใน ขนบธรรมเนียมประเพณี มีวัฒนธรรม มีภาษา มีความผูกพันในระบบเครือญาติ เผ่าพันธุ์ เป็นเอกลักษณ์ของตนเองมาช้านาน ชาวไทพวนจะพูดได้ทั้งภาษาไทยกลาง และภาษาไทพวน โดยจะใช้ภาษาไทยกลางพูดกับคนต่างถิ่น แต่จะพูดภาษาไทพวนกับกลุ่มชนเดียวกัน ภาษาพูดของไทยพวนมีสำเนียงไพเราะ ซึ่งจะแตกต่างจากภาษาพูดของลาวเวียง ที่มีสำเนียงสั้น ๆ ห้วน ๆ

ตัวอย่างคำ[1][2][3]

แก้
ภาษาพวน ภาษาลาว ภาษาไทย ภาษาอีสาน
1 ฮะ ฮัก รัก ฮัก
2 หัวเจอ หัวใจ หัวใจ หัวใจ
3 เผอ ใผ ใคร ใผ
4 ไปกะเลอ/ไปเก๋อ ไปใส ไปไหน ไปใส
5 โบ่ง/ซ้อน บ่วง ช้อน บ่วง/ส้อน
6 เห้อ ให้ ให้ ให้
7 เจ้าเป็นไทบ้านเลอ [4] เจ้าเป็นไทบ้านใด คุณเป็นคนบ้านไหน เจ้าเป็นคนบ้านใด
8 เอ็ดผิเลอ/เอ็ดหังก้อ เฮ็ดหยัง ทำอะไร เฮ็ดอีหยัง
9 ไปแท้บ่ ไปอีหลีบ่ ไปจริง ๆ หรือ ไปอีหลีบ่
10 เจ๊าแม่นเผอ เจ้าแม่นใผ คุณเป็นใคร เจ้าเป็นใผ
11 ป่องเอี๊ยม ป่องเยี้ยม หน้าต่าง หน้าต่าง
12 มันอยู่กะเลอบุ๊ มันอยู่ใสบ่ฮู้ มันอยู่ไหนไม่รู้ มันอยู่ใสบ่ฮู้
13 ไปนำกันบ๊อ ไปนำกันบ่ ไปด้วยกันไหม ไปด้วยกันบ่
14 มากันหลายหน่อล้า มากันหลายคือกันน้อ มากันเยอะเหมือนกันนะ มากันหลายคือกันน้อ
15 มากี๊ท้อ มานี้แด่ มานี่เถอะ มานี้เด้
16 บ๊าแฮ้ง อี่แฮ้ง อีแร้ง อีแฮ้ง
17 บ๊าจ๊อน กะฮอก กระรอก กระฮอก
18 หม่าทัน หมากกะทัน พุทรา บักทัน
19 หน้าแด่น หน้าผาก หน้าผาก หน้าผาก
20 หม่ามี้ หมากมี่ ขนุน บักมี่

ถิ่นอาศัยในประเทศไทย

แก้
  1. สุโขทัย ( อำเภอศรีสัชนาลัย ต.หาดเสี้ยว )
  2. สระบุรี ( อำเภอหนองโดน อำเภอดอนพุด อำเภอวิหารแดง)
  3. นครนายก ( อำเภอปากพลี อำเภอบ้านนา)
  4. บึงกาฬ (อำเภอเมืองบึงกาฬ, อำเภอพรเจริญ, อำเภอโซ่พิสัย, อำเภอเซกา, อำเภอปากคาด, อำเภอบึงโขงหลง, อำเภอศรีวิไล, อำเภอบุ่งคล้า)
  5. ปราจีนบุรี (อำเภอศรีมหาโพธิ อำเภอศรีมโหสถ อำเภอบ้านสร้าง อำเภอกบินทร์บุรี )
  6. ฉะเชิงเทรา ( อำเภอพนมสารคาม, อำเภอสนามชัยเขต)
  7. ลพบุรี (อ.เมืองลพบุรี, บ.น้ำจั้น ต.เขาสามยอด ต.โคกกระเทียม ต.ถนนใหญ่/ อำเภอบ้านหมี่, ต.โพนทอง ต.เชียงงา ต.สายห้วยแก้ว ต.บ้านกล้วย ต.บ้านทราย ต.หินปัก ต.หนองทรายขาว/ อำเภอโคกสำโรง ต.หลุมข้าว)
  8. ราชบุรี
  9. เพชรบุรี ( อำเภอเขาย้อย อำเภอท่ายาง )
  10. น่าน (บ้านฝายมูล อ.ท่าวังผา,บ้านหลับมืนพรวน อ.เวียงสา)
  11. แพร่ (ต.ทุ่งโฮ้ง อ.เมืองแพร่)
  12. สิงห์บุรี (หมู่ที่ 3 ต.บางน้ำเชี่ยว อ.พรหมบุรี)
  13. พิจิตร (อำเภอทับคล้อ อำเภอบางมูลนาค บ้านป่าแดง อ.ตะพานหิน)
  14. สุพรรณบุรี (บ้านดอนหนามแดง , บ้านไผ่เดี่ยว , รางบัว ต.วัดโบสถ์ อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี)
  15. อุดรธานี (ตำบลกลางใหญ่ ตำบลคำด้วง อำเภอบ้านผือ ,ตำบลบ้านเชียง อ.หนองหาน)
  16. อุตรดิตถ์ (บ้านปากฝาง อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์)
  17. หนองคาย (บ้านดงบัง บ้านกุดบง อ. โพนพิสัย ,บ้านกวดโคกสว่าง ต.นาข่า,บ้านทุ่ม บ้านฝาง ต.น้ำโมง อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย,บ้านโพธิ์ตาก อำเภอโพธิ์ตาก,บ้านหม้อ อ.ศรีเชียงใหม่ )
  18. พะเยา (บ้านห้วยกั้น อำเภอจุน)
  19. เชียงราย( บ้านป่าก๋อย อำเภอแม่สาย บ้านศรีดอนมูล บ้านป่าสักน้อย อำเภอเชียงแสน ตำบลศรีดอนชัย อำเภอเทิง)
  20. ชลบุรี (อำเภอพนัสนิคม)
  21. นครสวรรค์ ( ต.ช่องแค ต.ลาดทิพยรส อำเภอตาคลี อำเภอชุมแสง อำเภอไพศาลี อำเภอตากฟ้า)
  22. อุทัยธานี (อำเภอทัพทัน)
  23. กาญจนบุรี (บางหมู่บ้านในอำเภอพนมทวน)
  24. เพชรบูรณ์ (บ้านดงขุย อำเภอชนแดน อำเภอหนองไผ่ , ตำบลสระกรวด อำเภอศรีเทพ)
  25. เชียงใหม่ (บ้านน้ำจำ อำเภอสันกำแพง)
  26. เลย (บ้านกลาง ตำบลปากตม อำเภอเชียงคาน)

อ้างอิง

แก้
  1. :: ประเพณี-วิถีชีวิต :: ไทยพวน[ลิงก์เสีย]
  2. "ชนชาติไทยพวน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-12-16. สืบค้นเมื่อ 2015-03-01.
  3. "วัฒนธรรมไทยพวนบ้านหาดเสี้ยว". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-02-21. สืบค้นเมื่อ 2015-03-01.
  4. "ชาวพวนในภาคกลางและประเทศไทย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-12-28. สืบค้นเมื่อ 2015-03-01.