ไขแสง สุกใส
ไขแสง สุกใส (10 กันยายน พ.ศ. 2472 - 20 มีนาคม พ.ศ. 2543) เป็นอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครพนม 3 สมัย อดีตคนเดือนตุลา เจ้าของวลีการเมือง "คิดอะไรคิดเถิด อย่าคิดคด คดอะไรคดเถิด อย่าคดมิตร"[1] และอดีตรองหัวหน้าพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย
ไขแสง สุกใส | |
---|---|
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 10 กันยายน พ.ศ. 2472 อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ประเทศไทย |
เสียชีวิต | 20 มีนาคม พ.ศ. 2543 (69 ปี) |
พรรคการเมือง | พรรคประชาชน |
ประวัติ
แก้ไขแสง สุกใส เกิดที่อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2472 บิดาชื่อทิม สุกใส บิดามีอาชีพเป็นทนาย สืบเชื้อสายเจ้าราชบุตร มารดาชื่อแพงพันธ์ (สกุลเดิม ชัยนาม) ไขแสง เริ่มทำงานการเมืองเมื่ออายุได้ 22 ปี ในปี พ.ศ. 2493 เขาได้รับเลือกเข้าเป็นสมาชิกสภาเทศบาลเมืองนครพนม จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2497 เขาถูกจับในข้อหากบฏภายในภายนอกราชอาณาจักร และมีการกระทำเป็นคอมมิวนิสต์ ติดคุกด้วยคดีการเมืองอยู่ประมาณ 3 ปี เพราะในปี 2500 รัฐบาลจัดงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ จึงมีการนิรโทษกรรมนักโทษการเมือง
แต่อีกปีต่อมาหลังจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจซ้ำเป็นครั้งที่ 2 ที่เรียกว่า “ปฏิวัติ 20 ตุลาคม 2501” ได้มีการกวาดล้างนักการเมืองฝ่ายซ้าย ทำให้ไขแสงถูกจับเข้าคุกอีกครั้ง จนจอมพล สฤษดิ์ เสียชีวิตแล้วจึงได้ออกจากคุกในปี พ.ศ. 2508 สมัยรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร
ไขแสง เริ่มทำงานการเมืองระดับชาติ เมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2511 และจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2512 เขาได้ลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคประชาชน ของเลียง ไชยกาล
ในเหตุการณ์ 14 ตุลา เขาถูกกล่าวหาว่าอยู่เบื้องหลังการแจกใบปลิวเรียกร้องรัฐธรรมนูญตามสถานที่ต่าง ๆ ในกรุงเทพมหานคร เช่น ประตูน้ำ สยามสแควร์ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ โดยอ้างถึงใจความในพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ส่งถึงรัฐบาลเกี่ยวกับสาเหตุที่ทรงสละราชสมบัติ[2] โดยบุคคลทั้ง 13 ที่ถูกจับกุม ถูกเรียกขานว่าเป็น "13 ขบถรัฐธรรมนูญ"[3] เหตุการณ์เหล่านี้สร้างความไม่พอใจครั้งใหญ่แก่มวลนักศึกษาและประชาชนอย่างมาก นำไปสู่การชุมนุมใหญ่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
การเมืองหลังเหตุการณ์ “14 ตุลาคม 2516” นักการเมืองรวมตัวกันตั้งพรรคการเมืองใหม่ ทั้งพรรคฝ่ายซ้ายและพรรคฝ่ายขวา ไขแสงได้เข้าร่วมกับพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทยและได้เป็น “รองประธานพรรค” หรือตำแหน่งรองหัวหน้าพรรค[4] ตามกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมือง เขาลงเลือกตั้งอีกที่จังหวัดนครพนมและชนะเลือกตั้ง แต่เมื่อเหตุการณ์ร้ายแรง “6 ตุลาคม 2519” เกิดขึ้น ไขแสงก็เหมือนนักการเมืองและนักศึกษาที่ถูกหมายหัวหลายคนที่ต้องหลบเข้าป่า เข้าป่าคราวนี้ ไขแสงได้แต่งงานกับสตรีร่วมอุดมการณ์ คือ บุดดา กันยาเหมา ในปี 2520 ต่อมาไขแสงได้ออกจากป่าและลี้ภัยไปอยู่จีน และเดินทางกลับไทย ในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2529 ไขแสงยังกลับมาลงเลือกตั้งในนามพรรคประชาธิปัตย์และชนะเลือกตั้งที่นครพนม ต่อมาเขาและสมาชิกกลุ่ม 10 มกรา[5] ได้ย้ายออกจากพรรคประชาธิปัตย์และตั้งพรรคประชาชน แต่ในการเลือกตั้งครั้งต่อมาในปี พ.ศ. 2531 เขาแพ้ จากนั้นเขาจึงยุติบทบาททางการเมืองก่อนเกษียณอายุ
ไขแสง ถึงแก่กรรมในวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2543
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
แก้- พ.ศ. 2529 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ 2 ทวีติยาภรณ์มงกุฎไทย (ท.ม.)[6]
- พ.ศ. 2518 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 3 ตริตาภรณ์ช้างเผือก (ต.ช.)[7]
อ้างอิง
แก้- ↑ 'จาตุรนต์' ชี้ การเมืองไทยย้อนยุคตามแผน คสช.-'วีระกานต์'ลั่น กกต. ต้องติดคุก
- ↑ บันทึกเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516
- ↑ บันทึกความทรงจำ 14 ตุลา
- ↑ ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การจัดตั้งพรรคการเมือง เก็บถาวร 2011-11-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนราชกิจจานุเบกษา เล่ม 92 ตอนที่ 193 วันที่ 18 กันยายน 2517
- ↑ บทเรียนสอนไม่จำ 32ปี กลุ่ม "10 มกรา" คนประชาธิปัตย์ ซ้ำรอยเสี้ยมกันเอง
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๑๐๓ ตอนที่ ๒๑๔ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๒, ๓ ธันวาคม ๒๕๒๙
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๙๒ ตอนที่ ๒๔ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๑๒๗๙, ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๙