เวทนา

(เปลี่ยนทางจาก โสมนัส)

เวทนา เป็นนามธรรมอย่างหนึ่งมีการกล่าวถึงในพระพุทธศาสนา หมายถึง การเสวยอารมณ์, ความรู้สึก

เวทนาขันธ์ เป็นองค์ประกอบหนึ่งของขันธ์ 5 (หรือ เบญจขันธ์ อันได้แก่ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์)

เวทนา สามารถจัดออกเป็นประเภทต่าง ๆ ได้หลายแบบ เช่น เวทนา 2, เวทนา 3, เวทนา 5 และ เวทนา 6

เวทนา 2

แก้

เวทนา 2 แบ่งการเสวยอารมณ์ ออกเป็นสองอย่าง คือ

  1. กายิกเวทนา หมายถึง เวทนาทางกาย การเสวยอารมณ์ทางกาย ความรู้สึกทางกาย
  2. เจตสิกเวทนา หมายถึง เวทนาทางใจ การเสวยอารมณ์ทางใจ ความรู้สึกทางใจ

เวทนา 3

แก้

เวทนา 3 แบ่งการเสวยอารมณ์ ความรู้สึก รสของอารมณ์ ออกเป็นสามอย่าง คือ

  1. สุขเวทนา หมายถึง ความรู้สึกสุข สบาย ทางกายก็ตาม ทางใจก็ตาม
  2. ทุกขเวทนา หมายถึง ความรู้สึกทุกข์ ไม่สบาย ทางกายก็ตาม ทางใจก็ตาม
  3. อทุกขมสุขเวทนา หมายถึง ความรู้สึกเฉย ๆ จะสุขก็ไม่ใช่ ทุกข์ก็ไม่ใช่ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อุเบกขาเวทนา

เวทนา 5

แก้

เวทนา 5 แบ่ง การเสวยอารมณ์ ออกเป็นห้าอย่าง คือ

  1. สุข หมายถึง ความสุข ความสบายทางกาย
  2. ทุกข์ หมายถึง ความทุกข์ ความไม่สบาย ความเจ็บปวดทางกาย
  3. โสมนัส หมายถึง ความแช่มชื่น ปลื้มใจ สุขใจ (อันเกิดจากสุขจึงเกิดโสมนัส)
  4. โทมนัส หมายถึง ความเสียใจ ความเศร้าโศก เศร้าหมอง ทุกข์ใจ (อันเกิดจากทุกข์จึงเกิดโทมนัส)
  5. อุเบกขา หมายถึง ความรู้สึกเฉย ๆ ไม่สุขไม่ทุกข์

เวทนา 6

แก้

เวทนา 6 แบ่ง การเสวยอารมณ์ ออกเป็นหกอย่าง คือ

  1. จักษุสัมผัสชา เวทนา หมายถึง เวทนาอันเกิดจากสัมผัสทางตา
  2. โสตสัมผัสชา เวทนา หมายถึง เวทนาอันเกิดจากสัมผัสทางหู
  3. ฆานสัมผัสชา เวทนา หมายถึง เวทนาอันเกิดจากสัมผัสทางจมูก
  4. ชิวหาสัมผัสชา เวทนา หมายถึง เวทนาอันเกิดจากสัมผัสทางลิ้น
  5. กายสัมผัสชา เวทนา หมายถึง เวทนาอันเกิดจากสัมผัสทางกาย
  6. มโนสัมผัสชา เวทนา หมายถึง เวทนาอันเกิดจากสัมผัสทางใจ

เวทนาเจตสิก

แก้

ในคัมภีร์พระอภิธรรม มีการกล่าวถึงเวทนา ในลักษณะที่เป็นเจตสิก (คือ ธรรมชาติที่อาศัยจิตเกิด) เรียกว่า เวทนาเจตสิก เป็นธรรมชาติที่เสวยอารมณ์ จำแนกเป็น เวทนา 3 และ เวทนา 5 (ดังบรรยายไปแล้วข้างต้น)

เวทนาตามหลักปฏิจจสมุปบาท

แก้
  • เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา...
  • เพราะผัสสะดับเวทนาจึงดับ เพราะเวทนาดับ ตัณหาจึงดับ...

เพราะผัสสะเป็นปัจจัย ย่อมเกิดความเสวยอารมณ์ เป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง มิใช่ทุกข์มิใช่สุขบ้าง

ผู้ที่รู้สึกสุขเวทนา ย่อมเพลิดเพลิน พูดถึง ดำรงอยู่ด้วยความติดใจ จึงมีราคานุสัยนอนเนื่องอยู่

ผู้ที่รู้สึกทุกขเวทนา ย่อมเศร้าโศก ลำบาก ร่ำไห้ คร่ำครวญทุ่มอก โกรธ หลง จึงมีปฏิฆานุสัยนอนเนื่องอยู่

ผู้ที่รู้สึกอทุกขมสุขเวทนา ย่อมไม่ทราบชัดความตั้งขึ้น ความดับไป คุณ โทษ และที่สลัดออกแห่งเวทนานั้น ตามความเป็นจริง จึงมีอวิชชานุสัยนอนเนื่องอยู่

ดูเพิ่ม

แก้

อ้างอิง

แก้