ผัสสะ ในทางพระพุทธศาสนา หมายถึง สัมผัส เจตสิกที่กระทบอารมณ์ การถูกต้องที่ให้เกิดความรู้สึก ผัสสะ เป็น ความประจวบกันแห่งสามสิ่ง คือ อายตนะภายใน (ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) อายตนะภายนอก (รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์) และวิญญาณ

ผัสสะ 6

แก้

สัมผัส หรือ ผัสสะ มีหกอย่าง คือ

  1. จักขุสัมผัส หมายถึง ความกระทบทางตา คือ ตา + รูป + จักขุวิญญาณ
  2. โสตสัมผัส หมายถึง ความกระทบทางหู คือ หู + เสียง + โสตวิญญาณ
  3. ฆานสัมผัส หมายถึง ความกระทบทางจมูก คือ จมูก + กลิ่น + ฆานวิญญาณ
  4. ชิวหาสัมผัส หมายถึง ความกระทบทางลิ้น คือ ลิ้น + รส + ชิวหาวิญญาณ
  5. กายสัมผัส หมายถึง ความกระทบทางกาย คือ กาย + โผฏฐัพพะ (เช่น ร้อน เย็น อ่อน แข็ง) + กายวิญญาณ
  6. มโนสัมผัส หมายถึง ความกระทบทางใจ คือ ใจ + ธรรมารมณ์ (สิ่งที่ใจนึกคิด) + มโนวิญญาณ

ผัสสเจตสิก

แก้

ในคัมภีร์พระอภิธรรม มีการกล่าวถึงผัสสะ ในลักษณะที่เป็นเจตสิก (คือ ธรรมชาติที่อาศัยจิตเกิด) เรียกว่า ผัสสเจตสิก เป็นธรรมชาติที่กระทบถูกต้องอารมณ์

ลักษณะเฉพาะตัวของ ผัสสเจตสิก มีอยู่สี่ประการคือ

  • มีการกระทบ เป็นลักษณะ
  • มีการประสาน (อารมณ์ + วัตถุ + วิญญาณ) เป็นกิจ
  • มีการประชุมพร้อมกัน เป็นผลปรากฏ
  • มีอารมณ์ที่ปรากฏเฉพาะหน้า เป็นเหตุใกล้

ผัสสะเป็นสิ่งประสานจิตกับอารมณ์ เกิดการประชุมพร้อมกันแห่ง สภาวะธรรมสามประการ คือ อารมณ์ + วัตถุ + วิญญาณ

ผัสสะตามหลักปฏิจจสมุปบาท

แก้
  • เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา...
  • เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะจึงดับ เพราะผัสสะดับเวทนาจึงดับ...

(สฬายตนะ หมายถึง อายตนะภายในหกอย่าง คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ)

  • จาก นฬกลาปิยสูตร พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 8

ไม้อ้อ ๒ กำ พึงตั้งอยู่ได้เพราะต่างอาศัยซึ่งกันและกันฉันใด

เพราะนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป

เพราะนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ

ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้

ถ้าไม้อ้อ ๒ กำนั้น พึงเอาออกเสียกำหนึ่ง อีกกำหนึ่งก็ล้มไป ถ้าดึงอีกกำหนึ่งออก อีกกำหนึ่งก็ล้มไป ฉันใด

เพราะนามรูปดับ วิญญาณจึงดับ เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ

เพราะนามรูปดับ สฬายตนะจึงดับ เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะจึงดับ

ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้

  • จาก ทุกขนิโรธสูตร พระไตรปิฎก เล่มที่ 16

ก็ความดับแห่งทุกข์เป็นไฉน

เพราะอาศัยจักษุและรูป จึงเกิดจักขุวิญญาณ ความประชุมแห่งธรรม ๓ ประการเป็นผัสสะ

เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงเกิดเวทนา เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงเกิดตัณหา

เพราะตัณหานั้นเทียวดับด้วยสำรอกโดยไม่เหลือ อุปาทานจึงดับ เพราะอุปาทานดับ

ภพจึงดับ เพราะภพดับ ชาติจึงดับ เพราะชาติดับ ชราและมรณะ

โสกปริเทวทุกขโทมนัสและอุปายาสจึงดับ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้

(นัยเดียวกันนี้กับหูและเสียง จมูกและกลิ่น ลิ้นและรส กายและโผฏฐัพพะ ใจและธรรมารมณ์)

อ้างอิง

แก้