โยโย่
โยโย่ (อังกฤษ: yo-yo, yoyo) หรือในภาษาไทยอาจเรียกว่า ลูกดิ่ง คือของเล่นชนิดหนึ่ง มีลักษณะเป็นลูกล้อหรือจานหมุนจำนวน 2 ชิ้นประกบเข้าด้วยกันและมีแกนยึดตรงกลาง มีเชือก 1 เส้น คล้องแกนกลางนั้น
ช่วงเวลา | 500 ปีก่อนคริสต์ศักราช–ปัจจุบัน |
---|
วิธีการเล่นโดยทั่วไปคือจับปลายเชือกด้านที่อิสระ แล้วพันเชือกส่วนที่เหลือรอบแกนหมุนของโยโย่ จากนั้นกระตุกปลายเชือกให้ส่วนจานหมุนเริ่มหมุนคลายเชือกที่พันไว้นั้น ด้วยความเฉื่อยของการหมุนดังกล่าว สามารถทำให้จานหมุนเคลื่อนที่ห่างออกจนสุดระยะเชือก ก่อนจะหมุนต่อเนื่องพันทบเชือกกลับมายังปลายเชือกที่ผู้เล่นจับเอาไว้ได้ นอกจากนี้ยังมีเทคนิคการเล่นอีกหลากหลาย
การเล่นโยโย่เริ่มเป็นที่นิยมตั้งแต่ปี พ.ศ. 2463 และยังได้รับความนิยมทั้งในเด็กและผู้ใหญ่จวบจนถึงปัจจุบัน มีการแข่งขันแสดงลีลาการเล่นโยโย่จัดเป็นประจำทุกปี
ประวัติ
แก้โยโย่ ปรากฏในประวัติศาสตร์ครั้งแรกในอารยธรรมกรีกเมื่อประมาณ 2500 ปีก่อน ทำจากดินเผาขึ้นรูปเป็นทรงจานแบน หลักฐานที่บ่งชี้ข้อมูลดังกล่าว คือแจกันที่หลงเหลือมาจากยุคสมัยนั้นมีรูปภาพเด็กผู้ชายกำลังเล่นโยโย่ นอกจากนี้บันทึกของชาวกรีกฉบับอื่นๆ ยังมีการกล่าวถึงโยโย่ที่ทำจากไม้, โลหะ หรือดินเผา โดยโยโย่ดินเผาจะถูกมอบให้แก่เด็กเมื่อถึงพิธีเฉลิมฉลองเมื่อเด็กเติบโต ในขณะที่โยโย่ที่ทำจากวัสดุอื่นใช้เพื่อการละเล่นเพียงเท่านั้น อีกทางหนึ่งตามบันทึกเรื่องการใช้ชีวิตของชาวฟิลิปปินส์ในสมัยก่อนกล่าวถึงการล่าสัตว์ที่ใช้สิ่งซึ่งมีลักษณะคล้ายโยโย่เป็นอาวุธ โดยผู้ล่าจะซ่อนตัวบนต้นไม้ แล้วใช้ก้อนหินผูกกับเชือกยาวกว่า 6 เมตร ซัดไปยังสัตว์ที่อยู่ด้านล่างของพวกเขา หากอาวุธพลาดเป้า พวกเขาก็ใช้เชือกที่มัดเอาไว้นั้นดึงอาวุธกลับขึ้นมาบนต้นไม้
ที่มาของชื่อและลักษณะแรกเริ่ม
แก้มีการสันนิษฐานถึงที่มาของคำว่า"โยโย่" อาจมาจากภาษาอิโลกาโนของฟิลิปปินส์ที่ว่า "yóyo" หรืออาจมาจากภาษาตากาล็อกซึ่งเป็นภาษาหลักของฟิลิปปินส์ อันมีความหมายว่า "กลับมา กลับมา"
ข้อสันนิษฐานอีกประการหนึ่ง คาดว่า "โยโย่" คือคำที่เพี้ยนเสียงมาจากคำในภาษาฝรั่งเศสที่ว่า joujou แต่ข้อสันนิษฐานนี้ก็เป็นแต่เพียงการคาดเดาที่ไม่มีมูลเหตุอื่นชวนให้เป็นที่น่าเชื่อถือ
โยโย่ที่ถูกพัฒนาโดยชาวฟิลิปปินส์เพื่อใช้เป็นอาวุธสำหรับการล่าสัตว์นั้น จะใช้เชือกที่มีความยาวเป็น 2 เท่าของระยะซัดอาวุธที่ต้องการ และเริ่มจากการทบครึ่งเชือกดังกล่าว พร้อมฟั่นเกลียวให้เหลือปลายเชือกด้านที่ทบไว้เป็นห่วงสำหรับคล้องแกนหมุนของโยโย่ การออกแบบในลักษณะนี้ช่วยให้ส่วนที่เป็นจานหมุนสามารถหมุนได้เป็นอิสระและมีความเสถียรมากขึ้น
ความแตกต่างของการออกแบบโยโย่โดยชาวฟิลิปปินส์เปรียบเทียบกับแบบที่มีมาก่อนหน้า คือการยึดเชือกกับแกนหมุน โดยแบบเดิมนั้นใช้การมัดปมเชือกเพื่อยึดจับแกนหมุนโดยตรง ซึ่งโยโย่ที่มีลักษณะดังกล่าว หลังจากที่ผู้เล่นซัดโยโย่ออกไปแล้ว มันจะเคลื่อนที่กลับสู่มือของผู้เล่นทันที่เคลื่อนตัวออกจนสุดระยะของเชือก ส่วนที่เป็นจานหมุนไม่สามารถหมุนค้างอยู่ที่ปลายเชือกได้ จากเหตุผลดังกล่าวทำให้ผู้เล่นโยโย่ส่วนใหญ่ไม่นิยมการใช้เชือกมัดปมเพื่อยึดแกนหมุน เพราะเมื่อโยโย่ไม่สามารถหมุนฟรีค้างอยู่ที่ปลายเชือกหรือที่เรียกว่าการเล่นท่า สลีปปิง ได้ ก็เท่ากับการพลิกแพลงเล่นท่าอื่นๆอันมีพื้นฐานจากท่าดังกล่าวโดนปิดกั้นไปโดยปริยาย
อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้เล่นบางกลุ่มที่ไม่ได้ชอบโยโย่แบบที่ชาวฟิลิปปินส์พัฒนาขึ้นเช่นกัน เพราะข้อจำกัดของการใช้เชือกทำเป็นห่วงคล้องแกนหมุนนั้น ทำให้ผู้เล่นไม่สามารถเล่นโยโย่แบบ ออฟ-สตริง ได้ ซึ่งการเล่นลักษณะดังกล่าวคือการซัดโยโย่ให้หมุนโดยอาศัยการรั้งของเชือกที่พันรอบแกน ก่อนจะปล่อยให้โยโย่หลุดออกจากเชือกเป็นเวลาชั่วขณะ หลังจากนั้นผู้เล่นจะควบคุมให้โยโย่กลับมาเลี้ยงตัวบนเชือกและพันทบเชือกดังกล่าวรอบแกนหมุนของโยโย่อีกครั้ง
โยโย่สมัยใหม่
แก้เจมส์ แอล. ฮาเวน และ ชาร์ลส์ เฮททริค จากเมืองซินซินเนติ รัฐโอไฮโอ ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้รับสิทธิบัตรฉบับแรกในอเมริกาสำหรับ "โครงสร้างของเล่นที่มีชื่อเรียกทั่วไปว่า บันดาลอร์" ในปี พ.ศ. 2409
อย่างไรก็ตาม การแพร่หลายอย่างแท้จริงของโยโย่ เริ่มในปี พ.ศ. 2471 เมื่อชาวอเมริกันเชื้อสายฟิลิปปินส์ชื่อว่า เปโดร ฟลอเรส เปิดโรงงานผลิตโยโย่ขึ้นเป็นครั้งแรกในเมืองซานตา บาร์บารา รัฐแคลิฟอร์เนีย ใช้ชื่อโรงงานว่า โย-โย่ แมนูแฟคเจอริง คอมพานี (Yo-yo Manufacturing Company) ธุรกิจเมื่อแรกเริ่มมีกำลังการผลิตในระดับไม่กี่สิบอันต่อวัน จนกระทั่งเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2472 โรงงานของเปรโดร ฟลอเรส ได้ขยายกำลังการผลิตอีก 2 แห่งในลอสแอนเจลิส และ ฮอลลีวู้ด มีลูกจ้างกว่า 600 คน สามารถผลิตโยโย่ได้มากกว่า 300,000 อันต่อวัน
ยุคของดันแคน
แก้ในปี พ.ศ. 2472 หลังจากเปโดร ฟลอเรส ขยายโรงงานเพิ่มกำลังการผลิตโยโย่ไม่นาน บริษัทดังกล่าวก็ถูกซื้อโดย โดนัลด์ ดันแคน รวมทั้งชื่อโรงงานฟลอเรสด้วย ก่อนจะถูกเปลี่ยนชื่อใหม่ภายหลังในปี พ.ศ. 2475 โดยโยโย่ตัวแรกที่ถูกผลิตภายใต้การเปลี่ยนชื่อนี้ คือ ดันแคน โอ-บอย (Duncan O-Boy)
ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เศรษฐกิจทั่วโลกต่างซบเซา ธุรกิจหลายอย่างประสบปัญหาทางด้านการเงิน เป็นที่คาดกันว่าธุรกิจของดันแคนน่าจะต้องประสบภาวะขาดทุนไม่ต่ำกว่า 250,000 ดอลลาร์สหรัฐไม่ต่างจากบริษัทอื่นๆ แต่ผลกลับตรงกันข้าม เมื่อธุรกิจการผลิตโยโย่ไปได้ดี โดยสามารถทำกำไรได้มากกว่านั้นหลายเท่าในช่วงระยะเวลาไม่กี่ปีหลังจากนั้น
ในปี พ.ศ. 2489 ดันแคน ทอยส์ คอมพานี (Duncan Toys Company) ซึ่งเป็นบริษัทผลิตของเล่นของดันแคนได้เปิดโรงงานผลิตโยโย่เพิ่มที่เมืองลัค รัฐวิสคอนซิน ทำให้เมืองดังกล่าวมีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักกันในนาม "มหานครโยโย่ของโลก"
แต่เป็นเรื่องผิดคาด เมื่อการประชาสัมพันธ์อย่างหนัก ทำให้เมืองลัคเป็นที่รู้จักกันทั่วไป ซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อธุรกิจการผลิตโยโย่ ทว่าในความเป็นจริงกลับกลายเป็นว่า ผู้คนไม่สามารถจดจำชื่อยี่ห้อของโยโย่ได้ดีนัก
การฟื้นตัวในยุค 60
แก้จากยอดขายที่ลดลงช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ส่งผลให้ดันแคนผลักดันแผนกระตุ้นยอดขายด้วยยี่ห้อ "โย-โย่ (Yo-Yo)"ออกมาในปี พ.ศ. 2505 โดยเริ่มทำสื่อโฆษณาทางโทรทัศน์ ผลลัพธ์ที่ได้ คือ ความสำเร็จอย่างที่ไม่เคยมาก่อน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการทำสื่อแนะนำการเล่นโยโย่รุ่น ดันแคน บัตเตอร์ฟลาย (Duncan Butterfly) ซึ่งช่วยให้ผู้ที่ไม่เคยเล่นโยโย่มาก่อนสนใจในผลิตภัณฑ์นี้มากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จดังกล่าวก็คงอยู่ไม่นานนัก เมื่อศาลมีคำสั่งให้ดันแคนเลิกใช้คำว่า "โย-โย่" เป็นชื่อยี่ห้ออีกต่อไป โดยอิงจากคดีตัวอย่างในปี พ.ศ. 2508 เนื่องเพราะเห็นว่าคำคำนี้กลายเป็นคำทั่วไป ไม่ได้มีความหมายเฉพาะ ผลจากการต่อสู้คดี และภาวะบีบคั้นทางเศรษฐกิจ ทำให้ดันแคนตัดสินใจขายกิจการพร้อมชื่อทางการค้าอื่นให้กับ "กลุ่มบริษัทเฟลมเบอ (Flambeau, Inc)" ในปี พ.ศ. 2511 ซึ่งเป็นผู้ผลิตโมเดลพลาสติกส่งให้กับโรงงานดันแคนมาโดยตลอด ตราบจนปี พ.ศ. 2553 กลุ่มบริษัทเฟลมเบอยังคงดำเนินกิจการผลิตโยโย่อยู่อย่างต่อเนื่อง
การพัฒนาระบบลูกปืนในยุค 70
แก้ในยุค 70 หรือราว พ.ศ. 2514 - พ.ศ. 2523 มีการพัฒนาโยโย่ด้วยวิทยาการที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น โดยสิ่งสำคัญคือการปรับปรุงวิธียึดจับเชือกกับแกนหมุนของ ถือเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เล่นมือใหม่สามารถเข้าถึงความสนุกของการเล่นโยโย่ได้ง่ายขึ้น แถมยังช่วยให้ผู้เล่นพลิกแพลงรูปแบบการเล่นได้หลากหลายยิ่งกว่าในช่วงเวลาก่อนหน้านั้น
ในปี พ.ศ. 2521 ทอม คุนห์ ทันตแพทย์ผู้เป็นนักเล่นโยโย่ด้วย ได้จดสิทธิบัตรในการออกแบบโยโย่แบบถอดประกอบได้ นับเป็นครั้งแรกที่ผู้เล่นสามารถอดเปลี่ยนแกนหมุนของโยโย่ได้เมื่อยามสึกหรอ ทั้งยังสะดวกต่อการดูแลรักษาด้วย
อีก 2 ปีให้หลัง ไมเคิล แคฟเฟรย์ จดสิทธิบัตรการออกแบบโยโย่ชนิดมีคลัทช์อยู่ที่แกนหมุนของโยโย่ หรือในปัจจุบันรู้จักกันในชื่อ โยเมกา เบรน (Yomega Brain) คุณสมบัติพิเศษของโยโย่ประเภทนี้ คือ ตัวคลัทช์ที่เพิ่มเข้ามา จะช่วยให้ส่วนโยโย่หมุนฟรีได้ในขณะที่ตัวจานหมุนกำลังหมุนด้วยความเร็วสูง และตัวจานหมุนจะเกาะตัวแน่นหมุนพันทบเชือกกลับสู่มือผู้เล่นทันทีเมื่อโยโย่มีความเร็วในการหมุนต่ำกว่าระดับที่กำหนด คุณสมบัติพิเศษอันนี้เป็นที่ชื่นชอบของผู้เล่นมือใหม่เป็นอย่างมาก
กลไกการทำงานก็คือ ชุดคลัทช์ที่ต่อกับชุดยึดจับแกนหมุนมีตุ้มถ่วงและสปริงซึ่งยึดกับชุดจับแกนหมุนของลูกดิ่งเป็นองค์ประกอบ เมื่อผู้เล่นซัดโยโย่ออกจากมือ ตัวสปริงจะโดนกดอัดให้หดตัว แรงที่กดอัดสปริงดังกล่าวคือแรงเหวี่ยงของลูกตุ้มซึ่งเกิดในขณะที่โยโย่หมุนด้วยความเร็วสูง ชั่วขณะนั้นเอง ชุดยึดจับแกนหมุนของโยโย่จะคลายตัวออก ทำให้โยโย่หมุนฟรีได้ แต่เมื่อความเร็วในการหมุนลดต่ำลงจนถึงค่าค่าหนึ่ง แรงต้านของสปริงมีค่ามากกว่าการกดอัดจากแรงเหวี่ยง ชุดสปริงจะคืนตัวและดันชุดยึดจับให้จับแกนหมุนดังเดิม ทำให้โยโย่หยุดการหมุนฟรีและพันทบเชือกกลับสู่มือของผู้เล่นเองโดยไม่ต้องกระตุกเชือก
วิวัฒนาการที่สำคัญที่สุดของโยโย่ในยุคนี้ คือ การใส่ตลับลูกปืนเข้าไปตรงบริเวณแกนหมุนของลูกดิ่ง ระบบดังกล่าวได้รับการออกแบบโดย เอสเคเอฟ (SKF) บริษัทผลิตตลับลูกปืนในประเทศสวีเดน ผลจากการออกแบบทำให้โยโย่มีความเสียดสีขณะหมุนน้อยลง มีระยะเวลาในการหมุนที่นานขึ้นมาก จุดนี้เองที่ถือเป็นความแตกต่างอย่างเด่นชัดกับโยโย่ที่มีการผลิตมาก่อนหน้า
แม้ว่าการเพิ่มตลับลูกปืนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของโยโย่จะเพิ่มภาระในการดูแลรักษา และทำให้ต้นทุนในการผลิตโยโย่เพิ่มสูงขึ้น แต่ด้วยคุณสมบัติพิเศษที่ผู้เล่นสามารถเล่นท่า สลีปปิง ได้นานจึงทำให้โยโย่ประเภทนี้ได้รับความนิยมในหมู่ผู้เล่นที่ชื่นชอบการเล่นท่าทางพลิกแพลงที่มีพื้นฐานจากท่าดังกล่าวเป็นอย่างมาก
การแพร่หลายในยุค 90
แก้จากการพัฒนาอย่างรวดเร็วทางด้านเทคโนโลยีการผลิตโยโย่ ทำให้ขีดความสามารถต่างๆของโยโย่เพิ่มขึ้นรอบด้าน เมื่อเทียบกับบรรดาโยโย่ที่ได้รับการออกแบบมาตั้งแต่ยุค 70 รูปแบบต่างๆ ของโยโย่ได้รับการพัฒนาต่อยอดอย่างต่อเนื่อง ชื่อของ โยเมกา เบรน เป็นที่รู้จักในฐานะของโยโย่แบบมีคลัทช์ ในขณะที่ เพลย์แมกซ์ โปร-โย่ (Playmaxx Pro-yo) ก็ได้รับความนิยมจากการออกแบบให้แยกส่วนได้
วิวัฒนาการอีกอย่างหนึ่งของโยโย่ในยุคนี้ คือ การหันมาใช้วัสดุที่หลากหลายมากกว่าแต่ก่อนมาทำโยโย่ ไม่ว่าจะเป็นส่วนจานหมุนที่ทำจากโลหะ เช่น อะลูมิเนียม, ไททาเนียม เป็นต้น หรือแม้แต่วัสดุสังเคราะห์อย่างพลาสติก ที่นำมาผลิตทั้งจานหมุน และเชือก
ในปี พ.ศ. 2533 ทอม คุนห์ ได้ออกแบบโยโย่ที่มีชื่อว่า เอสบี-ทู-โย-โย่ (SB-2-yo-yo) โดย SB ย่อมาจาก Silver Bullet (ซิลเวอร์ บุลเลต) ซึ่งแปลว่า กระสุนเงิน
ลูกดิ่งดังกล่าวมีตลับลูกปืนทำจากอะลูมิเนียม ให้ประสิทธิภาพดีเยี่ยมสำหรับโยโย่ ทั้งระยะเวลาที่นานหลายนาทีของการหมุน รวมถึงการม้วนตัวกลับของส่วนจานหมุน ถือเป็นการประสบความสำเร็จอย่างโดดเด่นในแง่การออกแบบโยโย่ จากผลงานการออกแบบดังกล่าวรวมทั้งผลงานอื่นของทอม คุนห์ ทำให้เขาถูกขนานนามว่าเป็น บิดาแห่งโยโย่สมัยใหม่ และรับรางวัล โดนัลด์ เอฟ. ดันแคน แฟมิลี อวอร์ด ฟอร์ อินดัสตรี เอ็กเซลเลนท์ (Donald F. Duncan Family Award for Industry Excellence) ในปี พ.ศ. 2541 โดยเขาเป็นบุคคลแรกที่ได้รับรางวัลดังกล่าว
ในช่วงปลายยุค 90 หรือราวก่อนหน้าปี พ.ศ. 2542 เล็กน้อย โยเมกา ร่วมมือกับ เอชพีเค ซึ่งเป็น 2 ผู้ผลิตโยโย่ ทำการตลาดไปทั่วโลกเพื่อเพิ่มยอดขาย มีการรวบรวมนักเล่นโยโย่ฝีมือดีหลายคนจัดเป็นกลุ่มออกเดินทางแสดงการเล่นโยโย่ในหลายประเทศ โดยโยเมกาเองรุกหนักในการสร้างกระแสความนิยมการเล่นโยโย่ในประเทศญี่ปุ่น โดยมี บันได เป็นผู้รับช่วงการผลิตโยโย่หลากหลายรูปแบบให้กับโยเมกา รวมทั้งแบบที่ไม่มีวางขายในสหรัฐอเมริกา
ในปี พ.ศ. 2541 - พ.ศ. 2542 โยเมกายังร่วมมือกับ แมคโดนัลด์ เพื่อกระจายสินค้าให้มีวางจำหน่ายทั่วสหรัฐอเมริกา
การแข่งขัน
แก้การแข่งขันการเล่นโยโย่แบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน คือ การเล่นตามท่าบังคับ และแบบฟรีสไตล์ กรรมการจะเป็นผู้ให้คะแนนทั้ง 2 ส่วน ก่อนจะนำมารวมกันเพื่อหาผู้ชนะที่ได้คะแนนรวมสูงที่สุด
การแข่งขันส่วนของท่าบังคับ ประกอบด้วยท่าต่างๆ ตามแต่ที่กำหนดไว้ในการแข่งขันนั้น ผู้เล่นโยโย่ที่เข้าแข่งขันต้องเล่นท่าดังกล่าวทั้งหมดเพื่อทำคะแนน หากผู้เล่นสามารถแสดงท่าบังคับได้สำเร็จภายในครั้งแรกที่เล่น ก็จะได้คะแนนสูง ในทางกลับกันหากเกิดความผิดพลาดระหว่างเล่นท่าใดก็ตาม ผู้เล่นสามารถทำซ้ำได้เพียงครั้งเดียว หากยังผิดพลาดอีก ก็จะไม่ได้คะแนนในท่านั้นๆ
ส่วนการเล่นแบบฟรีสไตล์ ผู้เล่นสามารถเลือกท่าที่ต้องการได้ตามความต้องการ ในขณะแข่งขัน ผู้เล่นต้องเล่นลูกดิ่งประกอบกับเพลงที่ผู้เล่นเลือกเอง ความยากของท่าต่างๆที่เลือกใช้ ความสวยงามของท่า รวมทั้งความสมบูรณ์ และความต่อเนื่องในการเล่น ล้วนเป็นตัวกำหนดคะแนนที่ผู้เล่นจะทำได้ ในอีกทางหนึ่ง หากเกิดความผิดพลาดระหว่างการเล่น กรรมการจะหักคะแนนออกตามความเหมาะสม
การแข่งขันระดับนานาชาติ
แก้รายการ เดอะ เวิรลด์ โย-โย่ คอนเทสต์ (The World Yo-Yo Contest) เป็นการแข่งขันทั้งแบบเล่นตามท่าบังคับและแบบฟรีสไตล์ที่เชิญผู้ชนะการแข่งขันโย่โย่ในระดับประเทศจากหลายประเทศเข้าร่วมแข่งขัน การแข่งขันรายการนี้จัดขึ้นในช่วงเดือน กรกฎาคม - สิงหาคม เป็นประจำทุกปี ที่เมืองออร์ลันโด รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา จัดโดย YoYoGuy.com (โยโย่กาย.คอม) ซึ่งเป็นเว็บไซต์ชื่อดัง ก่อตั้งเพื่อการค้าสำหรับโยโย่โดยเฉพาะ
ชาติที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในการแข่งขันรายการนี้ คือ ประเทศญี่ปุ่น ผู้เล่นลูกดิ่งชาวญี่ปุ่นหลายราย ได้รับรางวัลชนะเลิศและอันดับต้นๆบ่อยครั้ง Shinji Saito ผู้เล่นที่อาจกล่าวได้ว่าเก่งที่สุดในโลก เคยได้รับรางวัลชนะเลิศถึง 11 ครั้งจากรายการนี้ ก็เป็นชาวญี่ปุ่น
หลายประเทศที่ส่งตัวแทนเข้าร่วม เดอะ เวิรลด์ โย-โย่ คอนเทสต์ จัดการแข่งขันในระดับภูมิภาคก่อนแข่งรอบชิงระดับประเทศ สาเหตุจากจำนวนผู้สมัครเข้าแข่งขันมีมากเกินกว่าจะจัดแข่งได้ภายในรอบเดียว ประเทศเหล่านั้นได้แก่ สหรัฐอเมริกา, บราซิล, ญี่ปุ่น และ สหราชอาณาจักร ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ทั้ง เม็กซิโก, ไต้หวัน, สิงคโปร์, ฮ่องกง, เกาหลี, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, สวิตเซอร์แลนด์, สาธารณรัฐเช็ค, ฮังการี และ ออสเตรเลีย จัดเพียงการแข่งขันระดับประเทศเท่านั้น
รายการ ดิ อินเตอร์เนชันแนล โย-โย่ โอเพน (The International Yo-Yo Open) เป็นรายการแข่งขันโยโย่ทั้งแบบเล่นตามท่าบังคับและแบบฟรีสไตล์ จัดขึ้นทุกปีในช่วงเดือนสิงหาคม ณ ท่าเรือเซาธ์สตรีท นครนิวยอร์ก โดย YoYoNation.com (โยโย่เนชัน.คอม) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเว็บไซต์ชื่อดังในวงการโยโย่ริเริ่มการแข่งขันรายการนี้ เริ่มจัดเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2550 เป็นที่สนใจของสื่อมวลชนและประชาชนทั่วไปเข้าชมเป็นจำนวนมาก ตัวเลขผู้เข้าชมงานในปีแรกที่จัดมีมากกว่า 8,500 คน รับผู้เข้าแข่งขันจากบุคคลทั่วไป โดยการสมัครผ่านทางหน้าเว็บของ โยโย่เนชัน.คอม
นอกจากนี้ รายการ ดิ อินเตอร์เนชันแนล โย-โย่ โอเพน ยังมีเวทีแข่งขันการเล่นโยโย่ของรัฐนิวยอร์กด้วย ผู้ชนะจะได้รับเงินรางวัล รวมทั้งโยโย่พร้อมอุปกรณ์ตกแต่งจาก โยโย่เนชัน.คอม และผู้สนับสนุนรายอื่น
การแข่งขันโยโย่ เดอะ ทีวี ไทมส์ เวิร์ลด์ โย-โย่ แชมเปียนชิพ (The TV Times world yo-yo championship) เคยจัดในสหราชอาณาจักรในปี พ.ศ. 2517 โดยจัดรอบคัดเลือกขึ้นทั่วประเทศ ก่อนมีรอบตัดสินชิงชนะเลิศ ณ กรุงลอนดอน ช่วงปี พ.ศ. 2518 รางวัลสำหรับผู้ชนะในครั้งนั้นคือ โยโย่ยี่ห้อ ลูมาร์ (Lumar) จากผู้ผลิตโยโย่บริษัท หลุยส์ มาร์กซ์ ทอย คอมพานี (Louis Marx toy company) การตัดสินหาผู้ชนะในคราวนั้นมีคณะกรรมการประกอบด้วยแขกรับเชิญเป็นผู้มีชื่อเสียงในแต่ละเมืองที่จัดแข่งขัน ร่วมกับนักเล่นโยโย่จากทางลูมาร์ และแชมป์โยโย่ทวีปยุโรปในขณะนั้น ดอน โรเบิร์ตสัน (Don Robertson) โดยผู้ชนะในการแข่งคราวนั้น คือ ไซมอน แฮร์ริส (Simon Harris) หลังจากนั้นก็ยุบการแข่งขันรายการนี้ไป
Asian Pacific Yoyo Championship เป็นการแข่งขันในระดับเอเชีย เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2003 จนถึงปัจจุบันจัดโดย Spinworkx ซึ่งเป็นองค์กรที่มีชื่อเสียงในเรื่องของการสาธิตการเล่นโยโย่ของประเทศ สิงคโปร์ซึ่งในทุกปีจะมีผู้เล่นจาก ประเทศต่างๆในเอเชียเข้าร่วมการแข่งขัน รวมถึงประเทศไทยด้วย
การจำแนกประเภทสำหรับการแข่งขัน
แก้ในปัจจุบันการแข่งขันโยโย่แบบสากลระดับโลกจะมีการแข่งขันแบบออกเป็น 2 รูปแบบหลักๆคือ ฟรีสไตล์ และ สปอร์ทแลดเดอร์
ฟรีสไตล์ (Freestyle)
แก้เป็นการแข่งขันที่ผู้เล่นจะต้องแสดงท่าทางต่างๆประกอบกับเพลงซึ่งการแพ้ชนะจะมีการให้คะแนนตัดสินจาก ความยากของท่าเล่น,การเล่นเข้ากับจังหวะเพลงที่เลือกมา และความผิดพลาดของการเล่น โดยมีกรรมการผู้เชี่ยวชาญในเรื่องของการเล่นโยโย่ ตั้งแต่4คนขึ้นไป (สูงสุด 6คน)มาเป็นผู้ตัดสิน โดยทั่วไปการแข่งขันรูปแบบฟรีสไตล์จะแบ่งออกเป็น 2 ช่วงคือ รอบคัดเลือก จะใช้เวลา 1 นาที และรอบตัดสินจะใช้เพลงที่มีความยาว3นาที
ซึ่งในปัจจุบันการแข่งขันในรูปแบบฟรีสไตล์ ที่เป็นการแข่งขันอย่างเป็นทางการจะถูกแบ่งออกเป็น 7 ประเภทดังนี้
1.ซิงเกิ้ล เอ (Single A,1A)
- จำนวนโยโย่ 1 อัน
- ประเภทโยโย่ ปกติ - ผู้เล่นยึดเชือกเข้ากับมือ ปลายเชือกอีกด้านยึดกับแกนหมุนของโยโย่ มักใช้โยโย่ที่หมุนค้างปลายเชือกได้นาน
- ท่าการเล่น ในการแข่งขันซึ่งผู้เล่นจะต้องให้ลูกโยโย่อยู่บนเชือกและบังคังให้โยโย่โดดไปมาในทิศทางต่างๆให้ลงบนเชือก ซึ่งโยโย่ที่ใช้กับการเล่นแบบนี้มันจะเก็นโยโย่ทรงปีกผีเสื้อ ทำให้ลูกตกลงบนเชือกทำได้แม่นยำ
2.ดับเบิ้ล เอ (Double A,2A)
- จำนวนโยโย่ 2 อัน (ผู้เล่นถือโยโย่ 1 อันในแต่มือแต่ละข้าง)
- ประเภทโยโย่ ปกติ - ผู้เล่นยึดเชือกเข้ากับมือ ปลายเชือกอีกด้านยึดกับแกนหมุนของโยโย่ มักใช้โยโย่ที่หมุนกลับสู่มือผู้เล่นได้ดี
- ท่าการเล่น ลักษณะการเล่นจะเน้นไปทางการควงลูกต่อเนื่องโดยเก็บรับเข้ามือให้น้อยที่สุด ความยากของการเล่นประเภทนี้อยู่ที่ ผู้เล่นมักจะคิดท่าพันเขือกไปตามส่วนต่างๆของร่างกายแล้วก็สามารถรับกลับเข้ามือได้ตามปรกติ ถือว่าเป็นการเล่นที่จะต้องใช้การฝึกฝนมากที่สุด ลูกโยโย่ที่ใช้จะเป็นทรงมาตรฐานและร่องมีลักษณะแคบเพื่อการดึงกลับของโยโย่ที่รวดเร็ว
3.ทริปเปิ้ล เอ (Tripple A,3A)
- จำนวนโยโย่ 2 อัน (ผู้เล่นถือโยโย่ 1 อันในแต่มือแต่ละข้าง)
- ประเภทโยโย่ ปกติ - ผู้เล่นยึดเชือกเข้ากับมือ ปลายเชือกอีกด้านยึดกับแกนหมุนของโยโย่ มักใช้โยโย่ที่หมุนค้างปลายเชือกได้นาน
- ท่าการเล่น เป็นการเล่นโยโย่ 2 ลูกแต่แตกต่างกับ 2A ตรงที่จะไม่ได้ใช้การควงลูก แต่เป็นการเล่นให้โยโย่ไต่ไปมาบนเชือกคล้ายกับ 1A ซึ่งการเล่นประเภทนี้มีความเสี่ยงที่ลูกจะพันกันสูงมาก ผู้เล่นจะต้องใช้ความแม่นยำสูงในการเล่นลักษณะนี้ โยโย่ที่เหมาะกับการเล่นประเภทนี้จะเป็นทรงปีกผีเสื้อจะช่วยให้การเล่นทำได้ง่ายขึ้น
4.ออฟสตริง ดิวิชั่น (Off-String Division,4A)
- จำนวนโยโย่ 1 อัน
- ประเภทโยโย่ ไม่ยึดกับเชือก - ผู้เล่นยึดเชือกเข้ากับมือ ปลายเชือกอีกด้านปล่อยอิสระ มักใช้โยโย่ขนาดใหญ่เพื่อให้ง่ายต่อการคล้องเชือก
- ท่าการเล่น เป็นการเล่นแนวใหม่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อประมาณปี1999 ซึ่งการเล่นลักษณะนี้ ผู้เล่นจะไม่ผู้โยโย่ติดกับเชือก แต่จะใช้เชือกพันโยโย่แล้วโยนขึ้นและใช้เชือกรับเพื่อคอนโทรลลูก ให้โดดไปในทิศทางต่างๆตามที่ต้องการ ลูกโยโย่ที่ใช้เล่น 4A จะเป็นลูกซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าโยโย่ธรรมดาและบางรุ่นขอบจะมีส่วนประกอบทีเป็นยางเพื่อรองรับแรงกระแทกเมื่เวลาที่เล่นพลาด โยโย่จะไม่เกิดความเสียหาย
5.เค้าท์เตอร์เวท ดิวิชั่น (Counter weight Division,5A)
- จำนวนโยโย่ 1 อัน
- ประเภทโยโย่ มีตุ้มถ่วง - ใช้ตุ้มถ่วงน้ำหนักใกล้เคียงกับโยโย่ยึดปลายเชือกด้านหนึ่ง ปลายเชือกอีกด้านยึดกับแกนหมุนของโยโย่
- ท่าการเล่น แนวการเล่นแบบนี้เกิดขึ้นในช่วงปี2001 ซึ่งการเล่นลักษณะนี้ ผู้เล่นจะผูกตุ้มถ่วงน้ำหนักที่ปลายชือก แทนที่จะผู้กไว้ที่นิ้ว และเมื่อปาลูกออกไปผู้เล่นก็จะปล่อยตุ้มถ่วงน้ำหนักและเหวี่ยงไปด้วยในขณะเล่นทำให้เกิดท่าทางแปลกใหม่ขึ้นมาได้อย่างมากมายโดยที่โยโย่ที่เหมาะสมกับการเล่นชนิดนี้ จะเป็นลูกชนิดเดียวกับการเล่นประเภท 1A ก็คือทรงปีกผีเสื้อ
6.เอพี ดิวิชั่น(Artistic Performance,AP)
- จำนวนโยโย่ ไม่จำกัด
- ประเภทโยโย่ ไม่จำกัด
- ท่าการเล่น เน้นการแสดงเชิงศิลปะ สามารถใช้อุปกรณ์ประกอบฉาก หรือมีผู้ช่วยได้ โดยแสดงทักษะในการเล่นโยโย่เป็นส่วนหนึ่งของการแสดง
7.คอมไบน์ ดิวิชั่น (Combined Division,CB)
- ผู้เล่นต้องแข่งขัน 3 รอบ อันได้แก่ การเล่นในประเภท Aerial(การเล่นกลางอากาศ) (เลือกระหว่าง 4A หรือ 5A) การเล่นแบบ Double(การเล่นสองมือ) (เลือกระหว่าง 2A หรือ 3A) และการเล่นแบบ Single (1A) ก่อนรวมคะแนนการแข่งทั้ง 3 รอบเพื่อหาผู้ชนะ
สปอร์ทแลดเดอร์(Sport Ladder)
แก้เป็นการแข่งขันเล่นท่าทางต่างๆที่กรรมการกำหนดให้ทั้งหมด 25ท่าในประเภทของ Single A ซึ่งจะไล่ระดับความยากของท่าเล่นขึ้นไป โดยจะมีจุดหรือกรอบพื้นที่ เพื่อสำหรับแสดงท่าเล่นต่อกรรมการ ซึ่งผูเล่นจะต้องเล่นท่าทางที่กรรมการกำหนดให้ในพื้นที่ที่กำหนดเท่านั้นไม่สามารถซ้อมท่าได้ หากต้องการจะตรวจสอบลูกหรือเชือกจะต้องออกจากจุดแสดงท่า โดยในการแข่งขัน ผู้เล่นจะต้องเล่นท่าที่กำหนดให้และเก็บเข้ามือให้สมบูรณ์ มีโอกาสพลาดได้เพียง 2ครั้งเท่านั้นตลอดการเล่น 25ท่า หากพลาดครั้งแรกที่ท่าใหนก็จะข้ามท่านั้นๆไป และพลาดครั้งที่สอง ก็จะจบการแข่งขัน ผู้ที่สามารถเล่นท่าได้มากที่สุดจะเป็นผู้ชนะ ถ้ามีผู้ที่สามารถเล่นได้ถึง25ท่า จะวัดกันที่การพลาดครั้งแรกว่าพลาดก่อนในท่าลำดับที่เท่าไหร่ ผู้ที่พลาดในลำดับหลังจะเป็นผู้ชนะ แต่ถ้าหากเล่นได้ครบ25ท่าโดยไม่พลาดหลายคน กรรมการจะมีท่าตัดสินโดยนับจำนวนครั้งในการทำท่า ผู้ที่ทำท่าได้จำนวนครั้งมากกว่าจะเป็นผู้ชนะ
เทคนิคการเล่น
แก้สลีปปิง (Sleeping)
แก้มีความหมายว่าการหลับ ใช้เรียกการที่ผู้เล่นควบคุมให้โยโย่หมุนค้างที่ปลายเชือก การหมุนค้างโดยที่เชือกอยู่นิ่งดังกล่าวเป็นพื้นฐานสำคัญในการเล่นท่าอื่นๆ โดยเฉพาะท่าที่เน้นการใช้เชือก การแข่งโยโย่ประเภท 1เอ และ 3เอ จึงมีพื้นฐานมาจากสลีปปิง หัวใจสำคัญของการเล่นท่านี้ มาจากการออกแบบแกนหมุนแบบปลอก และการใส่ตลับลูกปืนในโยโย่ ซึ่งช่วยให้โยโย่หมุนฟรีได้เป็นระยะเวลานาน แต่ถึงอย่างนั้น โยโย่ที่เป็นแบบแกนหมุนยึดอยู่กับที่ก็สามารถเล่นท่าสลีปปิงได้ แต่จำเป็นต้องคลายเชือกส่วนที่คล้องกับแกนให้หย่อนเล็กน้อย ซึ่งทำได้ 2 วิธี คือ
- การปล่อยโยโย่ให้ห้อยอย่างอิสระชั่วขณะหนึ่ง เกลียวเชือกของโยโย่จะคลายออกเองโดยธรรมชาติ
- การเล่นโยโย่ท่า ลาเรียต (Lariat) หรือท่า ยูเอฟโอ (UFO)
โยโย่ทั่วไป มักใช้เล่นท่าสลีปปิงได้เป็นเวลาราว 10-25 วินาที แต่บางอันที่คุณภาพดีและราคาสูง อาจใช้เล่นท่าสลีปปิงได้นาน 10-11 นาที
ลูปปิง (Looping)
แก้หมายความหมายว่าการวนรอบ ใช้เรียกการที่ผู้เล่นควบคุมให้โยโย่หมุนเคลื่อนที่อยู่ตลอด โดยไม่มีสลีปปิง ซึ่งการเคลื่อนที่ดังกล่าวมักออกมาในลักษณะการควงโยโย่ให้หมุนวนเป็นวง
โยโย่ที่ได้รับการปรับแต่งเพื่อให้เอื้อสำหรับการเล่นท่าลูปปิงนี้ จะผ่านการถ่วงศูนย์โดยให้มวลส่วนใหญ่อยู่ตรงใจกลางแกนหมุน ช่วยให้โยโย่หมุนในแนวที่เส้นเชือกเป็นแกนหมุนได้ง่ายโดยปราศจากแรงต้านของมวลโยโย่ ผลคือผู้เล่นสามารถเล่นโยโย่โดยการควงซึ่งทำให้เชือกพันเกลียวได้มากขึ้นแต่โยโย่ไม่เสียความเสถียรในการหมุนไต่ตามเส้นเชือก
การแข่งขันโยโย่ประเภท 2เอ ใช้พื้นฐานท่านี้เป็นสำคัญ เพราะเน้นการควงโยโย่ให้เคลื่อนที่ตลอดเวลา
ออฟ-สตริง (Off-String)
แก้หมายถึงการเล่นที่ตัวโยโย่หลุดออกจากเชือก โยโย่ที่ใช้เล่นท่านี้ได้ต้องเป็นแบบที่เชือกไม่ยึดกับแกนหมุนของโยโย่ โดยมากผู้เล่นจะซัดโยโย่ขึ้นกลางอากาศ รอจนโยโย่หลุดจากเชือกจนตกลงมา จึงใช้เชือกเข้าไปรองรับโยโย่อีกครั้ง ก่อนจะปล่อยให้เชือกพันทบรอบแกนหมุนของโยโย่เองโดยธรรมชาติ เรียกกว่า ฟอร์เวิร์ด พาส (Forward Pass) อย่างไรก็ตามผู้เล่นทักษะสูงหลายคน สามารถซัดโยโย่ลงด้านล่างแล้วตวัดปลายเชือกให้พันรอบแกนหมุนได้ในชั่วขณะที่โยโย่เคลื่อนที่ไปจนสุดระยะของเชือกโดยที่โยโย่ไม่ตกกระทบพื้น
โยโย่ที่ได้รับการปรับแต่งเพื่อเล่นแบบออฟ-สตริง มักมีขนาดใหญ่ และมีช่องกว้างระหว่างจานหมุนทั้งสอง เช่นโยโย่ทรงผีเสื้อ การออกแบบดังกล่าวเพื่อช่วยให้ผู้เล่นใช้เชือกคล้องโยโย่ได้ง่ายยิ่งขึ้น นอกจากนี้ส่วนที่เป็นขอบของจานหมุนมักจะติดขอบยางไว้โดยรอบ เพื่อป้องกันความเสียหายของตัวโยโย่ และอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับผู้เล่นและผู้คนโดยรอบในกรณีที่การเล่นผิดพลาด
ทักษะและโยโย่สำหรับการเล่นแบบ ออฟ-สตริง นี้ ถูกแบ่งออกมาโดยเฉพาะในการแข่งขันประเภท 4เอ
ท่าที่มักใช้กันมาก ได้แก่ เมน พาส (Main Pass), ฟลี เบาส์ (Flea Bounce), อีไล ฮอปส์ (Eli Hops) เป็นต้น
ฟรีแฮนด์ (Free Hand)
แก้หมายถึงการเล่นโยโย่ โดยที่ไม่ได้มัดเชือกเข้ากับมือของผู้เล่น โดยทั่วไป เพื่อเกิดความสมดุล จะถ่วงตุ้มน้ำหนักไว้ที่ปลายด้านหนึ่งของเชือก การเล่นลักษณะนี้โดยทั่วไป เมื่อผู้เล่นซัดโยโย่ออกจากมือแล้ว จะปล่อยตุ้มถ่วงออกจากมือด้วย ทำให้ตัวโยโย่ทั้งชุดหมุนโดยอิสระกลางอากาศ ผู้เล่นอาจแสดงท่าต่างๆ โดยการสัมผัสกับตัวจานหมุนของโยโย่โดยตรง หรือการจับตุ้มถ่วง หรือจับเชือกในบริเวณต่างๆ
โยโย่สำหรับการเล่นแบบฟรีแฮนด์ ถูกพัฒนาขึ้นในปี พ.ศ. 2542 โดย สตีฟ บราวน์ (Steve Brown) หลังจากจดสิทธิบัตร กลุ่มบริษัทเฟลมเบอ ก็ซื้อสิทธิในการผลิตโยโย่ประเภทนี้ ซึ่งต่อมาได้รับความนิยมแพร่หลายเป็นอย่างมาก โดยในปี พ.ศ. 2551 ถือว่าเป็นรูปแบบการเล่นโยโย่ที่เติบโตเร็วที่สุด
การเล่นโยโย่แบบฟรีแฮนด์ อาจประยุกต์การเล่นแบบสลีปปิง และใช้เชือกเป็นแกนหลักของท่า หรืออาจพลิกแพลงใช้การเล่นลูปปิงประกอบได้หลากหลาย
การแข่งขันโยโย่แบบเล่นฟรีแฮนด์ ถูกแยกต่างหากเป็นประเภท 5เอ
รูปทรง
แก้จวบจนถึงปัจจุบัน มีการผลิตโยโย่ ปรับแต่ง และออกแบบรูปทรงส่วนจานหมุนแบบใหม่ๆ มามากมาย ส่งผลให้โยโย่แต่ละอันล้วนมีคุณลักษณะพิเศษแตกต่างกันตามไปด้วย อย่างไรก็ดี อาจจำแนกรูปทรงของโยโย่ออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ ได้แก่
อิมพีเรียล (Imperial)
แก้ถือเป็นรูปทรงดั้งเดิมของโยโย่ มีลักษณะเป็นที่ติดตากันทั่วไป อาจเป็นที่รู้จักในอีกชื่อคือทรง สกัลปต์ (Sculpted) ซึ่งหมายถึงการถูกแกะสลักเสลาออกมาเป็นชิ้นงาน
รูปทรงแบบอิมพีเรียลนี้ ทำให้โยโย่เหมาะต่อการเล่น ลูปปิง เป็นรูปแบบแรกของโยโย่ที่ เปโดร ฟลอเรสผลิตออกวางจำหน่าย ก่อนจะขายต่อสิทธิ์ในการผลิตให้ดันแคนในภายหลัง
โมดิฟายด์ (Modified)
แก้รูปทรงโมดิฟายด์ ซึ่งมีความหมายตรงตัวว่ารูปทรงที่ผ่านการดัดแปลง ได้รับความนิยมสำหรับผู้เล่นโยโย่ เพราะสามารถเล่นท่าแนวสลีปปิง และลูปปิงได้ดีทั้งคู่ บ้างก็เรียกว่าเป็นรูปทรงฟลายวีล ที่แปลว่าทรงจานบิน หรือรูปทรงโมเดิร์น อันมีความหมายว่ารูปทรงสมัยใหม่
จุดเด่นของโยโย่รูปทรงโมดิฟายด์ คือผิวหน้าด้านนอกของส่วนที่เป็นจานหมุนทั้งสองจะถูกคว้านออกโพรง อาจมีการปิดทับด้วยพลาสติก หรือกระดาษ โดยเหลือขอบบริเวณรอบจานหมุน ช่วยเพิ่มมวลและแรงเฉื่อยในการหมุนของโยโย่ ซึ่งมีผลทำให้โยโย่หมุนได้นานยิ่งขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน ตัวโยโย่เองก็มีลักษณะเรียวบางทำให้สามารถพลิกกลับได้ง่ายในขณะเล่นท่าลูปปิง โดยรวมแล้ว ตัวจานหมุนของโยโย่มีความโค้งมน ไม่มีบริเวณที่เป็นสันอย่างเด่นชัด ถือได้ว่าเป็นรูปทรงโยโย่ที่มีความสมดุลในการเล่นมากที่สุด
ผีเสื้อ (Butterfly)
แก้ถือกำเนิดในปี พ.ศ. 2501 แปลตรงตัวได้ว่ารูปทรงผีเสื้อ ชื่อเรียกดังกล่าวมาจากลักษณะเด่นของส่วนจานหมุนที่บานออกจากกัน ทำให้ง่ายต่อผู้เล่นที่จะใช้เชือกคล้องตัวจานหมุนในขณะเล่น เหมาะเป็นอย่างยิ่งสำหรับการเล่นท่าที่ใช้เชือก รูปทรงนี้ยังเหมาะสำหรับการเล่นแบบ ออฟ-สตริง ด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตามข้อเสียของโยโย่รูปทรงนี้ คือไม่เหมาะสำหรับการเล่นท่าลูปปิง เพราะตัวจานหมุนที่บานออก ทำให้ตัวโยโย่พลิกกลับในระหว่างการเล่นลูปปิงได้ยาก
โยโย่รูปทรงผีเสื้อมีลักษณะคล้ายคลึงกับ เดียโบโล ซึ่งเป็นของเล่นอีกชนิดหนึ่ง ในบางครั้งก็เรียกโยโย่รูปทรงนี้ว่า โยโย่จีน มีความนิยมในหมู่โยโย่ทรงต่างมาก ส่วนใหญ่เป็นเหล็ก
รูปทรงใหม่
แก้เริ่มแพร่หลายในระยะเวลาไม่นานนับแต่ปี พ.ศ. 2550 มีการพัฒนารูปทรงของโยโย่แบบใหม่ขึ้นมาอย่างหลากหลาย ตัวอย่างเช่น
- โยโย่แบบร่องกว้าง เน้นการเพิ่มช่องว่างระหว่างส่วนจานหมุนทั้งสองอัน ทำให้มีที่ให้เชือกแทรกตัวเข้าใกล้แกนหมุนของโยโย่ได้มากขึ้น และช่วยให้ง่ายต่อการเล่นท่าแบบใช้เชือก แต่ก็มีข้อเสียสำคัญคือตัวโยโย่ไม่สามารถพันทบเชือกกลับสู่มือผู้เล่นได้ด้วยการกระตุกเชือกแต่เพียงอย่างเดียว แต่ต้องใช้เทคนิคพิเศษในการทบเชือก
- โยโย่ทรงตัว H ลักษณะคล้ายกับโยโย่ทรงผีเสื้อ แต่ข้อแตกต่างคือ บริเวณขอบของจานหมุนมีการเสริมจนเป็นสันหนา ช่วยเพิ่มมวลบริเวณดังกล่าว ใช้วัสดุมากจึงราคาสูง
- โยโย่แบบมีรอยบุ๋ม คือโยโย่ที่ผิวนอกของส่วนจานหมุน มีรอยบุ๋มลักษณะคล้ายรอยบุ๋มบนผิวลูกกอล์ฟ รอยบุ๋มเหล่านี้ จะช่วยลดแรงต้านอากาศขณะที่โยโย่กำลังหมุน ช่วยเพิ่มระยะเวลาการทำสลีปปิง
- โยโย่ DIY ได้2ประเภท
1.ลูกปืน
2.โยโย่ติดมอเตอร์
การกระจายน้ำหนัก
แก้การออกแบบส่วนจานหมุนของโยโย่ จำเป็นต้องคำนึงมวลของจานหมุนว่าเน้นหนักไปในตำแหน่งใดของจาน จานหมุนแบบที่มีเนื้อวัสดุมากบริเวณขอบจานหมุนเป็นการออกแบบที่ช่วยให้เล่นท่าเชือกได้ง่ายขึ้น ในขณะที่โยโย่แบบที่เน้นการถ่วงน้ำหนักให้มวลส่วนใหญ่อยู่บริเวณแกนกลางของจาน จะเอื้อให้ผู้เล่นสามารถเล่นท่าลูปปิงได้ง่ายขึ้น เพราะโยโย่สามารถพลิกตัวในขณะเล่นได้ดีขึ้น
โยโย่ที่มีมวลมาก ส่งผลให้โมเมนต์ความเฉื่อยเพิ่มขึ้นด้วย ทำให้โยโย่หมุนได้นานกว่าแบบที่มวลน้อยกว่า อย่างไรก็ตามมวลที่เพิ่มขึ้นก็หมายถึงภาระของผู้เล่นที่ต้องใช้พละกำลังระหว่างเล่นเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน
นวัตกรรม
แก้จานหมุน
แก้โยโย่ในปัจจุบันส่วนใหญ่ ผลิตในแบบที่แยกชิ้นส่วนได้
ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
หลักการทำงาน
แก้ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |