รัตนชาติ
ลิงก์ข้ามภาษาในบทความนี้ มีไว้ให้ผู้อ่านและผู้ร่วมแก้ไขบทความศึกษาเพิ่มเติมโดยสะดวก เนื่องจากวิกิพีเดียภาษาไทยยังไม่มีบทความดังกล่าว กระนั้น ควรรีบสร้างเป็นบทความโดยเร็วที่สุด |
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
รัตนชาติ หรือ หินอัญมณี (อังกฤษ: gemstone) เป็นกลุ่มประเภทของแร่ประเภทหนึ่ง โดยหมายถึง แร่หรือหินบางชนิด หรืออินทรียวัตถุธรรมชาติที่นำมาเจียระไน ตกแต่ง หรือแกะสลัก เพื่อใช้เป็นเครื่องประดับ มีความงาม ทนทาน และหายาก โดยปกติแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ เพชร และพลอย ซึ่งหมายถึง อัญมณีทุกชนิดยกเว้นเพชร หากผ่านการตกแต่งหรือเจียระไนแล้ว เรียกว่า อัญมณี นอกจากนี้ สารประกอบที่ได้จากสิ่งมีชีวิตที่อาจจัดเป็นรัตนชาติได้แก่ ไข่มุก และปะการังและอำพัน
รัตนชาติหรืออัญมณี เป็นผลึกที่มีมลทินอยู่ภายใน ทำให้มีสีต่าง ๆ กันไป มีความแข็ง สามารถเจียระไนให้เกิดมุม เพื่อให้เกิดการกระจายแสงเห็นความแวววาว มลทินในแร่ ทำให้แร่มีสีต่าง ๆ กัน แร่คอรันดัมบริสุทธิ์ เป็นสารพวกอะลูมิเนียมออกไซด์ มีสีขาว ถ้ามีมลทินจำพวกโครเมียมผสม ทำให้มีสีแดง เช่นทับทิม ส่วน เหล็ก ไทเทเนียม ทำให้มีสีน้ำเงิน (ทับทิมกับไพลิน เป็นแร่คอรันดัมเหมือนกัน แต่มีมลทินต่างชนิดกัน)
เกณฑ์ที่ใช้ตัดสินอัญมณีได้แก่ ความแข็ง (ตามมาตราโมส), ความถ่วงจำเพาะ และค่าดัชนีหักเหของแสง
ดัชนีหักเหของแสง เป็นค่าคงที่ของอัญมณีแต่ละชนิด จึงใช้ตัดสินว่าเป็นของปลอมหรือไม่ ความแข็งของแร่ก็มีผลต่อราคาของอัญมณีด้วย จึงนำมาทดสอบ โดยการขูดขีดกัน (อาจใช้ตะไบ มือ เหรียญทองแดง มีดพับ, กระจก ทดสอบ) แร่ที่มีรอยขูดขีดจะอ่อนกว่า ซึ่งทดสอบได้
ประเภทของรัตนชาติ
แก้- พลอย หรือหินสี ที่สำคัญได้แก่
- พลอยในตระกูลคอรันดัม ซึ่งประกอบด้วย Al2O3 โดยมี Al : O = 52.9 : 47.1 โดยมวล การที่พลอยแต่ละชนิดมีสีต่างกันเป็นเพราะมีธาตุเจือปนที่ต่างกัน เช่นทับทิม มีสีแดง เพราะมี โครเมียม เจือปนอยู่ 0.1 – 1.25 โดยมวล บุษราคัม (แซฟไฟร์สีเหลือง) มี เหล็ก และไทเทเนียม เจือปน ไพลิน (แซฟไฟร์สีน้ำเงิน) มีสีน้ำเงินเพราะมี เหล็ก และ ไทเทเนียม เจือปน พลอยสาแหรก หรือสตาร์ มีรูไทล์ปนอยู่ในเนื้อพลอย
- พลอยในตระกูลควอทซ์ เช่น อเมทิสต์ ซิทริน อาเกต เป็นต้น
- เพชร เป็นธาตุคาร์บอนที่บริสุทธิ์ มีความแข็งแรงมากที่สุด เพชรที่ดีจะต้องไม่มีสี
รัตนชาติไทย
แก้บทความนี้อาจต้องเขียนใหม่ทั้งหมดเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานคุณภาพของวิกิพีเดีย หรือกำลังดำเนินการอยู่ คุณช่วยเราได้ หน้าอภิปรายอาจมีข้อเสนอแนะ |
บทความหลัก: นพรัตน์
หากจะแปลตามตัว รัตนชาติ ที่เดิมเขียนกันว่า รัตนชาต ก็จะแปลไว้ว่า สิ่งที่ถือกำเนิดมาเป็นแก้ว (รัตน=แก้ว ชาต=เกิด) ซึ่งในประเทศไทยเอง ก็พบว่ามีรัตนชาต 9 อย่างอันเป็นมิ่งมงคล แต่บางชนิดหายากหรือหาไม่พบในประเทศไทยปัจจุบันแล้ว
รัตนชาต ทั้ง 9 หรือเรียกว่า นพรัตน์ นั้น โบราณท่านผูกเป็นบทกลอนไว้ว่า
เพชรดีมณีแดง เขียวใสแสงมรกต เหลืองใสสดบุษราคัม แดงแก่ก่ำโกเมนเอก สีหมอกเมฆนิลกาฬ มุกดาหารหมอกมัว แดงสลัวเพทาย สังวาลย์สายไพฑูรย์
ซึ่งตามคำกลอนดังกล่าว ไม่ได้เรียงตามระดับราคาหรือค่าความแข็งแต่อย่างใด แต่ทั้งนี้พบว่าชื่อเรียกในโบราณนั้น ปัจจุบันสามารถหมายถึงรัตนชาตชนิดอื่นได้เช่นกัน ถ้าอ้างอิงตามกลอนบทนี้ สามารถถอดความเป็นรัตนชาต 9 อย่างได้ดังนี้
- เพชรดี หมายถึง เพชร แร่รัตนชาติสีขาว (Diamond)
- มณีแดง หมายถึง ทับทิม แร่รัตนชาติสีแดง (Ruby)
- เขียวใสแสงมรกต หมายถึง มรกต แร่รัตนชาติสีเขียว (Emerald)
- เหลืองใสสดบุษราคัม หมายถึง บุษราคัม แร่รัตนชาติสีเหลือง (แซฟไฟร์สีเหลือง)
- แดงแก่ก่ำโกเมนเอก หมายถึง โกเมน แร่รัตนชาติสีเลือดหมู (Garnet)
- สีหมอกเมฆนิลกาฬ หมายถึง แซฟไฟร์ แร่รัตนชาติสีน้ำเงิน(ไพลิน) (แซฟไฟร์สีน้ำเงิน)
- มุกดาหารหมอกมัว หมายถึง มุกดา หรือ จันทรกานต์ แร่รัตนชาติสีขาวขุ่นคล้ายสีหมอก มีลักษณะพิเศษมีเหลือบรุ้งสีออกฟ้าสีนวล (Moonstone)
- แดงสลัวเพทาย หมายถึง เพทาย แร่รัตนชาติสีแดงเข้ม (Hyacinth) เขียนอีกอย่างหนึ่งว่า (Yellow Zircon) (ซึ่งเป็นรัตนชาตชนิดเดียวกัน)
- สังวาลสายไพฑูรย์ หมายถึง ไพฑูรย์ เป็นอัญมณีหรือหินสีชนิดหนึ่งหรือแร่รัตนชาติ มีหลายสีเช่น สีเหลืองนวล สีเหลืองทอง สีน้ำผึ้ง สีเขียวแอปเปิล สีน้ำตาล ฯลฯ (Chrysoberyl-cat eye)
นพรัตน ความหมายตามภาษาสันสกฤตหมายถึง "๙ รัตนชาติ"
ที่มา
แก้นพรัตน หรือ นวรัตน และ เนาวรัตน จากภาษาสันกฤต ซึ่งพ้องเสียงกับอีกหลายๆ ประเทศในดินแดนเอเชีย สืบทอดต่อกันมาแต่ครั้งบุรพกาล ความสำคัญทั่วแดนสุวรรณภูมินับถือตรงกันว่า เป็นรัตนศักดิ์สิทธิ์ชั้นสูง ซึ่งนอกเหนือจากศาสนาและวัฒนธรรมที่แตกต่างกันออกไป
เข้าใจว่าชนเอเชียทั้งหลายให้การยอมรับและนับถือในสิริมงคลแห่งนพรัตน์
กำเนิดของรัตน 9 ประการ
แก้ในภาษาสันสกฤต เรียกขนานนามว่า "นวรัตน (नवरत्न)" รวมถึงภาษาฮินดี,พม่า อินโดนีเซีย และเนปาล ส่วนในภาษาสิงหลเรียก "นวรัตเน" และในภาษาไทยเรียก "นพรัตน์" เป็นธรรมเนียมของรัตนโบราณที่อยู่คู่ดินแดนสุวรรณภูมิ แต่ดั้งเดิมจึงไม่ปรากฏที่มา
เกือบทุกประเทศในแถบเอเชียนับถือว่าเป็นรัตนสูงส่งของเทพ ซึ่งตกทอดสืบต่อกันมา ทั้งในประเทศอินเดีย เนปาล ศรีลังกา สิงคโปร์ พม่า กัมพูชา เวียดนาม อินโดนีเซีย ไทย และมาเลเซีย (โดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างทางวัฒนธรรมและศาสนา) [1]
การประดับของราชสำนัก
แก้และในประเทศดังกล่าว ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวที่ให้ความสำคัญอย่างเป็นทางการ และยกย่องให้นพรัตนเป็นรัตนมงคลโบราณแห่งแผ่นดิน ตามพระราชบัญญัติ เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์ บัญญัติว่าเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องประดับสำหรับยศแห่งพระมหากษัตริย์ ตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯให้สร้างดวงตรามหานพรัตน สำหรับห้อยสายสะพายขึ้นเป็นครั้งแรกของเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย[2]
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
แก้เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์ (น.ร.) องค์ประกอบสายสะพายชั้นเดียวของเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตน์ฯ
- มหานพรัตน ด้านหน้าเป็นดอกประจำยามประดับ 9 รัตน ใช้ห้อยกับแพรแถบ สะพายบ่าขวาเฉียงลงทางซ้าย (สำหรับบุรุษ) ส่วนสำหรับสตรี ใช้ห้อยกับแพรแถบผูกเป็นรูปแมลงปอ ประดับเสื้อที่หน้าบ่าซ้าย
- ดารานพรัตน เป็นรูปดาราประดับ 9 รัตน เหมือนมหานพรัตน
- แหวนนพรัตน ทำด้วยทองคำเนื้อสูง
และนพรัตนยังเป็นส่วนหนึ่งของนามกรุงเทพฯ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชพระราชทานนาม โดยทรงเปรียบเทียบเมืองหลวงของไทยนี้ดั่งเมืองในสรวงสวรรค์แห่งเทพ อันเป็นที่มาของรัตนชาติทั้ง ๙ ประการว่า "กรุงเทพมหานคร อมรรัตรโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบูรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์" [3]
ซึ่งจากเอกสารในหอสมุดของสยามสมาคมฯระบุว่าครูมนตรี ตราโมท เป็นผู้นำกลอนนพรัตน์มาแต่งท่วงทำนองใช้ร้องเป็นระบำนพรัตน์กล่าวคือ "เพชรดี มณีแดง เขียวใสแสงมรกต เหลืองสวยสดบุษราคัม แดงแก่ก่ำโกเมนเอก สีหมอกเมฆนิลกาฬ มุกดาหารหมอกมัว แดงสลัวเพทาย สังวาลย์สายไพฑูรย์ฯ"
นพรัตนกับดวงดาว
แก้การให้ความหมายของรัตนชาติทั้ง ๙ ประการนี้ท่านพันเอก (พิเศษ) ประจวบ วัชรปาณ และท่านเทพย์ สาริกบุตรได้ระบุไว้ใน"คัมภีร์ปาริชาตชาดก" หรือ "ชาตกปาริชาต (जातक पारिजात - Jataka Parijata)" (บทที่ ๒ โศลก ๒๑ หน้า ๓๖-๓๗)
"ทับทิมบริสุทธิ์ เป็นรัตนของอาทิตย์ ไข่มุกที่ขาวบริสุทธิ์โดยแท้ธรรมชาติ เป็นรัตนของจันทร์ ปะการังแก้วประวาล เป็นรัตนของอังคาร มรกต เป็นรัตนของพุธ บุษราคัม เป็นรัตนของพฤหัสบดี เพชร เป็นรัตนของศุกร์ ไพลิน เป็นรัตนของเสาร์ โกเมนเอก เป็นรัตนของราหู และไพฑูรย์ เป็นรัตนของเกตุฯ" กล่าวคือ
- เพชรดี - คือรัตนของดาวพระศุกร์
- มณีแดง - คือทับทิมบริสุทธิ์ของดาวพระอาทิตย์
- เขียวใสแสงมรกต - คือรัตนของดาวพระพุธ
- เหลืองสวยสดบุษราคัม - คือรัตนของดาวพระพฤหัสบดี
- แดงแก่ก่ำโกเมนเอก - คือโคเมทส้มรัตนของดาวพระราหู
- สีหมอกเมฆนิลกาฬ - คือไพลินรัตนของดาวพระเสาร์
- มุกดาหารหมอกมัว - คือไข่มุกแท้รัตนของดาวพระจันทร์
- แดงสลัวเพทาย - คือปะการังรัตนของดาวพระอังคาร
- สังวาลย์สายไพฑูรย์ - คือเพชรตาแมวรัตนของดาวพระเกตุ
ตารางความสัมพันธ์ของดวงดาวกับจักรราศี
แก้ดวงดาว | รัตน | จักรราศี |
---|---|---|
พระอาทิตย์ | มณีแดง | สิงห์ |
พระจันทร์ | มุกดา | กรกฎ |
พระอังคาร | ปะการังแดง | เมษ/พิจิก |
พระพุธ | มรกต | เมถุน/กันย์ |
พระพฤหัสบดี | บุษราคัม | ธนู/มีน |
พระศุกร์ | เพชร | พฤษภ/ตุลย์ |
พระเสาร์ | ไพลิน | มังกร/กุมภ์ |
พระราหู | โกเมนเอก | - |
พระเกตุ | ไพฑูรย์ | - |
หลักฐานอ้างอิงจากแหล่งอื่น นอกจากโคลงใน"ชาตกปาริชาต" อัธยายที่ ๒ โศลก ๒๑ ซึ่งเรียบเรียงเป็นภาษาสันสกฤตโดยปราชญ์ไวทฺยนาถ ทีกฺษิต (वैद्यनाथ दीक्षित - Vaidyanatha Dikshita) บุตรแห่งโยคีไวนคาทะ ธารี แล้ว โศลกเดียวกันนี้บัญญัติไว้เช่นกันโดย เอส.เอ็ม ฐากูร (พ.ศ. ๒๔๒๒) ในพระคัมภีร์ "มณิมาลา (मणिमाला - Mani mala)".หน้า ๕๗๕ โศลก ๗๙ กล่าวคือ
माणिक्यं तरणेः सुजात्यममलं मुक्ताफलं शीतगोः माहेयस्य च विद्रुमं मरकतं सौम्यस्य गारुत्मतम देवेज्यस्य च पुष्पराजमसुराचार्यस्य वज्रं शनेः नीलं निर्मलमन्ययोश्च गदिते गोमेदवैदूर्यके
มาณิกฺยํ ตรเณะ สุชาตฺยมมลํ มุกฺตาผลํ ศีตโคะ มาเหยสฺย จ วิทรุมํ มรกตํ เสามฺยสฺย คารุตฺมตม เทเวชฺยสฺย จ ปุษฺปราชมสุราจารฺยสฺย วชฺรํ ศเนะ นีลํ นิรฺมลมนฺยโยศฺจ คทิเต โคเมทไวทูรฺยเก
คำแปล
- ทับทิม เพื่อ พระอาทิตย์
- ไข่มุก เพื่อ พระจันทร์
- ปะการัง เพื่อ พระอังคาร
- มรกต เพื่อ พระพุธ
- บุษราคัม เพื่อ พระพฤหัสบดี
- เพชร เพื่อ พระศุกร์
- ไพลิน เพื่อ พระเสาร์
- โกเมนเอก เพื่อ พระราหู (ระนาบเส้นตัดทางเหนือของเส้นสุริยมรรคกับเส้นจันทรมรรค)
- ไพฑูรย์ เพื่อ พระเกตุ (ระนาบเส้นตัดใต้ของของเส้นสุริยมรรคกับเส้นจันทรมรรค)
รัตนชาติ ดังกล่าวนี้ ต้องคุณภาพสูงและปราศจากตำหนิ
หลักการจัดเรียงประดับ
แก้ธรรมเนียมของหลักการจัดเรียงประดับรัตนชาติทั้ง ๙ ตามระบุในภาพนี้ กล่าวคือ ทับทิมเพื่อพระอาทิตย์ จะอยู่ที่ศูนย์กลางเสมอ และล้อมรอบ (ตามเข็มนาฬิกา) บนสุดคือ เพชร,ไข่มุกแท้ธรรมชาติ,ปะการังแดง,โกเมนเอก,ไพลิน,ตาแมว,บุษราคัม,และ มรกต เป็นตำแหน่งในหลักการเดียวกันของยันต์นพเคราะห์ ตามหลักของกฎธรรมชาติ โดยมีพระอาทิตย์เป็นศูนย์กลางของการไหลเวียนพลังงานในระบบสุริยจักรวาล[5] และโปรดดูภาพตัวอย่างการประดับเรียง ในลักษณะสร้อยอย่างถูกต้องของ "นพรัตน์แห่งสิริมงคล" [6].
อัญมณีพิสุทธิ์แห่งนพรัตน
แก้โศลกจาก "มณีมาลา" ที่กล่าวไว้ข้างต้นมีนัยสำคัญคือ คำว่า"สุจัทยัม-อมาลัม" (สุชาติ = ชาติกำเนิดดี, และอมลา=บริสุทธิ์ ไร้มลทิน) อันเป็นความสำคัญบ่งบอกไว้ให้ทราบว่า ตามระบบความเชื่อถือของชาวเอเชียล้วนนับถือว่า อัญมณีที่มีสิริมงคลต้องคุณภาพดีปราศจากซึ่งตำหนิ
คำสอนสั่งที่ถูกมองข้ามไปนี้ยังมีข้อสนับสนุนจาก "พระครุฑโบราณ"บทที่ ๖๘ โศลก ๑๗ บัญญัติโดยพระสูตต์ โคสวามี ดังนี้ "รัตนชาติบริสุทธิ์ ปราศจากตำหนิ กอปรพลานุภาพที่มีสิริมงคล สามารถปกป้องคุ้มครองจากภยันตราย,อวิชา,งู,ยาพิษ,ความหายนะ และผลกรรมสนอง ในขณะชิ้นที่มีตำหนิจะส่งผลตรงข้าม"[7]
และใน "พระอัคนีโบราณ" บทที่ ๒๔๖ โศลก ๗-๘ ได้บัญญัติไว้แต่ครั้งบุรพกาล คือ "รัตนชาติปราศจากราคินและเปล่งประกายที่สะท้อนถึงความแวววาวรุ่งเรือง ควรถือเป็นสื่อนำซึ่งความโชคดี ส่วนชิ้นที่เกิดตำหนิข้างใน,แตกร้าว และไร้ความสุกใสแวววาวหรือขุ่นมัว ขรุขระ หยาบด้าน ไม่ควรใช้อย่างเด็ดขาด"[8]
นพรัตน์ในโหราศาสตร์โบราณ
แก้จากหลักโหราศาสตร์โบราณของเอเชีย ชีวิตบนโลกล้วนขึ้นอยู่กับนพเคราะห์ หรือ ๙ อิทธิพล ซึ่งตำแหน่งที่สถิตของนพเคราะห์ในแผนภูมิดวงชะตาของแต่ละบุคคล ล้วนส่งอิทธิพล ต่อดวงชีวิตของคนๆนั้น กล่าวกันว่าการสวมใส่ ๙ รัตนชาติ จะช่วยให้ดวงดาวตามโหราศาสตร์สมดุล และมีสิริมงคลต่อผู้สวมใส่ ทางโหราศาสตร์เอเชียโบราณยังกล่าวว่าพลังรัตนชาติเหล่านี้ยังผลดีและผลลบต่อชีวิตมนุษย์เช่นกัน ดังนั้น ก่อนการสวมใส่ดารารัตนชาติ จึงควรจำเป็นต้องปรึกษาโหรโบราณ ระบบพระเวท ควรเป็นผู้ที่ศึกษาและเชี่ยวชาญทางดารารัตนชาติเพื่อให้ต้องโฉลกต่อพื้นฐานดวงชะตาของแต่ละบุคคล แม้ว่าจะเป็นเพียงรัตนเดี่ยวๆหรือการแนะนำให้ประดับรัตนที่สมพงษ์ร่วมในเรือนเดียวกัน [9][10]
ข้อคิดเห็น และทัศนคติ
แก้ข้อคิดเห็นที่ไม่มีหลักฐานอ้างอิง เช่น การระบุขนาด-น้ำหนักของรัตนชาติ เพื่อการสวมใส่,หรือรัตนต้องสัมผัสผิวผู้สวมใส่,หรือควรสวมใส่รัตนชาติให้กับดวงดาวที่ให้โทษ หรือดวงดาวที่เป็นมงคล,หรือการยอมรับรัตนที่มีตำหนิ หรือรัตนที่ผ่านการเผาแล้วไม่มีพลัง การยอมรับว่าไข่มุกเลี้ยงคือมุกแท้ หรือการทำบุญอุทิศรัตน เพื่อมงคลในชีวิต หรือรัตนต้องประดับกับโลหะที่ในทางปฏิบัติทำได้ยาก มิฉะนั้นจะไม่มีพลัง ฯลฯ เหล่านี้ล้วนยังไม่สามารถเป็นข้อเท็จจริงได้เพราะไม่มีข้ออ้างอิงหรือคัมภีร์บัญญัติไว้เป็นหลักฐานว่า สิ่งเหล่านี้คือข้อเท็จจริง แต่อาจกล่าวได้ว่า "ผู้ให้คำแนะนำทางดารารัตน"เป็นเจ้าของความคิดเห็นเหล่านี้ แม้ว่าจะไม่มีหลักคัมภีร์และหลักฐานทางตำรามาสนับสนุนก็ตาม โดยที่นับถือกันว่า "รัตนชาติ" สะท้อนพลังงานทางธรรมชาติหรือทางโหราศาสตร์ แต่การพิสูจน์ถึง"พลัง"ให้รัตนแสดงค่าบ่งชี้และวัดผลได้นั้น จึงจะถือเป็นก้าวแรกของการยอมรับทางวิทยาศาสตร์
นพรัตนในศาสนาต่าง ๆ
แก้อ้างอิง
แก้- ↑ Richard Brown (2007). Mangala Navaratna (page 1). Hrisikesh Ltd. ISBN 974-07-1853-1.
- ↑ "Reference Thai Government". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-10-05. สืบค้นเมื่อ 2009-08-28.
- ↑ พระราชทานนามพระนครตามที่ได้กล่าวไว้[1]
- ↑ ริชาร์ด เอส. บราวน์. ดาราอัญมณี หน้า 27-28 พิมพ์ครั้งที่ 2 .กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน. 2546. ISBN 974-322-538-2
- ↑ Richard Brown (2007). Mangala Navaratna (page 2). Hrisikesh Ltd. ISBN 974-07-1853-1.
- ↑ Bangkok Gems & Jewellery Magazine (1993). A New Addition to the Crown Jewels of Thailand. BGJ Bangkok.
- ↑ ริชาร์ด เอส.บราวน์. ดาราอัญมณีบทที่ 4 หน้าที่ 67-68.พิมพ์ครั้งที่ 2.กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์มติชน. 2546.ISBN 974-322-538-2
- ↑ Richard S. Brown (2008). Ancient Astrological Gemstones & Talismans - 2nd Edition - pages 33 and 51. Hrisikesh Ltd. ISBN 978-974-8102-29-0.
- ↑ Harish Johari (1982). The Healing Power of Gemstones, Page 35. Destiny Books. ISBN 089281-215-X.
- ↑ Howard Beckman (2000). Vibrational Healing With Gems. Balaji Publisher. ISBN 8121207045.
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- พจนานุกรมศัพท์ธรณีวิทยา ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. กรุงเทพ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2544. หน้า 160