อำพัน เป็นซากดึกดำบรรพ์ของยางไม้ เป็นสิ่งมีค่าด้วยสีสันและความสวยงามของมันตั้งแต่ยุคหินใหม่[1] อำพันที่มีคุณภาพดีเยี่ยมจะถูกนำมาผลิตเป็นเครื่องประดับและอัญมณี แม้ว่าอำพันจะไม่จัดเป็นแร่ แต่ก็ถูกจัดให้เป็นพลอย

อำพัน
แมลงในอำพัน
การจำแนก
ประเภทสารประกอบอินทรีย์
สูตรเคมีC10H16O·(H2S)
คุณสมบัติ
สีเหลือง, น้ำตาล, น้ำตาลแดง, เหลืองครีม
โครงสร้างผลึกไม่เป็นผลึก
แนวแตกเรียบไม่มี
รอยแตกรอยแตกโค้งเว้า
ค่าความแข็ง2 - 2.5
ความวาวเรซินเงา
ดรรชนีหักเห1.540 (−0.001 ถึง +0.005)
ค่าแสงหักเหสองแนวไม่
สีผงละเอียดสีขาว
ความหนาแน่น1.05 - 1.15
ความโปร่งโปร่งใส
คุณสมบัติอื่นทำปฏิกิริยากับออกซิเจน กรดเบสที่มีเข้มข้นน้อย รวมทั้งน้ำมัน ทนต่อ อีเธอร์ อะซิโตน และ กรดซัลฟูริก,
ไวไฟ, มีความต้านทานไฟฟ้าสูง (1018 โอห์ม), ไฟฟ้าสถิตโดยแรงเสียดทาน
อำพันตกแต่งเป็นเหรียญประดับรูปไข่ขนาด 2x1.3 นิ้ว

โดยทั่วไปแล้วจะเข้าใจผิดกันว่าอำพันเกิดจากน้ำเลี้ยงของต้นไม้ แต่แท้ที่จริงแล้ว น้ำเลี้ยงเป็นของเหลวที่ไหลเวียนอยู่ในระบบท่อลำเลียงของพืช ขณะที่ยางไม้เป็นอินทรียวัตถุเนื้ออสัณฐานกึ่งแข็งที่ถูกขับออกมาผ่านเซลล์เอพิทีเลียมของพืช

เพราะว่าอำพันเคยเป็นยางไม้ที่เหนียวนิ่มเราจึงพบว่าอาจมีแมลงหรือแม้แต่สัตว์มีกระดูกสันหลังขนาดเล็กอยู่ในเนื้อของมันได้ ยางไม้ที่มีสภาพเป็นกึ่งซากดึกดำบรรพ์รู้จักกันในนามของโคปอล

สีของอำพันมีได้หลากหลายสีสัน ปรกติแล้วจะมีสีน้ำตาล เหลือง หรือส้ม เนื้อของอำพันเองอาจมีสีได้ตั้งแต่ขาวไปจนถึงเป็นสีเหลืองมะนาวอ่อน ๆ หรืออาจเป็นสีน้ำตาลจนถึงเกือบสีดำ สีที่พบน้อยได้แก่สีแดงที่บางทีก็เรียกว่าอำพันเชอรี่ อำพันสีเขียวและสีฟ้าหายากที่มีการขุดค้นหากันมาก

อำพันที่มีค่าสูงมาก ๆ จะมีเนื้อโปร่งใส ในทางตรงกันข้ามอำพันที่พบกันมากทั่วไปจะมีสีขุ่นหรือมีเนื้อทึบแสง อำพันเนื้อทึบแสงมักมีฟองอากาศเล็ก ๆ เป็นจำนวนมากที่รู้จักกันในนามของอำพันบาสตาร์ดหมายถึงอำพันปลอม ซึ่งแท้ที่จริงแล้วก็เป็นอำพันของแท้ ๆ นั่นเอง

ที่มาของชื่อ

แก้
 
ยางไม้โบราณเป็นแหล่งกำเนิดของอำพัน

อำพันหมายถึงแอมเบอร์ในภาษาอังกฤษสืบทอดมาจากคำในภาษาอาราบิกโบราณว่า “แอนบาร์กริส” หรือ “แอมเบอร์กริส” ซึ่งหมายถึงวัตถุที่เป็นน้ำมันหอมที่ขับออกมาโดยวาฬสเปิร์ม ภาษาอังกฤษกลางและฝรั่งเศสยุคเก่าเขียนเป็น ambre ส่วนภาษาลาตินเก่าเขียนเป็น ambra หรือ ambar เป็นวัตถุที่ลอยน้ำได้และมักถูกซัดไปสะสมตัวอยู่ตามชายหาด ด้วยความสับสนในการใช้ศัพท์ มันจึงถูกนำมาใช้เรียกยางไม้ที่กลายเป็นซากดึกดำบรรพ์ซึ่งก็พบได้ตามชายหาดได้เช่นกัน มีน้ำหนักเบากว่าหินแต่ก็เบาไม่เพียงพอที่จะลอยน้ำได้

พลินิผู้อาวุโส ได้สังเกตเห็นซากแมลงอยู่ในเนื้อของอำพันดังที่พบมีการบันทึกไว้ในหนังสือประวัติศาสตร์ธรรมชาติของเขา โดยเขาได้อธิบายไว้เป็นทฤษฎีได้อย่างถูกต้องว่าอำพันเคยมีสถานะเป็นของเหลวมาก่อนที่ไหลไปห่อหุ้มตัวแมลงไว้ ที่ทำให้เขาเรียกมันว่า ซัคคินั่ม หรือ หินยางไม้ ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังถูกนำมาใช้เรียกกรดซักซินิก และรวมถึง ”ซัคคิไนต์” เป็นศัพท์ที่ใช้เรียกประเภทของอำพันโดยเจมส์ ดวิกต์ ดานา (ดูด้านล่างที่อำพันบอลติก)

ภาษากรีกเรียกอำพันว่า ηλεκτρον (อิเล็กตรอน) และถูกเชื่อมโยงไปที่เทพแห่งดวงอาทิตย์ซึ่งอีกฉายาหนึ่งของท่านคือ อิเล็กเตอร์ หรือ อะเวกเคนเนอร์[2] มันถูกกล่าวถึงโดยธีโอฟาสตุสที่เป็นไปได้ว่าวัตถุลักษณะนี้เคยมีผู้กล่าวถึงมาแล้วเป็นครั้งแรกเมื่อศตวรรษที่ 4 ก่อนคริสตกาล คำว่า อิเล็กตรอน ในยุคปัจจุบันถูกนำมาใช้ในปี ค.ศ. 1891 โดยนักฟิสิกส์ชาวไอริช ยอร์จ จอห์นสโตน สโตนี โดยใช้เป็นคำศัพท์ภาษากรีกสำหรับเรียกอำพัน (ซึ่งถูกแปลให้เป็นอิเล็กตรัม) ตามคุณสมบัติทางไฟฟ้าสถิตของมันเป็นครั้งแรก การลงท้ายด้วย -on ทั่วไปจะใช้สำหรับอนุภาคในอะตอมทั้งหมดและใช้ในความหมายเดียวกับ ion[3][4]

เมื่อเผาอำพันจะนุ่มและท้ายสุดจะไหม้เกรียมซึ่งเป็นเหตุผลทำไม้คำว่าแอมเบอร์ในภาษาเยอรมันจึงมีความหมายว่า หินไหม้ (ในภาษาเยอรมันใช้คำว่า Bernstein ส่วนภาษาดัตช์ใช้คำว่า barnsteen) เมื่อเผาอำพันที่อุณหภูมิสูงกว่า 200 องศาเซลเซียสอำพันจะสลายตัวระเหยเป็นน้ำมันของอำพันเหลือเศษเถ้าสีดำที่รู้จักกันว่า "แอมเบอร์โคโลโฟนี" หรือ "แอมเบอร์พิตช์" เมื่อละลายในน้ำมันสนหรือน้ำมันลินซีดจะทำให้เกิดน้ำมันชักเงาอำพัน (แอมเบอร์วาร์นิช) หรือครั่งอำพัน (แอมเบอร์แลค)

อำพันจากทะเลบอลติกมีการซื้อขายกันอย่างกว้างขวางมาตั้งแต่โบราณกาลนานกว่า 2,000 ปีมาแล้ว โดยชาวพื้นเมืองเรียกมันว่า แกลส ด้วยสามารถมองผ่านทะลุได้อย่างแก้ว

ภาษาบอลติกและภาษาลิทัวเนียเรียกอำพันว่า ยินตาแรส และภาษาแลตเวียเรียกว่า ดิงทาร์ ศัพท์ทั้งสองคำและรวมถึงคำว่า แจนทาร์ ในภาษาสลาฟที่คิดว่าผิดเพี้ยนมาจากภาษาฟีนิเชียนคำว่า จายนิตาร์ (หมายถึงยางไม้ทะเล) อย่างไรก็ตามขณะที่ภาษาสลาฟทั้งหลายอย่างเช่นภาษารัสเซียและภาษาเช็คยังคงสงวนไว้ซึ่งคำภาษาสลาฟเก่าที่ถูกแทนที่ด้วยคำว่า เบอซ์ทีน ในภาษาโปแลนด์ซึ่งได้มาจากภาษาเยอรมัน

 
ยุงและแมลงในอำพันบอลติกอายุ 40 และ 60 ล้านปีที่ถูกทำเป็นเครื่องประดับร้อยเป็นสายสร้อย

เคมีของอำพัน

แก้

อำพันมีองค์ประกอบเป็นสารเนื้อผสม แต่เนื้อของมันก็ประกอบไปด้วยสารมีชันหลายชนิดที่ละลายได้ในเอทานอล ไดเอตทิลอีเทอร์ และคลอโรฟอร์ม รวมถึงสารที่ละลายไม่ได้จำพวกบิทูเมน อำพันประกอบไปด้วยสารโมเลกุลขนาดใหญ่จากการเกิดพอลิเมอร์ด้วยการเติมอนุมูลอิสระของสารดั้งเดิมในกลุ่มของแลบเดน กรดคอมมูนิก คัมมูนอล และไบโฟร์มีน[5] สารแลบเดนนี้เป็นไดเทอร์ปีน (C20H32) และไทรอีนซึ่งหมายความว่าเป็นโครงร่างทางอินทรีย์สารของอัลคีน 3 กลุ่มที่ยอมให้เกิดพอลิเมอร์ เมื่ออำพันมีอายุมากขึ้นเรื่อย ๆ ก็จะมีการเกิดพอลิเมอร์มากขึ้นเรื่อย ๆ เช่นกันพร้อม ๆ ไปกับปฏิกิริยาไอโซเมอร์ การเชื่อมโยงข้าม และการจัดเป็นวง องค์ประกอบเฉลี่ยทั่ว ๆ ไปของอำพันเขียนเป็นสูตรทางเคมีได้ว่า C10H16O

อำพันมีความแตกต่างไปจากโคปอล การเกิดพอลิเมอร์ระหว่างโมเลกุลภายใต้ความกดดันและอุณหภูมิทำให้ยางไม้เปลี่ยนไปเป็นโคปอลก่อน จากนั้นเมื่อโคปอลมีอายุมากขึ้นไปอีกสารเทอร์ปีนในเนื้อของมันจะค่อย ๆ ระเหยออกไปตามกาลเวลาก็จะทำให้โคปอลเปลี่ยนไปเป็นอำพัน

อำพันบอลติกมีความแตกต่างไปจากอำพันชนิดอื่น ๆ ของโลกด้วยเนื้อของมันมีกรดซักซินิก[ต้องการอ้างอิง] ที่ทำให้อำพันบอลติกเป็นที่รู้จักกันในนามของซัคคิไนต์

อำพันในทางธรณีวิทยา

แก้

อำพันที่เก่าแก่ที่สุดพบในยุคคาร์บอนิเฟอรัสหรือประมาณ 345 ล้านปีมาแล้ว ส่วนอำพันที่เก่าแก่ที่สุดที่มีแมลงอยู่ในเนื้อของมันด้วยนั้นได้มาจากยุคครีเทเชียสหรือประมาณ 146 ล้านปีมาแล้ว

แหล่งอำพันที่สำคัญที่สุดในเชิงพาณิชย์คือแหล่งในบอลติกและโดมินิกัน[6]

อำพันบอลติกหรือซัคคิไนต์ (มีบันทึกทางประวัติศาสตร์เรียกกันว่าอำพันปรัสเซีย) ถูกค้นพบเป็นก้อนทรงมนผิวขรุขระในทรายกลอโคไนต์ที่สะสมตัวกันในทะเลหรือที่รู้จักกันว่า “บลูเอิร์ธ” มีอายุสมัยโอลิโกซีนตอนต้นในเขตซัมแลนด์ของปรัสเซียโดยในแหล่งข้อมูลทางประวัติศาสตร์ถูกเรียกขานกันว่า แกลสซาเรีย หลังปี ค.ศ. 1945 ดินแดนแถบนี้รอบ ๆ เมืองเคอนิชส์แบร์คถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของแคว้นคาลินินกราดของประเทศรัสเซีย ซึ่งปัจจุบันมีการทำเหมืองอำพันกันอย่างเป็นระบบมีแบบแผน[7] อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่ามีอำพันบางส่วนเกิดจากการสะสมตัวในช่วงต้น ๆ ของยุคเทอร์เชียรี (อีโอซีน) และก็ยังพบได้ด้วยในชั้นหินที่มีอายุอ่อนขึ้นมาเช่นกัน มีการพบเศษซากพืชมากมายในเนื้อของอำพันขณะที่เนื้อยางไม้ยังสด ๆ อยู่ เศษซากพืชเหล่านั้นพิจารณาได้ว่ามีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับพืชพันธุ์ทางเอเชียตะวันออกและทางตอนใต้ของอเมริกาเหนือ เฮนริช กอปเปิร์ตได้ตั้งชื่ออำพันที่มีเศษซากสนไพน์จากป่าบอลติกว่า “ไพไนต์ ซัคคิไนเตอร์” แต่ในส่วนของเศษซากไม้แล้วบางคนพิจารณาว่าดูเหมือนว่าจะไม่ได้แตกต่างไปจากสกุลของสนที่มีการตั้งชื่อกันเอาไว้ก่อนแล้วที่เรียกกันว่า “ไพนัส ซัคคินิเฟอรา” อย่างไรก็ตามไม่น่าจะเป็นไปได้ที่อำพันที่พบจะเกิดขึ้นจากไม้สนเพียงชนิดเดียว เนื่องจากจริง ๆ แล้วในเนื้ออำพันเหล่านี้พบเศษซากไม้สนต่างสกุลกันอย่างหลากหลาย

อำพันโดมินิกันถูกพิจารณาให้เป็นริติไนต์เนื่องจากไม่พบกรดซักซินิก พบมี 3 แหล่งใหญ่ ๆ ในสาธารณรัฐโดมินิกันคือ ลาคอร์ดิลเลอร่าเซฟเทนทริโอนอลทางตอนเหนือ และบายากัวน่าและซาบาน่าทางตะวันออก ในทางเหนือพบว่าชั้นหินที่มีอำพันสะสมอยู่นั้นเป็นพวกหินเนื้อประสม หินทรายที่ตกสะสมตัวบริเวณสันดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ หรือแม้แต่ลงไปในทะเลลึก อำพันที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดและมีความแข็งที่สุดมาจากเขตเทือกเขาทางตอนเหนือของพื้นที่แซนติเอโก้จากเหมืองที่ลาคัมเบอร์ ลาโตก้า ปาโลควีมาโด้ ลาบูคารา และลอสคาซิออสในคอร์ดิลเลอร่าเซฟเทนทริโอนอลไม่ไกลจากเมืองแซนติเอโก้นัก อำพันจากแนวเทือกเขาเหล่านี้พบฝังตัวแน่นในเนื้อลิกไนต์ของชั้นหินทราย

มีอำพันพบทางตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองบายากัวน่าและซาบาน่าด้วยเหมือนกัน เป็นอำพันมีเนื้ออ่อนกว่าบางทีก็เปราะและเมื่อนำขึ้นมาจากเหมืองแล้วจะเกิดการออกซิเดชันซึ่งทำให้ราคาถูก มีการพบโคปอลด้วยพบว่ามีอายุประมาณ 15-17 ล้านปี ในพื้นที่ทางตะวันออกพบอำพันในชั้นทราย ดินเหนียวปนทราย แทรกสลับด้วยลิกไนต์ รวมถึงชั้นกรวดและชั้นทรายเม็ดปูน ที่มีลักษณะเป็นชั้นบาง ๆ ของอินทรียวัตถุแทรกสลับอยู่ด้วย

ทั้งอำพันบอลติกและอำพันโดมินิกันเป็นแหล่งที่อุดมไปด้วยซากดึกดำบรรพ์ซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลที่มีค่ายิ่งเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตของป่าในอดีต[8]

อำพันยุคครีเทเชียสตอนกลางมีการพบจากเมืองเอลล์สเวิร์ธคันที รัฐแคนซัส เป็นอำพันที่มีอายุประมาณ 100 ล้านปีที่พบซากของแบคทีเรียและอะมีบาฝังอยู่ในเนื้อของมัน จากลักษณะสัณฐานพบว่ามีความใกล้เคียงกับแบคทีเรียสกุลเลฟโตทริกซ์ และอะมีบาสกุลพอนติกูลาเรียและเนเบลาที่ได้รับการยืนยัน[9]

สิ่งที่เข้าไปอยู่ในเนื้ออำพัน

แก้
 
แมงมุมในเนื้ออำพัน
 
Coleoptera elateridae

นอกจากในเนื้อของอำพันจะเก็บรักษาโครงสร้างของพืชเอาไว้อย่างสวยงามแล้ว ยังมีการพบซากสัตว์อื่น ๆ อย่างเช่นซากเหลือของแมลง แมงมุม แอนนาลิด กบ[10] สัตว์พวกกุ้งกั้งปู, marine microfossils[11] และสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ อื่น ๆ ซึ่งถูกจับยึดไว้ด้วยผิวเหนียว ๆ จนฝังแน่นเข้าไปอยู่ในเนื้อของยางไม้ในขณะที่ยังเป็นของไหลหนืดอยู่ โครงสร้างทางอินทรีย์เกือบทั้งหมดจะหายไปถูกทิ้งไว้เพียงช่องโพลงกลวงเท่านั้นและอาจพบร่องรอยของสารไคตินอยู่บ้าง บางครั้งก็พบเส้นขนและแผงขนปรากฏอยู่ด้วย มักพบเศษชิ้นส่วนของไม้ที่ยังถูกรักษาเนื้อไม้เอาไว้อย่างดีในเนื้อของยางไม้ บางครั้งก็พบใบ ดอก และผลในสภาพที่สมบูรณ์ดีเยี่ยม อำพันอาจพบมีลักษณะคล้ายหยดน้ำหรือเป็นลำเรียวยาวในลักษณะที่เกิดจากการหยดย้อยลงมาจากรอยแผลของต้นไม้ นอกเหนือจากยางไม้จะไหลไปตามผิวของลำต้นไม้แล้ว ยางไม้ยังอาจไหลไปในรูกลวงและรอยแตกของต้นไม้ที่ทำให้สามารถพัฒนาเป็นอำพันที่มีรูปลักษณะไม่แน่นอน[12]

การพัฒนาที่ผิดปรกติของยางไม้เรียกว่า “ซัคคิโนซิส” มักพบมีมลทินปะปนอยู่ในเนื้อของอำพันโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อยางไม้หยดลงไปบนพื้นดินที่จะทำให้อำพันนั้นไร้ค่านอกเสียจากการนำไปทำน้ำมันชักเงาและเราเรียกอำพันที่มีมลทินนี้ว่า “เฟอร์นิสส์” การมีแร่ไพไรต์อยู่ด้วยอาจทำให้อำพันมีสีอมน้ำเงิน อำพันที่เรียกกันว่าอำพันสีดำเกิดจากมีลิกไนต์เป็นมลทิน “อำพันโบนี” มีลักษณะขุ่นมัวไปจนถึงมีฟองอากาศเล็ก ๆ ในเนื้อของมัน

อำพันที่โปร่งแสงเมื่อนำไปขัดผิวแล้วจะไม่ทำให้โปร่งใสขึ้นมาเสมอไปด้วยมีมลทินที่ปนเปื้อน มีการพัฒนาเทคนิคการตรวจสอบอำพันที่ขุ่นข้นและทึบแสงเพื่อหาสิ่งที่เข้าไปอยู่ในเนื้ออำพันได้โดยการใช้รังสีเอกซ์ที่มีความคมชัดละเอียดสูงในยุโรเปียน ซินโครตรอน เรดิเอชัน แฟซิลิตี[13] มีการค้นพบซากดึกดำบรรพ์ของสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังเกือบ 360 ชิ้นในเนื้ออำพันทึบแสงจากเมืองชาเรนเทสในฝรั่งเศส พบตัวต่อโบราณ แมลงมีปีก มด และแมงมุมโดยวัดขนาดได้เพียงไม่กี่มิลลิเมตร ซากสิ่งมีชีวิตที่ถูกติดกับอยู่ในเนื้ออำพันทึบแสงเหล่านั้นสามารถถูกสร้างเป็นภาพสามมิติผ่านเครื่องไมโครโตกราฟฟีที่ทำให้เห็นรายละเอียดได้ถึงระดับมาตราส่วนไมโครมีเตอร์ทีเดียว รูปทรงจำลองสามมิติขยายขนาดให้ใหญ่ขึ้นทำด้วยพลาสติกสามารถถูกสร้างขึ้นมาเลียนแบบซากสิ่งมีชีวิตจริงที่อยู่ในเนื้ออำพันเพื่อใช้เป็นสื่อทดแทนในการตั้งชื่อสายพันธุ์ใหม่ของซากดึกดำบรรพ์ในเนื้ออำพันนั้นได้

แหล่งอำพัน

แก้

อำพันบอลติก

แก้
 
หญิงสาวชาวลิทัวเนียในชุดประจำชาติพร้อมสายสร้อยอำพัน

อำพันบอลติกพบกระจายตัวกว้างขวางครอบคลุมพื้นที่กว้างของยุโรปตอนเหนือและแผ่ออกมาทางตะวันออกถึงอูรัลส์

อำพันบอลติกมีส่วนประกอบของกรดซักซินิกอยู่ในสัดส่วนประมาณร้อยละ 3 – 8 ซึ่งเป็นลักษณะของอำพันที่มีความขุ่นมัวหรือที่เรียกว่า อำพันโบนี กลิ่นหอม ๆ ระคายเคืองที่ปล่อยออกมาจากการเผาเป็นของกรดชนิดนี้เป็นหลัก อำพันบอลติกมีความแตกต่างไปจากอำพันอื่น ๆ ตรงที่มีกรดซักซินิกและเป็นที่มาของชื่อ ซัคคิไนต์ เสนอขึ้นโดยศาสตราจารย์เจมส์ ดวิกต์ ดานา และปัจจุบันก็ใช้เขียนกันทั่วไปในฐานะชื่อทางทางวิทยาศาสตร์สำหรับอำพันปรัสเซียน ซัคคิไนต์มีความแข็งระหว่าง 2 – 3 ซึ่งค่อนข้างจะแข็งกว่ายางไม้กลายเป็นซากดึกดำบรรพ์อื่น ๆ มีความถ่วงจำเพาะระหว่าง 1.05 ถึง 1.10 เครื่องมือชนิดหนึ่งที่ใช้ในการวิเคราะห์อำพันบอลติกคือไออาร์สเปคโตรสโคปี เครื่องมือนี้นอกจากสามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่างอำพันบอลติกออกจากอำพันจากแหล่งอื่น ๆ ได้ด้วยค่าการดูดซับคาร์บอนิลจำเพาะแล้ว ยังสามารถตรวจจับอายุสัมพัทธ์ของอำพันหนึ่ง ๆ ได้ด้วย อย่างไรก็ตามนักวิทยาศาสตร์ได้ชี้ให้เห็นว่ากรดซักซินิกดังกล่าวไม่ใช่เป็นองค์ประกอบตั้งต้นของอำพันบอลติกแต่เป็นผลผลิตจากการสลายตัวของกรดเอบิเอทติก[14]

แม้ว่าอำพันจะพบได้ตามชายฝั่งของทะเลบอลติกและทะเลเหนือแต่พื้นที่ผลิตอำพันส่วนใหญ่มาจากแซมเบียหรือแซมแลนด์ตามชายฝั่งของเมืองเคอนิชส์แบร์คในปรัสเซียซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1945 ประมาณร้อยละ 90 ของอำพันโลกได้มาจากแคว้นคาลินินกราดของรัสเซียในทะเลบอลติก[15] เศษชิ้นของอำพันที่หลุดออกมาจากใต้ท้องทะเลถูกพัดขึ้นมาด้วยแรงคลื่นและไปสะสมตัวที่ชายฝั่ง บางครั้งนักวิจัยก็ลุยลงไปในทะเลพร้อมตาข่ายที่ใช้ลากดึงสาหร่ายทะเลก็จะมีอำพันติดขึ้นมาได้ หรือบริเวณน้ำตื้น ๆ อาจใช้เรือแล่นออกไปแล้วคราดตักเอาอำพันขึ้นมาจากระหว่างโขดหิน นอกจากนี้อาจจ้างนักประดาน้ำงมลงไปเก็บอำพันในที่ที่น้ำลึกมากขึ้น ครั้งหนึ่งเคยมีการขุดหาอำพันใต้ทะเลอย่างจริงจังที่คูโรเนียนลากูนโดยสแตนเตียนและเบคเกอร์พ่อค้าอำพันชาวเคอนิชส์แบร์ค ในปัจจุบันมีการทำเหมืองอำพันกันอย่างกว้างขวาง ก่อนหน้านี้มีการทำเหมืองเปิดเพื่อขุดหาอำพันแต่ปัจจุบันมีการทำเหมืองใต้ดินด้วย ก้อนทรงมนจากบลูเอิร์ธต้องปลอดจากเนื้อประสานและปลดส่วนทึบแสงออกไปซึ่งอาจทำได้โดยการเขย่าถังทรงกระบอกที่บรรจุทรายและน้ำ อำพันที่หลุดจากพื้นทะเลจะสูญเสียเปลือกนอกออกไปแต่มักพบพื้นผิวของอำพันเป็นรอยขีดข่วนเป็นพื้นผิวด้านจากการกลิ้งไปมาบนพื้นทราย

นับตั้งแต่ที่มีการจัดตั้งเส้นทางสายอำพันทำให้อำพันเป็นที่รู้จักกันในนามของทองปรัสเซีย (ซึ่งปัจจุบันก็มีการเรียกกันด้วยว่าทองลิทัวเนีย) ทำให้เกิดผลกระทบอย่างใหญ่หลวงทั้งทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม อัญมณีอำพันและเครื่องประดับอำพันถูกนำเสนอแก่นักท่องเที่ยวในร้านขายของที่ระลึกทั้งหลายซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นและเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของลิทัวเนีย เมืองชายทะเลอย่างพาแลงก้ามีการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์อำพันพาแลงก้าที่มีการนำเสนอเรื่องราวของอำพันไว้ อำพันสามารถพบได้ในแลตเวีย เดนมาร์ค ทางเหนือของเยอรมนี โปแลนด์ และรัสเซียนับตั้งแต่ที่รัสเซียได้ผนวกเอาปรัสเซียเข้าไปอยู่ในการปกครองในปี ค.ศ. 1945

อำพันโดมินิกัน

แก้

อำพันโดมินิกันแตกต่างไปจากอำพันบอลติกด้วยเป็นอำพันโปร่งแสงและมักพบซากดึกดำบรรพ์อยู่ด้วย ทำให้สามารถรื้อฟื้นระบบนิเวศน์ในอดีตได้อย่างละเอียดของป่าเขตร้อนที่สูญสิ้นไปแล้วมาเป็นเวลานาน[16] ยางไม้จากพืชชนิดที่สูญพันธุ์ไปแล้วของฮายเมนนี พรอเทอรานับเป็นแหล่งยางไม้ของอำพันโดมินิกันและอำพันทั้งหมดอาจพบในเขตร้อน อำพันชนิดนี้ไม่เป็นพวกซัคคิไนต์แต่จะเป็นพวกริติไนต์[17] ในทางตรงกันข้ามกับอำพันบอลติก อำพันโดมินิกันในตลาดโลกเป็นอำพันธรรมชาติมาจากเหมืองโดยตรงและไม่ได้มีการปรับแต่งเปลี่ยนแปลงใด ๆ ทั้งทางกายภาพและทางเคมี อำพันโดมินิกันนี้มีอายุมากถึง 40 ล้านปี[18]

อำพันโดมินิกันทั้งหลายจะเรืองแสง จะพบเป็นสีน้ำเงินได้ยากมาก มันเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงินในแสงอาทิตย์ธรรมชาติและแหล่งแสงอื่น ๆ ที่มีรังสีอุลตร้าไวโอเลตทั้งหมดหรือบางส่วน แสงอุลตร้าไวโอเลตซึ่งเป็นแสงคลื่นยาวมีคุณสมบัติสะท้อนแสงได้อย่างรุนแรงคือแสงสีขาวเกือบทั้งหมด ปีหนึ่ง ๆ มีการขุดค้นพบอำพันชนิดนี้เพียงประมาณ 100 กิโลกรัมเท่านั้นซึ่งถือว่าเป็นอำพันที่มีค่าสูงและมีราคาแพง[19]

อำพันโดมินิกันและโดยเฉพาะอย่างยิ่งอำพันโดมินิกันสีน้ำเงินมีการทำเหมืองเปิดกันแบบไม่มีการวางแผน ซึ่งมีอันตรายต่อคนงานเหมืองสูงมากที่ต้องเสี่ยงที่ผนังเหมืองอาจถล่มลงมาทับร่างเหล่าคนงานได้[20] เหมืองเปิดแบบนี้เป็นการขุดบ่อเหมืองด้วยเครื่องง่าย ๆ ที่หาได้ อาจเริ่มต้นด้วยการใช้มีด และอาจตามด้วย พลั่ว เสียม แชลง และค้อน โดยจะขุดให้ลึกลงไปเท่าที่จะขุดได้หรือเท่าที่จะปลอดภัย บางครั้งลงไปในแนวดิ่ง บางครั้งก็หักทิศทางไปในแนวราบ แต่ไม่เคยมีการวัดคำนวณใด ๆ จะทำการขุดคดโค้งไปมาไปที่เชิงเขาบ้าง ดิ่งลึกลงไปบ้าง หรืออาจจะไปบรรจบกับหลุมอื่น ๆ ได้ ขุดตรงเข้าไปจนอาจไปโผล่อีกแห่งหนึ่งโดยไม่ได้คะเนไว้ น้อยนักที่ขนาดของหลุมขุดจะมีขนาดใหญ่เพียงพอที่จะยืนอยู่ได้หรืออาจจะมีเฉพาะที่ตรงทางเข้าเท่านั้น คนงานเหมืองจะคลานเข้าไป ใช้มือจับแชลง พลั่ว หรือมีดที่มีด้ามสั้น ๆ อำพันที่พบไม่ขายต่อโดยตรงเป็นวัตถุดิบธรรมชาติก็อาจจะตัดหรือขัดเรียบโดยไม่มีการปรุงแต่งใด ๆ เพิ่มเติม[16]

โดยทั่วไปแล้วจะใช้อำพันโดมินิกันเป็นเครื่องประดับและอัญมณี ขณะที่สีสันและสิ่งที่อยู่ในเนื้อของอำพันจะเพิ่มมูลค่าให้มากยิ่งขึ้นทำให้มีราคาแพงเป็นที่หมายปองเพื่อการจัดแสดงทั้งของนักสะสมส่วนตัวและของภาครัฐ[21] ในตะวันออกไกลได้มีการนำเอาอำพันสีน้ำเงินที่หายากมากไปเกาะสลักเป็นชิ้นงานทางศิลปะ นอกจากนี้ได้มีการนำเอาอำพันสีน้ำเงินไปทำเป็นอัญมณีด้วยคุณสมบัติเรืองแสงตามธรรมชาติภายใต้แสงอุลตร้าไวโอเลต ในโลกของชาวอิสลาม มีการนำเอาอำพันโดมินิกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกปัดอำพันสีน้ำเงินไปใช้ประกอบการสวดมนต์เพื่อการผ่อนคลายความเครียด[22][23]

แหล่งอื่น ๆ

แก้

แหล่งสะสมตัวของอำพันมีการพบได้ทั่วโลก บางแห่งมีอายุเก่าแก่กว่าแหล่งที่รู้จักกันดีในแถบทะเลบอลติกและในสาธารณรัฐโดมินิกันและบ้างก็มีอายุอ่อนกว่า อำพันบางแห่งมีอายุเก่าแก่ได้ถึง 345 ล้านปี (นอร์ธอัมเบอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา)

แหล่งอำพันที่ไม่ค่อยจะเป็นที่รู้จักกันอยู่ในยูเครนในพื้นที่ป่าบริเวณเขตแดนโวลีน-โปเลซี ด้วยอำพันในพื้นที่นี้อยู่ที่ระดับตื้น ๆ ที่สามารถขุดขึ้นมาได้เพียงใช้เครื่องมือง่าย ๆ และก็ทำให้ง่ายในการลักลอบขุดค้นภายใต้การปกคลุมด้วยป่าทึบ อำพันในยูเครนนี้มีหลากหลายสีสันและเคยถูกนำไปใช้ปฏิสังขรณ์ห้องแอมเบอร์ในพระบรมมหาราชวังของจักรพรรดินีแคธีรีนในกรุงเซนต์ปีเตอร์เบอร์ก (ดูด้านล่าง)

 
เรือสำเภาทำจากอำพันทั้งหมดในร้านขายของชำร่วยแห่งหนึ่ง

อำพันชิ้นกลมมนปรกติมีขนาดเล็ก ๆ แต่ก็พบเป็นชิ้นขนาดใหญ่ ๆ ได้ ที่อาจพบได้ในบริเวณชายฝั่งด้านตะวันออกของอังกฤษที่เป็นไปได้ว่าถูกชะขึ้นมาจากแหล่งใต้ทะเลเหนือ ที่โครเมอร์เป็นตำแหน่งที่รู้จักกันดีที่สุด แต่ก็พบได้ในส่วนอื่น ๆ ของชายฝั่งนอร์ฟอล์ค อย่างเช่นที่เกรตยาร์เมาธ์ รวมไปถึงที่เซ้าธ์โวล์ด อัลดิเบอร์ก และเฟลิกซ์สโตว์ในซัฟฟอล์ค และที่ไกลลงไปทางตอนใต้ถึงวอลตัน-ออน-เธอะ-นาซในเอสเซ๊กซ์ ของอังกฤษ ขณะที่ขึ้นไปทางตอนเหนือนั้นรู้จักกันในยอร์กเชอร์ อีกด้านหนึ่งของทะเลเหนือมีการพบอำพันหลายแห่งตามแนวชายฝั่งของเนเธอร์แลนด์และเดนมาร์ค บนชายฝั่งของทะเลบอลติกไม่ได้พบเฉพาะในเยอรมนีและโปแลนด์เท่านั้นแต่ยังพบอยู่ทางตอนใต้ของสวีเดนในเบอร์นโฮล์มและหมู่เกาะอื่น ๆ และรวมไปถึงทางตอนใต้ของฟินแลนด์ แหล่งอำพันในทะเลบอลติกและทะเลเหนือบางแห่งเป็นที่รู้จักกันในสมัยก่อนประวัติศาสตร์แล้วและนำไปสู่การค้าขายกับทางตอนใต้ของยุโรปผ่านเส้นทางสายอำพัน อำพันถูกนำไปที่โอลเบียในทะเลดำ แมสซิลเลีย (ปัจจุบันคือมาร์เซลล์) ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และเอเดรียที่ส่วนปลายของเอเดรียติกและจากจุดศูนย์กลางนี้อำพันถูกแพร่กระจายไปทั่วของโลกยุคกรีกโบราณ

มีการพบอำพันในสวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรีย และฝรั่งเศส อำพันจากเทือกเขาแอลป์ของสวิตซ์มีอายุประมาณ 55-200 ล้านปี และอำพันจากกอลลิ่งมีอายุประมาณ 225-231 ล้านปี อำพันชิชิเลียน (โคปอล-สิเมติต) มีอายุประมาณ 10-20 ล้านปี ในแอฟริกามีการพบโคปอลในประเทศแนวแนวชายฝั่งของแอฟริกาตะวันออกและแอฟริกาตะวันตกโดยเฉพาะอย่างยิ่งในมาดากัสการ์ อำพันมาดากัสการ์มีอายุเพียง 1,000-10,000 ปีเท่านั้นที่ประกอบไปด้วยยางไม้สนที่แข็งตัว ไนจีเรียก็พบอำพันด้วยเหมือนกันซึ่งมีอายุประมาณ 60 ล้านปี

อำพันก็พบได้ในเอเชียโดยเฉพาะอย่างยิ่งในพม่าที่เรียกว่าเบอร์มิต มีอายุประมาณ 50 ล้านปีและอำพันเลบานอนมีอายุ 130-135 ล้านปี อำพันในเขตทะเลออสเตรเลียพบได้ในนิวซีแลนด์และบอร์เนียว (อำพันซาราวัก) มีอายุ 20-60 และ 70-100 ล้านปี

 
อำพันบอร์เนียวโปร่งใสขัดผิวเรียบจากซาบาร์ มาเลเซีย

อำพันพบได้ในสหรัฐอเมริกาเป็นหย่อมเล็ก ๆ อยู่ในทรายสีเขียวในนิวเจอร์ซีย์แต่มีค่าทางเศรษฐกิจน้อย อำพันยุคครีเทเชียสตอนกลางก็พบในเอลล์สเวอร์ธคันที รัฐแคนซัส มันมีค่าน้อยในการทำเป็นอัญมณี แต่มีค่าอย่างยิ่งต่อนักชีววิทยา แหล่งของอำพันนี้อยู่ใต้ทะเลสาบที่มนุษย์ขุดขึ้น

อำพันเรืองแสงก็พบในรัฐทางตอนใต้ของเชียร์ปาสในเม็กซิโกและถูกทำเป็นอัญมณีแบบอายแคตชิ่ง ในอเมริกากลางมีอารยะธรรมโอลเม็คที่มีการทำเหมืองอำพันเมื่อ 3,000 ปีก่อนคริสตกาล ในเม็กซิโกมีตำนานที่หลากหลายที่กล่าวถึงการใช้อำพันในการประดับตกแต่ง และใช้ในการลดความเครียดซึ่งเป็นการเยียวยารักษาแบบธรรมชาติ

ขณะที่อินโดนีเชียก็มีแหล่งอำพันที่อุดมสมบูรณ์แห่งหนึ่งโดยพบเป็นเศษอำพันขนาดใหญ่ที่ขุดขึ้นมาจากชวาและบาหลี

การปรับสภาพอำพัน

แก้
 
อำพันขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 12 ซม.

โรงงานอำพันในเวียนนาซึ่งใช้อำพันสีจาง ๆ ในการผลิตกล้องยาสูบและอุปกรณ์การสูบบุหรี่อื่น ๆ โดยการกลึงและขัดพื้นผิวด้วยสารฟอกขาวและน้ำหรือหินผุ ๆ กับน้ำมัน ท้ายสุดทำให้เป็นมันเงาโดยการขัดด้วยผ้าสักหลาดนุ่ม ๆ

เมื่อค่อย ๆ เพิ่มความร้อนในอ่างน้ำมันจะทำให้อำพันอ่อนนุ่มและยืดหยุ่น อำพันสองชิ้นอาจหลอมรวมเป็นชิ้นเดียวกันเมื่อทาด้วยน้ำมันลินซีดลงบนผิวของมัน ให้ความร้อน แล้วกดอำพันทั้งสองเข้าหากันขณะที่ยังร้อนอยู่ อำพันที่มีเนื้อขุ่นอาจใสขึ้นในอ่างน้ำมันเมื่อน้ำมันเข้าไปเติมเต็มรูช่องว่างทั้งหลาย ก่อนนี้เราอาจขว้างเศษอำพันเล็ก ๆ ทิ้งไปหรืออาจใช้ทำเป็นเพียงน้ำมันชักเงาแต่เดี๋ยวนี้มีการนำไปใช้ในการผลิตแอมบรอยด์หรืออำพันอัด โดยค่อย ๆ ให้ความร้อนกับอำพันแล้วดูดอากาศออก บีบอัดให้อำพันเป็นเนื้อเสมอด้วยเครื่องอัดไฮดรอลิก อำพันที่อ่อนตัวจะถูกกดด้วยแรงเข้าไปในรูของแผ่นโลหะ อำพันที่ได้นี้มีการนำไปใช้กันอย่างกว้างขวางสำหรับทำอัญมณีราคาถูกและวัสดุทำอุปกรณ์สูบบุหรี่ อำพันอัดนี้มีประกายสีแวววาวเมื่อต้องแสงโพลาไรซ์ อำพันอาจถูกทำเทียมได้ด้วยยางไม้อื่น ๆ เช่นโคปอลและคอริ รวมถึงพวกเซลลูลอยด์หรือแม้แต่แก้ว อำพันบอลติกบางครั้งก็มีการทำสีเทียมแต่ก็ยังคงเรียกกันว่าอำพันแท้

มีการพบบ่อยครั้งที่อำพัน (โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มีแมลงอยู่ในเนื้อของมัน) ถูกทำเทียมขึ้นด้วยวัสดุเรซินพลาสติก มีการทดสอบง่าย ๆ ด้วยการใช้เข็ดหมุดร้อน ๆ สัมผัสลงไปบนพื้นผิววัตถุและทดสอบว่ามีกลิ่นของยางไม้ลอยขึ้นมาหรือไม่ ถ้าไม่ก็ถือว่าเป็นวัตถุทำเทียม อย่างไรก็ตามการทดสอบนี้อาจหาข้อสรุปไม่ได้หากผิวของวัตถุทำเทียมนี้ถูกเคลือบด้วยยางไม้แท้ ๆ บ่อยครั้งที่การทำเทียมจะเห็นแมลงอยู่ในเนื้อวัตถุในท่าทางที่สมบูรณ์แบบเกินไป

ศิลปะและเครื่องประดับจากอำพัน

แก้
 
หินอำพันที่ยังไม่ได้ขัด

อำพันถือเป็นวัตถุทำเครื่องประดับที่มีค่ามากอันหนึ่งที่ย้อนยุคกลับไปยาวนานมาก ดังเช่น มีการพบอำพันอยู่ในสุสานมายซีเนียน อำพันเป็นที่รู้จักกันในกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ในทะเลสาบของสวิตเซอร์แลนด์ มีการพบเป็นซากเหลือยุคนีโอลิธิกในเดนมาร์ค ขณะที่ในอังกฤษมีการพบอำพันอยู่ในหลุมฝังศพยุคบรอนซ์

ถ้วยอำพันแห่งเมืองโฮฝ มีการค้นพบถ้วยใบหนึ่งทำจากอำพันในสุสานโบราณยุคบรอนซ์ที่เมืองโฮฝ ในอังกฤษ ที่เดี๋ยวนี้ถูกเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์ไบรท์ตัน

มีการค้นพบลูกปัดทำจากอำพันที่ตกสืบทอดมาจากชนเผ่าแองโกล-แซกซอนทางตอนใต้ของอังกฤษ อำพันถือเป็นสิ่งมีค่าที่ถือว่าเป็นเครื่องรางและยังเชื่อกันอีกว่ามีสรรพคุณในการเยียวยารักษาโรคภัย

อำพันถูกใช้ทำลูกปัดและเครื่องประดับ ทำที่สูบบุหรี่และกล้องยาสูบ พวกเติร์กถือกันว่าอำพันมีค่าเป็นพิเศษโดยกล่าวกันว่าสามารถป้องกันการติดเชื้อได้เมื่อใช้ท่อทำจากอำพันต่อจากปากคนหนึ่งไปที่ปากอีกคนหนึ่ง อำพันที่มีค่ายิ่งทางตะวันออกคืออำพันที่ค่อนข้างขุ่นมัวมีสีเหลืองฟางอ่อน อำพันคุณภาพเยี่ยมจะถูกส่งไปเวียนนาเพื่อผลิตอุปกรณ์สำหรับสูบยา

ห้องอำพันเคยเป็นห้องที่สร้างขึ้นด้วยอำพันหนักถึง 6 ตันเนื้อที่ 55 ตารางเมตร สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1701 ตามพระราชบัญชาของกษัตริย์ปรัสเซีย เฟร็ดริช วิลเฮลม ต่อมาได้ถวายเป็นของขวัญแก่พระเจ้าซาร์แห่งรัสเซีย (ปีเตอร์มหาราช) ห้องอำพันนี้ถูกซ่อนไว้ให้พ้นสายตาจากการบุกรุกของกองกำลังนาซีในปี ค.ศ. 1941 ผู้เข้าไปค้นหาในปราสาทคัธริน และได้ถอดออกไปแล้วย้ายไปเก็บไว้ที่เมืองเคอนิชส์แบร์ค อะไรจะเกิดขึ้นกับห้องอำพันนี้หลังจากนั้นยังไม่เป็นที่ชัดเจนแต่มันอาจถูกทำลายไปเมื่อครั้งรัสเซียเผาป้อมปราการของเยอรมนีซึ่งเป็นสถานที่เก็บรักษาห้องอำพันนี้และได้สูญหายไปแล้ว โดยได้มีการสร้างขึ้นใหม่ในปี ค.ศ. 2003[24]

 
ห้องอำพันถูกสร้างขึ้นจากอำพันกาลินินการ์ด

อำพันสามารถนำไปใช้ทำส่วนของฟร็อกของคันชักของไวโอลิน ถูกคิดค้นมอบหมายขึ้นมาโดยเกนนาดี ฟิลิโมนอฝ และผลิตขึ้นโดยช่างทำคันชักไวโอลินระดับฝีมือครูชาวอเมริกันหลังจากนั้น เคธ เปค[25]

ดูเพิ่ม

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. Grimaldi, D. (2009). "Pushing Back Amber Production". Science. 326 (5949): 51–2. Bibcode:2009Sci...326...51G. doi:10.1126/science.1179328. PMID 19797645. S2CID 206522565.
  2. King, Rev. C.W. (1867). The Natural History of Gems or Decorative Stones. Cambridge (UK). Amber Chapter, Online version เก็บถาวร 2007-09-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  3. Susie Ward Aber. "Welcome to the World of Amber". Emporia State University. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-04-28. สืบค้นเมื่อ 2007-05-11.
  4. "Origin of word Electron". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-11-14. สืบค้นเมื่อ 2009-03-29.
  5. Assignment of vibrational spectra of labdatriene derivatives and ambers: A combined experimental and density functional theoretical study Manuel Villanueva-García, Antonio Martínez-Richa, and Juvencio Robles Arkivoc (EJ-1567C) pp 449-458 Online Article
  6. Lecture at the university of cologne https://web.archive.org/web/19991013184137/http://www.fortunecity.com/campus/geography/243/ambdepos.html
  7. Langenheim, Jean (2003). Plant Resins: Chemistry, Evolution, Ecology, and Ethnobotany. Timber Press Inc. ISBN 0-88192-574-8.
  8. Howard Stableford, BBC, Radio 4: amber http://db.bbc.co.uk/radio4/science/amber.shtml เก็บถาวร 2006-02-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  9. http://www.ucmp.berkeley.edu/museum/171online/PB171BMWPG1.html Benjamin M. Waggoner, Bacteria and protists from Middle Cretaceous amber of Ellsworth County, Kansas, from: PaleoBios, Volume 17, Number 1, Pages 20-26, July 13, 1996
  10. Scientist: Frog could be 25 million years old
  11. Girard, V.; Schmidt, A.; Saint Martin, S.; Struwe, S.; Perrichot, V.; Saint Martin, J.; Grosheny, D.; Breton, G.; Néraudeau, D. (2008). "Evidence for marine microfossils from amber". Proceedings of the National Academy of Sciences of the United States of America. 105 (45): 17426–17429. Bibcode:2008PNAS..10517426G. doi:10.1073/pnas.0804980105. PMC 2582268. PMID 18981417.
  12. "What is amber?". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-12-19. สืบค้นเมื่อ 2009-03-29.
  13. BBC News, " Secret 'dino bugs' revealed", 1 April 2008
  14. Rottlaender, 1970
  15. "How Products Are Made: Amber". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-08-11. สืบค้นเมื่อ 2009-03-29.
  16. 16.0 16.1 George Poinar, Jr. and Roberta Poinar, 1999. The Amber Forest: A Reconstruction of a Vanished World, (Princeton University Press) ISBN 0-691-02888-5
  17. Grimaldi, D. A.: Amber - Window to the Past. - American Museum of Natural History, New York 1996
  18. Browne, Malcolm W. (1992). "40-Million-Year-Old Extinct Bee Yields Oldest Genetic Material". New York Times. สืบค้นเมื่อ 2008-04-15.
  19. Manuel A. Iturralde-Vennet 2001. Geology of the Amber-Bearing Deposits of the Greater Antilles. Caribbean Journal of Science, Vol. 00, No. 0, 141-167, 2001
  20. Wilfred Wichard und Wolfgang Weitschat: Im Bernsteinwald. - Gerstenberg Verlag, Hildesheim, 2004, ISBN 3-8067-2551-9
  21. Poinar, G. O.: Life in Amber. - Stanford University Press, Stanford 1992
  22. Da Cruz, Daniel (November 1968/December). "Worry Beads -- The use of Misbahas in modern times". Saudi Aramco World. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-05-05. สืบค้นเมื่อ 2008-04-15. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  23. Leif Brost and Ake Dahlstrom. The Amber Book, Geoscience Press, Inc., Tucson , AZ, 1996 ISBN 0-945005-23-7
  24. BBC report on Amber Room
  25. Jessamyn Reeves-Brown (November 1997). "Mastering New Materials: Commissioning an Amber Bow, no.65". Strings magazine. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-01-01. สืบค้นเมื่อ 2007-04-09.

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้