แยกหมอมี หรือที่นิยมเรียกว่า สามแยก หรือ สามแยกถนนเจริญกรุง[1] เป็นห้าแยกจุดตัดถนนเจริญกรุง, ถนนพระรามที่ 4, ถนนทรงสวัสดิ์ และถนนมิตรพันธ์ ในพื้นที่แขวงป้อมปราบ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย และแขวงตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร ใจกลางย่านเยาวราช ซึ่งเป็นย่านชาวไทยเชื้อสายจีนที่สำคัญในกรุงเทพฯ

ห้าแยก หมอมี
แผนที่
ชื่ออักษรไทยหมอมี
ชื่ออักษรโรมันMo Mi
รหัสทางแยกN142 (ESRI), 046 (กทม.)
ที่ตั้งแขวงป้อมปราบ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย, แขวงสัมพันธวงศ์และแขวงตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร
ทิศทางการจราจร
ถนนมิตรพันธ์
» วงเวียน 22 กรกฎาคม
ถนนพระรามที่ 4
» แยกไมตรีจิตต์
ถนนเจริญกรุง
» แยกลำพูนไชย
ถนนทรงสวัสดิ์
» แยกเฉลิมบุรี
ถนนเจริญกรุง
» แยกแปลงนาม

ในอดีตพื้นที่แถบนี้มีสถานะเป็นตำบลหนึ่งขึ้นอยู่ในอำเภอสัมพันธวงศ์ จังหวัดพระนคร เรียกว่า "ตำบลสามแยก" ต่อมาในปลายปี พ.ศ. 2441 ได้เกิดเหตุเพลิงไหม้ เพลิงได้ลุกลามไปทั่วเนื่องจากบ้านเรือนแถบนี้ปลูกด้วยไม้และหลังคามุงจาก รัชกาลที่ 5 จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีเจ้าพนักงานจัดการบำรุงความสุขสำราญของประชาชนในเขตจังหวัดพระนคร และห้ามไม่ให้ผู้หนึ่งผู้ใดปลูกสร้างโรงเรือนอันกำบังด้วยไม้ขัดแตะ หรือด้วยแผง หรือด้วยใบไม้ขึ้นในตำบลซึ่งเกิดเพลิงไหม้คราวนี้นั้นต่อไป เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานกระทรวงนครบาล ซึ่งจะอนุญาตให้ปลูกสร้างเป็นครั้งเป็นคราว เช่น โรงพักทำงาน หรือโรงมีการเล่นต่าง ๆ ชั่วสมัยหนึ่งเท่านั้น

ต่อมาในปี พ.ศ. 2458 ได้มีการจัดสร้างโรงภาพยนตร์สิงคโปร์ขึ้น และในปี พ.ศ. 2475 โรงภาพยนตร์สิงคโปร์ได้รื้อถอนสร้างใหม่เป็นโรงภาพยนตร์เฉลิมบุรี ในวาระเดียวกับที่มีการจัดสร้างศาลาเฉลิมกรุงขึ้น[1] ครั้งหนึ่งที่แยกหมอมียังเป็นที่ตั้งของสถานีตำรวจนครบาลสามแยกเป็นอาคารไม้ทรงปั้นหยาซึ่งอยู่ตรงที่ตั้งของธนาคารยูโอบี สาขาสามแยกในปัจจุบัน หลังจากสถานีตำรวจถูกเพลิงจากเหตุการณ์อั้งยี่ซึ่งเสียหายทั้งหมด จึงย้ายไปอยู่ตรงข้ามกับมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งในปัจจุบันโดยเปลี่ยนชื่อเป็น สถานีตำรวจนครบาลพลับพลาไชย 2[2]

โดยชื่อ "หมอมี" ที่ใช้ในปัจจุบันนั้นมีที่มาจากชื่อของร้านขายยาหมอมี หรือร้านขายยาบุญมี ซึ่งเป็นกิจการของนายมี เกษมสุวรรณ หรือหมอมี ซึ่งเป็นผู้ที่มีความรู้ความชำนาญในเรื่องของยาและเคมีทางการแพทย์ โดยเฉพาะยานัตถุ์และยาสมุนไพรต่าง ๆ ซึ่งได้เคยเปิดกิจการอยู่ที่แยกแห่งนี้[3]

ปัจจุบัน แยกหมอมีเป็นที่รู้จักกันดีของการเป็นที่ตั้งของร้านอาหารที่จำหน่ายลอดช่องที่มีชื่อเสียงและประวัติเก่าแก่ยาวนาน[4] รวมถึงข้าวต้มกระดูกหมูอีกด้วย[5]

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 ตันมหาพราน, เจริญ (2017-02-19). "โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมบุรี". เฟซบุก. สืบค้นเมื่อ 2018-02-16.
  2. "ประวัติสถานีตำรวจนครบาลพลับพลาไชย ๒". สถานีตำรวจนครบาลพลับพลาไชย 2. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-04-28. สืบค้นเมื่อ 2018-02-16.
  3. "ร้านหมอมี ยานัตถุ์หมอมี ยาอุทัยหมอมี ยาตรีนิสิงเห ยาปัถวี ตำนานย่านเยาวราช". ไชน่าทาวน์เยาวราชดอตคอม. สืบค้นเมื่อ 2018-02-16.
  4. "อร่อยคลายร้อนด้วย "ลอดช่องสิงคโปร์" เยาวราช". ผู้จัดการออนไลน์. 2009-04-19. สืบค้นเมื่อ 2018-02-16.[ลิงก์เสีย]
  5. "ข้าวต้มกระดูกหมู". สนุกดอตคอม. 2013-09-30. สืบค้นเมื่อ 2018-02-16.

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้

13°44′26″N 100°30′44″E / 13.740431°N 100.512231°E / 13.740431; 100.512231