วงเวียน 22 กรกฎาคม

วงเวียน 22 กรกฎาคม เป็นวงเวียนน้ำพุเกิดจากถนน 3 สายตัดกัน คือ ถนนไมตรีจิตต์ ถนนมิตรพันธ์ และถนนสันติภาพ อยู่ในเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร ถนนรอบวงเวียนมีชื่อว่า ถนนวงเวียน 22 กรกฎาคม

วงเวียน 22 กรกฎาคม
แผนที่
ชื่ออักษรไทย22 กรกฎาคม
ชื่ออักษรโรมัน22 Karakadakhom
รหัสทางแยกN112
ที่ตั้งแขวงป้อมปราบ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร
ทิศทางการจราจร
ถนนมิตรพันธ์
» แยกนพวงศ์
ถนนสันติภาพ
» ถนนกรุงเกษม
ถนนไมตรีจิตต์
» แยกไมตรีจิตต์
ถนนมิตรพันธ์
» แยกหมอมี
ถนนสันติภาพ
» ถนนพลับพลาไชย
ถนนไมตรีจิตต์
» แยกพลับพลาไชย

วงเวียน 22 กรกฎาคม สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงวันที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตัดสินพระทัยนำประเทศไทยเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2460 โดยประกาศสงครามกับกลุ่มประเทศฝ่ายมหาอำนาจกลาง ส่งผลให้เมื่อสิ้นสุดสงคราม ประเทศไทยได้รับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ การเมืองระหว่างประเทศ และการทหาร รวมทั้งสามารถเรียกร้องแก้ไขและยกเลิกสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ของชาติมหาอำนาจที่เคยทำไว้กับประเทศไทย

ประวัติ

แก้

เมื่อปีพ.ศ. 2457 เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ในทวีปยุโรป เป็นการสู้รบระหว่างฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งมีประเทศอังกฤษ ฝรั่งเศส และรัสเซีย เป็นผู้นำ กับฝ่ายมหาอำนาจกลาง ซึ่งมีผู้นำได้แก่ เยอรมนี และออสเตรีย-ฮังการี ในครั้งนั้น ประเทศสยามในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ดำเนินนโยบายรักษาความเป็นกลางอย่างเคร่งครัด

จนกระทั่งพ.ศ. 2460 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นว่าฝ่ายมหาอำนาจกลางได้ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ และปราศจากมนุษยธรรม กับทรงตระหนักว่าฝ่ายสัมพันธมิตรน่าจะได้รับชัยชนะในสงคราม ซึ่งเมื่อสงครามสงบลงแล้ว หากสยามเข้าร่วมรบกับฝ่ายสัมพันธมิตร ย่อมได้ประโยชน์ในการเจรจากับนานาประเทศ เพื่อแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ทั้งในเรื่องสิทธิสภาพนอกอาณาเขต และการแก้พิกัดภาษีศุลกากร

ในวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2460 จึงได้ทรงตัดสินพระราชหฤทัยประกาศสงครามต่อฝ่ายมหาอำนาจกลาง และเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร นอกจากนี้ ยังทรงส่งกองทหารอาสาไปร่วมรบ ณ สมรภูมิทวีปยุโรปอีกด้วย

สงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2461 โดยมีฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งหมายรวมถึงประเทศสยาม เป็นผู้ได้รับชัยชนะในมหาสงคราม พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่าควรจะสร้างถาวรวัตถุเป็นอนุสรณ์ถึงวันที่ประเทศสยามประกาศสงครามต่อฝ่ายมหาอำนาจกลางและเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวงเวียน พร้อมกับถนน 3 สาย ณ บริเวณที่เคยเกิดเหตุเพลิงไหม้ในตำบลหัวลำโพง ซึ่งอยู่ท้องที่อำเภอป้อมปราบศัตรูพ่าย ทั้งนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามวงเวียนและถนนรวมกันว่า “22 กรกฎาคม”

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงพระราชทานนามถนนใหม่ให้จำแนกแต่ละสายว่า “ถนนไมตรีจิตต์” “ถนนมิตรพันธ์” และ “ถนนสันติภาพ” ส่วนวงเวียนยังคงใช้นามพระราชทานเดิม คือ “วงเวียน 22 กรกฎาคม” มาจนถึงปัจจุบัน

ปัจจุบันบริเวณวงเวียน 22 กรกฎาคม เป็นแหล่งขายยางรถยนต์ มีร้านขายยางรถยนต์ทั้งใหม่และเก่าจำนวนหลายร้าน และร้านผลิตป้ายโฆษณา รวมถึงเป็นแหล่งค้าบริการทางเพศอีกด้วย และใช้เป็นที่สังเกตปรากฏการณ์สุริยุปราคาแบบไม่เต็มดวงที่เห็นได้ในประเทศไทยในวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 เนื่องจากชื่อสถานที่ตรงกับวันเกิดปรากฏการณ์นี้ ซึ่งนับเป็นปรากฏการณ์สุริยุปราคาที่ยาวนานที่สุดในศตวรรษที่ 21

อ้างอิง

แก้

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้

13°44′31″N 100°30′51″E / 13.741912°N 100.514195°E / 13.741912; 100.514195