ไชนาทาวน์ (กรุงเทพมหานคร)

(เปลี่ยนทางจาก ย่านเยาวราช)

ไชนาทาวน์ในกรุงเทพมหานคร เป็นหนึ่งในไชนาทาวน์หรือชุมชนจีนที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2325 พร้อมกับการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ชาวจีนอพยพที่นี่ส่วนใหญ่จะเป็นชาวแต้จิ๋ว โดยเมื่อมีการสร้างพระบรมมหาราชวัง พระองค์ได้โปรดเกล้าฯ ให้ชาวจีนที่เดิมอยู่รอบ ๆ ย้ายไปยังสำเพ็ง ก่อให้เกิดเป็นชุมชนจีนเกิดขึ้นที่นี่ ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการตัดถนนเยาวราชขึ้นในปี พ.ศ. 2435 จึงทำให้ถนนเยาวราชเป็นย่านหลักของชุมชนจีน[1] และกลายเป็นเขตการค้าหลักของกรุงเทพมหานคร รวมทั้งเป็นย่านสีแดงแหล่งค้าฝิ่น โรงละคร ไนต์คลับ และบ่อนการพนัน[2]

ถนนเยาวราช ในเวลากลางคืน ในปี พ.ศ. 2560
แผนที่เขตสัมพันธวงศ์ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่หลัก ๆ ของไชนาทาวน์ กรุงเทพมหานคร

เดิมบริเวณนี้เป็นกำแพงพระบรมมหาราชวังรอบนอก ซึ่งอยู่เลยอาณาเขตเกาะรัตนโกสินทร์ และกลายเป็นศูนย์กลางการค้าของกรุงเทพมหานครในช่วงปลาย พ.ศ. 2344 ถึงต้น พ.ศ. 2443 ตั้งแต่นั้นมา ไชนาทาวน์จึงมีความโดดเด่นขึ้นมา ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางของวัฒนธรรมจีนโดยมีร้านค้าจำนวนมากที่ขายสินค้าแบบดั้งเดิม

ปัจจุบันไชนาทาวน์ในกรุงเทพมหานครและย่านต่าง ๆ ใกล้เคียง คือ ตลาดน้อย, คลองถม และเวิ้งนาครเกษม ตั้งอยู่ในพื้นที่เขตสัมพันธวงศ์ ตลอดความยาวของถนนเจริญกรุง

ปัจจุบันความเจริญสมัยใหม่ได้เข้ามาสู่ไชนาทาวน์ของกรุงเทพมหานคร จากการเปิดของรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล ซึ่งมีสถานีวัดมังกรอยู่บริเวณนั้น เป็นที่น่ากังวลเกี่ยวกับชุมชนเก่าแก่ที่จะได้รับผลกระทบหลังจากความเจริญเหล่านี้เข้ามาแทนที่[3]

อาณาบริเวณ

แก้
  • ถนนเยาวราช : ถนนสายหลักของไชนาทาวน์ สร้างขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2435 มีจุดเริ่มต้นที่วงเวียนโอเดียนแยกกับถนนเจริญกรุง
  • วงเวียนโอเดียน : วงเวียนที่เป็นจุดเริ่มต้นของถนนเยาวราช เดิมเป็นวงเวียนน้ำพุ ปัจจุบันมีซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติซึ่งมีอักษรจารึกทั้งภาษาไทยและภาษาจีนใน 2 ด้าน สร้างเสร็จตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542
  • สำเพ็ง : หรือในชื่ออย่างเป็นทางการว่า ซอยวานิช 1 ชุมชนดั้งเดิมของไชนาทาวน์ เป็นแหล่งการค้าที่คึกคักทั้งเวลากลางวันและกลางคืน โดยมากจะเป็นเครื่องประดับ ของขวัญ ของจุกจิก หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าเล็ก ๆ น้อย ๆ
  • ชุมชนเจริญไชย : ชุมชนเก่าแก่ในย่านไชนาทาวน์ อยู่ในซอยเจริญกรุง 23 เป็นแหล่งจำหน่ายกระดาษเงินกระดาษทองและเครื่องเซ่นไหว้ต่าง ๆ รวมถึงชุดแต่งงานในแบบประเพณีจีนดั้งเดิมและเทศกาลไหว้พระจันทร์ ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของบ้านเก่าเล่าเรื่อง พิพิธภัณฑ์ที่เป็นศูนย์ข้อมูลของชาวจีนในประเทศไทย แต่เป็นชุมชนที่ได้รับผลกระทบการสร้างสถานีรถไฟฟ้า[3][4]
  • ตลาดน้อย : ย่านเก่าแก่ที่อยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของไชนาทาวน์ เป็นที่ตั้งของอาคารประวัติศาสตร์หลายแห่ง เช่น โบสถ์กาลหว่าร์ ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาตลาดน้อย เป็นต้น
  • ถนนทรงวาด : ถนนริมแม่น้ำเจ้าพระยา ในอดีตเคยเป็นที่ตั้งของท่าเรือบรรทุกสินค้าจำนวนมาก ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของอาคารเก่าแก่ที่ทรงคุณค่ามากมาย และยังมีศิลปะบนผนัง ที่สร้างสรรค์โดยศิลปินชาวตะวันตกอีกด้วย

อ้างอิง

แก้
  1. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ ไชนาทาวน์
  2. Sirisrisak, Tiamsoon (2015). "The Urban Development and Heritage Contestation of Bangkok's Chinatown". ใน van der Veer, Peter (บ.ก.). Handbook of Religion and the Asian City: Aspiration and Urbanization in the Twenty-First Century. Univ of California Press. pp. 168–185. ISBN 9780520281226.
  3. 3.0 3.1 "นางเลิ้ง เจริญไชย : ชุมชนเมืองบนรางความเปลี่ยนแปลง". มูลนิธิโลกสีเขียว. 2013-05-14. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-09-26. สืบค้นเมื่อ 2018-02-24.
  4. หนุ่มลูกทุ่ง (2015-09-11). "เดินเล่น "ชุมชนเจริญไชย" ชมของไหว้พระจันทร์อลังการ ในย่านขายเก่าแก่ที่สุดของเมืองกรุง". ผู้จัดการออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 2018-02-24.[ลิงก์เสีย]

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้
  • Van Roy, Edward (2007). Sampheng : Bangkok's Chinatown inside out. Bangkok: Institute of Asian Studies, Chulalongkorn Univ. ISBN 9789749990339.