มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง
มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง (จีนตัวย่อ: 华侨报德善堂; จีนตัวเต็ม: 華僑報德善堂; พินอิน: Huáqiáo bàodé shàn táng หัวเฉียวเป้าเต๋อช่านถัง; ฮกเกี้ยน: หัวเกียเปอเตียกเชียงต๋อง; แต้จิ๋ว: ฮั่วเคี้ยวป่อเต็กเซี่ยงตึ๊ง) เป็นมูลนิธิบรรเทาสาธารณภัย ปัจจุบันตั้งอยู่ที่เลขที่ 326 ถนนเจ้าคำรบ ตัดกับถนนพลับพลาไชย แขวงป้อมปราบ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร
มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง | |||||||||||||
ตราสัญลักษณ์ของมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง | |||||||||||||
อักษรจีนตัวเต็ม | 華僑報德善堂 | ||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
อักษรจีนตัวย่อ | 华侨报德善堂 | ||||||||||||
|
ที่มาจาก คณะเก็บศพไต้ฮงกง ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2452 โดยพ่อค้าชาวจีนในกรุงเทพฯ 12 คน[1] มีจุดประสงค์เพื่อเก็บศพไร้ญาติทุกภาษาและนำไปฝังที่ป่าช้าวัดดอน ถนนเจริญกรุง ที่ชาวจีนได้เรี่ยไรเงินซื้อไว้ ต่อมาในปี พ.ศ. 2480 นักธุรกิจจีนได้ร่วมกับบรรดาสมาคมและหนังสือพิมพ์จีน ร่วมกันปฏิรูปคณะเก็บศพไต้ฮงกงขึ้นใหม่ โดยจดทะเบียนจัดตั้งเป็นมูลนิธิในนาม "ฮั่วเคี้ยวป่อเต็กเซี่ยงตึ๊ง" เป็นมูลนิธิลำดับที่ 11 ของประเทศสยาม
มูลนิธิป่อเต็กตึ๊งได้ดำเนินงานสาธารณะสงเคราะห์มาเป็นลำดับ ทั้งกิจกรรมหลักแรกเริ่ม คือการเก็บศพไร้ญาติ ไปจนถึงบรรเทาสาธารณภัยต่าง ๆ รวมไปจนถึงปัญหาความยากจน และในด้านการรักษาพยาบาล นอกเหนือจากบริการหลักที่โรงพยาบาลหัวเฉียว (ขนาด 750 เตียง) แล้วยังมีบริการหน่วยแพทย์สงเคราะห์ชุมชน ต่อมาได้ขยายวัตถุประสงค์ให้ครอบคลุมถึงด้านการศึกษาเพื่อพัฒนาคนด้วย โดยจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาคือมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ
อักษรจีนซึ่งใช้เป็นตราสัญลักษณ์ของมูลนิธิ มาจากคำว่า 善 อ่านว่า ช่าน (shàn) ในภาษาจีนกลางหรือ เสียง ในภาษาแต้จิ๋ว หมายถึง การทำบุญ, กุศลกรรม, ความดี
ประวัติ
แก้มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง มีที่มาจากคณะเก็บศพไต้ฮงกง ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2452 โดยพ่อค้าชาวจีนในกรุงเทพฯ 12 คน ในการดำเนินงานระยะแรกของคณะเก็บศพไต้ฮงกงเป็นไปอย่างอัตคัต เงินที่ได้รับบริจาคไม่พอกับค่าใช้จ่าย และเมื่อในช่วงเศรษฐกิจฝืดเคืองในปี พ.ศ. 2455 คณะผู้ก่อตั้งขอพระบรมราชูปถัมภ์จากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งก็ทรงพระกรุณาพระราชทานเงินช่วยเหลือให้ปีละ 2,000 บาท แต่ถึงกระนั้นการดำเนินงานก็ยังทำได้ในวงจำกัด กระทั่ง พ.ศ. 2480 นักธุรกิจจีนได้ร่วมกับบรรดาสมาคมและหนังสือพิมพ์จีน ระดมความคิดปฏิรูปคณะเก็บศพไต้ฮงกงขึ้นใหม่ โดยจดทะเบียน (ทุน 2,000 บาท) จัดตั้งเป็นมูลนิธิในนาม ฮั่วเคี้ยวป่อเต็กเซี่ยงตึ๊ง (ฮั่วเคี้ยว หรือ หัวเฉียว หมายถึง ชาวจีนโพ้นทะเล, ป่อเต็ก แปลว่า สนองพระคุณ, เซี่ยง หรือเสียง หมายถึง ทำบุญกุศล และ ตึ๊ง หมายถึง ศาลาหรือองค์กร) เป็นมูลนิธิลำดับที่ 11 ของประเทศสยาม[2]
คณะกรรมการบริหารมูลนิธิชุดแรก มีนายเหีย กวงเอี่ยม เป็นประธาน และมีแต้ โหงวเล้า หรือนายอุเทน เตชะไพบูลย์ เป็นรองประธาน (อายุเพียง 24 ปีขณะนั้น) ขยายวัตถุประสงค์จากเดิมที่เก็บศพไร้ญาติเพียงอย่างเดียว ไปสู่การบำเพ็ญทานทั่วไปและรักษาพยาบาลผู้อนาถายากไร้ไม่จำกัดเชื้อชาติ ต่อมาในพุทธทศวรรษ 2480 ประเทศไทยอยู่ในภาวะไม่สงบ จากสงครามมหาเอเชียบูรพาที่ญี่ปุ่นรุกรานชาติต่าง ๆ นับจากจีน แผ่ขยายวงออกไป นายเหีย กวงเอี่ยม ผู้มีบทบาทต่อต้านการรุกรานของจีนของญี่ปุ่นถูกลอบสังหารเสียชีวิต นายอุเทน เตชะไพบูลย์จึงรับหน้าที่ต่อ
ในช่วงต้นของสงคราม ชาวจีนได้หลั่งไหลหนีภัยมายังประเทศไทยจำนวนมาก คน 1 ใน 4 ของผู้อพยพเป็นหญิงที่ติดตามสามีมา ส่วนใหญ่ยากไร้และอยู่ในวัยเจริญพันธุ์ และด้วยความที่ไม่คุ้นกับภาษาและวัฒนธรรมสยาม ทำให้เกิดปัญหายามตั้งครรภ์และตอนคลอดบุตร มูลนิธิป่อเต็กตึ๊งได้มีส่วนช่วยโดยได้เปิดสถานผดุงครรภ์หัวเฉียว (ฮั่วเคี้ยวกิ้วหูลิ่วซั่วอี่) ในปี พ.ศ. 2481 ขนาด 8 เตียงที่หลังศาลป่อเต็กตึ๊ง (ถนนพลับพลาไชย) การให้บริการทำคลอดได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว ต่อมาในปี พ.ศ. 2483 จึงขยายสถานผดุงครรภ์ไปเป็นโรงพยาบาลหัวเฉียว (ฮั่วเคี้ยวกิ้วหูอุยอี่) ขนาด 25 เตียง (ใช้ห้องเช่าแถวพลับพลาไชย) ให้บริการทำคลอดเกือบ 3,000 คน และได้ผลักดันจัดตั้ง โรงเรียนผดุงครรภ์หัวเฉียว จนสำเร็จในปี พ.ศ. 2485 ในช่วงที่สงครามทวีความรุนแรงมากขึ้น ซ้ำยังเกิดน้ำท่วมใหญ่ครั้งประวัติศาสตร์ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2485 เป็นเวลาเดือนเศษ มูลนิธิทำภารกิจหนักในการจัดหาข้าวสารไปแจกจ่ายประชาชนที่เดือดร้อน
ในระหว่างปี พ.ศ. 2487–88 ภัยสงครามทางอากาศรุนแรงขึ้น ทำให้ในกรุงเทพฯ ถูกระเบิดทำลาย ระบบสาธารณูปโภคถูกทำลายเช่นกัน มูลนิธิเป็นธุระเสาะหาน้ำสะอาดมาบรรเทาความขาดแคลน และยังจัดตั้งหน่วยบรรเทาทุกข์ผู้ประสบภัยทางอากาศ และเก็บศพเหยื่อสงครามและผู้ตายไร้ญาติกว่าหมื่นศพ (ตลอดทั้งสงคราม)
เมื่อสงครามเริ่มสงบลง (พ.ศ. 2489–90) ชาวจีนจำนวนมากถึง 170,000 คนอพยพมายังประเทศไทยโดยเรือกลไฟ นำโรคระบาดติดมาด้วยคือโรคริดสีดวงตา ซึ่งเป็นโรคติดต่อร้ายแรงเพราะทำให้ตาบอดได้ ทางการไทยสั่งกักผู้โดยสารที่มาถึงกรุงเทพฯ ไว้เกือบ 1 เดือน มูลนิธิป่อเต็กตึ๊งเข้ามาบรรเทาความเดือนร้อนแก่ชาวจีนอพยพ โดยนำข้าวต้ม น้ำสะอาดและเวชภัณฑ์ มาช่วยเหลือต่อเนื่อง 400 วัน และยังช่วยเหลือสงเคราะห์ชาวจีนโพ้นทะเล โดยช่วยเหลือด้านค่าธรรมเนียมและต่ออายุใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว โดยทำมายาวนาน 25 ปี รวมถึงยื่นขอใบอนุญาตทำงานแก่ชาวจีนถึงราว 80,000 คน
มูลนิธิป่อเต็กตึ๊งได้ดำเนินงานสาธารณะสงเคราะห์มาเป็นลำดับ ทั้งกิจกรรมหลักแรกเริ่ม คือการเก็บศพไร้ญาติ ไปจนถึงบรรเทาสาธารณภัยต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นอัคคีภัย ภัยแล้ง ภัยหนาว หรืออุทกภัย รวมไปจนถึงความยากจน ในปัจจุบันภารกิจของหน่วยกู้ภัยป่อเต็กตึ๊งมิได้ทำเพียงการเก็บศพอย่างเดียว แต่ดูแลเรื่องศพจนจบสิ้นกระบวนการ โดยจะทำพิมพ์นิ้วมือ ทำประวัติและถ่ายรูปผู้ตาย จากนั้นส่งศพไปเก็บที่สถาบันนิติเวชหรือโรงพยาบาลศูนย์ เพื่อให้ญาติมารับ หากไม่มีผู้มารับศพ มูลนิธิจะรับศพไปฝังชั่วคราว โดยที่สุสานของป่อเต็กตึ๊ง หากฝังครบ 3 ปี ไม่มีผู้มาขอรับศพ มูลนิธิจะทำพิธีฌาปนกิจให้ (ภายหลังจากทางราชการออกใบมรณบัตร)
งานสังคมสงเคราะห์ที่สำคัญและถือเป็นประเพณีบุญของมูลนิธิมายาวนาน คือ งานทิ้งกระจาด ซึ่งจัดขึ้นทุกปีในเทศกาลสารทจีน มีผู้ร่วมรับทานบริจาคกว่า 70,000 คนต่อปี ส่วนในด้านการรักษาพยาบาล นอกเหนือจากบริการหลักที่โรงพยาบาลหัวเฉียว (ขนาด 750 เตียง) แล้วยังมีบริการหน่วยแพทย์สงเคราะห์ชุมชน ซึ่งเป็นหน่วยแพทย์อาสาสมัครจากโรงพยาบาลหัวเฉียว ออกไปให้บริการแก่ผู้ยากไร้ในกรุงเทพฯ ปริมณฑลและต่างจังหวัด ทั้งในยามปกติและยามประสบสาธารณภัย โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใด ๆ
หลังจากที่มูลนิธิดำเนินกิจกรรมสาธารณสงเคราะห์มานานกว่า 4 ทศวรรษ คณะกรรมการบริหารมูลนิธิมีมติขยายวัตถุประสงค์ให้ครอบคลุมถึงด้านการศึกษาเพื่อพัฒนาคนด้วย จึงเกิดแนวคิดที่มาของสถาบันอุดมศึกษานามพระราชทาน มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งในปัจจุบันมหาวิทยาลัยเปิดสอนรวม 13 คณะ
รางวัล
แก้มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ได้รับรางวัลจาก คณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ให้เป็นหน่วยงานดีเด่นของชาติสาขาพัฒนาสังคม (ด้านสังคมสงเคราะห์) ประจำปี พุทธศักราช 2535[3]
ประธานมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง
แก้- นายเหีย กวงเอี่ยม พ.ศ. 2480 – 2482
- นายแต้ โหงวเล้า (อุเทน เตชะไพบูลย์) พ.ศ. 2482 – 2484 (วาระแรก)
- นายเตีย ลั่งชิ้น (สหัท มหาคุณ) พ.ศ. 2485 – 2486
- นายตัน จินเก่ง (จิตติน ตันธุวนิตย์) พ.ศ. 2487 – 2514
- นายแต้ โหงวเล้า (อุเทน เตชะไพบูลย์) พ.ศ. 2515 – 2550 (วาระที่สอง)
- ดร.วิเชียร เตชะไพบูลย์ พ.ศ. 2551 – ปัจจุบัน
ดูเพิ่ม
แก้อ้างอิง
แก้- ↑ กรรณิการ์ ตันประเสริฐ; และคณะ (2002). ป่อเต็กตึ๊ง บนเส้นทางประวัติศาสตร์สังคมไทย (2 ed.). กรุงเทพฯ: มติชน. pp. 91–100. ISBN 974-3-22-693-1.
- ↑ "95 ปี ของมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง". OKnation. พฤศจิกายน 2007. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 9 กันยายน 2012.
- ↑ "ประวัติมูลนิธิ". pohtecktung.org. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2010.
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง
- แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง
- ภาพถ่ายดาวเทียมจากวิกิแมเปีย หรือกูเกิลแมปส์
- แผนที่จากลองดูแมป หรือเฮียวีโก
- ภาพถ่ายทางอากาศจากเทอร์ราเซิร์ฟเวอร์