โรคริดสีดวงตา
โรคริดสีดวงตา เรียกอย่างอื่นว่า เยื่อตาอักเสบชนิดมีตุ่ม (granular conjunctivitis) ตาอักเสบรุนแรงอียิปต์ (Egyptian ophthalmia)[1] และ โรคริดสีดวงตาขั้นถึงตาบอด (blinding trachoma) เป็นโรคติดเชื้ออันมีสาเหตุมาจากแบคทีเรียชนิด Chlamydia trachomatis[2] การติดเชื้อดังกล่าวเป็นสาเหตุให้เกิด การหยาบขรุขระขึ้น ที่ผิวด้านในของเปลือกตา ซึ่งผิวที่หยาบขรุขระขึ้นสามารถนำไปสู่อาการเจ็บปวดในดวงตา เกิดการเสียสภาพของผิวด้านนอกหรือ กระจกตา ของดวงตาและอาจจนถึงขั้นตาบอด[2]
โรคริดสีดวงตา | |
---|---|
เปลือกตาม้วนเข้าใน และ ขนตา อันเป็นผลจากโรคริดสีดวงตา | |
บัญชีจำแนกและลิงก์ไปภายนอก | |
ICD-10 | A71 |
ICD-9 | 076 |
DiseasesDB | 29100 |
MedlinePlus | 001486 |
eMedicine | oph/118 |
MeSH | D014141 |
แบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรคดังกล่าวสามารถแพร่กระจายโดยการสัมผัสทางตรงและทางอ้อมกับตาหรือจมูกของผู้เป็นโรค[2] การสัมผัสทางอ้อมนั้นรวมไปถึงการสัมผัสผ่านทางเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มหรือแมลงวันที่เกิดไปสัมผัสกับตาหรือจมูกของผู้เป็นโรค[2] ปกติแล้ว ต้องเกิดการติดเชื้อหลายครั้งเป็นระยะเวลานานหลายปีก่อนจะถึงขั้นที่แผลเป็นที่เกิดบนเปลือกตาเป็นหนักจน ขนตา เริ่มเสียดสีดวงตา[2] เด็กจะแพร่กระจายโรคได้มากกว่าผู้ใหญ่[2] ระบบสุขาภิบาลที่ไม่ดีนัก สภาพความเป็นอยู่ที่แออัด ขาดน้ำหรือห้องสุขาที่สะอาด เหล่านี้เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดการแพร่กระจายได้มากขึ้นเช่นกัน[2]
มีการพยายามหาหนทางต่าง ๆ ในอันที่จะป้องกันโรคดังกล่าว ซึ่งรวมถึงการปรับปรุงให้มีน้ำสะอาดใช้ ลดจำนวนผู้ที่ติดเชื้อโดยการรักษาด้วย ยาปฏิชีวนะ[2] ซึ่งอาจรวมถึงการรักษากลุ่มคนที่โรคดังกล่าวเป็นที่ทราบว่าเป็นกันมาก โดยการรักษาทีเดียวพร้อมกัน[3] ลำพังเฉพาะการชำระล้างให้สะอาดนั้นไม่เพียงพอที่จะป้องกันโรคได้ แต่อาจมีประโยชน์หากกระทำพร้อมกับมาตรการอื่น ๆ[4] ทางเลือกในการรักษารวมไปถึงการให้ ยาอะซิโทรไมซิน ทางปากหรือ ยาเททราไซคลีนเป็นยาป้ายภายนอก[3] โดยยาอะซิโทรไมซินเป็นทางเลือกที่ดีกว่าเนื่องจากสามารถใช้เป็นยาให้ทางปากเพียงครั้งเดียว[5] หลังจากที่เกิดแผลเป็นที่เปลือกตา อาจจำเป็นต้องใช้ศัลยกรรมเพื่อตกแต่งตำแหน่งขนตาเสียใหม่และเพื่อป้องกันตาบอด[2]
ในโลกมีประมาณ 80 ล้านคนที่ยังไม่หายจากการติดเชื้อดังกล่าว[6] ในบางพื้นที่อาจมีการติดเชื้อดังกล่าวมากถึงร้อยละ 60–90 ของจำนวนเด็กและยิ่งพบทั่วไปในหญิงมากกว่าชายอันเนื่องจากมีโอกาสสัมผัสใกล้ชิดกับเด็ก ๆ[2] โรคดังกล่าวเป็นสาเหตุทำให้คนเป็นจำนวนถึง 2.2 ล้านคนหย่อนสมรรถภาพในการมองเห็น ในจำนวนนั้นมี 1.2 ล้านคนที่ตาบอดสนิท[2] เป็นโรคที่พบทั่วไปใน 53 ประเทศในทวีปต่าง ๆ คืออาฟริกา เอเชีย อเมริกากลางและอเมริกาใต้ โดยมีประมาณ 230 ล้านคนที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคดังกล่าว[2] ซึ่งเป็นผลให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจถึง 8 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปี[2] โรคดังกล่าวจัดอยู่ในกลุ่มโรคที่ทราบกันในชื่อว่า โรคเขตร้อนที่ถูกละเลย[6]
อ้างอิง
แก้- ↑ Swanner, Yann A. Meunier ; with contributions from Michael Hole, Takudzwa Shumba & B.J. (2014). Tropical diseases : a practical guide for medical practitioners and students. Oxford: Oxford University Press, USA. p. 199. ISBN 9780199997909.
- ↑ 2.00 2.01 2.02 2.03 2.04 2.05 2.06 2.07 2.08 2.09 2.10 2.11 2.12 "Blinding Trachoma Fact sheet N°382". World Health Organization. November 2013. สืบค้นเมื่อ 14 March 2014.
- ↑ 3.0 3.1 Evans JR1, Solomon AW (March 2011). "Antibiotics for trachoma". Cochrane Database Syst Rev. 16 (3): CD001860. doi:10.1002/14651858.CD001860.pub3. PMID 21412875.
- ↑ Ejere, HO; Alhassan, MB; Rabiu, M (Apr 18, 2012). "Face washing promotion for preventing active trachoma". The Cochrane database of systematic reviews. 4: CD003659. doi:10.1002/14651858.CD003659.pub3. PMID 22513915.
- ↑ Mariotti SP (November 2004). "New steps toward eliminating blinding trachoma". N. Engl. J. Med. 351 (19): 2004–7. doi:10.1056/NEJMe048205. PMID 15525727.
- ↑ 6.0 6.1 Fenwick, A (Mar 2012). "The global burden of neglected tropical diseases". Public health. 126 (3): 233–6. doi:10.1016/j.puhe.2011.11.015. PMID 22325616.