เหตุเครื่องบินชนกันกลางอากาศที่จรรขีทาทรี พ.ศ. 2539
อุบัติเหตุเครื่องบินชนกันกลางอากาศที่ประเทศอินเดีย พ.ศ. 2539 เป็นอุบัติเหตุทางการบินที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 โดยเครื่องบินโดยสารที่เดินทางจากคาซัคสถานและกำลังจะลงจอดที่ท่าอากาศยานนานาชาติอินทิรา คานธี กรุงนิวเดลีชนกับเครื่องบินโดยสารอีกลำหนึ่งที่ขึ้นบินจากท่าอากาศยานเดียวกันมุ่งหน้าไปยังซาอุดีอาระเบีย โดยตำแหน่งที่เกิดอุบัติเหตุอยู่ใกล้กับเมืองจรรขีทาทรี (ฮินดี: चरखी दादरी) รัฐหรยาณา ประเทศอินเดีย เหตุการณ์นี้จึงเป็นที่รู้จักกันในภาษาอังกฤษว่าเหตุเครื่องบินชนกันกลางอากาศที่จรรขีทาทรี (Charkhi Dadri mid-air collision) ผู้โดยสารและลูกเรือบนเครื่องบินทั้งสองลำรวมทั้งสิ้น 349 คนเสียชีวิตทั้งหมด เหตุการณ์นี้ถือเป็นเหตุการณ์เครื่องบินชนกันกลางอากาศที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในโลก[1] เป็นอุบัติเหตุทางการบินที่ร้ายแรงที่สุดในประเทศอินเดีย[2] และเป็นอุบัติเหตุทางการบินที่ร้ายแรงที่สุดเป็นอันดับที่ 3 ในโลกรองจากเหตุการณ์เครื่องบินชนกันที่ท่าอากาศยานเตเนริเฟในแคว้นกานาเรียส ประเทศสเปนในปี พ.ศ. 2520 และอุบัติเหตุเจแปนแอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ 123 ตกที่ประเทศญี่ปุ่นในปี พ.ศ. 2528[1]
สรุปการชนกลางอากาศ | |
---|---|
วันที่ | 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 |
สรุป | ชนกันกลางอากาศเนื่องจากความผิดพลาดของนักบินและระบบการจราจรทางอากาศที่บกพร่อง |
จุดเกิดเหตุ | จรรขีทาทรี รัฐหรยาณา ประเทศอินเดีย |
เสียชีวิต | 349 (ทั้งหมด) |
อากาศยานลำแรก | |
โบอิง 747-168บี ของซาอุดีอาระเบียนแอร์ไลน์หมายเลขทะเบียนลำที่เกิดเหตุ | |
ประเภท | โบอิง 747-168บี |
ดําเนินการโดย | ซาอุดีอาระเบียนแอร์ไลน์ |
ทะเบียน | HZ-AIH |
ต้นทาง | ท่าอากาศยานนานาชาติอินทิรา คานธี เดลี ประเทศอินเดีย |
จุดพัก | ท่าอากาศยานนานาชาติอัซเซาะฮ์รอน อัซเซาะฮ์รอน ประเทศซาอุดีอาระเบีย |
ปลายทาง | ท่าอากาศยานนานาชาติสมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลอะซีซ ญิดดะฮ์ ประเทศซาอุดีอาระเบีย |
ผู้โดยสาร | 289 |
ลูกเรือ | 23 |
เสียชีวิต | 312 (ทั้งหมด) |
อากาศยานลำที่สอง | |
เครื่องบินอิลยูชิน อิล-76ทีดี ของสายการบินคาซัคสถานแอร์ไลน์ลำที่เกิดเหตุ | |
ประเภท | อิลยูชิน อิล-76ทีดี |
ดำเนินการโดย | คาซัคสถานแอร์ไลน์ |
ทะเบียน | UN-76435 |
ต้นทาง | ท่าอากาศยานนานาชาติเชิมเกนต์ เชิมเกนต์ ประเทศคาซัคสถาน |
ปลายทาง | ท่าอากาศยานนานาชาติอินทิรา คานธี เดลี ประเทศอินเดีย |
ผู้โดยสาร | 27 |
ลูกเรือ | 10 |
เสียชีวิต | 37 (ทั้งหมด) |
เที่ยวบิน
แก้เหตุการณ์นี้เป็นการชนกันระหว่างเครื่องบินโบอิง 747 ของสายการบินซาอุดีอาระเบียนแอร์ไลน์และเครื่องบินอิลยูชิน อิล-76 ของสายการบินคาซัคสถานแอร์ไลน์
ซาอุดีอาระเบียนแอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ 763
แก้ซาอุดีอาระเบียนแอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ 763 เป็นเที่ยวบินเดินทางจากท่าอากาศยานนานาชาติอินทิรา คานธี กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย โดยมีกำหนดลงจอดที่ท่าอากาศยานนานาชาติอัซเซาะฮ์รอน เมืองอัซเซาะฮ์รอน ทางตะวันออกของประเทศซาอุดีอาระเบียก่อนจะเดินทางต่อไปยังท่าอากาศยานนานาชาติสมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลอะซีซ เมืองญิดดะฮ์ ทางตะวันตกของซาอุดีอาระเบีย[3] โดยใช้เครื่องบินโบอิง 747-168บี หมายเลขทะเบียน HZ-AIH ขณะที่เกิดเหตุเครื่องบินลำนี้มีอายุ 14 ปี 10 เดือน[2] มีผู้โดยสารบนเครื่องบินลำนี้ 289 คน และลูกเรือ 23 คน ผู้โดยสารส่วนใหญ่เป็นชาวอินเดียซึ่งเดินทางไปทำงานหรือไปแสวงบุญที่ซาอุดีอาระเบีย[4][5] และมีชาวต่างชาตินอกเหนือจากอินเดียและซาอุดีอาระเบียอยู่ด้วย 17 คน[6]
คาซัคสถานแอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ 1907
แก้คาซัคสถานแอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ 1907 เป็นเที่ยวบินเดินทางจากท่าอากาศยานนานาชาติเชิมเกนต์ เมืองเชิมเกนต์ ทางตอนใต้ของประเทศคาซัคสถานมายังท่าอากาศยานนานาชาติอินทิรา คานธี กรุงนิวเดลี โดยใช้เครื่องบินอิลยูชิน อิล-76ทีดี หมายเลขทะเบียน UN-76435 โดยขณะเกิดเหตุเครื่องบินลำนี้มีอายุ 4 ปี[7] ในรายงานข่าวแต่แรกนั้นระบุว่ามีคนบนเครื่องบินทั้งหมด 39 คน[4][6] อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ของสายการบินคาซัคสถานแอร์ไลน์ได้แจ้งว่ามีคนบนเครื่องบินเพียง 37 คนเท่านั้น[5] โดยเป็นลูกเรือ 10 คน และผู้โดยสาร 27 คน ซึ่งเที่ยวบินนี้เป็นเที่ยวบินเหมาลำโดยมีบริษัทเสื้อผ้าแห่งหนึ่งในประเทศคีร์กีซสถานเป็นผู้เช่า ผู้โดยสาร 13 คนบนเครื่องบินลำนี้ถือสัญชาติคีร์กีซ[6][8]
อุบัติเหตุ
แก้คาซัคสถานแอร์ไลน์เที่ยวบินที่ 1907 ใกล้ถึงท่าอากาศยานนานาชาติอินทิรา คานธี จึงแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ควบคุมจราจรทางอากาศของเดลี เจ้าหน้าที่สั่งให้เที่ยวบินที่ 1907 ลดระดับลงมาที่ 15,000 ฟุต ในขณะนั้น ซาอุดีอาระเบียนแอร์ไลน์เที่ยวบินที่ 763 ได้ขึ้นบินจากท่าอากาศยานและมุ่งหน้าไปในเส้นทางบินเดียวกันซึ่งสวนทางกับเที่ยวบินที่ 1907 เจ้าหน้าที่จึงสั่งให้เที่ยวบินที่ 763 ไต่ระดับขึ้นไปที่เพดานบิน 14,000 ฟุต เที่ยวบินที่ 1907 เมื่อลดระดับถึง 15,000 ฟุตแล้วก็รายงานต่อเจ้าหน้าที่ควบคุมจราจร เจ้าหน้าที่ได้แจ้งเตือนเที่ยวบินที่ 1907 ว่าเที่ยวบินที่ 763 กำลังมุ่งหน้าสวนทางกัน อย่างไรก็ตาม อันที่จริงแล้วเที่ยวบินที่ 1907 ไม่ได้รักษาระดับความสูงอยู่ที่ 15,000 ฟุต หากแต่กำลังลดระดับลงมาโดยในขณะนั้นอยู่ที่ระดับความสูง 14,500 ฟุตและกำลังลดระดับต่อไปอีก เที่ยวบินที่ 1907 ลดระดับลงไปอีกประมาณ 310 ฟุตก่อนจะชนเข้ากับเที่ยวบินที่ 763[2] เจ้าหน้าที่ควบคุมการจราจรทางอากาศไม่ทราบว่าเครื่องบินทั้งสองลำชนกันจนกระทั่งพยายามสื่อสารกับเครื่องบินทั้งสองลำแต่ไม่มีสัญญาณตอบกลับมาและจุดสัญญาณบนจอซึ่งเป็นของเครื่องบินทั้งสองลำนั้นหายไป[9] นักบินของกองทัพอากาศสหรัฐซึ่งขับเครื่องบินลำเลียงซี-141 และกำลังจะลงจอดที่นิวเดลีได้แจ้งว่ามองเห็นแสงสว่างสีส้มภายในก้อนเมฆ ก่อนที่แสงสว่างนั้นจะแยกออกเป็นลูกไฟสองลูกและแผ่ขยายออกเป็นวงกว้างเมื่อเครื่องบินทั้งสองลำตกถึงพื้น[6] ชาวบ้านที่อยู่ในเมืองจรรขีทาทรีซึ่งอยู่ห่างออกไปทางตะวันตกเฉียงเหนือจากนิวเดลีประมาณ 80 กิโลเมตรมองเห็นแสงไฟสว่างวาบบนท้องฟ้าซึ่งตัดกับความมืดในช่วงใกล้ค่ำ และได้ยินเสียงที่ดังยิ่งกว่าฟ้าผ่า[4] เที่ยวบินที่ 763 ตกลงไปในไร่ว่างเปล่าและก่อให้เกิดหลุมขนาดยาว 55 เมตร (60 หลา) ลึก 4.5 เมตร (15 ฟุต) ส่วนเที่ยวบินที่ 1907 ตกลงห่างจากเที่ยวบินที่ 763 ประมาณ 10 กิโลเมตร ในช่วงหลังจากพบเครื่องบินที่ตกไม่นานมีชาวบ้านพบผู้โดยสาร 3 คนจากเที่ยวบินที่ 763 ที่ได้รับบาดเจ็บสาหัส อย่างไรก็ตาม ผู้รอดชีวิตดังกล่าวทนพิษบาดแผลไม่ไหวและเสียชีวิตในเวลาต่อมา ไม่มีผู้เสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บนอกเหนือจากผู้โดยสารและลูกเรือบนเครื่องบินทั้งสองลำ[9] ผู้เห็นเหตุการณ์เชื่อว่านักบินพยายามหักเลี้ยวเครื่องบินไม่ให้ตกลงไปในเขตชุมชนและป้องกันไม่ให้มีผู้เสียชีวิตนอกเหนือจากบนเครื่องบิน[9][10]
สาเหตุ
แก้กล่องบันทึกข้อมูลการบินจากเที่ยวบินที่ 763 ถูกส่งไปยังสำนักงานสืบสวนอุบัติเหตุทางอากาศ (Air Accident Investigation Branch) ที่ฟาร์นบะระ สหราชอาณาจักรและกล่องบันทึกข้อมูลจากเที่ยวบินที่ 1907 ถูกส่งไปที่กรุงมอสโก ประเทศรัสเซียเพื่อถอดรหัสและอ่านข้อมูลจากบันทึก โดยจากการสืบสวนพบว่าสาเหตุหลักของอุบัติเหตุครั้งนี้เกิดจากความผิดพลาดของนักบินของเที่ยวบินที่ 1907 ที่ลดระดับความสูงจาก 15,000 ฟุตทั้ง ๆ ที่เจ้าหน้าที่ควบคุมจราจรทางอากาศสั่งให้เที่ยวบินที่ 1907 รักษาระดับไว้ที่ 15,000 ฟุต[11] อย่างไรก็ตาม คาซัคสถานแอร์ไลน์อ้างว่านักบินจำเป็นต้องลดระดับความสูงลงมาเนื่องจากสภาพอากาศปั่นป่วนที่ระดับความสูงดังกล่าว แต่ทั้งซาอุดีอาระเบียนแอร์ไลน์และคณะเจ้าหน้าที่ควบคุมจราจรทางอากาศของอินเดียคัดค้านโดยอ้างข้อมูลรายงานสภาพอากาศว่าไม่มีสภาพอากาศปั่นป่วนแต่อย่างใด[11][12] นอกจากนี้ซาอุดีอาระเบียนแอร์ไลน์ยังกล่าวโทษเจ้าหน้าที่ควบคุมจราจรที่ไม่ได้แจ้งนักบินของเที่ยวบินที่ 763 ว่ามีเที่ยวบินที่ 1907 อยู่ในทิศทางสวนกับเที่ยวบินที่ 763[11]
ทั้งเจ้าหน้าที่ควบคุมจราจรทางอากาศและซาอุดีอาระเบียนแอร์ไลน์ได้ตั้งข้อสังเกตอีกว่าสาเหตุอีกประการหนึ่งอาจจะมาจากธรรมเนียมปฏิบัติของนักบินจากประเทศอดีตสมาชิกสหภาพโซเวียตที่แตกต่างจากนักบินอื่น ๆ โดยนักบินส่วนใหญ่ไม่สามารถใช้ภาษาอังกฤษได้คล่อง ทำให้ไม่สามารถสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ควบคุมจราจรได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมาตรวัดของเครื่องบินที่ผลิตในสหภาพโซเวียตใช้ระบบเมตริก (กิโลเมตร) แทนที่จะเป็นระบบอิมพีเรียล (ฟุต) อย่างที่เครื่องบินส่วนใหญ่ในโลกใช้กัน ทำให้นักบินต้องเสียเวลาแปลงหน่วย แม้ว่าทางฝ่ายคาซัคสถานจะคัดค้านก็ตาม[5][8][10][11]
การจัดการเส้นทางบินภายในประเทศอินเดียก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่ง โดยน่านฟ้าโดยรอบท่าอากาศยานนานาชาติอินทิรา คานธีในขณะนั้นโดยส่วนใหญ่จะให้เครื่องบินของกองทัพอากาศอินเดียใช้ขึ้นและลง ในขณะที่เที่ยวบินพาณิชย์ถูกจำกัดให้อยู่ในบริเวณส่วนน้อย[6][10][11] และระบบเรดาร์ของท่าอากาศยานยังคงเป็นระบบดั้งเดิมที่ระบุเพียงตำแหน่งของเครื่องบินเท่านั้น และไม่ระบุข้อมูลที่สำคัญอื่น ๆ เช่นระดับความสูง หรือชื่อเรียกของเครื่องบิน ทำให้เจ้าหน้าที่ควบคุมจราจรต้องอาศัยข้อมูลจากนักบินที่รายงานตำแหน่งและระดับความสูง[6][8][11] และเครื่องบินทั้งสองลำก็ไม่มีระบบ ACAS (Airborne Collision Avoidance System) ที่แจ้งเตือนว่ามีเครื่องบินอีกลำหนึ่งอยู่ในระยะใกล้พอที่จะก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้[3]
ในสื่อ
แก้เหตุการณ์นี้ถูกนำไปสร้างเป็นสารคดีชื่อ Head On! โดยบริษัทมิดเทค ซึ่งเป็นบริษัทผลิตสื่อจากรัฐหรยาณา ประเทศอินเดีย และออกฉายทางช่องเนชั่นแนลจีโอกราฟิก[13] และถูกนำไปสร้างเป็นสารคดีชุดเมย์เดย์หรือแอร์แครชอินเวสติเกชัน โดยบริษัทซีเนฟลิกซ์โปรดักชันส์จากประเทศแคนาดา ซึ่งออกฉายทางช่องเดียวกัน[14]
อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 Morris, Hugh (12 กรกฎาคม พ.ศ. 2560). "The truth behind the 10 deadliest plane crashes of all time". เดอะเทเลกราฟ. สืบค้นเมื่อ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|access-date=
และ|date=
(help) - ↑ 2.0 2.1 2.2 Aviation Safety Network. "ASN Aircraft accident Boeing 747-168B HZ-AIH Charki Dadri". สืบค้นเมื่อ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|access-date=
(help) - ↑ 3.0 3.1 Kingsley-Jones, Max; Learmount, David (20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539). "Collision raises doubts on ATC routeings". Flightglobal. Flight International. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 1 มกราคม พ.ศ. 2558. สืบค้นเมื่อ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|access-date=
,|date=
และ|archive-date=
(help) - ↑ 4.0 4.1 4.2 Halarnka, Samar (30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539). "Saudi-Kazakh air collision: Boeing 747 crashes into IL-76 over Indian skies killing 351". India Today. สืบค้นเมื่อ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561.
{{cite magazine}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|access-date=
และ|date=
(help) - ↑ 5.0 5.1 5.2 Guruswamy, Krishnan (13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539). "Transcript in Air Collision That Killed 349 Showed All Appeared Normal". Associated Press. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-08-18. สืบค้นเมื่อ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561.
{{cite news}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|access-date=
และ|date=
(help) - ↑ 6.0 6.1 6.2 6.3 6.4 6.5 Burns, John F. (13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539). "Two Airliners Collide in Midair, Killing All 351 Aboard in India". นิวยอร์กไทมส์. สืบค้นเมื่อ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561.
{{cite news}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|access-date=
และ|date=
(help) - ↑ Aviation Safety Network. "ASN Aircraft accident Ilyushin Il-76TD UN-76435 Charkhi Dadri". สืบค้นเมื่อ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|access-date=
(help) - ↑ 8.0 8.1 8.2 "Pilot error focus of India collision investigation". ซีเอ็นเอ็น. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 28 มกราคม พ.ศ. 2543. สืบค้นเมื่อ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561.
{{cite news}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|access-date=
และ|archive-date=
(help) - ↑ 9.0 9.1 9.2 Cooper, Kenneth J. (13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539). "At Least 349 Are Killed in Collision". วอชิงตันโพสต์. สืบค้นเมื่อ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561.
{{cite news}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|access-date=
และ|date=
(help) - ↑ 10.0 10.1 10.2 McGirk, Tim (14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539). "THE INDIAN AIR CRASH: Tapes point blame at Kazakh pilot". ดิอินดีเพ็นเดนต์. สืบค้นเมื่อ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561.
{{cite news}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|access-date=
และ|date=
(help) - ↑ 11.0 11.1 11.2 11.3 11.4 11.5 Burns, John F. (5 พฤษภาคม พ.ศ. 2540). "One Jet in Crash Over India Ruled Off Course". นิวยอร์กไทมส์. สืบค้นเมื่อ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561.
{{cite news}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|access-date=
และ|date=
(help) - ↑ "Communication gap caused Charkhi Dadri mishap: ATC guild". Rediff. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2542. สืบค้นเมื่อ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561.
{{cite news}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|access-date=
และ|archive-date=
(help) - ↑ "Head On - AirCrash". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 23 มีนาคม พ.ศ. 2550. สืบค้นเมื่อ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|access-date=
และ|archive-date=
(help) - ↑ ""Air Crash Investigation" Sight Unseen (TV Episode 2009) - IMDb". อินเทอร์เน็ตมูวีเดตาเบส. สืบค้นเมื่อ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|access-date=
(help)