เพลงมหาชัย เป็นเพลงเกียรติยศสำหรับพระบรมวงศ์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ใช้เป็นเพลงเดินธงในพิธีการสำคัญทางทหาร และใช้บรรเลงในการอวยพร

เพลงมหาชัย
โน้ตเพลงมหาชัย ทางสากล ฉบับเผยแพร่โดยคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี ตามมติคณะรัฐมนตรีลงวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2546
ทำนองสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์, พ.ศ. 2438 (129 ปี)
รับไปใช้24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 (91 ปี) (เพลงชาติโดยพฤตินัย)
เลิกใช้1 กรกฎาคม พ.ศ. 2475 (91 ปี) (เพลงชาติโดยพฤตินัย)
ตัวอย่างเสียง
เพลงมหาชัย (บรรเลง)

ประวัติ

แก้

เพลงมหาชัยเดิมเป็นเพลงไทยอัตราสองชั้น มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ใช้บรรเลงคู่กับเพลงมหาฤกษ์ในโอกาสอันเป็นมงคลต่าง ๆ จนเรียกขานกันโดยทั่วไปว่า "มหาฤกษ์-มหาชัย" ต่อมาสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เพลงนี้บรรจุอยู่ในเพลงปี่พาทย์ เรื่องเวียนเทียน หรือทำขวัญ เป็นเพลงในลำดับที่ 5 ที่เริ่มจาก เพลงนางนาค แล้วออก เพลงมหาฤกษ์ มหากาล สังข์น้อย มหาชัย ดอกไม่ไทร และดอกไม้ไพร ตามลำดับ นอกจากนี้เพลงมหาชัย ยังปรากฏอยู่ในเพลงตับมโหรี เรื่องทำขวัญครั้งกรุงเก่า โดยเป็นเพลงในลำดับที่ 6 ซึ่งมี พัดชา นางนาค นางนกครวญ สรรเสริญพระจันทร์ มอญแปลง มหาชัย มโนราห์โอด ราโค หงส์ไซร้ดอกบัว เนรปาตี

ใน พ.ศ. 2438 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ขณะทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงกลาโหม ทรงพระนิพนธ์เพลงมหาชัยทางสากลขึ้นจากเพลงมหาชัยแบบดั้งเดิมของไทย แล้วประทานให้พระยาวาทิตบรเทศนำไปเรียบเรียงประสานเสียงสำหรับแตรวงทหารบรรเลงเป็นเพลงเดิน และทรงให้ มร.ยาคอบ ไฟต์ (บิดาของพระเจนดุริยางค์) เรียบเรียงดนตรีสำหรับให้แตรวงทหารม้าบรรเลงด้วยเครื่องดนตรีทองเหลือง (Brass Band) ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ได้ทรงนำเพลงนี้มาแก้ไขปรับปรุงใหม่ให้รัดกุมยิ่งขึ้น โดยให้วงดุริยางค์ทหารบกและทหารเรือบรรเลงกันเป็นเพลงเคารพหรือเพลงคำนับพระบรมวงศ์ที่มีศักดิ์ไม่ถึงสมเด็จพระบรมราชินี

เพลงมหาชัยทางสากลที่ใช้เป็นเพลงคำนับนี้ใช้บรรเลงอย่างเดียว ไม่มีคำร้อง รัฐบาลไทยได้จัดเพลงนี้ให้เป็น 1 ใน 6 เพลงสำคัญของแผ่นดิน ตามมติคณะรัฐมนตรีลงวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2546

การบรรเลง

แก้

เพลงมหาชัยใช้เป็นเพลงเกียรติยศของพระบรมวงศ์ที่มีศักดิ์ต่ำกว่า สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี หรือก็คือได้รับพระราชทานเศวตฉัตรตั้งแต่ 5 ชั้นลงมา ซึ่งในปัจจุบันนี้[1] ได้แก่

นอกจากนี้ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ยังได้รับสิทธิให้ใช้เพลงนี้เป็นเพลงคำนับด้วยเช่นกัน

เพลงมหาชัย ยังใช้บรรเลงเมื่อผู้เป็นประธานหรือแขกเกียรติยศสูงสุดของงานมาถึง และเมื่อผู้เป็นประธานของงานกล่าวคำปราศรัยจบ และใช้บรรเลงในงานรับรองบุคคลสำคัญ งานสโมสรสันนิบาต การดื่มอวยพรเลี้ยงคณะทูตเพื่อกระชับสัมพันธไมตรีระหว่างชาติ

ในพิธีการทางทหาร เพลงมหาชัยจะใช้บรรเลงเป็นเพลงเดินธง ในขณะที่ทำการเชิญธงชัยเฉลิมพลเข้าประจำที่หน้าพลับพลาที่ประทับ ในพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามของทหารรักษาพระองค์ และ ในกิจการลูกเสือ เพลงมหาชัยจะใช้บรรเลงเป็นเพลงเดินธง ในขณะที่ทำการเชิญธงคณะลูกเสือแห่งชาติและธงลูกเสือประจำจังหวัด ในงานพิธีสำคัญทางกิจการลูกเสือ ด้วยเช่นกัน หมู่เชิญธงจะเดินในท่าเดินเปลี่ยนสูงระหว่างทำการเชิญธงจนกว่าหมู่เชิญธงที่เข้าร่วมพิธีดังกล่าวทุกหมู่จะเข้าประจำที่ทั้งหมด

การดัดแปลง

แก้

เพลงชาติมหาชัย

แก้

ในช่วงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 คณะราษฎรได้นำเอาเพลงมหาชัย (ทางร้องแบบไทยเดิม) มาใช้เป็นเพลงปฏิวัติ มีชื่อว่า "เพลงชาติมหาชัย" โดยใช้คำร้องของเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เพลงนี้แต่งขึ้นเพื่อใช้ขับร้องและบรรเลงปลุกเร้าใจประชาชน ก่อให้เกิดความรักชาติและสร้างความสามัคคี ในระหว่างที่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองทำนองเดียวกันกับเพลงปฏิวัติอื่น ๆ และมีความคิดจะใช้เพลงนี้เป็นเพลงสำหรับชาติในลักษณะเดียวกับเพลง La Marseillaise ของฝรั่งเศส แต่ไม่ได้รับความนิยมจากประชาชน ภายหลังจึงได้เปลี่ยนมาใช้เพลงชาติไทยฉบับประพันธ์ทำนองโดยพระเจนดุริยางค์ แทน[ต้องการอ้างอิง]

จากการค้นคว้าของ ดร.สุกรี เจริญสุข ได้จัดเพลงนี้ให้เป็นเพลงชาติ (National anthem) ลำดับที่ 4 ของประเทศไทย[ต้องการอ้างอิง]

เนื้อเพลงชาติมหาชัยมีดังนี้

สยามอยู่คู่ฟ้าอย่าสงสัย
เพราะชาติไทยเป็นไทยไปทุกเมื่อ
ชาวสยามนำสยามเหมือนนำเรือ
ผ่านแก่งเกาะเพราะเพื่อชาติพ้นภัย
เราร่วมใจร่วมรักสมัครหนุน
วางธรรมนูญสถาปนาพาราใหม่
ยกสยามยิ่งยงธำรงชัย
ให้คงไทยตราบสิ้นดินฟ้า

เพลงปลุกใจ

แก้

พลตรี หลวงวิจิตรวาทการได้แต่งเนื้อร้องใส่ทำนองเพลงมหาชัย เพื่อใช้เป็นเพลงประกอบบทละครปลุกใจให้รักชาติ ขับร้องหมู่โดยนักร้องกรมศิลปากร มีเนื้อร้องดังต่อไปนี้[2]


(พูด)
ไปเถอะยอดรัก
ไปรบสู้เสียสละ
เพื่อประเทศชาติที่รักของเรา

(ดนตรีขึ้นเพลงมหาชัย)

(พูด)
ขอไทยเราอยู่เป็นไทย ขอไทยเราอยู่คู่ฟ้า
ขอปวงหมู่ประชา ไทยเป็นสุขและสมบูรณ์พูนผล
ใครกล้ามาผจญ จงให้ศัตรูทุกคนแพ้ภัยมลายไป

(ร้องทำนองเพลงมหาชัยทางสากล)
ขอไทยเราอยู่เป็นไทย ขอไทยเราอยู่คู่ฟ้า
ขอปวงหมู่ประชา ไทยเป็นสุขและสมบูรณ์พูนผล
ใครกล้ามาผจญ จงให้ศัตรูทุกคนแพ้ภัยมลายไป

บทร้องโดย เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

แก้

ในปี พ.ศ. 2550 เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ได้ประพันธ์เนื้อร้องบทหนึ่งโดยใส่ทำนองตามเพลงมหาชัยทางสากล ปรากฏความดังต่อไปนี้

   ขอชัยมงคล โปรดจงอยู่ดำรง
คงยิ่งใหญ่ในแผ่นดิน ภูมิพื้นถิ่น ภูมิพลัง
ไทยทุกเหล่า เผ่าสยาม ชยะสิทธิ์ สิทธิ์ชัย ทุกยาม
ชยะศักดิ์สยามยืนยง สิ่งประสงค์จงเจริญ
ผองไทยรักแผ่นดินไทย รวมใจร่วมฝ่าเผชิญ
เดินสู่สมัยไทยสากล บนแผ่นดินถิ่นสยาม
ชยะสิทธิ์ สิทธิ์ชัย ทุกยาม ชยะศักดิ์สยามยืนยง
ขอมงคลมหาชัย ชโย

เพลงมหาชัยซึ่งขับร้องด้วยบทร้องข้างต้น ได้มีการบันทึกเสียงอยู่ในซีดีชุด บันทึกเสียงเพลงเกียรติยศ - National Music "Songs of Honor" โดยวงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยมหิดล ปรากฏเป็นเพลงลำดับที่ 4 จากทั้งทมด 13 เพลง ในซีดีชุดนี้[3]

อ้างอิง

แก้
  1. ระเบียบส่วนราชการในพระองค์ ว่าด้วยการบรรเลงดุริยางค์ในการพระราชพิธีหรือพิธีการ พ.ศ. 2562
  2. กระทู้ที่ 00813 เก็บถาวร 2007-07-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ในเว็บไซต์บ้านสุนทราภรณ์ ความคิดเห็นที่ 42 (ในหน้านี้เรียกชื่อเพลงว่า "ขอไทยเราอยู่เป็นไทย" ตามคำร้องในเพลง)
  3. http://www.thailandphil.com/media/ เข้าถึงเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2554.

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้

แม่แบบ:เพลงสำคัญของแผ่นดิน