เตาเขง ( ป. ทศวรรษ 160 – 250)[1] หรือชื่อในภาษาจีนกลางว่า ตู้ ฉฺยง (จีนตัวย่อ: 杜琼; จีนตัวเต็ม: 杜瓊; พินอิน: Dù Qióng) ชื่อรอง ปั๋วยฺหวี (จีน: 伯瑜; พินอิน: Bóyú) เป็นขุนนาง นักดาราศาสตร์และโหรของรัฐจ๊กก๊กในยุคสามก๊กของจีน

เตาเขง (ตู้ ฉฺยง)
杜瓊
เสนาบดีพิธีการ (太常)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. ? (?) – ค.ศ. ? (?)
กษัตริย์เล่าเสี้ยน
เสนาบดีปฏิคม (大鴻臚)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. ? (?) – ค.ศ. ? (?)
กษัตริย์เล่าเสี้ยน
ขุนพลราชองครักษ์ฝ่ายซ้าย (左中郎將)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. ? (?) – ค.ศ. ? (?)
กษัตริย์เล่าเสี้ยน
ที่ปรึกษาผู้เสนอและทัดทาน (諫議大夫)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. ? (?) – ค.ศ. ? (?)
กษัตริย์เล่าเสี้ยน
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิดป. ทศวรรษ 160[1]
เฉิงตู มณฑลเสฉวน
เสียชีวิตค.ศ. 250 (อายุราว 80 ปี)[1]
บุตรตู้ เจิน
อาชีพขุนนาง, นักดาราศาสตร์, โหร
ชื่อรองปั๋วยฺหวี (伯瑜)

ประวัติ

แก้

เตาเขงเป็นชาวอำเภอเซงโต๋ (成都 เฉิงตู) เมืองจ๊ก (蜀郡 ฉู่จฺวิ้น) ซึ่งปัจจุบันคือนครเฉิงตู มณฑลเสฉวน เตาเขงในวัยหนุ่มศึกษาคัมภีร์อี้จิงร่วมกับเหอ จง (何宗)[2] โดยเป็นลูกศิษย์ของเริ่น อัน (任安)[2] เตาเขงเชี่ยวชาญด้านดาราศาสตร์และการทำนาย ระหว่างปี ค.ศ. 194 ถึงปี ค.ศ. 214 เล่าเจี้ยง เจ้ามณฑลเอ๊กจิ๋ว (ครอบคลุมพื้นที่มณฑลเสฉวนและนครฉงชิ่งในปัจจุบัน) ได้รับเตาเขงมารับราชการเป็นเจ้าหน้าที่ผู้ช่วย (從事 ฉงชื่อ) ของตน[3]

ในปี ค.ศ. 214[4] หลังจากที่ขุนศึกเล่าปี่เข้ายึดเอ๊กจิ๋วจากเล่าเจี้ยง เล่าปี่แต่งตั้งเตาเขงให้เป็นเจ้าหน้าที่ผู้ช่วยในสำนักที่ปรึกษา (議曹從事 อี้เฉาฉงชื่อ)[5] หลังจากการสิ้นสุดของราชวงศ์ฮั่นตะวันออก ในปี ค.ศ. 220 เตาเขงอ้างการทำนายเพื่อโน้มน้าวให้เล่าปี่ประกาศตนเป็นจักรพรรดิ[2] ซึ่งในที่สุดเล่าปี่ก็ขึ้นเป็นจักรพรรดิในปี ค.ศ. 221 และสร้างสถาปนารัฐจ๊กก๊กในยุคสามก๊ก หลังจากเล่าปี่สวรรคตในปี ค.ศ. 223[6] เตาเขงยังคงรับราชการกับเล่าเสี้ยนโอรสและผู้สืบทอดตำแหน่งจักรพรรดิถัดจากเล่าปี่ ในรัชสมัยของเล่าเสี้ยน ( ค. ค.ศ. 223–263) เตาเขงดำรงตำแหน่งหลายตำแหน่ง ได้แก่ ที่ปรึกษาผู้เสนอและทัดทาน (諫議大夫 เจี้ยนอี้ต้าฟู) ขุนพลราชองครักษ์ฝ่ายซ้าย (左中郎將 จั่วจงหลางเจี้ยง) เสนาบดีปฏิคม (大鴻臚 ต้าหงหลู) และเสนาบดีพิธีการ (太常 ไท่ฉาง)[7] เมื่อจูกัดเหลียงอัครเสนาบดีแห่งจ๊กก๊กเสียชีวิตในปี ค.ศ. 234 เล่าเสี้ยนมีรับสั่งให้เตาเขงนำพระราชโองการไว้ทุกข์ไปที่หลุมฝังศพของจูกัดเหลียงและอ่านออกเสียง[2]

เตาเขงเป็นที่รู้จักจากการเป็นคนพูดน้อยและไม่ทำตัวเด่นตลอดการรับราชการของตน เตาเขงแทบไม่มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนขุนนางนอกสถานที่ทำงานและอยู่ในที่พักของตนเป็นส่วนใหญ่ในช่วงนอกเวลาราชการ เจียวอ้วนและบิฮุยซึ่งดำรงตำแหน่งหัวหน้าขุนนางราชสำนักกลางของจ๊กก๊กระหว่างปี ค.ศ. 234 ถึง ค.ศ. 253 เคารพและยกย่องเตาเขงเป็นอย่างสูง[8]

แม้ว่าเตาเขงจะเชี่ยวชาญด้านดาราศาสตร์เป็นอย่างดี แต่เดิมนั้นไม่มีความรู้ด้านดาราศาสตร์มาก่อน[9] จนกระทั่งได้พบกับเจียวจิ๋วที่เป็นเพื่อนขุนนางซึ่งแสวงหามุมมองเกี่ยวกับดาราศาสตร์อยู่ตลอดเวลา เตาเขงบอกเจียวจิ๋วว่า "ไม่ง่ายเลยที่จะเข้าใจดาราศาสตร์ จะต้องสังเกตท้องฟ้าและระบุลักษณะของปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ประเภทต่าง ๆ ด้วยตนเอง แทนที่จะเชื่อในสิ่งที่คนอื่นบอก การเรียนดาราศาสตร์ต้องใช้ความพยายามและเวลามากก่อนที่จะเข้าใจดาราศาสตร์อย่างแท้จริง เมื่อเข้าใจแล้วก็จะเริ่มกังวลว่าความลับในอนาคตจะรั่วไหล ข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นการดีที่สุดที่จะไม่รู้ ดังนั้นข้าพเจ้าจึงเลิกสังเกตท้องฟ้า"[10]

เจียวจิ๋วถามเตาเขงว่า " โจฺว ชูเคยกล่าวไว้ว่า 'บางสิ่งที่สูงบนถนน' [นิยมพูดกันว่า 'บางสิ่งที่สูงบนถนนจะมาแทนที่ (ราชวงศ์) ฮั่น'] หมายถึงรัฐวุย (魏 เว่ย์) ทำไมท่านถึงคิดว่าเป็นเช่นนั้น” เตาเขงตอบว่า "คำว่า เว่ย์ (魏) ยังมีความหมายถึงหอสังเกตการณ์สองแห่งที่แต่ละประตูของพระราชวัง หันหน้าไปทางถนนและโดดเด่นในฐานะโครงสร้างสูงมากจากระยะไกล (เพราะเว่ย์เป็นชื่อของรัฐโบราณด้วย) นักปราชญ์จึงใช้คำนี้ในสองความหมาย " เมื่อเจียวจิ๋วต้องการให้ขยายความให้ชัดเจน เตาเขงจึงอธิบายเพิ่มเติมว่า "คำว่าเฉา (曹) ไม่เคยใช้เรียกตำแหน่งขุนนางราชสำนักในยุคโบราณ การเรียกเป็นตำแหน่งเช่นนี้เริ่มขึ้นในราชวงศ์ฮั่น เสมียนเรียกว่า ฉู่เฉา (屬曹) และทหารองครักษ์เรียกว่า ชื่อเฉา (侍曹) นี่อาจเป็นความประสงค์ของสวรรค์" [11][a]

เตาเขงเสียชีวิตในปี ค.ศ. 250 ขณะอายุราว 80 ปี[1] ตลอดชีวิตของเตาเขงเขียนตัวอักษรจีนมากกว่า 100,000 ตัวในหันชือจางจฺวี้ (韓詩章句) เพื่อเป็นคำอธิบายโดยละเอียดของคัมภีร์ชือจิง[2] อย่างไรก็ตาม เตาเขงไม่เคยรับลูกศิษย์คนใดเลย ดังนั้นจึงไม่มีใครสืบทอดภูมิปัญญาของเตาเขง[b][12]

ดูเพิ่ม

แก้

หมายเหตุ

แก้
  1. เตาเขงกำลังพูดถึงการแทนที่ราชวงศ์ฮั่นตะวันออกโดยรัฐวุยก๊กแห่งยุคสามก๊ก ตระกูลโจหรือเฉา (曹) เป็นตระกูลผู้ปกครองรัฐวุยก๊ก
  2. รายละเอียดนี้ขัดแย้งกับในหฺวาหยางกั๋วจื้อซึ่งบันทึกว่าเกา หวาน (高玩) เป็นลูกศิษย์ของเตาเขง เกา หวานยังรับราชการในสมัยราชวงศ์จิ้นในตำแหน่งนักดาราศาสตร์หลวง (太史令 ไท่ฉื่อลิ่ง) จึงน่าจะสืบทอดความรู้บางอย่างของเตาเขง

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 (瓊年八十餘,延熈十三年卒。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 42.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 de Crespigny (2007).
  3. (杜瓊字伯瑜,蜀郡成都人也。少受學於任安,精究安術。劉璋時辟為從事。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 42.
  4. Zizhi Tongjian เล่มที่ 67.
  5. (先主定益州,領牧,以瓊為議曹從事。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 42.
  6. จือจื้อทงเจียน เล่มที่ 69–70.
  7. (後主踐阼,拜諫議大夫,遷左中郎將、大鴻臚、太常。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 42.
  8. (為人靜默少言,闔門自守,不與世事。蔣琬、費禕等皆器重之。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 42.
  9. (雖學業入深,初不視天文有所論說。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 42.
  10. (後進通儒譙周常問其意,瓊荅曰:「欲明此術甚難,須當身視,識其形色,不可信人也。晨夜苦劇,然後知之,復憂漏泄,不如不知,是以不復視也。」) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 42.
  11. (周因問曰:「昔周徵君以為當塗高者魏也,其義何也?」瓊荅曰:「魏,闕名也,當塗而高,聖人取類而言耳。」又問周曰:「寧復有所怪邪?」周曰:「未達也。」瓊又曰:「古者名官職不言曹;始自漢已來,名官盡言曹,吏言屬曹,卒言侍曹,此殆天意也。」) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 42.
  12. (著韓詩章句十餘萬言,不教諸子,內學無傳業者。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 42.
  • ตันซิ่ว (ศตวรรษที่ 3). จดหมายเหตุสามก๊ก (ซันกั๋วจื้อ)
  • de Crespigny, Rafe (2007). A Biographical Dictionary of Later Han to the Three Kingdoms 23-220 AD. Leiden: Brill. ISBN 9789004156050.
  • ซือหม่า กวัง (1084). จือจื้อทงเจี้ยน