เจ้าหญิงชาร์ลอตต์แห่งเวลส์ (ค.ศ. 1796–1817)
ลิงก์ข้ามภาษาในบทความนี้ มีไว้ให้ผู้อ่านและผู้ร่วมแก้ไขบทความศึกษาเพิ่มเติมโดยสะดวก เนื่องจากวิกิพีเดียภาษาไทยยังไม่มีบทความดังกล่าว กระนั้น ควรรีบสร้างเป็นบทความโดยเร็วที่สุด |
เจ้าหญิงชาร์ลอตต์ ออกัสตาแห่งเวลส์ (อังกฤษ: Princess Charlotte Augusta of Wales; 7 มกราคม ค.ศ. 1796 – 6 พฤศจิกายน ค.ศ. 1817) ทรงเป็นพระราชธิดาและบุตรพระองค์เดียวในเจ้าชายจอร์จแห่งเวลส์ (ต่อมาคือ พระเจ้าจอร์จที่ 4 แห่งสหราชอาณาจักร) กับเจ้าหญิงคาโรลีนแห่งเบราน์ชไวก์ หากว่าเจ้าหญิงทรงมีพระชนม์ชีพยืนยาวกว่าพระเจ้าจอร์จที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร พระอัยกาและเจ้าชายจอร์จ พระราชบิดา พระนางอาจได้เป็นสมเด็จพระราชินีนาถแห่งสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์ แต่พระนางสิ้นพระชนม์เสียก่อนด้วยพระชันษา 21 ปี
เจ้าหญิงชาร์ลอตต์ | |||||
---|---|---|---|---|---|
พระรูปเขียนของเจ้าหญิงชาร์ลอตต์ วาดโดยจอร์จ ดาวี ใน ค.ศ. 1817 | |||||
ประสูติ | 7 มกราคม ค.ศ. 1796 เซอร์รีย์ ประเทศอังกฤษ | ||||
สิ้นพระชนม์ | 6 พฤศจิกายน ค.ศ. 1817 เซอร์รีย์ ประเทศอังกฤษ | (21 ปี)||||
ฝังพระศพ | 19 พฤศจิกายน ค.ศ. 1817 โบสถ์น้อยเซนต์จอร์จ ปราสาทวินด์เซอร์ ประเทศอังกฤษ | ||||
พระสวามี | เจ้าชายเลออปอลแห่งซัคเซิน-โคบวร์ค-ซาลเฟลด์ | ||||
| |||||
ราชวงศ์ |
| ||||
พระบิดา | สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 4 แห่งสหราชอาณาจักร | ||||
พระมารดา | คาโรลีเนอแห่งเบราน์ชไวค์-ว็อลเฟินบึทเทิล | ||||
ลายพระอภิไธย |
พระราชบิดาและพระราชมารดาของเจ้าหญิงชาร์ลอตต์ไม่ชอบพอกันตั้งแต่ก่อนการอภิเษกสมรสและแยกกันประทับในเวลาต่อมา เจ้าชายแห่งเวลส์ทรงให้เจ้าหญิงชาร์ลอตต์อยู่ภายใต้การอภิบาลของพระอภิบาลและข้าบริพาร และทรงได้รับอนุญาตให้ติดต่อเจ้าหญิงแห่งเวลส์อย่างจำกัด ผู้เสด็จออกจากประเทศ เมื่อเจ้าหญิงทรงเจริญพระชันษา พระราชบิดาของเจ้าหญิงทรงกดดันให้พระนางเสกสมรสกับวิลเลิม เจ้าชายรัชทายาทแห่งออเรนจ์ (ต่อมาทรงเป็นพระมหากษัตริย์เนเธอร์แลนด์) ทีแรกเจ้าหญิงทรงตอบรับการสู่ขอจากเจ้าชาย แต่ต่อมา พระนางทรงยกเลิกการหมั้นนี้ ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งระหว่างเจ้าหญิงกับพระราชบิดา และที่สุดเจ้าชายแห่งเวลส์ทรงอนุญาตให้เจ้าหญิงเสกสมรสกับเจ้าชายเลโอโปลด์แห่งซัคเซิน-โคบูร์ก-ซาลเฟลด์ (ต่อมาทรงเป็นพระมหากษัตริย์แห่งชาวเบลเยียม) หลังทรงมีชีวิตสมรสที่มีความสุขเป็นเวลาหนึ่งปีครึ่ง เจ้าหญิงชาร์ลอตต์สิ้นพระชนม์หลังพระประสูติการพระโอรสตายคลอด
การสิ้นพระชนม์ของเจ้าหญิงชาร์ลอตต์ทำให้เกิดความโศกเศร้าเสียใจในหมู่ชาวอังกฤษเป็นจำนวนมากซึ่งได้มีการไว้ทุกข์อย่างแพร่หลาย โดยชาวอังกฤษมองพระนางในฐานะสัญลักษณ์แห่งความหวังและต่อต้านพระราชบิดาซึ่งไม่เป็นที่นิยมและพระอัยกาผู้วิปลาส เนื่องจากเจ้าหญิงทรงเป็นพระราชนัดดาที่ถูกต้องตามกฎหมายเพียงพระองค์เดียวของพระเจ้าจอร์จที่ 3 การสิ้นพระชนม์ของเจ้าหญิงสร้างแรงกดดันให้พระโอรสของพระมหากษัตริย์ที่ยังโสดต้องเร่งแสวงพระชายา เจ้าชายเอ็ดเวิร์ด ดยุกแห่งเคนต์และสแตรธเอิร์น พระราชโอรสองค์ที่สี่ในพระเจ้าจอร์จที่ 3 ทรงมีรัชทายาทในที่สุด คือ เจ้าหญิงอเล็กซานดรินา วิกตอเรียแห่งเคนต์ ผู้ประสูติหลังเจ้าหญิงชาร์ลอตต์สิ้นพระชนม์ไปแล้ว 18 เดือน
ภูมิหลัง
แก้ในปี ค.ศ. 1794 เจ้าชายจอร์จ เจ้าชายแห่งเวลส์ทรงเสาะหาว่าที่พระชายาที่เหมาะสม พระองค์ไม่ได้มีพระประสงค์ที่จะสร้างความมั่นคงให้แก่การสืบราชสันตติวงศ์ แต่เนื่องจากนายกรัฐมนตรี วิลเลียม พิตต์ ผู้เยาว์ได้สัญญากับพระองค์ว่าจะเพิ่มรายได้แก่พระองค์ถ้าหากพระองค์เสกสมรส เจ้าชายจอร์จแม้จะทรงมีรายได้มหาศาลจากพระอิสริยยศ เจ้าชายแห่งเวลส์และดยุกแห่งคอร์นวอลล์ ทรงมีพระชนม์ชีพความเป็นอยู่ที่ดีในความประพฤติที่ไม่ค่อยดี และในปี ค.ศ. 1794 รายได้ของพระองค์ก็ไม่เพียงพอที่จะใช้จ่ายดอกเบี้ยที่เกิดจากหนี้ของพระองค์[1]
เจ้าชายจอร์จทรงเคยที่จะพยายามเสกสมรสครั้งหนึ่งกับพระสนมของพระองค์ คือ มาเรีย ฟิตซ์เฮอร์เบิร์ต ความพยายามในการเสกสมรสนี้เป็นความพยายามที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายโดยไม่ได้รับพระบรมราชานุญาตจากพระเจ้าจอร์จที่ 3 พระราชบิดาของเจ้าชาย ซึ่งการเสกสมรสต้องถูกต้องตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเสกสมรสของพระราชวงศ์ปี ค.ศ. 1772 แต่เจ้าชายก็ทรงเก็บ ฟิตซ์เฮอร์เบิร์ต ไว้ในฐานะพระสนมของพระองค์ และเช่นเดียวกับพระสนมคนอื่น ๆ คือ เลดีเจอร์ซีย์ ซึ่งไม่ได้เป็นที่โปรดปรานมากนัก[2]
เจ้าชายจอร์จทรงพิจารณาแล้วว่ามีเจ้าหญิงเพียงสองพระองค์ที่สามารถเป็นว่าที่พระชายาของพระองค์ได้ ซึ่งเจ้าหญิงทั้งสองก็มีศักดิ์เป็นพระญาติของพระองค์ เจ้าหญิงหลุยส์แห่งเมคเลินบวร์ค-ชเตรลิทซ์ เป็นพระราชธิดาในพระมาตุลา (พระเชษฐาในพระมารดาของเจ้าชายจอร์จ) ในขณะที่เจ้าหญิงคาโรลีนแห่งเบราน์ชไวก์ เป็นพระราชธิดาในพระปิตุจฉา (พระเชษฐภคินีในพระบิดาของเจ้าชายจอร์จ) สมเด็จพระราชินีชาร์ลอตต์ พระราชมารดาของเจ้าชายจอร์จ ทรงเคยได้ยินข่าวลือเกี่ยวกับพฤติกรรมของเจ้าหญิงคาโรลีนและทรงโปรดที่จะให้เจ้าชายเสกสมรสกับเจ้าหญิงหลุยส์ ซึ่งมีพระสิริโฉมมากกว่า และเป็นพระนัดดาของพระนางโดยสายพระโลหิต มีการเล่าลือว่าเจ้าหญิงคาโรลีนทรงประพฤติพระองค์ไม่เหมาะสม โดยทรงมีความสัมพันธ์กับทหารชาวไอริชในกองทัพของคาร์ล วิลเฮล์ม แฟร์ดีนันด์ ดยุกแห่งเบราน์ชไวก์-โวลเฟนบึทเทิล พระบิดาของเจ้าหญิงเอง และการเจรจาการหมั้นของเจ้าหญิงก่อนหน้านี้ก็ต้องหยุดลงอย่างไม่ทราบสาเหตุ เจ้าชายจอร์จซึ่งทรงอยู่ภายใต้อิทธิพลของ เลดี้เจอร์ซีย์ (ซึ่งมองว่าเจ้าหญิงคาโรลีนจะเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวน้อยกว่าเจ้าหญิงหลุยส์) ได้เลือกเจ้าหญิงจากเบราน์ชไวก์ ทั้งที่ไม่ทรงเคยพบพระพักตร์กันมาก่อน และทรงเดินเรื่องไปยังทูต เจมส์ แฮร์ริส เอิร์ลที่ 1 แห่งมาล์มบิวรี ให้พาพระนางมาจากเบราน์ชไวก์มายังอังกฤษ[3]
แฮร์ริสพบเจ้าหญิงซึ่งทรงฉลองพระองค์อย่างไม่เรียบร้อยและเห็นได้ชัดว่าไม่ทรงซักฉลองพระองค์มาหลายวัน เขาพบว่าบทสนทนาของเจ้าหญิงนั้นหยาบคายและทรงแสดงความคุ้นเคยมากเกินไป แฮร์ริสใช้เวลาเกือบสี่เดือนกับเจ้าหญิง เขาพยายามอย่างดีที่สุดที่จะปรับปรุงพฤติกรรมและพระอุปนิสัยของเจ้าหญิง ก่อนที่จะมาถึงอังกฤษ ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ยาวนานจากสภาพอากาศในฤดูหนาวที่เลวร้ายและความล่าช้าเนื่องจากสงครามปฏิวัติฝรั่งเศส[4] นักการทูตนำเจ้าหญิงคาโรลีนมายังพระราชวังเซนต์เจมส์ ครั้งแรกที่เจ้าชายทรงพบกับเจ้าหญิง เจ้าชายตรัสว่า "แฮร์ริส ข้ารู้สึกไม่ค่อยดี ขอบรั่นดีสักแก้วหน่อย"[5] หลังจากเจ้าชายเสด็จออกไป เจ้าหญิงคาโรลีนทรงตรัสว่า "ฉันว่าพระองค์ทรงอ้วนมากเลยนะ ไม่เห็นหล่อเหมือนในรูปสักนิด"[6] เมื่อทั้งสองพระองค์ได้ร่วมเสวยพระกระยาหารค่ำในวันนั้น เจ้าหญิงผู้ขุ่นเคืองทรงตรัสอย่างหยาบคายถึงความสัมพันธ์ของเจ้าชายกับเลดีเจอร์ซีย์ ด้วยเหตุนี้แฮร์ริสจำเป็นต้องประสานความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหญิงกับเจ้าชายจอร์จซึ่งไม่โปรดพระนางเลย ก่อนวันเสกสมรสในวันที่ 8 เมษายน ค.ศ. 1795 เจ้าชายจอร์จได้ส่งเจ้าชายวิลเลียม ดยุกแห่งแคลเรนซ์ (ต่อมาคือพระเจ้าวิลเลียมที่ 4) พระอนุชาให้ไปบอก ฟิตซ์เฮอร์เบิร์ต ว่า เธอ (ฟิตซ์เฮอร์เบิร์ต) เป็นผู้หญิงเพียงคนเดียวที่พระองค์จะรัก จากนั้นได้เสด็จไปยังพิธีเสกสมรส ด้วยทรงเมา[7]
ในภายหลังเจ้าชายจอร์จทรงกล่าวว่าทรงมีเพศสัมพันธ์กับเจ้าหญิงเพียงสามครั้ง และเจ้าหญิงมักจะวิพากษ์วิจารณ์ขนาดของพระคุยหฐาน (อวัยวะเพศชาย) ซึ่งทำให้เจ้าชายทรงสรุปได้ว่าเจ้าหญิงต้องทรงมีประสบการณ์เพราะสามารถเปรียบเทียบได้ ดังนั้นเป็นไปได้ว่าเจ้าหญิงไม่ทรงบริสุทธิ์ ในขณะเดียวกันเจ้าหญิงคาโรลีนทรงกล่าวในเวลาต่อมาว่าเจ้าชายทรงไร้สมรรถภาพ[8] ทั้งสองพระองค์แยกกันประทับในแต่ละสัปดาห์แม้ว่าจะทรงประทับในพระตำหนักเดียวกัน วันหนึ่งหลังจากเสกสมรสมาเป็นเวลาเก้าเดือน เจ้าหญิงคาโรลีนมีพระประสูติกาลพระธิดา[9]
วัยเยาว์
แก้เจ้าหญิงชาร์ลอตต์ประสูติในตำหนักของเจ้าชาย ตำหนักคาร์ลตัน ลอนดอน ในวันที่ 7 มกราคม ค.ศ. 1796 ในขณะที่เจ้าชายจอร์จไม่ทรงพอพระทัยเล็กน้อยเนื่องจากพระบุตรเป็นพระธิดาไม่ใช่พระโอรส พระมหากษัตริย์ทรงพอพระทัยในเจ้าหญิงมาก เนื่องจากเป็นการประสูติของพระราชนัดดาที่ถูกต้องตามกฎหมายองค์แรก และทรงหวังว่าการประสูติของเจ้าหญิงจะช่วยไกล่เกลี่ยความบาดหมางระหว่างเจ้าชายจอร์จและเจ้าหญิงคาโรลีนได้[10] แต่มันก็ไม่ได้เกิดขึ้น สามวันหลังจากที่เจ้าหญิงชาร์ลอตต์ประสูติ เจ้าชายจอร์จมีพระประสงค์โดยตรงคือการไม่ให้พระชายามีบทบาทในการอภิบาลพระธิดา และทรงหมกมุ่นอยู่แต่กับฟิตซ์เฮอร์เบิร์ต แม้ว่าสมาชิกพระราชวงศ์หลายพระองค์จะไม่เป็นที่นิยมชมชอบ แต่ทั้งประเทศก็เฉลิมฉลองการประสูติของเจ้าหญิงชาร์ลอตต์[11] ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1796 เจ้าหญิงพระองค์น้อยได้รับการขานพระนามว่า ชาร์ลอตต์ ออกัสตา จากพระนามของพระอัยยิกาคือ สมเด็จพระราชินีชาร์ลอตต์และเจ้าหญิงออกัสตา ดัชเชสแห่งเบราน์ชไวก์-โวลเฟนบึทเทิล[12] ในห้องวาดภาพของตำหนักคาร์ลตัน โดยจอห์น มัวร์ อาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรี พระบิดามารดาอุปถัมภ์ของเจ้าหญิงคือ พระมหากษัตริย์ สมเด็จพระราชินีและดัชเชสแห่งเบราน์ชไวก์ (ซึ่งเจ้าหญิงชาร์ลอตต์ พระราชกุมารี เสด็จแทนองค์ดัชเชส)[13]
แม้ว่าจะมีการปฏิบัติต่อเจ้าคาโรลีนดีขึ้นหลังจากที่พระนางทรงมีพระประสูติกาลองค์รัชทายาทลำดับที่สองในราชบัลลังก์ แต่เจ้าชายจอร์จก็ยังทรงขัดขวางไม่ให้เจ้าหญิงทรงพบกับพระธิดา ทรงปฏิเสธไม่ให้พระนางประทับอยู่กับพระธิดาเว้นเสียแต่ว่าจะมีพยาบาลและพระอภิบาลอยู่ด้วย[12] เจ้าหญิงคาโรลีนทรงได้รับอนุญาตให้ดำเนินกิจวัตรประจำวันตามแบบบิดามารดาชนชั้นสูงคือ การให้เงินแก่บุตรหลานในเวลานี้ แต่พระนางไม่ทรงได้รับอนุญาตในการตัดสินพระทัยเกี่ยวกับการอบรมดูแลเจ้าหญิงชาร์ลอตต์[14] นางกำนัลหรือผู้ดูแลพระตำหนักซึ่งเห็นใจพระนาง ไม่ทำตามพระบัญชาของเจ้าชายยจอร์จ และได้อนุญาตให้เจ้าหญิงคาโรลีนทรงประทับตามลำพังกับพระธิดา เจ้าชายจอร์จไม่ทรงทราบถึงเรื่องนี้ เนื่องจากพระองค์เสด็จเข้ามาพบพระธิดาน้อยครั้งมาก เจ้าหญิงคาโรลีนทรงมีความกล้าที่จะประทับรถม้าพระที่นั่งไปตามถนนกรุงลอนดอนพร้อมกับพระธิดา โดยทรงได้รับการปรบมือสรรเสริญจากฝูงชน[12]
เจ้าหญิงชาร์ลอตต์ทรงมีพระสุขภาพดี และเป็นไปตามที่เทีย โฮล์ม ผู้เขียนพระประวัติของพระนาง เขียนไว้ว่า "ความประทับใจอย่างหนึ่งที่ต้องบันทึกไว้เป็นเรื่องแรก ๆ ของเจ้าหญิงชาร์ลอตต์ คือ การที่ทรงมีความสุขอย่างไร้การเสแสร้ง และทรงมีพระทัยที่อ่อนโยน"[15] ขณะที่เจ้าหญิงชาร์ลอตต์ทรงเจริญพระชันษาขึ้น พระบิดาและพระมารดาของพระนางยังคงขัดแย้งกัน และทรงใช้พระธิดาองค์น้อยเป็นเครื่องมือของความขัดแย้ง ทั้งพระบิดาและพระมารดาทรงพยายามเรียกร้องให้พระมหากษัตริย์และสมเด็จพระราชินีเข้าข้างฝ่ายตน[16] ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1797 เจ้าหญิงคาโรลีนทรงเสด็จออกจากตำหนักคาร์ลตัน ทรงออกไปเช่าที่พำนักของพระนางเองใกล้แบล็กฮีธ ทรงละทิ้งพระธิดาไว้เบื้องหลัง โดยกฎหมายอังกฤษในขณะนั้นได้ให้สิทธิในการดูแลเด็กเล็กแก่ฝ่ายบิดา แต่ครั้งนี้เจ้าชายก็ไม่ได้ทรงกีดกันพระชายาในการเข้าถึงพระธิดา[17] ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1798 เจ้าชายทรงเชิญพระชายาที่แยกกันประทับให้เสด็จมาเยือนตำหนักคาร์ลตันในช่วงฤดูหนาว ซึ่งพระนางปฏิเสธคำเชิญ ครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายในการพยายามคืนดีกันอย่างจริงจัง ซึ่งความล้มเหลวนี้ก็ได้ทำให้สิทธิในราชบัลลังก์มีความเป็นไปได้น้อยลง โดยเจ้าชายจอร์จจะต้องทรงมีพระโอรสที่ถูกต้องตามกฎหมายซึ่งจะมาแทนระหว่างเจ้าหญิงชาร์ลอตต์กับราชบัลลังก์อังกฤษ[18] เจ้าหญิงคาโรลีนเสด็จมาเยี่ยมพระธิดาที่ตำหนักคาร์ลตัน และบางครั้งเจ้าหญิงชาร์ลอตต์ได้รับการหนุนได้เสด็จไปยังแบล็กฮีธเพื่อเยี่ยมพระมารดา แต่ไม่ทรงเคยได้รับอนุญาตให้ประทับที่บ้านของพระมารดา[19] ในช่วงฤดูร้อน เจ้าชายทรงเช่าบ้านพักชรูวส์บิวรีที่แบล็กฮีธให้พระธิดา ซึ่งทำให้การเดินทางมาเยี่ยมเยียนง่ายขึ้น ตามบันทึกของเอลิสัน พลาวเดน ซึ่งได้เขียนถึงความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าชายจอร์จ พระชายาและพระธิดา ระบุว่า เจ้าหญิงคาโรลีนสามารถพบกับพระธิดาได้ตราบเท่าที่มีพระประสงค์[20]
เมื่อเจ้าหญิงชาร์ลอตต์ทรงมีพระชนมายุ 8 พรรษา พระบิดาของเจ้าหญิงได้กลับไปคบหากับ ฟิตซ์เฮอร์เบิร์ต และทรงตัดสินใจว่าทรงต้องการตำหนักคาร์ลตันให้เป็นของพระองค์เอง พระองค์ทรงยึดห้องชุดของพระชายา (เจ้าหญิงคาโรลีนทรงได้รับห้องว่างในพระราชวังเค็นซิงตันแทน) และทรงย้ายพระธิดาให้ไปประทับที่ตำหนักมองตากิว ซึ่งอยู่ติดกับตำหนักคาร์ลตัน ตามบันทึกของเจมส์ แชมเบอร์ ผู้เขียนพระประวัติของเจ้าหญิงชาร์ลอตต์อีกคนหนึ่ง ได้ระบุว่า เจ้าหญิงองค์น้อย "ประทับในตำหนักที่เป็นของพระนางเอง ซึ่งไม่มีใครเลยที่จะไม่ต้องจ่ายค่าอยู่อาศัยที่นั่น"[19] การย้ายครั้งนี้เกิดขึ้นโดยไม่ผ่านการดูแลของหัวหน้าพระอภิบาลในเจ้าหญิงชาร์ลอตต์ เลดีเอลกิน (ภริยาม่ายในชาร์ล บรูซ เอิร์ลที่ 5 แห่งเอลกิน) ซึ่งเป็นบุคคลที่เจ้าหญิงทรงใกล้ชิดที่สุด เลดี้เอลกินถูกบังคับให้เกษียณอายุ ซึ่งสังเกตได้ชัดจากอายุที่มากของเธอ แต่เหตุผลโดยส่วนใหญ่คือ เจ้าชายจอร์จทรงพิโรธ เนื่องจากเลดี้เอลกินทรงนำเจ้าหญิงชาร์ลอตต์ไปเข้าเฝ้าพระมหากษัตริย์โดยไม่ผ่านการขอพระอนุญาตจากพระองค์[21] เจ้าชายจอร์จยังทรงปลด มิสเฮย์แมน รองพระอภิบาล เนื่องจากเป็นมิตรกับเจ้าหญิงคาโรลีนมากเกินไป และเจ้าหญิงแห่งเวลส์ทรงจ้างเธอต่อทันทีที่เธอถูกปลดออก ผู้ที่มาแทนที่เลดี้เอลกิน คือ เลดี้ เดอ คลิฟฟอร์ด (ภริยาม่ายในเอ็ดเวิร์ด เซาท์เวลล์ บารอนที่ 20 เดอ คลิฟฟอร์ด) เป็นบุคคลที่เจ้าหญิงชาร์ลอตต์ทรงติดมาก และมีอัธยาศัยดีเกินไปในการอบรมสั่งสอนพระธิดา ซึ่งทำให้เจ้าหญิงทรงเจริญวัยมาในลักษณะทอมบอย เลดี้ เดอ คลิฟฟอร์ดได้นำหนึ่งในหลานชายของเธอ ซึ่งก็คือ ฮอนอเรเบิล จอห์น เคปเปล ที่มีอายุน้อยกว่าเจ้าหญิงชาร์ลอตต์ 3 ปี มาเป็นพระสหายร่วมเล่นกับพระนาง สี่สิบปีถัดมา เคปเปล ซึ่งในตอนนั้นดำรงเป็นเอิร์ลแห่งอัลเบมาร์ล ได้บันทึกความทรงจำของเขาถึงเจ้าหญิงชาร์ลอตต์เกี่ยวกับหลายเรื่องราวของเจ้าหญิงขณะยังทรงพระเยาว์ นอกเหนือจากเรื่องราวความเป็นทอมบอยของพระนางในการโปรดทรงม้ากับการชกมวย เขาจดจำได้ว่า พวกเขาได้ไปดูฝูงชนรวมตัวกันด้านหน้าบ้านเคปเปลที่เอิร์ลส์คอร์ท ซึ่งฝูงชนเหล่านี้หวังที่จะพบเห็นเจ้าหญิงองค์น้อย เขาและเจ้าหญิงได้ออกไปข้างนอกและร่วมอยู่ในฝูงชน โดยที่ไม่มีใครจำพวกเขาได้เลย[22]
ในปี ค.ศ. 1805 พระมหากษัตริย์ทรงเริ่มวางแผนการศึกษาแก่เจ้าหญิงชาร์ลอตต์ และทรงจ้างกลุ่มคณาจารย์จำนวนมากสำหรับพระนัดดาที่ถูกต้องตามกฎหมายเพียงองค์เดียวของพระองค์ โดยบิชอปแห่งเอ็กเซเตอร์ได้ให้การศึกษาเกี่ยวกับคริสตจักรแห่งอังกฤษ ซึ่งพระเจ้าจอร์จทรงเชื่อว่าในวันหนึ่งเจ้าหญิงชาร์ลอตต์จะทรงได้เป็นสมเด็จพระราชินีนาถ และเป็นผู้พิทักษ์ประจำนิกายนี้ พระมหากษัตริย์ทรงหวังว่าคณาจารย์เหล่านี้จะ "ปฏิบัติกับเจ้าหญิงอย่างให้เกียรติและมีความสัมพันธ์ที่ไม่ตึงเครียดเกินไป และอำนวยพรให้แก่อาณาจักรซึ่งพระนางอาจจะได้เป็นประมุขในอนาคต"[23] ตามบันทึกของโฮล์ม การเรียนการสอนนี้ได้ให้ความประทับใจเล็ก ๆ แก่เจ้าหญิงชาร์ลอตต์ ซึ่งเจ้าหญิงทรงเลือกที่จะศึกษาเพียงเฉพาะในสิ่งที่พระนางต้องการศึกษาจริง ๆ[23] พระอาจารย์ที่ถวายการศึกษาด้านเปียโนแก่เจ้าหญิงคือ เจน แมรี เกสต์ นักแต่งเพลง[24] และเจ้าหญิงชาร์ลอตต์ทรงเป็นผู้ทรงเปียโนได้อย่างยอดเยี่ยม[25]
พฤติกรรมที่ผิดธรรมเนียมของเจ้าหญิงคาโรลีนได้เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1807 โดยมีข้อกล่าวหาพระนางว่าทรงเคยมีเพศสัมพันธ์กับชายคนอื่นในช่วงที่ทรงแยกห่างจากพระสวามี เจ้าหญิงคาโรลีนทรงเลี้ยงดูเด็กหนุ่มน้อยที่ชื่อว่า วิลเลียม ออสติน ซึ่งถูกกล่าวหาเป็นบุตรของพระนางกับชายคนอื่น เจ้าชายแห่งเวลส์ทรงหวังว่า "การสืบสวนที่ละเอียดอ่อน" จะได้หลักฐานในเรื่องการผิดประเวณี ซึ่งจะทำให้พระองค์สามารถหย่าร้างได้ และทรงห้ามไม่ให้เจ้าหญิงชาร์ลอตต์พบกับพระมารดาเด็ดขาด[26] คณะผู้สืบสวนไม่ได้สอบปากคำเจ้าหญิงคาโรลีนหรือผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นคนรักของพระนาง แต่ได้จดจ่ออยู่แต่เพียงปากคำของคนรับใช้ในเจ้าหญิงคาโรลีน เมื่อคนรับใช้ถูกถามว่าเจ้าหญิงคาโรลีนทรงพระครรภ์หรือไม่ บางคนตอบว่าใช่ บางคนตอบว่าไม่ บางคนตอบว่าไม่แน่ใจ และอื่น ๆ ซึ่งชี้ว่าพระนางทรงมีน้ำหนักมากและพระวรกายอวบอ้วนซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่จะบอก คนรับใช้ยืนยันว่าไม่มีใครเลยที่เป็นคนรักของพระนาง แม้ว่าคนรับใช้ชายของพระนาง คือ โจเซฟ โรเบิร์ตส์ จะกล่าวว่า เจ้าหญิงทรง "รักในการร่วมเพศมาก"[27] เจ้าหญิงชาร์ลอตต์ทรงรับรู้ถึงการสืบสวน เจ้าหญิงวัย 10 พรรษาทรงรู้สึกเจ็บปวดลึก ๆ เมื่อพระมารดาและพระนางทรงทำได้แค่เพียงสบมองพระพักตร์กันในสวนสาธารณะ และเจ้าหญิงคาโรลีนทรงเชื่อฟังคำสั่งของเจ้าชายที่ไม่ให้ติดต่อหรือตรัสสิ่งใดกับเจ้าหญิงชาร์ลอตต์ โดยทรงแกล้งทำเป็นมองไม่เห็นพระธิดา[28] เจ้าชายจอร์จทรงผิดหวังอย่างมาก เมื่อคณะผู้สืบสวนไม่พบหลักฐานว่าเจ้าหญิงคาโรลีนทรงมีพระบุตรองค์ที่สองจริง แม้ว่าจะเป็นที่ระบุชัดแจ้งว่าพฤติกรรมของเจ้าหญิงได้ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดอย่างมาก พระมหากษัตริย์ ผู้ทรงเมตตาเจ้าหญิงคาโรลีน ทรงปฏิเสธที่จะพบพระนางในช่วงที่มีการสอบสวน แต่ทรงเริ่มให้พระนางเข้าเฝ้าพระองค์ได้หลังจากนั้น[27] หลังจากสิ้นสุดการสอบสวนที่ละเอียดอ่อน เจ้าชายทรงมีพระอนุญาตอย่างไม่เต็มพระทัยนัก ทรงให้เจ้าหญิงชาร์ลอตต์พบกับพระมารดาอีกครั้ง โดยมีเงื่อนไขว่าอย่าให้ วิลเลียม ออสติน มาเป็นพระสหายของเจ้าหญิง[29]
วัยแรกรุ่น
แก้ในช่วงที่เจ้าหญิงชาร์ลอตต์ทรงเข้าสู่วัยแรกรุ่นนั้น ข้าราชสำนักได้ให้ความเห็นว่าพฤติกรรมของพระนางนั้นไม่สมเกียรติ[30] เลดี้ เดอ คลิฟฟอร์ดได้บรรยายว่าเจ้าหญิงชาร์ลอตต์มักจะทรงปล่อยให้กางเกงชั้นในยาวของพระนางแสดงออกมา[31] เลดี ชาร์ลอตต์ บิวรี หนึ่งในนางสนองพระโอษฐ์ของเจ้าหญิงคาโรลีนและเป็นนักบันทึกเรื่องราวในชีวิตประจำวันโดยมีงานเขียนที่มีชีวิตชีวา บรรยายถึงเจ้าหญิงว่า ทรงเป็น "เนื้อและเลือดชั้นดี" ซึ่งทรงมีพระอุปนิสัยตรงไปตรงมาและไม่ค่อยใส่พระทัย "ในเกียรติยศศักดิ์ศรี"[32] พระบิดาของเจ้าหญิงทรงภาคภูมิในทักษะการทรงม้าของพระนางมาก[31] เจ้าหญิงทรงโปรดโวล์ฟกัง อะมาเดอุส โมซาร์ทและโจเซฟ ไฮเดิน เจ้าหญิงทรงโปรดตัวละคร มารีอานน์ในนวนิยายเรื่อง Sense and Sensibility[25]ของเจน ออสเตน ในปี ค.ศ. 1808 ชาร์ลอตต์ โจนส์ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นจิตรกรวาดภาพประจำพระองค์ขนาดเล็กของเจ้าหญิงชาร์ลอตต์
ในช่วงครึ่งหลังของ ค.ศ. 1810 พระเจ้าจอร์จที่ 3 ทรงมีพระสติวิปลาสโดยสมบูรณ์ เจ้าหญิงชาร์ลอตต์ทรงผูกพันกับพระมหากษัตริย์ผู้เป็นพระอัยกามากกว่าคนอื่น ๆ และเจ้าหญิงทรงรู้สึกเศร้าอย่างมากในพระอาการประชวรของพระองค์ ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1811 พระบิดาของเจ้าหญิงชาร์ลอตต์ทรงสาบานพระองค์เป็นเจ้าชายผู้สำเร็จราชการต่อหน้าคณะองคมนตรี[33] เจ้าหญิงชาร์ลอตต์ได้ทรงม้าเสด็จกลับมาและทรงอยู่ข้างนอกสวนของตำหนักคาร์ลตัน ทรงพยายามเหลือบมองพระราชพิธีผ่านทางหน้าต่างชั้นล่าง[34] เจ้าหญิงชาร์ลอตต์ทรงสนับสนุนพรรควิกอย่างแรงกล้าเหมือนกับพระบิดาของพระนาง แต่ในขณะนี้เจ้าชายทรงสามารถใช้พระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์โดยสมบูรณ์ พระองค์ไม่ทรงฟื้นฟูสมาชิกพรรควิกเข้าสู่ตำแหน่งราชการมากเท่าที่พวกเขาต้องการให้ทรงแต่งตั้ง เจ้าหญิงชาร์ลอตต์ทรงถูกทำลายในสิ่งที่พระนางทรงเห็นว่าเป็นการทรยศของพระบิดา และในการแสดงโอเปร่า เจ้าหญิงทรงแสดงให้เห็นถึงการสนับสนุนของพระนางโดยทรงส่งจุมพิตไปในทิสที่นั่งของชาร์ล เกรย์ เอิร์ลเกรย์ที่ 2 หัวหน้าพรรควิก[35]
เจ้าชายจอร์จทรงอยู่ภายใต้สถานการณ์ตึงเครียด ซึ่งต้องทรงพบกับการกบฏต่อต้าน ด้วยเหตุนี้ พระองค์ทรงพยายามควบคุมพระธิดา ซึ่งทรงเป็นสตรีผู้เจริญพระชันษาด้วยวัย 15 พรรษา ให้เข้มงวดยิ่งขึ้น พระองค์ทรงให้ค่าฉลองพระองค์ที่ไม่เพียงพอแก่เจ้าหญิง และทรงยืนกรานว่าถ้าเจ้าหญิงจะทรงเข้าชมโอเปร่า พระนางจะต้องทรงประทับอยู่หลังช่องชมโอเปร่าหรือไม่ก็ต้องเสด็จออกมาก่อนที่การแสดงจะจบลง[36] ด้วยเจ้าชายผู้สำเร็จราชการทรงยุ่งอยู่กับกิจการของรัฐ เจ้าหญิงชาร์ลอตต์ทรงใช้เวลาส่วนใหญ่ที่วินด์เซอร์กับนางกำนัลทึนทึก ทรงเบื่อหน่าย ในไม่ช้าเจ้าหญิงทรงหลงรักพระญาติของพระนางคือ จอร์จ ฟิตซ์แคลเรนซ์ โอรสนอกสมรสของดยุกแห่งแคลเรนซ์ ต่อมา ฟิตซ์แคลเรนซ์ ถูกเรียกตัวกลับไบรตันเพื่อเข้ารับราชการทหาร และเจ้าหญิงชาร์ลอตต์ทรงสนพระทัยร้อยโทชาร์ล เฮสส์แห่งกองทหารม้าไลท์ดรากูนส์ ซึ่งโด่งดังเนื่องจากเป็นโอรสนอกสมรสของเจ้าชายเฟรเดอริก ดยุกแห่งยอร์กและออลบานี พระปิตุลาของเจ้าหญิง[37] เฮสส์และเจ้าหญิงชาร์ลอตต์ได้พบกันอย่างลับ ๆ เลดี้ เดอ คลิฟฟอร์ด เกรงกลัวความโกรธของเจ้าชายผู้สำเร็จราชการถ้าหากทรงล่วงรู้ความจริง แต่เจ้าหญิงคาโรลีนทรงยินดีในความรักของพระธิดา พระนางทรงทำทุกอย่างเพื่อสนับสนุนความสัมพันธ์นี้ ทรงช่วยให้ทั้งสองประทับตามลำพังในห้องชุดของพระนาง[38] การพบกันนี้ได้สิ้นสุดลงเมื่อเฮสส์เข้าไปรับราชการกองทัพอังกฤษที่ไปทำการรบในสเปน[38] พระราชวงศ์ส่วนใหญ่ยกเว้นเจ้าชายผู้สำเร็จราชการ ทรงทราบถึงการพบกันลับ ๆ นี้ แต่ก็ไม่ทรงขัดขวาง เนื่องจากทรงไม่พอพระทัยวิธีการปฏิบัติต่อพระธิดาของเจ้าชายจอร์จ[39]
ในปี ค.ศ. 1813 ด้วยกระแสของสงครามนโปเลียนได้กลายมาเป็นที่สนใจของอังกฤษ เจ้าชายจอร์จทรงเริ่มที่จะพิจารณาปัญหาการเสกสมรสของเจ้าหญิงชาร์ลอตต์อย่างจริงจัง เจ้าชายผู้สำเร็จราชการและที่ปรึกษาของพระองค์ตัดสินใจเลือกวิลเลิม เจ้าชายรัชทายาทแห่งออเรนจ์ พระโอรสและองค์รัชทายาทในเจ้าชายวิลเลิมที่ 6 แห่งออเรนจ์ การเสกสมรสครั้งนี้จะเพิ่มอิทธิพลของอังกฤษในยุโรปตะวันตกเฉียงเหนือ เจ้าชายวิลเลิมทรงสร้างความประทับใจที่ไม่ดีนักต่อเจ้าหญิงชาร์ลอตต์เมื่อพระนางทรงพบพระองค์ครั้งแรก ในงานเลี้ยงเฉลิมฉลองวันคล้ายวันประสูติของเจ้าชายจอร์จ วันที่ 12 สิงหาคม เมื่อพระองค์ทรงเป็นพวกชอบเมาสุรา เช่นเดียวกับตัวเจ้าชายผู้สำเร็จราชการเองและแขกคนอื่น ๆ แม้ว่าจะไม่มีใครที่มีอำนาจพอจะกราบทูลเจ้าหญิงชาร์ลอตต์เกี่ยวกับข้อเสนอการเสกสมรส แต่พระนางก็ทรงทราบแผนการเนื่องจากค่อนข้างคุ้นเคยกับเรื่องเล่าลือในพระราชวัง[40] เฮนรี ฮาลฟอร์ด ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับการแสดงความเห็นของเจ้าหญิงชาร์ลอตต์ต่อการจับคู่เสกสมรสนี้ เขาพบว่าพระนางทรงรู้สึกกระอักกระอ่วนพระทัย ทรงมีความรู้สึกว่าสมเด็จพระราชินีแห่งบริเตนในอนาคตไม่สมควรที่จะอภิเษกสมรสกับชาวต่างชาติ[41] พระบิดาทรงเชื่อว่าเจ้าหญิงทรงตั้งพระทัยจะเสกสมรสกับเจ้าชายวิลเลียม ดยุกแห่งกลอสเตอร์ ดังนั้นเมื่อเจ้าชายผู้สำเร็จราชการทรงพบกับพระธิดา พระองค์จึงทรงใช้คำปรามาสดูถูกทั้งเจ้าหญิงและดยุกแห่งกลอสเตอร์ ตามบันทึกของเจ้าหญิงชาร์ลอตต์ที่ว่า "พระองค์มักจะทรงพูดเมื่อทรงมีความคิดที่ไม่เหมาะสมเกี่ยวกับเรื่องความชอบของฉัน ฉันเห็นว่าพระบิดาพยายามใส่ร้ายฉันโดยสมบูรณ์ (Sic;ทรงเขียนว่า compleatly แทนที่จะเป็น completely ทรงตั้งใจสะกดผิด) และทรงบอกว่าพระองค์จะไม่เข้ามาวุ่นวาย"[42] พระนางทรงเขียนจดหมายถึงเอิร์ลเกรย์เพื่อปรึกษา เขาแนะนำให้พระนางทรงถ่วงเวลาให้นาน[43] เรื่องราวนี้ได้รั่วไหลเป็นเอกสารในไม่ช้า โดยเขียนว่าเป็นเรื่องน่าประหลาดใจที่เจ้าหญิงชาร์ลอตต์จะต้องเสกสมรสกับ "สัมหรือชีส" (อ้างถึงออเรนจ์กับชีสกลอสเตอร์), "บิลลีผอม" (แห่งออเรนจ์) หรือ "บิลลีทึ่ม"[44] เจ้าชายผู้สำเร็จราชการทรงพยายามใช้วิธีที่นุ่มนวล แต่ก็ทรงล้มเหลวที่จะโน้มน้าวเจ้าหญิงชาร์ลอตต์ ซึ่งพระนางทรงเขียนว่า "ฉันจะไม่ออกไปจากประเทศนี้ แม้ในฐานะสมเด็จพระราชินีแห่งอังกฤษก็จะออกไปน้อยอยู่ดี" และถ้าพระนางต้องทรงเสกสมรส เจ้าชายแห่งออเรนจ์จะต้อง "เสด็จมาพบกับของพระองค์ด้วยตัวคนเดียว"[45] อย่างไรก็ตามในวันที่ 12 ธันวาคม เจ้าชายผู้สำเร็จราชการทรงจัดให้มีการพบกันระหว่างเจ้าหญิงชาร์ลอตต์และเจ้าชายแห่งออเรนจ์ในงานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำและทรงถามเจ้าหญิงชาร์ลอตต์สำหรับการตัดสินพระทัย พระนางทรงตอบว่าพระนางทรงโปรดในสิ่งที่พระนางเคยพบเห็นจนกระทั่งตอนนี้ ซึ่งเจ้าชายจอร์จทรงได้นำคำตอบรับนี้รีบแจ้งแก่เจ้าชายแห่งออเรนจ์อย่างเร็วพลัน[46]
การเจรจาต่อรองเรื่องการเสกสมรสต้องใช้เวลานานหลายเดือน โดยเจ้าหญิงชาร์ลอตต์ทรงยืนกรานว่าพระนางจะไม่เสด็จออกจากบริเตนใหญ่โดยไม่จำเป็น นักการทูตก็ไม่ปรารถนาที่จะให้สองราชบัลลังก์รวมตัวกันเป็นหนึ่งเดียว และดังนั้นข้อตกลงได้ระบุว่าราชบัลลังก์อังกฤษจะไปได้แก่พระโอรสองค์โตของทั้งสองพระองค์ ในขณะที่พระโอรสองค์ที่สองจะได้ครองราชบัลลังก์เนเธอร์แลนด์ ถ้าหากทั้งสองพระองค์มีพระโอรสเพียงพระองค์เดียว ราชบัลลังก์เนเธอร์แลนด์จะไปได้แก่ราชนิกุลเชื้อสายเยอรมันจากราชวงศ์ออเรนจ์-นัสเซา[47] ในวันที่ 10 มิถุนายน ค.ศ. 1814 เจ้าหญิงชาร์ลอตต์ทรงลงพระนามในสัญญาการเสกสมรส[48] เจ้าหญิงชาร์ลอตต์ทรงเริ่มหลงใหลในเจ้าชายปรัสเซียซึ่งไม่ทราบว่าคือใคร ตามบันทึกของชาร์ล เกรวิลล์ ระบุว่าราชนิกุลองค์นั้นคือ เจ้าชายออกัสตัสแห่งปรัสเซีย[49] แต่นักประวัติศาสตร์อย่าง อาเทอร์ อัสปินัล ไม่เห็นด้วย เขาคิดว่าเจ้าหญิงทรงหลงรักในเจ้าชายผู้หนุ่มกว่าคือ เจ้าชายเฟรเดอริกแห่งปรัสเซีย[49] ในงานเลี้ยงที่โรงแรมพัลเทนีย์ในลอนดอน เจ้าหญิงชาร์ลอตต์ทรงพบกับนายพลแห่งกองพันทหารม้ารัสเซีย คือ เจ้าชายเลโอโปลด์แห่งซัคเซิน-โคบูร์ก-ซาลเฟลด์[50] เจ้าหญิงทรงเชิญให้เจ้าชายเลโอโปลด์มาพบพระนาง เจ้าชายทรงตอบรับคำเชิญ ทรงใช้เวลาอยู่ร่วมกัน 45 นาที และทรงเขียนจดหมายขออภัยโทษไปยังเจ้าชายผู้สำเร็จราชการสำหรับการกระทำที่ประมาทขาดความรอบคอบของพระนางเอง จดหมายฉบับนี้สร้างความประทับใจแก่เจ้าชายจอร์จมาก แม้ว่าพระองค์จะไม่ทรงพิจารณาเจ้าชายเลโอโปลด์ผู้ยากจนในฐานะคู่ครองที่สมควรสำหรับพระธิดาของพระองค์[51]
เจ้าหญิงแห่งเวลส์ทรงต่อต้านการจับคู่ระหว่างพระธิดาของพระนางกับเจ้าชายแห่งออเรนจ์ และทรงได้รับการสนับสนุนจากสาธารณชนอย่างวงกว้าง เมื่อเจ้าหญิงชาร์ลอตต์เสด็จไปในที่สาธารณะ ฝูงชนได้ตะโกนไม่ให้เจ้าหญิงทรงละทิ้งพระมารดาไปสมรสกับเจ้าชายแห่งออเรนจ์ เจ้าหญิงชาร์ลอตต์ทรงแจ้งกับเจ้าชายแห่งออเรนจ์ว่าถ้าทั้งสองพระองค์เสกสมรสกัน พระมารดาของพระนางจะต้องได้รับการต้อนรับในตำหนักที่ประทับของทั้งสองพระองค์ด้วยเช่นกัน เงื่อนไขนี้เป็นเงื่อนไขที่เจ้าชายผู้สำเร็จราชการไม่อาจยอมรับได้ เมื่อเจ้าชายแห่งออเรนจ์ทรงปฏิเสธ เจ้าหญิงชาร์ลอตต์ก็ทรงถอนหมั้น[52] พระบิดาของเจ้าหญิงทรงตอบรับการกระทำครั้งนี้โดยทรงมีพระบัญชาให้เจ้าหญิงประทับอยู่ในตำหนักของพระนางที่ตำหนักวอร์วิก (ติดกับตำหนักคาร์ลตัน) จนกว่าพระนางจะต้องย้ายไปประทับที่บ้านเครนบูร์นในวินด์เซอร์ ที่ซึ่งพระนางไม่ทรงได้รับอนุญาตให้พบปะผู้ใดยกเว้นสมเด็จพระราชินี เมื่อทรงทราบพระบัญชานี้ เจ้าหญิงชาร์ลอตต์ทรงวิ่งหนีออกไปยังถนน ชายคนหนึ่งเห็นเจ้าหญิงทรงระทมทุกข์จากทางหน้าต่าง เขาได้ช่วยเจ้าหญิงผู้ไร้ประสบการณ์เรียกรถม้ารับจ้าง ซึ่งจะพาพระนางไปยังที่ประทับของพระมารดา ขณะนั้นเจ้าหญิงคาโรลีนทรงเสด็จไปเยี่ยมพระสหายและทรงรับเสด็จกลับที่ประทับ ในขณะที่เจ้าหญิงชาร์ลอตต์ทรงเรียกนักการเมืองพรรควิกมาให้คำปรึกษาแก่พระนาง สมาชิกราชวงศ์ได้รวมตัวกันรวมทั้งพระปิตุลาของพระนางคือ เจ้าชายเฟรเดอริก ดยุกแห่งยอร์ก ได้เสด็จมาโดยมีหนังสือพระราชานุญาตในกระเป๋าฉลองพระองค์ในการนำเจ้าหญิงให้เสด็จกลับอย่างปลอดภัยโดยสามารถใช้กำลังได้เมื่อจำเป็น หลังจากมีปากเสียงกันอย่างยาวนาน พรรควิกได้แนะนำให้เจ้าหญิงเสด็จกลับพระตำหนักของพระบิดา ซึ่งพระนางทรงยอมทำตามในวันถัดไป[53]
ความโดดเดี่ยวและการมีความรัก
แก้เรื่องราวการหลบหนีของเจ้าหญิงชาร์ลอตต์และการเสด็จกลับได้เป็นที่พูดถึงกันในเมือง เฮนรี โบร์กแฮม อดีตสมาชิกสภาและต่อมาคือประธานศาลสูงสุดจากพรรควิก ได้รายงานว่า "ทั้งหมดนี้ล้วนต่อต้านเจ้าชายโดยเฉพาะ" และแรงกดดันจากฝ่ายค้านได้เผยแพร่เรื่องราวของเจ้าหญิงผู้หลบหนีอย่างมาก[54] แม้ว่าจะทรงคืนดีกับพระธิดา แต่เจ้าชายผู้สำเร็จราชการยังคงมีพระบัญชาให้นำตัวพระธิดาไปยังบ้านเครนบูร์น ที่ซึ่งข้าราชบริพารที่รับใช้พระนางได้รับพระบัญชาให้คอยดูพระธิดาอย่าให้คาดสายตา แต่เจ้าหญิงก็ทรงลักลอบเขียนจดหมายไปให้กับพระปิตุลาที่ทรงสนิท คือ เจ้าชายออกัสตัส เฟรเดอริก ดยุกแห่งซัสเซกซ์ ดยุกทรงตอบรับโดยทรงมีคำถามไปยัง ลอร์ดลิเวอร์พูล นายกรัฐมนตรีจากพรรคทอรี ในสภาขุนนาง พระองค์ทรงขอให้ปล่อยเจ้าหญิงชาร์ลอตต์เป็นอิสระ หรือไม่ก็อนุญาตให้พระนางสามารถเสด็จไปชายทะเลได้ตามที่แพทย์ประจำพระองค์ได้แนะนำพระนางในอดีต และตอนนี้เจ้าหญิงมีพระชนมายุ 18 พรรษาแล้ว หรือว่ารัฐบาลมีแผนจะแยกพระนางให้โดดเดี่ยว ลอร์ดลิเวอร์พูลพยายามเลี่ยงที่จะตอบคำถาม[54] และดยุกทรงถูกพระเชษฐาเรียกพระองค์ไปที่ตำหนักคาร์ลตัน ทรงถูกตำหนิจากเจ้าชายผู้สำเร็จราชการ ซึ่งต่อมาเจ้าชายก็ไม่ทรงตรัสใด ๆ กับพระอนุชาองค์นี้อีก[55]
แม้ว่าพระนางจะทรงถูกโดดเดี่ยว แต่เจ้าหญิงชาร์ลอตตก็พบว่าพระชนม์ชีพของพระนางในเครนบูร์นนั้นน่าพอพระทัยอย่างประหลาดและทรงค่อย ๆ ปรับพระองค์ต่อสถานการณ์ได้อย่างช้า ๆ[56] ในปลายเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1814 เจ้าชายผู้สำเร็จราชการได้เสด็จมาเยี่ยมเจ้าหญิงชาร์ลอตต์ในช่วงการโดดเดี่ยวเจ้าหญิง และทรงแจ้งต่อพระธิดาว่าพระมารดาของพระนางจะเสด็จออกจากอังกฤษไปพักผ่อนที่ภาคพื้นทวีปเป็นเวลานาน ข่าวนี้ทำให้เจ้าหญิงชาร์ลอตต์เสียพระทัยมาก แต่พระนางก็ไม่รู้สึกว่าจะมีอะไรเปลี่ยนความคิดพระมารดาของพระนางได้ และทรงเสียพระทัยต่อในการจากไปโดยไม่สนพระทัยของพระมารดา ทรงตรัสว่า "พระเจ้าเท่านั้นที่ทรงรู้ว่านานเท่าใด หรือเหตุการณ์ใดที่อาจเกิดขึ้นก่อนที่เราจะพบกันอีกครั้ง"[57] เจ้าหญิงชาร์ลอตต์ไม่ได้ทรงพบกับพระมารดาอีกเลย[58] ในช่วงปลายเดือนสิงหาคม เจ้าหญิงชาร์ลอตต์ทรงได้รับอนุญาตให้เสด็จไปชายทะเลได้ พระนางทรงขอไปที่ไบรตันซึ่งเปี่ยมไปด้วยสีสัน แต่เจ้าชายผู้สำเร็จราชการทรงปฏิเสธโดยทรงส่งเจ้าหญิงไปที่เวย์มัธแทน[59] เมื่อรถม้าของเจ้าหญิงได้หยุดตามรายทาง ฝูงชนผู้เป็นมิตรได้รวมตัวกันเพื่อที่จะได้เห็นพระนาง ตามบันทึกของโฮล์มที่ว่า "การที่ทรงเป็นที่ชื่นชอบได้แสดงให้เห็นว่าประชาชนทั้งหลายคิดว่าพระนางจะทรงเป็นพระราชินีของพวกเขาในอนาคต"[60] เมื่อเสด็จถึงเวย์มัธ มีการประดับตัวอักษรด้วยคำว่า "เจ้าหญิงชาร์ลอตต์ทรงพระเจริญ ความหวังของยุโรปและความรุ่งโรจน์ของบริเตน"[61] เจ้าหญิงชาร์ลอตต์ทรงใช้เวลาสำรวจสถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียง ทรงซื้อผ้าไหมฝรั่งเศสที่ถูกลักลอบมาขาย และนับตั้งแต่ปลายเดือนกันยายนทรงเข้าคอร์สการสรงน้ำทะเลอุ่น[61] เจ้าหญิงยังคงหลงเสน่ห์ชายชาวปรัสเซียของพระนาง และทรงหวังอย่างเปล่าประโยชน์ว่า เขาจะประกาศต่อเจ้าชายผู้สำเร็จราชการว่าเขารักพระนาง และถ้าเขาไม่ทำเช่นนั้น พระนางทรงมีจดหมายไปถึงพระสหาย ทรงเขียนว่า พระนางจะ "เอาสิ่งที่ดีที่สุดสิ่งต่อไป ที่ซึ่งเป็นผู้ชายอารมณ์ดีและมีสติที่ดี (Sic;ทรงเขียนว่า sence แทนที่จะเป็น sense ทรงตั้งใจสะกดผิด)...ผู้ชายคนนั้นคือ พี แห่ง เอส-ซี (เจ้าชายแห่งซัคเซิน-โคบูร์ก; Prince of Saxe-Coburg ซึ่งก็คือ เจ้าชายเลโอโปลด์)"[62] ในช่วงกลางเดือนธันวาคม เวลาไม่นานที่จะทรงเสด็จออกจาเวย์มัธ พระนางทรง "ตกพระทัยอย่างมาก" เมื่อทรงทราบว่าชายชาวปรัสเซียของพระนางได้สานสัมพันธ์ความรักกับคนอื่น[63] ในการพูดคุยกันเป็นเวลานานหลังงานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำวันคริสต์มาส พระบิดาและพระธิดาได้ผิดใจกันอย่างมาก[56]
ในช่วงต้นปี ค.ศ. 1815 เจ้าหญิงชาร์ลอตต์ทรงคำนึงถึงเจ้าชายเลโอโปลด์ (พระนางทรงเรียกเจ้าชายว่า "เลโอ") ในฐานะพระสวามี[64] พระบิดาของเจ้าหญิงทรงปฏิเสธที่จะยอมแพ้ ทรงยินยันให้เจ้าหญิงชาร์ลอตต์อภิเษกสมรสกับเจ้าชายแห่งออเรนจ์ แต่เจ้าหญิงชาร์ลอตต์ทรงเขียนว่า "ไม่ต้องเถียง ไม่ต้องขู่ ไม่มีอะไรมาโน้มน้าวให้ลูกแต่งงานกับคนดัตช์น่ารังเกียจคนนี้ได้หรอก"[65] ด้วยเหตุที่ต้องเผชิญกับกระแสการต่อต้านพระราชวงศ์ ในที่สุดเจ้าชายจอร์จทรงยอมละทิ้งแผนการเสกสมรสของพระธิดากับเจ้าชายแห่งออเรนจ์ ซึ่งต่อมาพระองค์ทรงหมั้นกับแกรนด์ดัชเชสแอนนา ปาฟลอฟนาแห่งรัสเซียในฤดูร้อนปีนั้นเอง[66] เจ้าหญิงชาร์ลอตต์ทรงติดต่อกับเจ้าชายเลโอโปลด์โดยผ่านคนกลางและทรงประจักษ์ว่าเจ้าชายทรงเป็นผู้ที่เปิดกว้าง แต่ด้วยจักรพรรดินโปเลียนพยายามสร้างวิกฤตในภาคพื้นทวีปอีกครั้งในสมัยร้อยวัน เจ้าชายเลโอโปลด์และทหารของพระองค์จึงต้องเข้าร่วมรบ[67] ในเดือนกรกฎาคม เวลาไม่นานก่อนที่จะเสด็จกลับไปเวย์มัธ เจ้าหญิงชาร์ลอตต์ทรงขออย่างเป็นทางการต่อพระบิดาโดยทรงต้องการเสกสมรสกับเจ้าชายเลโอโปลด์ เจ้าชายผู้สำเร็จราชการทรงตอบว่าสถานการณ์ทางการเมืองบนภาคพื้นทวีปยังไม่แน่นอน พระองค์จึงไม่สามารถพิจารณาคำขอได้[68] เจ้าหญิงชาร์ลอตต์ทรงเสียพระทัย เจ้าชายเลโอโปลด์ไม่ได้เสด็จมาอังกฤษหลังจากสันติภาพได้รับการฟื้นฟูแล้ว แม้ว่าพระองค์ถูกส่งไปประจำการที่ปารีส ที่ซึ่งพระนางทรงเห็นว่าเป็นการเดินทางระยะสั้น ๆเหมือนจากเวย์มัธไปลอนดอน[69]
ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1816 เจ้าชายผู้สำเร็จราชการได้เชิญพระธิดามายัง Royal Pavilion ในไบรตัน และพระนางทรงวิงวอนขอพระบิดาให้ประทานอนุญาตให้เสกสมรส เมื่อพระนางได้เสด็จกลับวินด์เซอร์ ทรงเขียนจดหมายถึงพระบิดาความว่า "ลูกจะไม่ลังเลอีกต่อไปที่จะประกาศว่าลูกมีใจเอนเอียงไปยังเจ้าชายแห่งโคบูร์ก พระบิดาวางพระทัยได้เลยว่า จะไม่มีการหมั้นใดในอดีตและปัจจุบันที่จะมั่นคงและเหนียวแน่นไปมากกว่าตัวลูกเอง"[70] เจ้าชายจอร์จทรงโอนอ่อนผ่อนตามและทรงเรียกเจ้าชายเลโอโปลด์มายังอังกฤษ ซึ่งเจ้าชายทรงอยู่ที่เบอร์ลินและกำลังเดินทางไปรัสเซีย[71] เจ้าชายเลโอโปลด์เสด็จถึงอังกฤษในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1816 และได้เสด็จไปยังไบรตันซึ่งทรงถูกสัมภาษณ์โดยเจ้าชายผู้สำเร็จราชการ หลังจากเจ้าหญิงชาร์ลอตต์ได้ถูกเชิญมาและทรงร่วมเสวยพระกระยาหารกับเจ้าชายเลโอโปลด์และพระบิดา เจ้าหญิงทรงเขียนว่า
ฉันพบเสน่ห์ในตัวเขา และฉันนอนหลับอย่างมีความสุขที่สุด สุขมากกว่าใด ๆ ในชีวิตของฉันเสียอีก... ฉันมั่นใจในความโชคดีที่พระผู้เป็นเจ้าทรงสร้างสรรค์และฉันได้สวดอ้อนวอนพระองค์ ฉันเชื่อว่าเจ้าหญิงองค์หนึ่ง ๆ ไม่เคยได้กำหนดชีวิต (หรือการแต่งงาน) ด้วยโอกาสแห่งความสุขเช่นนี้ ดังเช่นสามัญชนคนหนึ่งที่เหมือนกับคนอื่นๆ[72]
เจ้าชายผู้สำเร็จราชการทรงประทับใจเจ้าชายเลโอโปลด์มาก และทรงตรัสแก่พระธิดาว่า เจ้าชายเลโอโปลด์ "มีคุณสมบัติทุกประการที่ทำให้ผู้หญิงมีความสุข"[73] เจ้าหญิงชาร์ลอตต์ทรงถูกส่งกลับไปที่เครนบูร์นในวันที่ 2 มีนาคม โดยเจ้าชายเลโอโปลด์ยังทรงอยู่กับเจ้าชายผู้สำเร็จราชการ ในวันที่ 14 มีนาคม ได้มีการประกาศในสภาสามัญชนซึ่งมีการโห่ร้องแสดงความยินดีจากทั้งสองพรรคทึ่โล่งใจว่าละครชีวิตความรักของเจ้าหญิงจะได้สิ้นสุดลงเสียที[74] รัฐสภาได้ลงมติมอบเงินจำนวน 50,000 ปอนด์ต่อปีแก่เจ้าชายเลโอโปลด์ จัดซื้อบ้านแคลร์มอนท์สำหรับทั้งสองพระองค์ และอนุญาตให้ชำระเงินสำหรับการตกแต่งบ้านด้วยค่าใช้จ่ายเพียงคนเดียว[75] เนื่องจากความกลัวที่จะเกิดความล้มเหลวในการหมั้นเช่นเดียวกับกรณีของเจ้าชายแห่งออเรนจ์ เจ้าชายจอร์จทรงจำกัดการติดต่อกันระหว่างเจ้าหญิงชาร์ลอตต์กับเจ้าชายเลโอโปลด์ เมื่อเจ้าหญิงชาร์ลอตต์เสด็จกลับมายังไบรตัน พระองค์อนุญาตให้ทั้งคู่พบกันเพียงในเวลาพระกระยาหารค่ำและไม่ทรงให้ทั้งสองพระองค์อยู่กันตามลำพัง[76]
พระราชพิธีเสกสมรสได้ถูกกำหนดในวันที่ 2 พฤษภาคม ค.ศ. 1816 ในวันเสกสมรส ฝูงชนขนาดใหญ่เต็มกรุงลอนดอน ผู้เข้าร่วมงานมีความยากลำบากในการเดินทาง ในเวลาสามทุ่มที่ห้องวาดภาพคริมสัน ณ ตำหนักคาร์ลตัน เจ้าชายเลโอโปลด์ทรงฉลองพระองค์ชุดนายพลอังกฤษเป็นครั้งแรก (เจ้าชายผู้สำเร็จราชการทรงฉลองพระองค์ชุดจอมพล) ทั้งสองพระองค์ได้เสกสมรสกัน เจ้าหญิงชาร์ลอตต์ทรงฉลองพระองค์ชุดเจ้าสาวราคา 10,000 ปอนด์ เรื่องร้ายเพียงอย่างเดียวในระหว่างพระราชพิธี เมื่อเจ้าหญิงชาร์ลอตต์ทรงได้ยินเสียงหัวเราะคิกคัก เมื่อเจ้าชายเลโอโปลด์ผู้ยากจนได้สัญญาต่อพระนางว่าจะทรงยกทรัพย์สมบัติมีค่าของพระองค์ทั้งหมดแก่พระนาง[77]
พระชนม์ชีพสมรสและสิ้นพระชนม์
แก้ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จไปฮันนีมูนที่พระราชวังโอ๊ตแลนด์ ซึ่งเป็นที่ประทับของดยุกแห่งยอร์กในเซอร์เรย์ เป็นพระตำหนักที่ไม่ดีและเต็มไปด้วยสุนัขจากยอร์กและอบอวนไปด้วยกลิ่นของสัตว์ แต่เจ้าหญิงทรงเขียนถึงเจ้าชายเลโอโปลด์ว่าทรงเป็น "คู่พระทัยที่สมบูรณ์แบบ"[78] สองเดือนหลังจากการเสกสมรส เจ้าชายผู้สำเร็จราชการได้เสด็จมาเยี่ยมทั้งสองพระองค์ที่โอ๊ตแลนด์ พระองค์ทรงใช้เวลาสองชั่วโมงในการอธิบายรายละเอียดของเครื่องแบบทหารแก่เจ้าชายเลโอโปลด์ ซึ่งเจ้าหญิงชาร์ลอตต์ทรงบันทึกว่า "เป็นสิ่งแสดงถึงอารมณ์ขันที่สมบูรณ์แบบที่สุด"[79] เจ้าชายเลโอโปลด์และพระชายาได้เสด็จกลับลอนดอนในช่วงออกงานสังคม และเมื่อทั้งสองพระองค์ได้เสด็จไปยังโรงละคร ทรงได้รับการปรบมือโห่ร้องอย่างหนักหน่วงจากผู้เข้าร่วมชมเช่นเคย และมีตัวแทนร้องเพลง "ก็อดเซฟเดอะคิง" เมื่อเจ้าหญิงทรงพระประชวรที่โรงละครโอเปร่าหลวง สาธารณชนได้กังวลต่อพระพลานามัยของพระนางอย่างมาก ได้มีการประกาศออกมาว่าพระนางทรงแท้งพระบุตร[80] ในวันที่ 24 สิงหาคม ค.ศ. 1816 ทั้งสองพระองค์ได้ทรงเข้าประทับครั้งแรกที่แคลร์มอนท์[81]
แพทย์ประจำพระองค์ของเจ้าชายเลโอโปลด์[82] คริสเตียน สต็อกมาร์ (ต่อมาคือ บารอนสต็อกมาร์ เป็นที่ปรึกษาในสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียและเจ้าชายอัลเบิร์ต)[83] ได้เขียนว่าในช่วงเดือนแรกของการเสกสมรส เขาไม่เคยเห็นเจ้าหญิงชาร์ลอตต์ไม่ทรงสวมฉลองพระองค์ที่ดูเรียบ ๆ เช่นเคย และทรงมีรสนิยมที่ดี เขายังคงตั้งข้อสังเกตว่าพระนางทรงสงบเสงี่ยมมากขึ้นและทรงควบคุมพระองค์เองได้มากกว่าเดิม และทั้งนี้คาดว่าเป็นเพราะอิทธิพลของเจ้าชายเลโอโปลด์[82] เจ้าชายเลโอโปลด์ทรงเขียนในภายหลังว่า "ยกเว้นในช่วงที่ฉันออกไปยิงปืน เราอยู่ด้วยกันตลอด และเราอยู่ด้วยกันได้โดยไม่เหนื่อยใจกันเลย"[84] เมื่อเจ้าหญิงชาร์ลอตต์ทรงตื่นเต้นเกินไป เจ้าชายเลโอโปลด์ทรงตรัสแต่เพียงว่า "Doucement, chėrie" ("เบา ๆ หน่อย ที่รัก";"Gently, my love") เจ้าหญิงชาร์ลอตต์ทรงยอมรับคำติเตือนโดยทรงปรับปรุงพระองค์และจะทรงเริ่มเรียกพระสวามีว่า "Doucement"[85]
คนโคบูร์ก ซึ่งเป็นคำที่ถูกเรียกเมื่อพวกเขาเดินทางมาอังกฤษ ได้ใช้เวลาในช่วงวันหยุดคริสต์มาสที่ Brighton Pavilion พร้อมกับพระราชวงศ์คนอื่น ๆ ในวันที่ 7 มกราคม เจ้าชายผู้สำเร็จราชการได้จัดงานเลี้ยงรื่นเริงเพื่อฉลองวันคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษาเจ้าหญิงชาร์ลอตต์ครบ 21 พรรษา แต่กลุ่มคนโคบูร์กไม่ได้เข้าร่วม พวกเขาได้กลับไปยังแคลร์มอนท์และเลือกที่จะอยู่ที่นั่นเงียบ ๆ ในช่วงปลายเดือนเมษายน ค.ศ. 1817 เจ้าชายเลโอโปลด์ทรงแจ้งต่อเจ้าชายผู้สำเร็จราชการว่า เจ้าหญิงชาร์ลอตต์ทรงพระครรภ์ และมีโอกาสว่าเจ้าหญิงจะทรงพระครรภ์ได้จนถึงกำหนด[86]
การที่เจ้าหญิงชาร์ลอตต์ทรงพระครรภ์เป็นสิ่งที่ประชาชนให้ความสนใจอย่างมาก ร้านค้าต่าง ๆ ได้พนันถึงเพศของบุตรที่ประสูติมา นักเศรษฐศาสตร์คำนวณว่าการที่เจ้าหญิงทรงมีพระสูติกาลจะทำให้การลงทุนในตลาดหุ้นสูงขึ้นถึง 2.5% และถ้าทรงมีพระประสูติกาลพระโอรสจะพุ่งขึ้นเป็น 6% เจ้าหญิงชาร์ลอตต์ทรงประทับอย่างเงียบ ๆ ทรงใช้เวลาส่วนมากในการประทับนั่งเพื่อให้เซอร์โทมัส ลอว์เรนซ์ได้วาดภาพของพระนาง[87] พระนางทรงเสวยอย่างหนักและทรงออกกำลังน้อย ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1817 กลุ่มแพทย์ได้เริ่มต้นถวายการดูแลก่อนมีพระประสูติกาล พวกเขาได้วางกฎเกณฑ์การเสวยอย่างเข้มงวด โดยหวังว่าจะช่วยลดขนาดของบุตรที่ประสูติออกมา การอดอาหารและการเอาพระโลหิตออกในบางครั้งได้ทำให้พระพลานามัยของเจ้าหญิงชาร์ลอตต์ทรุดลง สต็อกมาร์ประหลาดใจในวิธีการรักษาที่ล้าสมัยนี้มากและเขาถูกปฏิเสธในการเข้าร่วมกับกลุ่มแพทย์ โดยเชื่อว่าการที่เขาเป็นชาวต่างชาติจะทำให้เขาถูกตำหนิเมื่อมีบางสิ่งผิดพลาด[88]
โดยส่วนมากเจ้าหญิงชาร์ลอตต์ทรงได้รับการถวายการรักษาวันต่อวันจากเซอร์ริชาร์ด ครอฟท์ ครอฟท์ไม่ใช่แพทย์หลวง แต่เป็นสูติแพทย์ หรือพยาบาลผดุงครรภ์ชาย ซึ่งเป็นอาชีพที่ขณะนั้นนิยมในหมู่ผู้ร่ำรวย[89] เจ้าหญิงชาร์ลอตต์ทรงเชื่อว่าพระนางจะมีพระประสูติกาลในวันที่ 19 ตุลาคม แต่เมื่อเดือนตุลาคมสิ้นสุด ก็ไม่มีสัญญาณการประสูติของเจ้าหญิง และมีการกีดกันเจ้าชายเลโอโปลด์ออกไปเช่นเคยตามประเพณีในวันอาทิตย์ที่ 2 พฤศจิกายน[90] ในช่วงเย็นของวันที่ 3 พฤศจิกายน เจ้าหญิงทรงเริ่มมีพระอาการเกร็ง เซอร์ริชาร์ด ได้กระตุ้นให้พระนางทรงออกกำลัง แต่ไม่ให้พระนางเสวยใด ๆ ในเย็นวันนั้น เขาได้ส่งคนไปหาเจ้าหน้าที่ที่มาเป็นสักขีพยานและยืนยันการประสูติของพระบุตร จากวันที่ 4 พฤศจิกายนจนถึงวันที่ 5 เป็นที่แน่ชัดได้ว่าเจ้าหญิงชาร์ลอตต์ไม่อาจมีพระประสูติกาลพระบุตรออกมาได้ ครอฟท์และแม็ททิว บาอิลลี แพทย์ประจำองค์เจ้าหญิงชาร์ลอตต์ ได้ตัดสินใจเรียกตัวสูติแพทย์คือ จอห์น ซิมส์[91] แต่ครอฟท์ไม่อนุญาตให้ซิมส์พบผู้ป่วยและมีการสั่งห้ามใช้คีมคีบ ตามที่พลาวเดนบันทึกในหนังสือของเธอว่า พวกเขาอาจจะพยายามช่วยชีวิตทั้งเจ้าหญิงและพระบุตร แม้ว่าจะมีโอกาสการสิ้นพระชนม์สูงเนื่องจากเครื่องมือเหล่านี้ถูกใช้ก่อนยุคยาฆ่าเชื้อโรค[92]
ในเวลาสามทุ่มของวันที่ 5 พฤศจิกายน เจ้าหญิงทรงมีพระประสูติกาลพระโอรสซึ่งสิ้นพระชนม์เมื่อประสูติ มีความพยายามอย่างเปล่าประโยชน์ที่จะรักษาชีวิตของพระโอรส และผู้สังเกตการณ์ได้ยืนยันว่าเป็นพระโอรสที่หล่อเหลา ซึ่งดูเหมือนกับพระราชวงศ์ พวกเขามั่นใจว่าพระมารดาทรงทำดีที่สุดแล้ว จากนั้นพวกเขาก็เดินออกไป เจ้าหญิงชาร์ลอตต์ผู้อ่อนล้าทรงฟังข่าวอย่างสงบ และทรงกล่าวว่ามันเป็นพระประสงค์ของพระเจ้า เจ้าหญิงทรงบำรุงพระกำลังหลังจากที่พระอาการดูเหมือนจะฟื้นฟูอย่างรวดเร็ว[93] เจ้าชายเลโอโปลด์ทรงประทับอยู่กับพระชายาโดยตลอด เห็นได้ชัดว่าพระองค์ทรงเสพฝิ่นและทรงทรุดพระองค์ลงบนแท่นบรรทม[94]
ไม่นานหลังเที่ยงคืน เจ้าหญิงชาร์ลอตต์ทรงเริ่มอาเจียนอย่างรุนแรงและทรงตรัสว่าทรงปวดท้องอย่างมาก เซอร์ริชาร์ดถูกเรียกมา เขาตกใจมากที่ผู้ป่วยมีพระวรกายเย็นเฉียบเมื่อเขาสัมผัส พระนางทรงหายใจลำบากและพระโลหิตไหลออก เขาพยายามประคบร้อนลงบนพระนาง ซึ่งเป็นการรักษาที่ได้รับการยอมรับในสมัยนั้นสำหรับอาการตกเลือดหลังคลอด แต่พระโลหิตกลับไม่หยุดไหล เขาเรียกสต็อกมาร์และเร่งให้เขาไปพาเจ้าชายเลโอโปลด์มา สต็อกมาร์พบว่าเจ้าชายเลโอโปลด์ทรงยากที่จะปลุกให้ทรงตื่น และทรงพยายามต้องการพบเจ้าหญิง ทรงจับแขนของเขาแล้วตรัสว่า "พวกมันทำให้ฉันมึนไปหมด" สต็อกมาร์ออกไปจากห้อง เขาพยายามที่จะปลุกเจ้าชายอีกครั้ง แต่เขาถูกเรียกด้วยเสียงของเจ้าหญิงชาร์ลอตต์ที่ว่า "สต็อกกี้! สต็อกกี้!" เขารีบเข้าไปที่ห้องของพระนางและพบว่าพระนางสิ้นพระชนม์แล้ว[95]
ผลที่ตามมา
แก้เฮนรี โบร์กแฮม ได้เขียนถึงปฏิกิริยาของสาธารณชนต่อการสิ้นพระชนม์ของเจ้าหญิงชาร์ลอตต์ว่า "เหมือนกับว่าทุกครอบครัวทั่วบริเตนใหญ่ได้สูญเสียลูกคนโปรดไป"[96] ทั้งราชอาณาจักรจมลึกอยู่กับความโศกเศร้า ผ้าลินินสีดำขาดตลาด แม้กระทั่งคนยากจนและคนไร้บ้านก็ยังผูกข้อมือด้วยผ้าสีดำและบนเสื้อของพวกเขา ร้านค้าปิดเป็นเวลาสองสัปดาห์ รวมทั้งตลาดแลกเปลี่ยนเงินตรา, ศาลและท่าเรือ แม้กระทั่งซ่องการพนันก็ปิดในงานพระพิธีศพ เพื่อเป็นการแสดงความเคารพ[97] เดอะไทมส์ได้เขียนว่า "แน่นอนมันไม่ใช่ความไม่พอใจของเราต่อโชคชะตาจากพระผู้เป็นเจ้าที่มาถึง...มันไม่มีอะไรที่แสดงความไม่เคารพต่อความเศร้าโศกเสียใจสำหรับเภทภัยนี้"[98] การไว้ทุกข์เสร็จสมบูรณ์โดยผู้ผลิตริบบิ้นและสินค้าแฟนซีอื่น ๆ (ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สามารถสวมใส่ได้ในช่วงของการไว้ทุกข์) ได้ส่งคำขอไปยังรัฐบาลให้ย่นระยะเวลาการไว้ทุกข์ เนื่องจากพวกเขากลัวที่จะล้มละลาย[96] บันทึกที่เห็นต่างซึ่งเขียนโดยนักกวี เพอร์ซี บิซชี เชลลีย์ เขียนใน An Address to the People on the Death of the Princess Charlotte ชี้เห็นว่าการประหารชีวิตคนสามคนในวันหลังจากที่เจ้าหญิงสิ้นพระชนม์จากข้อหาพยายามโค่นล้มรัฐบาลนั้นต่างหากเป็นโศกนาฎกรรมที่เลวร้ายกว่า[99]
เจ้าชายผู้สำเร็จราชการทรงนอนราบด้วยความโทมนัส และไม่ทรงสามารถมาร่วมงานฝังพระศพของพระธิดาได้ เจ้าหญิงคาโรลีนทรงทราบข่าวจากคนส่งข่าว พระนางทรงตกพระทัยและเป็นลมหมดสติ หลังจากทรงฟื้น พระนางทรงตรัสว่า "อังกฤษ เป็นประเทศที่ยิ่งใหญ่ ได้สูญเสียทุกสิ่งทุกอย่างในการสูญเสียลูกสาวสุดที่รักของฉัน"[100] แม้แต่เจ้าชายแห่งออเรนจ์ก็ทรงหลั่งพระอัสสุชลเมื่อทรงทราบข่าว และพระชายาของพระองค์ทรงมีรับสั่งให้นางกำนัลในราชสำนักไว้ทุกข์ด้วย[100] เจ้าชายเลโอโปลด์ทรงได้รับผลกระทบที่มากที่สุด สต็อกมาร์เขียนในปีถัดมาว่า "เดือนพฤศจิกายนได้ทำให้บ้านที่แสนสุขกลายเป็นซาก และได้ทำลายความหวังและความสุขของเจ้าชายเลโอโปลด์ พระองค์ไม่ทรงเคยได้เยียวยาความสุขซึ่งทรงเคยได้รับในชีวิตสมรสที่แสนสั้นของพระองค์อีกเลย"[101] ตามบันทึกของโฮล์มที่ว่า "เมื่อไร้เจ้าหญิงชาร์ลอตต์ พระองค์ก็ไม่สมบูรณ์อีกเลย มันเหมือนกับว่าพระองค์ได้สูญเสียพระหทัยของพระองค์ไปแล้ว"[101]
เจ้าชายเลโอโปลด์ทรงเขียนถึง เซอร์โทมัส ลอว์เรนซ์ ว่า
ชีวิตทั้งสองรุ่นหายไป หายไปในเวลาเดียว! ฉันรู้สึกเสียใจต่อตนเองแต่ก็ยังรู้สึกเสียใจต่อเจ้าชายผู้สำเร็จราชการด้วย ชาร์ลอตต์ของฉันไปจากประเทศนี้แล้ว ประเทศนี้สูญเสียเธอ เธอเป็นคนดี เป็นสตรีที่น่าชื่นชม ไม่มีใครรู้จักชาร์ลอตต์ได้ดีเท่าฉัน! มันเป็นการเรียนรู้ของฉัน เป็นหน้าที่ของฉัน ที่จะต้องรู้นิสัยใจคอของเธอ แต่ถึงอย่างไรมันก็เป็นความสุขใจของฉัน![102]
เจ้าหญิงทรงถูกฝังพร้อมพระโอรส ซึ่งถูกฝังอยู่เบื้องพระบาทของเจ้าหญิง ณ โบสถ์เซนต์จอร์จ, ปราสาทวินด์เซอร์ ในวันที่ 19 พฤศจิกายน ค.ศ. 1917 อนุสรณ์ได้ถูกสร้างขึ้นโดยการลงนามของสาธารณชนในที่โลงฝังพระศพ[103] ไม่นานหลังจากที่ประชาชนเริ่มที่จะกล่าวโทษต่อโศกนาฎกรรมนี้ สมเด็จพระราชินีและเจ้าชายผู้สำเร็จราชการทรงถูกกล่าวหาว่าไม่ทรงอยู่กับพระนางในช่วงมีพระประสูติกาล แม้ว่าเจ้าหญิงชาร์ลอตต์ทรงร้องขอให้ทั้งสองพระองค์[103] แม้ว่าการชันสูตรพระศพยังพิสูจน์ไม่ได้ หลายคนประณามครอฟท์สำหรับการถวายการรักษาต่อเจ้าหญิง เจ้าชายผู้สำเร็จราชการปฏิเสธที่จะตำหนิครอฟท์ แต่ในสามเดือนให้หลังหลังจากที่เจ้าหญิงชาร์ลอตต์สิ้นพระชนม์ และขณะที่เขาอยู่กับหญิงสาวคนหนึ่ง ครอฟท์ได้หยิบปืนขึ้นมาและยิงตนเองจนบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิต[99] เหตุการณ์ที่ถูกเรียกว่า "สามโศกนาฎกรรมการคลอดบุตร" (การตายของเด็ก แม่และแพทย์) นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญในปฏิบัติการการคลอดบุตร โดยสูตินารีแพทย์ซึ่งมักจะถูกแทรกแซงตามความโปรดปรานในการใช้แรงงานที่ยืดเยื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้งานอุปกรณ์ใหม่ ๆ อย่างคีมหนีบ จะได้รับพื้นที่ในการทำงานมากกว่าผู้ที่ไม่ใช้[104]
การสิ้นพระชนม์ของเจ้าหญิงชาร์ลอตต์ได้ทำให้พระมหากษัตริย์ทรงไร้พระราชนัดดาที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยพระโอรสองค์เล็กสุดที่ทรงพระชนม์ชีพอยู่นั้นมีพระชนมายุมากกว่า 40 พรรษาแล้ว หนังสือพิมพ์ได้ปลุกเร้าให้พระโอรสของพระมหากษัตริย์ที่ยังไม่ทรงเสกสมรสให้รีบเสกสมรส ดังเช่นกรณี พระโอรสองค์ที่สี่ของพระมหากษัตริย์คือ เจ้าชายเอ็ดเวิร์ด ดยุกแห่งเคนต์และสแตรเธิร์น ทรงประทับอยู่ที่บรัสเซลส์ ซึ่งพระองค์ทรงประทับอยู่กับจูลี เดอ แซงต์-ลอว์แรงต์ พระสนม เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดทรงรีบเร่งปลดพระสนมและทรงสู่ขอเสกสมรสกับพระเชษฐภคินีในเจ้าชายเลโอโปลด์ คือ วิกตอเรีย เจ้าหญิงม่ายแห่งไลนิงเง็น[105] พระธิดาของทั้งสองพระองค์คือ เจ้าหญิงอเล็กซานดรินา วิกตอเรียแห่งเคนต์ ทรงได้เป็นสมเด็จพระราชินีนาถแห่งสหราชอาณาจักรในที่สุด (ปี ค.ศ. 1837) หลังจากนั้นเจ้าชายเลโอโปลด์ทรงกลายเป็นพระมหากษัตริย์แห่งชาวเบลเยียม ทรงเป็นที่ปรึกษาทางไกลแก่สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย พระนัดดา และทรงรับประกันความปลอดภัยให้พระนางอภิเษกสมรสกับ เจ้าชายอัลเบิร์ตแห่งซัคเซิน-โคบูร์กและก็อตธา พระนัดดาอีกองค์ของพระองค์[101]
พระราชตระกูล
แก้เชิงอรรถ
แก้- ↑ Chambers, p. 6.
- ↑ Chambers, p. 7.
- ↑ Chambers, pp. 8–9.
- ↑ Chambers, pp. 10–12.
- ↑ Chambers, p. 13.
- ↑ Chambers, pp. 13–14.
- ↑ Chambers, p. 14.
- ↑ Williams, p. 24.
- ↑ Chambers, pp. 15–16.
- ↑ Williams, p. 26.
- ↑ Williams, p. 27.
- ↑ 12.0 12.1 12.2 Williams, p. 28.
- ↑ London Gazette & 16 February 1796.
- ↑ Plowden, pp. 32–33.
- ↑ Holme, p. 45.
- ↑ Williams, pp. 28–29.
- ↑ Plowden, pp. 43–44.
- ↑ Holme, pp. 46–47.
- ↑ 19.0 19.1 Chambers, p. 16.
- ↑ Plowden, p. 47.
- ↑ Chambers, p. 17.
- ↑ Chambers, pp. 18–19.
- ↑ 23.0 23.1 Holme, p. 53.
- ↑ Raessler, p. 133.
- ↑ 25.0 25.1 Holme, p. 69.
- ↑ Holme, pp. 62–63.
- ↑ 27.0 27.1 Chambers, pp. 26–29.
- ↑ Williams, p. 42.
- ↑ Plowden, p. 86.
- ↑ Williams, p. 50.
- ↑ 31.0 31.1 Holme, p. 68.
- ↑ Plowden, p. 88.
- ↑ Holme, p. 72.
- ↑ Plowden, pp. 94–95.
- ↑ Chambers, pp. 43–45.
- ↑ Williams, p. 51.
- ↑ Plowden, p. 102.
- ↑ 38.0 38.1 Williams, pp. 60–63.
- ↑ Chambers, pp. 39–40.
- ↑ Chambers, pp. 68–69.
- ↑ Plowden, pp. 130–131.
- ↑ Plowden, p. 132.
- ↑ Holme, pp. 122–123.
- ↑ Chambers, p. 73.
- ↑ Chambers, pp. 81–82.
- ↑ Plowden, pp. 134–135.
- ↑ Chambers, pp. 82–83.
- ↑ Chambers, p. 91.
- ↑ 49.0 49.1 Aspinall, p. xvii.
- ↑ Williams, pp. 88–89.
- ↑ Holme, pp. 196–197.
- ↑ Plowden, pp. 149–150.
- ↑ Plowden, pp. 156–160.
- ↑ 54.0 54.1 Plowden, pp. 161–163.
- ↑ Chambers, p. 120.
- ↑ 56.0 56.1 Smith, p. 163.
- ↑ Plowden, pp. 164–165.
- ↑ Holme, p. 177.
- ↑ Williams, p. 102.
- ↑ Holme, p. 183.
- ↑ 61.0 61.1 Holme, p. 186.
- ↑ Aspinall, p. 165; Williams, p. 107.
- ↑ Aspinall, p. 169; Williams, p. 107.
- ↑ Chambers, p. 138.
- ↑ Williams, p. 111.
- ↑ Plowden, p. 176.
- ↑ Plowden, p. 178.
- ↑ Plowden, p. 181.
- ↑ Holme, pp. 206–207.
- ↑ Holme, p. 210.
- ↑ Holme, p. 211.
- ↑ Holme, p. 213.
- ↑ Plowden, pp. 188–189.
- ↑ Chambers, p. 164.
- ↑ Holme, p. 215.
- ↑ Chambers, pp. 164–167.
- ↑ Holme, p. 223.
- ↑ Smith, p. 164.
- ↑ Holme, pp. 224–225.
- ↑ Chambers, p. 174.
- ↑ 82.0 82.1 Holme, p. 227.
- ↑ Pakula, p. 33.
- ↑ Chambers, p. 177.
- ↑ Holme, p. 228.
- ↑ Plowden, p. 201.
- ↑ Williams, p. 133.
- ↑ Chambers, pp. 188–189.
- ↑ Chambers, p. 1.
- ↑ Holme, pp. 237–238.
- ↑ Williams, pp. 134–135.
- ↑ Plowden, p. 206.
- ↑ Plowden, pp. 206–207.
- ↑ Williams, p. 136.
- ↑ Chambers, pp. 193–194.
- ↑ 96.0 96.1 Williams, p. 137.
- ↑ Holme, pp. 240–241.
- ↑ Plowden, pp. 208–209.
- ↑ 99.0 99.1 Williams, p. 240.
- ↑ 100.0 100.1 Williams, pp. 138–139.
- ↑ 101.0 101.1 101.2 Holme, p. 241.
- ↑ Chambers, p. 201, some references omit the word "also".
- ↑ 103.0 103.1 Chambers, p. 201.
- ↑ Gibbs et al. 2008, p. 471.
- ↑ Chambers, pp. 202–204.
อ้างอิง
แก้- Aspinall, Arthur (1949). Letters of the Princess Charlotte 1811–1817. London: Home and Van Thal.
- Chambers, James (2007). Charlotte and Leopold. London: Old Street Publishing. ISBN 978-1-905847-23-5.
- Gibbs, Ronald S.; Danforth, David N.; Karlan, Beth Y.; Haney, Arthur F. (2008). Danforth's obstetrics and gynecology. Lippincott Williams & Wilkins. ISBN 978-0-7817-6937-2.
- Holme, Thea (1976). Prinny's Daughter. London: Hamish Hamilton. ISBN 978-0-241-89298-5. OCLC 2357829.
- Pakula, Hannah (1997). An Uncommon Woman: The Empress Frederick, daughter of Queen Victoria, wife of the Crown Prince of Prussia, mother of Kaiser Wilhelm. New York: Simon & Schuster. ISBN 978-0-684-84216-5.
- Plowden, Alison (1989). Caroline and Charlotte. London: Sidgwick & Jackson. ISBN 978-0-283-99489-0.
- Raessler, Daniel M. (2004). "Miles (née Guest), Jane Mary (c. 1762–1846)". ใน Matthew, H.C.G.; Harrison, Brian (บ.ก.). Oxford Dictionary of National Biography. Vol. 38. Oxford University Press. p. 133. ISBN 978-0-19-861388-6.
- Smith, E.A. (2001). George IV. New Haven, Conn.: Yale University Press. ISBN 978-0-300-08802-1.
- Williams, Kate (2008). Becoming Queen Victoria. New York: Ballantine Books. ISBN 978-0-345-46195-7.
เว็บไซต์อ้างอิง
แก้- Archival material relating to เจ้าหญิงชาร์ลอตต์แห่งเวลส์ (ค.ศ. 1796–1817) listed at the UK National Register of Archives