เขตผู้บัญชาการทหารแห่งเซอร์เบีย

ดินแดนของราชอาณาจักรยูโกสลาเวียที่ถูกยึดครองโดยรัฐบาลทหารเยอรมนีและแวร์มัคท์ (ค.ศ. 1941-1944)

44°49′N 20°27′E / 44.817°N 20.450°E / 44.817; 20.450

เขตผู้บัญชาการทหารแห่งเซอร์เบีย

Gebiet des Militärbefehlshabers in Serbien
1941–1944
เขตผู้บัญชาการทหารแห่งเซอร์เบียในทวีปยุโรป ประมาณ ค.ศ. 1942
เขตผู้บัญชาการทหารแห่งเซอร์เบียในทวีปยุโรป
ประมาณ ค.ศ. 1942
สถานะดินแดนภายใต้ฝ่ายปกครองทหารของเยอรมนี
เมืองหลวงเบลเกรด
ภาษาทั่วไปเยอรมัน
เซอร์เบีย
การปกครองรัฐบาลทหารa
ผู้บัญชาการทหาร 
• เมษายน–มิถุนายน 1941
เฮิลมุท เฟอร์สเตอร์
• มิถุนายน–กรกฎาคม 1941
ลูทวิช ฟ็อน ชเรอเดอร์
• กรกฎาคม–กันยายน 1941
ไฮน์ริช ดันเคิลมัน
• กันยายน–ธันวาคม 1941
ฟรันทซ์ เบอเมอ
• 1941–1943
พอล บาเดอร์
• 1943–1944
ฮันส์ เฟิลเบอร์
นายกรัฐมนตรี
(รัฐบาลหุ่นเชิด)
 
• 1941
มีลัน อาชีมอวิช
• 1941–1944
มีลัน เนดิช
ยุคประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่สอง
• ก่อตั้ง
22 เมษายน 1941
20 ตุลาคม 1944
ประชากร
• 1941[1]
4,500,000
สกุลเงินดีนาร์เซอร์เบีย
ไรชส์มาร์ค
ก่อนหน้า
ถัดไป
ราชอาณาจักรยูโกสลาเวีย
สหพันธ์ประชาธิปไตยยูโกสลาเวีย
ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของเซอร์เบีย
คอซอวอ[a]
  1. ก่อตั้งเป็นรัฐบาลหุ่นเชิด[2]

เขตผู้บัญชาการทหารแห่งเซอร์เบีย (เยอรมัน: Gebiet des Militärbefehlshabers in Serbien; เซอร์เบีย: Подручје Војног заповедника у Србији, อักษรโรมัน: Područje vojnog zapovednika u Srbiji) เป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรยูโกสลาเวียที่อยู่ภายใต้การยึดครองของรัฐบาลทหารแวร์มัคท์ ภายหลังการบุกครองและการแบ่งยูโกสลาเวียในเดือนเมษายน ค.ศ. 1941 โดยมีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของเซอร์เบียกลาง บางส่วนของคอซอวอเหนือ (บริเวณใกล้เคียงกับคอซอฟสกามิทรอวิตซา) และบานัต ดินแดนนี้เป็นพื้นที่เดียวจากการแบ่งยูโกสลาเวียที่เยอรมนียึดครองเพื่อจัดตั้งรัฐบาลทหาร เนื่องจากเป็นจุดยุทธศาสตร์ทางรางและเป็นเส้นทางการขนส่งในแม่น้ำดานูบที่สำคัญ อีกทั้งยังมีทรัพยากรที่ทรงคุณค่า โดยเฉพาะโลหะที่ไม่ใช่เหล็ก[3] เมื่อวันที่ 22 เมษายน ค.ศ. 1941 ดินแดนเซอร์เบียอยู่ภายใต้การปกครองสูงสุดของผู้บัญชาการทหารเยอรมันประจำเซอร์เบีย โดยมีเสนาธิการฝ่ายปกครองทหารคอยควบคุมการบริหารดินแดนแบบรายวัน อย่างไรก็ตาม สายบัญชาการและควบคุมดินแดนที่ถูกยึดครองนี้ไม่เคยเป็นหนึ่งเดียวกัน และเริ่มมีความซับซ้อนมากขึ้นจากการแต่งตั้งผู้แทนโดยตรงของบุคคลสำคัญของพรรคนาซี เช่น ไรชส์ฟือเรอร์-เอ็สเอ็สไฮน์ริช ฮิมเลอร์ (ฝ่ายตำรวจและความมั่นคง) จอมพลไรช์แฮร์มัน เกอริง (ฝ่ายเศรษฐกิจ) และรัฐมนตรีไรช์โยอาคิม ฟ็อน ริบเบินทร็อพ (ฝ่ายกิจการต่างประเทศ) ทางเยอรมนีใช้ประโยชน์จากกองทัพบัลแกเรียที่ถูกเยอรมนีควบคุมเพื่อใช้ช่วยเหลือในการยึดครอง ตามแหล่งข้อมูลต่าง ๆ จำนวนมากได้อธิบายถึงสถานะของดินแดนที่ถูกยึดครองว่าเป็นรัฐหุ่นเชิด รัฐในอารักขา เขตปกครองพิเศษ หรือมีสถานะเป็นรัฐบาลหุ่นเชิด

มีการจัดตั้งรัฐบาลพลเรือนหุ่นเชิดขึ้นมาสองชุดเพื่อดำเนินงานด้านการบริหารตามทิศทางและการกำกับดูแลของเยอรมนี รัฐบาลชุดแรกคือ "รัฐบาลข้าหลวงแห่งเซอร์เบีย" ซึ่งจัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม ค.ศ. 1941 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นเครื่องมือพื้นฐานในการสร้างระบอบการปกครอง แต่กลับไม่มีอำนาจใด ๆ ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1941 เกิดเหตุการณ์ก่อการกำเริบขึ้นในอาณาเขตยึดครอง ซึ่งทำให้กองทหารเซอร์เบียและกรมตำรวจรักษาความสงบเรียบร้อยเยอรมันได้รับการเสริมกำลังอย่างรวดเร็ว เพื่อช่วยในการปราบปรามการก่อจราจลที่เกิดขึ้นจากทั้งพลพรรคยูโกสลาเวียและกลุ่มราชาธิปไตยเชทนิกส์ ในเวลาต่อมารัฐบาลหุ่นเชิดชุดที่สองได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม ค.ศ. 1941 ในชื่อ "รัฐบาลแห่งการไถ่ชาติ" ภายใต้การนำของมีลาน เนดิช ซึ่งเข้ามาแทนที่รัฐบาลข้าหลวง โดยรัฐบาลชุดนี้แม้ว่าจะได้รับการสนับสนุนจากประชาชนอยู่บ้าง[4] แต่กลับไม่เป็นที่นิยมชมชอบของประชากรเซิร์บส่วนใหญ่[5] การเปลี่ยนรัฐบาลในครั้งนี้ไม่ได้ช่วยให้เยอรมนีได้รับการสนับสนุนมากขึ้น แต่กลับกันเยอรมนียังต้องส่งกองทหารจากแนวรบหน้าฝรั่งเศส กรีซ และแนวรบด้านตะวันออกเพื่อมาระงับการจราจล โดยเริ่มจากปฏิบัติการอูฌิตเซในปลายเดือนกันยายน ค.ศ. 1941 เพื่อขับไล่พลพรรคยูโกสลาเวีย และตามมาด้วยปฏิบัติการมีไฮลอวิชในเดือนธันวาคมเพื่อสลายกลุ่มเชทนิกส์ อย่างไรก็ตาม การจราจลต่อต้านขนาดย่อมยังคงดำเนินต่อไปจนถึง ค.ศ. 1944 พร้อมกับการสังหารตอบโต้ของเยอรมนีอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งในบางครั้งจะมีการประหารชีวิตตัวประกันทั้งหมด 100 คนจากชาวเยอรมันทุกคนที่ถูกสังหาร

ระบอบเนดิชไม่มีสถานะภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ ไม่มีอำนาจใด ๆ นอกเหนือไปจากอำนาจที่ได้รับจากเยอรมนี และเป็นเพียงเครื่องมือในการปกครองของเยอรมนีเท่านั้น แม้ว่ากองทัพเยอรมันจะเป็นผู้สั่งการและผู้ชี้ขาดสุดท้ายในดินแดนเซอร์เบีย อีกทั้งยังเป็นผู้ผูกขาดคำสั่งสังหารยิว แต่รัฐบาลเนดิชก็ได้ให้ความช่วยเหลืออย่างแข็งขันในฐานะรัฐบาลไส้ศึก[6] ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือค่ายกักกันบันจีกาในเบลเกรด ที่อยู่ภายใต้การควบคุมร่วมกันของระบอบเนดิชและกองทัพเยอรมัน ในขณะที่รัฐบาลข้าหลวงถูกจำกัดการมีกำลังทหาร รัฐบาลเนดิชได้รับอนุญาตให้จัดตั้งกองกำลังติดอาวุธหรือกองกำลังพิทักษ์ชาติเซอร์เบีย (Serbian State Guard) เพื่อบังคับใช้คำสั่ง แต่กองกำลังนี้อยู่ภายใต้การควบคุมของผู้บัญชาการหน่วยเอ็สเอ็สและตำรวจระดับสูง และมีหน้าที่เป็นผู้ช่วยของเยอรมนีจนกระทั่งกองทัพเยอรมันถอนกำลังในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1944 รัฐบาลแห่งการไถ่ชาติดำรงอยู่จนกระทั่งการถอนกำลังของเยอรมนี เมื่อเผชิญกับการรุกเบลเกรดของกองกำลังผสมระหว่างกองทัพแดง กองทัพประชาชนบัลแกเรีย และขบวนการพลพรรค ในระหว่างการยึดครอง ทางการเยอรมนีได้สังหารชาวยิวเกือบทั้งหมดที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ยึดครอง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการสังหารตอบโต้ใน ค.ศ. 1941 และมีการรมควันผู้หญิงและเด็กในช่วงต้น ค.ศ. 1942[ต้องการอ้างอิง] ภายหลังสงครามยุติลง ผู้นำคนสำคัญของเยอรมนีและเซอร์เบียหลายคนในพื้นที่ยึดครองถูกพิจารณาคดีและประหารชีวิตในข้อหาอาชญากรสงคราม

หมายเหตุ แก้

  1. คอซอวอเป็นดินแดนข้อพิพาทระหว่างสาธารณรัฐคอซอวอกับสาธารณรัฐเซอร์เบีย สาธารณรัฐคอซอวอประกาศเอกราชเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 แต่เซอร์เบียยังคงอ้างว่าคอซอวอเป็นดินแดนอธิปไตยของตน ใน พ.ศ. 2556 ทั้งสองรัฐบาลเริ่มกระชับความสัมพันธ์ให้เป็นปกติในฐานะส่วนหนึ่งของข้อตกลงบรัสเซลส์ ปัจจุบันคอซอวอได้รับการยอมรับว่าเป็นรัฐเอกราชจากประเทศสมาชิกสหประชาชาติ 98 ชาติจาก 193 ชาติ

อ้างอิง แก้

  1. Lemkin 2008, p. 248.
  2. Tomasevich 2001, pp. 175–177.
  3. Tomasevich 2001, p. 64.
  4. MacDonald, David Bruce (2002). Balkan holocausts?: Serbian and Croatian victim-centred propaganda and the war in Yugoslavia. Manchester: Manchester University Press. p. 142. ISBN 0719064678.
  5. MacDonald, David Bruce (2007). Identity Politics in the Age of Genocide: The Holocaust and Historical Representation. Routledge. p. 167. ISBN 978-1-134-08572-9.
  6. Raphael Israeli (4 March 2013). The Death Camps of Croatia: Visions and Revisions, 1941–1945. Transaction Publishers. pp. 31–32. ISBN 978-1-4128-4930-2. สืบค้นเมื่อ 12 May 2013.

บรรณานุกรม แก้

หนังสือ แก้

วารสาร แก้

แหล่งข้อมูลอื่น แก้