ฮั่นจ๋ง
ฮั่นจ๋ง[2][3] (เสียชีวิต 8 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 253)[a] มีชื่อในภาษาจีนกลางว่า หาน จง (จีน: 韓綜; พินอิน: Hán Zōng) เป็นขุนพลของรัฐง่อก๊กในยุคสามก๊กของจีน เป็นบุตรชายของฮันต๋ง[b] ขุนพลอาวุโสผู้รับใช้เจ้านายตระกูลซุนสามรุ่น (ซุนเกี๋ยน ซุนเซ็ก และซุนกวน) หลังฮันต๋งเสียชีวิต ฮั่นจ๋งได้สืบทอดบรรดาศักดิ์ฉือเฉิงโหว (石城侯) ของบิดา แต่ภายหลังได้หนีไปเข้าด้วยวุยก๊กที่เป็นรัฐอริของง่อก๊ก
ฮั่นจ๋ง (หาน จง) | |
---|---|
韓綜 | |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | ไม่ทราบ |
เสียชีวิต | 8 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 253[a] นครเฉาหู มณฑลอานฮุย |
บุพการี |
|
อาชีพ | ขุนพล |
บรรดาศักดิ์ | ฉือเฉิงโหว (石城侯) กว่างหยางโหว (廣陽侯) |
ประวัติ
แก้ในปี ค.ศ. 227 ฮันต๋งเสียชีวิต ฮั่นจ๋งผู้เป็นบุตรชายของฮันต๋งได้สืบทอดบรรดาศักดิ์ฉือเฉิงโหว (石城侯) ของบิดา ในปีเดียวกันนั้น ซุนกวนนำทัพโจมตีฉือหยาง (石陽) ซุนกวนไม่ได้พาฮั่นจ๋งไปด้วยเพราะเกรงว่าฮั่นจ๋งจะก่อปัญหา จากนั้นฮั่นจ๋งจึงได้รับมอบหมายให้ประจำการอยู่ที่บู๊เฉียง (武昌; ปัจจุบันคือนครเอ้อโจว มณฑลหูเป่ย์) แล้วฮั่นจ๋งก็ประพฤติตนไม่ดีและใช้อำนาจในทางที่ผิด ซุนกวนไม่ได้เอาความฮั่นจ๋งในเรื่องนี้โดยเห็นแก่คุณงามความดีของฮันต๋งบิดาผู้ล่วงลับของฮั่นจ๋ง[4]
ฮั่นจ๋งต้องการก่อบกฏต่อซุนกวนแต่ฮั่นจ๋งกลัวว่าผู้ใต้บังคับบัญชาจะไม่เห็นด้วย จึงพูดปดและบังคับให้พี่สาวน้องสาวและญาติผู้หญิงให้แต่งงานกับผู้ใต้บังคับบัญชาของตน และมอบข้ารับใช้ให้กับผู้ช่วยคนสนิทเพื่อให้ได้รับความเชื่อใจและการสนับสนุนเพิ่มมากขึ้น ในเดือนมกราคมหรือกุมภาพันธ์ ค.ศ. 228[5] ฮั่นจ๋งหนีไปรัฐวุยก๊กโดยนำศพของบิดาไปด้วย ทั้งยังนำสมาชิกในครอบครัวและผู้ติดตามรวมจำนวนหลายพันคนติดตามตนมาด้วย[6] ฮั่นจ๋งกลายเป็นขุนพลในวุยก๊กและได้รับบรรดาศักดิ์กว่างหยางโหว (廣陽侯) ฮั่นจ๋งมักจะนำทหารวุยก๊กไปโจมตีชายแดนง่อก๊ก สังหารราษฎรจำนวนมาก ซุนกวนโกรธฮั่นจ๋งมาก[7]
ต้นปี ค.ศ. 253 ฮั่นจ๋งทำหน้าที่นายกองหน้าของทัพวุยก๊กในยุทธการที่ตังหินที่เป็นการรบระหว่างวุยก๊กและง่อก๊ก ฮั่นจ๋งถูกสังหารในที่รบ จูกัดเก๊กแม่ทัพง่อก๊กตัดศีรษะจากศพของฮั่นจ๋งและส่งไปเป็นเครื่องบูชาที่ศาลบรรพกษัตริย์ของจักรพรรดิซุนกวน เพราะซุนกวนซึ่งสวรรคตก่อนยุทธการ 8 เดือน เมื่อครั้งยังทรงพระชนมชีพนั้นทรงเกลียดฮั่นจ๋งอย่างมาก[8]
ในนิยายสามก๊ก
แก้ฮั่นจ๋งปรากฏเป็นตัวละครรองในนิยายอิงประวัติศาสตร์เรื่องสามก๊กในศตวรรษที่ 14 ซึ่งเล่าเรื่องเหตุการณ์ก่อนและระหว่างยุคสามก๊ก ฮั่นจ๋งปรากฏในตอนที่ 108[c] เมื่อฮั่นจงและหวนแกเข้าร่วมรบในยุทธการที่ตังหินโดยอยู่ใต้การบังคับบัญชาของอ้าวจุ๋น ฮั่นจ๋งและหวนแกได้รับมอบหมายให้เข้าโจมตีป้อมปราการ 2 แห่งของเขื่อนตังหิน[9][2] ต่อมาทั้งสองกลับมาประจำการอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ เตงฮองขุนพลอาวุโสของง่อก๊กนำกำลังทหารถืออาวุธสั้นเข้าโจมตีค่ายวุยก๊กอย่างฉับพลัน ฮั่นจ๋งถูกเตงฮองสังหารในที่รบ[10][3]
ดูเพิ่ม
แก้หมายเหตุ
แก้- ↑ 1.0 1.1 ชีวประวัติซุนเหลียงในจดหมายเหตุสามก๊กบันทึกว่าฮั่นจ๋งถูกสังหารในยุทธการที่ตังหินในวันอู้อู่ (戊午) ของเดือน 12 ในศักราชเจียนซิง (建興) ปีที่ 1 ในรัชสมัยของจักรพรรดิซุนเหลียง[1] เทียบได้กับวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 252 ในปฏิทินกริโกเรียน
- ↑ ชื่อสกุล "ฮัน" ของฮันต๋ง (韓當 หาน ตาง) และชื่อสกุล "ฮั่น" ของฮั่นจ๋งเป็นชื่อสกุลเดียวกันคือชื่อสกุล "หาน" (韓) ในภาษาจีนกลาง
- ↑ ตรงกับสามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอนที่ 80[2][3]
อ้างอิง
แก้- ↑ ([延熙]戊午,兵及東興,交戰,大破魏軍,殺將軍韓綜、桓嘉等。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 48.
- ↑ 2.0 2.1 2.2 ("ฝ่ายอ้าวจุ๋นทัพหน้าสุมาเจียวทำสะพานข้ามกองทัพไปถึงฝั่งแล้ว ก็ใช้ให้หวนแก ฮั่นจ๋งคุมทหารเข้าตีป้อมซ้ายขวา นายทหารรักษาป้อมขวาชื่อเล่าเลียก ป้อมซ้ายชื่อจวนเต๊ก ป้อมสองอันนี้สูงใหญ่มั่นคงนัก หวนแกกับฮั่นจ๋งจะหักเข้าไปก็มิได้ก็ถอยออกมาตั้งค่ายอยู่") "สามก๊ก ตอนที่ ๘๐". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ May 13, 2023.
- ↑ 3.0 3.1 3.2 ("ฮั่นจ๋งก็ถือทวนวิ่งออกมาแทงเตงฮอง ๆ หลบได้ก็ฟันด้วยดาบถูกท้องฮั่นจ๋งล้ม เตงฮองก็เข้าตัดเอาสีสะ ฝ่ายหวนแกแลเห็นฮั่นจ๋งตายก็โกรธนัก") "สามก๊ก ตอนที่ ๘๐". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ May 13, 2023.
- ↑ (會病卒,子綜襲侯領兵。其年,權征石陽,以綜有憂,使守武昌,而綜淫亂不軌。權雖以父故不問,綜內懷懼, ...) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 55.
- ↑ ([黃武六年]閏月,韓當子綜以其衆降魏。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 47. เดือนอธิกสุรทิกของศักราชหวางอู่ (黃武) ปีที่ 6 เทียบได้กับช่วงเวลาระหว่างวันที่ 24 มกราคมถึง 22 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 228 ในปฏิทินจูเลียน
- ↑ (吳書曰:綜欲叛,恐左右不從,因諷使劫略,示欲饒之,轉相放效,為行旅大患。後因詐言被詔,以部曲為寇盜見詰讓,云「將吏以下,當並收治」,又言恐罪自及。左右因曰:「惟當去耳。」遂共圖計,以當葬父,盡呼親戚姑姊,悉以嫁將吏,所幸婢妾,皆賜與親近,殺牛飲酒歃血,與共盟誓。) อรรถาธิบายจากอู๋ชูในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 55.
- ↑ (... 載父喪,將母家屬部曲男女數千人奔魏。魏以為將軍,封廣陽侯。數犯邊境,殺害人民,權常切齒。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 55.
- ↑ (東興之役,綜為前鋒,軍敗身死,諸葛恪斬送其首,以白權廟。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 55.
- ↑ (卻說胡遵渡過浮橋,屯軍於堤上,差桓嘉、韓綜攻打二城。) สามก๊ก ตอนที่ 108.
- ↑ (桓嘉從左邊轉出,忙綽槍刺丁奉,被奉挾住槍桿。嘉棄槍而走,奉一刀飛去,正中左肩,嘉望後便倒。奉趕上,就以槍刺之。) สามก๊ก ตอนที่ 108.
บรรณานุกรม
แก้- ตันซิ่ว (ศตวรรษที่ 3). จดหมายเหตุสามก๊ก (ซานกั๋วจื้อ).
- ล่อกวนตง (ศตวรรษที่ 14). สามก๊ก (ซันกั๋วเหยี่ยนอี้).