ฮวนห้อม
ฮวนห้อม (เสียชีวิต 9 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 249)[a] มีชื่อในภาษาจีนกลางว่า หฺวาน ฟ่าน (จีน: 桓範; พินอิน: Huán Fàn) ชื่อรอง ยฺเหวียนเจ๋อ (จีน: 元則; พินอิน: Yuánzé) เป็นขุนพลและขุนนางของรัฐวุยก๊กในยุคสามก๊กของจีน
ฮวนห้อม (หฺวาน ฟ่าน) | |
---|---|
桓範 | |
เสนาบดีพระคลัง (大司農 ต้าซือหนง) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. ? – ค.ศ. 5 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 249 | |
กษัตริย์ | โจฮอง |
เจ้ามณฑลกิจิ๋ว (冀州牧 จี้โจวมู่) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. ? – ค.ศ. ? | |
กษัตริย์ | โจยอย |
ข้าหลวงมณฑลกุนจิ๋ว (兗州刺史 เหยี่ยนโจวชื่อฉื่อ) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. ? – ค.ศ. ? | |
กษัตริย์ | โจยอย |
ขุนพลราชองครักษ์ตะวันออก (東中郎將 ตงจงหลางเจี้ยง) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. ? – ค.ศ. ? | |
กษัตริย์ | โจยอย |
ขุนพลโจมตีเชลยศึก (征虜將軍 เจิงหลู่เจียงจฺวิน) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. ? – ค.ศ. ? | |
กษัตริย์ | โจยอย |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | ไม่ทราบ อำเภอซุยซี มณฑลอานฮุย |
เสียชีวิต | 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 249[a] นครลั่วหยาง มณฑลเหอหนาน |
อาชีพ | ขุนนาง, ขุนพล |
ชื่อรอง | ยฺเหวียนเจ๋อ (元則) |
ฉายา | "ถุงปัญญา" (智囊 จื้อหนาง) |
ประวัติ
แก้ฮวนห้อมเป็นชาวเมืองไพก๊ก (沛國 เพ่ย์กั๋ว) ซึ่งอยู่บริเวณอำเภอซุยซี มณฑลอานฮุยในปัจจุบัน ฮวนห้อมเริ่มรับราชการในช่วงปลายยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันออกในฐานะเจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อยในสำนักของอัครมหาเสนาบดีซึ่งเป็นตำแหน่งของโจโฉขุนศึกผู้กุมอำนาจราชสำนักส่วนกลางและคุมองค์พระเจ้าเหี้ยนเต้จักรพรรดิหุ่นเชิดในเวลานั้น[2] ในช่วงต้นปี ค.ศ. 220 ฮวนห้อมได้เลื่อนขั้นเป็นหัวหน้าฝ่ายซ้าย (左監 จั่วเจียน) ของหน่วยราชองครักษ์ยฺหวี่หลิน (羽林; มีความหมายว่า "ป่าขนนก")[3] ต่อมาในปีเดียวกัน โจผีบุตรชายของโจโฉชิงราชบัลลังก์จากพระเจ้าเหี้ยนเต้และก่อตั้งรัฐวุยก๊กโดยตัวโจผีขึ้นเป็นจักรพรรดิองค์ใหม่ โจผีมอบหมายให้ฮวนห้อม, หวาง เซี่ยง (王象) และเล่าเซียวให้รับผิดชอบในการเขียนตำราหฺวางหล่าน (皇覽)[4]
ในรัชสมัยของโจยอย (ครองราชย์ ค.ศ. 226-239) จักรพรรดิวุยก๊กลำดับที่ 2 ฮวนห้อมรับราชการในตำแหน่งราชเลขาธิการ (尚書 ช่างชู) และผู้บัญชาการทหารกลาง (中領軍 จงหลิ่งจฺวิน) ภายหลังได้เลื่อนขั้นเป็นขุนพลราชองครักษ์ตะวันออก (東中郎將 ตงจงหลางเจี้ยง) และขุนพลโจมตีเชลยศึก (征虜將軍 เจิงหลู่เจียงจฺวิน) ได้รับพระราชทานอาญาสิทธิ์ รับผิดชอบดูแลราชการทหารในมณฑลเฉงจิ๋วและชีจิ๋ว[5] ระหว่างที่ดำรงตำแหน่ง ฮวนห้อมเกิดข้อพิพาทเรื่องที่ดินกับเจิ้ง ฉี่ (鄭歧) ข้าหลวงมณฑล (刺史 ชื่อฉื่อ) ของมณฑลชีจิ๋ว ฮวนห้อมพยายามใช้อำนาจของตนในการประหารชีวิตเจิ้ง ฉี่ แต่เจิ้ง ฉี่ส่งรายงานฟ้องฮวนห้อมต่อราชสำนักเสียก่อน ทำให้ฮวนห้อมถูกปลดจากตำแหน่ง[6] แต่ต่อมาไม่นาน ฮวนห้อมก็ได้รับการเรียกตัวกลับไปรับราชการในราชสำนักวุยก๊ก เริ่มจากตำแหน่งข้าหลวงของมณฑลกุนจิ๋ว ภายหลังได้เป็นเจ้ามณฑลกิจิ๋ว[7] เมื่อฮวนห้อมเห็นว่าลฺหวี่ เจา (呂昭) ซึ่งมามีตำแหน่งทางราชการสูงกว่าตนแม้ว่าจะเริ่มรับราชการกับวุยก๊กหลังฮวนห้อมก็ตาม ฮวนห้อมก็รู้สึกไม่พอใจ จึงอ้างว่าป่วยกลับไปอยู่บ้าน[8]
ในช่วงศักราชเจิ้งฉื่อ (ค.ศ. 240–249) ในรัชสมัยของโจฮองจักรพรรดิวุยก๊กลำดับที่ 3 ฮวนห้อมได้รับการแต่งตั้งให้มีตำแหน่งเสนาบดีพระคลัง (大司農 ต้าซือหนง)[9] และขึ้นมีชื่อเสียงในเรื่องความเป็นขุนนางที่ซื่อสัตย์และมัธยัสถ์ และถูกเรียกขานด้วยฉายานามว่า "ถุงปัญญา" (智囊 จื้อหนาง) โจซองขุนพลผู้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ของจักรพรรดิโจฮองปฏิบัติต่อฮวนห้อมด้วยความจริงใจและความนับถือ แต่ไม่สนิทใกล้ชิด ในช่วงที่โจซองเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โจซองและเหล่าน้องชายมักออกเดินทางท่องเที่ยวเพราะเชื่อมั่นว่าไม่มีใครเป็นภัยคุกคามต่อตน ฮวนห้อมพยายามแนะนำให้โจซองและน้องชายระมัดระวังตัวมากขึ้น แต่โจซองและน้องชายก็เพิกเฉิยต่อคำของฮวนห้อม
ในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 249[b] โจซองและเหล่าน้องชายตามเสด็จจักรพรรดิโจฮองออกจากนครหลวงลกเอี๋ยงไปยังสุสานโกเบงเหลง (高平陵 เกาผิงหลิง) ระหว่างที่โจซองไม่อยู่ในนครหลวง สุมาอี้ที่เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ร่วมกับโจซองได้ถือโอกาสนี้ก่อการรัฐประหารต่อโจซองในลกเอี๋ยง สุมาอี้สั่งให้ปิดประตูนครลกเอี๋ยงทั้งหมด และมีพระราชเสาวนีย์ในพระนามของกวยทายเฮาถึงฮวนห้อมให้เข้าควบคุมกำลังทหารของโจอี้ (曹羲 เฉา ซี) น้องชายของโจซอง ขณะที่ฮวนห้อมกำลังจะปฏิบัติตามพระราชเสาวนีย์ บุตรชายของฮวนห้อมโน้มน้าวให้ฮวนห้อมไปเข้าด้วยกับโจซองแทน เพราะโจซองมีจักรพรรดิโจฮองอยู่ด้วยจึงมีข้อได้เปรียบทางการเมืองมากกว่าสุมาอี้ ฮวนห้อมเห็นด้วยจึงมุ่งหน้าไปยังสุสานโกเบงเหลง โดยขัดกับคำแนะนำของผู้ใต้บังคับบัญชา ฮวนห้อมออกจากนครลกเอี๋ยงผ่านประตูผิงชาง (平昌門 ผิงชางเหมิน) เพราะสูหวน (司蕃 ซือ ฟาน) นายทหารผู้รักษาประตูเคยเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของฮวนห้อมมาก่อน และสูหวนเชื่อฮวนห้อมเมื่อฮวนห้อมอ้างว่าตนได้รับอนุญาตให้ออกนอกลกเอี๋ยงไป[11]
ฮวนห้อมพบกับโจซองและน้องชายที่สุสานโกเบงเหลง ฮวนห้อมโน้มน้าวให้นำเสด็จจักรพรรดิโจฮองไปยังฮูโต๋ แล้วออกพระราชโองการในพระนามของจักรพรรดิประณามสุมาอี้ว่าเป็นกบฏ และเรียกกำลังทหารทั้งหมดในวุยก๊กเข้าโจมตีสุมาอี้ ฮวนห้อมยังรับรองกับโจซองและน้องชายว่าจะไม่ขาดเสบียงอาหารเพราะตัวฮวนห้อมในฐานะเสนาบดีพระคลังมีอำนาจเต็มที่ในการควบคุมการกระจายเสบียงอาหาร แต่ในที่สุดโจซองและน้องชายก็ตัดสินใจยอมจำนนต่อสุมาอี้หลังสุมาอี้ให้คำมั่นว่าพวกเขาและครอบครัวจะไม่เป็นอันตรายหากโจซองและน้องชายสละอำนาจให้สุมาอี้ เมื่อฮวนห้อมได้ยินเรื่องนี้ก็ร้องไห้ว่า "เหตุใดวีรบุรุษอย่างเฉา จื่อตาน[c]จึงมีสุกรและสุนัขอย่างพวกท่านเป็นบุตรชาย เหตุใดเขาคาดไม่ถึงเลยว่าวันหนึ่งตระกูลของเขาจะพินาศเพราะพวกท่าน!"[12] หลังจากกลับมาลกเอี๋ยง ฮวนห้อมก็ถูกจับกุมพร้อมกับโจซองและน้องชาย ถูกตั้งหากบฏ และถูกประหารชีวิตเพราะกับคนในครอบครัวที่เหลือ
หมายเหตุ
แก้- ↑ 1.0 1.1 พระราชประวัติโจฮองในจดหมายเหตุสามก๊กบันทึกว่า โจซองกับผู้มีส่วนร่วม ได้แก่ เตงปิด, เตงเหยียง, โฮอั๋น, ปิดห้วน, หลีเสง และฮวนห้อม ถูกประหารชีวิตพร้อมกับครอบครัวในวันอู้ซฺวีของเดือน 1 ของศักราชเจียผิง ปีที่ 1 ในรัชสมัยของโจฮอง[1] ตรงกับวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 249 ตามปฏิทินกริกอเรียน
- ↑ วันเจี๋ยอู่ (甲午) ของเดือน 1 ในศักราชเจียผิงปีที่ 1 ตามพระราชประวัติโจฮองในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 4[10]
- ↑ หมายถึงโจจิ๋น (曹真 เฉา เจิน) บิดาของโจซอง "จื่อตาน" (子丹) เป็นชื่อรองของโจจิ๋น
อ้างอิง
แก้- ↑ ([嘉平元年春正月]戊戌,有司奏収黃門張當付廷尉,考實其辭,爽與謀不軌。又尚書丁謐、鄧颺、何晏、司隷校尉畢軌、荊州刺史李勝、大司農桓範皆與爽通姦謀,夷三族。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 4.
- ↑ (建安末,入丞相府。) อรรถาธิบายจากเว่ย์เลฺว่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 9.
- ↑ (延康中,爲羽林左監。) อรรถาธิบายจากเว่ย์เลฺว่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 9.
- ↑ (以有文學,與王象等典集皇覽。) อรรถาธิบายจากเว่ย์เลฺว่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 9.
- ↑ (明帝時爲中領軍尚書,遷征虜將軍、東中郎將,使持節都督青、徐諸軍事,治下邳。) อรรถาธิบายจากเว่ย์เลฺว่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 9.
- ↑ (與徐州刺史鄭岐爭屋,引節欲斬岐,爲岐所奏,不直,坐免還。) อรรถาธิบายจากเว่ย์เลฺว่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 9.
- ↑ (復爲兖州刺吏,怏怏不得意。又聞當轉爲冀州牧。) อรรถาธิบายจากเว่ย์เลฺว่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 9.
- ↑ (是時冀州統屬鎮北,而鎮北將軍呂昭才實仕進,本在範後。範謂其妻仲長曰:「我寧作諸卿,向三公長跪耳,不能爲呂子展屈也。」其妻曰:「君前在東,坐欲擅斬徐州刺史,衆人謂君難爲作下,今復羞爲呂屈,是復難爲作上也。」範忿其言觸實,乃以刀環撞其腹。妻時懷孕,遂墮胎死。範亦竟稱疾,不赴冀州。) อรรถาธิบายจากเว่ย์เลฺว่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 9.
- ↑ (正始中拜大司農。) อรรถาธิบายจากเว่ย์เลฺว่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 9.
- ↑ (嘉平元年春正月甲午,車駕謁高平陵。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 4.
- ↑ (及宣王起兵,閉城門,以範爲曉事,乃指召之,欲使領中領軍。範欲應召,而其子諫之,以車駕在外,不如南出。範疑有頃,兒又促之。範欲去而司農丞吏皆止範。範不從,乃突出至平昌城門,城門已閉。門候司蕃,故範舉吏也,範呼之,舉手中版以示之,矯曰:「有詔召我,卿促開門!」蕃欲求見詔書,範呵之,言「卿非我故吏邪,何以敢爾?」乃開之。) อรรถาธิบายจากเว่ย์เลฺว่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 9.
- ↑ 爽旣罷兵,曰:「我不失作富家翁。」範哭曰:「曹子丹佳人,生汝兄弟,犢耳!何圖今日坐汝等族滅矣!」) อรรถาธิบายจากเว่ย์ชื่อชุนชิวในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 9.
บรรณานุกรม
แก้- ตันซิ่ว (คริสต์ศตวรรษที่ 3). จดหมายเหตุสามก๊ก (ซันกั๋วจื้อ).
- เผย์ ซงจือ (คริสต์ศตวรรษที่ 5). อรรถาธิบายจดหมายเหตุสามก๊ก (ซันกั๋วจื้อจู้).